-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบปัญหาเกษตร 24 JUL *ลดขนาดต้นไม้ผล. รวมโรคพืช
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบปัญหาเกษตร 24 JUL *ลดขนาดต้นไม้ผล. รวมโรคพืช
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบปัญหาเกษตร 24 JUL *ลดขนาดต้นไม้ผล. รวมโรคพืช

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11558

ตอบตอบ: 24/07/2014 8:44 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบปัญหาเกษตร 24 JUL *ลดขนาดต้นไม้ผล. รวมโรคพืช ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตร ทางรายการวิทยุ 24 JUL

AM 594 เวลา 08.10-09.00 & 20.05-20.30 ทุกวัน และ FM 91.0 (07.00-08.00 / วันอาทิตย์)

********************************************************************

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟังที่เคารพ
กองทัพบกเพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตร และอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดยกองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

@@ สนับสนุนรายการโดย ...
... บ.นิมุติ เอ็นจิเนียริ่ง เครื่องย่อยเศษพืช (02) 322-9175-6

... ยิบซั่มธรรมชาติ เฟอร์มิกซ์, ธันเดอร์พลัส, ธันเดอร์แคล, เอ็ม.แคล--- ธาตุรอง/ธาตุเสริม มัลติแชมป์ (089) 144-1112

... และ บ.มายซัคเซส อะโกร--- ปุ๋ยอินทรีย์ ตราคนกับควาย, กาวเหนียวดักแมลง มายฟิกส์, กลิ่นล่อแมลงวันทอง ฟลายแอต,
สารเสริมฤทธิ์สารสมุนไพร ไบโอเจ๊ต, ถังฉีดพ่นรุ่นใหม่ ใช้แบตเตอรี่ (081) 910-5034

กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
เช่นเคยครับ รายการเรา 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม ที่ (081) 913-4986

----------------------------------------------------------------------------------------------

ตัวแทนจำหน่าย ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง, ไบโออิ, ไทเป, ยูเรก้า. (อินทรีย์ – เคมี)

1) ชมรม (ใหญ่) สีสันชีวิตไทย (089) 814-3204 ใกล้ไฟแดง สี่แยกบางแพ ราชบุรี
2) “คุณชาตรี” (081) 841-9874 ทรัพย์ทวีการเกษตร ชัฎป่าหวาย สวนผึ้ง ราชบุรี (ส่งทาง ปณ.)

3) ร.ต.ต.นันท์สุรัตน์ (089) 821-8273 ต.จรเข้เผือก ด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี (ส่งทาง ปณ.)
4) “คุณล่า” (081) 944-8494 ทุกวันจันทร์ ตลาดนัดวัดอมรญาติ ดำเนินสดวก ราชบุรี

5) “คุณประเสริฐ” (080) 110-4645 บ.เขาดิน หนองแขม เดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี
6) “คุณอรุณ” (085) 058-1737 ในร้านโครงการหลวง ตลาด อตก.

7) “คุณพรพรรณ” (089) 814-7944 พลชัยเกษตรชีวภาพ ตลาดนัดธนบุรี ถ.เลียบคลองทวีวัฒนา
8 ) “คุณน้ำส้ม” (085) 055-7706 ชมรมฯ สาขาศาลายา หน้า ม.มหิดล พุทธมณฑลสาย 4 (ส่งทาง ปณ.)

---------------------------------------------------------------------------------------------------------

@@ สารอาหาร (ปุ๋ย) เพื่อการสื่อสาร :

** ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง : ส่วนผสมหลัก .... อินทรีย์/เคมี (กุ้งหอยปูปลาทะเล, เลือด,
ไขกระดูก, นม, ขี้ค้างคาว, น้ำมะพร้าว, ธาตุหลักตามพืช, แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม

** ไบโออิ : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (แม็กเนเซียม. สังกะสี. รอง/เสริม)
** ยูเรก้า : ส่วนผสมหลัก .... เคมี (21-7-14, ไคโตซาน, อะมิโนโปรตีน)
** ไทเป : ส่วนผสมหลัก ..... อินทรีย์/เคมี (นม, ไข่, น้ำมะพร้าว, 13-0-46. 0-52-34)


มิได้มีเจตนาโฆษณาผลิตภัณฑ์ แต่ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เพื่อง่ายต่อการสื่อสารข้อมูล เท่านั้น
.... ต้นพืชไม่รู้จักยี่ห้อ ไม่รู้จักเจ้าของสูตร .....
.... ไม่รู้เจ้าของคนปลูก ไม่ฟังโฆษณา .........
.... ต้นพืชรู้จักแต่ส่วนผสมหรือเนื้อใน .........

-----------------------------------------------------------



จาก : (081) 920-58xx
ข้อความ : ผมไปไร่กล้อมแกล้มเห็นต้นไม้ผลทุกอย่างแล้วสงสัยมาก ทำไม่ต้นไม่สูง ของผมมีมะม่วง กระท้อน ขนุน ลำไย อย่างละ 20 – 120 ต้น ปลูกมากว่า 10 ปี ต้นสูงกว่าหลังคาบ้าน ขึ้นไปห่อผลไม่ได้เลย จะเก็บทีต้องปีนขึ้นไปบนต้น ใช้ตะกร้อสอย ได้บ้างไม่ได้บ้าง เก็บมาได้ก็กินไม่ได้เพราะมีแต่หนอน ถ้าผมจะตัดต้นให้เตี้ยเหมือนที่ไร่กล้อมแกล้มจะได้ไหมครับ .... ขอบคุณครับ
ตอบ :
- ไร่กล้อมแกล้ม เลียนแบบไม่ได้ เพราะ “ปัจจัยพื้นฐาน” ไม่เหมือนกัน แต่ให้เอาหลักการหรือแนวทางไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยการดำเนินชีวิตของตัวเอง เหมือน ปลูกเรือนตามใจคนอยู่ ผูกอู่ตามใจคนนอน ประมาณนั้น .... เคยมีบางคนถามว่า ปลูกต้นไม้เต็มพื้นที่หมดแล้ว “ต่อไปในอนาคตจะปลูกบ้านทำโฮมสเตย์จะทำได้ไง....” ลุงคิมบอกว่า “ก็ตัดออกซี่ มีไม้ให้ตัดดีกว่าไม่มีให้ตัดมั้ง .... แม้แต่ริมสระน้ำ มีต้นไม้ผลอยู่ก็ตัดออกบางส่วน แล้วทำโฮมสเตย์บนตลิ่ง มีระเบียงยื่นออกไปในน้ำ ดูปลาตัวละ 10-20 กก. ก็ยังได้ ถ้าจะทำ ....”

