รำลึกการเสียสละของลุงลี คุง เฮ
ผู้นำ เกษตรกรไทย ร่วมงานสำแดงพลังกับองค์กรเกษตรกรเกาหลี ในงานรณรงค์และพิธีรำลึกการเสียสละของลุงลี คุง เฮ วีรชนเกาหลีครบรอบ 2 ปี
ขณะที่พวกเราเกษตรกร ได้รำลึกถึง "ลุงลี" วีรชนเกษตรกรผู้กล้าของเกาหลี, ภาพของวีรชนเกษตรกรผู้หาญกล้าของประชาชนไทย ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 "วันปฏิวัติของประชาชนไทย" เมื่อ 32 ปีก่อน ก็ผุดขึ้นมาจากจิตสำนึกของพวกเรา พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง, นายจำรัส ม่วงยาม, ครูประเวียน บุญหนัก ฯลฯ และผู้นำเกษตรกรจากทุกภาคอีกหลาย ๆ คน ที่ได้เสียสละต้อสู้เพื่อคนผู้ทุกข์ยาก ต่อต้านกฎหมายค่าเช่านาที่ขูดรีด และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของเกษตรกรในอีกหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการปลดเปลื้องหนี้สินชาวนาชาวไร่ ที่เป็นสาเหตุให้เกษตรกรไทยต้องยากจนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้จนถึงทุกวันนี้ และการปกป้องพิทักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ต้องถูกทำลาย
ทำไมเกษตรกรเกาหลี เกษตรกรไทยและเกษตรกรทั่วโลก ที่รักการเกษตร ทำเพื่อพี่น้องเกษตรกร และประเทศอันเป็นที่รักและหวงแหน ต้องมาพบชะตากรรมชีวิตเช่นเดียวกันนี้ มนุษย์ชาติจะต้องให้พี่น้องเกษตรกร ต้องพลีชีพเสียสละชีวิตอีกเท่าไหร่... เพื่อที่จะทำให้รัฐบาล, เจ้าของที่ดินรายใหญ่และนักธุรกิจผูกขาด ที่หวังใช้การขูดรีด/เอาเปรียบแรงงานของเกษตรกร, ที่ดินและผลผลิตการเกษตร สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กลุ่มของตน และพรรคพวกตน และเสวยสุขโดยการสมคบร่วมมือกัน ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรการค้าโลก (WTO), FTA, ADB, IMF และองค์กรโลกกระบาลต่าง ๆ มารีดไถส่วนเกินไปจากเกษตรกร พี่น้องร่วมชาติของตน...
อย่าลืมเป็นอันขาด, อย่าหวังว่า "อธรรม" จะชนะ "ธรรม" ไปได้ตลอด !
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในช่วงเร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าฝนแล้งขาดช่วงเป็นปี, น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, รวมทั้งสึนามิที่ชาวโลกและประเทศไทยได้รับ มันเป็นสัญญาณเตือนความโลภโมโทสันของชนชั้นปกครอง, นักการเมืองบ้าอำนาจ, นายทุนผูกขาด และผู้ประกอบการเกษตรระดับประเทศว่า หยุดทำลายธรรมชาติ หยุดขูดรีดเอาเปรียบเกษตรกรผู้แบกคันไถ และปกป้องแผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชาติ มิฉะนั้น ธรรมชาติจะลงโทษมหันต์ต่อผู้กระทำ "อธรรม" ทั้งหลาย และหากยังคงเหยียบย่ำเข่นฆ่า สร้างความทุกข์อย่างไม่หยุดต่อ "ผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดิน" ซึ่งก็คือ "เกษตรกร" อีกต่อไป "เกษตรกรทั่วไทยจะลุกขึ้นมาใช้ "ธรรม" ลงโทษ กรรมที่พวกท่านได้กระทำไว้
จินตนาการและความรู้สึกเจ็บร้อนแทนพี่น้องเกษตรกร ไปไกล... และหวนกลับมา เมื่อเพื่อนเกษตรกรจากเวียดนาม สะกิดว่า "คนอื่น ๆ ยืนขึ้น เพราะเสร็จพิธีแล้ว" ผู้มาร่วมรำลึกและไว้อาลัยต่างร่วมกันรับประทานอาหารว่างแบบเกาหลีที่ทางเจ้าภาพเตรียมต้อนรับ จากนั้นพวกเราได้เข้าไปในห้องที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก "มารดา" ผู้ให้กำเนิดวีรชนเกาหลี "ลุงลี"
