-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 22 NOV ..... * มะยงชิด ครบวงจร
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 22 NOV ..... * มะยงชิด ครบวงจร
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 22 NOV ..... * มะยงชิด ครบวงจร

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11554

ตอบตอบ: 21/11/2021 4:31 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาประจำวัน 22 NOV ..... * มะยงชิด ครบวงจร ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 22 NOV
AM 594 เวลา 08.15-09.00 (จันทร์-ศุกร์)
***********************************************************

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟัง ที่เคารพ
กองทัพบก เพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตร และอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดย กองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

จุดยืนรายการ ....
* เกษตรแบบ อินทรีย์นำ - เคมีเสริม - ตามความเหมาะสม “.. ? ..”
* ปัจจัยพื้นฐาน ดิน - น้ำ - แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล - สารอาหาร - สายพันธุ์ - โรค
* หัวใจเกษตร ปุ๋ย - ยา - เทคนิค - เทคโนฯ - โอกาส - ตลาด - ต้นทุน
* พร้อมทำเองสอนวิธีทำ พร้อมซื้อสอนวิธีซื้อ
กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผู้สนับสนุนรายการ :
*** ยิบซั่มธรรมชาติ เฟอร์มิกซ์, ธันเดอร์พลัส ธันเดอร์แคล.... ออร์เดอร์จาก ออสเตรเลีย แคนนาดา อเมริกา +Mg. Zn. เคมี, .... ออร์เดอร์จากเกาหลี ให้ +Cu เคมี อย่างละ 5% .... ยิบซั่มเพื่อการเกษตรที่ทั่วโลกยอมรับ คือ ยิบซั่มจากประเทศไทย นี่แหละ

เช่นเคย รายการเรา....
*** 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม-ฝากข่าว-สายตรง ที่ (081) 913-4986, ....
*** FB วีระ ใจหนักแน่น, ....
*** อินเตอร์เน็ต เกษตรลุงคิม ดอทคอม .... เว้บนี้ ถาม 1 บรรทัด ตอบ 1 หน้า

ถนัดช่องทางไหนเลือกช่องทางนั้นตามอัธยาศัย นักรบไม่ว่ากัน THANK YOU ....

งานสัญจรปกติตามวงรอบ :
* วันเสาร์ของสัปดาห์แรกของเดือน ไปที่วัดพยัคฆาราม (วัดเสือ) ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สองของเดือน ไปที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อโหน่ง) สองพี่น้อง สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สามของเดือน ไปวัดท่าตำหนัก เพชรเกษม(ขาล่อง) แยกนครชัยศรี นครปฐม,
* วันเสาร์สัปดาห์ที่สี่ของเดือน ไปวัดส้มเกลี้ยง ใกล้โรงกรองประปามหาสวัสดิ์ ถ.วงแหวนตะวันตก
** ถึงจุดนี้ เกษตรกรที่ไหนอยากให้งานสัญจรไปลง ที่ไหนก็ได้ ติดต่อมา พูดคุยกันในรายละเอียด

- วันนี้วันจันทร์ที่ 22 พ.ย. เฉพาะวันจันทร์ ทุกวันจันทร์ สมช.สีสันชีวิตไทย “คุณล่า” (081) 944-8494 ไปที่ตลาดนัดวัดอมรญาติ ดำเนินสะดวก ราชบุรี พร้อมกับ ระเบิดเถิดเทิง. ไบโออิ. ไทเป. ยูเรก้า. ยาน็อค. กับหนังสือหัวใจเกษตรไทย มินิ ไปจำหน่าย...ด้วยประสบการณ์เกือบ 20 ปี พบเห็นทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวมามากมาย ใครสนใจใคร่รู้ก็ไปคุยกัน แล้วจะรู้ว่า อ้อออ เป็นอย่างนี้นี่เอง

- งานสีสันสัญจรวันเสาร์ วันที่ 27 พ.ย. ลุงคิม กับ อ.ณัฐ (086) 983-1966 สมุนไพรสำหรับคน ไปวัดส้มเกลี้ยง ใกล้โรงกรองประปามหาสวัสดิ์ ถ.วงแหวนตะวันตก กาญจนาภิเษก....


- งานสัญจรระยะนี้ต้องร่วมกันป้องกัน COVID หลีกเลี่ยงจับกลุ่ม คนมากๆ แนะนำ สมช. สั่งปุ๋ยลุงคิม สั่งยา อ.ณัฐ โทรติดต่อโดยตรงแล้วได้นัดหมายรับส่งของกัน รับของแล้วแยกกันเลย มีปัญหาอะไรโทรศัพท์คุยกันก็ได้....

