-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 30 มี.ค. * ข่าว ทีวี. พริกหัวเรือ
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 30 มี.ค. * ข่าว ทีวี. พริกหัวเรือ
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 30 มี.ค. * ข่าว ทีวี. พริกหัวเรือ

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11553

ตอบตอบ: 29/03/2022 5:32 pm    ชื่อกระทู้: ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 30 มี.ค. * ข่าว ทีวี. พริกหัวเรื ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตรประจำวัน 30 มี.ค.
AM 594 เวลา 08.15-09.00 (จันทร์-ศุกร์)
***********************************************************

สวัสดีครับ ท่านผู้ฟัง ที่เคารพ
กองทัพบก เพื่อประชาชน เสนอรายการสีสันชีวิตไทย วิทยุเพื่อการเกษตร และอาชีพเสริม
ผลิตรายการโดย กองกิจการพลเรือน หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ กองทัพบก

จุดยืนรายการ ....
* เกษตรแบบ อินทรีย์นำ - เคมีเสริม - ตามความเหมาะสม “.. ? ..”
* ปัจจัยพื้นฐาน ดิน - น้ำ - แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล - สารอาหาร - สายพันธุ์ - โรค
* หัวใจเกษตร ปุ๋ย - ยา - เทคนิค - เทคโนฯ - โอกาส - ตลาด - ต้นทุน
* พร้อมทำเองสอนวิธีทำ พร้อมซื้อสอนวิธีซื้อ
กระผม พันโทวีระ ใจหนักแน่น (คิม ซา กัสส์) เป็นผู้ดำเนินรายการ

เช่นเคย รายการเรา....
*** 1188 ฝากข้อความ-ฝากคำถาม-ฝากข่าว-สายตรง ที่ (081) 913-4986, ....
*** FB วีระ ใจหนักแน่น, ....
*** อินเตอร์เน็ต เกษตรลุงคิม ดอทคอม .... เว้บนี้ ถาม 1 บรรทัด ตอบ 1 หน้า

ถนัดช่องทางไหนเลือกช่องทางนั้นตามอัธยาศัย นักรบไม่ว่ากัน THANK YOU ....

รายการวิทยุ :
*** AM 594 ปตอ. เวลา 0815-0900 จันทร์-ศุกร์ คลื่นนี้ครอบคลุมพื้นที่ 40+ จังหวัด ***

งานสัญจรปกติตามวงรอบ :
* วันเสาร์ของสัปดาห์แรกของเดือน ..... ไปที่วัดพยัคฆาราม (วัดเสือ) ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สองของเดือน ... ไปที่วัดอัมพวัน (หลวงพ่อโหน่ง) สองพี่น้อง สุพรรณบุรี,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สามของเดือน ... ไปวัดท่าตำหนัก เพชรเกษม(ขาล่อง) แยกนครชัยศรี นครปฐม,
* วันเสาร์ของสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ...... ไปวัดส้มเกลี้ยง ใกล้โรงกรองประปามหาสวัสดิ์ ถ.วงแหวนตะวันตก
* เดือนที่มี 5 เสาร์ เสาร์ที่ 5 ของเดือน . ไปวัดทุ่งสะเดา แปลงยาว ฉะเชิงเทรา

** ถึงจุดนี้ เกษตรกรอยากให้งานสัญจรไปลง ที่ไหนก็ได้ ติดต่อมา พูดคุยกันในรายละเอียด

- งานสีสันสัญจรวันเสาร์ วันที่ 2 เม.ย. ลุงคิม กับ อ.ณัฐ (086) 983-1966 สมุนไพรสำหรับคน ไปวัดพยัคฆาราม (วัดเสือ) ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี ....งานนี้


.... ซื้อหนังสือหัวใจเกษตรไท มินิ 1 เล่ม แถม ไม้ผลแนวหน้า 1 เล่ม....
แจก ! .... กับดักแมลงวันทอง


****************************************************************
****************************************************************

***** เก็บตกงานสีสันสัญจร วัดส้มเกลี้ยง 26 มี.ค. *****

สมช. :
ลุงครับ ข่าว ทีวี. บอกว่าพริกหัวเรือส่งออกปีละหลายร้อยล้าน ผมจะปลูกบ้าง ลุงว่าดีไหมครับ
ลุงคิม : อืมมม ข่าว ทีวี. คือ ข่าว ทีวี. เป็นแค่ข่าว ข่าวนี้คงไม่เฉพาะพริกหัวเรือหรอก พริกอย่างอื่นก็ขายได้ แต่ไม่เป็นข่าวไงล่ะ

สมช. : ข่าวแบบนี้ก็เชื่อไม่ได้ซิครับ
ลุงคิม : ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกนะ เอาแค่รับทราบก็แล้วกัน แล้วที่ถามมานี่จะปลูกพริกใช่ไหม ?

