-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-พืชเป็นโรคเน่าเละระบาด จะทำยังไงดี
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - พืชเป็นโรคเน่าเละระบาด จะทำยังไงดี
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

พืชเป็นโรคเน่าเละระบาด จะทำยังไงดี

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
koken
หนาวดึ่ง
หนาวดึ่ง


เข้าร่วมเมื่อ: 07/01/2014
ตอบ: 2

ตอบตอบ: 14/04/2014 12:46 pm    ชื่อกระทู้: พืชเป็นโรคเน่าเละระบาด จะทำยังไงดี ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

[size=18]
สวัสดีครับ

ผมปลูกใบเตยและดาวเรือง มีปัญหาเรื่องโคนเน่า เน่าเละสีน้ำตาล และมีกลิ่นเหม็นมาก
ลักษณะอาการ เนื้อเยื่อน่วม มีลักษณะเหมือนถูกน้ำร้อนลวก อาการจะขยายลุกลามรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการเน่าเละ มีกลิ่นเหม็นบูดฉุนจัด ใบจะหลุดร่วง ยอดหัก ถ้าอากาศแห้งมาก แผลที่เน่าจะยุบแห้งลง เนื้อเยื่อภายในถูกทำลายหมดเหลือแต่ผิวนอก บริเวณแผลเน่าจะมีเมือกเยิ้มแฉะ เหม็นเน่า

ผมใช้ เมทาแลกซิล และไตรโคเดอมา มานานเกือบปี ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล อาการแค่ดีขึ้น แต่พอมาถึงช่างร้อนเมษายน ก็ตายเพิ่มจำนวนอีก มีคนบอกว่า มันน่าจะมาจากเชื้อแบคทีเรีย

ผมขอคำแนะนำสารเคมีหรือชีวภาพที่กำจัดเชื้อแบคทีเรียหน่อยครับ ตัวไหนดี
ต้นไหนเป็นแล้ว ก็ปล่อยมันตายไป ส่วนต้นไหนที่ยังไม่เป็นก็ต้องหายาป้องกัน
สงกรานต์ไม่ได้ไปเที่ยวเลย มัวแต่เครียดเรื่องพืชตาย


รูปประกอบ




แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย koken เมื่อ 14/04/2014 5:41 pm, แก้ไขทั้งหมด 1 ครั้ง
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 14/04/2014 3:11 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.

นี่คืออาการของเชื้อโรค "ไฟธอปเทอร์ร่า, พิเทียม, ฟูซาเลียม, สเคลโรเทียม, หรือ ไรซ็อคโทเนีย" ตัวใดตัวหนึ่ง ที่ไม่กล้าฟังธงว่าชื่อเชื้ออะไรเพราะไม่เห็นกับตา

เชื้อโรคพืชทั้ง 5 ตัวนี้ เกิดได้เองตามธรรมชาติเมื่อดินเป็น "กรดจัด" ถ้าดินไม่เป็นกรดนอกจากไม่เกิดแล้วยังตายอีกด้วย ขณะเดียวกัน ถ้าดินเป็นกรดจัด เชื้อดีก็เกิดไม่ได้ เกิดมาก็ตายไปเองอีก

สารเคมีที่คุณใช้ ลุงคิมไม่มีข้อมูล ส่วนไตรโคเดอร์ม่า ใช้ไม่ได้ผลเพราะดินยังเป็นกรดจัดอยู่

ดินเป็นกรดจัดเชื้อไตรโคเดอร์ม่า จะอยู่ไม่ได้ (ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง) เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ใช้ได้ผลในลักษณะป้องกันมากกว่ากำจัด....คนขายไตรโคเดอร์ม่า หลอกเพื่อขายของ คนขายไม่บอก คนซื้อก็ไม่ถาม งานนี้ใครผิดใครถูก

