ส้มสายน้ำผึ้งธนาธร
ในช่วง 2 ปีของวิกฤตเศรษฐกิจไทย กิจการไร่ส้มของบัณฑูร จิระวัฒนากูล ที่อ.ฝาง เชียงใหม่ กลับไม่รู้สึกรู้สากับอาการไข้ดังกล่าว
เขาเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานในกลุ่มกว่า 300 คน เฉลี่ย 20% ทุกปี สามารถจ่ายเงินกู้ PIBF ผ่านธนาคารกรุงไทยรวมกันไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าหนี้เงินกู้อีก 70 ล้านบาทจะใช้หมดในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน ในช่วงดังกล่าวเขาขยายพื้นที่ปลูกจากระดับ 1,000 ไร่มาเป็น 3,000 ไร่อีกทั้งตั้ง เป้าขยายไร่ส้มให้ได้ 4,000 ไร่ในปี 2545 นี้ให้ได้
บัญฑูรบอกว่า ในช่วงที่เขาถอยเรากลับสวนกระแสรุกและได้กำไรดี อาจ เพราะในช่วงดังกล่าวส้มยังเป็นสินค้าที่ได้ราคาดีมาก คู่แข่งน้อย บางครั้งราคาในประเทศดีกว่าราคาส่งออกด้วยซ้ำ
เป็นเวลา 40 กว่าปีแล้วที่ชายเชื้อสายจีนวัย 58 ปีผู้นี้อพยพจากเมืองหลวงมาปักหลักในเชียงใหม่ โดยเมื่อปีพ.ศ. 2500 เขาเป็นลูกจ้างของร้านค้าขาย ของชำในตลาดเชียงใหม่ ต่อมาก็ขายของเร่ เช่น ข้าวเกรียบกุ้ง ผลไม้ และส้ม ต่อมาถูกเกณฑ์ทหารเมื่อพ.ศ. 2506 พอ ปลดประจำการเขาก็จับอาชีพเร่ขายส้มจนมองเห็นช่องทางที่จะขยับเป็นเจ้าของ สวนเอง โดยเขาให้เหตุผลว่า ตอนที่ขาย ส้มนั้นเขาต้องมาเหมาสวนล่วงหน้าแต่เมื่อถึงเวลาราคาในตลาดดีเจ้าของสวนกลับไม่ขายตามสัญญา เขาจึงตัดสินใจแก้ ปัญหาโดยการทำสวนเอง
2519 เป็นปีที่เขาเริ่มกิจการสวนส้มในเนื้อที่ 10 ไร่ที่อ.ฝาง ซึ่งในเวลานั้น เป็นพื้นที่กันดารห่างจากเชียงใหม่ด้วยการเดินทางถึง 1 วันเต็ม และเปลี่ยนบทบาทจากผู้ค้าปลีกมาเป็นผู้ผลิตเต็มตัว
ต่อมามีการขยายพื้นที่การผลิตออกมาเรื่อยๆ คือ ปี 2520 เพิ่มอีก 6 ไร่ ปี 2521-23 เพิ่ม 60 ไร่ รวมแล้วมีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ทั้งหมดเป็นส้มเขียวหวาน เพื่อจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ
จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทเชียงใหม่ ธนาธร ในปี 2523 ด้วยทุน 1 ล้านบาท
จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตชาวสวนส้มของบัณฑูร เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2524-25 เมื่อเขาได้รับออร์เดอร์ส้มเขียว หวานเพื่อจำหน่ายในตลาดมาเลเซีย- สิงคโปร์ แม้จะเป็นการส่งออกในมูลค่าไม่สูงมากนักแต่ก็เป็นการเปิดโอกาสใหม่ ให้กับชาวสวนส้มขนาดเล็กๆ จากภาคเหนือคนนี้
ประสบการณ์ของการส่งออกส้มล็อตเล็กๆ ไปยังสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทำให้เขาได้รับคำแนะนำจากผู้นำเข้าเกี่ยว กับเรื่องแพ็กเกจจิ้ง โดยบอกว่า รูปแบบ ของการบรรจุกล่องของไทยล้าหลังมาก และสอนวิธีบรรจุกล่องแบบญี่ปุ่น ไต้หวัน ให้ นอกจากนั้น บัณฑูรยังพบว่าส้มเขียวหวานของไทยนั้นดีกว่าคู่แข่งเพียงราคา ขณะที่รสชาติหากต้องการขายในตลาดเอเชียจำเป็นต้องปรับปรุงในเรื่องของความหวาน "ในเอเชียต้องหวานนำมาก่อน ส่วนความเปรี้ยวเป็นตัวรอง"