สมช. : ใช่ครับ
ลุงคิม : พริกคือพริก ถ้าจะเลือกพริกต้องรู้จักพริก รู้เรื่องพริกรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล .... ก็อย่างที่บอกบ่อยๆ ปลูกขายต้องการตลาดนำการผลิต ขายที่ไหน ? ใครรับซื้อ ? อยู่ที่ไหน ? ชื่ออะไร ? เบอร์โทรอะไร ? ....ไปตลาดซี่ ตลาดเล็กตลาดใหญ่ ตลาดขายส่งขายปลีก ไปดูเลยว่า ที่นั่นเขาซื้อขายกันยังไง ซื้อขายอะไร พอใจก็เจรจาต้าอ้วยเอาเอง .... รู้จักเจรจาต้าอ้วยไหม ?

สมช. : ผมว่าจะไปตลาดศรีเมือง ราชบุรี อยากให้คุณล่า สมาชิกลุงเป็นคนแนะนำให้รู้จักคนรับซื้อ
ลุงคิม : เป๊ะเลย ลุงว่า คุณล่าอาจจะมีอะไรแนะนำชี้นำอีกหลายอย่างด้วยนะ อย่างเช่น พริก จะเอาพริกหัวเรือพันธุ์เดียวเหรอ พริกพันธุ์อื่น สารพัดพริกที่ไม่เป็นข่าวคนไม่กินเหรอ

สมช. : นั่นซีครับ
ลุงคิม : เอาเถอะ จะปลูกพริกอะไรก็ตามแต่ ขอให้ถือหลักเกษตร ผลผลิตเพิ่ม/ต้นทุนลด/อนาคตดี รับรองไม่พอส่งแน่

สมช. : ครับ ใช่ครับ ผลผลิตเพิ่มทั้งปริมาณคุณภาพ ต้นทุนลด ปุ๋ย ยา ไฟฟ้า ค่าแรง อนาคตดีไม่ใช้สารเคมียาฆ่าแมลง
ลุงคิม : เอางั้นนะ

สมช. : ครับ แล้วปุ๋ยกับยาล่ะครับ ผมขอสูตรลุงทั้งหมดเลยครับ
ลุงคิม : ไม่มีปัญหา พริกเป็นพืชกินผล อายุสั้นแค่ปีดียวปีกว่าๆ เตรียมดินเตรียมแปลง ขี้วัวขี้ไก่แกลบดิบ น้ำหมักระบิดเถิดเทิง หญ้าแห้งฟางแห้งคลุมหน้าดินหนาๆ อย่างที่เคยทำนั่นแหละ ปลูกลงไปแล้ว เริ่มโตแล้ว....

บำรุงทางใบให้สูตรสหประชาชาติ ให้ 2 รอบ สลับด้วยแคลเซียม โบรอน 1 รอบ ทุกครั้งที่ให้ทางใบ ถือโอกาส +ยาน็อค ไปด้วยเลย ....

ให้ทางดิน ระเบิดเถิดเทิง 21-7-14 สลับเดือนกับ 8-24-24 ....

เกมส์นี้ติดสปริงเกอร์หม้อปุ๋ยซี่ ให้น้ำ ให้ปุ๋ยทั้งทางใบทางดิน ให้ยาสมุนไพรบ่อยๆ ทุกวันยังได้ แรงงานคนเดียว สบายกว่ากันเยอะเลย

สมช. : ครับ เอาแน่ครับ เนื้อที่ปลูก 10 ไร่ แบ่งเป็นโซน ๆละ 1 ไร่ ใช้เวลา 5 นาที แรงงานคนเดียว 10 โซนใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว ประหยัดค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง น่าจะกำไรเพิ่มนะครับ
ลุงคิม : อย่าลืม เอาให้ได้ ผลผลิตเพิ่ม. ต้นทุนลด. อนาคตดี. เกรด เอ. จัมโบ้. โกอินเตอร์. ขึ้นห้าง. ออกนอกฤดู. ออกทั้งปี.

