พัฒนาคุณภาพลูกเดือยส่งออก คุมเข้มหลังเก็บเกี่ยวเพื่ออาหารปลอดภัย
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า แม้ลูกเดือยของไทยจะเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดญี่ปุ่น โดยมีการส่งออกประมาณปี ละ 20,000 ตัน แต่ทว่ามีการตรวจพบสาร อัลฟลาทอกซิลในลูกเดือยที่ส่งออกอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้ และในอนาคตญี่ปุ่นอาจระงับการนำเข้า ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในระยะแรก จึงได้ประสานขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการให้เร่งมาขึ้นทะเบียนกับกรม มิฉะนั้นจะไม่อนุญาตให้ ส่งออกอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ ก่อนการส่งออกแต่ละครั้ง จะต้องนำลูกเดือยส่งห้องปฏิบัติการของภาครัฐหรือเอกชนที่ได้มาตรฐาน เพื่อตรวจสอบหาสารดังกล่าวก่อน เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดคู่ค้า ส่วนในระยะยาวจะมุ่งไปที่การให้ความรู้ทางด้านวิชาการแก่เกษตรกร ทั้งในด้านกระบวน การผลิต วิทยาการหลังเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพปลอดจากการปนเปื้อน
“ขณะนี้กรมกำลังทำวิจัยในด้านการพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว อาทิ วันเวลาการเก็บผลิตผลที่เหมาะสม การเก็บรักษา รวมทั้งการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะช่วงที่อยู่ภายในโกดัง ซึ่งจะกองทับซ้อนสูงอีกทั้งต้องเก็บไว้เป็นเวลานาน ส่งผลทำให้เกิดความชื้น จนทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย เพราะลูกเดือยเป็นพืชที่มีปริมาณน้ำมันสูง”
ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ส่งออก สามารถ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2561-2825 ทุกวันในเวลาราชการ.