สาเหตุ :
เกิดจากดินเป็นกรด เพราะคนใส่กรดลงไป เช่น ปุ๋ยเคมีเหลือตกค้าง, สารเคมียาฆ่าแมลง, ยาฆ่าหญ้า, น้ำขังค้างนาน, ไม่มีจุลินทรีย์ประเภทเชื้อดี,

แนวทางแก้ไข :
ลด/ละ/เลิก ปุ๋ยเคมี ปรับเปลี่ยนมาเป็น อินทรีย์นำ เคมีเสริม ตามความเหมาะสม ของพืชที่ปลูก ตามความเหมาะสมของสภาพดิน ตามความเหมาะสมของแสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล ตามความเหมาะสมของสายพันธุ์ ตามความเหมาะสมของเชื้อโรค .... ธรรมชาติพร้อมจะช่วยคนอยู่แล้ว ถ้าคนไม่ ใส่/เสริม/เติม/เพิ่ม/บวก อะไรต่อมิอะไรที่เป็นตัวทำลายธรรมชาติลงไปเท่านั้น ที่ทำๆกันอยู่ทุกวันนี้ ถูกหรือผิดวัดที่พืชหรือวัดที่คน .... คิดดู ถ้าไม่ทำลายแล้วยังบำรุงอีกด้วยจะดีกว่าไหม

ลด/ละ/เลิก สารเคมียาฆ่าแมลง ปรับเปลี่ยนมาเป็นใช้สารสมุนไพรประเภท เผ็ดจัด/ร้อนจัด เช่น พริก ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย หอม กระเทียม หรือประเภทด่างจัด เช่น น้ำใสปูนกินหมาก....สารออกฤทธิ์ (ตัวยา)ในสมุนไพรเป็นงานวิจัยจากนักวิชาการเหมือนกัน (แยกให้ออกระหว่าง นักวิชาการอุดมการณ์ กับ นักวิชาการเชิงพานิช) ทำไมไม่ศึกษาค้นคว้าให้รู้จริง (เน้นย้ำ....รู้จริง) แล้วนำมาใช้งาน....แล้วที่ใช้ ใช้ ใช้ สารเคมีน่ะ ถามจริง มีความรู้แค่ไหน

ลด/ละ/เลิก ยาฆ่าหญ้า ปรับเปลี่ยนมาเป็นถอนด้วยมือ

ลด น้ำขังค้างนาน โดยใส่ ยิบซั่ม กระดูกป่น ขี้วัวขี้ไก่แกลบดิบ แล้่วพรวนดินพูนดินโคนต้น นอกจากทำให้ดินโปร่งร่วนซุย น้ำและอากาศผ่านสดวกแล้ว ต้นพืชยังชอบอีกด้วย....ให้น้ำพอหน้าดินชื้น แยกให้ออกระหว่าง ชื้น-ชุ่ม-โชก-แฉะ-แช่ คลุมหน้าดินด้วยหญ้าแห้งหนาๆช่วยรักษาความชื้นหน้าดิน

ไม่มีจุลินทรีย์ประเภทเชื้อดี แก้ไขโดยปรับสภาพโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุยแล้ว รดด้วยปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง (สูตรอยู่หน้าเวบ) นอกจากจะได้ปุ๋ย (อินทรีย์ เคมี....หลัก/รอง/เสริม) แล้ว ยังได้จุลินทรีย์ และสารอาหารสำหรับจุลินทรีย์ประจำถิ่นอีกด้วย....จุลินทรีย์ในน้ำหมักระเบิดเถิดเทิงเป็นจุลินทรีย์เชื้อดีจะไปช่วยกำจัดจุลินทรีย์เชื้อโรค กับเป็นสารอาหารบำรุงจุลินทรีย์ประจำถิ่นขึ้นมาช่วยอีกทางหนึ่ง....จุลินทรีย์เชื้อดีกินกากน้ำตาล จุลินทรีย์เชื้อโรคไม่กินกากน้ำตาล