ตอบ :
จากการสํารวจข้อมูลของผู้รับซื้อพริกในเว็บไซต์ต่างๆ พบว่า มีการประกาศรับซื้อพริกกันอย่างหลากหลาย แต่เมื่อสรุปประเด็นออกมาในแต่ละสายพันธุ์แล้วพบว่า มีสายพันธุ์พริกยอดนิยมที่ตลาดต้องการมากมาย จึงขอจัดเรียงอันดับ 10 ชนิดสายพันธุ์ ดังนี้

พริกชี้ฟ้า :
พริกชี้ฟ้า มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันในแต่ละท้องถิ่น คือ พริกชี้ฟ้า พริกเดือยไก่ พริกบางช้าง พริกหนุ่ม (ภาคเหนือ) พริกมัน (กรุงเทพฯ) พริกแล้ง (เชียงใหม่) พริกซ่อม พริกขี้หนู พริกนก พริกแด้ (เหนือ) พริกขึ้นก ดีปลีขึ้นก (ใต้) ดีปลี (ปัตตานี) ปะแกว (นครราชสีมา) หมักเผ็ด พริกแกว (อีสาน) เป็นต้น

พริกชี้ฟ้า เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5-1.5 เมตร ใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามหรือออกสลับ รูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร ดอกสีขาว ออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกห้อยลง เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 5 อัน ผล รูปทรงกระบอกยาว ปลายเรียวแหลม มักโค้งงอ ยาว 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็น มันสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง มีเมล็ดแบนสีนวลจํานวนมาก

สายพันธุ์พริกชี้ฟ้า สามารถแบ่งได้ตามความต้องการตลาดเป็น 2 กลุ่ม คือ
- เพื่อใช้ประกอบอาหารสด พันธุ์ที่ปลูกมีทั้งพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ลูกผสมที่พัฒนาวิจัยโดยหน่วยงานราชการและเอกชน เช่น พันธุ์มันบางช้าง พันธุ์หนุ่มมอดินแดง

- เพื่อใช้แปรรูปทำซอสพริก เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเช่นกัน มีทั้งสายพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ลูกผสมที่พัฒนาวิจัยโดยหน่วยงาน เช่น พันธุ์หยกสวรรค์ พันธุ์หยกสยาม พันธุ์แม่ปิง 80 พันธุ์เรตฮอต TA100

พริกจินดา :
จัดอยู่ในกลุ่มพริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีความสำคัญในฐานะพืชเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน ใช้ทั้งในรูปพริกแห้ง พริกสด และซอสพริก มีแหล่งผลิตที่สําคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เป็นต้น

พริกจินดา ผลมีขนาดเล็กเรียวยาว ผลชี้ขึ้นเป็นส่วนมาก ผลดิบมีสีเขียว แก่ ผลสุกสีแดงเข้ม ใช้ได้ทั้งผลผลิตสดและแห้ง ผลที่ตากแห้งแล้วจะมีสีสวย กรอบ ตําให้แหลกง่าย มีจํานวนเมล็ดมาก น้ำหนักมาก ทนทานต่อโรค เจริญเติบโตดี และสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ทรงพุ่มกว้างประมาณ 50-60 เซนติเมตร ต้นสูง ประมาณ 45-60 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวหลังการย้ายกล้าประมาณ 90 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 60-90 วัน พันธุ์ที่ปลูกมีทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ลูกผสมที่พัฒนาวิจัยโดยหน่วยงานราชการและเอกชน

พริกยอดสน :
เป็นสายพันธุ์พริกที่มีความโดดเด่นในด้านการปลูกง่าย ทนแล้ง เนื้อพริกบาง เมล็ดพริกมาก เมื่อแห้งแล้วพริกมีสีแดงวาว เมื่อนําไปทําพริกป่นจะมีกลิ่นหอม รสชาติเผ็ดปานกลาง นอกจากนี้ ยังสามารถนําไปทําเป็นพริกแห้งได้อีกด้วย แหล่งปลูกที่สําคัญอยู่ในเขตจังหวัดภาคอีสาน