- ต้นไม้ผล ... ใบมาก (บ้าใบ) ผลน้อย .... ใบน้อย (สมบูรณ์) ผลมาก
– ต้นสูงใหญ่ .... ได้ 100 ผล เกรดฟุตบาท .... ต้นเตี้ยได้ผล 10 ผล เกรด เอ. จัมโบ้

- ต้นสูงใหญ่ .... ต้นทุนสูง แรงงานมาก เวลาทำงานมาก .... ต้นเตี้ย ต้นทุนต่ำ แรงงานน้อย เวลาทำงานน้อย
- ไม้ผลต้นสูงๆ สูงระดับปล่องเมรุเผาผี เจ้าของมองดู แหงนคอตั้งบ่า เหมืนมองดอกฟ้า จะได้กินไหมหนอ

@@ นิสัยธรรมชาติการออกดอกติดผล :
- มะม่วง .... ออกดอกติดผลจากยอดของกิ่งชี้ขึ้น 45 องศา นอกทรงพุ่ม ที่แตกใหม่ในปีนั้น
– กระท้อน .... ออกดอกติดผลจากกิ่งอายุข้ามปี นอกทรงพุ่ม กิ่งชี้ได้ทุกระดับ
- ลำไย .... ออกดอกติดผลจากยอดของกิ่งชี้ขึ้น 90 องศา นอกทรงพุ่ม แตกใหม่ในปีนั้น

@@ การตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่ม :
* มะม่วง : คุมขนาดกว้างทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่งปกติให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งน้ำค้าง กิ่งหางหนู กิ่งคด กิ่งงอ กิ่งไขว้ กิ่งชี้เข้าใน กิ่งชี้ลงล่าง กิ่งในทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่งเพื่อคุมขนาดกว้างทรงพุ่ม ให้ตัดกิ่งประธานชี้ออกข้าง หลังตัดแล้วต้องการขนาดทรงพุ่มกว้างเท่าไหร่ให้ตัดสั้นกว่านั้น 50-80 ซม. เมื่อแตกยอดใหม่ยาว 50-80 ซม. ก็จะได้ขนาดทรงพุ่มกว้างเท่าที่ต้องลการพอดี .... คุมขนาดความสูง ให้ตัดยอดประธาน (ผ่ากะบาล) ให้ต่ำกว่าความสูงที่ต้องการ 50-80 ซม. เมื่อแตกยอดใหม่ยาว 50-80 ซม. ก็จะได้ขนาดทรงพุ่มสูงเท่าที่ต้องการพอดี

(.... มะม่วง 1 ต้น สูงเท่าหลังคาบ้าน ทรงพุ่มกว้างเต็มเนื้อที่ 10 x 10 ม. ได้ผล 100 ผล แต่คุณภาพเกรดฟุตบาท .... มะม่วงต้นกว้าง 2 ม. สูง 4 ม. เนื้อที่ 10 x 10 ม. เท่ากันลงได้ 4 ต้น ได้ผลต้นละ 10 ผล เท่ากับ 40 ผล แต่คุณภาพเกรด เอ. จัมโบ้. .... 40 ผล เกรด เอ. จัมโบ้. ได้ราคาสูงกว่า 100 ผล เกรดฟุตบาท .... มะม่วงขาวนิยมไซส์ 1.5 กก. ราคาหน้าสวน กก.ละ 150 บาท ....)

* กระท้อน : คุมขนาดกว้างทรงพุ่ม ให้ตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลปีนี้แล้วเรียกยอดใหม่เพื่อเลี้ยงให้ได้ปี ตัดลึกกว่าที่ต้องการ 50-80 ซม. เมื่อยอดใหม่ออกมาแล้วก็จะได้ขนาดความกว้างของทรงพุ่มโตกว้างเท่าที่ต้องการ, กิ่งที่ปีนี้ไม่ติดผลให้เก็บไว้เพื่อเอาดอกผลปีนี้ รอปีนี้ได้ผลแล้วจึงตัด .... คุมขนาดความสูงของต้น ให้ตัดยอดประธาน (ผ่ากะบาล) ต่ำกว่าความสูงที่ต้องการ 50-80 ซม. เมื่อยอดใหม่แตกออกมาก็จะได้ความสูงของต้นตามต้องการ, ยอดที่แตกใหม่ถ้ามีมากก็ให้พิจาณาเลือกตัดออกบ้าง เหลือไว้ 1-2 ยอดก็พอ

* ลำไย : คุมขนาดกว้างทรงพุ่ม ทำเหมือนกระท้อน ข้อแตกต่างนิดเดียว คือ เมื่อตัดกิ่งแล้วให้โน้มกิ่งลงระนาบกับพื้นเพื่อให้แตกยอดแล้วเป็นกิ่งกระโดงตามกิ่งที่โน้มลงนั้น แรกๆยอดที่แตกใหม่มีจำนวนมานก ให้พิจาณาตัดออก เหลือไว้พอประมาณเพื่อให้มีน้ำเลี้ยงทั่วถึงทุกกิ่ง .... คุมขนาดความสูงของต้น ให้ตัดยอดประธาน (ผ่ากะบาล) ต่ำกว่าความสูงที่ต้องการ 50-80 ซม. เมื่อยอดใหม่แตกออกมาก็จะได้ความสูงของต้นตามต้องการพอดี, ยอดที่แตกใหม่ให้พิจาณาเลือกตัดออกบ้าง คงเหลือไว้แค่ 1-2 ยอดก็พอ ทั้งนี้ ลำไยจะออกดอกที่ยอดกระโดง ชี้ขึ้น 90 องศาเสมอ ....