จากการได้มาคาราวะ "ลุงลี" เป็นความภาคภูมิใจของเกษตรกรเกาหลี และเกษตรกรทั่วโลก พวกเราได้มาสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นแม่ และพี่น้องของลุงลี, ผมได้เห็น "สายตา" ที่เต็มไปด้วยความภูมิใจในตัวของลูกชาย ที่นอกจากจะเป็นลูกที่ดีของแม่แล้ว, ยังเป็นลูกที่ดีและกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด, แม้ว่าจะมีแววตาของความเศร้าโศกเสียใจที่ "ลูกชาย" ได้จากไปก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นวัยหนุ่มใหญ่อายุ 56 ปี ด้วยอุดมการณ์, ความรู้และประสบการณ์ ในฐานะผู้นำเกษตรกรเกาหลี แต่ก็เป็นการจากไปอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและยิ่งใหญ่ มิใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อพี่น้องเกษตรกรเกาหลีและเกษตรกรทั่วโลก "เป็นการพลีชีพเพื่อมวลชนอย่างแท้จริง" ได้สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ สร้างแบบอย่างที่ดีงาม และยังกระตุ้นให้ผู้อยู่ข้างหลังจักได้ดำเนินตาม สืบทอดภาระกิจของลุงลี ให้บรรลุผลก้าวไปถึงเส้นชัยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการ
พวกเราตัวแทนของเกษตรกรแห่งเอเชีย นอกจากจะได้มอบของที่ระลึกให้แก่แม่แล้ว, ยังได้ถ่ายภาพร่วมกับคุณแม่และพี่น้องลุงลีด้วย ภาพแห่งความประทับใจระหว่างคุณแม่ของลุงลี กับลูกหญิง-ชายเกษตรกรเอเชียได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของประเทศเกาหลีให้พี่น้องชาวเกาหลีทั่วประเทศได้อ่านและชมในวันต่อมา
"ความรู้สึกที่เป็นสุข จากบรรยากาศและภาพแห่งความประทับใจ ที่พวกเราได้ใกล้ชิดลุงลี และคุณแม่ญาติพี่น้องของลุงลี บนเนินเขาที่บรรจุร่างของเกษตรกรสามัญชนที่ยิ่งใหญ่ของชาวเกาหลี ได้ปลดเปลื้องความเหน็ดเหนื่อยที่พวกเราต้องเดินขึ้นเนินเขามาเกือบกิโลจนหมดสิ้น"
กลับมาสู่งานพิธีรำลึกอย่างเป็นทางการ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบ้านเกิดลุงลี คนมาร่วมประมาณ 500 คน ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2548 เป็นงานที่จัดคู่กับการวิ่งมาราธอน โดยจุดเริ่มต้นวิ่ง อยู่สถานที่เดียวกัน เป็นลานใหญ่ของสนามกีฬา คนมาร่วมวิ่งเป็นพันคนมีทั้งวัยฉกรรจ์ และเยาวชน มีการแจกเสื้อ สัญลักษณ์ของการวิ่งมาราธอน เพื่อรำลึกถึงลุงลี มีรูปคำขวัญ "WTO. Kill Farmers"
พวกเราชาวเกษตรแห่งเอเชีย ได้รับโบว์ดำติดแขนเสื้อ ผมไปเขียนคำไว้อาลัยเป็นภาษาไทยแถวเดียวกับภาษาเกาหลี นอกจากพวกเราแล้ว ก็มีตัวแทนของ "Via Campasina" (องค์กรชาวนาโลก) มาร่วมด้วย 3 คน ซึ่งผมเคยไปร่วมงานการประชุมระดับโลกของ Via Campasina ที่อินเดียร่วมกับคุณบำรุง คะโยธา เมื่อหลายปีก่อน จึงจำได้
บนเวทีมีรูปลุงลี และดอกไม้
เริ่มรายการเป็นการแสดงตีกลอง และชุดรำของเกาหลีมีผู้แสดง 4 คน จากนั้นเป็นการแนะนำผู้ร่วมงาน ซึ่งมีตัวแทนขององค์กรเกษตรกร ผู้นำชุมชน นักการเมืองท้องถิ่น และบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน รวมทั้งพวกเราด้วย และทุกคนได้ยืนไว้อาลัย โดยมีเพลงบรรเลงประกอบเสียงเศร้า ๆ ทำนองคล้ายเพลงเห่เรือของไทย ตามด้วยการกล่าวไว้อาลัยที่ได้เตรียมไว้ด้วยน้ำเสียงเต็มไปด้วยพลัง อารมณ์ของความแค้นต่อ "WTO" และความรักในชนชั้นชาวนาของตน จากนั้นเป็นการรำไว้อาลัยโดยหญิงชุดขาว เจ้าภาพเชิญให้แขกนำดอกไม้ไปเคารพศพ (รูปลุงลี) บนเวที โดยระหว่างการเคารพศพมีร้องเพลงประกอบ
