ชา
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 30 ฟุต ทรงพุ่มเป็นรูปกรวย ต้นชาที่เพาะจากเมล็ดจะมีรากแก้ว และมีรากฝอยหาอาหาร รากชาจะมีการสะสมของคาร์โบไฮเดรตในรูปของแป้ง ซึ่งมีการแตกยอดใหม่ (flushing)ของต้นชา จะขึ้นกับการสำรองคาร์โบไฮเดรตในราก โดยทั่วไปต้นชาที่งอกจากเมล็ดจะมีรากหยั่งลึกในดินเฉลี่ยประมาณ 1.5 เมตร แต่อาจมีความยาวถึง 3 เมตร หรือมากกว่าก็ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของต้นชาและสภาพดิน
เป็นใบเดี่ยว การจัดเรียงตัวของใบเป็นแบบสลับ 1 ใบต่อ 1 ข้อ โดยพัฒนาจากตาที่มุมใบ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ปลายใบแหลม แผ่นหนา หน้าใบเป็นมัน ใบยาวประมาณ 7-30 เซนติเมตร ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ปากใบมีมากบริเวณใต้ใบ ชาอัสสัมจะมีใบสีอ่อนขนาดใหญ่ ส่วนชาจีน มีใบแคบ และสีค่อนข้างคล้ำกว่าชาอัสสัม จะเกิดออกมาจากตาระหว่างลำต้นกับใบมีทั้งดอกเดี่ยว และดอกช่อ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย เกสรตัวผู้มีสีเหลืองจำนวนมาก ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 8-10 มิลลิเมตร อับเกสรตัวผู้มี 2 ช่อง ก้านชูเกสรตัวเมียสั้น ยอดเกสรตัวเมียมี 3-5 lobe กลีบดอกชามีสีขาว จำนวน 5-8 กลีบ ลักษณะโค้งเว้าแบบ obovate กลีบเลี้ยงสีขาว 5-6 กลีบ เป็นแคปซูล (capsule) เปลือกหนาสีน้ำตาลอมเขียว แบ่งเป็น 3 ช่อง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.0 เซนติเมตร จากเริ่มติดผลถึงผลแก้ใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน เมื่อผลแก่เต็มที่ ผลจะแตกทำให้เมล็ดหล่นลงดินได้ มีรูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.6 เซนติเมตร มีใบเลี้ยง 2 ใบ อวบหนามีน้ำมันมากลักษณะหุ้มต้นอ่อนไว้ ผนังเมล็ดแข็งหนาเชื่อมติดกับเปลือกหุ้มเมล็ด (testa) ซึ่งมีลักษณะบางเหนียว เมล็ดจะสามารถงอกได้ใน 2-3 อาทิตย์ ต้นอ่อนตั้งตรง ในผล 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดชา 400-600 เมล็ด
ในการปลูกชาใหม่ ถ้าคัดเลือต้นชาที่ให้ผลผลิตสูงมาปลูก จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนน้อยลง ลักษณะต้นชาที่ดีควรที่จะคัดเลือกไว้ทำพันธุ์ มีดังนี้
เก็บผลผลิตได้ในช่วงระยะเวลาสั้น
แผ่กิ่งก้านสาขาดี
หลังจากการตัดแต่งกิ่งก้านมากและมีการเจริญเติบโต
มีจำนวนใบมาก
มีหน่อที่ชะงักการเจริญเติบโตน้อย
ข้อไม่สั้นเกินไป
ผลิดอกและให้ผลดี
ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด (Seed Propagation)
เป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทย เหมาะสำหรับขยายพันธุ์อัสสัมและชาเขมร ต้นชาที่เพาะจากเมล็ดจะมีระบบรากแข็งแรง มีรากแก้วสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่บนดอยของประเทศไทย โดยทั่วไปเมล็ดชาจะเริ่มแก่ราวปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม เมล็ดชาที่ใช้ทำพันธุ์ควรเก็บจากผลชาที่แก่จัดเต็มที่ มีสีน้ำตาล และยังติดบนต้น ไม่ควรเก็บเมล็ดชาที่ร่วงใต้ต้นเพื่อนำมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์...เก็บผลชาที่แก่เต็มที่จากต้นแล้วนำมากระเทาะเปลือกออกหรือนำมาใส่กระด้งหรือกระจาด ผึ้งทิ้งไว้ในที่ร่ม ผลชาจะแห้งและแตกเองภายใน 2-3 วัน จากนั้นรีบนำเมล็ดชาที่ได้ไปเพาะ เนื่องจากเมล็ดชามีปริมาณน้ำมันภายในเมล็ดสูง ทำให้มีอัตราการสูญเสียความงอกเร็วมากก่อนเพาะเมล็ดชาควรนำเมล็ดที่ได้แช่น้ำไว้ 12-24 ชั่วโมง เมล็ดชาที่เสียจะลอยน้ำให้ตัดทิ้งไว้ ใช้แต่เมล็ดที่จมน้ำนำไปเพาะต่อไป
วิธีการเพาะเมล็ด ที่นิยมปฏิบัติกันมี 2 วิธีคือ