* ขนุน : คุมขนาดกว้างทรงพุ่ม คุมไม่ได้กว้างแค่ไหนต้องเอาไว้ทั้งหมด ถ้าต้นโตจนเบียดกันก็ให้ตัดออก ต้นเว้นต้น ในขนุน 1 ต้น ไว้เลือกกิ่งประธานแค่ 5 กิ่ง แต่ละกิ่งชี้ออกนอกทรงพุ่มรอบทิศทางเสมอกัน เพื่อให้ได้แสงแดดเท่ากัน ไม่ต้องต้องตัดปลายกิ่งหรือยอดแต่ปล่อยให้โตอิสระ เพราะนิสัยธรรมชาติของขนุนไม่ได้ออกดอกติดผลที่ยอด แต่ออกดอกติดผลที่ท้องกิ่ง หรือลำต้น เท่านั้น นิสัยธรรมชาติของขนุนอีกอย่างหนึ่งก็คือ มักไม่แตกยอดตามกลางกิ่ง แต่ถ้าต้นไหนมียอดแตกใหม่ตามกลางกิ่งก็ให้เด็ดทิ้งตั้งแต่แรกๆ .... คุมขนาดความสูง ให้ตัดยอดประธาน หรือผ่ากะบาลเหมือนกัน เพราะขนุนสายพันธุ์ที่ติดลูกตามลำต้น ก็ติดเฉพาะบริเวณโคนต้นเท่านั้น ส่วนของลำต้นที่สูงมากๆขึ้นไปไม่ติดลูกหรอก

--------------------------------------------------------


จาก : (088) 204-75xx
ข้อความ : อยากให้คุณตา สรุปชนิดของโรคพืช ว่าแต่ละอย่างเป็นประเภทไหน การทำลายพืชเป็นอย่างไร หนูจะเอาไปทำรายงานส่งครูค่ะ .... หลานเตยหอม ฉะเชิงเทรา
ตอบ :
- เก่งมากหลานเตยหอม ฟังคุณตาแล้ว พรุ่งนี้ไปที่โรงเรียน เปิดอินเตอร์เน็ต เว้บเกษตรลุงคิมดอทคอม แล้วปริ๊นท์ออกมา ใส่แฟ้มเก็บไว้เลย .... เรื่องโรคพืชที่นำมาบอกกล่าวกันตรงนี้เป็นเพียงเสี้ยวเล็กของเรื่องราวทั้งหมด เพราะเรื่องนี้มีรายละเอียดยาวมากๆ วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ เอาไปอ่านที่ต้นพืช ดูของจริงแล้วเปรียบเทียบเรื่องราวกับข้อมูลในเอกสาร เรียกว่าเรียนรู้จากของจริงกันเลย ประมาณนั้น นั่นแหละ


@@ โรคพืช
โรคพืช หมายถึงลักษณะอาการของพืชที่ผิดไปจากปกติ อาจเกิดขึ้นบนส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นพืช หรือตลอดทั้งต้น รวมไปจนถึงการแห้งตายไปทั้งต้น สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืชแบ่งได้ 2 สาเหตุ คือ

1. เกิดจากสิ่งมีชีวิต (pathogenic disease) เช่น โรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัส (virus), เชื้อไมโคพลาสมา (mycoplasma), เชื้อแบคทีเรีย (bacteria), เชื้อรา (fungi), และไส้เดือนฝอย. โรคพืชจะเกิดขึ้นและสามารถแพร่กระจายระบาดออกไปได้ถ้ามีเชื้อสาเหตุเหล่านี้ ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดและการแพร่กระจายของโรคพืชนั้นๆ การแพร่กระจายของโรคพืชอาศัย น้ำ ฝน ความชื้น ลม ดิน หรือโดยการถ่ายทอด (transmission) ผ่านทางเมล็ดพันธุ์ ส่วนขยายพันธุ์ หรือโดยแมลง ลักษณะอาการ (symptom) ของโรคพืชซึ่งเกิดจากเชื้อสาเหตุที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

1.1) ลักษณะอาการของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการโรคใบหด ใบหงิก ใบสีเหลืองส้ม ใบด่างเหลือง ใบม้วน

1.2) ลักษณะอาการของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา มักมีอาการโรคใบขาว ลำต้นแคระแกรน แตกกอเป็นพุ่ม หรือใบเหลืองซีด กิ่งแห้งตาย ลำต้นทรุดโทรม และไม่ให้ผลผลิต

1.3) ลักษณะอาการของโรคพืชจากเชื้อแบคทีเรีย มีลักษณะอาการแตกต่างกัน 5 แบบ คือ :

1.3.1) โรคเหี่ยว (wilt) อาการเหี่ยวเฉา เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญในท่อน้ำ ท่ออาหารของต้นพืช ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำและท่ออาหาร จึงเป็นเหตุให้พืชได้รับน้ำและอาหารไม่เพียงพอ เกิดอาการเหี่ยวเฉา หรือเจริญเติบโตผิดปกติ และตายไปในที่สุด เช่น โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ ถั่วลิสง กล้วย แตงกวา แตงโม มีสาเหตุมาจากเชื้อ Xanthomonas spp., Pseudomonas spp., Erwinia spp.

1.3.2) โรคเน่าเละ (soft rot) อาการเน่าและมีกลิ่นเหม็น ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียเข้าทำลายเซลล์พืช และมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ร่วมเข้า
ทำลายซ้ำเติม โรคพืชแบบนี้มักเกิดกับส่วนของพืชที่อวบน้ำ เช่น โรคเน่าเละของพืชผัก มันฝรั่ง มะเขือเทศ แตงกวา กะหล่ำ พริก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อ Erwinia spp.

1.3.3) โรคแผลเป็นจุด (spot หรือ local lesion) อาการจุดแห้งตาย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์หรือในเซลล์ ทำให้เซลล์บริเวณนั้นตาย เป็นแผลแห้งมีขอบเขตจำกัด เช่น โรคใบจุดของฝ้าย โรคใบจุดของถั่วเหลือง โรคขอบใบแห้งของข้าว โรคแคงเคอร์ของส้ม โรคใบจุดของยาสูบ เชื้อสาเหตุ ได้แก่ Xanthomonas sp., Pseudomonas spp.

1.3.4) โรคไหม้ (blight) อาการใบไหม้ตาย เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วแผ่ขยายไปเรื่อยๆ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญอยู่ในช่องว่างระหว่างเซลล์ แต่ไม่ทำลายเนื้อเยื่อเซลล์ เพียงแต่ทำให้การเคลื่อนย้ายน้ำและอาหารในพืชไม่สะดวก ทำให้ใบและลำต้นมีสีซีด (necrosis) และอาจแห้งตายไปในที่สุด เช่น โรคใบไหม้ของถั่ว ยางพารา เชื้อสาเหตุได้แก่ Xanthomonas spp. Phythopthora spp. และ Erwinia spp.

1.3.5) โรคปุ่มปม (gall หรือ tumer) อาการเป็นปุ่มปมเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญอยู่ในเซลล์พืช แล้วสร้างสารบางชนิดออกมากระตุ้นให้เซลล์บริเวณนั้นมีการแบ่งตัวมากขึ้น เช่น โรค crown gall ของมะเขือเทศ เชื้อสาเหตุได้แก่ Agrobacterium spp. และ Xanthomonas spp.