บัณฑูร กลับมาขยายไร่ส้มของเขาเป็น 300 ไร่ในช่วงปี 2528-32 อันเป็น ผลพวงจากตลาดส่งออก ในช่วงดังกล่าว นี่เอง ที่ทำให้เขาค้นพบส้มสายพันธุ์ที่สร้าง ความสำเร็จอย่างสูงให้ในเวลาต่อมา นั่น คือ ส้มสายน้ำผึ้ง ซึ่งมีลักษณะของผิวและขนาดลูกคล้ายส้มเขียวหวาน แต่มีความหวานและหอมมากกว่า จนเป็นส้ม ที่มีรสชาติเฉพาะ
"เราได้เม็ดมาจากสิงคโปร์ ลองเอามาเพาะดู แรก ๆ ปลูกเพียง 8 ต้นได้ผลเก็บเกี่ยวเมื่อปี 2532-33 ผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ดีนัก แต่รสชาติแปลกออกไป มีพรรคพวกมาเที่ยวเยี่ยมชมที่สวนหลาย คนลองชิมแล้วชอบใจ แรกๆ ตั้งชื่อกันว่า ส้มน้ำอ้อย แต่มีเพื่อนจากระยองมาชิม แล้วตั้งให้เป็นส้มสายน้ำผึ้ง ก็ชอบใจชื่อนี้ "
บัณฑูรกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า เขาเป็นผู้ค้นพบส้มสายพันธุ์นี้เป็นไร่แรกใน ประเทศ และชื่อดังกล่าวที่ติดตลาดทั่วไป ก็มาจากไร่ของเขา
เขาตัดสินใจลงทุนกับส้มสายน้ำผึ้งเต็มตัว หลังจากทดลองตลาดและเชื่อ มั่นในรสชาติ โดยขยายแปลงปลูกสายพันธุ์นี้ถึง 4,000 กว่าต้นในอีก 5 ปีต่อมา และก็กลายเป็นผลผลิตเพื่อการส่งออกหลักของเชียงใหม่ธนาธร
และเพื่อประโยชน์ในการส่งออก จึงต้องสั่งซื้อเครื่องจักรล้างและคัดแยกส้มอัตโนมัติ เครื่องแรกของไทยมูลค่าประมาณ 9 ล้านบาทมารองรับ โดยเครื่อง ดังกล่าวทำงานตั้งแต่นำส้มมาล้าง ลงแปรงขัด อบแห้ง แวกซ์ อบอีกครั้ง ติดสติ๊กเกอร์ และแยกขนาดผล โดยประ-โยชน์ทางตรงก็คิอ ตลาดต่างประเทศเข้ม งวดในการตรวจสารตกค้างหากไม่ผ่านจะถูกตีกลับ
พ.ศ. 2537 ส้มสายน้ำผึ้งได้รับการยอมรับจากตลาด สิงคโปร์ ฮ่องกง ในนามของ Sweet Honey และ Specail Honey และเริ่มเพิ่มแบรนด์สินค้า "เชียงใหม่ธนาธร" หรือ "ธนาธร" เป็นสติ๊กเกอร์ติดที่ผลส้มในช่วงปี 2539
บัณฑูร เล่าว่า สติ๊กเกอร์ตรา "ธนาธร" นั้นเริ่มจากการส่งออกไปต่างประเทศ และสินค้าชนิดนี้ในกลุ่มบนส่วนใหญ่จะมีตราสินค้าเป็นสติ๊กเกอร์ติด ไว้เสมอ โดยที่ของตนนั้นเชื่อว่า ส้มสาย-น้ำผึ้ง ยี่ห้อ "ธนาธร" จะสร้างตลาดได้
ขณะที่ภายในประเทศนั้น การติดสติ๊กเกอร์เริ่มมาในช่วงเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านั้นส้มที่ขายปลีกเป็นผลจะไม่มีสติ๊กเกอร์ติด แต่เพราะว่าเขาต้องการรับประกันคุณภาพสินค้าให้ลูกค้าอีกทั้งต้องการตลาดที่จงรักภักดีกับสินค้าในระยะยาว
บัณฑูร ยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาสายพันธุ์ของสายน้ำผึ้งได้กระจายออก ทั่วไปบ้างก็เพราะเป็นพรรคพวกกันมาขอ แบ่งพันธุ์ไป ต่อมาจึงได้ขยายเป็นการขาย ต้นพันธุ์ให้กับสวนต่างๆ อย่างไรก็ตาม เทคนิคทางการเกษตรและสภาพภูมิประ-เทศ-อากาศ จะทำให้รสชาติของส้มในแต่ละที่แตกต่างกัน
