ซุกินี เป็นพืช ตระกูลแตง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucurbita L. var. cylindica Pans. ซุกินี มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเม็กซิโก เป็นพืชฤดูเดียว เจริญเป็นพุ่ม หรือกิ่งเลื้อบ ลำต้นเป็นข้อสั้น ใบมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ผิวหยาบ และมีขนอ่อนบนใบ ดอกตัวเมียและตัวผู้ แยกกันอยู่ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ผสมเกสรโดยแมลง เช่น ผึ้ง ผลมีลักษณะทรงยาว รี มีสันนูนตามยาว ผิวเรียบเป็นมัน สีเขียวแก่ สลับลายขาวเป็นจุด เนื้อแน่น กรอบ ฉ่ำน้ำ มีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดผลโดยประมาณมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร นิยมบริโภค กันมากใน แถบประเทศเมดิเตอร์เรเนียน ในฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี
สภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
ซุกินี ต้องการสภาพอากาศอบอุ่นในการเจริญเติบโต ปลูกได้ดีสภาพพื้นที่ ที่มีความสูงตั้งแต่ 600 เมตร ขึ้นไป สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี อุณหภูมิ ที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18-30′C ถ้าอุณหภูมิสูง หรือต่ำกว่านี้ ซุกินีจะชะงักการเจริญเติบโต
ดิน
ที่เหมาะสำหรับปลูกซุกินี ควรเป็นดินที่ร่วนซุย หน้าดินลึก มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี ความเป็นกรด-ด่างของดินมีค่า 6.0-6.5 และควรได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และแสงแดดอย่างเต็มที่
การใช้ประโยชน์ และคุณค่าทางอาหาร
ผลซุกินี รับประทานสด ใช้แทนบวบหรือแตงในอาหารชนิดต่างๆ เช่น ผัด แกงจืด แกงเลียง หรือต้มจิ้มน้ำพริก หรือใช้เป็นผักสด สามารถนำไปดอง ซุกินีเป็นผักที่มีแคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการ ควมคุบน้ำหนัก การปฏิบัติดูแลรักษาซุกินีในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต
การเตรียมกล้า
เพาะกล้าซุกินีในถาดหลุม อายุกล้า 6-8 วัน
การเตรียมแปลงปลูก
ไถดินลึก 15-20 เซนติเมตร ตากแดด 7-10 วัน เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง แล้วจึงใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ และปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่
การปลูก
ปลูกแถวเดี่ยว ระยะปลูกระหว่างต้น 0.7-1 เมตร ระยะห่าง ระหว่างแถว 1 เมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และฤดูปลูก
การให้น้ำ
ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำพืชจะชะงัก การเจริญเติบโต และผลผลิตมีคุณภาพต่ำ
การให้ปุ๋ย
หลังย้ายปลูก ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 100 กก./ไร่ และแคลเซียมไนเตรท อัตรา 50 กก./ไร่
การเก็บเกี่ยว
ซุกินีเก็บเกี่ยวผลอ่อน ผิวเป็นมัน หลังจากดอกบาน 5-7 วัน
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญในระยะต่างๆของการเจริญเติบโต
ระยะกล้า-ย้ายปลูก 6-8 วัน เพลี้ยไฟ,
ระยะเจริญเติบโต-ออกดอกแรก 30-35 วัน โรคไวรัส, โรคราแป้ง, เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อน,
ระยะเก็บเกี่ยว 40-80 วัน โรคไวรัส, โรคราแป้ง, โรคผลเน่า, เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อน, แมลงวันแตง,