-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-แนวทางการผลิตผลไม้นอกฤดู...
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - บันทึกไว้เป็นเกียรติ "ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ" ....
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

บันทึกไว้เป็นเกียรติ "ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ" ....

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 27/05/2011 9:45 pm    ชื่อกระทู้: บันทึกไว้เป็นเกียรติ "ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ" .... ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

บันทึกไว้เป็นเกียรติ

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ คุณูปการกับวงการเกษตรไทย

ถ้าจะกล่าวถึงบุคคลที่มีความดีเด่นด้านสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับการเกษตรในบ้านเราแล้ว อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ นับเป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้เกษตรกรไทยได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรหลากหลายสาขาและนำไปประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จกันอย่างกว้างขวาง ณ วันนี้ อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ได้จากพวกเราไปด้วยโรคมะเร็ง และได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา แต่ความดีและคุณูปการในวงการเกษตรไทยในช่วงหลายสิบปีที่ท่านได้ปฏิบัติมานั้นจะคงอยู่ ควรนำเอาไปเป็นแบบอย่างและมีการสืบทอดความดีกันต่อไป

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เมื่อครั้งที่ยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน นอกจากการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้นิสิตทางด้านจุลชีววิทยาแล้ว ยังเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมโครงการค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยดูแลกิจกรรมนิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับงานอาสาพัฒนา และมีการออกค่ายเพื่อสร้างโรงเรียนให้กับเด็กยากจนในชนบทในช่วงปิดเทอมใหญ่เป็นประจำทุกปี เมื่อผู้เขียนได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว อาจารย์ได้ชวนให้ผู้เขียนมาทำงานทางด้านบำเพ็ญประโยชน์กับมูลนิธิพัฒนาเกษตรกรและชุมชน ที่จังหวัดพิจิตร เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยมี คุณวิศาล ภัทรประสิทธิ์ เป็นประธานมูลนิธิ และอาจารย์เป็นกรรมการคนหนึ่งในมูลนิธิแห่งนี้และได้มีโอกาสร่วมงานกันที่มูลนิธิพัฒนาเกษตรกรและชุมชนมานานกว่า 10 ปี

เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักและเคยร่วมงานกับอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ มานั้น สิ่งที่ได้ยินตลอดมาคือคำว่า "เทคโนโลยีทางการเกษตร" งานเกษตรรูปแบบใหม่ๆ หลายเรื่องมักจะมีจุดเริ่มต้นที่อาจารย์ดีพร้อม และมีการขยายผลไปสู่วงกว้างหลายเรื่องนำไปปฏิบัติได้จริงและหลายคนนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นจดหมายจากเกษตรกรนับพันนับหมื่นที่เขียนมาสอบถามปัญหาต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมและรับฟังการบรรยายวิชาชีพเกษตรหลายครั้ง ฯลฯ สิ่งที่ผู้เขียนเห็นและได้สัมผัสคือ ความอัจฉริยะทางด้านการสื่อสารให้กับผู้ฟังและผู้อ่านที่ยากจะเลียนแบบ เป็นการสื่อสารที่เข้าใจง่ายและนำไปปฏิบัติได้จริง



ต้นตำรับงานส่งเสริมอาชีพการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ
ในช่วงชีวิตการรับราชการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ นอกจากจะเป็นวิชาที่สอนให้ความรู้กับนิสิตแล้ว ยังมีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการเพาะเห็ดให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจทั่วประเทศนับจำนวนครั้งไม่ถ้วน น่าจะกล่าวได้ว่า อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เป็นผู้เชี่ยวชาญเห็ดคนหนึ่งของเมืองไทย