พริกพันธุ์ห้วยสีทน :
เป็นพริกที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์และคัดพันธุ์จากพริกจินดา ซึ่งมีลักษณะดังนี้ คือ ผลชี้ขึ้น ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงจัด ความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร เมื่อทําเป็นพริกแห้งจะให้พริกแห้งที่มีสีแดงเข้ม เป็นมัน เหยียดตรง ผิวผลเรียบ ก้านผลค่อนข้างยาว และรสเผ็ดจัด ทรงต้นมีการแตกกิ่งดี ประมาณ 3-5 กิ่ง ความสูงประมาณ 1.5 เซนติเมตร พร้อมกันนี้ยังมีการคัดพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พันธุ์พริกห้วยสีทน ศก.1 ให้ผลสุกสีแดงเข้ม พริกแห้งผิวเรียบมัน เก็บเกี่ยวผลสุก อายุ 120 วัน หลังปลูก ผลผลิต 1.0-1.5 ตัน/ไร่ ผลสด 1 กิโลกรัม ตากเป็นพริกแห้งได้ 0.43 กิโลกรัม

พริกขี้หนูสวน :
เป็นไม้พุ่มตั้งตรง สูงประมาณ 1-4 ฟุต ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากลําต้นแบบสลับ รูปร่างใบเป็นรูปไข่ ส่วนกว้างสุดอยู่ทางฐานใบและเรียวไปหาปลาย ผิวใบเรียบ ไม่มีขนดอก เป็นดอกเดี่ยว มีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ ดอกสีขาว 5 กลีบ มีจํานวนเกสรตัวผู้ 5 อัน ผลเป็นผลชนิดเบอร์รี่ แต่มีลักษณะยาวคล้ายผัก ผลจะตั้งชี้ขึ้น รูปร่างและขนาดของผลเปลี่ยนแปลงไปตามพันธุ์ ส่วนมากผลมีขนาดเล็กแต่มีรสเผ็ดมาก สภาพอากาศและอุณหภูมิในแต่ละท้องถิ่นจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเผ็ดร้อนของพริกได้ ปัจจุบัน นอกจากสายพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ยังมีการพัฒนาพันธุ์ลูกผสมต่างๆ ออกมาอย่างมากมาย

พริกกะเหรี่ยง :
เป็นสายพันธุ์พริกที่นิยมปลูกกันตามชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะเด่นคือ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนทานต่อสภาวะอากาศและโรคแมลง ลําต้นใหญ่ การแตกแขนงดี สามารถให้ผลผลิตติดต่อกัน เป็นระยะเวลานาน นิยมทําเป็นพริกตากแห้งได้ดี คุณภาพผลสด 3 กิโลกรัม ตากแห้งได้ 1-1.3 กิโลกรัม อีกทั้งมีความเผ็ดและหอม ซึ่งเป็นลักษณะประจําพันธุ์ของพริกกะเหรี่ยง จึงทําให้โรงงานทําซอสพริกนิยมนําไปปั่นผสมกับพริกหนุ่มเขียว เพื่อเพิ่มความเผ็ดและความหอม

พริกหยวก :
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum annuum var. longum Bail. อยู่ในตระกูล Solanaceae เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 1-2 ฟุต แตกกิ่งก้านมาก เป็นพืชฤดูเดียว ใบเป็นใบเดี่ยวมีรูปร่างคล้ายหัวใจ แต่ค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม บางครั้งอาจดูเหมือนรูปหอก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตรงซอกใบ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ ดอกมีสีขาว หรือขาวอมม่วง ผล เป็นผลชนิดเบอร์รี่ มีรูปร่างยาว ปลายเรียว ผลจะห้อยลง มีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นผลสีส้มหรือสีแดง มีกลิ่นฉุน พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ลูกผสมต่างๆ