การปลูกซ้ำที่ ซ้ำแล้่วซ้ำเล่า หลายๆซ้ำ ยิ่งทำให้จุลินทรีย์เชื้อโรคแข็งแรง เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น หยุดปลูกเพื่อตัดวงจรชีวิตจุลินทรีย์เชื้อโรค ควบคู่กับปรับสภาพโครงสร้างดินใหม่ ทิ้งไว้ 3-6 เดือนจึงกลับมาปลูกพืชเดิม ระหว่างรอนี้อาจจะปลูกพืชตระกูลอื่นทดแทนไปก่อนก็ได้

สมการ ยาเคมี/ยาสมุนไพร :
ยาถูก + ใช้ผิด = ไม่ได้ผล
ยาผิด + ใช้ถูด = ไม่ได้ผล
ยาผิด + ใช้ผิด = ไม่ได้ผล ยกกำลังสอง
ยาถูก + ใช้ถูก = ได้ผล ยกกำลังสอง

ว่ามั้ย ภาคการเกษตรบ้านเราที่ฉิบหายวายป่วงกันทุกวันนี้เพราะ ปุ๋ยเคมี กับ สารเคมี นี่แหละ .... พืชกินปุ๋ยเคมีแค่ 1 กิโล พ่อใส่ซะ 50 กิโล .... สารเคมีฉีดแล้วไม่ได้ผล เอาไม่อยู่ก็ฉีดซ้ำ เอาไม่อยู่ก็เปลี่ยนยา

ที่จริงทั้ง ยาเคมี-ยาสมุนไพร ใช้ได้ทั้งคู่ ข้อแม้ต้องใช้ให้เป็น....อย่ามั่ว
ทำไมไม่หาความรู้ที่เป็นวิชาการที่แท้จริงไว้ใช้งาน เพราะมีความรู้แต่โฆษณานี่แหละจึงพลาดแล้วพลากอีก....เหมือนยาคนมาจาก ร.พ. ยาถูกแต่กินผิด หรือยาผิดแต่กินถูก โรคจะหายไหม

.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
koken
หนาวดึ่ง
หนาวดึ่ง


เข้าร่วมเมื่อ: 07/01/2014
ตอบ: 2

ตอบตอบ: 14/04/2014 5:56 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)


ขอบคุณมากครับ ลุงคิม

เรื่องไตรโคเดอมาผมศึกษาเอกสารต่างๆ มาพอสมควร ดินผมส่งไปตวรจ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.1 เป็นกรดเล็กน้อย

ขอเล่าเท้าความไปเล้กน้อย สวนที่ผมทำอยู่เซ้งมาจากน้าผม หลังน้ำท่วมใหญ่ 54 ซึ่งน้าผมทำมาเกือบ 20 ปี เคมีล้วนๆ ไม่มีการบำรุง ทั้งอินทรีย์วัตถุ ทั้งปูน ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอกไม่เคยใส่

หลังน้ำท่วม ผมก็ปลูกไปโดยไม่มีความรู้ในด้านปรับปรุง บำรุงดินเลย หลังมีการเน่าตายระบาด ผมเลิกปุ๋ยเคมี (เริ่มใช้อินทรีย์ เดือน ก.ค. 55 ) หันมาใช้อินทรีย์ 90% ผสมเคมี 10% (ปุ๋ยอินทรีย์ผมใช้ของปฐมอโศก ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยจากลพบุรี)

จากดินที่เหนียว แฉะ ระบายน้ำไม่ดี ตอนนี้ดินดีขึ้นมาก ระบายน้ำดี ผมสังเกตุเห็นมูลไส้เดือนบนพื้นดินเยอะมาก ซึ่งแต่ก่อนไม่มีเลย ถึงตอนนี้ มันยังดีไม่ 100 % แต่ก็เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

ปล.
ขอถามครับ ปูนแดง อัตราการใช้ยังไงครับ



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 15/04/2014 9:58 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.