1.4) ลักษณะอาการของโรคพืชจากเชื้อรา ลักษณะอาการของโรคพืชจากเชื้อรามีหลายแบบ เช่น ใบเป็นแผล ใบไหม้ ใบบิด ต้นเหี่ยว รากเน่า โคนต้นเน่า ผลเน่า เมล็ดเน่า ต้นกล้าเน่า หรือต้นแห้งตายไปทั้งต้น ลักษณะอาการของโรคพืชจากเชื้อรามักจะสังเกตเห็นเส้นใย (hypha), สปอร์ (spore), ส่วนสืบพันธุ์ต่างๆ เช่น sporangium, conidia, basidiumascus มีสีขาว หรือสีดำ หรือสีน้ำตาล ปรากฏตามรอยแผลอาการของโรค หรือตรงส่วนที่เชื้อสาเหตุเข้าสู่ต้นพืช ตัวอย่างของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้แก่ โรคโคนเน่าคอดินของต้นกล้า โรครากและโคนต้นเน่า โรคราน้ำค้าง โรคเน่าของผลไม้และผัก โรคราแป้งขาว โรคราสนิมเหล็ก โรคเขม่าดำ โรคแส้ดำของอ้อย โรคไหม้ของข้าว โรคใบจุดของข้าวโพด โรคใบจุดตานกของยางพารา โรคแอนแทรคโนส โรคเหี่ยวของมะเขือเทศ

1.5) ลักษณะอาการของโรคพืชจากไส้เดือนฝอย มักทำให้เกิดโรครากปม รากขอด
และลำต้นพืชเหี่ยวเฉาตายไปในที่สุด


2) เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต (nonpathogenic disease) อาการของโรคพืชอาจเกิดจากสาเหตุเนื่องจากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น การขาดธาตุอาหาร ธาตุอาหารเป็นพิษ ดินเป็นกรด ดินเค็มจัด ดินเป็นด่าง หรือพิษจากสารเคมีบางชนิด สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้การเจริญเติบโตของต้นพืชผิดปกติ ลำต้นแคระแกร็น มีสีซีด หรือสีผิดปกติ ไม่ให้ผลผลิต โรคพืชซึ่งมีสาเหตุเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิตจะเกิดเฉพาะบริเวณ ไม่สามารถแพร่กระจายหรือระบาดไปยังแหล่งอื่นๆ ได้
---------------------------------------------


โรคพืช (Pathology)
โรคพืช เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดจากศัตรูของพืช กับอีกสาเหตุ ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

ก. ลักษณะอาการของโรคพืช
1. อาการของโรคพืชบนใบ
2. อาการของโรคที่พบทั้งต้น
3. อาการของโรคที่พบที่ราก
4. อาการของโรคที่ต้นกล้าพืช

ข. โรคพืชที่เกิดจากปัจจัยสภาแวดล้อม
1. การขาดแร่ธาตุอาหารในพืช
2. การมีธาตุอาหารมากเกินไป
3. สภาพของภูมิอากาศไม่เหมาะสม
4. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม

ค. โรคพืชที่เกิดจากศัตรูของพืช อันเกิดจากสิ่งมีชีวิต จำพวก เชื้อจุลินทรีย์ จำพวกเชื้อรา เชื้อบัคเตรี เชื้อไวรัส ไส้เดือนฝอย

ง. โรคพืชที่เกิดจาก แมลงศัตรูพืช
ก. ลักษณะอาการของโรคพืช
1. อาการของโรคบนใบ
โรคที่เกิดบนใบ แสดงอาการแตกต่างกันไปหลายแบบ อาการเหล่านี้จะเกิดจาก หลายสาเหตุทั้งขาดธาตุอาหาร หรือเกิดจากเชื้อไวรัส บัคเตรี และเชื้อราเข้าทำลาย ตัวอย่าง เช่น

1.1 อาการใบจุด แผลแห้งเป็นจุดกระจายบนใบ แผลมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยอาจจะเกิดแผลกลมหรือ แผลเหลี่ยม ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีจำนวนแผลมาก และลามติดต่อกันและทำให้ใบแห้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา เชื้อบัคเตรี

1.2 อาการใบไหม้ แผลแห้งมีขนาดใหญ่ อาจจะแห้งในบริเวณเนื้อในหรือจากขอบใบก็ได้ เมื่อเปรียบเทียบ กับโรคใบจุดแล้ว แผลที่เกิดจากอาการใบไหม้จะมีแผลขนาดที่ใหญ่กว่าและเป็นบริเวณกว้างกว่า สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา เชื้อบัคเตรีและอาจเกิดจากการให้ปุ๋ยหรือฉีดสารเคมี เช่น ยาปราบวัชพืช ยากันรามากเกินไปใน เวลาที่มีอากาศร้อนจัด

1.3 อาการใบเปลี่ยนสี มีหลายแบบ เช่น
(1) ใบด่าง : เช่น ด่างเขียวเข้มสลับเขียวอ่อน ด่างเขียวสลับเหลือง ด่างโดยเกิดวงเหลืองหรือวงสีเขียวบนใบ อาการใบด่างอาจเกิดจากเชื้อไวรัส การขาดธาตุอาหาร แมลงดูดกิน หรือเกิดจากลักษณะการกลายพันธุ์ของพืช แต่โดยทั่วไป มักเกิดจากเชื้อไวรัส

(2) ใบขาวหรือเหลือง : เนื้อใบสีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด หรือเขียวอ่อนถึงสีขาว โดยมักจะเปลี่ยนสีทั้งใบ สาเหตุเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา และขาดธาตุอาหารบางประเภท

1.4 อาการใบหงิกและใบหด : เนื้อใบไม่แผ่เรียบ มักจะหงิกงอเป็นคลื่น ขอบใบมักจะม้วนขึ้นหรือม้วนลง พืชมีการเจริญไม่ปกติ มักแคระแกร็น มีขนาดเล็กลงเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับต้นปกติ สาเหตุมักเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแมลง ดูดกิน ถ้าเป็นการดูดกินของแมลงมักสังเกตเห็นตัวแมลงและรอยแผลเล็กๆบนพืชนั้น

1.5 อาการแคงเคอร์ : บางทีเรียกว่าแผลสะเก็ด โดยเกิดเป็นแผลตุ่มนูนสีน้ำตาล ทั้งด้านบนและด้านล่าง ของใบ พบได้ทั้งบนผลและกิ่ง สาเหตุุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อบัคเตรี