บริเวณที่ใช้เป็นแปลงเพาะควรเป็นที่โล่งแจ้งแสงแดดส่องได้ทั่วถึง มีการระบายน้ำได้ดี เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขัง และสะดวกในการกำจัดวัชพืชในแปลงเพาะ ควรเตรียมแปลงเพาะให้มีขนาดกว้าง 1.0-1.5 เมตร เพื่อสะวดกในการทำงาน ความยาวของแปลงเพาะประมาณ 10 เมตร หรือตามขนาดของโรงเรือน โดยทำเป็นกระบะสูง 70 เซนติเมตร แล้วใส่ทรายหยาบลงในกระบะ ประมาณ 50 เซนติเมตร เกลี่ยให้เรียบแล้วโรยเมล็ดพันธุ์ลงไปเกลี่ยให้สม่ำเสมอ กดเมล็ดลงไปในทราย หรือวางเมล็ดเรียงเป็นแถว ระยะระหว่างแถวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างเมล็ดประมาณ 4 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยวัสดุเพาะหนาประมาณ 10 เซนติเมตร เกลี่ยให้เรียบ วัสดุเพาะอาจใช้ถ่านแกลบ ถ่านแกลบผสมทรายหรือถ่านแกลบผสมขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 ในช่วงเมล็ดยังไม่งอกควรคลุมแปลงเพาะด้วยตาข่ายพรางแสงประมาณ 70-80% เพราะช่วงนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้แสงมาก การให้น้ำควรให้เช้า-เย็นอย่างสม่ำเสมอทั่วแปลงเพาะแต่อย่าให้แฉะ และควรฉีดสารเคมีป้องกันเชื้อราสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลายเมล็ด หลังจากนั้นต้นชาจะงอก ภายใน 30 วัน
การดูแลรักษาต้นกล้าชา
ในช่วงที่เมล็ดชายังไม่งอกควรกำจัดวัชพืชในแปลงด้วย หลังจากเพาะเมล็ดไปแล้ว 30 วัน เมล็ดชาจะเริ่มงอกเป็นต้นชาโผล่พ้นวัสดุเพาะ จะมีใบจริง 2-3 ใบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กว้าง 1 เซนติเมตร ลักษณะใบที่ดีจะไม่งอหรือแหว่ง เมื่อต้นชาอายุ 40-45 วันหลังงอกก็สามารถย้ายต้นกล้าไปชำลงถุงได้ โดยก่อนการถอนชำ 1 สัปดาห์ ควรให้ปุ๋ยทางใบเพื่อเร่งการเจิรญเติบโต และจะทำให้ต้นกล้าชามีลำต้นแข็งแรง ฟื้นตัวง่าย การถอนย้ายกล้าชาให้ใช้มือจับโคนต้นกล้าชา ดึงขึ้นมาตรง ๆ เมื่อถอนออกมาแล้ว ให้ตัดรากชาออกให้เหลือประมาณ 2-3 นิ้ว วัดจากโคนต้นถึงปลายรากแล้วล้างให้สะอาดก่อนนำไปแช่น้ำยากันเชื้อรา แช่เฉพาะรากนาน 5 นาที จากนั้นนำกล้าชาขึ้นมาวางเรียงไว้ในตะกร้าพลาสติก เพื่อสะดวกต่อการขนย้างไปชำต่อไป)
การเตรียมถุงชำ
ให้ใช้ถุงพลาสติกดำขนาด 2 x 10 นิ้ว วัสดุเพาะชำให้ใช้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพอสมควร ไม่มีวัชพืชปะปน ย่อยดินให้ละเอียดผสมกับแกลบให้เข้ากันในอัตราส่วน ดิน:แกลบ = 5:1 เพื่อให้ดินร่วนระบายน้ำได้ง่าย จากนั้นกรอกดินให้เต็มถุง นำต้นกล้าชามาชำในถุง โดยใช้ไม้ปลายแหลมเจาะวัสดุเพาะชำในถุง เป็นรูลึกพอที่จะนำต้นกล้าชาใส่ลงไปได้ นำต้นกล้าชาใส่ลงในถุง ใช้ไม้หรือมือกดดินรอบโคนต้นกล้าในถุงชำให้แน่น เมื่อชำเสร็จแล้ว รดน้ำตามทันที ต้นกล้าที่ถอนไว้ควรชำลงถุงในเสร็จภายในวันเดียว หลังจากชำเสร็จแล้วให้ไปวางเป็นแปลงสี่เหลี่ยม โดยใช้ไม้กั้นเป็นแปลง ขนาดที่เหมาะสมคือกว้าง 1.2 ม. ยาว 10 ม. มีทางเดินระหว่างแปลง 50 ซม. เพื่อสะดวกในการดูแลและควรให้น้ำ 1-2 วัน/ครั้ง เพื่อไม่ให้วัสดุเพาะชำในถุงแห้ง ให้นำเมล็ดชาที่ดีมาทำการเพาะในถุงพลาสติกขนาด 6 x 8 นิ้ว ใส่ดินผสมไว้ พ ถุง วางเมล็ดไว้กลางถุงให้ด้านตาคว่ำลง กลบเมล็ดด้วยถ่านแกลบหรือทรายผสมขุยมะพร้าวหนาประมาณ 1 นิ้ว ควรมีการพรางแสงให้ร่มเงา และรดน้ำอย่างสม่ำเสมอในระหว่างเพาะ
การติดตาต่อกิ่ง