" รสชาติของส้มจะเปลี่ยนไปเลย หากมีการปลูกผิดที่ หรือแม้แต่การบำรุง รักษา ให้สารอาหารบางตัวมากไปหรือน้อยไป หรืออาจจะให้ไม่ครบก็มีผลต่อส้มทั้งหมด "
ในช่วงปี 2539-40 ปริมาณส้มสายน้ำผึ้งที่ส่งออกมีประมาณ 40% ของผลผลิต ทั้งนี้เกิดจากความต้องการส้มในประเทศยังคงสูงอยู่ ในช่วงนั้นเองที่เริ่มมีผู้ผลิตรายใหม่ๆ เริ่มลงทุนทำไร่ส้มจำนวนมาก เฉพาะในอ.ฝาง เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่สูงในหุบเขาตอนเหนือเหมาะสมกับพืชชนิดดังกล่าว มีการลงทุน ทำสวนส้มรวมกันแล้วนับ 2 หมื่นไร่ในช่วงดังกล่าว ไม่นับรวมพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือจังหวัดอื่นๆ เช่น น่านและ ลำปาง
ธนาธรก็เป็นหนึ่งในกิจการที่ลงทุนขยายแปลงปลูกเช่นเดียวกัน !
เขาบอกว่า เหตุผลที่เขาต้องลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายสวนส้มจากระดับ 300 ไร่มาเป็น 3,000 ไร่ภายใน 3 ปีที่ผ่าน มาและจำเป็นต้องให้ได้ถึง 4,000 ไร่ในอีก 2 ปีข้างหน้าเพราะว่ามีการแข่งขันสูง ปริมาณส้มในตลาดจะมากขึ้น ซึ่งหาก ธนาธรไม่มีการเพิ่มผลผลิตก็จะถูกกลืนหายไปจากตลาดทันที
แนวคิดของเขาก็คือ "เรารู้ว่าอีกไม่กี่ปีส้มจะล้นตลาดและราคาจะตกลงมาแน่ๆ แต่ธนาธรก็ต้องขยายพื้นที่ เพื่อ จะยังสามารถต่อรองราคาในท้องตลาดได้ สิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อรองรับสภาพตลาด ก็คือ ต้องเร่งสร้างยี่ห้อสินค้าให้ติดตลาด ส่วนที่สำคัญที่สุดคือขยายตลาดส่งออกให้กว้างที่สุด เพื่อตลาดตัวนี้จะมารองรับ เป็นขาหยั่งในอนาคต"
เงินที่มาลงทุนซื้อที่ดิน ขยายสวน ส้ม และซื้อเครื่องจักรนั้น เป็นผลพวงมา จากการเปิดเสรีทางการเงิน เขาได้เงินกู้ PIBF จากต่างประเทศ ผ่านธนาคารกรุงไทยในพื้นที่ จำนวนประมาณ 120 ล้านบาท ในช่วงที่ตัดสินใจขยายกิจการเมื่อช่วงปี 2538 โดยมี"ผู้ใหญ่"ในวงการ เมืองคนหนึ่งช่วยค้ำประกันให้ เนื่องจาก ในระยะ 5 ปีดังกล่าว เชียงใหม่ธนาธร เริ่มขยับมาเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ใน เชียงใหม่ตอนบนแล้ว เล่ากันว่า บัณฑูรเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญคนหนึ่งให้กับนักการเมืองในพื้นที่ด้วย
"ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปหนัก มาก เพราะกู้มาที่ 25 บาท/ดอลลาร์ แต่เรา ก็สามารถใช้หนี้คืนได้โดยไม่บกพร่อง ใน 4 ปีที่ผ่านมาได้ใช้เงินกู้จำนวนดังกล่าวไปแล้วประมาณ 100 ล้านบาท ยังเหลือประมาณ 70 ล้านบาทคาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะใช้ได้หมด" บัณฑูร ยืนยัน
