-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-มหัศจรรย์ต้นไม้ยักษ์ เบาบับ.
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - มหัศจรรย์ต้นไม้ยักษ์ เบาบับ.
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

มหัศจรรย์ต้นไม้ยักษ์ เบาบับ.

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 29/03/2010 7:23 pm    ชื่อกระทู้: มหัศจรรย์ต้นไม้ยักษ์ เบาบับ. ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา E-mail:ta-nu-pong@hotmail.com

มหัศจรรย์ต้นไม้ยักษ์ เบาบับ (Baobab)

ตามที่ได้ลงเรื่อง สารพัดเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเห็ด ของ ดร.อานนท์ เอื้อตระกูล ไปแล้วนั้น โดยทั่วไปการเพาะเห็ดก็มีผู้รู้หลายท่านได้นำเสนอผ่านตำรับตำรา เอกสารหลายต่อหลายเล่ม แต่สำหรับการเพาะเห็ดโดย ดร.อานนท์ นั้น ถือว่าเป็นผลของการทำงานภายใต้แนวคิด วิธีการ หรือทฤษฎีอีกแบบหนึ่งที่ท่านได้ทุ่มเท ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง อย่างเต็มที่และจริงจัง หากท่านใดที่มีความสนใจอยากจะเข้ารับการอบรมการเพาะเห็ดแบบวันเดียวจบ สามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักได้ทันทีเลย ก็ขอบอกหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกับทางศูนย์ไทยไบโอเทคอีกครั้ง โทรศัพท์ (02) 908-0282 และ (02) 908-3308 หรือ tbcbiotec@yahoo.com

ถึงแม้ว่า ดร.อานนท์ จะเป็นผู้เชี่ยวชาญและสนใจด้านเห็ด แต่ในระหว่างที่ท่านได้ศึกษาเรื่องเห็ดที่ทวีปแอฟริกาอยู่นั้น ก็พบว่ามีต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปเป็นวัสดุเพื่อเพาะเห็ดได้เป็นอย่างดี ต้นไม้ชนิดนั้นคือ "ต้นเบาบับ (Baobab)" โดยท่านสงสัยว่าเมื่อสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเพาะเห็ดแล้ว ทำไมต้นไม้ดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นไม้เนื้ออ่อน แต่ทำไมจึงได้มีรูปร่างและขนาดที่โตเป็นพิเศษ ตลอดจนการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว

จากนั้นท่านจึงได้เริ่มลงมือศึกษา วิจัยอย่างละเอียดก็พบว่า ต้นเบาบับ เป็นต้นไม้มหัศจรรย์ที่นอกจากจะมีลำต้นที่สวยงามโดดเด่นเป็นสง่าแล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านการนำมาเป็นยาป้องกันและรักษาโรคในมนุษย์ได้ อีกทั้งส่วนต่างๆ ของต้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์อีกนานัปการ ส่วนจะเป็นอะไรบ้าง และที่ว่าเป็นต้นไม้มหัศจรรย์นั้นเป็นอย่างไร ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามได้ต่อไปนี้



มาทำความรู้จักต้นเบาบับ กันก่อน
ดร.อานนท์ เล่าว่า แทบทุกภูมิภาคของทวีปแอฟริกา โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกของทวีป อันได้แก่ ประเทศมอริเชียส และมาดากัสการ์ ที่เป็นเกาะตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ประเทศสวาซิแลนด์ เลโซโท บอตสวานา นามิเบีย ไปจนถึงประเทศที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตก อันได้แก่ เบนิน โตโก กานา ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน แกมเบีย เซเนกัล ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งถึงแม้พื้นที่ของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไป โดยบางแห่งมีอากาศหนาวเย็น บางแห่งมีอากาศร้อนจัด แห้งเป็นทะเลทราย หรือบางแห่งร้อนชื้นเต็มไปด้วยป่าดงดิบ แต่มีสิ่งหนึ่งที่มักจะพบเหมือนกันในแทบทุกประเทศคือ ต้นเบาบับ

