-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 415 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะม่วง




หน้า: 4/7



ภาวิณี สุดาปัน

ปลูกมะม่วง อาร์ทูอีทู กว่า 1,000 ต้น
ส่งนอก รายได้งาม ที่เมืองโอ่ง


มะม่วง เป็นพืชที่ปลูกแล้วรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก สามารถปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของไทย มะม่วงชอบดินทั่วไป ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกมะม่วง คือ ดินร่วน หรือร่วนปนทราย โดยเฉพาะดินบนเขาจะระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศแห้งแล้ง แต่ก็ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตเช่นกัน

ถ้าสภาพอากาศชื้นจะสู้พวกโรค แมลง เชื้อรา ไม่ไหว นอกจากรับประทานผลสดแล้วยังสามารถแปรรูปเพื่อจำหน่ายเป็นอาหารสดและอาหารแห้งได้ ส่งขายต่างประเทศสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ทุกภูมิภาคของไทยสามารถปลูกมะม่วงได้ แต่ผลิตผลที่ได้ในแต่ละภูมิประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่ ณ สวนแห่งนี้ คือสวนของคุณดำริ มีพื้นที่อาณาเขตหลายร้อยไร่ สภาพอากาศแห้งแล้ง สังเกตเห็นฝุ่นตลบจากถนนลูกรังที่ทีมงานขับรถผ่าน สองข้างทางแน่นไปด้วยสวนไม้ผลที่อุดมสมบูรณ์ สวนคุณดำริก็เช่นกันถึงแม้สภาพอากาศจะแห้งแล้งแต่พอได้เหยียบย่างลงใต้ถุนเรือนบ้านแล้วรู้สึกเย็นสบาย พบเจอเจ้าของก็ทักทายพูดคุยกันตามประสาแล้วเดินชมสวนกัน

เจ้าของสวนคือ คุณดำริ ใจเสียง อายุ 90 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 6 ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีภรรยาคู่ชีวิต คือ คุณเพลิน ใจเสียง อายุ 81 ปี ทั้งสองมีบุตรชายด้วยกัน 2 คน คนเล็กมีครอบครัวอยู่สิงคโปร์ ส่วนคนโตอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งมีลูกด้วยกัน 3 คน

ลูกชายคนโต มีรถแบ๊คโฮรับเหมา พร้อมกับทำสวนช่วยคุณพ่ออีกทาง โดยมีภรรยาเป็นแรงงานหลักในการดูแลสวนมะม่วงทั้งหมด

แต่ก่อนที่ คุณติ๋ว ภรรยาของ คุณเปี๊ยก ลูกชายของคุณดำริจะมารับช่วงสืบทอดอาชีพทำสวนมะม่วงต่อนั้น คนที่เริ่มบุกเบิกที่ดินผืนนี้คือ คุณดำริ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำสวนมะม่วงมากว่า 30 ปีแล้ว พื้นดินที่เห็นกว่า 200 ไร่ แห่งนี้แหละ คือสวนมะม่วงของคุณดำริ

คุณดำริ เล่าให้ฟังว่า "ปีแรกที่ทำสวน ผมจะปลูกมะม่วงชนิดที่สามารถส่งออกได้ทั้งหมด อันได้แก่ น้ำดอกไม้ เขียวเสวย มันขุนศรี แก้วลืมรัง ขยายพันธุ์โดยใช้วิธีปลูกต้นตอแล้วเสียบยอด ซึ่งสมัยก่อนจะเป็นที่นิยมมาก แต่ปัจจุบันนี้พันธุ์ใหม่ (อาร์ทูอีทู) กำลังเป็นที่นิยม ผมนำมะม่วงพันธุ์อาร์ทูอีทู มาปลูกที่สวนแห่งนี้หลายพันต้น ครั้งแรกซื้อยอดมาจากจังหวัดระยอง ประมาณ 30-40 ยอด แล้วก็ซื้อมาจากเชียงใหม่อีก 200-300 ยอด นอกจากนี้ ยังซื้อมาจากจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกาญจนบุรีอีกจำนวนหนึ่ง ผมปลูกอาร์ทูอีทูส่งออกนอกกว่า 3-4 ปีแล้ว สาเหตุที่หันมาปลูกอาร์ทูอีทูก็เพราะว่าให้ผลผลิตดี ขายได้ราคาสูงกว่ามะม่วงพื้นเมืองทั่วไป และเป็นที่นิยมของลูกค้าในต่างประเทศ นอกจากมะม่วงแล้วยังมีปลูกลำไย" คุณดำริ เล่า

วิธีการปลูกการดูแลรักษานั้น คุณดำริ ปลูกมะม่วงอาร์ทูอีทู จำนวน 1,000 ต้น ลักษณะของมะม่วงอาร์ทูอีทู คือผลกลม ขนาดใหญ่ น้ำหนักว่า 1 กิโลกรัม น้ำหนักผลน้อยที่สุด 7-8 ขีด เมื่อผลสุกจะมีสีแดง หากห่อผลจะมีลักษณะสีเหลืองนวล เนื้อหนา รสชาติไม่หวานจัดเหมือนน้ำดอกไม้ หวานอมเปรี้ยวนิดๆ ต้นที่ดกที่สุดสามารถเก็บผลได้ประมาณ 50-100 กิโลกรัม

การให้น้ำ ใช้รถยนต์รดน้ำฉีดสายยางไปตามโคนต้น น้ำที่ใช้จะเป็นน้ำบาดาลที่ปั๊มขึ้นมาจากสวนหลังบ้าน สาเหตุที่ไม่ใช้วิธีการให้น้ำอย่างอื่น เพราะเป็นการประหยัดทุนและแรงงาน อีกอย่างมะม่วงเป็นไม้ผลที่ไม่ชอบน้ำ จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำมาก

การให้ปุ๋ย สวนแห่งนี้แต่ก่อนจะใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก แต่ปัจจุบัน คุณเปี๊ยก (ลูกชาย) จะทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพขึ้นมาใช้เอง ส่วนผสมที่ใช้ในการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ ได้แก่ หัวเชื้อปุ๋ย กากอ้อย ขี้หมู รำ เป็นหลัก วิธีการรดก็ใช้รถดูดส้วมปั๊มน้ำปุ๋ยหมักขึ้นมาฉีดพ่นแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้รดเฉพาะสวนมะม่วงกับลำไย

ลักษณะการทำสวนของคุณดำรินั้นง่ายต่อการดูแลรักษา เก็บเกี่ยว และการขนส่ง เพราะมีถนนสำหรับรถวิ่งรดน้ำ กำจัดวัชพืช มีรถสำหรับลำเลียงขนส่งมะม่วงออกจากสวน นี่คือรูปแบบการจัดการสวนที่ควรนำไปเป็นแบบอย่างสำหรับผู้ที่สนใจจะทำสวนมะม่วง

