หน้า: 1/4
ส้ม (ทั่วไป)
(เขียวหวาน. เช้ง. โชกุน. โอ. แก้ว.)
เกร็ดความรู้เรื่องส้ม (ทุกสายพันธุ์)
* เป็นไม้ยืนต้นอายุยืนหลายสิบปี ทรงพุ่มขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ส้มโอ ส้มแก้ว และส้มเช้ง ที่ปลูกในประเทศไทยมีอายุยืนนานเกิน 10 ปี บางสวนถึง 20 ปียังให้ผลผลิตดี แต่ส้มเขียวหวานกลับมีอายุเพียง 4-6 ปีต้นตายแล้ว ในขณะที่ส้มเปลือกล่อนของอเมริกา (ฟลอริด้า ซันเครส ฟรีมองต์ ฯลฯ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับส้มเขียวหวานอายุนานถึง 100 ปี
* พืชตระกูลส้ม ได้แก่ ส้มเขียวหวาน. ส้มโชกุน. ส้มเช้ง (ส้มตรา-ส้มซ่า-ส้มกา). ส้มแก้ว. ส้มโอ. ส้มมือ. ส้มจี๊ด. ส้มทองเฮง. ส้มเปลือกหวาน. มะนาว. มะกรูด. มะสัง. มะขวิด. สามารถขยายพันธุ์แบบทาบกิ่ง ติดตาหรือเสียบยอดซึ่งกันและกันได้
* ส้มเขียวหวาน ส้มโชกุน เรียกว่ากลุ่ม ส้มเปลือกล่อน เนื่องมาจากคุณลักษณะเฉพาะตัวที่มีเปลือกบาง ล่อนหรือลอกออกจากเนื้อได้ง่ายซึ่งต่างจาก ส้มโอ ส้มเช้ง มะนาว มะกรูด
* ส้มสายพันธุ์ปลูกในกระถาง (ไม้ประดับ) ได้ผลผลิตดี ได้แก่ ส้มกิมจ๊อหรือกัมควอท(รับประทานได้ทั้งเปลือก). ส้มจี๊ด (คาราเมนติน). ส้มหลอด (ผลหวาน/ผลเปรี้ยว) และส้มใบด่าง.
* ส้มจุก. ของไทยเคยนิยมปลูกมากในเขตภาคใต้ มี 2 สายพันธุ์ คือ จุกใหญ่ และ ไม่มีจุก ปัจจุบันพอมีให้เห็นบ้าง
* เป็นพืชรากลอย ชอบหาอาหารบริเวณหน้าดินไม่ลึกนัก
* ชอบดินที่มีอินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม 3 ส่วน + มูลไก่ 1 ส่วน...
..หมักข้ามปี.)ยิบซั่มธรรมชาติ. กระดูกป่น. หญ้าคลุมผิวดินโคนต้น แต่ไม่ชอบยาฆ่าหญ้า-วัชพืช. สารเคมีกลุ่มทองแดง (ค็อปเปอร์ออกซี่คลอไรด์). รากแช่น้ำในสวนยกร่องน้ำหล่อ.
* ติดดอกออกผลได้ตลอดปีแบบไม่มีรุ่นหรือฤดูกาล เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมตัวเอง หรือต่างดอกในต้นเดียวกัน หรือต่างดอกต่างต้นได้
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
* ปรับปรุงบำรุงดินด้วยยิบ ปุ๋ยคอก ซั่มธรรมชาติและกระดูกป่น ต้นจะตอบสนองดีกว่าใช้ปูนมาร์ล โดโลไมท์ และหินภูเขาไฟ
* การใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่มีส่วนผสมของกากน้ำตาล (หมักใหม่) ค่าความเป็นความกรดสูง (พีเอช 3.0-4.0) นอกจากทำให้หยุดการเจริญเติบโตของผลแล้วยังเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อรามีลาโนสอีกด้วย
* การใช้สารกลุ่มคอปเปอร์ ออกซี่ คลอไรด์(กำจัดโรคแคงเคอร์)บ่อยๆ จนเกิดอาการสะสมในต้น สารคอปเปอร์ ออกซี คลอไรด์.(ทองแดง) จะขัดขวางการลำเลียงสารอาหารจากรากไปยังส่วนต่างๆของต้น เป็นเหตุให้ต้นไม่ได้รับสารอาหารที่ให้ทั้งทางรากและทางใบ
* โรคกรีนนิ่ง (ใบแก้ว). โรคตริสเตรซ่า (ยางไหล). เป็นเชื้อไวรัสที่ติดมากับสายพันธุ์ซึ่งแพร่หลายออกไปทั่วประเทศจนพูดได้ไม่มีต้นพันธุ์ไม้ผลตระกูลส้มใดปลอดโรคดังกล่าวนี้ และปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีใดๆ กำจัดให้หายขาดได้ แนวทางแก้ไข คือ บำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอเพื่อกดเชื้อไว้ไม่ให้อาการกำเริบ ถ้าต้นอ่อนแอหรือขาดความสมบูรณ์เมื่อใด อาการโรคจะปรากฏออกมาทันที
* ต้นพันธุ์เสียบยอดหรือติดตาบนตอมะสัง. มะขวิด. มะกรูด. ทรอยเยอร์ (ส้มสามใบ). คลีโอพัตรา. สวิงเกิ้ล. มักได้ผลดีเฉพาะช่วงต้นเล็กอายุยังน้อยเท่านั้น เมื่อต้นอายุมากขึ้นจะมีอาการโคนต้น (ตอเดิม) ใหญ่และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามอายุ เรียกว่า ตีนช้าง ในขณะที่ส่วนของพันธุ์ที่นำมาเสียบหรือติดตาจะเล็กหรือโตตามปกติ นอกจากนี้ระบบรากเคยดีเมื่อช่วงต้นเล็กก็จะเปลี่ยนเป็นเลวลง