หลังจากเสร็จพิธี ผู้เข้าร่วมงานได้เดินมาเคารพอนุสาวรีย์ แท่นหินรูปลุงลีที่สร้างไว้อย่างอลังการและสวยงาม เสร็จพิธีรำลึกก็ต่อด้วยการวิ่งมาราธอน
กลับมาสู่รายการใหญ่ คือ การแสดงพลังขององค์กรเกษตรเกาหลีเพื่อการรณรงค์และทำพิธีรำลึกการเสียสละของ ลุงลี คุง เฮ วีรชนเกาหลี ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ที่หน้ารัฐสภาและสวนสาธารณะ
พวกเรานั่งรถบัสมายังสวนสาธารณะ มีรถบัสจอดอยู่ร่วมร้อยคัน นำเกษตรกรจากสถานที่และจุดต่าง ๆ มาร่วมกัน อีกด้านคู่ขนานกันมีกองกำลังตำรวจวางเป็นจุด ๆ รอบสวนสาธารณะ จุดละประมาณ 100 คน กลางสวนสาธารณะมีเวทีใหญ่ตั้งอยู่ เกษตรกรทยอยเดินไปมีการโพกผ้าต่างสี ตามสัญลักษณ์ขององค์กรตน ในบริเวณนั้นเยาวชนคนหนุ่มสาวและเด็ก ๆ เช่าสเก็ตวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน
ผมในฐานะนักจรยุทธ์เก่าอยู่นิ่งไม่เป็น ได้เดินไปสังเกตการณ์รอบ ๆ สวนสาธารณะซึ่งกว้างใหญ่พอสมควร ได้เห็นกองกำลังตำรวจอยู่อีกหลายจุด, คาดคะเนคงเป็นหลักพัน ดูหน้าตาทุกคนยังหนุ่ม ส่วนใหญ่คงมาจากต่างจังหวัด เพราะดูเหมือนจะตั้งป้อมใส่เกษตรกร คงคล้ายกับตำรวจบ้านเรา ทั้งที่เป็นลูกหลานของเกษตรกรและชาวบ้านแต่ไม่มีจิตสำนึกและความเข้าใจสภาพสังคมที่เป็นจริง คงจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเดียว เพราะคงถือเป็นหน้าที่ในเวลานั้น แต่หารู้ไม่ว่าหน้าที่นั้นทำเพื่อใคร
ผมสังเกตเห็นกลุ่มเกษตรกร เดินมาจากฝั่งถนนอีกด้านหนึ่งอย่างไม่หยุดยั้ง ผมจึงเดินข้ามถนนผ่านกองทัพตำรวจออกไป ฉับพลันก็เห็นขบวนแถวอันทรงพลังที่เต็มไปด้วยกองกำลังของเกษตรกร เดินเป็นขบวนมีระเบียบ โดยผู้นำหน้าถือธง เดินตรงมาที่สวนสาธารณะ
ผมเดินสวนไปตามถนนซึ่งมุ่งไปยังรัฐสภา แต่ก่อนจะไปถึงหน้ารัฐสภา มีกองกำลังตำรวจพร้อมรถบัสเรียงรายอยู่เต็มไปหมด ประตูรัฐสภาปิดสนิทโดยมีรถบัสขนาดใหญ่ของตำรวจและกำลังตำรวจบล็อคขวางถนนไว้ เพื่อปิดกั้นมิให้กองทัพของเกษตรกรเข้าไปใกล้รัฐสภา ภาพที่เห็นเป็นการตั้งหน้าประจันกัน เพราะอีกด้านของรถบัสตำรวจมีรถบัญชาการของเกษตรกรที่ปรับเป็นเวทีปราศรัยใหญ่ คงจะมีการปราศรัยของผู้นำเกษตรกรในช่วงเช้าแล้ว และเมื่อถูกบล็อคไม่สามารถเข้าไปยังรัฐสภาได้ จึงได้เดินขบวนกลับไปที่สวนสาธารณะ เพื่อทำพิธีรำลึกดังที่กล่าวมา
เมื่อผมเดินกลับมาจากหน้ารัฐสภาถึงสวนสาธารณะ, พิธีก็เริ่มต้นขึ้น มีเพลงบรรเลงดังขึ้น ต่อด้วยการประกาศจุดยืนของผู้นำที่มาร่วม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำระดับประธานและรองประธานองค์กรเกษตรกร มีนักการเมืองที่เป็นเกษตรกรและผู้นำสังคมร่วมด้วย, ทุกคนทุกน้ำเสียงและถ้อยคำดุเดือดรุนแรงดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ แม้จะฟังภาษาไม่เข้าใจแต่ก็สามารถรับรู้ความรู้สึก ทั้งจากผู้นำที่พูดอย่างเผ็ดร้อนและผู้ร่วมชุมนุมที่แสดงความเร่าร้อนออกมา เป็นสัญญาใจ เป็นคำมั่นที่ให้ต่อกันว่า "พวกเราจะสู้ พวกเราจะร่วมกันต่อสู้ต่อไป จนกว่าชัยชนะจะเป็นของเกษตรกร" ผมรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในสนามรบ ที่ทุกคนพร้อมที่จะรบ, พร้อมที่จะบุกไปข้างหน้าทันทีที่เสียงกลองสะบัดชัยดังขึ้นตามติดด้วย การรำดอกไม้และธงแดง แล้วมีการเชิญผู้แทนของแต่ละองค์กรขึ้นไปวางดอกไม้ และเมื่อประกาศชื่อขององค์กรใด, สมาชิกและขบวนแถวขององค์กรนั้นก็จะยืนขึ้นและโบกมือ พร้อมกับเสียงตบมือให้เกียรติจากผู้เข้าร่วมชุมนุม, ที่สร้างบรรยากาศขึ้นมาได้มาก คือ นักดนตรีที่เล่นดนตรีไปพูดคำขวัญและเปล่งคำขวัญไปด้วย ลีลานี้ทำให้ผมนึกถึงคุณวสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินกวีของไทยมิตรรักของผม ที่ไม่เคยขาดทุกงานของการชุมนุมคัดค้านเผด็จการและความไม่เป็นธรรม