อาการเน่าเละ เนื้อเยื่อพืชจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ เกิดอาการเน่าเละมีน้ำเมือก มักมีกลิ่นเหม็น รุนแรง เกิดได้กับส่วนต่างๆของพืชทั้งผล ราก หัว และใบ มักเกิดกับพวกผัก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดหัว และผลผลิตทางการเกษตรในโรงเก็บ สาเหตุเกิดจากเชื้อบัคเตรี

http://www.fernsiam.com/Article/A005-Pathology.html

-------------------------------------------------------------------------------

โรคเน่าเละ - เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เนื้อเยื่อพืชจะยุบตัวลง แผลจะมีสีน้ำตาลอ่อน เปียกและชื้น(Soft rot) เป็นเมือกไหลเยิ้ม มีกลิ่นเหม็นป้องกันโดยหากพบอาการเริ่มแรกฉีดพ่นด้วย นูริช 40 ซีซี. + โคไซด์ 3 ช้อน หากรุนแรงไม่สามารถป้องกันได้

http://alangcity.blogspot.com/2013/05/blog-post_24.html

-------------------------------------------------------------------------------


บทที่ 6
โรคเน่าเละและโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
Bacterial Soft Rot and Wilt

วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ทราบถึงโรคพืชสำคัญ ๆ ที่เกิดจากแบคทีเรีย
2. เพื่อฝึกปฏิบัติเทคนิคเบื้องต้นในการตรวจ การแยกเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช

โรคเน่าเละของพืชผักที่เกิดจากแบคทีเรีย (Bacterial soft rot of vegetable) เป็นโรคที่พบมากในพืชผักที่มีลักษณะอวบน้ำ เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก (รวมทั้งหอมหัวใหญ่ แตงต่าง ๆ ข้าวโพดฝักอ่อน และหน่อไม้ฝรั่ง) ในช่วงฤดูฝนที่อากาศร้อนอบอ้าว สร้างความเสียหายทั้งในแปลงปลูก และหลังเก็บเกี่ยวระหว่างเก็บในโรงเก็บขนส่งและจำหน่าย บางครั้งเสียหายมากกว่า 50% ของผลผลิตทั้งหมด

ลักษณะอาการ เน่าลุกลามขยายเป็นบริเวณกว้าง ลักษณะแผลเละ แฉะมีเมือกเยิ้มแผลสีเทา-น้ำตาลคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็นฉุนจัด อาการของโรคจะพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออากาศร้อนจัด เกิดเนื่องจากเมื่อแบคทีเรียสาเหตุโรคฯ เข้าสู่พืชได้แล้ว โดยส่วนใหญ่เข้าทางบาดแผล จะเจริญอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์พืช (intercellular space) แล้วปล่อยเอนไซม์ย่อยสารเพคตินของผนังเซลล์ (pectolytic enzyme) ซึ่งได้แก่ pectin methyl esterase (PME), depolymerase (DP), pectic lyase (PL) ทำให้เซลล์พืชแยกหลุดออกจากกัน เนื้อเยื่อพืชก็จะยุบตัวลง ของเหลวภายในพืชจะซึมออกมาจากบริเวณที่เน่า มักมีจุลินทรีย์ (secondary organism) ลงทำลายซ้ำเติมทำให้เกิดอาการเน่ามากยิ่งขึ้น secondary organism เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค แต่จะลงทำลายซ้ำเติมภายหลังจากที่พืชเป็นโรคแล้ว ได้แก่เชื้อราพวก Penicillium sp., Aspergillus sp., Rhizopus sp. และ Fusarium sp. หรือ แบคทีเรียพวก bacillus sp.) สำหรับโรคเน่าเละของพืชผักมักพบแบคทีเรีย Bacillus sp. ซ้ำเติมเสมอ กลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงเป็นกลิ่นที่เกิดจากการหมักของสารอาหารในพืชโดยจุลินทรีย์