วิธีนี้สามารถใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรง และมีการเจริญเติบโตดี โดยการนำยอดพันธุ์ดีมาต่อกับต้นตอที่ได้จากเมล็ดชาป่า ซึ่งมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เมื่อรอยแผลประสานกันดีแล้วสามารถนำไปปลูกในแปลงได้ วิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาจากการปักชำ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการปักชำจะไม่มีรากแก้ว ดังนั้นในพื้นที่ที่ขาดน้ำ ขาดการชลประทาน การกระจายตัวของน้ำฝนไม่ดีพอในเขตภูเขาสูง จึงควรขยายพันธ์โดยวิธีการต่อกิ่ง เนื่องจากวิธีนี้จะทำให้ได้ต้นกล้าที่มีระบบรากแก้วแข็งแรง สามารถหาอาหารและน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ผลผลิตยอดชาสดที่เป็นชาพันธุ์ดี มีคุณภาพ
การเสียบยอด (Cleft grafting)
ให้ตัดต้นตอจากต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่มีลำต้นขนาดเท่าดินสอดำ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร อายุประมาณ 1-1.5 ปี โดยใช้กรรไกรหรือมีดตัดต้นตอเป็น stock สูงประมาณ 8-12 ซม. ผ่าต้นตอลึกประมาณ 1-1.5 นิ้ว จากนั้นตัดกิ่งพันธุ์ดีให้มีตาและใบติด 2-3 ตา แล้วเฉือนส่วนล่างของกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่ม เผยอรอยต่อบนต้นตอแล้วเสียบกิ่งพันธุ์ดีเข้าไปในส่วนของตัวตอที่ผ่า โดยให้ส่วนของกิ่งพันธุ์ที่เฉือนเป็นรูปลิ่มสนิทแน่นกับต้นตอที่ผ่า (ให้เนื้อเยื่อเจริญตรงกัน) พันด้วยผ้าพลาสติกและปิดรอยแผลให้มิดชิด แล้วใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่คลุมไว้ทำที่บังร่ม เพื่อป้องกันการเหี่ยวของกิ่งพันธุ์ดี และทำให้มีเปอร์เซ็นต์การเชื่อมติดดีขึ้น ต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีจะเชื่อมติดต่อกันภายใน 45 วัน
การต่อกิ่ง
โดยวิธีเสียบกิ่งสามารถใช้ในการเปลี่ยนพันธุ์ชาในแปลงปลูกต้นชาที่มีอายุหลายปีได้ด้วย โดยเสียบกิ่งพันธุ์ดี 2 กิ่งต่อต้นตอ 1 ต้น (bud grafting)
เตรียมต้นตอที่สมบูรณ์ไว้ กรีดเปลือกต้นตอเป็นรูปต้น T ขนาดความยาว 1.5 x 3 ซม.ให้ตำแหน่งรอยกรีดอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 10 ซม. เฉือนแผ่นตาพันธุ์ดี ขนาด 2 ซม.ออกมา แกะเนื้อไม้ออก แล้วนำไปสอดเข้ากับรอยกรีดของต้นตอที่เตรียมไว้เสร็จแล้วใช้พลาสติกใสพันปิดรอยแผลโดยพันจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ รอยแผลที่ติดตาจะเชื่อมติดกัน ตัดแต่งกิ่งที่อยู่เหนือตาขึ้นไป 2 ซม.ออก และส่วนเจริญของต้นตอที่อยู่ด้านล่างตาพันธุ์ดี ต้องตัดออกจนกว่ากิ่งพันธุ์ดีจะเจริญเป็นหน่อ
การขยายพันธุ์โดยการปักชำ
เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ให้ลักษณะตรงตามสายพันธุ์เดิม เหมาะสำหรับขยายพันธุ์ชาพันธุ์ดี หรือพันธุ์ชาจีน เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมีอัตราการกลายพันธุ์สูง
การปักชำ
นิยมใช้วิธีปักชำส่วนใบของชาที่มีแผ่นใบ ก้านใบ และกิ่ง หรือลำต้นที่มีส่วนของตาติดอยู่ด้วย กิ่งพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำมาขยายพันธุ์ต้องเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป โดยสังเกตดูจากสีของเปลือกควรมีสีน้ำตาลและเขียว กิ่งพันธุ์ชาที่ตัดยอดแล้วยังไม่สามารถนำไปปักชำในแปลงได้ แต่ต้องเก็บไว้ในที่เย็นชื้น เช่นถุงพลาสติกพรมน้ำ และควรปักชำภายใน 48 ชั่วโมง
แปลงเพาะชำ
ควรมีขนาดกว้าง 1-1.5 ม. วัสดุที่ใช้เพาะควรมี pH ไม่เกิน 5.5 และมีอินทรียวัตถุน้อย ซึ่งวัสดุเพาะชำที่เหมาะที่สุดคือดินแดง (red soil) วิธีการชำทำโดยตัดกิ่งชาให้มีความยาวประมาณ 6-8 ซม. มี 1 ใบ และ 1 ข้อสำหรับชาอัสสัม หรือ 1 ใบ 2 ข้อสำหรับชาจีน (ตัดใบออกครึ่งหนึ่ง เพื่อลดการคายน้ำ) แล้วนำมาจุ่มฮอร์โมนเร่งราก เพื่อช่วยให้การออกรากของกิ่งปักชำเร็วและสม่ำเสมอมากขึ้น นำกิ่งชำปักลงไปในแปลงเพาะหรือชำในถุงพลาสติก โดยให้ส่วนโคนของกิ่งเอียงทำมุม 45 องศากับพื้น จัดใบให้หันไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าชำในแปลงเพราะควรให้มีระยะห่างของกิ่งชำ 