มะม่วงของคุณดำริทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำดอกไม้ เขียวเสวย แก้วลืมรัง อาร์ทูอีทู เป็นต้น จะต้องห่อถุงกระดาษที่ทางบริษัทผู้รับซื้อมะม่วงส่งนอกนำมาให้ ราคาใบละ 75 สตางค์ 1 ใบ ใช้ได้ประมาณ 2 ครั้ง สาเหตุที่ห่อผล เพื่อให้สีผิวสวยงาม สีเหลืองนวลไม่มีจุดแผลบนผิว และที่สำคัญป้องกันแมลงมาก่อกวนได้อีกทาง

คุณดำริ เล่าว่า สวนของตนส่งออกปีละกว่า 200 ตัน ซึ่งแต่ละวันจะเก็บมะม่วงปริมาณ 10 ตัน จากนั้นจะนำมาคัดแยก และบรรจุภัณฑ์ลงกล่องพร้อมกับห่อตาข่ายเพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนระหว่างการขนส่ง ซึ่งกล่องที่ใช้บรรจุมะม่วงนั้นทางบริษัทผู้รับซื้อนำมาให้ เจ้าของสวนก็จะต้องใช้ผลิตภัณฑ์นี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานการส่งออกเหมือนกัน ส่วนยี่ห้อก็ยังเป็นของสวนดำริเหมือนเดิม

ราคาขายนั้น ช่วงที่มะม่วงราคาดี ขายราคาแพ็กละ 700 บาท น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ส่วนช่วงที่ราคาต่ำสุด ขายได้ราคาแพ็กละ 450 บาท น้ำหนัก 10 กิโลกรัม มะม่วงอาร์ทูอีทูของสวนดำริจะมีราคาแพงที่สุด ส่วนมะม่วงที่มีรสชาติหวานที่สุดนั้นก็คือ น้ำดอกไม้ มะม่วงสวนดำริปลูกเพื่อการค้าและส่งออกเกือบทั้งหมด นอกจากที่ไม่ได้มาตรฐาน (ผลเล็ก ไม่สมบูรณ์) ก็จะส่งไปขายที่ตลาดศรีเมือง จังหวัดราชบุรี ส่วนมะม่วงที่นำส่งไปขายยังต่างประเทศนั้นมีหลายประเทศด้วยกัน ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น วิธีการขนส่งผ่านทั้งทางเรือและเครื่องบิน มะม่วงของสวนดำริจะส่งขายให้บริษัทส่งออกที่หาดใหญ่เพียงเจ้าเดียว

คุณดำริ มองอนาคตการปลูกมะม่วงอาร์ทูอีทูว่า เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง หากปลูกเพื่อการค้า เพราะต้นพันธุ์แข็งแรงทนทาน เจริญเติบโตเร็ว (แต่ก่อนอยู่ในสภาพอากาศหนาว เมื่อนำมาปลูกในไทยก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้นได้) ผลผลิตดี ผลใหญ่ ขายได้ราคาสูง เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคในต่างประเทศไม่นิยมมะม่วงรสหวานจัดเหมือนมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทย

หากท่านใดสนใจ สามารถติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ที่ เบอร์โทร. (081) 943-1887 (คุณเปี๊ยก), (032) 735-522


ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน


*********************************************************************************************


เคนซิงตัน ไพรด์....สุดยอดมะม่วงออสเตรเลีย

    จริงอยู่การปลูกมะม่วงของ ชาวสวนมะม่วงไทยในเชิงพาณิชย์ปัจจุบันนี้ แทบทั้งหมดจะปลูกพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากผลิตเพื่อการส่งออกเกือบทั้งหมด โดยมีการส่งไปขายในรูปแบบของผลสด, แช่แข็ง, ดายฟรีซ ฯลฯ
   
เป็นที่สังเกตว่าพื้นที่ผลิตมะม่วง น้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกหลัก ๆ จะอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา, ประจวบคีรีขันธ์, อุดรธานี, พิจิตร ฯลฯ ยังมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติมขึ้นอีกมากโดยเกษตรกรไม่มีการตรวจสอบเรื่องการตลาดในอนาคตให้ดีเสียก่อน ในขณะที่มีเกษตรกรบางรายปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์สุดท้ายได้เปลี่ยนยอดเป็นมะม่วงพันธุ์อาร์ทูอีทูทั้งสวน เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อเพื่อการส่งออกทั้งหมดและได้ราคาดีไม่แพ้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง อีกทั้งมีราคาดีตลอดฤดูกาลแม้จะเป็นช่วงที่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมีราคาตกต่ำในช่วงที่ผลผลิต ออกสู่ตลาดมาก ๆ
   
หลายคนยังไม่ทราบว่ามะม่วงพันธุ์  "อาร์ทู อีทู"  เป็นมะม่วงของประเทศออสเตรเลียที่ปลูกและให้ผลผลิตได้ในประเทศไทย แต่เป็นสายพันธุ์ที่บังคับให้ออก นอกฤดูได้ยากกว่าพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองแม้จะมีการใช้สารราด เพื่อบังคับก็ตาม แต่มีจุดเด่นตรงที่ ถ้าออกดอกแล้วช่อดอกใหญ่และดอกสมบูรณ์เพศทำให้ มีการติดผลได้ง่ายมาก
   
หรืออาจจะกล่าว ง่าย ๆ ว่า ถ้าออกดอกแล้ว โอกาสติดผลมีสูงมาก ในขณะที่พื้นที่ปลูกมะม่วงในประเทศออสเตรเลียเองจะมีการปลูกมะม่วงหลัก ๆ อยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์  "เคนซิงตัน ไพรด์"  และพันธุ์  "อาร์ทู อีทู"   ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าคนออสเตรเลียนิยมบริโภคมะม่วงพันธุ์เคนซิง ตัน ไพรด์ มากที่สุด  ผลผลิตมะม่วงสายพันธุ์นี้มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณปีละ 1.65 ล้านกิโลกรัม มีผลผลิตในแต่ละปีมากกว่ามะม่วงอาร์ทู อีทู ที่ปลูกในออสเตรเลียหลายเท่า  คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักมะม่วงสายพันธุ์นี้  ทั้งที่จัดเป็นมะม่วงที่มีเนื้อละเอียดและรสชาติอร่อย ไม่มีกลิ่นขี้ไต้และสามารถปลูกให้ผลผลิตดีในประเทศไทย
   
ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร ซึ่งได้ยอด พันธุ์มาจากประเทศออสเตรเลีย ที่ผ่านมาได้มีการบังคับให้มะม่วงเคนซิงตัน ไพรด์.ออกดอกและติดผลนอกฤดู ผลปรากฏว่าเป็นพันธุ์ที่ตอบสนองดีเหมือนกับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และให้ผลผลิตดกมาก   มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 300 กรัมต่อผล
   
ในอนาคตมะม่วงพันธุ์  "เคนซิงตัน ไพรด์ "  ซึ่งเป็นสายพันธุ์มะม่วงที่ปลูกมากที่สุดในออสเตรเลียจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการส่งออกมะม่วงไทยเพราะตอบสนอง ต่อการบังคับให้ออกนอกฤดู.