ซูเปอร์ฮอต :
เป็นพริกขี้หนูพันธุ์ลูกผสมที่มีจุดเด่นตรงที่ผลผลิตต่อไร่สูง เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น คุณภาพของผลผลิตที่สม่ำเสมอ ตรงกับความต้องการของตลาด ลักษณะเด่นคือ ต้นสูงใหญ่ แตกแขนงดี ข้อถี่และต่อยอดดีมาก ขนาดผล ยาว 5-7 เซนติเมตร ติดผลดก ทนทานโรค ผลดิบสีเขียว-เขียวเข้ม ผลสุกสี แดง-แดงเข้ม อายุการเก็บเกี่ยว 60-65 วัน บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จํากัด ต่อยอดการพัฒนาสายพันธุ์พริกโดยได้พัฒนาพันธุ์พริกขี้หนูลูกผสม “ซูเปอร์ฮอต 2” มี คุณสมบัติคือ ความยาวผลที่เพิ่มขึ้นและยาวสม่ำเสมอตลอดอายุการเก็บเกี่ยว เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง สีแดงสด มีรสเผ็ดกว่า มีเนื้อผลหนาและแน่น จึงทําให้ผลพริกไม่เน่าง่าย ผลผลิตไม่เสียหายแม้ต้องขนส่งเป็นระยะทางไกลๆ และสามารถนําไปแปรรูปได้หลากหลาย เช่น พริกป่น พริกแกง น้ำพริก ซอสพริก น้ำจิ้มไก่ เป็นต้น

พริกเหลือง :
พริกเหลือง เป็นหนึ่งในกลุ่มของพริกใหญ่ และมีความต้องการบริโภคพริกเหลืองของคนไทยยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อนํามาประกอบอาหารจะได้สีและรสชาติที่มีความหอมเฉพาะตัว ในบางช่วง ราคาของพริกเหลืองที่มีวางขายในท้องตลาดจะสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบัน พันธุ์พริกเหลืองได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กันมากขึ้นทั้งในส่วนงานราชการและเอกชน

พริกอัคนีพิโรธ :
พริกอัคนีพิโรธ (หรือที่ชาวลพบุรีเรียกว่า “พริกพิโรธร้อยครก”) นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการพริกเมืองไทยที่มีการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมยาและเครื่องสําอาง เนื่องจากมีการนําสารเผ็ดของพริกที่ทําให้เกิดรสเผ็ดร้อนหรือแคปไซ

พริกขี้หนูหัวเรือ : พันธุ์ ศก.13 และ พันธุ์ ศก.25 พริกขี้หนูผลใหญ่ ขายสดได้ ทำพริกแห้งดี
พริก จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง และกลุ่มของพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปลูกในเชิงพาณิชย์นั้นจะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนูผลใหญ่ พริกขี้หนูผลเล็ก และ พริกหวาน เป็นต้น แหล่งปลูกพริกที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครปฐม และราชบุรี เป็นต้น

สำหรับสายพันธุ์พริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ “พริกหัวเรือ” ซึ่งเป็นพริกขี้หนูที่มีขนาดผลใหญ่ ความยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร มีความเผ็ดปานกลาง กลิ่นหอม เมื่อผลแก่มีสีแดงสด ใช้รับประทานสดและแปรรูปเป็นพริกแห้งได้เป็นอย่างดี จังหวัดที่ปลูกพริกหัวเรือมากที่สุดคือ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ พริกหัวเรือเป็นที่นิยมอย่างมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกพริกรวมกันมากกว่า 300,000 ไร่ แต่ปัจจุบันพบว่าการปลูกพริกหัวเรือของเกษตรกรได้ผลผลิตลดลง คุณภาพของผลผลิตด้อยลง เนื่องจากเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองหรือซื้อจากเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีการปรับปรุงพันธุ์หรือคัดเลือกพันธุ์ที่ถูกต้อง เหตุผลสำคัญที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษมีความจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือ เนื่องจากเป็นพริกประจำท้องถิ่นที่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า “พริกหัวเรือ” และมีการปลูกกันมานานแล้ว

ดังนั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2541 ทางศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร คัดเลือกพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือ เริ่มจากเก็บรวบรวมสายพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือจากหลายพื้นที่โดยคัดพันธุ์แบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ เปรียบเทียบพันธุ์ในปี พ.ศ. 2542-2543 และได้ทดสอบพันธุ์ในท้องถิ่น จำนวน 5 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2545 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตบุรีรัมย์, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 (ส่วนแยกพืชสวน จังหวัดขอนแก่น), ศูนย์วิจัยพืชสวนหนองคายและศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตนครพนม สุดท้าย ได้ทดสอบพันธุ์ในไร่ของเกษตรกร ระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 อีก 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น หนองคายและจังหวัดนครพนม เพื่อตรวจสอบความคงตัวและคุณลักษณะของพันธุ์ที่ได้ ผลจากการทดสอบได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด และได้ตั้งชื่อว่า “พริกขี้หนูหัวเรือสายพันธุ์ ศก.13” และ “พริกขี้หนูหัวเรือสายพันธุ์ ศก.25”