*******************************************************
*******************************************************


จาก : (085) 419-72xx
ข้อความ : อากาศเริ่มหนาว เทคนิคบำรุงมะยงชิดทำอย่างไร
ตอบ :

บ่น :

ขั้นตอนการบริหารจัดการ (ปฏิบัติบำรุง) ไม้ผล :
ขั้นตอนที่ 1. เรียกใบอ่อน
ขั้นตอนที่ 2. สะสมตาดอก
ขั้นตอนที่ 3. ปรับ ซี/เอ็น เรโช
ขั้นตอนที่ 4. เปิดตาดอก
ขั้นตอนที่ 5. บำรุงดอก
ขั้นตอนที่ 6. บำรุงผลเล็ก
ขั้นตอนที่ 7. บำรุงผลกลาง
ขั้นตอนที่ 8. บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว

- คำถามนี้ สั้น กระทัดรัด ได้ใจความ ถามอะไรตอบเรื่องนั้น ถามสั้นตอบสั้น พูดน้อยต่อยมาก เผินๆก็ดูว่าดี บางครั้งก็ไม่ดี ประเด็นนี้ ระหว่างคนถามกับคนตอบ ต่างรู้ตัวเองดี

- ธรรมชาติไม่มีตัวเลข ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่มี “ประวัติ” ประวัติความสมบูรณ์สะสม
- ประวัติต้น (เน้นย้ำ....ประวัติ) สะสมสารอาหารสร้างออก สังกะสี. โบรอน. น้ำตาลทางด่วน ทั้งทางใบทางราก ทั้งช่วงมีผลและไม่มีผลบนต้น

- ปัจจัยพื้นฐาน บริหารจัดการสม่ำเสมอ
- เครื่องทุ่นแรงที่ดีที่สุด “สปริงเกอร์-หม้อปุ๋ย” ให้น้ำเดี่ยวๆ ให้น้ำ+ปุ๋ย ให้น้ำ+ปุ๋ย+ยาสมุนไพร ให้น้ำ+ปุ๋ย+ยาสมุนไพร+สารเคมียฆ่าแมลง.... 1 โซน 50 ต้น ใช้เวลา 3-5 นาที แรงงานคนเดียว


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย มะปราง-มะยง :
* เป็นไม้ผลประเภทกระทบอากาศหนาวแล้วออกดอกดี ดังนั้นจึงควรเปิดตาดอกด้วย 13-0-46(โปแตสเซียม ไนเตรท)ที่ชาวสวนลำไยภาคเหนือเรียกว่า ปุ๋ยหนาว เพราะฉีดพ่นแล้วใบเย็นทั้งต้น เป็นหลักแล้วเสริมด้วย 0-52-34, ฮอร์โมนไข่, และสาหร่ายทะเล

* นิสัยออกดอกแบบทยอย บางต้นออกดอกเป็นชุดถึง 3 ชุด เริ่มออกชุดแรกเดือน ธ.ค.ไปจนถึงชุดสุดท้ายเดือน ก.พ.โดยต้นสมบูรณ์ดีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากเปิดตาดอกแล้วดอกชุดแรกจะออกมาจำนวนมาก แล้วดอกชุดหลังๆจะเริ่มลดน้อยลงหรือให้ดอกดก 1 ชุดกับดอกน้อย 2 ชุด

* โดยนิสัย มะปราง. ออกดอกง่ายกว่ามะยง. ภายใต้สภาวะปัจจัยพื้นฐานเดียวกัน
* บำรุงสะสมตาดอกด้วย 0-39-39 กระทั้งต้นเกิดอาการอั้นตาดอกดีแล้วงดน้ำ เมื่อใบสลดแล้วระดมให้น้ำ ถ้าอุณหภูมิต่ำติดต่อกัน 5-7 วัน ก็สามารถออกดอกได้โดยไม่ต้องเปิดตาดอก ทั้งนี้ ก่อนบำรุงสะสมตาดอกต้นต้องสะสมความสมสบูรณ์สูง

* เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมตัวเอง หรือต่างดอกในต้นเดียวกันหรือต่างต้นได้
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) ผสมกัน เมื่อพัฒนาเป็นผลแล้วจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว

http://www.kasetloongkim.com/modules.php?name=Content&pa=showpage&pid=75



ข้อแตกต่างหรือคุณลักษณะประจำสายพันธุ์ :
มะปรางเปรี้ยว :

สีเหลืองสดใส บางต้นผลใหญ่บางต้นผลเล็กแต่เมล็ดใหญ่ทั้งคู่ รสเปรี้ยวจัดถึงขนาดกาคาบกินยังต้องวาง ผลดิบแก่จัดทำมะปรางดอง เมล็ดแก่ใช้เพาะพันธุ์

มะปรางหวาน :
สีเหลืองสดใส ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก เมื่อดิบแก่จัดรสเปรี้ยวมัน รับประทานกับน้ำปลาหวานได้หรือทำมะปรางดอง ผลแก่จัดเมื่อสุกรสหวานสนิท รับประทานแล้วระคายคอเนื่องจากยางใต้เปลือกเก็บเกี่ยวเมื่อผลแก่ 90-95% แล้วนำลงมาพักให้ลืมต้น 3-5 วันจึงจะได้รสชาติดีเยี่ยม