5 เซนติเมตร ระหว่งแถว 15 ซม. แล้วใช้พลาสติกใสคลุมแปลงเพาะชำเป็นอุโมงค์เพื่อช่วยเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ และลดการสูญเสียน้ำจากใบ เรือนเพาะชำควรมีความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 90% การให้น้ำควรให้ 2 วัน/ครั้ง หรือวันละครั้ง หลังชำประมาณ 3-4 เดือน หรือเมื่อกิ่งชำแตกยอดเกิดใบจริง 2-3 ใบแล้วให้นำถุงพาลสติกคลุมแปลงออก การชำในแปลงเพาะเมื่อรากเจริญดีแล้วก็สามารถแยกไปชำต่อในถุงพลาสติกขนาด 6 x 12 นิ้ว หรือเลี้ยงต่อไปใน แปลงเพาะจนอายุ 10-12 เดือน หรือจนต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายลงปลูกในแปลงได้ โดยช่วยก่อนย้ายลงปลูก 2 สัปดาห์ ควรตัดยอดเพื่อกระตุ้นให้ต้นแตกกิ่งข้าง ทำให้ทรงพุ่มแผ่ขยายออก
การปักชำ
สามารถใช้สารเร่งรากช่วย เช่น IBA ความเข้มข้น 1,500 ppm จะสามารถเพิ่มอัตราการออกรากของกิ่งปักชำได้ดี
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture)
เป็นวิธีการที่ทำให้ได้ต้นพันธุ์ครั้งละจำนวนมาก ปลอดโรค ตรงต่อพันธุ์และมีความสม่ำเสมอ สำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อชายังอยู่ในขั้นการศึกษา วิจัย พัฒนา คาดว่าในอนาคตจะเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้ขยายพันธุ์ชาพันธุ์ดีได้อย่างรวดเร็ว
ชาเจริญเติบโตได้ดีในภูมิประเทศต่างๆ กัน กล่าวคือ สามารถเจริญไพ้ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาว ยกเว้นในพื้นที่ที่มีน้ำแข็ง ซึ่งได้แก่บริเวณเส้นรุ้งที่ 29 องศาเหนือ กับเส้นแวงที่ 98 องศาตะวันออก
ปัจจัยสำคัญในการปลูกชา ควรพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้คือ
1.ดิน
ชาเจริญงอกงามในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี หน้าดินมีอินทรียวัตถุสูง มีธาตุไนโตรเจนมาก และดินเป็นกรดเล็กน้อย มี pH 4.5-6.0 ความลาดชันไม่ควรเกิน 45 องศา
2.ควมชื้นและปริมาณน้ำฝน
ควรเป็นพื้นทีที่มีฝนตกสม่ำเสมอตลอดปี ปริมาณน้ำฝนอย่างต่ำควรอยู่ในช่วง 40-50 นิ้ว/ปี หรือ 1,140-1,270 มิลลิเมตร/ปี เพราะถ้าขาดน้ำจะทำให้ต้นชาชะงักการเจริญเติบโต ไม่แตกยอด ทำให้ผลผลิตลดลง
3.อุณหภูมิ
ชาสามารถเจริญได้ในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน โดยชาจะเจริญเติบโตดีในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิค่อนข้างคงที่ตลอดปี ทำให้ชาสร้างยอดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง
4.ความสูง
จากระดับน้ำทะเล ชาที่ปลูกในพื้นที่สูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป มีอากาศเย็นจะทำให้ผลผลิตใบชาที่ได้มีคุณภาพสูง ใบชามีกลุ่นและรสชาติดี แต่ปริมาณผลผลิตที่ได้จะต่ำ ส่วนการปลูกชาในที่ต่ำ อากาศค่อนข้างร้อน ชาจะให้ผลผลิตสูงแต่คุณภาพต่ำกว่าชาที่ปลูกในที่สูง
ปัจจัยที่ไม่เหมาะสมในการปลูกชา
1. ดินชั้นล่างเป็นหิน หรือลูกรัง ทำให้ชาหยั่งรากลงไปหาอาหารได้ตื้น
2. เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการระบายน้ำ เป็นหนองบึง และที่ ๆ มีน้ำขัง
3. เป็นพื้นที่ที่มีหินปูนและมี pH เกินกว่า 6
4. พื้นที่มีความลาดชันมาก
5. ดินที่มีอิทนีย์วัตถุน้อย และไม่สามาถเก็บความชุ่มชื้นได้
6. บริเวณที่มีลมแรง จนไม่สามารถทำที่บังลมได้
7. เป็นแหล่งที่มีไส้เดือนฝอย
การเตรียมดิน
ควรทำการไถพลินหน้าดินและไถพรวนเพื่อปรับโครงสร้างดินและกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 2 ครั้งก่อนปลูก ถ้าปลูกในพื้นที่ลาดชันตั้งแต่ 5 องศาขึ้นไป ต้องวางแนวปลูกตามขั้นบันได เพื่อลดการพังทะลายของดิน และให้มีความกว้างของขั้นบันไดอย่างน้อย 1 ม.