ต่อด้วยการอ่านบทกวี การรำแสดงและมีเพลงประกอบที่ดุเดือดตื่นเต้นเร้าใจ และให้ผู้ชุมนุมได้แสดงท่าเต้นและตบมือร่วมกัน, กลุ่มของเราที่เข้าแถวอยู่หน้าสุดได้รับความสนใจจากนักข่าว, TV มากมีการสัมภาษณ์ด้วย และภาพของพวกเราก็ไปปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้น ผมเหลือบไปเห็นคุณปอลและตัวแทนของ Via Campasina "องค์กรชาวนาโลก" ผมจึงไปทักทายและเชิญมาร่วมถ่ายรูปและทักทายพวกเรา
จบรายการด้วยการจุดเทียนทำให้เกิดบรรยากาศโรแมนติคท่ามกลางใจที่ร้อนระอุของชนชั้นชาวนาที่กำลังเดือดพล่านจาก WTO และจิตใจที่หวนรำลึกถึงลุงลีผู้นำเกษตรกรผู้กล้าของพวกเขาและพร้อมที่จะก้าวเดินตาม ช่วงท้ายมีบางกลุ่มจุดคบไฟทำให้เกิดความสว่างโชติช่วงและร้อนแรงขึ้น แต่ก็เดินออกสวนสาธารณะด้วยความเรียบร้อย บางส่วนเดินไปขึ้นรถบัสกลับบ้าน, แต่บางส่วนยังคงเดินขบวนจับกลุ่มกันไปตามท้องถนน ฯลฯ
บริเวณสวนสาธารณะ นอกจากจะมีรายการรำลึกบนเวทีกลางแล้ว รอบบริเวณมีการตั้งโต๊ะรับบริจาค มีขายหนังสือ ของที่ระลึก และมีผ้าโพกหัวเขียนด้วยภาษาเกาหลี, ซึ่งพวกเราได้รับแจกมาคนละผืน เพื่อนเกาหลีแปลข้อความให้ฟังว่า "อาหารเป็นของเรา ต่อต้านข้าวจากต่างประเทศ"
พิธีรำลึกลุงลีจบลงเหมือนงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เพียงแต่การจบลงของงานวันนี้เป็นการเริ่มต้นของกองเพลิงเล็ก ๆ ที่กำลังก่อตัวลุกลามไปเผากองฟางอื่น ๆ และเชื่อมโยงกับกองเพลิงอีกสิบอีกร้อยกองเพลิง ที่จะโหมรวมตัวเป็นไฟป่าใหญ่ ที่จะเผาล้างต้นกาฝากใหญ่ที่ดูดเอาเลือดเนื้อและชีวิตของเกษตรกรไป และในอนาคตประกายไฟไหม้ลามทุ่งนี้จะมิเป็นเพียงไฟป่าใหญ่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นกองเพลิงใหญ่โลกาภิวัฒน์ของเกษตรกรทั่วโลก ที่จะเผาไหม้ทำลายศัตรูร่วมของเกษตรกรในประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์กรโลกบาล WTO, ADB, IMF, และ FTA ให้เป็นจุลย่อยยับไป โทษฐานกดขี่ขูดรีดเอาเปรียบเกษตรกรทั่วโลกมาอย่างยาวนาน บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ผมรำลึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของเกษตรกรผู้ใช้แรงงานและประชาชนไทย ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันยิ่งใหญ่ของประชาชนไทย โดยเฉพาะในงานพิธีรำลึกของวีรชนของประเทศไทยที่ต้องสูญเสียพ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้นำชาวภาคเหนือ และงานของ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย งานศพของบุคคลดังกล่าวยิ่งใหญ่มาก คนเป็นหมื่น ๆ คนเดินขบวนถือธงถือป้ายไปตามท้องถนนบรรยากาศคึกคักกึกก้องแต่เคร่งขรึมให้อารมณ์ความรู้สึกทั้งโกรธและเคียดแค้นต่อศัตรูของประชาชน พร้อมกับคำมั่นสัญญาใจที่มาร่วมไว้อาลัยว่า "เราจะสืบทอดเจตนารมณ์ เพื่อประชาชนไทยไปตลอดกาล"
ประวัติลุงลี
