xxx
การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก ---2
สภาพการผลิตผักแต่เดิม เกษตรกรผู้ปลูกผักสดนิยมซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกจำหน่ายเป็นผลผลิตผักสดออกสู่ตลาดและทำนองเดียวกันก็มีเกษตรกรบางรายจะปล่อยให้ผลผลิตแก่เพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์บางส่วนไว้ใช้ปลูกเองในรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นลักษณะการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักแบบหัวไร่ปลายนา ไม่ใช่เชิงธุรกิจ แต่ในปัจจุบันความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ผักในประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้นักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เล็งเห็นศักยภาพความเหมาะสมของพื้นที่ในประเทศไทยว่ามีความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ในเชิงธุรกิจขึ้นทั้งเมล็ดพันธุ์ชนิดผสมเปิดและชนิดลูกผสมรุ่นที่ 1 หรือ เอฟ-วัน-ไฮบริด (Fi Hybrid) โดยได้มีการส่งเสริมกันอย่างแพร่หลายในบางจังหวัดของภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก ซึ่งเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันธุรกิจการผลิตเม็ดพันธุ์ผักของประเทศไทยให้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ส่วนภาคราชการมีบทบาทในการศึกษาวิจัยปรับปรุงเมล็ดพันธุ์หลักคุณภาพดีออกมาส่งเสริมเผยแพร่กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเล็งเห็นความสำคัญในงานด้านนี้ จึงยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักแบบครบวงจรโดยช่วยเหลือภาคเอกชนในด้านการคัดเลือกพื้นที่ ๆ จะทำการผลิต ดำเนินการรวมกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเกษตรกรให้มีทักษะในด้านการผลิต รวมถึงการติดตามนิเทศงานอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่เริ่มดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าวประกอบกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้พิจารณาจัดทำเอกสารคำแนะนำเรื่อง "การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก"ฉบับนี้ขึ้นมามีเนื้อหาเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่น่าสนใจอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน คือผักบุ้งจีน ข้าวโพดหวาน ผักกาดหอม แตงกวา
หลักการผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก
1. การคัดเลือกพื้นที่
ในการเลือกพื้นที่ปลูกเกษตรกรต้องคำนึงถึงลักษณะดินฟ้าอากาศทั่ว ๆ ไปของพื้นที่ ๆ จะทำการผลิตว่าเกื้อกูลต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักมากน้อยเพียงใดเช่น อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละเดือน การกระจายตัวของน้ำฝน ความอุดมสมูรณ์ของดินลักษณะเนื้อดิน ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน แหล่งน้ำตามธรรมชาติ การสะสมหรือการระบาดของโรคหรือแมลงในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่ผ่านมา
2. การคัดเลือกเกษตรกร
เกษตรกรควรมีประสบการณ์ในการผลิตผักสดอยู่แล้วและมีความสนใจที่จะทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเมื่อดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักไปแล้วเกษตรกรควรต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ไว้เมื่อดำเนินก
3. การมีความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต
เกษตรกรจะต้องทราบว่าขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างไร จะหาเมล็ดพันธุ์หลักที่มีคุณภาพดีมาใช้เป็นแม่พันธุ์จากที่ไหนกำลังความสามารถของตนเองทำการผลิตได้หรือไม่ ถ้าเกษตรกรยังไม่มีทักษะ ควรจะหาแหล่งความรู้จากที่ใดได้บ้างเช่น อาจได้รับความรู้จากการฝึกอบรมของทางราชการหรือภาคเอกชน
4. รู้จักวางแผนการผลิต
เกษตกรควรทราบขึ้นตอนการผลิตว่ามีความซับซ้อนเพียงใดเพื่อจะได้คำนวณว่าแรงงานในครอบครัวจะสามารถดูแลทำการผลิตได้กี่ไร่ที่ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพผลผลิตที่ได้ออกมาตรงตามความต้องการของตลาด โดยมีการกำหนดเป้าหมายการผลิตไว้อย่างชัดเจนรวมทั้งเกษตรกสามารถคำนวณรายได้หลังจากลงทุนและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วว่าจะมีรายได้มากน้อยเพียงใด
เอกสารอ้างอิง:
คำแนะนำที่ 180 เรื่อง การผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก กรมส่งเสริมการเกษตร
http://web.ku.ac.th/agri/vetgetab/main.htm
การขยายพันธุ์พืชโดยการแบ่งและแยกส่วนต้นพืช
(PROPAGATION BY SEPARATION AND DIVISION)
การขยายพันธุ์พืชโดยการแบ่งและแยกส่วน เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชพวกที่มีลำต้นแปลกปลอมเพื่อให้ได้ต้นพืชต้นใหม่ที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ของต้นแม่ทุกประการ โดยจะทำการขยายพันธุ์ก่อนการออกราก ส่วนใหญ่พืชที่ทำการขยายพันธุ์โดยวิธีนี้จะใช้ส่วนของพืชที่เป็นส่วนของลำต้น เหง้า หน่อ จุก ไหล เป็นส่วนสำหรับใช้ขยายพันธุ์ ซึ่งแบ่งวิธีการขยายพันธุ์พืชจำพวกนี้ออกเป็น ๒ พวกใหญ่ ๆคือ
๑. การขยายพันธุ์โดยวิธีแยกส่วน (Separation)
๑.๑. การขยายพันธุ์พืชจำพวกหัวที่เกิดจากกากใบ (bulbs) แบ่งออกเป็น
๑. บัลบ์ที่มีหัวแน่น หมายถึง หัวที่มีกาบใบเรียงตัวซ้อนกันแน่น ได้แก่ พืช จำพวกหอม กระเทียม บัวสวรรค์ ทิวลิป ว่านสี่ทิศ เป็นต้น
๒. บัลบ์ที่มีหัวหลวม หมายถึง หัวที่มีกาบใบลักษณะเป็นเกล็ดเกาะกันอย่างหลวม ๆ ได้แก่ ลิลลี่ เป็นต้น
สำหรับการขยายพันธุ์พืชจำพวกหัวที่เกิดจากกาบใบที่มีหัวแน่น มีวิธีการขยายพันธุ์ได้ ดังนี้
ก. วิธีธรรมชาติ (Natural method)
โดยการเลือกพืชที่มีหัวขนาดโต สมบูรณ์และพ้นระยะการพักตัว นำไปแช่น้ำนานประมาณ ๑๕ นาที แล้วนำไปชุบลงในสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา ผึ่งให้แห้งแล้วห่อด้วยผ้าหรือเก็บไว้ในถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น ประมาณ ๑-๒ วัน จะสังเกตเห็นว่ารากใหม่เริ่มงอกที่โคนหัวจึงนำไปปลูกในแปลงต่อไปได้ เช่น หอมแดง ทิวลิป หอมแบ่ง กระเทียม และบัวสวรรค์ เป็นต้น
ข. การคว้าน (Scooping method)
โดยการปาดหรือคว้านเอาส่วนของต้นออกเหลือเพียงส่วนของกาบใบที่อัดตัวกันแน่น แล้วทารอยแผลด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา ผึ่งให้แห้งประมาณ ๑-๒ วัน จึงนำไปชำในขุยมะพร้าวผสมทรายที่บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่ระบายน้ำได้ดีประมาณ ๖๐-๙๐ วัน ก็จะเกิดหัวเล็ก ๆ ขึ้นที่โคนกาบใบที่เป็นรอยตัด เมื่อหัวเล็ก ๆ มีขนาดโตพอและมีใบ ๑-๒ ใบ ก็ใช้ปลายมีดตัดแยกไปปลูกต่อไป เช่น หัวว่านสี่ทิศ เป็นต้น
ค. การบากหัว (Scoring method)