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อ Erwinia carotovora sub sp. Carotovora (Jones) Dye เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างท่อนสั้น ขนาดประมาณ 1.7 x 1.2 ไมครอน เคลื่อนที่ได้ด้วย peritrichous flagella 4-6 เส้น ลักษณะโคโลนีของเชื้อที่เจริญบน nutrient agar กลมนูน ขอบเรียบ เป็นมัน สีขาวอมเทา โคโลนีที่เจริญบน Endo agar สีแดงเข้ม เยิ้มเป็นมัน และเหลือบแสง (methallic sheen)

การแพร่ระบาดและการอยู่ข้ามฤดูของเชื้อ ในบริเวณแผลจะมีเมือก (slime) ในเมือกเละ ๆ นี้จะเต็มไปด้วยเซลล์แบคทีเรียเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะแพร่กระจายได้ดีโดยน้ำหรือติดไปกับปีก-ขา ของแมลง หรือเครื่องมือเขตกรรม เช่น มีด จอบ แบคทีเรียเข้าสู่พืชได้ดีทางบาดแผล เมื่อพืชผักเป็นโรคก็จะเน่าอย่างรวดเร็ว ต้นผักจะยุบตัวติดกับพื้นดิน เชื้อสาเหตุโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในเศษซากพืชในดินได้นานหลายปี นอกจากนี้ยังมีแมลงบางชนิดที่นอกจากเป็นตัวช่วยแพร่กระจายเชื้อแล้ว ยังเป็นที่อาศัยอยู่ข้ามฤดูของเชื้อได้โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างเฉพาะเจาะจง ได้แก่แมลงวันผัก (maggot fly) 2 ชนิด คือ Hylemya cilicrura และ Hylemya brassicae โดยการที่แม่แมลงวันไปวางไข่ไว้ในบริเวณแผลที่เน่าเละ ตัวหนอนที่เกิดจากไข่จะเติบโตโดยการกินเนื้อเยื่อพืชที่เน่าและเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในตัวเป็นจำนวนมาก เมื่อหนอนเข้าดักแด้และเตรียมเปลี่ยนเป็นตัวเต็มวัย เชื้อแบคทีเรียจะถูกส่งไปฟักตัวในกระเปาะเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับท่อรังไข่ (oviduct) ด้วยเหตุนี้เองไข่ทุกฟองที่เกิดจากแมลงวันเพศเมียที่กินเชื้อแบคทีเรียเข้าไปตั้งแต่ตอนที่เป็นตัวหนอน จะมีเชื้อแบคทีเรียเคลือบติดมาด้วย เมื่อแมลงวางไข่บนพืชบริเวณที่มีรอยแผล หรือรอยแตกช้ำ แบคทีเรียที่ติดอยู่ที่เปลือกไข่ก็จะเข้าทำลายพืชได้ทันที ก่อให้เกิดอาการเน่าเละขึ้น ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่ก็จะกินเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณที่เน่าเข้าไปอยู่ในตัวอีก เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่พืชได้ดีทางบาดแผล ถ้าในแปลงผักมีหนอนมากจะช่วยให้เชื้อเข้าสู่พืชได้ดีและทำให้โรคแพร่ระบาดได้มากขึ้น เมื่อพืชตายเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในเศษซากพืชและในดินได้นาน สำหรับในประเทศไทยแมลงที่ก่อให้เกิดแผลและทำให้โรคแพร่ระบาดมาก มักเป็นหนอนกระทู้ผัก ที่กัดกินทำลายผัก (ภาพที่ 6.1)

โรคเน่าเละที่เกิดจากแบคทีเรีย มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน อาการจะรุนแรงเมื่ออุณหภูมิค่อนข้างสูง (30-38 องศา ซ.) ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศา ซ. อาการจะไม่รุนแรง แผลไม่ค่อยขยายเนื่องจากอากาศเย็นไม่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดนี้ โรคนี้นอกจากสร้างความเสียหายในแปลงปลูกแล้ว ยังทำให้พืชผักเสียหายระหว่างการขนส่ง และรอจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขาดการจัดการที่ดี