* ต้นลำเปล้าเดี่ยวๆหรือมีกิ่งง่ามแรกสูงจากพื้น 50-80 ซม. ระบบลำเลียงน้ำเลี้ยงจากรากไปสู่ส่วนต่างๆของต้นดีกว่าต้นไม่มีลำเปล้าหรือกิ่งง่ามแรกอยู่ชิดพื้นดิน
* การให้สารรสหวาน (กลูโคส น้ำตาล) เป็นอาหารทางด่วนมากหรือบ่อยเกินไปจะทำให้เกิดอาการใบกร้านและชะงักการเจริญเติบโตได้
* สวนยกร่องน้ำหล่อควรลดระดับน้ำจากสันแปลงถึงผิวน้ำไม่น้อยกว่า 1-1.20 ม. เนื้อดินที่สันแปลงเหนียวแก้ไขด้วยการฉีดอัดจุลินทรีย์ประเภทไม่ต้องการอากาศลงไปลึกๆ จุลินทรีย์กลุ่มนี้ช่วยลดความเหนียวจัดของเนื้อดินได้ พร้อมกันนั้นให้ใช้หลักการล่อรากจากใต้ดินลึกให้ขึ้นมาอยู่ที่ผิวดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ รากเกิดใหม่ที่ผิวดินจะทำหน้าที่แทนรากส่วนที่อยู่ลึกใต้ดินได้
* เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นบนส่วนใดส่วนหนึ่งของต้น อย่ารีบด่วนตัดสินใจว่าเป็นเชื้อโรคส้มเพราะลักษณะบางอย่างอาจเกิดจากการขาดธาตุรอง ธาตุเสริม หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมก็ได้
* ช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโตแล้วได้รับอากาศหนาวเย็นสีเปลือกจะมีสีเหลืองเข้มหรือเหลืองอมแสด แต่หากได้รับอากาศร้อนสีเปลือกจะมีสีเขียวจัดหรือมีสีเหลืองเล็กน้อย
* ช่วงผลกำลังพัฒนา ถ้าต้นได้รับไนโตรเจนน้อยผลจะโตช้าหรือไม่โต แต่ถ้าช่วงเดือนสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยวต้นยังคงได้รับไนโตรเจนมาก จุก(เปลือกติดขั้ว)สูง เปลือกหนา รสเปรี้ยว กลิ่นไม่ดี
* ช่วงผลกำลังพัฒนา ถ้าต้นได้รับน้ำไม่เพียงพอหรือไม่สม่ำเสมอ ผลส้มจะมีเส้นรกมาก เปลือกหุ้มกลีบหนาและเหนียว รับประทานแล้วมีชานมาก
* ช่วงผลแก่จัดใกล้เก็บเกี่ยวแล้วได้มีฝนตกชุก และผลอายุแก่เกินมากตัวกุ้ง(เนื้อ) จะแข็งกระด้าง (ข้าวสาร) ล่อนกระจายไม่เกาะกัน แต่หากอายุยังไม่ถึงกำหนดตัวกุ้งเล็ก ฉ่ำน้ำ รกหนา รับประทานไม่อร่อย
* หลังเก็บเกี่ยวลงมาแล้วทิ้งไว้ 3 วัน – 1 เดือน (แล้วแต่ชนิด) ให้ลืมต้นจะได้รสชาติดีขึ้น
* เนื่องจากธรรมชาติของส้มเขียวหวานที่ต้นสมบูรณ์มากมักติดผลดกมาก จึงเป็นภาระที่ต้นต้องหาอาหารส่งไปเลี้ยงผลบนต้นจำนวนมาก ต้นจึงมักจะโทรม กรณีนี้แก้ไขด้วยการให้แม็กเนเซียม อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
* อัตราการใส่ปุ๋ยทางราก ½ กก./ต้น/เดือน สำหรับต้นที่ติดผลไม่ดกนัก และอัตราใส่ 1/2 กก./ต้น/15 วัน สำหรับต้นที่ติดผลดกมาก
* การให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพหมักจากปลาทะเล และมีส่วนสมของกากน้ำตาล อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องนานหลายๆเดือนจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต (ไม่แตกใบอ่อน) ดังนั้นการให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพจึงต้องให้อย่างระมัดระวังหรือต้องเฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตของต้นอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งอาจต้องหยุดหรือเว้นระยะห่างของการให้บ้าง
* การใช้มูลสัตว์ปีก (ไก่-นกกระทา) เพื่อเสริมการออกดอกนั้นไม่ควรใช้มากจนเกินจำเป็น โดยเฉพาะมูลค้างคาวไม่ควรใช้กับส้มเพราะจะทำให้มีเมล็ดมากและขนาดใหญ่
* ต้นทรงพุ่มรกทึบ ใบมาก จนแสงแดดผ่านรอดเข้าไปไม่ทั่วถึง บริเวณเปลือกลำต้นและกิ่งแก่จะมีราต่างๆ (หลายสี) เกาะจับ แก้ไขด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์หน่อกล้วยบ่อยๆควบคู่กับตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง ความร้อนจากแสงแดดจะช่วยกำจัดราจับเปลือกได้
การขยายพันธุ์
ตอน (ดีที่สุด). เสียบยอด. เพาะเมล็ด (กลายพันธุ์).