ลุงลี คุง เฮ ผู้เสียสละเกิดเมื่อปี 2490 ในครอบครัวชาวนาที่จุงซู จังหวัดโอนบังคู หลังจากจบวิทยาลัยเกษตรกรรมในกรุงโซล ก็ลงสู่งานภาคเกษตรสร้างฟาร์มโคนมจนกลายเป็นฟาร์มตัวอย่างสำหรับนักศึกษามาเรียนรู้และปฏิบัติ ในปี พ.ศ. 2522 ได้เริ่มสนใจกิจกรรมขององค์กรเกษตรกร แล้วได้รับเลือกเป็นประธานของสมาคมเยาวชนเกษตรกร จนในที่สุดก็ได้รับเลือกเป็นประธานของสหพันธ์ชาวเกาหลีก้าวหน้า (Korean Advanced Farmer's Federation) KAFF
ปี พ.ศ. 2533 ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เยาวชนชาวนาเกาหลี ที่มีเยาวชนเข้าร่วมดำเนินการและเป็นหุ้นส่วนถึง 5 หมื่นคน จากการทำงานอย่างเอาการเอาการจึงได้รับการยอมรับมากขึ้น จาก FAO ( องค์การอาหารและการเกษตรขององค์การสหประชาชาติ) ทำให้ลุงลีได้รับรางวัลชาวนาดีเด่นแห่งปี พ.ศ. 2532
ในปี พ.ศ. 2533 ลุงลีได้เปลี่ยนยุทธ์ศาสตร์การต่อสู้มาเป็นนักการเมือง และได้รับเลือกตั้งติดต่อกัน 3 ครั้ง เพราะสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาได้และในการคัดค้านรัฐบาล ลุงลีก็ได้ใช้วิธีการอดอาหารต่อสู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, การประชุม WTO รอบอุรุกวัย ที่เจนีวา ลุงได้ทำการประท้วงโดยการคว้านไส้ตนเอง และในปี พ.ศ. 2547 ลุงลีได้ประท้วงด้วยการอดอาหารถึง 1 เดือน ที่หน้าสำนักงานใหญ่ของ WTO และเขียนป้ายประท้วงมีใจความว่า "WTO ฆ่าพี่น้องชาวนา"
และครั้งสุดท้าย วันที่มีการประชุมที่เรียกว่า "วันชาวนาสากลปฏิวัติ" ที่ศาลากลางเมืองแคนคูน ซึ่งมีชาวนาจาก 70 ประเทศจำนวน 10,000 คน ได้เคลื่อนขบวนเข้าสู่ศูนย์กลาง การประชุมของรัฐมนตรี WTO, ลุงลีเพื่อแสดงถึงความคับแค้นและทุกข์ยากที่เกษตรกรได้ประสบ และเป็นการประท้วง WTO, ได้แทงตนเองที่หน้าอกจนถึงแก่ความตาย การสูญเสียผู้นำอย่างลุงลีที่ยิ่งใหญ่ ได้สร้างความเศร้าโศกต่อผู้คนจำนวนมาก, การตายของลุงลีได้ถูกเผยแพร่ ออกทางสื่อทีวีในเกือบทุกประเทศทั่วโลก การเสียสละชีวิตของลุงลี เป็นผลให้เกิดโซ่ของการเชื่อมโยง เพื่อร้อยให้เป็นขบวนการต่อต้านขึ้นในหลายประเทศ
ที่เกาหลี เมื่อร่างกายที่ไร้วิญญาณของลุงลีถูกนำกลับมาทำพิธีรำลึกมีชาวนา 30 คน ในองค์กรของลุงได้เผาตัวเองจนถึงแก่ความตาย เพื่อแสดงออกถึงความอาลัยรัก โกรธ แค้น และต่อต้านรัฐบาล "ที่ไม่ไตร่ตรองเรื่องนโยบายการเกษตร", และหลังจากนั้นมีการชุมนุมชาวนากว่า 70,000 คน ทั่วประเทศที่กรุงโซล ซึ่งได้แสดงออกถึงความเห็นอย่างแรงกล้าเพื่อต่อต้านการเปิดประตูการค้าด้านเกษตรจนทำให้สภาเกาหลีต้องเลื่อนการให้สัตยาบัน และทำข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าระหว่างเกาหลีกับชิลี
การจากไปของลุงลีและวีรกรรมที่ได้สร้างไว้ คำกล่าวว่า “WTO ฆ่าชาวนา” ที่แคนคูนยังคงกึกก้องอยู่ในใจของเกษตรกรทั่วโลก และขานรับเจตนารมณ์ของลุงลีไว้ตลอดไป
ก่อนเสียชีวิตลุงได้กล่าวว่า “อย่ากังวลกับการตายของลุงเลย แต่ขอให้ยืนหยัดต่อสู้ไปให้ถึงที่สุด” และในบันทึกสุดท้ายมีใจความว่า "ถึงแม้ร่างกายจะจากไป แต่จิตวิญญาณของลุงยังวนเวียนอยู่รอบ ๆ เพื่อจะติดตามความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นกับชาวนาต่อไป"
อ. โซ ฮาน คิว......แนวคิดและหลักการ
เกษตรธรรมชาติเกาหลี