1.6 อาการสแคป หรือแผลสะเก็ด : คล้ายแคงเคอร์มาก แต่มักเกิดเฉพาะบนใบเท่านั้น ส่วนอาหารบนผลและ กิ่งเหมือนโรคแคงเคอร์ สาเหตุเกิดจากเชื้อราและบัคเตรี

1.7 อาการสนิมเหล็ก : เกิดแผลเป็นตุ่มขุยสีสนิม พบได้ทั้งด้านบนใบ ด้านล่างของใบ รวมทั้งบริเวณ ก้านและลำต้น พบเป็นมากกับพืชตระกูลหญ้า เมื่อเกิดอาการรุนแรงจะเห็นผงสนิมมาก และเมื่อเอานิ้วลูบ จะมี ละอองสีเหลืองส้มติดนิ้วให้เห็น สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

1.8 อาการราแป้งขาว : จะเห็นเชื้อราซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีขาวขึ้นปกคลุมบนใบคล้ายแป้งฝุ่น หรือผงชอล์ก ปกคลุมทั่วไป อาการเริ่มแรกมักเกิดเป็นหย่อมๆแล้วขยายจนเต็มใบ ถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ใบแห้งตาย อาการส่วน ใหญ่มักเกิดกับใบอ่อน ยอดอ่อน และทำให้ส่วนต่างๆเหล่านี้ได้รับความเสียหายมากกว่าส่วนที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สาเหตุเกิดจากเชื้อรา

1.9 อาการราน้ำค้าง บนใบ : เกิดบริเวณเหลืองๆ เมื่อพลิกดูใต้ใบจะเห็นลักษณะแผลเด่นชัดกว่าด้านบน บางครั้งพบอาการเซลล์ตายบนรอยแผลใต้ใบ และถ้าอากาศเย็นชื้นจะเห็นผงขาวๆซึ่งเป็นส่วนของเชื้อราสาเหคุได้ชัดเจน อาการของโรคนี้จะต่างกันไปในแต่ละพืช เช่น แตง คะน้า ข้าวโพด ถ้าเป็นกับข้าวโพดจะแสดงอาการด่างเป็นปื้นเหลืองสลับเขียว และมักผิดปกติ

1.10 อาการราดำ : ใบจะมีผงคล้ายเขม่าดำปกคลุมผิวใบหรือตามส่วนต่างๆของพืช เมื่อใช้มือลูบผงดำนี้ จะหลุดออก อาการราดำนี้จะพบพร้อมๆกับแมลงจำพวกเพลี้ย เพราะเชื้อราชนิดนี้ชอบน้ำหวานจากเพลี้ยที่ขับออกมา

1.11 อาการแอนแทรคโนส : เกิดแผลแห้งตายสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นวงๆคล้ายวงแหวน เรียงซ้อนกัน เป็นชั้นๆ อาจเกิดบริเวณเนื้อใบ หรือจากปลายใบเข้ามา ถ้าเป็นรุนแรง ใบจะแห้งตายในที่สุด เกิดกับส่วนใบ กิ่งและผล สาเหตุเกิดจากเชื้อรา


2. อาการของโรคที่พบทั้งต้น เช่น
2.1 อาการเหี่ยว : เริ่มแรกมักเห็นใบเหี่ยวลู่ลงก่อน แล้วค่อยๆเหี่ยวทั้งต้นและตายในที่สุด เมื่อพบอาการเหี่ยว ควรพิจารณาถึงสาเหตุเนื่องจากพืชขาดน้ำ แต่ถ้าพืชแสดงอาการเหี่ยวในบริเวณที่มีน้ำสมบูรณ์ แสดงว่าการทำงาน ของระบบรากไม่ปกติ อาจเกิดรากเสีย เช่น รากปม รากเป็นแผล รากขาดเนื่องจากการทำลายของไส้เดือนฝอยหรือ การเขตกรรม รากเน่าจากการทำลายของเชื้อรา บัคเตรีหรือมีน้ำขัง บางครั้งพบว่าระบบท่อน้ำภายในพืชถูกอุดตัน เนื่องจากสาเหตุบางประการ

2.2 อาการแตกพุ่ม : บริเวณจุดเจริญ เช่น ตาดอก ตาใบมีการเจริญแตกเป็นกิ่งก้านและใบมากกว่าปกติ แต่ใบและก้านที่แตกนี้ไม่สมบูรณ์ มีขนาดเล็ก เป็นพุ่มกระจุกคล้ายไม้กวาด ในพืชบางชนิดกลีบดอกจะมีลักษณะ คล้ายใบและเกิดเป็นพุ่มสีเขียวแทนดอก ตัวอย่างที่พบ ได้แก่ การแตกพุ่มไม้กวาดของลำไย การแตกพุ่มไม้กวาดของ ถั่วฝักยาว การแตกพุ่มของตะบองเพชร การเกิดพุ่มสีเขียวของพิทูเนีย และพังพวย สาเหคุเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา

2.3 อาการเน่าเละ : เนื้อเยื่อพืชจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ เกิดอาการเน่าเละมีน้ำเมือก มักมีกลิ่นเหม็น รุนแรง เกิดได้กับส่วนต่างๆของพืชทั้งผล ราก หัว และใบ มักเกิดกับพวกผัก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดเขียว ผักกาดหัว และผลผลิตทางการเกษตรในโรงเก็บ สาเหตุเกิดจากเชื้อบัคเตรี

2.4 อาการแคระแกร็น : พืชเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีการชะงักการเจริญเติบโตต้น กิ่ง ก้าน ใบและผลมีขนาดเล็ก บางครั้งพบลำต้น ข้อปล้อง กิ่งก้าน สั้นและแข็งกระด้าง มักมีอาการใบเปลี่ยนสีและหงิกงอรวมอยู่ด้วย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส


3. อาการของโรคที่พบที่ราก เช่น
3.1 อาการรากปม : รากจะมีอาการพองออกเป็นปม โดยจะพองออกจากภายใน มิใช่พองด้านในด้านหนึ่ง สาเหตุเกิดจากไส้เดือนฝอย

3.2 อาการรากแผล : รากเกิดแผลเล็กๆซึ่งอาจเกิดจากการทำลายของไส้เดือนฝอยหรือแมลงบางชนิด