ระยะปลูก
ขึ้นอยู่กับสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยยึดหลักดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง
เตรียมหลุมปลูก
หลุมปลูกควรมีขนาด กว้างxยาวxลึก ประมาณ 50 x 50 x 50 หรือ 50 x 50 x 75 หรือ 25 x 25 x 50 ซม. เนื่องจากต้นชาสามารถแทงรากลงไปได้ลึกและรวดเร็ว
การปลูกชา
ช่วงเวลาที่เหมาะสมควรเป็นช่วงต้นฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ภายหลังจากมีฝนตก 2-3 ครั้ง เพื่อให้ดินมีความชื้นเพียงพอ ต้นกล้าที่จะนำมาปลูก ถ้าปลูกจากต้นเพาะเมล็ด ควรมีอายุ 18-24 เดือน ต้นปักชำควรมีอายุ 18 เดือน ควรจะลดการให้น้ำและพรางแสง เพื่อกระตุ้นให้กิ่งชาพร้อมสำหรับการย้ายปลูก ก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยดินปสมปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 40-50 กรัม เมื่อนำต้นชาลงปลูกให้ลึกเท่ากับระดับที่เคยอยู่ในถุงชำหรือแปลงเพาะชำ จากนั้นกลบให้แน่นด้วยดินชั้นล่างผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้ว อัตรา 1-2 กิโลกรัม กดดินให้แน่นแล้วรีบรดน้ำทันที ควรรักษาความชื้นของดินด้วยการใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดิน
การให้น้ำ
ชาเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอตลอดปี เพื่อให้มีการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบ การให้น้ำในสวนชามี 3 แบบ คือ
1.การให้น้ำแบบปล่อยให้ท่วมแปลง
พื้นที่ที่ปลูกชาจะต้องมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์และควรมีความลาดเทเล็กน้อย เพื่อการกระบายน้ำ
2.การให้น้ำแบบพ่นฝอย
เป็นการให้น้ำที่นอยมกันมากในพื้นที่ปลูกชาใหญ่ๆ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน วิธีนี้ต้องลงทุนสูงแต่ให้ผลคุ้มค่า
3.การให้น้ำแบบหยด
เหมาะสำหรับพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เช่น การปลูกชาบนที่สูง เพราะเป็นการใช้น้ำแบบประหยัด แต่การลงทุนค่อนข้างสูง
การทำไม้บังร่ม
ชามีความต้องการร่วมเงา เหมือนกับโกโก้และกาแฟ การทำไม้บังร่มจะช่วยลดอุณหภูมิในช่วงกลางวันลง ลดปริมาณของแสงแดดที่ส่องยังต้นชาโดยตรง ทำให้ใบชาสามารถสังเคราะห์แสงได้ดีขึ้น เพราะถ้าต้นชาได้รับแสงแดดจัดเต็มที่โดยตรงจะทำให้ใบมีขนาดเล็ก เหลือง หรือทำให้เกิดใบไหม้ ใบชาไม่มีการปรุงอาหาร ต้นจะโทรมและตายในที่สุด การปลูกไม้บังร่ม ควรปลูกระหว่างแถวชา ซึ่งไม้บังร่มชาที่นิยมปลูกมี 2 ชนิด คือ
1.ไม้บังร่มชั่วคราว
เมื่อปลูกชาใหม่ๆ ต้นชายังมีขนาดเล็กอยู่ และในบริเวณนั้นไม่มีไม้บังร่มป่าธรรมชาติอยู่ และไม่ได้ปลูกไม้บังร่มถาวรไว้ก่อน การปลูกไม้บังร่มชั่วคราวจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก ๆ พืชที่ใช้เป็นไม้บังร่มชั่วคราว ได้แก่ ถั่วแระหรือมะแฮะ ปอเทือง กล้วย ฯลฯ การปลูกไม้บังชั่วคราวควรปลูกระหว่างแถวต้นชา โดยปลูกในแนวขวางกับแสงแดด และควรปลูกก่อนปลูกชาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี
2.ไม้บังร่มถาวร
อาจเป็นไม้บังร่มป่าตามธรรมชาติ หรือจะปลูกในแปลงไว้ก่อนปลูกชาประมาณ 1 ปี คือปลูกให้ไม้บังร่มมีพุ่มใบพอที่จะเป็นร่มชาได้ หรือจะปลูกไม้บังร่มถาวรร่วมกับการปลูกไม้บังร่มชั่วคราวก็ได้ เมื่อไม้บังร่มถาวรโตพอที่จะเป็นร่มชาได้ก็ค่อยๆ ตัดไม้บังร่มชั่วคราวออก พืชที่ใช้เป็นไม้บังร่มถาวรได้แก่ แคฝรั่ง ทองหลาง กระถิน เหรียง สะตอ
ประโยชน์ของไม้บังร่ม
ช่วยป้องกันการพังทะลายของดิน ลดปริมาณแสงแดดให้น้อยลงป้องกันความชื้นและอุณหภูมิในดิน ป้องกันแรงปะทะของน้ำฝนที่ชะล้างดิน สำหรับพืชตระกูลถั่วที่ใช้เป็นไม้บังร่มจะช่วยเพิ่มประมาณธาตุไนโตรเจนในดินและเมื่อไม้บังร่มทึบเกินไปควรตัดกิ่งทิ้งบ้างเพื่อให้ต้นชาได้รับแสงสว่าง
การกำจัดวัชพืช
วัชพืชต่างๆ เป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของต้นชาโดยเฉพาะต้นชาที่ยังเล็กดังนั้นการกำจัดวัชพืชจึงเป็นเรื่องสำคัญในการปลูกสร้างสวนชา ควรกระทำอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง โดยการพรวนดินในระดับตื้นๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อระบบรากของเขา การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชก็เป็นวิธีการที่สะดวกและได้ผลดี นอกจากนี้การปลุกพืชคลุมและการใช้วัสดุคลุมดินจะช่วยชะลอการเจิรญเติบโตของวัชพืชได้
การคลุมดิน
ประโยชน์ของการคลุมดินคือ ช่วยรักษาอุณหภูมิและความชุ่มชื้นในดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ลดความเป็นกรดในดิน ลดการพังทะลายของดิน ป้องกันแระปะทะของน้ำฝน ลดการเจริญเติบโตของวัชพืช เป็นต้น
1.วัตถุคลุมดิน
วัสดุที่ใช้คลุมดิน ได้แก่ ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฟางข้าว แกลบ ต้นข้าวโพดแห้ง ต้นข้าวฟ่างแห้ง เป็นต้น โดยคลุมรอบๆ โคนต้นชาให้ห่างจากโคต้นประมาณ 3-5 นิ้ว
2.พืชคลุมดิน
พืชคลุมดินส่วนมากเป็นพืชเลื้อยใช้ปลูกระหว่างแถวชา ประโยชน์ของพืชคลุมดิน คือช่วยป้องกันแรงปะทะของน้ำฝน ไม่ให้ดินถูกแสงแดดจัด รักษาความชุ่มชื้น อุณหภูมิในดิน เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ป้องกันการพังทะลายของดิน ลดการเจริญเติบโตของวัชพืข เป็นต้น สำหรับพืชคลุมดินตระกูลถั่วจะเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน ตัวอย่างพืชคลุมดิน เช่น Calopogonium mucuroides, Pueraria phaseoloide, Centrosema pubescens.