เกษตรธรรมชาติเกาหลีตามแนวทางของเกาหลีได้รับการเผยแพร่โดย ฮาน คิ โซ ผู้อำนวยการสถาบันเกษตรธรรมชาติจานอง (Janong Natural Farming Institute)เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเกษตรธรรมชาติเกาหลี ก่อนเกษียณได้มีการนำแนวคิดการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ชุมชน เพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิตในระบบเกษตรธรรมชาติ โดยเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง โดยฮาน คิว โซ เป็นคนหนุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทำให้ต้องหยุดเรียนหนังสือ เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องปิดยาว ฮาน คิว โซ ได้สังเกตเห็นว่า เทคนิคการหมักพืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ในถังหมักของชาวเกาหลี เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง (การทำคิมจิ) โดยเมื่อนำของหมักดองไปรับประทานหมดแล้วก็จะเหลือแต่น้ำหมัก ซึ่งชาวเกาหลีมักจะเททิ้งก่อนทำความสะอาดถังหมักใหม่ ฮาน คิว โซ สังเกตว่าพืชผักที่ในนาและต้นไม้ข้างโรงหมักจะเจริญงอกงามดี เมื่อได้รับน้ำหมักจากการถนอมอาหาร ฮาน คิว โซ จึงได้รวบรวมสิ่งที่ได้จากการสังเกตและนำภูมิปัญญาของเกษตรกรเกาหลีมารวบรวมไว้เพื่อเผยแพร่มากกว่า 50 ปี โดยมีแนวคิดว่าการเกษตรที่พึ่งพาตนเองโดยใช้วัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ร่วมกับจุลินทรีย์ท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้เกษตรกรสามารถะพึ่งพาตนเองได้
เกษตรธรรมชาติตามแนวทางเกาหลีเป็นรูปแบบเกษตรธรรมชาติวิธีหนึ่งที่มีแนวทางแตกต่างจากแนวทางของฟูกูโอกะ และโอกาดะโดยจะมีความแตกต่างกัน ในส่วนของรูปแบบการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยการใช้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในพื้นที่ในป่าหมู่บ้าน หรือชุมชนใกล้เคียง มาเป็นตัวเพิ่มความหลากหลายของธรรมชาติในพื้นที่เกษตรกรรม มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดินแดงในป่า รำข้าว รวมถึงมูลสัตว์มาหมักร่วมกับจุลินทรีย์ท้องถิ่น แล้วนำไปใช้ปรับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งในรูปของ จุลินทรีย์และวัสดุต่างๆ มาใช้ร่วมกันด้วยวิธีการหมักที่เห็นความรวดเร็ว โดยการเลือกใช้วัสดุที่สามารถสลายตัวได้รวดเร็วใช้แรงงานน้อยลง จึงเป็นแนวทางที่แตกต่างกับวิธีของฟูกูโอกะ และมีผลทำให้ได้มูลค่าตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงขึ้น ในระยะเวลาที่ไม่แตกต่างกับระบบการเกษตรแผนปัจจุบัน จึงทำให้ระบบเกษตรธรรมชาติเกาหลีแพร่หลายเป็นที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทยและทั่วโลกมากกว่าวิธีของฟูกูโอกะที่เน้นการฟื้นฟูโดยจุลินทรีย์ในธรรมชาติเช่นกัน แต่ไม่เน้นการทำปุ๋ยหมักจากวัสดุต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารและขยายปริมาณจุลินทรีย์ ดังนั้นวิธีของฟูกูโอกะจึงใช้ระยะเวลาเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนที่มากกว่า จึงทำให้ไม่ทันใจเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนจากระบบเกษตรแผนปัจจุบันไปเป็นเกษตรธรรมชาติ