ทวีศักดิ์  ชัยเรืองยศ



ที่มา  :  เดลินิวส์


****************************************************************************************************


เส้นทาง ‘มะม่วงไทย’ ไปได้สวยที่ตลาดญี่ปุ่น พิมพ์ ส่งเมล์
Contributed by ดวงพร หมีวรรณ์   
 

หลังจาก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) ได้ส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนผลไม้ในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศไปแล้วจำนวน 64 กลุ่ม สมาชิก 708 ราย อยู่ในภาคเหนือ 16 กลุ่ม สมาชิก 186 ราย ภาคกลาง 23 กลุ่ม สมาชิก 232 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  13 กลุ่ม สมาชิก 169 ราย และภาคใต้ 12 กลุ่ม สมาชิก 121 ราย และมีการปล่อยสินเชื่อเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรกู้ยืมไปลงทุนแล้วกว่า 27.57 ล้านบาท ปัจจุบัน ส.ป.ก.ได้เร่งขยายผลการส่งเสริมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตเข้ากับการตลาด เพื่อให้มีตลาดรองรับแน่นอน ทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำด้วย
 
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ป.ก. ได้เร่งดำเนิน โครงการพลิกฟื้นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผลไม้เพื่อการส่งออกในเขตปฏิรูปที่ดิน เบื้องต้นได้ร่วมกับภาคเอกชน 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สยาม เอ็กซ์ปอร์ตมาร์ท จำกัด บริษัท ทิมฟู้ด จำกัด บริษัท เดชาอินเตอร์เทรด จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด อี.เอ็ม.การเกษตร นำร่องส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระแก้ว เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย และกำแพงเพชร ให้ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ ชมพู่ทับทิมจันทร์ กล้วยไข่ และแคนตาลูป ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื้อที่รวมกว่า 5,682 ไร่ สมาชิกประมาณ 164 ราย
 
โครงการฯ ดังกล่าว เน้นให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยทางด้านอาหาร และได้มาตรฐานตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) หรือต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้า “คิว มาร์ค” (Q Mark) ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้ของวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินค้าชนิดแรกที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้  มีพื้นที่ปลูกประมาณ 5,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตมะม่วงสดคุณภาพดี ไม่น้อยกว่า 550 ตัน/ปี  โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่น
 
บริษัท สยาม เอ็กซ์ปอร์ตมาร์ทฯ ได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตล่วงหน้าทั้งปี สำหรับมะม่วงเกรด A ราคากิโลกรัมละ 45-60 บาท ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในแต่ละช่วง ขณะเดียวกันบริษัท ทิมฟู้ดฯ ยังได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะม่วงเกรด  B-C ของเกษตรกรด้วย  ราคาเกรด B ประมาณ  35-47 บาท/กิโลกรัม และเกรด C ประมาณ 20-35 บาท/กิโลกรัม และบริษัท เดชาอินเตอร์เทรดฯ ยังได้ลงนามทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อส่งออกด้วย
 
นายขวัญชัย ธนะแก้ว ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อพืชไร่ บริษัท ทิมฟู้ด จำกัด บอกว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มความต้องการนำเข้ามะม่วงจากไทยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในรูปผลสดและผลิตภัณฑ์มะม่วงแช่แข็งโดยเฉพาะมะม่วงมหาชนก ญี่ปุ่นต้องการนำเข้าค่อนข้างมาก ซึ่งปีที่ผ่านมา บริษัท ทิมฟู้ดฯ ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะม่วงแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นประมาณ  1,500 ตัน ในจำนวนนี้เป็นมะม่วงมหาชนกกว่า 800 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีการส่งออกสินค้าผักและผลไม้แปรรูปอื่นด้วย อาทิ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฝักยาว ข้าวโพดฝักอ่อน เงาะ มังคุด และสับปะรด รวมกว่า 5,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 80%  ที่เหลืออีก 20% เป็นตลาดใหม่ในสหรัฐอเมริกา
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาตลาดให้มีความต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้จัดทำระบบ คอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิต โดยส่งเสริมให้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะสามารถผลิตสินค้าป้อนให้บริษัทฯ ได้เพียงพอกับความต้องการ ปัจจุบันมีเครือข่ายเกษตรกรอยู่ในการดูแลซึ่งได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตประกันราคาขั้นต่ำไว้ไม่น้อยกว่า 50 กลุ่ม กระจายอยู่ในพื้นที่ 30 จังหวัด และขณะนี้บริษัทฯ ได้ขยายผลการส่งเสริมไปสู่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยร่วมกับ ส.ป.ก. สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก เนื่องจากตลาดมีแนวโน้มดีและอนาคต  สดใส
 
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะรับซื้อมะม่วงเกรด B จากเกษตรกร ประมาณ 8-10 ตัน/วัน เพื่อนำมาตัดแต่งและผลิตเป็นมะม่วงแช่แข็งส่งออก ซึ่งผู้นำเข้าจะกระจายสินค้าไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต ชั้นนำโดยเฉพาะในกรุงโตเกียว ตลาดให้การตอบรับดีมาก มะม่วงมหาชนกถือเป็นสินค้าใหม่ที่น่าจับตา เพราะตลาดเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพตามเงื่อนไขของผู้นำเข้า เพื่อครองตลาดเอาไว้.