3.3 อาการรากเน่า : สังเกตได้โดยต้นพืชมักจะเหี่ยวเมื่อตรวจดูราก จะพบว่ารากเน่าดำหรือเป็นสีน้ำตาล เปลือกจะล่อนหลุดติดมือออกมา สาเหตุมักเกิดจากเชื้อรา หรืออาจเกิดจากมีน้ำขังทำให้รากเน่าเปื่อย เป็นต้น


4. อาการของโรคที่ต้นกล้าพืช ได้แก่
อาการต้นกล้าเน่า : อาการทั่วไปในแปลง จะพบว่าต้นกล้าฟุบตายเป็นหย่อมๆ เมื่อนำกล้ามาพิจารณาดูที่ต้น จะเห็นว่า บริเวณโคนต้นจะมีลักษณะแผลช้ำ เหี่ยวแฟบ คอรวงเป็นสีน้ำตาลดำและเน่า เป็นเหตุทำให้ต้นกล้าหักพับลง พบกับกล้าพืชแทบทุกชนิดในแปลงที่มีกล้าแน่นเกินไปและมีความชื้นสูง สาเหตุเนื่องจากเชื้อรา

ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว เล่ม 7. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2542.


ข. โรคพืชที่เกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อม
สาเหตุของโรคพืชเนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อม ได้แก่ การขาดแร่ธาตุอาหาร การได้รับพิษจากสารเคมีมากเกินไป ความเสียหายเนื่องจากพืชได้รับอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป ความแห้งแล้ง ไฟป่า เป็นต้น อาการผิดปกติเนื่องจากสาเหตุเหล่านี้ บางครั้งพืชแสดงอาการคล้ายกันกับโรคติดเชื้อ เช่น อาการขาดแร่ธาตุบางชนิด แสดงอาการซีดเหลืองคล้ายกับที่เกิดจากเชื้อไวรัส และมายโคพลาสมา และอาการเป็นพิษจากสารเคมีที่ทำให้เกิดแผลคล้ายที่เกิดจากเชื้อรา เป็นต้น ทำให้เกิดการสับสนได้ จึงมีความจำเป็นต้องทำการตรวจวินัจฉัยอย่างละเอียดก่อนสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใดแน่

1. การขาดแร่ธาตุอาหารในพืช
เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของโรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต พืชจะแสดงอาการขาดธาตุอาหารเมื่อสภาพดินที่ปลูกขาดแร่ธาตุชนิดนั้น ๆ หรืออยู่ในสภาพที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้เนื่องจากสภาพความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสม ลักษณะอาการพืชที่ขาดธาตุบางชนิดอาจสรุปได้ดังนี้

ขาดธาตุไนโตรเจน : พืชเจริญเติบโตช้า ใบมีสีซีดเหลืองทั่วทั้งต้น เริ่มจากใบล่างก่อน

ขาดธาตุฟอสฟอรัส : พืชเจริญเติบโตช้า ใบมีสีเขียวเข้มหรือม่วงบริเวณใบล่าง ๆ ลำต้นมียอดสั้น

ขาดธาตุโพแทสเซียม : ต้นพืชมียอดน้อย ใบล่างซีดเหลือง ขอบใบม้วนขึ้น ปลายใบและขอบใบแห้งมีสีน้ำตาล ผลมีขนาดเล็กลง

ขาดธาตุแมกนีเซียม : ใบแก่ แสดงอาการซีดเหลืองหรือแดงบริเวณขอบใบและปลายใบก่อน ใบมีสีซีดเหลืองเป็นรูปตัววีหัวกลับ ขอบใบม้วนขึ้น

ขาดธาตุแคลเซียม : ใบอ่อนบิดงอ ชะงักการเจริญเติบโต แสดงอาหารบิดม้วน ขอบใบฉีก ตายอดแห้งตาย ลำต้นมีรากน้อย ทำให้ผลแตกในไม้ผลหลายชนิด

ขาดธาตุโบรอน : ทำให้ก้านใบอ่อนแตกและหัก ใบบิดงอ ราก ลำต้น และผลแสดงอาการแผลแตก ลำต้นเป็นรูกลวง และเมล็ดลีบ ในผักหลายชนิด

ขาดธาตุกำมะถัน : ใบอ่อนมีสีซีดเหลือง ทั่วทั้งใบ

ขาดธาตุเหล็ก : ใบอ่อนมีสีซีดเหลือง แต่เส้นใบยังคงมีสีเขียว

ขาดธาตุสังกะสี : ใบด่างเหลืองระหว่างเส้นใบ ใบมีขนาดเล็กเกิด เป็นกระจุก


การวินิจฉัยการขาดธาตุในพืชอาจทำได้โดยการวิเคราะห์จากเนื้อเยื่อพืช (tissue analysis) จากใบที่สร้างใหม่ๆ แล้วเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐานที่วิเคราะห์ได้จากพืชปกติ การวิเคราะห์ดินและวัดระดับความเป็นกรดเป็นด่างในดิน จะช่วยในการเตรียมป้องกันการขาดธาตุอาหารในพืชได้

2. การมีธาตุอาหารมากเกินไป
ธาตุอาหารที่พืชมีความต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อาจเกิดการสะสมทำให้เกิดความเข้มข้นในเนื้อเยื่อพืชสูงขึ้นจนถึงขั้นที่เป็นพิษกับพืช เช่น การมีธาตุโบรอน (B) มากเกินไป ทำให้พืชเกิดอาการใบเหลืองขึ้นเป็นแห่งๆ เนื่องจากขาด chiorophyll เริ่มจากปลายใบแล้วจึงลุกลามไปตามของใบเกิดการไหม้และใบร่วงหล่นได้ เป็นต้น

3. สภาพของภูมิอากาศไม่เหมาะสม
3.1 ปริมาณน้ำไม่เหมาะสม
พืชที่ประสบกับความแห้งแล้งของอากาศจะมีอาการใบเหลือง ใบมีสีม่วง ใบเหี่ยวย่น และตายอย่างรวดเร็วและใบไหม้ระหว่างเส้นใบ และตามขอบใบ หรือถ้าเกิดการแห้งแล้งอย่างรุนแรงใบจะเหี่ยวแห้งตาย ใบและผลของไม้ยืนต้นจะหลุดร่วงก่อนกำหนด การตายของใบและผลอาจเนื่องจากการขาดน้ำภายในเซลล์ทำให้ความเข้มข้นของธาตุเพิ่มขึ้นจนเป็นพิษ ในไม้ยืนต้น ผลของความแห้งแล้งมักจะปรากฏในฤดูถัดไป โดยเกิดการตายแบบตายจากปลายยอด (dieback) ของกิ่งก้าน