ลักษณะเด่นของพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ :
คือ “พันธุ์หัวเรือ ศก.13” เปรียบเทียบกับพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือที่เกษตรกรใช้ปลูกกันอยู่ในปัจจุบันนี้พบว่า ให้ผลผลิตสูงกว่า 14% (เกษตรกรที่นำพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ไปปลูกในเชิงพาณิชย์ พบว่า เมื่อมีการบำรุงรักษาที่ดีจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 2,500-3,200 กิโลกรัม ต่อไร่) ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ขนาดผลใหญ่ ผลยาว 7.8 เซนติเมตร ผลกว้าง 1.03 เซนติเมตร ขนาดของทรงพุ่มกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น ประมาณ 80-90 เซนติเมตรเท่านั้น มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต 90 วัน หลังย้ายปลูก ที่สำคัญเป็นพริกขี้หนูที่มีขนาดของผลสม่ำเสมอ มีความยาวของผลประมาณ 7-8 เซนติเมตร ใช้รับประทานสดและทำเป็นพริกแห้งได้ดีมาก

เมื่อนำไปปลูกในเชิงพาณิชย์มีการบำรุงรักษาเหมือนกับพริกขี้หนูหัวเรือที่เกษตรกรปลูกอยู่ทุกประการ และอีกสายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจมากอีกเช่นกันคือ “พริกขี้หนูหัวเรือ ศก.25” เป็นพริกที่ให้ผลผลิตพริกสดและผลผลิตพริกแห้งสูงกว่าสายพันธุ์ที่เกษตรกรใช้อยู่ ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ผลยาว 7.0 เซนติเมตร ผลกว้าง 0.95 เซนติเมตร ผลเล็กเรียวกว่าพันธุ์ ศก.13 เล็กน้อย ความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-90 เซนติเมตร การเก็บเกี่ยว ผลสุก 90 วันหลังปลูกเช่นกัน พริกขี้หนูพันธุ์นี้ปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิดที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่จะต้องมีแหล่งน้ำที่ดีตลอดทั้งปี

ในเรื่องของพันธุ์พริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีภาคเอกชนส่งเสริมการปลูกกันอยู่ในขณะนี้ ในส่วนของพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้คัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาใหม่นั้น เมื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกแล้ว ผลผลิตที่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชนถือได้ว่าไม่แตกต่างกัน แต่พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่จะได้เปรียบตรงที่เป็นพันธุ์ผสมเปิด เกษตรกรสามารถเก็บพันธุ์ไว้ขยายต่อได้ ในขณะที่พันธุ์ลูกผสมในภาคเอกชนจะต้องมีการซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่มีการปลูก

ความสำคัญของพริกขี้หนูหัวเรือ :
จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า เกษตรกรที่ปลูกพริกขี้หนูหัวเรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะใช้เพื่อการบริโภคสดและแปรรูปเป็นพริกแห้ง เนื่องจากเมื่อผลสุกและแก่จะมีสีแดงสดสวยมาก และทุกวันนี้พริกขี้หนูหัวเรือเป็นพริกขี้หนูที่มีการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นซอสพริก ตลาดต่างประเทศที่รับซื้อที่สำคัญคือ ฮ่องกง และสิงคโปร์

พริก ปลูกได้ดีตั้งแต่ระดับพื้นราบถึงพื้นที่ระดับความสูง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล :
ได้อธิบายถึงพื้นที่ของการปลูกพริกในบ้านเราว่า เป็นพืชที่ปลูกในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 600-1,500 มิลลิเมตร ต่อปี แต่ในระหว่างการเพาะปลูกถ้ามีฝนตกหนัก ต้นพริกและผลผลิตจะได้รับความเสียหาย สำหรับแหล่งปลูกที่มีสภาพอากาศร้อนและมีปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีน้อยจะต้องมีแหล่งน้ำสำรองพอเพียง สภาพดินปลูกพริกควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ระหว่าง 6.0-6.8 (pH = 6.0-6.Cool ในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แนะนำให้ปรับปรุงดินก่อนปลูก โดยใช้ปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่ รองพื้นที่ก่อนปลูก