ในบางประเทศ เช่น ไนเจอร์ บูร์กินาฟาโซ เซเนกัล ที่มีสภาพพื้นที่แห้งแล้งแบบกึ่งทะเลทราย ซึ่งเมื่อมองไปที่ไหนจะเห็นมีแต่ต้นไม้ขนาดใหญ่เกิดขึ้นทั่วไปสุดลูกหูลูกตาก็เห็นจะมีแต่ต้นเบาบับ จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันว่า ต้นเบาบับ นั้นคือสัญลักษณ์หรือพันธุ์ไม้คู่ชีวิตของทวีปแอฟริกา ส่วนที่ประเทศแซมเบียก็มีต้นเบาบับที่มีขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนโตเต็มวัย จำนวนถึง 52 คน จึงสามารถจะโอบลำต้นได้โดยรอบ และจากการตรวจสอบโดยใช้รังสีคาร์บอน (Carbon dating method) พบว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 3,000 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีอายุยืนที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกาและของโลก

สำหรับการจำแนกสายพันธุ์ต่างๆ ของต้นเบาบับนั้น ดร.อานนท์ กล่าวว่า ผลจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า ต้นเบาบับเป็นต้นไม้เนื้ออ่อนที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับต้นนุ่น ต้นงิ้ว ต้นทุเรียน แต่อยู่ในตระกูล (Genus) Adansonia ซึ่งมีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้เฉพาะที่ประเทศมาดากัสการ์มีมากถึง 6 สายพันธุ์ อันได้แก่ A.grandidieri, A.madagascariensis, A.suaresensis, A.perrieri, A.rubrostipa, และ A.za ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ A. digitata เป็นต้นเบาบับที่พบอยู่ทั่วไปในส่วนที่เป็นผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีป อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ A.gibbosa พบที่ประเทศออสเตรเลีย

"การเรียกชื่อต้นเบาบับนั้น จะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและภาษา แม้กระทั่งชื่อสามัญภาษาอังกฤษ ก็มีชื่อหลายอย่าง เช่น เรียกชื่อตามลักษณะที่เห็นในฤดูแล้ง ซึ่งต้นเบาบับทุกต้นจะสลัดใบทิ้ง ทำให้เห็นลำต้นที่มีรูปทรงอ้วน มีกิ่งอยู่บนปลายยอดแตกกิ่งก้านสาขาคล้ายเป็นส่วนรากที่ชี้ขึ้น จึงได้เรียกต้นนี้ว่า Upside down tree บางแห่งก็เรียกตามสัตว์ที่มากินใบหรือผลสุกของมัน ไม่ว่าจะเป็นยีราฟ ช้าง แต่ที่มากที่สุด คือ ลิง จึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า Monkeys" bread tree หรือบางแห่งเรียกชื่อตามที่มนุษย์ได้นำเอาเนื้อของผลมาทำเป็นเครื่องดื่ม และได้เรียกกันว่า Lemonade tree ภาษาแอฟริกาน (Afrikaan) คือ คนผิวขาวชาวดัตช์และเยอรมัน ที่เป็นชนชาติแรกๆ ที่ได้เข้าไปครอบครองแอฟริกาตอนใต้ และบัญญัติภาษาใหม่เป็นภาษาผสมผสานระหว่างดัตช์ เยอรมัน และอังกฤษ โดยเรียกว่า Kremetarboom ภาษาซูลู (Zulu) เรียกว่า isismuku, umShimura, isiMusu ชาวเอธิโอเปีย เรียก Warka ชาวกานา โตโก และแอฟริกาตะวันตก เรียก Alangba และชาวไนจีเรียนิยมนำใบมาทำเป็นซุปที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า Kuka soup" ดร.อานนท์ กล่าวเพิ่มเติม



สรรพคุณและประโยชน์ด้านต่างๆ
ดร.อานนท์ เล่าว่า ต้นเบาบับ ไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอันไร้ค่า แต่ในทางกลับกันเป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่คนแอฟริกัน ทั้งนี้เนื่องจากทุกส่วนของต้นเบาบับสามารถนำมาใช้ประโยชน์ที่สำคัญอย่างมากแก่มนุษย์ได้ กล่าวคือ ใบ ก็ใช้รับประทานทั้งในรูปของผักสด หรือเป็นส่วนผสมที่สำคัญของอาหารประเภทต้ม (Stew) เพื่อบำรุงร่างกาย บำรุงผิว และยังมีสารป้องกันอนุมูลอิสระมากกว่าใบมะรุมหลายเท่า ส่วนเนื้อของผลที่มีลักษณะคล้ายเนื้อในมะขามเทศก็เป็นสีขาว มีรสเปรี้ยวคล้ายลูกหยี นำมาทำเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูงกว่าส้มถึง 6 เท่า และมีสรรพคุณทางยาสูงมาก จนทางตลาดร่วมยุโรปอนุญาตให้นำไปผสมกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้แก่มนุษย์ได้