เกษตรธรรมชาติตามแนวทางของเกาหลี มีความใกล้เคียงกับเกษตรธรรมชาติคิวเซเป็นอย่างมาก ทั้งในรูปแบบของการปฏิบัติและวิธีการ โดยรูปแบบและวิธีการที่ต่างกันมีเพียงการเลือกใช้จุลินทรีย์ โดยเกษตรธรรมชาติคิวเซจะเลือกใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม (EM)หรือจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่มีการผลิตสำเร็จรูปตามมาตรฐานเป็นแบบอย่างเดียวกัน แล้วจึงนำไปเผยแพร่ทางการค้านโดยผ่านองค์การศาสนา ซึ่งอีเอ็มจะมีการเผยแพร่เพื่อส่งเสริมแนวทางเกษตรธรรมชาติคิวเซรูแบบเป็นจุลินทรีย์เหมือนกันทั่วประเทศ ในขณะที่เกษตรธรรมเกาหลีจะเน้นการใช้จุลิทรีย์ท้องถิ่น (ไอเอ็มโอ หรือ Indigeneous Microorganism : IMOs) โดยมีหลักการที่ว่า จุลินทรีย์จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีความสมดุลในระบบนิเวศของชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมานับเป็นเวลาหลายพันปี
1.) เข้าใจบทบาทของสิ่งมีชีวิตและทำงานร่วมกับธรรมชาติ หลักการของการทำเกษตรธรรมชาติของ ฮาน คิว โช คือการทำงานร่วมกับธรรมชาติ เข้าใจกฎการทำการเกษตร รวบรวมองค์ความรู้ของมนุษย์ร่วมกับการใช้แรงงานในการผสมผสานสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ ธาตุอาหารพืช แสงแดด อาหาร ดินและน้ำ สิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นในการทำเกษตรธรรมชาติ คือ การสังเกตและยอมรับในบทบาทของธรรมชาติ เพราะทุกชีวิตมีหน้าที่และมีบทบาทของตัวเอง โดยทุกชีวิตจะแยกจากกันไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศ ดังนั้นเราต้องเข้าใจถึงวัฎจักรของสิ่งมีชีวิตและยอมรับในความสามารถของพืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่รอบๆ ตัวตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด คงเหลือไว้ให้มนุษย์รุ่นต่อๆ ไปได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติได้เช่นกัน
การทำเกษตรธรรมชาติของ ฮาน คิว โช จะเน้นให้เกษตรกรรู้จักบทบาทของตัวเองในการทำการเกษตร ในขณะเดียวกันก็ควรยอมรับในบทบาทของพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเกษตรแผนใหม่ในปัจจุบันที่เน้นการผลิตพืชและสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบใช้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยความสำคัญของการเกษตร คือ การทุ่มเทแรงงานไปเพื่อการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์ และการมีสุขภาพที่ดีจากการทำงานร่วมกับธรรมชาติ
2.) รู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวให้เป็นประโยชน์ ประเทศเกาหลีเป็นประเทศในเขตหนาว ซึ่งในรอบปีจะสามารถทำการเกษตรได้เพียง 4-5 เดือน ดังนั้นผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่จะถูกเก็บรักษาไว้ในรูปของหมักดอง ซึ่ง ฮาน คิว โช ได้ค้นพบโดยบังเอิญว่าน้ำที่ได้จากการทำผักดองของเกาหลีที่เรียกว่า “กิมจิ”เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ จากการสังเกตว่าเมื่อเทน้ำเหล่านี้ทิ้งลงแปลงพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งถ้าพิจารณาส่วนประกอบในน้ำหมักดองจะพบว่ามีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อยู่เป็นจำนวนมาก ในน้ำผักดองนั้นประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหมัก และสารอินทรีย์ต่างๆ ที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้นมากมาย และสารอินทรีย์เหล่านั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ เอนไซม์ ฮอร์โมน และธาตุอาหารต่างๆ เช่น กรดอะมิโน และวิตามิน เป็นต้น ทำให้เกิดความคิดการทำน้ำหมักจากเศษวัตถุดิบที่เหลือใช้หรือมีอยู่มากรอบๆ ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่เน้นการซื้อหามาจากแหล่งจากอื่น