ที่มา : www.dailynews.co.th


******************************************************************************************

เซียนมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก
กับหลากหลายความคิดเห็น


ฤดูกาลผลิตมะม่วง ปี พ.ศ. 2552-2553 ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ไม่น่าจะเพียงพอกับการส่งออก โควต้าที่ต้องการมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกบ้านเรามาก แต่ผลผลิตมีไม่เพียงพอ ผลผลิตมีหลายรุ่น อย่างรุ่นแรกเดือนตุลาคม 2552-พฤศจิกายน 2552 ราคาดีมาก เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 75-80 บาท และรุ่นสอง ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ราคาลดมาเหลือกิโลกรัมละ 70 บาท และเดือนมีนาคมเหลือกิโลกรัมละ 55 บาท ผลผลิตเรายังไม่เพียงพอในการส่งออก คาดว่าปลายเดือนมีนาคม มะม่วงน่าจะขาดช่วงบ้าง จะออกอีกทีประมาณเมษายน แต่ว่าไม่น่าจะมาก


สภาพดินฟ้าอากาศร้อนก็ส่งผลต่อการผลิตมะม่วงเช่นกัน อย่างเราต้องการชะลอการขายอีก 10 วัน แต่สภาพอากาศร้อนจัดก็ยืดเวลาไม่ได้ มะม่วงมันสุกแก่เร็วขึ้น กลุ่ม "วิสาหกิจผู้ผลิตมะม่วงส่งออกจังหวัดสระแก้ว" มีสมาชิกราว 20 กว่าคน มีมะม่วงรวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 6,000 ไร่ ของผมคนเดียวน่าจะราวๆ 700 ไร่ ผมมีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและเบอร์ 4 เป็นหลัก การส่งออกของกลุ่มเราในปีนี้มีประมาณ 200 ตัน แล้วตลาดตอนนี้มีทั้งประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ตอนหลังทางเกาหลีใต้สั่งมามากขึ้น ทางเกาหลีใต้ก็คัดคุณภาพเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่เขาชอบมะม่วงผลใหญ่ คือน้ำหนัก 350 กรัม ขึ้นไป ส่วนญี่ปุ่นต้องการน้ำหนัก 200 กรัม ขึ้นไป มันจึงคัดได้พอดีเลย


ภาพรวมปัญหาของการผลิตมะม่วงนอกฤดูยังออกสู่ตลาดไม่สม่ำเสมอและขาดความต่อเนื่อง เพราะว่าเกษตรกรยังไม่รู้ตัวตน ยังไม่เข้าใจตลาด ไม่รู้ว่าตัวเองต้องผลิตมะม่วงออกมาขายช่วงเวลาใด โดยภาพรวมเราต้องการให้เกษตรกรทั่วประเทศผลิตมะม่วงป้อนตลาดต่างประเทศตลอดทั้งปี ต้องมีการผลิตแบบกระจายตัว แบ่งพื้นที่เป็นโซนๆ ให้การผลิตมะม่วงมีความล้ำเหลื่อมกันบ้าง ส่วนจะผลิตให้ออกมาช่วงไหนบ้างนั้น ในแต่ละพื้นที่จะต้องดูกันอีกที คุยกับผู้นำกลุ่มในแต่ละภาค เราแข่งขันการส่งออกกับต่างประเทศ เราต้องแข่งขันกับเขาทั้งปี อย่างบ้านเรามีมะม่วงขายมากช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ขายมะม่วงอยู่ 3 เดือน ทำให้ตลาดการส่งออกไม่โตเท่าที่ควร ชมรมเผยแพร่ได้ตระเวนเก็บข้อมูลสถานการณ์ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกจากกลุ่มผู้นำต่างๆ ในหลายพื้นที่ ได้ข้อมูลน่าสนใจมากมายที่จะนำมาปรับปรุงและขยายตลาดการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น


วิสาหกิจผู้ผลิตมะม่วงส่งออก .....จังหวัดสระแก้ว
คุณวรเทพ แก้ววงษ์นุกูล ผู้จำหน่ายและส่งออกมะม่วง สวน ก.นุกูล บ้านเลขที่ 359 หมู่ที่ 1 ตำบลวังใหม่ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว 27250 โทร. (089) 930-7216 บอกถึงภาพรวมของการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ในปีนี้ สำหรับความแก่ของผลผลิตที่จะส่งออกประมาณ 85-90% ก็ทดสอบโดยการจมน้ำ ลอยน้ำบ้าง โดยอาศัยประสบการณ์ บางบริษัทจะดูเนื้อสดการออกผลผลิตเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเป็นโซนพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว มีช่วงสลับกันที่ปากช่อง พิจิตร และประจวบคีรีขันธ์ บ้าง ซึ่งจะมีชนกันบ้างเป็นบางเดือน แต่ผลผลิตไม่พอ ทางเหนือส่งออกหลังสุดคือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมไปแล้ว


คุณวรเทพ ฝากถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะม่วงจะต้องปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นหลัก ผลผลิตคุณภาพเพื่อการส่งออกยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางตลาดยังมีความต้องการสูงขึ้นทุกๆ ปี อย่างทางผมก็กำลังเตรียมขยายพื้นที่การเพาะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้มากขึ้น มีตลาดเข้ามาหาผลผลิตมากขึ้น แต่ว่าเราไม่สามารถรองรับได้ 100% ตลาดส่งออกเราดี


กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ .....อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
คุณมนตรี ศรีนิล กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก บ้านเลขที่ 31 หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 โทร. (089) 533-8594 เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีสมาชิกประมาณ 40 กว่าราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงรวมประมาณ 2,000 ไร่ หลักๆ ก็เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ ในปีนี้ (พ.ศ. 2552-2553) ผลผลิตที่ส่งออกไปแล้วเฉพาะมะม่วงเกรดเอไปแล้วประมาณ 200 ตัน ปัญหาและอุปสรรคฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาสภาพอากาศไม่อำนวย มะม่วงไม่ยอมออกดอก อากาศมีผลมากต่อการผลิตมะม่วง ราคารับซื้อมะม่วงตอนนี้เดือนมีนาคม ราคากิโลกรัมละ 45-50 บาท เป็นช่วงที่เจอมะม่วงตามฤดูกาล แต่ช่วงต้นฤดูราวเดือนสิงหาคม-ธันวาคม จะได้ราคากิโลกรัมละ 70-82 บาท คุณมนตรี ได้ไปแนะนำกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่มา ก็เสนอแนวทางแก่เกษตรกรในพื้นที่ทางเหนือควรทำมะม่วงหลังฤดู ไม่ต้องให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งจะชนกับมะม่วงในฤดูที่อื่น ควรผลิตมะม่วงให้มีขายตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จึงจะดี เพราะสภาพทั้งที่อากาศก็เหมาะสมทำได้แน่นอน