ส่วนเมล็ดใช้รับประทานสดๆ หรือคั่วแทนกาแฟ หรือนำไปเพาะให้งอกเสียก่อนแล้วก็รับประทานเป็นผักสดเช่นเดียวกับถั่วงอก น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางเพื่อบำรุงผิว ทำให้ผิวเต่งตึง ไม่เหี่ยวย่นง่าย กระตุ้นให้เกิดผิวใหม่มาทดแทนโดยเร็ว และไม่ทำให้ต่อมตามรูขุมขนอุดตัน น้ำที่บีบออกมาจากรากและลำต้นก็มีคุณสมบัติเป็นยาชูกำลัง แก้ร้อนใน แก้โรคมาลาเรีย โรคกระเพาะ นอกจากนั้นแล้ว เปลือกรอบต้นจะมีเส้นใยที่มีความเหนียว สามารถถากเอาส่วนที่เป็นเปลือกรอบนอกของต้นนำมาทำเป็นเชือก ทอเสื่อ แห อวน หรือแม้นำไปทอเป็นผ้าหรือทำกระดาษได้ จะเห็นได้ว่าแม้จะได้ถากเอาเปลือกออกมาใช้แล้ว แต่ต้นเบาบับก็ยังไม่ตาย แต่มันกลับสร้างเปลือกขึ้นมาใหม่เพื่อขึ้นมาทดแทนส่วนเดิมที่ถากออกไป ซึ่งนับว่าเป็นความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของพืชชนิดนี้ ทั้งยังพบว่ามีการเจาะลำต้นของเบาบับให้เป็นโพรง เพื่อล่อให้ผึ้งแอฟริกัน (Apis mellifera) เข้ามาทำรัง เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวเอาน้ำผึ้งไปใช้

"อย่างไรก็ตาม ยังเป็นความเชื่อของหลายประเทศที่คล้ายกันว่า ต้นเบาบับ ถือว่าเป็นไม้มงคล ซึ่งจะเห็นได้จากการที่คนแอฟริกันมักนิยมสร้างบ้านอยู่ใกล้กับต้นเบาบับ หรือหากมีการย้ายบ้านไปปลูกที่ใหม่ก็จะนำเอาเมล็ดไปปลูกด้วย ทั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นไม้มงคลที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองจากศัตรูต่างๆ และหากดื่มน้ำจากต้นหรือรากแล้ว ก็จะทำให้มีลูกดก ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และที่สำคัญสำหรับในบางประเทศที่ยังมีการปกครองแบบกษัตริย์ประจำท้องถิ่นอยู่ เพราะกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรในหมู่บ้าน มีอำนาจในการกำหนดการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ที่ดิน ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ครั้นเมื่อกษัตริย์ที่ประจำท้องถิ่นสิ้นพระชนม์ลงก็จะได้นำร่างไร้วิญญาณไปฝังไว้ในต้นเบาบับที่ถูกเจาะใหม่ๆ จากนั้นอีกไม่นานรูนั้นก็จะถูกปิดลงด้วยเปลือกใหม่ของมันเอง ซึ่งนอกจากจะได้ฝังร่างของกษัตริย์แล้ว บุคคลสำคัญๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นก็ยังฝังไว้ในต้นเบาบับอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นความปรารถนาของคนรุ่นหลังที่ต้องการทำความดี เพื่อจะได้มีโอกาสฝังร่างตัวเองไว้กับบุคคลที่ยิ่งใหญ่ในอดีตเมื่อตนเสียชีวิตไปแล้ว" ดร.อานนท์ กล่าว

นอกจากนั้นแล้ว ต้นเบาบับ ยังเป็นแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ เพราะตัวมันเองเป็นไม้เนื้ออ่อน มันจะดูดน้ำเก็บเอาไว้ทุกส่วนของลำต้นไว้ได้มากในช่วงฤดูฝน บางต้นสามารถเก็บได้มากถึง 120,000 ลิตร ซึ่งในฤดูแล้งจัด น้ำจะหายาก ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กึ่งทะเลทรายก็จะอาศัยน้ำจากต้นเบาบับมาทดแทนได้