โดยการบากหัวทางด้านข้างชิดโคนหัวจนเปิดตาข้างที่จะเจริญออกมาได้และให้ตายอดถูกทำลาย ทำการบากเป็นร่องลึกรูปตัว V หลาย ๆ แนว คือ ๒ ๔ หรือ ๖ ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของหัวพืช จากนั้นนำหัวที่บากแล้วไปชุบสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา ผึ่งให้แห้งประมาณ ๑-๒ วัน จึงนำไปชำในขุยมะพร้าวผสมทรายในภาชนะลักษณะเดียวกับการคว้านหัว
ง. การเจาะหัว (Coring method)
โดยการเจาะหัวทางด้านล่างให้ผ่านตายอดด้วยเหล็กเจาะจุกไม้ค็อกซ์ ซึ่งการเจาะหัวเป็นการทำลายตายอดของพืช เพื่อให้ได้ต้นพืชใหม่ที่เกิดจากตาข้าง การปฏิบัติดูแลรักษาทำเช่นเดียวกับการบากและคว้านหัว
จ. การผ่าหัว (Bulb cutting method)
โดยการผ่าหัวออกเป็น ๒ ๔ ๖ หรือ ๘ ส่วน ตามขนาดของหัวพืช จากนั้นก็แบ่งออกเป็นส่วนย่อย โดยให้แต่ละส่วนย่อยมีกาบใบติดอยู่ ๓ หรือ ๔ ชิ้น นำส่วนที่แบ่งย่อยแล้วไปชุบสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา แล้วนำไปชำในขุยมะพร้าวผสมทรายอัตราส่วน ๑ : ๑ เมื่อส่วนปักชำมีต้นขนาดพอประมาณก็สามารถย้ายไปปลูกต่อไปได้
๑.๒ การขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้า(Corn)
เหง้าเป็นพืชประเภทหัวแน่นที่ลักษณะภายนอกเหมือนหัวที่เกิดจากกาบใบ แต่ลักษณะภายในมีลักษณะเหมือนลำต้นพวกต้นจริงที่ถูกกดสั้นให้เป็นรูปกลมแบน ดังนั้นจึงมีตายอด ตาข้าง และข้อปล้องที่ชิดกัน เช่น เหง้าของซ่อนกลิ่นฝรั่ง (Gladiolus) เป็นต้น สำหรับการขยายพันธุ์นั้น โดยการเลือกเหง้าที่มีขนาดโต และมีน้ำหนักดี นำไปวางไว้ในที่ชื้นประมาณ ๓-๕ วัน เพื่อให้เกิดปุ่มราก นำเหง้าที่มีปุ่มรากแข็งแรงลงปลูกในแปลงที่เตรียมดินให้ร่วนซุยแล้วฝังเหง้าให้ลึกประมาณ ๓ นิ้ว และกลบให้มิด เมื่อต้นแทงยอดออกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร จึงทยอยกลบเสมอผิวแปลง ดูแลรักษาจนกระทั่งออกดอก หลังจากตัดดอกแล้วแล้วค่อย ๆ ลดปริมาณการให้น้ำลง จนยอดพับลงและแห้งจึงขุดเหง้าขึ้นมาผึ่งในที่ร่ม เก็บเหง้าที่ผิวเปลือกแห้งดีแล้วให้แยกเหง้าใหม่ออกจากเหง้าเก่าและแยกเหง้าเล็กตามขนาด คลุกสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราแล้วนำไปเก็บไว้ที่เย็นเพื่อรอการปลูกต่อไป
๒. การขยายพันธุ์โดยวิธีแบ่งส่วน (Division)
๒.๑ การขยายพันธุ์พืชจำพวกหัว (Tubers) แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
๑. หัวที่เกิดจากต้น หมายถึง หัวที่เกิดจากอัดตัวแน่นเพื่อเป็นที่สะสมอาหารได้แก่ หัวมันฝรั่ง หัวเผือก หัวบอนสี เป็นต้น
๒. หัวที่เกิดจากราก หมายถึง หัวที่เกิดจากการพองโตของรากเพื่อใช้เป็นที่เก็บสะสมอาหาร ได้แก่ หัวมันเทศ หัวรักเร่ เป็นต้น การขยายพันธุ์หัวมันฝรั่ง โดยการนำหัวมันฝรั่งมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วผึ่งให้แห้ง นำมาตัดแบ่งหัวด้วยมีดที่คมและสะอาดให้แต่ละส่วนมีตาติดไปด้วย ขนาดของชิ้นที่ตัดแบ่งควรมีขนาดโตพอสมควร นำไปชุบสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม จากนั้นนำไปปลูกลงในแปลงลึกประมาณ ๓ นิ้ว ก็จะได้ต้นพืชใหม่ต่อไป
๒.๒. การขยายพันธุ์พืชประเภทไรโซม (Rhizomes)