งานพัฒนาทางด้านไม้ผลในประเทศไทย
ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน การพัฒนาในเรื่องการปลูกขนุนในประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ จนกระทั่งอาจารย์ดีพร้อมได้มีการเขียนบทความทางด้านการเกษตรในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ภายใต้ชื่อคอลัมน์ "ทำมาหากินบนผืนแผ่นดินไทย" อาจารย์ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับขนุนพันธุ์ฟ้าถล่มของจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งมีขนาดของผลใหญ่มาก เนื้อหนาและรสชาติดี ซึ่งมี คุณสมปอง ตวงทอง เป็นเจ้าของสายพันธุ์ ทำให้วงการปลูกขนุนในบ้านเราในขณะนั้นเป็นที่ฮือฮามาก และขนุนพันธุ์ฟ้าถล่มชนะเลิศได้รับรางวัลที่ 1 หลายปีติดต่อกัน หลังจากนั้นเป็นต้นมามีความตื่นตัว มีการคัดเลือกสายพันธุ์ขนุนต่อมากันมากมาย อาทิ พันธุ์ทองสุดใจ จำปากรอบ เบาเปลือกหวาน แม่น้อยทะวาย ศรีบรรจง ฯลฯ

ความรู้ในเรื่องการบังคับมะม่วงให้ออกนอกฤดู อาจารย์ดีพร้อมเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและขยายผลให้มีการใช้แพคโคลบิวทราโซลเพื่อบังคับให้มะม่วงออกและติดผลนอกฤดูกาล ผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งมีอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เป็นประธานชมรม ได้มีกิจกรรมทัวร์เกษตรเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ และครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปเที่ยวสวนมะม่วงฟ้าลั่นสวนหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ประสบความสำเร็จในการบังคับให้มะม่วงฟ้าลั่นออกนอกฤดู ตำราเกี่ยวกับเรื่องการบังคับมะม่วงให้ออกนอกฤดู ซึ่งเขียนโดย อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ขายดีมากในสมัยนั้น

สิ่งที่ผู้เขียนได้ไปดูเทคโนโลยีในการบังคับมะม่วงฟ้าลั่นให้ออกนอกฤดูในวันนั้นกับอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ได้นำมาขยายผลที่จังหวัดพิจิตร โดยมูลนิธิพัฒนาเกษตรกรและชุมชน ซึ่งผู้เขียนเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในขณะนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า มูลนิธิพัฒนาเกษตรกรและชุมชน เป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปส่งเสริมเทคโนโลยีการบังคับมะม่วงฟ้าลั่นให้ออกนอกฤดูที่สวนของ กำนันประสิทธิ์ บัวผัน ที่บ้านวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร และได้มีการใช้เทคโนโลยีนี้มาจนถึงทุกวันนี้ในพื้นที่ปลูกมะม่วงนับหมื่นไร่ และเป็นแหล่งผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของการได้รับการเผยแพร่และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ

การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตมะขามหวาน จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อให้ติดฝักและมีคุณภาพดีเมื่อประมาณ 20 ปีเศษเช่นกัน นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของการเผยแพร่ของอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ จะว่าไปแล้วมีบริษัทเอกชนหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการใช้สารแคลเซียมโบรอนไปใช้เพื่อฉีดพ่นในช่วงมะขามหวานออกดอกเพื่อช่วยในการติดฝัก และสารชนิดนี้เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการเกษตรมากขึ้น และมีการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในไม้ผลชนิดอื่นๆ



งานส่งเสริมการปลูกป่าและไม้โตเร็วเชิงพาณิชย์
อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เป็นบุคคลหนึ่งที่บุกเบิกและส่งเสริมให้มีการปลูกสักทองในเชิงพาณิชย์ ถึงแม้ว่าจะมีในบางพื้นที่ การเจริญเติบโตของต้นสักไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากปลูกในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำไม่อุดมสมบูรณ์ แต่มีหลายพื้นที่ที่มีการจัดการแหล่งน้ำที่ดี ต้นสักทองเจริญเติบโตดีมาก ทำให้เกษตรกรหลายรายที่ปลูกสักทองในวันนั้นสามารถตัดต้นขายได้ในวันนี้ ไม้โตเร็วและไม้ป่าอีกหลายชนิดที่อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ได้เผยแพร่และแนะนำให้เกษตรกรปลูก ไม่ว่าจะเป็น สะเดาช้าง กฤษณา หรือแม้แต่ต้นยูคาลิปตัสที่ในอดีตมีนักวิชาการเกษตรหลายคนไม่เห็นด้วย แต่สำหรับอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่ดินเลว ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน



ต้นแบบการผลิตสื่อเกษตรเพื่อคนยากจน
เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ มาช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่อาจารย์ปฏิบัติให้เห็นคือ ความเรียบง่ายและติดดิน นับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ใช้เวลาว่างเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด ระหว่างการเดินทางเพื่อไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ จะใช้เวลาว่างในการเขียนบทความทางการเกษตรต่างๆ เพื่อเตรียมส่งเผยแพร่ตามสื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะการตอบปัญหาเกษตรกรผ่านทางหน้าเกษตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หรือตอบปัญหาผ่านทางวิทยุ ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามอาจารย์ไปบรรยายในต่างจังหวัด อาจารย์จะตื่นแต่เช้าและปฏิบัติเป็นกิจวัตรคือ เดินตลาดเช้าเพื่อดูว่าเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีอะไรมาค้าขายกันบ้าง และทุกครั้งที่ไปดูงานนอกสถานที่ สิ่งที่อาจารย์ย้ำมาตลอดคือ จะต้องเตรียมสมุดบันทึก กล้องถ่ายรูป และเครื่องบันทึกเสียง ทุกวันนี้ผู้เขียนรักอาชีพการเขียนบทความทางการเกษตรก็ด้วยแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ นั่นเอง



ส่งเสริมอาชีพเกษตรปลอดสารพิษ
ในช่วงเวลาก่อนจะถึงแก่กรรม ประมาณ 10 ปี อาจารย์ดีพร้อมได้นำเสนอและส่งเสริมอาชีพเกษตรปลอดสารพิษ ด้วยการแนะนำให้เกษตรกรลดการใช้สารปราบศัตรูพืชให้น้อยลง หาวิธีการให้เกษตรกรประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมี ผ่านทางสื่อวิทยุและหนังสือพิมพ์และได้ปฏิเสธการใช้สารปราบศัตรูพืชอย่างสิ้นเชิง และได้รวบรวมภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านสมุนไพรนำมาปรับใช้เพื่อป้องกันและกำจัดโรคและแมลง หลายเรื่องได้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีการขยายผลสู่วงกว้าง ปัจจุบันหลายคนก็ทราบดีว่า ราคาของปุ๋ยเคมีได้มีราคาสูงขึ้นไปมาก การนำวิธีการประหยัดปุ๋ยด้วยคำแนะนำของอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ นำมาประยุกต์อย่างใช้ปัญญา น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก



นักกวีเพื่อชาวนาที่หลายคนไม่รู้จัก
หลายคนยังไม่ทราบว่า ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานเดือนตุลาคม 2516 อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ได้เขียนโคลงกลอนลงเผยแพร่วารสารต่างๆ โดยเฉพาะในประมวลผลงานของโครงการค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีโคลงกลอนอยู่หลายเรื่อง และได้มีการรวมเล่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า "ท่านผู้เฒ่า" เท่าที่ผู้เขียนเคยได้พูดคุยกับอาจารย์หลายครั้งเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่าอาจารย์จะรักหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ โคลงกลอนแต่ละเรื่องที่รวบรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ล้วนแต่แสดงถึงชีวิตที่แสนลำบากของชาวนา ผู้เขียนจึงไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าในหนังสือทางการเกษตรเกือบทุกเล่มที่อาจารย์ดีพร้อมเป็นผู้เขียนมักจะมีบทกวีที่ว่า

"นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร"

ท้ายที่สุดต้องขอกราบขอบพระคุณทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ให้ผู้เขียนได้ใช้หน้าคอลัมน์บันทึกไว้เป็นเกียรติ ได้บันทึกคุณูปการทางด้านการเกษตรของอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เพื่อระลึกถึงในฐานะลูกศิษย์ที่พึงมีต่ออาจารย์



http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05016010951&srcday=2008/09/01&search=no
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©