ธาตุอาหาร
ในสภาพการเจริญเติบโตตามปกติ ต้นชาจะดูดธาตุอาหารจากดินในปริมาณที่พอเพียงที่จะใช้ประโยชน์ แต่ธาตุอาหารก็อาจจะถูกดูดซึมเข้าทางใบได้บ้างในปริมาณเล็กน้อยจากอากาศและน้ำฝน หากต้นชาได้รับธาตุอาหารไม่พอเพียงจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของต้นชาและผลผลิตของชาลดลง แต่ ถ้าได้รับธาตุอาหารมากเกินไปก็อาจทำให้ต้นชาตายได้ เนื่องจากเกิดปฏิกิริยา plasmolysis ทำให้ต้นพืชสูญเสียน้ำออกมา จึงทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ .....ธาตุอาหารที่สำคัญต่อการปลูกชามีดังนี้
1. ไนโตรเจน เป็นธาตุที่สำคัญขบวนการเจริญเติบโต และการสร้างสารที่สำคัญในพืช เช่น คลอโรฟิล ฮอร์โมนนิวคลีโอไทด์ ไวตามิน ฯลฯ ดังนั้น ต้นชาจะต้องการไนโตรเจนมากกว่าธาตุอื่น ๆ เพราะจะถูกเก็บเกี่ยวใบและกิ่งอ่อนเป็นประจำ ต้นชาตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนเร็วมาก โดยจะทำให้ผลผลิตใบชาแปรผันจาก 4 เป็น 8 กิโลกรัม ในการสร้างใบชาต่อการให้ไนโตรเจนมากขึ้น 1 กิโลกรัม โดยทั่วไปปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้เป็นรูป แอมโมเนียมซัลเฟต หรือยูเรีย เพราะฉะนั้นจึงทำให้ดินเป็นกรดเล็กน้อย
ในต้นชาที่แข็งแรงสมบุรณ์จะมีระดับไนโตรเจนคงที่ในใบชา คือ ระหว่าง 4.5-5 % ของน้ำหนักแห้ง เมื่อปริมาณไนโตรเจนในใบชาลดลงน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ต้นชาจะแสดงอาการขาดไนโตรเจน ทำให้ระยะการแตกยอดสั้นลง ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โตช้า ใบขนาดเล็ก ยอดน้อย ขนาดยอดเล็กลง ข้อปล้องสั้นลงและใบร่วงในที่สุด
2. ฟอสฟอรัส เป็นธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบราก ทำให้รากแข็งแรงและมีปริมาณมาก โดยทั่วไปในใบชาจะมีฟอสฟอรัสประมาณ 0.3-0.9 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ฟอสฟอรัสเป็นธาตุอาหารที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ดี พบได้มากในส่วนยอดอ่อนและใบอ่อน ลักษณะการขาดธาตุฟอสฟอรัส (เมื่อปริมาณธาตุฟอสฟอรัสในต้นชา P2O5 น้อยกว่า 0.4 %) จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นหยุดชะงัก การเจริญของรากช้าลงใบมีสีเข้ม ใบด้านไม่สะท้อนแสง ขนาดใบเล็กกว่าปกติ ลำต้นอ่อน ใบร่วงและกิ่งตายในที่สุด ฟอสฟอรัสที่เหมาะที่สุด คือ หินฟอสเฟต
3. โปตัสเซียม เป็นธาตุอาหารที่สำคัญ มีบทบาทในการสร้างโครงสร้างที่แข็งแรงให้กับทุกส่วนของต้นชา การควบคุมน้ำในเซลล์ การแบ่งเซลล็ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่อุณหภูมิต่ำและช่วงแล้งนาน ปกติโปตัสเซียมจะมีในใบประมาณ 1.5-2.0 % ของน้ำหนักแห้ง ลักษณะการขาดธาตุโปตัสเซียมจะทำให้ใีของใบเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลผลิตลดลงใบร่วง ยอดก็ไม่เจริญเติบโต กิ่งและยอดอ่อนมีน้อย ลำต้นลีบเล็ก ไม่ตอบสนองต่อการตัดแต่งกิ่ง
4. แมกนีเซียม ต้นชาต้องการเพียงเล็กน้อย ปริมาณแมกนีเซียมในใบชามีประมาณ 0.22 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ลักษณะการขาดแมกนีเซียม (MgO) จะทำให้ใบแก่เหลือและเกิดจุดสีน้ำตาล ในระหว่างเส้นใบและขยายใหญ่ขึ้น จำนวนใบอ่อนไม่ลด แต่สีใบผิดปกติจากเวลาที่ควรเป็น
5. กำมะถัน ปริมาณกำมะถันในใบมีประมาณ 0.08-0.2 % ของน้ำหนักแห้ง ลักษณะการขาดกำมะถันใบจะมีสีเหลืองแต่เส้นใบยังมีสีเขียว ยอดใหม่มีขนาดเล็กลง ปล้องสั้นลงอัตราการเจริญเติบโตลดลง