ส่วนทางด้านอาหารและยานั้น ดร.อานนท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สามารถนำทุกส่วนของต้นเบาบับไปใช้เป็นอาหาร ของใช้ และยาสำหรับมนุษย์ได้ และด้วยความช่วยเหลืองานทางด้านการวิจัยและทางวิชาการทั้งจากองค์การสหประชาชาติ อียู และอเมริกา ก็ได้ทำการศึกษาวิจัยทางด้านโภชนาการและการนำเอาส่วนต่างๆ ของเบาบับไปใช้ให้ถูกต้อง ทั้งอาหารและการผลิตเป็นยา หรือส่วนประกอบของยาก็ตาม หรือแม้กระทั่งยาสามัญที่ใช้กันมากที่สุดคือ พาราเซตามอล ก็นิยมใช้สารสกัดจากต้นเบาบับผสมเพื่อให้เป็นสารยึดเหนี่ยวและทำให้ตัวยาค่อยๆ สลายตัว ทั้งยังเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ในส่วนของนักเล่นต้นไม้ทั้งหลายก็นิยมนำต้นเบาบับมาปลูก เพราะมีลำต้นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่มีความสง่างามหรือยังนำมาทำเป็นบอนไซ เพราะสามารถจัดรูปร่างได้ง่าย และมีความทนทานมาก

"ที่สำคัญล่าสุดที่ได้สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกก็คือ ทางตลาดร่วมยุโรป (อียู) และอเมริกา ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากเบาบับเพื่อเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม อาหารเสริมได้ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก (ฟีฟ่า) ได้อนุมัติให้ใช้เครื่องดื่มที่มาจากต้นเบาบับไปเป็นเครื่องดื่มอย่างเป็นทางการในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะจัดขึ้นใน ปี 2553 ที่ประเทศแอฟริกา" ดร.อานนท์ กล่าวเพิ่ม



ดร.อานนท์ กับ ต้นเบาบับ ในประเทศไทย
จากการที่ ดร.อานนท์ ได้รับเชิญจากทางรัฐบาลของเซเนกัล ที่มี ฯพณฯ ท่านพจน์ อินทุวงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ โดยขอให้เขาศึกษาหาทางนำเอาต้นเบาบับไปทำเป็นวัสดุเพาะเห็ด ผลของการทดลองพบว่าสามารถใช้ทุกส่วนของต้นเบาบับมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแห้งด้วยแดดสัก 1-2 วัน แล้วนำมาบดให้ละเอียดใกล้เคียงขี้เลื้อย ก็สามารถนำเอาไปเป็นวัสดุเพาะเห็ดได้ทุกชนิดเป็นอย่างดี เช่น เห็ดหูหนู เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหลินจือ เห็ดหอม เป็นต้น

"ที่ประเทศไทยของเรา มีการเพาะเห็ดเป็นอาชีพกันมากมาย และกลายเป็นประเทศที่มีความสำเร็จในด้านนี้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก แต่วัสดุเพาะเห็ดในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราที่หายาก และมีราคาแพง ซึ่งในอนาคตก็จะต้องมีความเร่งรีบเพื่อปลูกต้นเบาบับมาใช้ทดแทนต่อไป และขณะนี้ทางศูนย์ไทยไบโอเทคได้รวบรวมสายพันธุ์ของต้นเบาบับจากทั่วทุกมุมโลกมาปลูกไว้ที่ประเทศไทยด้วยความสำเร็จแล้ว" ดร.อานนท์ กล่าว

