ผักกาดเขียวปลี
1.พันธุ์ เกษตรกรผู้ปลูกผักกาดเขียวปลี การนำพันธุ์มาปลูกจะขึ้นอยู่กับพ่อค้า หรือหัวหน้าเจ้าของโควต้า เป็นผู้นำมาให้ปลูก เช่น ตราสิงห์โต ตราลูกโลก ตราเครื่องบิน เป็นต้น
2. การเตรียมดิน การเตรียมดินจะเหมือนกับการปลูกผักคะน้า และผักกาดขาวปลี โดยมีการไถดินตากประมาณ 10 วัน แล้วใส่ปุ๋ยคอก และปูนขาว ไถพรวนยกร่องแบบร่องผักทั่วๆ ไป หรือขุดดินตากถ้าปลูกแบบร่องสวนก็จะปฎิบัติแบบเดียวกัน
3. วิธีการปลูก หลังจากเตรียมดินแล้ว รดน้ำให้ชุ่ม พ่นสารป้องกันกำจัดวัชพืช (คุม)ด้วย อะลาคลอร์ หรือเพนดิเมทาริน ทิ้งไว้ 1 คืน ทำการโรยฟางข้าวบางๆ ให้ทั่วเพื่อต้องการให้ดินชุ่ม จากนั้นหยอดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งคลุกด้วยสารคาร์โบซัลแฟน หรืออิมิดาโคลพริด บวกกับเมตาแลคซิล โดยหยอด 2-3 เมล็ดต่อหลุม หรือใช้ขวดเครื่องดื่มเจาะฝา ใส่เมล็ดแล้วคว่ำขวดกระแทกก็ได้ โดยใช้ระยะประมาณ 30 x35 เซนติเมตร รดน้ำเช้า-เย็น จนอายุประมาณ 10 วัน หรือ มีใบจริงประมาณ 2 คู่ ก็ถอนแยกได้
4. การให้น้ำ หลังหยอดเมล็ดควรให้น้ำสม่ำเสมอเวลาเช้า-เย็น และเมื่อฝนไม่ตกก็พิจารณารดทุกวัน จนกว่าจะเก็บเกี่ยวได้
5. การใส่ปุ๋ย เกษตรกรจะนิยมใส่ปุ๋ยเมื่อทำการถอนแยกแล้ว คืออายุประมาณ 10-15 วันโดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 ผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กก.ต่อไร่ หลังใส่ปุ๋ยควรให้น้ำให้ทั่วถึงเพื่อละลายปุ๋ยให้หมด
6. การเก็บเกี่ยว เมื่อผักกาดเขียวปลีอายุได้ 53-55 วัน หลังหยอดเมล็ดก็ทำการตัดได้ โดยพ่อค้านำคนงานมาตัด เพื่อเข้าโรงดองต่อไป
7. โรคและแมลง ผักกาดเขียวปลีเป็นพืชตระกูลกะหล่ำ ฉะนั้นโรคและแมลงตลอดจนการป้องกันกำจัดเหมือนกับการปลูกคะน้า
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง เป็นพืชล้มลุก สามารถขึ้นได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด ช่วงแสงแดดตลอดวัน อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 20-25 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ตลอดปี เป็นผักที่ใช้ส่วนใบ ก้าน ใบ และลำต้นในการบริโภค
การเตรียมดินและการปลูก
ปลูกกวางตุ้งแบบเพาะกล้า การทำแปลงกล้าโดยปรับหน้าดินให้ย่อยละเอียด ผสมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน หว่านเมล็ดลงใน แปลงเพาะ แล้วโรยแกลบหรือฟางบางๆ ทับเมล็ดพันธุ์บนแปลง รดน้ำให้ชุ่ม หลังเพาะเมล็ด 10-15 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป ซึ่งใช้ระยะปลูก 20×25 เซนติเมตร
การดูแลรักษากวางตุ้ง
- การให้ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนี่ยมซัลเฟต 1-2 ช้อนชา ต่อน้ำ 10 ลิตร ละลายน้ำรดทั่วแปลงก็ได้ หรือใช้วิธีหว่านปุ๋ยเคมีูยูเรีย หรือแอมโมเนี่ยมซัลเฟตในอัตรา 2-3 ช้อนแกงต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ใส่ปุ๋ยเคมีทุึกๆ 5-7 วัน/ครั้ง และรดน้ำตามทันที หรือจะให้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอโดยใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์น้อยลงก็ได้
- การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอทุกวัน
- การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ควรทำในระยะแรกๆ พร้อมกับการถอนแยก
การเก็บเกี่ยวกวางตุ้ง
หลังเพาะเมล็ดประมาณ 35-45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ให้คัดเลือกเก็บต้นที่ใหญ่สมบูรณ์ก่อน โดยใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้น
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.