มะยงชิด :
สีเหลืองอมส้มสดใส ผลใหญ่เมล็ดเล็ก เมื่อดิบแก่จัดรสมันไม่เปรี้ยว รับประทานกับน้ำปลาหวานได้ ผลแก่จัดเมื่อสุกหวานสนิท เนื้อแน่นกรอบกว่ามะปราง รับประทานพร้อมเปลือกแล้วไม่ระคายคอเพราะใต้เปลือกไม่มียาง เก็บเกี่ยวเมื่อผลแก่จัด 100% แล้วนำมาพักให้ลืมต้น 2-3 วันจึงจะได้รสชาติดีเยี่ยม

มะยางห่าง :
ลักษณะทั่วไปเหมือนมะยงชิดต่างกันบ้างที่รสชาติมะยงห่างรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น

* ให้ผลผลิตปีละรุ่น ปัจจุบันยังไม่พบสายพันธุ์ทะวาย และยังไม่มีงานวิจัยเรื่องการใช้สารหรือฮอร์โมนใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูได้

* ต้นกล้าที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนหรือทาบ ถ้าตอนหรือทาบกิ่งที่มีอาการอั้นตาดอกดีหรือใกล้จะออกดอกอยู่แล้ว (ตอนหรือทาบในช่วงเดือน ธ.ค.) เมื่อรากเจริญดีจึงตัดแยกลงมาชำในถุงต่อ อนุบาลในเรือนเพาะชำ และให้สารอาหารทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง ธาตุเสริม บ้างอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ กิ่งพันธุ์ในถุงนั้นสามารถออกดอกแล้วพัฒนาจนเป็นผลได้ การมีผลโชว์ให้เห็นบนต้นพันธุ์เช่นนี้เป็นสิ่งยืนยันความเป็นพันธุ์แท้ได้อย่างดี....จากลักษณะทางธรรมชาติที่มะปราง-มะยงสามารถออกดอกติดผลในถุงได้กับลักษณะทางธรรมชาติที่เป็นพืชมีจำนวนรากน้อยนี้ หากปลูกมะปราง-มะยง ในกระถางเลียนแบบมะนาวในกระถางบ้างย่อมทำได้

* เป็นผลไม้ประเภทเก็บลงมาแล้วไม่ต้องบ่ม ดังนั้นจึงต้องเก็บเกี่ยวผลแก่จัดคาต้นจริงๆ เก็บลงมาแล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้ลืมต้นจะได้รสชาติดีขึ้น

* เป็นพืชรากน้อย รากฝอยหากินบริเวณผิวหน้าดินตื้นๆจึงควรพูนดินโคนต้นปีละ 2 ครั้งด้วยอินทรีย์วัตถุทั่วพื้นที่บริเวณทรงพุ่มจนล้ำออกนอกทรงพุ่ม จะช่วยให้เกิดรากฝอยชุดใหม่จำนวนมาก

สายพันธุ์
มะปรางเปรี้ยว :

โดยทั่วไปเรียกว่า กาวาง เช่น กาวางนครนายก. กาวางนนทบุรี.

มะปรางหวาน :
ท่าอิฐ. ลุงชิต. ลุงพล. ลุงประทีป. ทองใหญ่. สุวรรณบาท. ศรีมาลา. แม่อนงค์. มะปรางหวานพวง. มะปรางหวานยักษ์. ศรีมาลา. เพชรนวลทอง.

มะยงชิด :
ไข่ทอง.ทูลเกล้า.ท่าอิฐ. ชิดพูนศรี. ลุงฉิม. พระอาทิตย์. นางระเบียบ. ทูลถวาย. ลุงสอด. ลุงเสน่ห์. ดาวพระศุกร์. สวัสดี. พลอยสุวรรณ. ช่างเกตุ. ก้อนแก้ว.

มะยงห่าง :
ไม่มีชื่อเฉพาะของตัวเองแต่อาศัยชื่อของมะยงชิดแทน โดยมะยงชิดต้นไหนมีผลรสหวานอมเปรี้ยวก็จะเรียกชื่อพันธุ์ตามมะยงชิดต้นนั้นๆ

ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อ มะปราง-มะยง
1. เรียกใบอ่อน :
ทางใบ :

- ให้ ไบโออิ 25-5-5 + สารสมุนไพร 2 รอบ สลับ แคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน

- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
- ใส่ยิบซั่ม ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก (ขี้วัวขี้ไก่ไข่ แกลบดิบ แห้งเก่าข้ามปี) กระดูกป่น ครั้งที่ 1 ของรุ่นหรือปีการผลิต

- ใส่ 25-7-7 (1/2 กก.ต้นเล็ก, 1 กก.ต้นใหญ่) /ต้น /เดือน ละลายน้ำรดโคนต้น บริเวณทรงพุ่ม
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆ เต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 30-10-10 (2 ล.) /ไร่ /เดือน รดทั่วแปลง ทุกตารางนิ้ว