พืชประเภทไรโซม ส่วนใหญ่เป็นพืชประเภทใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลำต้นเจริญอยู่ในระดับผิวดินที่ต้นจะมีข้อ ปล้อง และที่ข้อจะมีตาข้างอยู่เหนือกาบใบ ใบจะอยู่เหนือผิวดิน ส่วนรากจะเกิดที่ข้อใต้ผิวดิน เช่น กล้วย ขิง ข่า ขมิ้น หน่อไม้ฝรั่ง ไผ่ และหญ้าสนามต่าง ๆ เป็นต้น การขยายพันธุ์โดยใช้ไรโซมโดยการนำแง่งพืชที่อยู่ในระยะพักตัวและพร้อมที่จะเจริญต่อ โดยสังเกตุปุ่มตาจะเริ่มบวมพองมาล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้หมาด ๆ ตัดแบ่งด้วยมีดคมเป็นท่อน ๆ โดยแต่ละท่อนให้มีตาอยู่ ๑-๒ ตา ชุบแผลด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา ผึ่งให้แห้ง เมื่อแผลสนามกันดีแล้วนำไปชำหรือปลูกต่อไป
๒.๓. การขยายพันธุ์โดยใช้ไหล (Stolon or runner)
ไหล เป็นส่วนของต้นพืชที่เปลี่ยนแปลงอีกแบบหนึ่ง เช่น ส่วนของต้นที่เจริญแบบทอดยอดออกมาจากกอของสตรอเบอรี่ แบบทอดยอดอยู่ใต้น้ำเหนือผิวดินของบัวสวรรค์ หรือส่วนของต้นที่เจริญอยู่ระหว่างต้นมันฝรั่งกับหัวมันฝรั่ง เป็นต้น สำหรับการขยายพันธุ์ของสตรอเบอรี่นั้น ให้เลือกไหลที่มียอดที่ปลายและเริ่มมีปุ่มราก นำส่วนของไหลพาดบนถุงเพาะชำที่ใส่วัสดุเพาะชำแล้วโดยให้ส่วนของยอดอยู่กลางถุง และให้ส่วนโคนของยอดฝังจมอยู่ในวัสดุเพาะชำโดยที่ไหลยังติดอยู่กับต้นแม่ รดน้ำให้ขึ้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งโคนยอดเกิดรากแข็งแรงจึงตัดไหลที่เกิดรากแล้วไปปลูกต่อไป
๒.๔. การขยายพันธุ์โดยใช้ตะเกียง (Off-set)
ตะเกียง คือ หน่อที่เจริญขึ้นจากต้นปลอม เช่น ตะเกียงกล้วยไม้ที่เจริญขึ้นจากลำของกล้วยไม้สกุลหวาย ตะเกียงของปรงที่เกิดจากลำต้นปรงญี่ปุ่น ตะเกียงของไผ่ตงที่เกิดขึ้นบริเวณโคนลำ และตะเกียงอินทผาลัมที่เกิดจากต้นปาล์มอินทผาลัม เป็นต้น สำหรับการขยายพันธุ์โดยใช้ตะเกียงของปรงญี่ปุ่นนั้นทำโดยการเลือกต้นปรงญี่ปุ่นที่มีขนาดโตและมีอายุมากพอสมควร มีอาหารสะสมดีให้ใช้ปลายมีดหรือสิ่วขนาดเล็กค่อย ๆ สะกัดส่วนต่อระหว่างต้นแม่และตะเกียงให้ขาดกัน ทารอยแผลด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา นำไปปักชำในวัสดุเพาะชำที่สะอาด เมื่อตะเกียงออกรากดีแล้วจึงแยกออกไปปลูกต่อไป
๒.๕. การขยายพันธุ์โดยใช้จุก (Crown)
จุก เป็นส่วนของต้นพืชที่แปลกปลอมอีกแบบหนึ่ง เช่น จุกของสับปะรด เป็นต้น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการนำจุกสับปะรดที่ปราศจากเชื้อโรค มีสภาพจุกสมบูรณ์ นำมาผ่าออกเป็น ๔ ส่วนหรือมากกว่าตามขนาดของจุกด้านตั้งจากโคนจุก แบ่งส่วนที่ผ่าออกตามขวางโดยให้แต่ละส่วนมีใบจากจุกติดไปด้วย ๒-๓ ใบ ทารอยแผลด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อรา นำไปปักชำในวัสดุเพาะชำหรือตัดจุกสับปะรดมาชุบสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราก็สามารถนำไปปลูกได้เช่นกัน
๒.๖. การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อ (Suckers)
หน่อ คือ ต้นพืชเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากต้นหรือรากที่สามารถจะเกิดรากที่โคนต้นหรือโคนของหน่อนั้นได้เอง หลังจากที่รากเกิดดีแล้วจึงจะแยกไปปลูกภายหลัง เช่น หน่อที่เกิดโคนต้นสาเก โคนต้นสนปฏิพัทธ์ หรือหน่อของต้นกล้วย สับปะรด เป็นต้น สำหรับการขยายพันธุ์กล้วยนั้นให้เลือกหน่อกล้วยที่อวบอ้วน สมบูรณ์ และมีความยาวประมาณ ๕๐-๖๐ เซนติเมตร ใช้เสียมคม ๆ ขุดดินโคนหน่อ และเซาะหน่อออกจากต้นแม่โดยไม่ให้หน่อที่เซาะนั้นช้ำเสียหาย นำหน่อมาตัดแต่งรากและยอดออกบางส่วนก็สามารถนำไปปลูกต่อไปได้
http://web.ku.ac.th/nk40/nk/data/17/nk17k12.htm
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.