วิธีเลือกกิ่งพันธุ์
- เลือกกิ่งพันธุ์ที่ขยายพันธุ์ (ตอน) จากต้นแม่อายุ 10 ปีขึ้นไป สมบูรณ์ แข็งแรง ให้ผลดกสม่ำเสมอ คุณภาพดี ไม่มีโรคจนต้นโทรม ไม่มีอาการของโรคใบแก้วและยางไหลแสดงอย่างชัดเจน
- เป็นกิ่งกระโดงกลางอ่อนกลางแก่อวบอ้วนสมบูรณ์ เปลือกเริ่มแตกลายงา ลำเปล้าสูงตรง เมื่อวางถุงลงบนพื้นราบจะเห็นใบและกิ่งย่อยชี้ขึ้นปกติ
- กิ่งพันธุ์ที่ตอนมาจากกิ่งข้างทรงพุ่มชี้ขึ้นจะมีลักษณะเปลือกแก่ คดงอ ส่วนกิ่งพันธุ์ที่ตอนมาจากกิ่งข้างทรงพุ่มชี้ลงนอกจากจะมีลักษณะเปลือกแก่และคดงอแล้ว ขณะตั้งบนพื้นยังเห็นใบชี้ลงชัดเจน กิ่งตอนประเภทนี้เมื่อนำไปปลูกจะโตช้า โตขึ้นแล้วทรงพุ่มไม่สวย และให้ผลผลิตไม่ดี
- รากในถุงชำกลางอ่อนกลางแก่ สมบูรณ์ จำนวนมาก และยังไม่ม้วนวนในถุงชำ
เตรียมแปลง
1.เตรียมแหล่งน้ำ ช่องทางน้ำเข้า-ออกและเครื่องสูบน้ำที่ทำงานได้ทันทีตลอดฤดูกาลผลิต
2.ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ในและเหนือทรงพุ่มเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเนื้องาน การติดตั้งสปริงเกอร์เป็นการลงทุนครั้งเดียวแล้วใช้ได้นานนับหลายสิบปี ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องรดน้ำทุกชนิด
3.ตัดหญ้าหรือวัชพืชชิดติดผิวหน้าดินแล้วปล่อยเศษซากทิ้งคลุมหน้าดินไว้อย่างนั้น
หมายเหตุ :
แปลงปลูกมะพร้าวเก่า หลังจากรื้อต้นมะพร้าวออกหมดแล้ว ใส่ปุ๋ยคอก เศษซากพืช ยิบซั่มธรรมชาติ กระดูกป่น จากนั้นไถกลบลงดินยิ่งลึกยิ่งดี จะช่วยให้ต้นส้มเจริญเติบโตดี.....กรณีที่ไม่มีรากมะพร้าวแนะให้ใช้เศษพืชชนิดอื่น เช่น แกลบ กาบมะพร้าวสับ ทะลายปาล์มสับ เป็นต้น
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา...แห้งเก่าข้ามปี)ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- ตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
- ตัดทิ้งเพื่อไม่ให้แตกใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดีและเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยการออกดอกของส้มไม่จำเป็นต้องกระทบหนาวได้ระยะหนึ่ง แต่การตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ตัดแต่งราก :
- ส้มระยะที่ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่หากต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
ระยะปลูก
- ระยะปกติ 6 X 6 ม. หรือ 6 X 8 ม.
- ระยะชิด 4 X 4 ม. หรือ 4 X 6 ม.