เขาบอกว่า การขยายพื้นที่ปลูกส้มนั้นต้องใช้การลงทุนเฉลี่ยไร่ละ 1.2 แสนบาท ไม่นับรวมมูลค่าที่ดิน โดยจะต้องก่อสร้างอาคาร รถฉีดยา ระบบน้ำและท่อ รถขนส่งในสวน แหล่งน้ำและ กิ่งพันธุ์ ล้วนแต่จำเป็นต้องลงทุนขยายให้ทันกับสภาพการณ์ที่คาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์ราคาตก แต่ในระหว่างนั้นเองที่ราคาส้มในตลาดสูงขึ้นมาถึงระดับ ก.ก. ละ 35-40 บาท จากต้นทุนเฉลี่ยของไร่ส้มเชียงใหม่ธนาธรที่ตกก.ก.ละ 18 บาท
แม้บัณฑูร จะไม่เปิดเผยยอดขาย โดยรวมแต่หากคำนวณคร่าว ๆ ถึงยอด ขายแต่ละปีของเขา ที่มีผลผลิตออกมาประมาณ 20,000- 25,000 ตัน ราคา เฉลี่ยตันละ 2 หมื่นบาท ยอดขายต่อปีของเชียงใหม่ธนาธร จะตกอยู่ที่ ประมาณ 400 ล้านบาททีเดียว !
ซึ่งราคาเฉลี่ยที่นำมาคำนวณนั้นตกก.ก.ละ 20 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาขายส่งจริงในช่วงที่ผ่านมาแตะระดับ ก.ก. ละ 30 บาทขึ้นไปด้วยซ้ำ
บัณฑูร ยืนยันว่า สถานะของ เชียงใหม่ธนาธร คือ ผู้ผลิตจะไม่ลงไปขายแข่งกับกลุ่มขายปลีกเด็ดขาดเพื่อรักษาเครือข่ายการตลาดของตนเอาไว้ หน้าที่สำคัญของผู้ผลิตก็คือ การลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพ นโยบายเวลานี้คือ พอใจในราคาขายส่งก.ก.ละ 18 บาท ซึ่ง คาดว่าในช่วงที่ราคาจะตกในอีก 2 ปีข้าง หน้า ราคาส้มก็จะคงไม่ตกถึงระดับ 18 บาท คาดว่าจะแตะที่ระดับ 20 บาทต้นๆ ซึ่งในเวลานั้นก็จะยังได้กำไรอยู่
"ผลผลิตของเราเฉลี่ยได้ 8-9 ตัน/ไร่ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ส่วนใหญ่ทำได้กันไร่ละประมาณ 5-6 ตันเท่านั้น เป็น เหตุผลว่าทำไมเราสามารถทำกำไรได้มาก ในช่วงที่ผ่านมา เทคนิคในการดูแลเกิดจากประสบการณ์เป็นหลัก เราทำมานาน กว่า 20 ปีจนรู้ว่า จะจัดการอย่างไรให้ต้นส้มสมบูรณ์ที่สุด เก็บเกี่ยวแล้วบำรุงรักษาอย่างไร เช่นปุ๋ยใช้มาหลายยี่ห้อ ที่สุดมาสรุปกับปุ๋ยตราม้าบิน ซึ่งมีราคาแพงหน่อยแต่ส่วนผสมมีคุณภาพ เช่นเดียวกับสารอาหารประเภทฮอร์โมน ที่เราสรุปบทเรียนจนลงตัวว่าใช้สารตัวใด "
บัณฑูร ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ วิจัยส้มภายในไร่ของเขา โดยมีเป้าหมาย จะวิจัย ใบ และ ดิน ให้สามารถรู้ได้ว่า ใบ หรือดินดังกล่าว มีส่วนผสมของธาตุอาหารใดบ้าง ขาดตัวใด เพื่อจะสามารถเติมหรือลดให้ถูกสัดส่วนกับความต้อง การและยังเป็นการลดต้นทุนในกรณีที่ใช้ สารอาหารมากเกินไปจนเสียเปล่า เขาบอกว่าปัจจุบันบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ในประเทศยังขาดอยู่มาก ขณะที่ต่างประเทศเมื่อนำใบ หรือ ดินเข้าเครื่องตรวจ ในแล็บ จะสามารถรู้ได้ภายในวันเดียวว่า ดิน กับ ใบ ขาดสารอาหารใด ทั้งนี้โครง การศูนย์วิจัยจะเริ่มก่อตั้งได้ภายในปี 2544 นี้ แต่เขาก็ยังบอกไม่ได้ว่า ต้องใช้เงินลงทุนกับโครงการดังกล่าวเท่าใด
ตลาดต่างประเทศ ทางรอดระยะยาว