หมายเหตุ :
- เทคนิค ตัดแต่งกิ่งก่อนบำรุง กับ บำรุงก่อนตัดแต่กิ่ง เรื่องของเรื่องก็คือ ระหว่างที่มีลูกผลบนต้นนั้น ต้นต้องใช้พลังเลี้ยงลูกผลอย่างมาก ต้นจึงโทรม ลูกผลมากโทรมมาก ลูกผลน้อยโทรมน้อย ในเมื่อใบมีหน้าที่สังเคราะห์สารอาหาร ถ้าตัดใบทิ้งแล้วต้นจะเอาใบที่ไหนมาสังเคราะห์อาหาร เพราะฉะนั้น ให้บำรุงเรียกใบอ่อนก่อน 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 7 วัน เมื่อเห็นว่า ต้นมีอาการอั้นตายอดก็ให้ลงมือตัดแต่งกิ่ง แล้วบำรุงด้วยสูตร “เรียกใบอ่อน” ตามปกติ ต้นก็จะแตกใบอ่อนดี จำนวนมาก และพร้อมกันทั้งต้น

- เริ่มปฏิบัติทันทีหลังจากผลลูกสุดท้ายหลุดจากต้น และตัดแต่งกิ่ง
- หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50% ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม เพราะถ้าต้นแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นจะส่งผลเสียหลายอย่างตั้งแต่การเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ การสะสมอาหารเพื่อการออก การปรับ ซี/เอ็น เรโช การเปิดตาดอกซึ่งจะออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น และเมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลไม่พร้อมกันทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมาก .... แนวทาง แก้ไข คือ ต้องบำรุงเรียกใบอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้

- ใบอ่อนออกมาแล้วถ้าปล่อยตามธรรมชาติต้องใช้ระยะเวลา 30-45 วัน ถือว่าค่อนข้างนาน กรณีนี้ควรให้สารอาหารเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน จะช่วยให้ใบแก่เร็วขึ้น

- มะปราง-มะยงต้องการใบอ่อน 3 ชุด โดยมีวิธีทำดังนี้
วิธีที่ 1 : ถ้าต้นสมบูรณ์ดีมีการเตรียมดินและปรับปรุงบำรุงดินสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายๆปี แล้วหลังจากใบอ่อนชุดแรกเพสลาดแล้วให้เรียกใบอ่อนชุด 2 ต่อได้เลย ใบชุด 2นี้อาจจะออกไม่พร้อมกันทั้งต้นเหมือนชุดแรกแต่ก็จะออกห่างกันไม่เกิน 7-10 วัน และหลังจากใบอ่อนชุด 2 เพสลาดก็ให้เรียกใบอ่อนชุด 3 ต่อได้เลยอีกเช่นกัน การที่ใบอ่อนชุด 2 ออกไม่พร้อมกันนั้นจะส่งผลให้ใบอ่อนชุด 3 ออกไม่พร้อมกันทั้งอีกด้วย และสุดท้ายเมื่อใบอ่อนชุด3 เพสลาดจึงเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามปกติ

วิธีที่ 2 : หลังจากใบอ่อนชุดแรกแผ่กางแล้วเร่งให้เป็นใบแก่ ได้ใบแก่แล้วงดน้ำให้ใบสลดจนใบแก่โคนกิ่งร่วง 1-2 ใบให้ลงมือเรียกใบอ่อนชุด 2 เมื่อใบอ่อนชุด 2 แผ่กางให้เร่งเป็นใบแก่ เมื่อใบชุด 2 เป็นใบแก่แล้วงดน้ำให้ใบสลดจนใบแก่โคนกิ่งร่วง 1-2 ใบก็ให้ลงมือเรียกใบอ่อนชุด 3 และสุดท้ายเมื่อใบอ่อนชุด 3 เพสลาดจึงเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามปกติ

(วิธีที่ 1 ได้ผลดีกว่าวิธีที่ 2 เพราะต้นจะมีอาการโทรมน้อยกว่า....)

2. เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ :
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ 0-21-74 หรือ 0-39-39 + สารสมุนไพร 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ

- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน

หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อใบเริ่มแผ่กางรับแสงแดดได้
- วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สังเคราะห์อาหารได้ และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปได้เร็วขึ้น กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงปากกัดปากดูด

- สารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่มี ฟอสฟอรัส. และโปแตสเซียม. นอกจากช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่แล้วยังช่วยเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกได้ด้วย

- ต้นที่สะสมความสมบูรณ์เต็มที่มานานหลายปีติดต่อกัน หลังจากใบอ่อนเริ่มแผ่กางแล้วสามารถข้ามขั้นตอนการบำรุงไปสู่ขั้นตอนเปิดตาดอกได้เลย ทั้งนี้ ฟอสฟอรัส. กับโปแตสเซียม. ที่เคยให้ไว้เมื่อช่วงบำรุงผลแก่รุ่นที่แล้วนอกจากช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ได้แล้วยังช่วยเปิดตาดอกได้อีกด้วย

3. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก :
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ 0-42-56 + สารสมุนไพร 2 รอบ สลับ แคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน นาน 1-2 เดือน.... ในรอบเดือนหาโอกาสให้น้ำตาลทางด่วน (กลูโคส) 1 ครั้ง

- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
-ใส่ 8-24-24 (1/2 กก.ต้นเล็ก, 1 กก.ต้นใหญ่) /ต้น /เดือน ละลายน้ำรดโคนต้น บริเวณทรงพุ่ม

- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 8-24-24 (2 ล.) /เดือน รดทั่วแปลง ทุกตารางนิ้ว
- ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน

หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อใบเพสลาด
- แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2 เดือนโดยให้น้ำตาลทางด่วน (กลูโคส) รอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุง และให้รอบสองห่างจากรอบแรก 20-30 วัน

- ไม้ผลที่ผ่านการบำรุงมาอย่างดีแล้วต้องกระทบหนาวจึงออกดอกดีนั้น ช่วงขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ถ้ามีการให้ “กลูโคส + 0-52-34 หรือ 0-42-56 + สังกะสี” ฉีดพ่นพอเปียกใบ ช่วงเช้าแดดจัด 1-2 รอบให้รอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอก จากนั้น อีก 20 วัน ให้อีกเป็นรอบ 2 ก็จะช่วยให้ต้นเกิดอาการอั้นตาดอกและส่งผลให้เปิดตาดอกแล้วมีดอกออกมาดีอีกด้วย

- วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นได้สะสมสารอาหารทั้งกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.) และกลุ่มสร้างใบ
- บำรุงต้นไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งเกิดอาการอั้นตาดอก ไม่มีการแตกใบอ่อนออกมาอีก ถ้าต้นแตกใบอ่อนออกมาใหม่ก็จะต้องย้อนกลับไปบำรุงที่ขั้นตอนเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่อีกครั้งซึ่งทำให้เสียเวลา

- เพื่อให้ต้นได้มีการสะสมอาหารเพื่อการออดอกมากยิ่งขึ้น แนะนำให้ใส่มูลค้างคาว 100-200 กรัม/ต้นทรงพุ่ม 5 ม. ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นบริเวณชายพุ่มจะเป็นการดียิ่งขึ้น....ใช้มูลค้างคาวด้วยความระมัดระวังเพราะในมูลค้างคาวมีสารอาหารในการสร้างเมล็ด อาจมีผลกระทบช่วงบำรุงผลกลาง (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ) ได้

- ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช ต่อไปได้เลย แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช. ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง

4. ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนปรับ ซีเอ็น เรโช :
ก่อนเริ่มลงมือปรับ ซี/เอ็น เรโช (งดน้ำ) และก่อนลงมือเปิดตาดอกต้องแน่ใจว่าระหว่างที่กำลังบำรุงทั้งสองขั้นตอนนี้จะต้องไม่มีฝน เพราะถ้ามีฝนตกลงมาการงดน้ำก็ล้ม เหลว และดอกที่ออกมาจะได้รับความเสียหาย .... ถ้ารู้แน่ว่าช่วงงดน้ำและเปิดตาดอกถึงช่วงดอกออกมาแล้วจะมีฝนก็ให้ระงับการปรับ ซี/เอ็น เรโช และเปิดตาดอกไว้ก่อน ให้บำรุงต้นต่อไปอีกด้วยสูตรสะสมอาหารเพื่อการออกดอก จากนั้นอาจจะปรับแผนการบำรุงเพื่อทำให้ มะยง-มะปราง ออกล่าฤดูด้วยการเลื่อนเวลาเริ่มปรับ ซี/เอ็น เรโช และเปิดตาดอกให้ช้าออกไปเท่าที่สภาพภูมิ อากาศจะอำนวยก็ได้

5. ปรับ ซี/เอ็น เรโช :
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ 0-42-56 + สารสมุนไพร 1-2 รอบ สลับ แคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ ระวังอย่าให้โชกจนตกลงถึงพื้น

- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
- เปิดหน้าดินโคนต้นโดยนำอินทรีย์วัตถุคลุมโคนต้นออกให้แดดส่องได้ทั่วพื้นดินทรงพุ่ม
- งดให้น้ำเด็ดขาด กรณีสวนยกร่องน้ำหล่อจะต้องสูบน้ำออกให้หมด

หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อสังเกตเห็นความสมบูรณ์ของต้นชัดเจน
- ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นน้ำตาลทางด่วน (กลูโคส) เพิ่มอีก แต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสทางใบซ้ำอีก 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 30-45 วัน

- อากาศเย็น 20-25 องศา ซี. ติดต่อกันนาน 5-7 วัน จะช่วยให้การปรับ ซี/เอ็น เรโช หรือส่งผลให้ต้นเกิดอาการอั้นตาดอกดีขึ้น

- วัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่ม” ปริมาณสารอาหารกลุ่ม สร้างดอก-บำรุงผล (ซี.) และ "ลด" ปริมาณสารอาหาร กลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น (เอ็น.)

