ค้นพบ “อนุพรหม” พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกที่กาญจนบุรี
นักวิจัยไทย ค้นพบ “ต้นอนุพรหม” พรรณไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก ในวงศ์กระดังงา ที่บ้านพุเย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 6 เมตร มีผลเดี่ยว ดอกสีขาวนวล
ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกันแถลงความสำเร็จในการค้นพบ “ต้นอนุพรหม” พรรณไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา โดย ดร.พีรศักดิ์ กล่าวว่า วว. โดย ดร.ปิยะ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย
ทั้งนี้ "ต้นอนุพรหม" ได้ค้นพบที่บริเวณพื้นที่ป่าของบ้านพุเย ตำบลชะแล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่า พื้นที่ของประเทศไทยยังมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และแสดงถึงศักยภาพของนักวิจัยไทยในการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยการค้นพบดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติที่ได้รับการยอมรับสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา “Systematic Botany” ฉบับที่ 29 (1) ค.ศ.2004 หน้า 42-49 แล้ว
“ตรงนี้สำคัญอย่างไร แสดงถึงประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก เป็นต้นทุนที่ดี หากรู้จักใช้สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น สมุนไพร จะสามารถสร้างความเข้มแข็ง การแข่งขันเงินทองให้กับประเทศได้อย่างดี โดยที่พบ 4 – 5 ต้น หน้าที่ของเราคือ เสาะหา ค้นพบ เก็บรักษาและบำรุงพันธุ์ พอหลังจากนี้จะดูขยายพันธุ์ ผลทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่แน่นอนกำลังใจด้านวิทยาศาสตร์มีผลแน่นอน เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ซึ่งพืชพรรณต่าง ๆ จะมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ถ้าตั้งเป็นชื่อคนไทย ชื่อไทย ๆ ได้มากเท่าใด จะแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทย” ดร.พีรศักดิ์ กล่าว และว่าสำหรับการค้นพบผลงานต่าง ๆ นั้น สามารถดูได้ในงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 14 – 18 มิถุนายนนี้ ที่เทคโนธานี คลองห้า
ทางด้าน ดร.ปิยะ กล่าวว่า สำหรับต้นอนุพรหม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Craibella phuyensis R.M.K. Saunders Y.C.F.Su & Chalermglin โดยชื่อตั้งตามนักพฤกษศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ใน ค.ศ. 1882 - 1933 และ “เฉลิมกลิ่น” คือผู้ค้นพบ ทั้งนี้ ต้นอนุพรหมถือเป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในสกุลอนุพรหม เป็นสกุลใหม่ในวงศ์กระดังงา ปัจจุบันประเทศไทยมีพรรณไม้วงศ์กระดังงา ประมาณ 43 สกุล มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 6 เมตร มีผลเดี่ยว ดอกสีขาวนวล แยกเพศเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย แต่อยู่ในต้นเดียวกัน กลีบดอกมี 2 ชั้น ชั้นนอกมีขนาดเล็ก ชั้นในมีขนาดใหญ่กว่า กลีบดอกหนา และประกบกันเป็นรูปกระเช้าห่อหุ้มเกสรเพศผู้และเพศเมียเอาไว้ ซึ่งขณะนี้ต้นอนุพรหม เป็นพืชถิ่นเดียวของไทยมีอยู่เฉพาะที่จังหวัดกาญจนบุรี มีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
ที่มา : วว.
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.