แม้ว่าในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ยอด การส่งออกต่างประเทศของส้มธนาธร จะตกลงมาเมื่อเทียบกับช่วงปี 2537-39 โดยช่วงก่อนนี้มีสัดส่วนขายในต่างประเทศประมาณ 40% ของผลผลิตมาเหลือประมาณ 30% เพราะตลาดหลักที่ได้ราคาสูง คือในประเทศ แต่เชียงใหม่ ธนาธร มีนโยบายมุ่งเน้นการเปิดตลาดต่างประเทศให้กว้างที่สุด แม้จะต้องลงทุน หรือไม่ได้ราคาก็ตาม
บัณฑูร บอกว่า นอกจากตลาดที่ เคยส่งประจำคือ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเล-เซีย แล้วในช่วงปีที่ผ่านมาได้บุกเบิก ตลาดใหม่ไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และแคนาดา
"แคนาดา เพิ่งจะส่งไปต้นปีที่ผ่านมา 4 ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นสายน้ำผึ้ง ทั้งหมด และใช้วิธีเจาะตลาดเองโดยตรง กล่าวคือ เดินทางไปติดต่อยังผู้นำเข้าของที่นั่น นำตัวอย่างให้ดู แล้วก็ได้รับออร์เดอร์มา ส่วนอินโดนีเซีย ได้ยอดประมาณ 4-5 คอนเทนเนอร์/ปี ฟิลิปปินส์ ไม่มากนักเพราะเป็นตลาดใหม่ สาเหตุที่เจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่ม นี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตร้อนชื้น อายุของต้นส้มจะไม่ยืนและให้ผลผลิตไม่งาม เช่นที่เขตหุบเขาตอนเหนือของไทย "
วิธีการทำตลาดของเขาค่อนข้างจะเป็นเรื่องล้าสมัยในวงการค้าปัจจุบัน ชายวัยเกือบ 60 ปีที่เขาบอกว่ามีระดับการศึกษาประมาณ ป. 2 ต้องใช้ล่ามในการเดินทาง ได้รับข่าวสารข้อมูลว่าแหล่ง ที่รับซื้อที่ใดบ้างจากคนในวงการบอกกล่าวต่อกัน จึงนัดหมายและเดินทางไปเอง ส่วนรูปแบบธุรกรรมในการค้านั้น ใช้ ระบบเครดิตกับคู่ค้า โดยไม่ต้องมีเอกสาร สัญญา
"ส้มเดินทางไปถึงเขาแล้วยังต้อง ให้เวลาในการปล่อยสินค้าเมื่อถึงเวลาค่อยโอนเงินมาให้ หากเขาคิดจะเบี้ยวก็ ทำได้ แต่ในวงการนี้จะไม่เกิดปัญหา"
บัณฑูร เปิดเผยว่า ราคาที่เขาส่งออกนั้นได้กำไรน้อยกว่าขายภายในประ-เทศ แต่จำเป็นต้องมีวอลุ่มในการส่งเพื่อ ให้เกิดตลาดใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด รองรับตลาดภายในที่ลุ่มๆ ดอนๆ ในทางราคา ก็คือว่า ในช่วงนี้ก็คือ ช่วงของการ ต้องเร่งลงทุนบุกเบิกตลาดต่างประเทศให้ กว้างที่สุด รองรับอนาคตความผันผวนที่กำลังจะมาถึง
"ราคาไม่ดีก็ต้องส่งไป มันเป็นโอกาสในอนาคต ทั้ง ๆ ที่ถ้าเราขายในประเทศราคาจะดีกว่ากันมากก็ตาม"
เขาบอกว่า ตลาดโลกเวลานี้ ผู้ผลิตรายใหญ่คือ สเปน บราซิล อเมริกา โมร็อคโค ครอบครองอยู่ แต่ในส่วนของ ภาคพื้นเอเชีย มีคู่แข่งสำคัญเช่น ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ช่องว่างของตลาด เอเชียคือ รสชาติแบบเอเชีย นั่นคือ หวาน หอม นำความเปรี้ยว แตกต่างจากส้มจาก ตะวันตกที่มีรสเปรี้ยวนำ แต่มีผิวและสีสวยมาก ซึ่งตลาดดังกล่าวนี่เองที่เป็นโอกาสของส้มไทย เพียงแต่ระยะหลังส้ม ของจีนระบายออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น คู่แข่งระยะยาวของไทยน่าจะเป็นจีน ที่ส่งออกราคาต่ำมาก
ปัจจุบันพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ของเชียงใหม่ธนาธร มีส้มสายพันธุ์ ต่าง ๆ คือ ส้มเขียวหวานประมาณ 400 ไร่ ฟรีม็องต์ 300 ไร่ สายน้ำผึ้ง 1,000 กว่า ไร่ ส้มอื่น ๆ 100 กว่าไร่เพื่อเป็นแปลงทดลอง และส่วนสุดท้ายคือ ส้มสายพันธุ์ ใหม่ที่เพิ่งจะเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง ก็คือ สายพันธุ์ธนาธรนัมเบอร์วัน จำนวน 600 ไร่
บัณฑูร เปิดเผยว่า ส้มสายพันธุ์ใหม่ที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 2 ตัวนี้ ได้ซื้อพันธุ์มาจากต่างประเทศโดยขอซื้อเป็น ลิขสิทธิ์ในการผลิต ไม่มีอำนาจจำหน่ายกล้าพันธุ์ ขณะนี้ถือเป็นความลับของบริษัทที่จะไม่เปิดเผยรายละเอียด ทั้งนี้สามารถจะตั้งชื่อพันธุ์ว่า "ธนาธรนัม-เบอร์วัน" ได้ ลักษณะของผลจะมีกลิ่นคล้ายส้มเช้ง แต่มีกลีบคล้ายส้มเขียวหวาน ผลโต ผิวสีส้มหนาเหมาะกับการส่งออกเพราะทนต่อการขนส่ง บริษัทตั้งเป้าจะผลักดันส้มตัวใหม่ควบคู่กับ ส้มสายน้ำผึ้งต่อไปในปีหน้า และเน้นการ ส่งออกภายใต้ชื่อ ธนาธร หรือ TNT
ผลพวงจากราคาส้มค้าส่งที่สูงกว่าต้นทุนถึงก.ก. ละ 15-20 บาทโดยเฉลี่ยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การผลักดันสินค้า"แบรนด์ธนาธร" พันธุ์สายน้ำผึ้งที่ต้องใช้การลงทุนลดกำไรจำนวนมากในแต่ละปีเห็นผล บัณฑูร บอกว่า การเติบโตขยายตัวแบบสวนกระแสวิกฤตครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโชคช่วยที่ราคาส้มดีมากโดยเฉพาะตลาด ในประเทศ อีกทางหนึ่งเพื่อเป็นโอกาสให้วางฐานการตลาดในต่างประเทศ เพื่อ ให้เป้าหมายการส่งออกไม่น้อยกว่า 50% ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
ปัจจุบัน เครือข่ายธุรกิจของ เชียงใหม่ธนาธร ขยายตัวไปอย่างมากใน รอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยก่อนนี้มีกิจการรถ บรรทุกรับส่งสินค้าฝาง-กรุงเทพฯ รองรับ กิจการไร่ส้มของตนเอง ขยายมาสู่ กิจการ โรงโม่หิน และรับเหมาก่อสร้าง ในเขตพื้นที่ตอนเหนือของเชียงใหม่ บัณฑูร บอกว่าเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปีอย่างแน่นอน เพื่อมอบธุรกิจให้กับทายาท 2 คน คือ น.ส. ธนาธร จิระวัฒนากูล ซึ่ง เพิ่งจะจบการศึกษา MBA จากบอสตัน และลูกชาย บรรจง ที่กำลังศึกษาไฮสกูล เกรด 10 ที่ประเทศออสเตรเลีย
ซึ่งเวลานั้นรากฐานการตลาดในต่างประเทศ ก็จะสมบูรณ์เพียงพอรองรับสถานการณ์ผันผวนของตลาดส้มในประเทศ และกิจการส้มเชียงใหม่ธนาธร จะขยับมาเป็นผู้ผลิตเพื่อส่งออกเต็มตัวในเวลานั้น
โดยมีแบรนด์ และสายพันธุ์ของตนเองเป็นหัวหอก !
|