คุณมนตรี ฝากถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะม่วงว่า ต้องมองไปที่ "ต้นทุน" ทำอย่างไร จึงจะลดต้นทุนลงมาได้ อย่างราคามะม่วงจะลดลงให้มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เราต้องแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพกับอีกหลายประเทศ เช่น ภาคเหนือ เขาลดต้นทุนลง ซึ่งก่อนหน้านี้เขาราดสาร แล้วเก็บเกี่ยวเอาเดือนมีนาคม-เมษายน ก็เกิดปัญหาขายมะม่วงยาก เพราะมะม่วงภาคกลางยังไม่หมด จริงๆ หากเขาเข้าใจทำมะม่วงหลังฤดูกาล เขาก็ไม่ต้องใช้สารมากเท่าไรเลย ปล่อยให้ออกตามธรรมชาติ อาจจะมีให้ช่วยบ้างตามความเหมาะสม และอย่างการเลือกสารเคมีต้องตรงเป้าหมายโรคและแมลง


บริษัทผู้ส่งออกตอนนี้ก็เริ่มขยายไปพื้นที่อื่น คือส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนกำลังไปได้ดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระจายสินค้าได้มากทีเดียว มะม่วงมีทางไปมากขึ้น บริษัทส่งออกไปจีนเขาก็สู้ราคา มีความต้องการมะม่วงเกรดเอ มาตรฐานเดียวกับตลาดญี่ปุ่น เขาส่งตลาดระดับสูง ส่งเข้าห้างในกรุงปักกิ่ง ต้องการมะม่วงคุณภาพเท่านั้น


การเก็บเกี่ยวมะม่วงส่งออกจะเก็บแก่ราวๆ 85% ก็เหมือนชาวสวนทั่วๆ ไป คือการทดสอบกันในถังน้ำ ถ้าผลมะม่วงจมน้ำแสดงว่าความแก่ราวๆ 80% ขึ้นไป แต่ถ้ามะม่วงยังลอยน้ำอยู่ก็แสดงว่าความแก่ต่ำกว่า 80% เป็นต้น


กลุ่มผู้ปลูกมะม่วง ......ตำบลกุดหมากไฟ จังหวัดอุดรธานี
คุณบุญช่วย พัฒนาชัย กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี บ้านเลขที่ 399 หมู่ที่ 1 ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี 41220 โทร. (087) 949-6454 สถานการณ์มะม่วงปีนี้ (พ.ศ. 2553) โดยรวมถือว่าดีมาก ผลผลิตมะม่วงของกลุ่มมีออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 เรื่อยมาถึงเดือนมีนาคม 2553 จะมีช่วงที่มะม่วงขาดช่วงไปบ้าง แต่คาดว่าปลายเดือนมีนาคม-เมษายน ผลผลิตจะมีให้เก็บมากขึ้น การส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ของทางกลุ่มในฤดูกาลนี้ส่งออกไปแล้ว ประมาณ 200 ตัน จากสมาชิกจำนวน 150 คน มีพื้นที่โดยรวมปลูกมะม่วงรวมกันราว 2,500 ไร่ แบ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทองเป็นหลัก รองลงมาจะเป็นมะม่วงฟ้าลั่น เขียวเสวย แก้ว ฯลฯ ส่วนพื้นที่ปลูกใหม่ๆ ก็เริ่มเปลี่ยนและขยายเป็นน้ำดอกไม้สีทองมากขึ้น


บริษัทที่เข้ามารับซื้อก็เช่น บริษัท สวิฟ จำกัด บริษัท ไรซิง (ไทยแลนด์) จำกัด ราคารับซื้อ 50-55 บาท ต่อกิโลกรัม เกรดเอ พร้อมส่งออก แต่มะม่วงราคาจะดีมากในช่วงต้นฤดู เดือนธันวาคมได้ราคา 60 บาท ต่อกิโลกรัม ปัญหาในการผลิตมะม่วงเพื่อการขายส่งออกในปีนี้คือ เจอฝนตกปลายปีในช่วงมีผลขนาดเล็กยังไม่ได้ห่อผล ทำให้ผลลาย แต่ผลผลิตอีกชุดที่จะออกเดือนเมษายนห่อเรียบร้อย ผิวสวย ในการเก็บเกี่ยวมะม่วงเพื่อส่งออกความแก่ของมะม่วงนั้นขึ้นอยู่กับประเทศที่ต้องการจะส่งออก เช่น ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น จะต้องการความแก่ราว 80% หวานไม่มากนัก อมเปรี้ยวเล็กน้อย ถ้าส่งไปทางยุโรปที่ชอบรับประทานหวานกว่าญี่ปุ่น จะเก็บที่ความแก่ราว 90%



การทดสอบความแก่แบบชาวบ้าน (ไม่มีเครื่องวัดความแก่) คือ การนำมะม่วงลอยน้ำดู ในถังที่ใส่น้ำ
1. หากมะม่วงมีความแก่ 80% ผลมะม่วงจะลอยน้ำ แต่ผลจะไม่โผล่พ้นน้ำ
2. หากมะม่วงมีความแก่ 90% ผลมะม่วงจะค่อยๆ ดิ่งลงพื้นช้าๆ แต่จะไม่ลอยขึ้นผิวน้ำเลย
3. หากมะม่วงมีความแก่ 100% ผลมะม่วงจะจมดิ่งลงพื้นทันที


พื้นที่การปลูกมะม่วงของ คุณบุญช่วย ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มมีประมาณ 32 ไร่ ปลูกน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 กว่า 10 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่น เขียวเสวย แก้ว และกำลังขยายปลูกน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มขึ้นด้วย


คุณบุญช่วย ฝากถึงพี่น้องชาวสวนมะม่วง อยากให้ชาวสวนผลิตมะม่วงที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เพื่อเราจะได้ต่อรองราคาได้ง่าย การส่งออกจะได้ไม่เกิดปัญหา เกษตรกรต้องมีคุณธรรมในการผลิตสินค้า ไม่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วย ผู้บริโภครับประทานแล้วอร่อย ปลอดภัย ก็จะเกิดความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย


กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงปลอดสารพิษ....เพื่อการส่งออก เมืองปากช่อง
คุณวีรเดช ไชยอนงค์ศักดิ์ บ้านเลขที่ 29 หมู่ที่ 5 ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 โทร. (081) 282-3111 กลุ่ม "วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงปลอดสารพิษ เพื่อการส่งออกเมืองปากช่อง" มีสมาชิก จำนวน 17 คน มีพื้นที่ปลูกรวมๆ กันได้ประมาณ 2,000 ไร่ ปัญหาและอุปสรรคในฤดูกาลผลิต 2552-2553 สภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะ "ฝน" โดยฝนตกในปัจจุบันจะไม่เหมือนฝนตกในสมัยก่อน มะม่วงจะเสียหายทันทีหากฝนตกมาตอนดอกมะม่วงบาน เช่น ฝนตกตอน 5 โมงเย็น พอรุ่งเช้ามาดอกเราเสียหายเลย แต่ฝนตกสมัยก่อนเช้ามาฉีด หรือ 2-3 วัน ฉีดยาตาม ก็ยังไม่เสียหาย ตลาดส่งออกก็มีญี่ปุ่นที่เป็นหลัก มีตลาดใหม่ๆ ที่กำลังโตอย่างตลาดจีน เกาหลีใต้ และยุโรปบางประเทศ สวนของผมก็ต้องทำมาตรฐานยุโรป คือ "Global GAP" และเริ่มเข้าสู่กระบวนการนี้ทั้งกลุ่มก็จะมีบริษัทผู้ส่งออกเข้ามาร่วมจัดการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด แต่ทั้งนั้นตัวเราหรือเกษตรกรต้องเคร่งครัดด้วย ทั้งความปลอดภัย สัตว์ พาหนะ สารเคมี ที่ต้องควบคุมที่สวนจะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 เป็นส่วนมาก เพราะว่าปลูกมาก่อน แต่หากมีการขยายพื้นที่ใหม่ก็จะปลูกน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มเติม


คุณวีรเดช ฝากถึงพี่น้องชาวสวนมะม่วงจะต้องรักษามาตรฐานคุณภาพให้อยู่ในกฎ กติกา ที่กำหนด มีวินัย หากเกิดคุณภาพ เรื่องราคากับตลาดไม่ใช่ปัญหา เพราะขายมะม่วงคุณภาพดี ผลผลิตไม่พอขายอยู่แล้ว อย่างสารตกค้างหากเราเคร่งครัดตามที่บริษัทผู้ส่งออกระบุเอาไว้ว่า สารที่ใช้ได้ มีฤทธิ์ตกค้างกี่วัน ก็จะไม่มีปัญหา ซึ่งทางบริษัทผู้ส่งออกเขาก็ระบุมาชัดเจน ชาวสวนต้องเข้าใจในบทความของตัวเอง ตัวเกษตรกรเองก็ต้องเลือกใช้สารหรือยาที่มีมาตรฐาน จากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ใช้ยาที่มีการระบุที่ถูกต้อง ไม่มีส่วนผสมเกินจากอัตราหรือเปอร์เซ็นต์ยาที่ระบุ เมื่อเกษตรกรใช้ก็จะผิดพลาด



หนังสือ "รวมกลยุทธ์ผลิตมะม่วงเงินล้าน เล่ม 2" พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "การผลิตมะม่วงเงินล้าน เล่ม 1" และ "การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก" และ "มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศเพื่อการส่งออก" รวม 4 เล่ม จำนวน 336 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 100 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398



ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ



ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน


********************************************************************************************************


ดร.กาญจนา สุทธิกุล กับ 

หลากหลายแนวคิดในการพัฒนามะม่วงไทย


"จุดอ่อนคือ ชาวสวนมะม่วงไทยส่วนใหญ่ยึดติดแต่ใจตัวเอง ไม่ค่อยเปิดกว้าง ด้วยคิดว่าได้เดินมาถึงจุดสุดยอดแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่คับแคบ เพราะเป็นการปิดกั้นตัวเอง ความรู้มันเรียนทันกันและมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พันธุ์มะม่วงใหม่ๆ และเทคนิคใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะที่เราหลงเข้าใจว่ามะม่วงไทยของเราดีที่สุดแล้วก็เท่ากับว่าเรากำลังเดินถอยหลังนับตั้งแต่วินาทีแรกที่คิด อย่าลืมว่ามะม่วงเป็นไม้ผลที่สามารถปลูกได้หลายพื้นที่เกือบทั้งโลก การแข่งขันจึงสูงมาก ไม่เหมือนทุเรียนหรือมังคุด ฉะนั้น ชาวสวนมะม่วงต้องเปิดใจที่จะพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา" นี่เป็นคำพูดของ ดร.กาญจนา สุทธิกุล ชาวสวน นักวิชาการอิสระ นักเขียนอิสระ และที่ปรึกษา นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย โทร. (084) 949-0204 หรือ อี-เมล : ksthaimango@gmail.com

พันธุ์มะม่วงที่คิดว่าควรส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูกในเชิงการค้า
ดร.กาญจนา แนะนำว่า สายพันธุ์หลักๆ ที่ส่งเสริมให้ปลูกในเชิงการค้าก็คงหนีไม่พ้นน้ำดอกไม้สีทอง เพราะมันเป็นความต้องการอันดับหนึ่งทั้งปีของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่วนน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 ก็ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ขายได้ตลอด เพราะสามารถขายได้ในยามที่ผลยังเล็กอยู่ เพื่อนำไปยำหรือกินกับน้ำปลาหวาน กรณีนี้ถ้าเป็นน้ำดอกไม้สีทองก็จะขายยากมาก เพราะไม่เป็นที่นิยมของทั้งผู้ขายปลีกและผู้บริโภค เพราะฉะนั้นชาวสวนจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเองว่าเขาควรจะเน้นไปที่สีทอง หรือ เบอร์ 4 ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับตลาดของตัวเขาเองเป็นหลักว่าจะผลิตเพื่อตลาดไหนบ้าง ต้องตอบตัวเองให้ได้ในข้อนี้เสียก่อน ส่วนมหาชนกน่าจะส่งเสริมให้ปลูกในภาคอีสานและภาคเหนือเป็นหลัก เนื่องจากที่ตั้งเหมาะแก่การขึ้นสีแดงที่ผล โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยที่ชาวสวนจะปลูกมหาชนกเป็นพันธุ์หลักในภาคกลาง เพราะการขึ้นสีแดงน้อยมาก เดือดร้อน ต้องหาทางแปรรูป ลำพังส่งโรงงานก็ระบายไม่ทัน เพราะโรงงานที่ทำมะม่วงมหาชนกแช่แข็งทำกันเพียงไม่กี่แห่ง ราคาก็ไม่จูงใจเท่ากับการผลิตเพื่อขายผลสด เพราะฉะนั้นชาวสวนต้องหาข้อมูลเป็นเบื้องต้นว่าจะผลิตขายตลาดอยู่ที่ไหนบ้าง ข้อดีข้อเสียของแต่ละสายพันธุ์อยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร

มะม่วงอกร่องที่คุณภาพดีก็ยังได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค ชาวสวนท่านใด ไม่อยากวุ่นวายกับการแข่งขันกับน้ำดอกไม้ ลองหันมาให้ความสนใจมะม่วงอกร่องก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี ที่สำคัญคือ เป็นผลตอบแทนทางใจด้วย เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีความผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน แล้วจู่ๆ เลิกปลูกกันไป ชาวสวนท่านใดจับจังหวะตรงนี้ได้ และเน้นที่จะขายคุณภาพเป็นสำคัญ เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จกับมะม่วงอกร่องได้ไม่ยากนัก