- ลักษณะอั้นตาดอกของ มะปราง-มะยง ให้สังเกตลักษณะตุ่มตาที่โคนใบปลายกิ่งถ้าตุ่มตามนกลมกว้าง แสดงว่าเป็นตุ่มตาดอก เมื่อเปิดตาดอกก็จะออกเป็นดอก แต่ถ้าตุ่มตาแหลมสูง แสดงว่าเป็นตุ่มตาใบ เมื่อเปิดตาดอกก็จะออกเป็นใบ

6. สำรวจความพร้อมของต้น ก่อนเปิดตาดอก :
เนื้อใบหนาเขียวเข้มส่องแดดไม่ทะลุ เส้นใบนูนเด่น หูใบอวบอ้วน ข้อใบสั้น ใบคู่สุดท้ายปลายกิ่งแก่จัด กิ่งช่วงปลายกลมเปราะหักง่าย มองจากภายนอกระยะไกลเห็นความสมบูรณ์ทางทรงพุ่มชัดเจน

7. ตรวจสอบสภาพอากาศ ก่อนเกิดตาดอก :
ก่อนลงมือเปิดตาดอกให้ตรวจสอบข่าวสภาพอากาศให้แน่ใจว่าในอีก 15-20 วัน ข้างหน้าหรือวันที่ช่อดอกเริ่มแทงออกมานั้น จะต้องไม่มีฝนตกหรือมีสภาพอากาศปิด (ครึ้มฟ้าครึ้มฝน) เพราะสภาพอากาศปิดหรือมีฝน ต้น มะปราง-มะยง จะเปิดตาดอกไม่ออก แม้จะอั้นตาดอกดีเพียงใดก็ตาม แต่กลับแทงใบอ่อนออกมาแทน กรณีนี้ให้ระงับการเปิดตาดอกไว้ก่อนแล้วบำรุงต้นด้วยสูตร “สะสมอาหารเพื่อการออกดอก” ต่อไปจนกว่าจะมั่นใจว่าในวันที่ช่อดอกออกมานั้นไม่มีฝนหรืออากาศเปิดแน่จึงลงมือเปิดตาดอก

8. เปิดตาดอก
ทางใบ :
สูตร 1 :
น้ำ 100 ล.+ ไธโอยูเรีย (500- 1,000 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดไพร 250 ซีซี.

สูตร 2 : น้ำ 100 ล. + 0-52-34 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + ไทเป 50 ซีซี. + สารสมุนไพร 250 ซีซี.

สูตร 3 : น้ำ 100 ล. + 13-0-46 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + ไทเป 50 ซีซี. + สารสมุนไพร 250 ซีซี.

สูตร 4 : น้ำ 100 ล. + 13-0-46 (1 กก.) + 0-52-34 (500 กรัม) + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + สารสมุนไพร 250 ซีซี.

สูตร 5 : น้ำ 100 ล. + ไทเป 100 ซีซี. + สารสมุน ไพร 250 ซีซี.

ทางราก :
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้นเหมือนช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช
- ให้ 8-24-24 (1/2 กก.ต้นเล็ก, 1 กก.ต้นใหญ่) /ต้น /เดือน
- ให้น้ำโชกทั่วทรงพุ่ม 2-3 วันติดต่อกัน

หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกทั่วทั้งต้น หรือทุกจุดที่สามารถออกดอกได้
- ในไทเปมี 0-52-34 แล้วส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนผสมปกติ แต่เนื่องจาก มะยง-มะปราง ต้องการธาตุอาหารตัวนี้ในอัตราเข้มข้นขึ้นในการเปิดตาดอก จึงแนะนำให้ใส่เพิ่ม 500 กรัม

- อาจจะพิจารณาใส่ 8-24-24 (100-200 กรัม) /ต้น อีก 1 รอบก็ได้ ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นพอหน้าดินชื้น เพื่อเสริมของเก่าที่ใส่เมื่อช่วงสะสมอาหารและช่วงที่ปรับ ซี/เอ็น เรโช

- เริ่มลงมือเปิดตาดอกหลังจากต้นได้กระทบอากาศหนาว 20-25 องศา 5-7 วันติดต่อ กัน (ช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช) จะช่วยให้ออกดอกดีกว่าอุณหภูมิสูง

- นิสัย มะปราง-มะยง จะออกดอกแบบทยอยออก 3 รุ่น ห่างกันรุ่นละ 10-15 วัน หลัง จากดอกรุ่นแรกออกมาแล้ว ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ

มะยง-มะปราง ที่ได้ผ่านการบำรุงด้วย "แม็กเนเซียม. สังกะสี. และแคลเซียม." อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ช่วงเรียกใบอ่อน เมื่อถึงช่วงสะสมตาดอกให้บำรุงด้วย 0-39-39 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม ทั้งทางใบและทางราก กระทั่งอุณหภูมิเริ่มเย็นลง (หนาว) ก็ให้ "งดน้ำ" จากนั้นประมาณ 10-15 วัน ให้สังเกตตุ่มตาที่โคนใบ ถ้าเป็นตุ่มตาดอกก็ให้ "ระดมให้น้ำ" ปกติ ไม่นาน มะปราง-มะยง ก็จะออกดอกได้ ทั้งๆที่ไม่ต้อง "เปิดตาดอก"หรืออาจจะเผื่อกันพลาดก็ให้เปิดตาดอกด้วยสูตรเปิดตาดอกเจือจาง 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก็ได้ .... ในต้นที่มีตุ่มตาทั้ง 2 แบบ ให้พิจารณาเทคนิค "ระดมให้น้ำทางราก" ร่วมกับ "เปิดตาดอก" ทางใบ โดยให้ปุ๋ยเปิดตาดอกทางใบแบบ "เจือจาง" 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ก็ได้