พริกขี้หนูหัวเรือ ปลูกได้ตลอดทั้งปี :
ความจริงแล้วการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือจะปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทานหรือเขตพื้นที่ที่แหล่งน้ำพอเพียง ในฤดูหนาวจะเริ่มปลูกระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน และในฤดูร้อนจะปลูกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ในบางพื้นที่จะปลูกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พริกขี้หนูหัวเรือจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หลังจากปลูกลงดินไปแล้ว 3 เดือนครึ่ง ระยะเวลาของการเก็บเกี่ยวนานอย่างน้อย 2-3 เดือน และจะเก็บผลผลิตได้ราว 6-10 ครั้ง ต่อรุ่น หรือมากกว่านั้น ซึ่งก็ต้องขึ้นกับการดูแลรักษาของเกษตรกร

สำหรับเกษตรกรที่คิดจะปลูกพริกขี้หนูหัวเรือในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการคาดการณ์ว่า ตลาดจะเป็นอย่างไร จะต้องดูทิศทางของตลาดด้วย ดูว่าพริกที่ปลูกในพื้นที่อื่นจะเก็บผลผลิตหมดในช่วงเวลาใด เราจะต้องให้ผลผลิตออกช่วงนั้น อย่าให้ผลผลิตออกมาตรงกัน อย่างกรณีของ พริกขี้หนูหัวเรือที่ปลูกในพื้นที่ จังหวัดเลย ผลผลิตจะออกสู่ท้องตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนพฤศจิกายน จากข้อมูลราคาผลผลิตพบว่า ราคาของพริกขี้หนูหัวเรือมักจะมีราคาแพงที่สุดในช่วงปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงตรุษจีน หลังจากนั้น ราคาจะตกต่ำลงมา ซึ่งยกตัวอย่างที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร นำพริกหัวเรือพันธุ์ ศก.13 และ ศก.25 มาปลูกก็สามารถจำหน่ายได้ราคาดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-80 บาท ส่วนหนึ่งก็ได้คัดเลือกพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วย

การเตรียมแปลงเพาะกล้าพริกขี้หนูหัวเรือ :
ใช้แปลงเพาะที่มีขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 5-10 เมตร ก่อนที่จะเพาะ เกษตรกรควรจะขุดพลิกดินตากไว้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นย่อยดิน ใส่ปุ๋ยคอกและแกลบเผา อย่างละ 4-5 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบแล้วเพาะเมล็ด ในอัตรา 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริกขี้หนูหัวเรือ 1 ไร่ แนะนำให้โรยเมล็ดพริกเป็นแถวตามความกว้างของแปลง ลึก 0.5 เซนติเมตร แต่ละแถวห่างกัน 10 เซนติเมตร กลบดินบางๆ เสมอผิวดินเดิมแล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงบางๆ รดน้ำ และถ้าเป็นไปได้ควรจะราดสารป้องกันและกำจัดแมลง เช่น สารเซฟวิน-85 เพื่อป้องกันมดกัดกินเมล็ด เมื่อต้นกล้างอกขึ้นเหนือพื้นดินแล้วให้เก็บฟางข้าวออกให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตดี ยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรที่มีการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือโดยการย้ายกล้าจากแปลงเพาะไปปลูกในแปลงโดยตรง โดยไม่ย้ายกล้าลงถุงพลาสติก เกษตรกรผู้ปลูกควรจะโรยเมล็ดให้มีระยะห่างเพิ่มขึ้น แต่ละเมล็ดควรจะห่างกัน ประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ ควรพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