นอกจากนี้ยังพบว่าจุลินทรีย์มีอยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งสามารถทำการเก็บเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ได้ในการทำเกษตรธรรมชาติ และสามารถเก็บได้เองในพื้นที่ โดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นจะเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและปรับตัวทำงานได้ดีที่สุด จุลินทรีย์ที่ดีควรมีความหลากหลาย เกษตรธรรมชาติเกาหลีไม่เน้นการใช้จุลินทรีย์เฉพาะตัวใดตัวหนึ่งและไม่สนับสนุนการใช้จุลินทรีย์ต่างถิ่นที่ต้องซื้อหามาใช้เป็นปัจจัยในการผลิต
3.) ให้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต กระบวนการผลิตมีความสำคัญมากกว่าในการผลิต เนื่องจากรูปแบบของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ จะมีลักษณะเฉพาะ การทำเกษตรสมัยใหม่จะมีเป้าหมายอยู่ที่ปริมาณการผลิต โดยไม่ใส่ใจลักษณะเฉพาะและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น การเลี้ยงไก่ในกรงตับ การเลี้ยงสุกรหรือวัวที่เป็นคอกพื้นซีเมนต์ ฯลฯ เกษตรกรควรใส่ใจ และยอมรับในความสุขของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รู้จักสังเกตสิ่งที่เป็นพฤติกรรมทางธรรมชาติของพืชที่ปลูก และสัตว์ที่เลี้ยง สิ่งนี้คือหัวใจของเกษตรธรรมชาติที่แท้จริง
4.) เชื่อในพลังของธรรมชาติ และมุ่งเน้นการผลิตโดยคำนึงถึงคุณภาพ เกษตรธรรมชาติมีอิทธิพลอย่างมาก ในการกระตุ้นในเกษตรกรเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ในการผลิตพืชและสัตว์ แนวคิดของเกษตรธรรมชาติเป็นอะไรที่จะฟังดูแปลก และมีความเสี่ยง ไม่มีเหตุผล หรือไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยของเกษตรกรได้หมด ความเชื่อในวิธีเกษตรธรรมซึ่งปรากฏออกในลักษณะที่เกษตรกรไม่คุ้นเคย เนื่องจากหลักการและสมมุติฐานนี้ใหม่ดูแล้วไม่น่าจะถูกต้อง แต่ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมีความเป็นไปได้ ถ้าเกษตรกรเชื่อในพลังของธรรมชาติ เข้าและทำงานร่วมกันกับธรรมชาติ มนุษย์ต้องทำการเกษตรให้กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นหวังที่จะให้ได้ผลผลิตจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้ได้ประมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้
5.) ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ช่วยเหลือกันเอง และช่วยเหลือตัวเองก่อน เกษตรกรควรให้ความช่วยเหลือ และดูแลให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ให้เหมาะสมและใช้วิธีการถูกต้อง เช่น ถ้ามีแมลงรบกวนก็ควรจะควบคุมตัวอ่อนของแมลง ถ้าวัชพืชเป็นปัญหาก็ควรใช้วิธีหยุดการงอกของเมล็ดวัชพืช การปล่อยให้วัชพืชต้องแข่งขันกันเองในแปลงปลูก จนเกินจุดสมดุลของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบๆ ก็เป็นวิธีการควบคุมวัชพืชวิธีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าวัชพืชบางชนิดก็มีประโยชน์เช่นกัน
ที่มา : แนวคิด หลักการ เทคนิคปฎิบัติในประเทศไทย เกษตรธรรมชาติ ประยุกต์
โดย รศ. ดร.อานัฐ ต้นโช
http://www.maejonaturalfarming.org