9. บำรุงดอก :
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ 15-45-15 (หน้าฝน) หรือ 0-52-34 (หน้าแล้ง) + สารสมุนไพร 2 รอบ สลับ แคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียก ระวังอย่าให้โชกจนลงถึงพื้น

- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น
- ให้ 8-24-24 (1/2 กก.ต้นเล็ก, 1 กก.ต้นใหญ่) /ต้น /เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน

หมายเหตุ :
- ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็น (ก้านดอกยาว 1-2 ซม.) หรือระยะดอกตูมเห็นชัดแน่ว่าเป็นช่อดอก บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. รอบที่ 1.... เมื่อดอกบานเป็นสีดอก หมากให้บำรุงรอบที่ 2 โดย เอ็นเอเอ. จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม การให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล

- ให้ เอ็นเอเอ. 20 ซีซี.+ น้ำ 20 ล. (พีเอช 6.0) ช่วงที่ดอกบาน (สีดอกหมาก) ได้ 1 ใน 4 ของดอกทั้งช่อ โดยการฉีดพ่นเป็นพื้นที่ 1 ใน 4 ของพื้นที่ทรงพุ่มทั้งต้น

- เทคนิคการฉีดพ่น ไม่ควรฉีดพ่นใส่ตรงๆที่ช่อดอก แต่ให้ฉีดพุ่งขึ้นเหนือยอดแล้วให้ละอองน้ำตกลงมาที่ช่อดอกเอง หรือฉีดพ่นด้านเหนือลม ฉีดแบบโฉบผ่านแล้วปล่อยให้ลมพัดละอองน้ำเข้าสู่ทรงพุ่มเอง กรณีนี้จะช่วยลดแรงกระแทกของเม็ดน้ำตอเกสรได้ดี ....

ข้อสังเกต สรีระของพืชส่วนที่รับสารอาหารทางใบ คือใบซึ่งมีคลอโรฟีลด์ เมื่อใบได้รับสารอาหารแล้วก็จะส่งไปยังดอกเองตามธรรมชาติ ในขณะที่ดอกไม่มีคลอโรฟีลด์ จึงไม่สามารถรับสาร อาหารได้

- เปิดตาดอกด้วยไธโอยูเรีย อาจทำให้ใบแก่ไหม้แล้วร่วงได้ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ... มะยง-มะปราง ตอบสนองต่อ 0-52-34 ในฮอร์โมนไข่ไทเปดีมาก หากต้นได้รับการ "สะสมอาหารเพื่อการออกดอก" อย่างเพียง สามารถออกดอกก่อนฤดูกาลได้ 15 วัน -1 เดือน

- ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน. 1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
- ฉีดพ่นสารอาหารทางใบเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดย ตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้

- บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น “ฮอร์โมนน้ำดำไบโออิ และ แคลเซียม โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้แบบเดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้

- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน

- ช่วงดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะเวลาบำรุงให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดินในทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก....มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก

- ช่วงออกดอกถ้าต้นได้รับน้ำมากเกินไป ดอกจะร่วงหรือต้นทิ้งดอก จึงควรให้น้ำพอหน้าดินชื้นเท่านั้น การที่จะรู้ว่าหน้าดินชื้นมากหรือน้อย พิสูจน์ได้โดยการเปิดอินทรีย์วัตถุคลุมโคนต้นดูก็จะรู้ได้.....กรณีที่ใส่ 8-24-24 แล้วรดน้ำตามเพื่อละลายปุ๋ยนั้น กว่าปุ๋ยจะละลายตามต้องการได้ ปริมาณน้ำก็อาจจะมาเกเกินไปก็ได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้ละลาย 8-24-24 ในน้ำให้เรียบร้อยเสียก่อน จากนั้นจึงนำน้ำละลายปุ๋ยแล้วไปรดที่โคนต้น วิธีนี้จะสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้

- ต้นที่ได้รับ แม็กเนเซียม (จากไบโออิ). โบรอน (จากแคลเซียม โบรอน). สม่ำเสมอแบบสะสม ถึงช่วงออกดอกแล้วเจอฝน ดอกจะแข็งแรงไม่ร่วงง่ายๆ หรือติดเป็นผลได้ดีเหมือนปกติ

ประสบการณ์ตรง :
ธรรมชาติการออกดอกและบำรุงดอก มะปราง-มะยงชิด :