การปลูก ระยะปลูกที่เหมาะสมของ พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ :
แปลงที่จะปลูกพริกขี้หนูหัวเรือควรจะยกแปลงปลูกให้สูงขึ้น ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขุดหลุมให้ลึก ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ในอัตรา 3-4 ตัน ต่อไร่ หรือเมื่อคำนวณเป็นหลุมจะใช้ปุ๋ยคอก หลุมละ 1 กิโลกรัม สำหรับปุ๋ยเคมีแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 19-19-19 อัตรา 40-50 กิโลกรัม ต่อไร่ อายุต้นกล้าพริกขี้หนูหัวเรือที่จะย้ายลงปลูกควรมีอายุประมาณ 1 เดือน จะต้องรดน้ำให้ชุ่มหลังจากปลูกเสร็จ จุดสำคัญของแปลงปลูกพริกหัวเรือที่แนะนำว่า เกษตรกรจะต้องทำร่องระบายน้ำทุก 15 แถว และแถวปลูกพริกไม่ควรมีความยาวเกิน 15 เมตร เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา ในเรื่องของระยะปลูกถ้าเกษตรกรปลูกแบบแถวเดี่ยว ควรใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ใช้ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร แต่ถ้าปลูกเป็นแถวคู่ ใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถวคู่ 120 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร หรือในที่ดอนอาจจะเลือกใช้ระยะปลูก 50×50 เซนติเมตร ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้มากถึง 6,400 ต้น ต่อประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของเกษตรกร

แมลงศัตรูที่สำคัญของพริก :
ก็จะเหมือนกัน หลักๆ คือ เพลี้ยไฟ ดูดนํ้าเลี้ยง ยอด ใบอ่อน ตาดอก ทำให้ใบหงิก ห่อขึ้นด้านบน พื้นใบเป็นคลื่น เป็นรอยสีนํ้าตาล ใบและดอกร่วง หรือผลพริกผิดปกติ หากเป็นช่วงแห้งแล้งจะระบาดมาก หากเป็นการปลูกในแหล่งใหม่ แนะนำให้ใช้
คาร์บาริลฉีดพ่นสลับกับสารชนิดอื่น เช่น คาร์โบซัลแฟน ฟิโปรนิล พ่นทุก 7-10 วัน

ไรขาว ดูดนํ้าเลี้ยงทำให้ใบหงิกงอ ย่นเป็นคลื่น ขอบใบม้วนลง ใบเรียวแหลม ต้นแคระแกร็นใบร่วงตาย ป้องกันกำจัดโดยใช้พ่นด้วยสารไพริดาเบน หรือสไปโรมีซิเฟน พ่น 5-10 วัน ต่อครั้ง

การให้น้ำ การคลุมดิน และการเก็บเกี่ยว :
เน้นเรื่องการให้น้ำในการปลูกพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ว่าในระยะแรกเมื่อปลูกลงแปลงควรจะให้น้ำเป็นประจำทุกวัน เมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้นให้สังเกตความชื้นของดิน ถ้าดินมีสภาพการอุ้มน้ำที่ดีอาจจะเว้นระยะเวลาการให้น้ำได้หลายวัน

ในเรื่องของการใช้วัสดุคลุมดินยังมีความสำคัญ ที่หาง่ายที่สุดคือ ฟางข้าว เพื่อช่วยรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ ไม่ควรใช้แกลบดิบคลุม เนื่องจากแกลบดิบจะเกิดการสลายตัวและแย่งธาตุอาหารของพืชไปใช้ได้ มีผลทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง

การพรวนดิน เนื่องจากพริกจะแผ่รากกระจายอยู่ใกล้ผิวดิน จึงต้องระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนเพราะจะชะงักการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นพริกโค่นล้มง่าย การให้ปุ๋ยควรขุดหลุมตามบริเวณกว้างของใบพริกที่แผ่ไปถึง อย่าใส่ชิดโคนต้น ข้อควรระวังในการเก็บเกี่ยวพริกขี้หนูหัวเรือ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวครั้งแรกเมื่อต้นพริกมีอายุประมาณ 100-120 วัน พบว่ามีเกษตรกรบางรายนำผลผลิตพริกมากองสุมรวมกัน ซึ่งอาจจะทำให้เน่าเสียได้ ผลผลิตที่เก็บได้ควรจะเก็บไว้ในที่ร่ม

จากการที่ผู้เขียนได้สำรวจในแปลงปลูกพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ของเกษตรกรจะต้องยอมรับว่าเป็นพริกขี้หนูที่มีสภาพต้นเตี้ย ให้ผลผลิตเร็วและดกมาก ที่สำคัญคือ ขนาดของผลสม่ำเสมอกันทั้งแปลง มีเป็นโรคกุ้งแห้งของพริกต่ำ หากสนใจเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ ศก.13 และ ศก.25 ติดต่อได้ที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021

https://www.matichon.co.th/sme/news_402762

-----------------------------------------------------------------------------------


.



กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©