กรณีความชื้นในดินที่มากเกิน ทำให้โรคบางชนิดเกิดได้ง่าย เช่น รากเน่า ในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีจะมี ไนไตรท์ (nitrite) สูงและเป็นพิษกับพืช พืชจะเจริญเติบโตช้า ใบเหลือง ในไม้ยืนต้นใบจะร่วงและเกิดอาการ dieback ของยอด

3.2 อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไป
อุณหภูมิที่ต่ำทำให้เกิดผลเสียแก่พืชคือ อุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิต่ำสุดที่พืชจะเจริญได้ ทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงาน (metabolism) ช้าลง มีผลทำให้พืชโตช้า ถ้าเกิดติดต่อกันยาวนาน พืชจะตายก่อนกำหนด หรืออุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสอาจจะฆ่าต้นพืช เพราะน้ำที่อยู่ระหว่างเซลล์และภายในเซลล์กลายเป็นน้ำแข็งใบของต้นพืชที่ถูกกับอุณหภูมิที่ร้อนจัดมากเกินไปจะสูญเสียน้ำและเนื้อเยื่อจะตาย โดยเริ่มที่ปลายใบก่อนเป็นที่ขอบใบ ต้นพืชจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว อาการที่พบคือ เกิดแผลพอง (scald) ที่ผล และอาการแผลแตก (heat canker) ที่ลำต้น

3.3 แสง ได้รับแสงไม่เหมาะสมกับประเภทของพืช


4. การปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องอาจเป็นสาเหตุที่ทำความเสียหายแก่พืช เช่น การใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรต่าง ๆ ได้แก่ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ (สารกำจัดเชื้อสาเหตุโรค สารกำจัดแมลง และสารกำจัดวัชพืช) โดยอาจใช้ในอัตราที่เข้มข้นสูงเกินไป เลือกสารไม่เหมาะสมกับพืช ซึ่งจะทำให้พืชแสดงอาการใบไหม้หรือใบจุดได้

ค. โรคพืช อันเกิดจากศัตรูของพืช :
จำพวกจุลินทรีย์และไส้เดือนฝอย เช่น เชื้อรา (fungi), แบคทีเรีย (bacteria), ไส้เดือนฝอย (nematode), ไฟโตพลาสมา (phytoplasma), ไวรัส (virus), ไวรอยด์ (virord) เป็นต้น

1. เชื้อราสาเหตุโรคพืช :
ลักษณะของเชื้อราทั่วไปจะเป็นเส้นใยคล้ายเส้นด้ายละเอียด มีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จะเห็นได้เมื่อมีการเจริญเป็นกลุ่มก้อนหรือเป็นกลุ่มโคโลนีของเส้นใย สปอร์ก็จะเจริญและงอกเข้าไปในพืชโดยการแทงผ่านผิวพืชเข้าไปในพืชได้โดยตรง หรืองอกแล้วแทงผ่านเข้าไปตามแผลที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของพืช หรือเข้าตามช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ เมื่อเข้าไปแล้วเชื้อราพวกนี้ก็จะมีการสร้างสารพิษ เอนไซม์ หรือสารกระตุ้นต่าง ๆ ทำลายพืชให้ได้รับความเสียหาย เกิดการเปลี่ยนแปลงผิดปกติไป มีเชื้อรามากกว่า 8,000 ชนิดที่เป็นสาเหตุโรคพืช ไม่น้อยกว่า 100,000 โรค

เชื้อราสาเหตุโรคพืชสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะอาการต่าง ๆ ของโรคได้ เช่น โรคเน่าคอดิน (damping off), ราสนิม (rust), ราแป้ง (powdery mildew), จุดนูนดำ (tar spot), ใบไหม้ (leaf blight), ยอดตาย (dieback), แผลแตกตามลำต้น (canker) ฯลฯ เป็นต้น


2. เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพืช
แบคทีเรียเป็นจุลินทรีย์เซลล์เดียว มีผนังแข็งห่อหุ้มเซลล์ (cell wall) รูปร่างจึงคงที่ ขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

แบคทีเรียสาเหตุโรคพืชมีประมาณ 200 ชนิด ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทอนสั้นและไม่สร้างสปอร์ แต่จะมีชั้นเมือกหรือแคบซูลห่อหุ้มผนังด้านนอกเซลล์อีกชั้นหนึ่ง จึงช่วยให้มีอายุนานและทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีขึ้น แบคทีเรียบางชนิดสามารถผลิตสารพิษและเอนไซม์ทำลายพืชให้ได้รับความเสียหายได้ บางชนิดสร้างสารเร่งการเจริญเติบโตไปทำให้เซลล์พืชเจริญมากผิดปกติ เกิดอาการบวมพอง เป็นปุ่มปม แบคทีเรียเข้าทำลายพืชได้ทางแผลที่เกิดขึ้นตามผิวพืชและทางช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ

การแพร่กระจายของแบคทีเรียไปสู่ที่ต่าง ๆ จะเป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของเชื้อรา แบคทีเรียมักจะถูกยับยั้งการเจริญได้ง่ายโดยการปฏิชีวนะแทบทุกชนิด รวมทั้งสารประกอบที่มีธาตุทองแดงเป็นส่วนผสม


3. ไส้เดือนฝอยศัตรูพืช
ไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีขนาดเล็กมากยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะรูปร่างยาวเรียวเป็นส่วนใหญ่ บางชนิดตัวเมียเมื่อโตเต็มวัย มีลักษณะบวมพอง อ้วนกลม ไส้เดือนฝอยดูดแย่งอาหารจากพืชโดยใช้หลอดดูดอาหารในช่องปากที่มีลักษณะเป็นเข็มกลวงปลายแหลมเรียกว่า spear หรือ stylet บางชนิดเกาะติดอยู่ภายนอกส่งเฉพาะ stylet เข้าไปดูดอาหารในเซลล์พืช บางชนิดปักเฉพาะส่วนปากและหัวเข้าไป บางชนิดเข้าไปอยู่ในพืชทั้งตัว ทำให้พืชเป็นโรคโดยทำลายเซลล์พืชหรือไปเปลี่ยนแปลงขบวนการเจริญเติบโตของพืชให้ผิดปกติไป


4. เชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคพืช
เริ่มมีรายงานว่าเป็นเชื้อสาเหตุโรคได้ เมื่อ พ.ศ. 2503 มีเซลล์เดียวและมีเฉพาะเนื้อเยื่อห่อหุ้มเซลล์ แต่ไม่มีผนังล้อมรอบ ทำให้รูปร่างของเซลล์ไม่แน่นอน จะพบอยู่ในเซลล์พืชเท่านั้น โดยเฉพาะที่ท่อลำเลียงอาหารทำให้พืชแสดงอาการเหลืองผิดปกติ เชื้อแพร่ระบาดได้ดี โดยมีแมลงพวกปากดูดเป็นพาหะพาไป โดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น ซึ่งเชื้อนี้จะเจริญและทวีจำนวนในตัวแมลงได้ ลักษณะเฉพาะของเชื้ออีกประการหนึ่งคือมีสารปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สามารถยับยั้งการเจริญหรือฆ่าเชื้อบนพืชได้คือสารเตตราไซคลีน (tetracycline) ปัจจุบันมีรายงานพบเชื้อไฟโดพลาสมามากกว่า 80 ชนิดเป็นสาเหตุโรคของพืชกว่า 300 ตระกูล


5. เชื้อไวรัส และไวรอยด์สาเหตุโรคพืช
ไวรัสและไวรอยด์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุด อนุภาคของไวรัสมีเฉพาะกรดนิวคลีอิค (nucleic acid) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาร์เอ็นเอ และโปรตีนเป็นส่วนประกอบเท่านั้น ไวรอยด์ไม่มีโปรตีนมีแต่อาร์เอ็นเอ (RNA) จะมองเห็นได้เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ (Electron Microscopes) กำลังขยาย 2,000-3,000 เท่า มีรายงานว่าพบไวรัสไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ที่สามารถเข้าทำลายและเป็นสาเหตุโรคพืชได้
http://www.fernsiam.com/Article/A005-Pathology.html

----------------------------------------------------------
@@ ตัวอย่าง การเรียนรู้เฉพาะเรื่อง โรคพืช :
โรคพุ่มแจ้ มันสำปะหลัง (Phyllody)
อาการเฉพาะของโรค
อาการใบยอดแตกเป็นพุ่ม/ฝอย

อาการที่ใบ :
- ใบยอดแตกเป็นพุ่ม มีจำนวนมากกว่าปกติ แต่มีขนาดเล็กลงกว่าปกติ
- อาการยอดแตกเป็นพุ่ม อาจพบบริเวณตาข้าง กิ่งหรือลำต้นของต้นที่เป็นโรค
- ใบจะมีสีเหลืองซีด หรือสีเหลืองเข้มปนสีน้ำตาลแดง
- ใบที่เป็นโรคจะแห้งตายเริ่มจากใบล่างขึ้นไปถึงใบที่ปลายยอด

อาการที่กิ่งก้าน :
กิ่งหรือลำต้นที่เป็นโรค ในระยะสุดท้ายจะเกิดอาการกิ่งแห้งตายโดยเริ่มจากปลายกิ่ง ลุกลามเข้ามายังส่วนโคน เรียกว่า อาการแห้งตายจากยอด Die back

อาการที่ต้น :
- ต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคจะแคระแกรน
- ความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะที่เข้าทำลายและจำนวนกิ่ง ลำต้น ที่เป็นโรค
- ถ้าเป็นรุนแรง จะเกิดอาการต้นแคระแกรน ไม่เจริญเติบโต

ความเสียหายที่เกิดขึ้น :
- ผลผลิตหัวมันลดลง ทั้งขนาดหัวมันและจำนวนหัวมันต่อต้น
- น้ำหนักหัวมันจะลดลง หัวมันที่เป็นโรคจะมีน้ำหนักเบา
- ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันลดลง เป็นสาเหตุให้หัวมันที่เป็นโรคมีน้ำหนักลดลง

สาเหตุโรค :
- เกิดจากไฟโตพลาสมา
- เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่จัดอยู่ในกลุ่มของเชื้อแบคทีเรีย
ผลการตรวจหาเชื้อไฟโตพลาสมาในเนื้อเยื่อพืชที่เป็นโรค โดยใช้เทคนิค PCพบว่าเมื่อใช้ specific primers สามารถตรวจพบเชื้อไฟโตพลาสมาในส่วนของพืชที่เป็นโรค ดังนี้
- ใบยอดของกิ่งปกติจากต้นที่เป็นโรค
- ใบที่เป็นโรคของกิ่งที่เป็นโรคจากต้นที่เป็นโรค
- ยอดที่แตกจากตาข้างของกิ่งที่เป็นโรคจากต้นที่เป็นโรค
- ใบยอดของกิ่งที่เป็นโรคจากต้นที่เป็นโรค

การแพร่ระบาดของโรค :
- แพร่โดยติดไปกับท่อนพันธุ์
- แพร่โดยแมลง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง (สีขาว) จากการสังเกตพบว่ากิ่งที่/เป็นโรคจะมี เพลี้ยแป้งอาศัยดูดน้ำเลี้ยง เพราะฉะนั้น อาการที่เกิดจากการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้ง ก่อให้เกิดอาการยอดแคระแกรนได้ แต่ใบจะสีเขียวไม่ซีดเหลือง พบ กิ่ง/ยอด ที่ไม่เป็นโรค บางส่วนก็ไม่มีเพลี้ยแป้งทำลาย ดังนั้นการแพร่ระบาดของโรค

แนวทางการป้องกัน :
1. ใช้ท่อนพันธุ์ที่ขยายพันธุ์มาจากต้นหรือแปลงที่ไม่เป็นโรค
2. ในอนาคต อาจจะต้องทำวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อก่อนปลูก
3. ถอนต้นที่เป็นโรคทิ้งโดยเผาทำลาย เพื่อทำลายแหล่งของเชื้อไม่ให้แพร่ระบาดโดยแมลงต่อไป
4. กำจัดป้องกันเพลี้ยแป้ง ซึ่งอาจจะเป็นแมลงพาหะของเชื้อสาเหตุโรค

ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง :
- พันธุ์มันสำปะหลังที่ใช้ปลูกในประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์มาจากสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกัน มีความอ่อนแอต่อโรค

- การขยายพันธุ์ปลูกโดยท่อนพันธุ์ ก่อให้เกิดสภาพความสม่ำเสมอของท่อนพันธุ์สูง - เมื่อเชื้อโรคระบาด จะเพิ่มขยายปริมาณได้รวดเร็ว

หมายเหตุ :
นอกจากโรคที่เป็นศัตรูพืชแล้ว ยังมี แมลง, หนอน, และสัตว์อื่นๆ ที่เป็นศัตรูพืช ทำความเสียหายแก่พืชเหมือนกัน

--------------------------------------------------



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©