6. แคลเซียม จะมีส่วนในการสร้างผนังเซลล์ซึ่งธาตุอื่นไม่สามารถทดแทนได้ ในใบชาจะมีแคลเซียมประมาณ 0.3-0.9 % ของน้ำหนักแห้ง ลักษณะการขาดธาตุแคลเซียมจะทำให้ใบแก่มีสภาพกรอบเปราะ ใบอ่อนสีซีดจาง บริเวณขอบใบจะเกิดสีน้ำตาลในเวลาต่อมา แต่ถ้าได้รับแคลเซียมมากเกินไปจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตลดลง ใบอ่อนเกิดเป็นสีเหลือง ใบม้วนเข้าด้านใน ทำให้ทรงพุ่มมีใบลดลง ขอบและปลายใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำแล้วร่วงในที่สุด
7. เหล็ก ในใบชามีธาตุเหล็กประมาณ 700-1,500 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ของน้ำหนักแห้ง การขาดธาตุเหล็ก การขาดธาตุเหล็กจะมีผลต่อการสร้างคอลโรฟิลในใบชา
8. แมงกานีส ในใบชามีแมงกานีสอยู่ประมาณ 900-1,200 ppm ของน้ำหนักแห้งเมื่อใบแก่ขึ้น ปริมาณความเข้มจะเพิ่มมากขึ้น การขาดแมงกานีสจะพบในดินกรดมาก ใบแก่จะกรอบเปราะขอบใบจะมีสีเหลืองและมีจุดสีน้ำตาลบนใบ
9. โบรอน การขาดโบรอนทำให้เมตตาโบลิซึมในต้นชาลดลงเปลือกต้นชาแตกง่าย ต้นและใบรูปร่างผิดปกติและตายได้ การสร้างดอกและผลผิดปกติ การขาดะาตุจะมีมากในดินเหนียวหรือช่วงฤดูแล้ง
10. ทองแดง ในใบชามีธาตุดทองแดงช่วางประมาณ 20-30 ppm ของน้ำหนักแห้ง เมื่อความเข้มลดต่ำกว่า 12 ppm จำเป็นต้องฉีดพ่นสารที่มีทองแดงหรือฉีดพ่นกับสารป้องกันเชื้อราเพื่อให้ระดับทองแดงในใบสูงขึ้นช่วยพยุงรักษาใบไว้ได้
11. อลูมิเนียม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของต้นชา คือ ช่วยลำเลียงธาตุฟอสฟอรัสของต้นชา กระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นชา ปริมาณอลูมิเนียมในใบชามีช่วงระหว่าง 200-2,000 ppm ของน้ำหนักแห้ง
12. สังกะสี การขาดธาตุสังกะสีปรากฏเมื่อมีปริมาณธาตุสังกะสีในใบน้อยกว่า 10 ppm ของน้ำหนักแห้ง อาการจะทำให้ปล้องสั้นลง ในชะงักการเจริญเติบโต เปลี่ยนสี ยอดโค้งงอเป็นรูปเคียว เมื่อเกิดอาการต้องฉีดพ่นธาตุ สังกะสีซัลเฟต ทางใบในปริมาณ 4 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร โดยฉีดพ่น 3-4 ครั้ง
การใส่ปุ๋ย
ชาที่ปลูกไว้นาน ๆ ถ้าไม่มีการใส่ปุ๋ญ ผลผลิตที่ได้จะค่อยๆ ลดต่ำลง ในการที่จะให้ต้นชาเจริญงอกงามให้ผลผลิตสูงจำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ญ ซึ่งปุ๋ยที่ใช้มี 2 ชนิด คือ
1. ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัด มูลควาย มูลไก่ หรือมูลค้างคาว ฯลฯ ใส่ต้นละ 2-3 กำมือ โดยใส่รอบ ๆ ต้น หลังจากใส่ปุ๋ยคอกแล้ว ควรใช้วัตถุคลุมดินรอบ ๆ โคนต้นชาเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของวัชพืช
2. ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม
ไนโตรเจน....จะอยู่ในรูปแอมโมเนียมซับเฟต ช่วยทำให้ต้นแข็งแรง และเร่งการเจริญเติบโตของใบเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง
ฟอสฟอรัส....จะอยู่ในรูปซูเปอร์ฟอสเฟต หรือดับเบิ้ลซูเปอร์ฟอสเฟต หรือทริเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต ฯลฯ ฟอสฟอรัสทำให้กิ่ง ก้าน ลำต้นเจริญเติบโต ระบบรากแข็งแรงและมีปริมาณมาก
โปตัสเซียม....จะอยู่ในรูปโปตัสเซียมไดออกไซด์ ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับทุกส่วนของต้นพืช ควบคุมระบบการสังเคราะห์แสง ลดการระเหยน้ำของใบ และเพิ่มความทนทานต่อโรคให้ดีขึ้น
วิธีใส่ปุ๋ยต้นชา
ควรใส่ปุ๋ญที่มีธาตุฟอสฟอรัส รองก้นหลุมก่อนปลูก หลุมละ 50 กรัม ส่วนไนโตรเจนเป็นธาตุที่สลายตัวได้ง่าย ควรแบ่งใส่ 2-3 ครั้ง ๆ ละเท่า ๆ กัน ควรใส่ช่วงต้นและปลายฤดูฝน หรือหลังจากการตัดแต่งกิ่งด้วย โดยโรยปุ๋ยรอบโคนต้นตามรัศมีทรงพุ่ม หรือโรยตามแนวแถวชาห่างประมาณ 1 ฟุต แล้วพรวนกลบ ปุ๋ยคอกควรใส่ปีละ 1 ครั้ง