การควบคุมโรค
1. ก่อนปลูกผักแต่ละรุ่น ควรกำจัดเศษซากพืช และวัชพืชในแปลงให้หมด ไถพลิกกลับดินตากแดด 2-3 ครั้ง โดยทิ้งระยะให้ห่างกันพอควร เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในดิน

2. การให้น้ำแต่ผัก ควรทำเป็นครั้งคราว อย่าให้แปลงแฉะตลอดเวลา
3. กำจัดหนอนและแมลงปากกัดในแปลง

4. การปฏิบัติงานในแปลง เช่น การใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ควรทำอย่างระมัดระวังหลีกเลี่ยงการทำให้พืชเกิดแผล
5. เมื่อเริ่มพบต้นเป็นโรคในแปลง ควรรีบขุดถอนไปเผาทิ้งนอกแปลง แล้วคลุกดินบริเวณนั้นด้วยกำมะถันผง Bordeaux mixture หรือ copper oxychloride

6. ในแปลงที่เคยมีโรคนี้ระบาดมากมาก่อน ไม่ควรปลูกผักชนิดเดิม หรือผักที่เป็นโรคง่ายซ้ำ ควรเปลี่ยนไปปลูกผักชนิดอื่น เช่น พริก ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ สักระยะหนึ่งก่อน

7. การบรรจุและขนส่งผลผลิต ควรทำอย่างระมัดระวัง ควรมีวัสดุรองรับเพื่อลดการเกิดรอยช้ำหรือบาดแผล และการบรรจุไม่ควรอัดแน่นเกินไป อุณหภูมิที่สูงขึ้นในระหว่างการเดินทางเป็นสภาพที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหายมากระหว่างขนส่งและรอจำหน่าย การขนส่งระยะทางไกล ควรมีตู้ปรับอากาศ

8. การเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่าย (storage) สำหรับพืชผักบางชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ กระเทียม ควรเก็บในโรงเรือนที่อากาศถ่ายเทสะดวก หรือเก็บในห้องที่แห้งและเย็น

9. ผลผลิตผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง พริก มะเขือเทศ ผักกาดหัว แครอท หลังการเก็บเกี่ยวได้มีการนำมาผ่านคลอรีน หรือ Sodium hypochlorite solution ก่อนนำไปขาย จะช่วยลดการเกิดโรคได้ แต่ต้องใช้ในอัตราที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด โดยทั่วไปใช้ในอัตรา 50-200 ppm

http://coursewares.mju.ac.th:81/e-learning47/PP300/0003html/chapter006.htm



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 15/04/2014 10:04 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

koken บันทึก:

ขอบคุณมากครับ ลุงคิม

เรื่องไตรโคเดอมาผมศึกษาเอกสารต่างๆ มาพอสมควร ดินผมส่งไปตวรจ ค่าความเป็นกรดด่าง 6.1 เป็นกรดเล็กน้อย
COMMENT :
- ไตรโคเดอร์มา. กำจัดเชื้อไฟธอปเทอร์า.โดยตรง แล้วเชื้อตัวอื่นล่ะกำจัดได้ไหม ?
- เชื้อไฟธอปเทอร์รา. + เชื้ออื่นๆ ทุกตัวที่เกิดเองตามธรรมชาติเมื่อดินเป็นกรด ตายเองได้ไหม หรือต้องพึ่งพาเชื้อดีตัวไหน
- กำจัดเชื้อโรคในดินได้แต่ดินตายไปด้วย พืชก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน แล้วมันได้อะไร

- เอาดินไปวัด วัดที่ไหน เพราะบางสำนักก็เชื่อไม่ได้ วัดเองไม่ดีกว่าเหรอ
- ดิน 6.1 ถือว่ากำลังดี พีเอช.ระดับนี้ไม่เกิดเชื้อโรค (ตามหลักวิชาการ) แล้วโรคที่เกิดกับพืช มันเกิดมาได้ยังไง