เมื่อต้นมีความสมบูรณ์ครบทุกมิติ แม้จะเปิดตาดอกเพียงครั้งเดียว แต่เขาสามารถออกดอกได้ถึง 3 ชุด ใน 1 รุ่น ของปีการผลิต เมื่อดอกรุ่นแรกออกมาแล้ว ราว 15-20 วัน ดอกรุ่น 2 จะออกมา และหลังจากรุ่น 2 ออกมาแล้ว 15-20 วัน ดอกรุ่น 3 ก็จะออกตามมาอีกเมื่อดอกรุ่น 1 ออกมาแล้วให้บำรุงด้วย "สูตรบำรุงดอก" ตามปกติ ระหว่างบำรุงดอกรุ่น 1 อยู่นี้จะมีดอกรุ่น 2 และรุ่น 3 ตามออกมา ซึ่งดอกทั้งสองรุ่นหลังนี้เขาออกมาเองตามธรรมชาติจากความสมบูรณ์พร้อมของต้นโดยไม่ต้องเปิดตาดอก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สูตรปุ๋ยบำรุงดอกไม่ส่งผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการออกดอกรุ่นหลังนั่นเอง นอกจากปุ๋ยสูตรบำรุงดอกรุ่น 1 จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการออกดอกของดอกรุ่นหลังๆแล้ว ยังช่วยบำรุงดอกรุ่นหลังที่ออกตามมาได้อีกด้วย

สรุป :
ให้บำรุงดอกรุ่น 1 ด้วย "สูตรบำรุงดอก" ต่อไปแม้จะมีดอกรุ่น 2 และ 3 ออกตามมา....บำรุงจนกระทั่งดอกรุ่นสุดท้ายพัฒนาเป็นผล หรือกลีบดอกเริ่มร่วง

10. บำรุงผลเล็ก-กลาง :
ทางใบ :

- ให้ ไบโออิ + ยูเรก้า + สารสมุนไพร 2 รอบ สลับ แคลเซียม โบรอน 1 รอบ ห่างกันรอบละ 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ

- ในรอบ 1 เดือน หาโอกาสให้น้ำตาลทางด่วน (กลูโคส) 1 รอบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
- ใส่ยิบซั่ม ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก (ขี้วัวขี้ไก่ไข่ แกลบดิบ แห้งเก่าข้ามปี) กระดูกป่น ครั้งที่ 2 ของรุ่น หรือปีการผลิต

- ใส่ 21-7-14 (1/2 กก.ต้นเล็ก, 1 กก.ต้นใหญ่) /ต้น /เดือน ละลายน้ำรดโคนต้น บริเวณทรงพุ่ม

- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆ เต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิง 21-7-14 (2 ล.) /ไร่ /เดือน รดทั่วแปลง ทุกตารางนิ้ว

หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติหลังจากกลีบดอกร่วง หรือขนาดผลเท่าเมล็ดถั่วเขียว
- หาจังหวะให้น้ำตาลทางด่วน (กลูโคส) 1 ครั้ง เมื่ออายุผลแก่ได้ 50% นอกจากเป็นการบำรุงสร้างความสมบูรณ์แก่ต้น ส่งผลให้ผลผลิตรุ่นนี้ดี แล้วต่อไปถึงอนาคตผลผลิตรุ่นหน้าหรือรอบหน้าอีกด้วย

11. บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว :
ทางใบ :

- ให้ไบโออิ 0-21-74 + สารสมุนไพร 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน และให้รอบสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ด้วยการฉีดพ่นพอเปียกใบ

- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน

ทางราก :
- เปิดหน้าดินโคนต้น และนำอินทรีย์วัตถุออก
- ให้ 13-13-21 หรือ 8-24-24 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2 กก.ต้นเล็ก, 1 กก. ต้นใหญ่) /ต้น ละลายน้ำรดโคนต้น บริเวณทรงพุ่ม แล้วงดน้ำเด็ดขาด

หมายเหตุ :
- เริ่มให้ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน 1-2 รอบห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- การให้ 13-13-21 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลรุ่นเดียวกันทั้งต้น แต่หลังจากเก็บเกี่ยวผล ผลิตแล้วต้นมักโทรมจึงต้องเร่งบำรุงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของต้น (เรียกใบอ่อน) กลับคืนมาโดยเร็วแล้วจึงเข้าสู่วงรอบการบำรุงใหม่

- การให้ 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นในต้นเดียวกัน ซึ่งนอกจากหลัง จากเก็บเกี่ยวผลผลิตจนหมดต้นแล้วต้นไม่โทรม ช่วยบำรุงผลรุ่นหลังต่อและทำให้ต้นมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับให้ผลผลิตรุ่นปีต่อไปอีกด้วย

มะปราง-มะยง ที่ได้รับ "ธาตุรอง/ธาตุเสริม" อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงช่วงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว คุณภาพผลผลิตจะดีมากโดยไม่ต้องบำรุงด้วยสูตร "บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว" ทั้งทางรากและทางใบ โดยคุณภาพผลเนื้อแน่น รสหวานจัด สีดี กลิ่นดี เปลือกและเนื้อส่วนติดเปลือกกรอบ

อ้างอิง : หนังสือ “หัวใจเกษตรไท มินิ”, ไม้ผลแนวหน้า.....

----------------------------------------------------------------------



.



กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©