สำหรับมะม่วงมันพันธุ์เขียวเสวยและพันธุ์มันขุนศรี ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการสูง เพียงแต่ต้องรู้ว่าในพื้นที่นั้นๆ เหมาะแก่การปลูกมะม่วงทั้งสองสายพันธุ์มากน้อยแค่ไหน เพราะเขียวเสวยมีข้อเสียคือ ติดผลยาก เนื่องจากเกสรตัวผู้และตัวเมียพร้อมผสมในเวลาที่ต่างกัน ถ้าภายในสวนไม่มีเกสรตัวผู้จากมะม่วงสายพันธุ์อื่นช่วยผสมก็จะติดผลยาก สำหรับมันขุนศรีมีข้อเสียคือ ไวต่อการเกิดแอนแทรกโนสมาก ไม่ต้องรอให้สุกก็เห็นกันบนผลชัดเจนเลย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของมะม่วงสายพันธุ์นี้ ท่านที่จะปลูกต้องเน้นเรื่องการควบคุมโรคแอนแทรกโนสในมะม่วง ต้องมีความเข้าใจว่าเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจะเริ่มเข้าทำลายในช่วงไหน และควรป้องกันอย่างไร ผลจึงจะสวยมีคุณภาพ ขณะที่การใช้สารเคมีป้องกันการเกิดโรคก็เป็นไปอย่างถูกต้องและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย

ตลาดมะม่วงไทย ในอนาคตเป็นอย่างไร
ดร.กาญจนา บอกว่า สำหรับตลาดญี่ปุ่นคิดว่า พอไปได้ เพราะเราทำการตลาดมานาน ผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่มีคุณภาพก็ยังคงทำงานกันต่อเนื่อง เพียงแต่พ่อค้าบางรายที่ไม่รับผิดชอบเข้ามาเป็นตัวถ่วง ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของเราขยับได้ยากขึ้น เที่ยวซื้อมะม่วงด้อยคุณภาพ ไม่เคยได้สร้างกลุ่มผลิตมะม่วงคุณภาพดี เนื่องจากมันมีค่าใช้จ่าย และหวังว่าการซื้อไปเรื่อยนั้นมีโอกาสได้ซื้อถูกขายแพง ผลที่เกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องคือ การติดบัญชีดำเรื่องเคมีตกค้างเกินกำหนดในมะม่วงจากประเทศไทย เป็นห่วงว่าไม่รู้ว่าวันไหนลูกค้าญี่ปุ่นจะประกาศห้ามนำเข้าสักปีเสียที ทุกฝ่ายจึงจะได้รับบทเรียนอย่างจริงจังและหันกลับมาแก้ไขในสิ่งที่มันเป็นปัญหากันบ้าง สิ่งที่เป็นปัญหามากสำหรับฤดูกาล (พ.ศ. 2552-2553) นี้ คือ การจงใจเก็บมะม่วงอ่อนของคนบางกลุ่ม เนื่องจากปีนี้มะม่วงในต้นฤดูออกน้อย ราคาเลยสูงมาก ซึ่งพูดตรงๆ ว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค คือนอกจากจะแพงเกินไปแล้ว ยังรับประทานไม่ได้ เพราะรสชาติเปรี้ยวมาก

เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงต้องทำอย่างไร จึงจะอยู่รอด ในการทำสวนมะม่วง ในสภาวะเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน
สิ่งแรกที่ทำได้ด้วยตัวเองคือ การลดต้นทุนการผลิตให้ได้เสียก่อน ตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า ถ้าลดต้นทุนได้เท่าไร ก็คือกำไรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ทางรอดก็ตามมาโดยอัตโนมัติ ทุกวันนี้ชาวสวนใช้ปัจจัยการผลิตมากเกินความจำเป็น เพราะความไม่รู้ เช่น ใช้สารเคมีราคาแพงกิโลกรัมหรือลิตรละหลายพันบาท ขณะที่ใต้โคนต้นถูกสุมไปด้วยผลมะม่วงสุกหรือเสีย หรือกิ่งไม้ใบไม้แห้งซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งของสปอร์ต้นเหตุของโรคแอนแทรกโนสในมะม่วง หรือเป็นแหล่งที่อยู่ของมดที่จะนำเอาเพลี้ยแป้งเข้ามา หรือเป็นต้นเหตุของโรคแมลงอื่นๆ ไม่มียาเทวดาหรือยาวิเศษอะไรที่จะช่วยได้เลย ถ้าต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องเหล่านี้เจ้าหน้าที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือชาวสวนอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าหาเขา ให้ความรู้ นำเขาทำและติดตาม

คำว่า ลดต้นทุน ก็ประกอบด้วยหลายส่วน รายจ่ายหลักของชาวสวนคือ ค่าแรงคนงาน นี่ไม่นับรวมค่าแรงเจ้าของสวน ส่วนนี้ชาวสวนต้องใคร่ครวญด้วยตัวเองให้ดีว่าในพื้นที่ของเราควรที่จะมีแรงงานประจำหรือไม่ ถ้ามีควรจะสักกี่คนจึงจะพอเหมาะกับงาน เพื่อไม่เป็นการแบกรับภาระมากเกินไป ศักยภาพของคนงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา แรงงานที่มีศักยภาพแค่เพียง 6 คน ได้เนื้องานพอๆ กัน หรืออาจจะมากกว่าแรงงานที่ไม่มีศักยภาพถึง 10 คน หรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าพบว่าภายในสวนยังมีแรงงานที่ไม่มีใจกับงานอยู่ในสัดส่วนที่มาก จนเจ้าของสวนรู้สึกได้ สิ่งแรกที่ท่านควรทำคือ ลดแรงงานออก เพราะนี่คือ ต้นทุนที่เป็นปัญหาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวของการทำงาน

ต้นทุนที่ต้องพิจารณาในขั้นถัดมาคือ การใช้สารเคมี ปัญหาหลักคือ ความไม่รู้ ซึ่งได้พูดไปแล้ว ถ้าจะให้ลงรายละเอียดก็คงเป็นอะไรที่ต้องคุยกันยาว เอาเป็นว่าหลักๆ ก็คือ ต้องรู้ว่าในช่วงไหนแมลงชนิดใดจะระบาด ควรควบคุมการระบาดในระยะไหนและในกรณีนั้นๆ ควรใช้สารเคมีประเภทใดจึงจะไม่เป็นการทำลายทั้งเกสร ผลอ่อน หรือกับทั้งแมลงที่ช่วยในการผสมเกสร การใช้สารเคมีที่ถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของโรค แมลง และถูกทั้งช่วงเวลา ช่วยให้ประสิทธิภาพของการใช้สารเคมีในแต่ละครั้งดีขึ้น ส่งผลให้สามารถลดจำนวนครั้งในการใช้สารเคมีลงได้ในหนึ่งรอบการผลิต เมื่อต้นทุนลดลงทางรอดก็เพิ่มขึ้นเป็นเหตุเป็นผลง่ายๆ เพียงแต่ต้องการทั้ง "ความรู้" และ "ความมีวินัย" ของผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถลดต้นทุนได้ด้วยตัวเองคือ การใช้ปุ๋ย ธรรมชาติของมะม่วงเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยน้อย เมื่อเทียบกับส้มและไม้ผลอื่นๆ อีกหลายชนิด เพราะฉะนั้นถ้าสามารถลดการใช้ปุ๋ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยทางใบและปุ๋ยที่หว่านทางดินได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะลดต้นทุนการผลิตในส่วนนี้ก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะอะไรจึงเน้นไปที่ปุ๋ยทางใบและทางดิน ก็เพราะว่าการให้ปุ๋ยทั้งสองวิธีเป็นสิ่งที่สิ้นเปลือง เนื่องจากจะเกิดการสูญเสียมากกว่าการให้ปุ๋ยไปกับน้ำ นอกเสียจากว่ายังไม่ได้ติดตั้งระบบน้ำการให้ปุ๋ยทั้งสองวิธีดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีการทำอยู่ เพียงแต่จะต้องหาวิธีการที่จะสูญเสียให้น้อยลง เช่น ถ้าจะหว่านปุ๋ยทางดิน อย่างน้อยที่สุดต้องสามารถให้น้ำตามได้ เพื่อที่พืชจะได้ดูดไปใช้บ้าง ไม่ใช่หว่านทิ้งขว้างเลี้ยงแบบบุฟเฟ่ต์หากินเอาเองเถอะเพราะฉันไม่มีน้ำจะให้ ถ้าเป็นกรณีนี้แนะนำว่าอย่าเสียเวลาไปซื้อหามาหว่านเลย นอนอยู่บ้านเฉยๆ ยังจะพอมีกินเหลือมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการลดต้นทุนในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการห่อผล การเลือกวัสดุที่คุ้มค่ากับการนำมาใช้งานแต่ละประเภท คือทุกขั้นตอนของการทำงาน ถ้าชาวสวนมะม่วงสามารถทำได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงเกินจริงได้ ทางรอดก็จะมากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับว่าชาวสวนจะได้รับ "ความรู้" ที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ความรู้ดังกล่าวได้ทำหน้าที่ของตัวเองแล้วหรือยัง ตรงนี้ต่างหากคือ "ปัญหา"

นอกจากในแง่ของการลดต้นทุนแล้ว ทางรอดอีกทางที่ชาวสวนต้องสร้างให้ได้คือตลาดของตัวเอง ท่านต้องประเมินตัวเองออกมาให้ได้ว่าฝีมือในการผลิตมะม่วงของท่าน ณ เวลานี้อยู่ในขั้นไหน ถ้ายังเข้าขั้นตลาดนัดแต่อยากขายได้ราคาส่งออก ก็แนะนำให้เอามะม่วงของตัวเองไปเทียบกับมะม่วงเกรดส่งออกของชาวสวนท่านอื่นและให้ผู้ซื้อตัดสิน แล้วท่านจะได้รับคำตอบว่า "สวย" ของท่านกับของผู้ซื้อมันความหมายเดียวกันหรือเปล่า จากนั้นก็กลับไปปรับปรุงคุณภาพเสียใหม่ ตลาดมันมีอยู่ทั่วไปนี่แหละ สำคัญว่ามะม่วงที่อยู่ในมือมันมีคุณภาพจริงๆ แค่ไหน จากนั้นค่อยลุยหาตลาดที่ดีขึ้นต่อไปด้วยการส่งตัวอย่างไปให้ผู้ซื้อตั้งแต่เนิ่นๆ ต้องเข้าหาและต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อเห็นว่าสามารถฝากความสำเร็จไว้กับคนนี้หรือกลุ่มนี้ได้นะ ทั้งในแง่ของคุณภาพ ปริมาณ และช่วงเวลา การที่ผู้ซื้อจะไปหาออเดอร์ล่วงหน้าจะได้ทำอย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ชาวสวนเองก็ต้องสร้างความชัดเจนและมีความซื่อสัตย์ต่อผู้ซื้อ มันถึงจะครองใจกันได้ ถ้ายังเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนมีผู้ซื้อรายอื่นมาโยนราคาให้สูงกว่ากิโลกรัมละไม่กี่บาทก็เก็บผลผลิตให้เขาไปเลย โดยไม่ได้คำนึงถึงสัจวาจาที่ควรจะมีต่อกันมันก็พัง ลองนึกถึงใจเขาใจเราก็จะได้คำตอบ ขณะที่ผู้ซื้อก็ต้องมีคุณธรรมด้วย และที่สำคัญคือ ต้อง "สร้าง" ด้วยการ "ให้" กับชาวสวนบ้าง ให้คำปรึกษา ให้ความรู้และจริงใจที่จะซื้อด้วย ไม่ใช่หว่านไปเรื่อยเผื่อเลือก เอาเข้าจริงก็อ้างว่าติดอยู่ทางใต้ ทั้งๆ ที่ก็กำลังซื้ออยู่ในแหล่งอื่นๆ เหล่านี้ต้องแก้ด้วยหลัก "ธรรมาภิบาล" ซึ่งนับวันจะหายากขึ้นทุกที และมันต้องมีด้วยกันทุกฝ่าย ไม่งั้นถึงจุดหนึ่งมันก็จะย้อนกลับมาซ้ำรอยเดิม คำตอบก็คือ มันไปไม่รอดเพราะตัวเอง



หนังสือ "รวมกลยุทธ์ผลิตมะม่วงเงินล้าน เล่ม 2" พิมพ์ 4 สี มีแจกฟรี พร้อมกับหนังสือ "การผลิตมะม่วงเงินล้าน เล่ม 1" และการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก และ "มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศเพื่อการส่งออก" รวม 4 เล่ม จำนวน 336 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 100 บาท (ระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398




ที่มา  :  เทคโนโลยีชาวบ้าน 





หน้าก่อน หน้าก่อน (3/7) - หน้าถัดไป (5/7) หน้าถัดไป


Content ©