ดร.อานนท์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ตลอดเวลาที่ได้ทำการศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดนี้ก็ได้นำมาทดลองเพาะปลูกในประเทศไทย และพบว่าเป็นต้นไม้ที่โตเร็วมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พันธุ์ A. digitata สามารถเจริญเติบโตในสภาพดินฟ้าอากาศของไทยได้สูงเกินกว่า 5 เมตร ภายในเวลาปีเดียว ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นโตกว่า 6 นิ้ว มีใบคล้ายใบนุ่น ประกอบด้วยใบเล็กๆคล้ายนิ้วมือ จำนวน 5-7 ใบ หากเมื่อปลูกได้ประมาณ 2-3 ปี ก็จะเริ่มมีดอกให้เห็น เป็นดอกเดี่ยวสีขาวห้อยลง แต่ยังไม่สมบูรณ์ที่จะเป็นฝัก แต่เมื่อปีที่ 4 ขึ้นไป ดอกก็จะมีความสมบูรณ์ขึ้น บางดอกเมื่อได้รับการผสมพันธุ์จากแมลงในเวลากลางคืนจะสามารถพัฒนาเป็นผลได้ ซึ่งผลจะมีลักษณะคล้ายผลนุ่นแต่มีขนาดใหญ่กว่า มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานคล้ายเนื้อลูกหยี ในผลหรือฝักจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 80-120 เมล็ด ฤดูแล้งใบจะร่วงหมดทั้งต้น และจะพักอยู่ประมาณ 4-6 เดือน ที่สำคัญถึงแม้จะถูกตัดให้มีรากติดหรือไม่ มันก็สามารถอยู่ได้นานหลายเดือนโดยไม่จำเป็นต้องลงดิน ซึ่งหากนำไปปลูกใหม่ก็จะเจริญเติบโตได้ต่อไป สำหรับในอนาคตจะรวบรวมเมล็ดพันธุ์จากต้นที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเพื่อนำมาเพาะเป็นทั้งกล้าและต้นที่มีขนาดแตกต่างกัน และส่วนหนึ่งก็จะใช้ในการปลูกเพื่อผลิตเมล็ดป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและสมุนไพรจากต้นเบาบับ ซึ่งหากท่านใดสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ด กล้าพันธุ์ หรือต้นเบาบับที่มีขนาดต่างๆ กัน สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร. (02) 908-3308 และ (086) 083-0202



ด้วยประโยชน์นานัปการ จึงตั้งชื่อภาษาไทย ว่า "ต้นมหาสมบัติ"
เมื่อ วันที่ 19 ตุลาคม 2552 พระเบญจพล ปญจพโล เจ้าอาวาสวัดเทพชัยมงคล อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และพระผู้ใหญ่ที่เคยผ่านการอบรมเห็ดจากศูนย์ไทยไบโอเทค จำนวน 2 รูป พร้อมคณะ ได้ขอเข้าเยี่ยมชมกิจการของศูนย์ ซึ่งในครั้งนั้นก็ได้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเพาะเห็ดและการผลิตเห็ดเป็นอาหารเสริม เพื่อสร้างภูมิต้านทานแก่ร่างกาย ในการนี้ได้พาคณะเข้าเยี่ยมชมสวนที่ปลูกต้นเบาบับทั้งที่ปลูกอยู่ในบริเวณศูนย์และที่วัดทวีการะอนันต์ ซึ่งเป็นวัดที่เคยนำไปถวายให้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และต้นเบาบับโตเร็วมาก โดยขณะนี้มีลำต้นประมาณ 2 คนโอบแล้ว ยังเกิดดอกออกผล นอกจากนั้น ยังได้พาไปเยี่ยมชมสวนที่ได้รวบรวมพันธุ์ต้นเบาบับที่ใหญ่ที่สุดของผม บนเนื้อที่ 18 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไม้แดง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีด้วย ต่อจากนั้นทางศูนย์จึงได้ถวายต้นเบาบับขนาดใหญ่ จำนวน 6 ต้น ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ให้แก่ทางวัด

"ผลของความร่วมมือทั้งจากทางศูนย์และทางวัดเทพชัยมงคลในครั้งนี้ ท่านเจ้าอาวาสได้เสนอว่า เมื่อต้นเบาบับมีสรรพคุณที่เป็นคุณต่อมนุษย์มากมายมหาศาล อีกทั้งยังสามารถนำไปปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีลำต้นสวยงามสะดุดตา และยังเป็นไม้ประดับและสมุนไพรที่มีประโยชน์ ดังนั้น ควรจะตั้งชื่อให้เป็นภาษาไทยว่า "ต้นมหาสมบัติ" ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย จึงได้กำหนดเอา วันที่ 19 ตุลาคม 2552 เป็นวันเริ่มต้นการเรียกชื่อ ต้นเบาบับ เป็นภาษาไทยว่า "ต้นมหาสมบัติ" ตั้งแต่นั้นมา" ดร.อานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©