การตัดแต่งกิ่ง
เป็นการปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่งในการทำสวนชา วัตถุประสงค์เพื่อแต่งทรงพุ่มให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว กระตุ้นให้เกิดยอดใหม่ได้เร็วขึ้น และช่วยกำจัดโรคและแมลง การตัดแต่งกิ่งชามี 2 ระบบ คือ
1. การตัดแต่งกิ่งต้นชาอายุน้อยที่ปลูกจากเมล็ดหรือกิ่งปักชำ โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งหลังจากปลูกแล้ว ดังนี้
ปีที่ 1 ควรตัดกิ่งสูง 20 เซนติเมตร จากระดับดิน
ปีที่ 2 ควรตัดกิ่งสูง 30 เซนติเมตร จากระดับดิน
ปีที่ 3 ควรตัดกิ่งสูง 40 เซนติเมตร จากระดับดิน
ปีที่ 4 ควรตัดกิ่งสูง 50 เซนติเมตร จากระดับดิน
และจะเริ่มเก็บยอดชาที่ระดับ 60 เซนติเมตร หลังจากเก็บผลผลิตได้ 2-3 ปี ให้ทำการตัดแต่งกิ่งให้สูงจากพื้นดิน 55 เซนติเมตร การตัดแต่งกิ่งครั้งต่อไปให้ทิ้งระยะห่าง 3-4 ปี และตัดแต่งกิ่งให้สูงไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร จากรอยต้นเดิม การตัดแต่งกิ่งต้นชาควรกระทำในช่วงต้นชาพักตัวระหว่างเดือนธันวาคม ถึง มกราคา
2. การตัดแต่งกิ่งต้นชาที่มีอายุมาก ควรตัดให้สูงจากพื้นดิน 50-60 เซนติเมตร ให้ส่วนบนทรงพุ่มเรียงเสมอกัน เพื่อให้มีพื้นที่ให้ผลผลิตมากขึ้น
การเก็บเกี่ยว
ชาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการผลิตชาให้ได้คุณภาพดีนั้น ต้องเริ่มจากใบชาสดที่มีคุณภาพ ใบชาสดที่มีคุณภาพดีที่สุดคือ ใบชาที่เก็บจากยอดชาที่ประกอบด้วย 1 ยอด กับ 2 ใบ การเก็บชาจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงเดือนพฤศจิกายน โดยเฉลี่ยจะเก็บยอดชา 10 วันต่อครั้ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวยอดชาจะอยู่ประมาณ 05.00-14.00 น. การเก็บยอดชาจะต้องไม่อัดแน่นในตะกร้า หรือกระสอบ เพราะจะทำให้ยอดชาช้ำและคุณภาพใบชาเสียได้ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจากการหายใจของใบชา หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ควรรีบนำส่งโรงงานผลิตภายใน 3-4 ชั่วโมง เพื่อจะได้สามารถผลิตชาคุณภาพดี
การปรับปรุงสวนชาเก่า
สวนชาที่ปลูกไว้ตามธรรมชาติมักจะให้ผลผลิตต่ำ แต่การสร้างสวนใหม่จะต้องมีการลงทุนสูง เกษตรกรขาดผลผลิตในช่วงแรกทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ การปรับปรุงสวนชาที่มีอยู่แล้ว จึงเป็นแนวทางที่สามารถทำได้ และเกษตรกรยอมรับได้ง่าย การปรับปรุงสวนเก่าให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นกระทำได้ดังนี้
1. ปลูกชาเสริมในสวนชาที่มีที่ว่างอยู่ให้เต็มพื้นที่ ทั้งระหว่างต้นและระหว่างแถว
2. ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มต้นชาที่มีอายุมาก โดยตัดแต่งกิ่งให้สูงจากพื้นดินประมาณ 50-60 เซนติเมตร และตัดกิ่งที่เป็นโรคแคระแกร็นออกไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือในช่วงฤดูหนาว ประมาณเพือนธันวาคมถึงมกราคม การตัดแต่งควรแบ่งแปลงตัดแต่งแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เกษตรกรขาดรายได้ในช่วงตัดแต่งยิ่ง
3. การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยที่เหมาะจะใช้กับต้นชาควรเป็นปุ๋ยสูตร 15-15-15 โดยใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 200-300 กรัม/ต้น หรือ 0.5 กิโลกรัม/ต้น/ปี โดยใส่โรยรอบ ๆ ต้นตามรัศมีทรงพุ่ม
4. ในฤดูแล้งควรให้น้ำ หรือใช้วัสดุคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน
http://www.doae.go.th/library/html/detail/char/cha415.htm