ขอเล่าเท้าความไปเล้กน้อย สวนที่ผมทำอยู่เซ้งมาจากน้าผม หลังน้ำท่วมใหญ่ 54 ซึ่งน้าผมทำมาเกือบ 20 ปี เคมีล้วนๆ ไม่มีการบำรุง ทั้งอินทรีย์วัตถุ ทั้งปูน ปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอกไม่เคยใส่
COMMENT :
- นี่คือ "ประวัติดิน"
- เหมือนบ้านเก่า (ซื้อ/เช่า) จะเข้าอยู่ต้องเช็คประวัติ บางอย่างต้อง ปรับ/แก้/เสริม/เติม/เพิ่ม/บวก ก่อนแล้วค่อยเข้าไปอยู่
- แปลงเกษตรปลูกพืช "ดิน-น้ำ-แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล-สารอาหาร-สายพันธุ์-โรค" ต้องเหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ.... ดินต้องมาก่อน ดินต้องมาก่อน และดินต้องมาก่อน ไม่ใช่เหรอ
- พืชไม่เรื่องมาก เขาชอบและต้องการอะไรๆที่เป็นธรรมชาติ คนต่างหากที่ไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ปลูกพืชตามใจคน ไม่ตามใจพืช


หลังน้ำท่วม ผมก็ปลูกไปโดยไม่มีความรู้ในด้านปรับปรุง บำรุงดินเลย หลังมีการเน่าตายระบาด ผมเลิกปุ๋ยเคมี (เริ่มใช้อินทรีย์ เดือน ก.ค. 55 ) หันมาใช้อินทรีย์ 90% ผสมเคมี 10% (ปุ๋ยอินทรีย์ผมใช้ของปฐมอโศก ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยจากลพบุรี)
COMMENT :
- ความรู้อยู่ข้างๆตัว ฉวยคว้าเอาเอง อ่านก็ได้ความรู้
- ต้นพืชไม่รู้จักยี่ห้อ ไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้จักเจ้าของสูตร พืชรู้จักแต่เนื้อในเท่านั้น เรื่องนี้เราต้องเป็นคนตัดสินใจแทนพืช


จากดินที่เหนียว แฉะ ระบายน้ำไม่ดี ตอนนี้ดินดีขึ้นมาก ระบายน้ำดี ผมสังเกตุเห็นมูลไส้เดือนบนพื้นดินเยอะมาก ซึ่งแต่ก่อนไม่มีเลย ถึงตอนนี้ มันยังดีไม่ 100 % แต่ก็เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
COMMENT :
- นี่คือ มหาลัยเกษตรที่ดีมี่สุด คือ แปลงเกษตร ทั้งของเราของเรา อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
- ครูเกษตรที่ดีที่สุด คือ คนในกระจก
- สิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ คือ คำตอบจากธรรมชาติ .... นอกจากไส้เดือแล้วยังมีอย่างอื่นอีก โดยเฉพาะจุลินทรีย์ และผลพวงจากจุลินทรีย์


ปล.
ขอถามครับ ปูนแดง อัตราการใช้ยังไงครับ
COMMENT :
- ทางใบ : ปูนกินหมาก 1 ก้อนเท่ามะนาว + น้ำ 20 ล.
- ทางราก : ปูนกืนหมาก 10 ก้อน + น้ำ 20 ล.
- โรคพืชเป้าหมาย : แบคทีเรีย, แก้ดินเป็นกรด (กรด + ด่าง = เกลือ + น้ำ)

- หลักการและเหตุผล : แบคทีเรียไม่ชอบด่าง ในขณะที่ปูนกินหมากเป็นด่าง....ปูนกินหมากสีแดงเพราะผสม สีเสียด หรือขมิ้น ปกติสีเสียดกับขมิ้นกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้อยู่แล้ว

- ประสบการณ์ตรง : แคงเคอร์, ต้นเน่าแก้วมังกร ใช้ได้ผลดี






.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©