เยอบีร่า เป็นไม้ดอกที่ปลูกง่าย ให้ดอกตลอดปีซึ่งสามารถจำหน่ายได้ทุกฤดูกาล ดอกของเยอบีร่านั้นมีสีสันหลากหลายและสวยสดใส จึงนิยมตัดดอกมาปักแจกันเพราะว่ามีอายุการปักแจกันนานสามารถอยู่ได้หลายวัน โดยนำมาประดับในอาคารสำนักงาน ห้องทำงาน และบ้านเรือน
เยอบีร่าไม่ใช่จะมีเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในการดูดสารพิษภายในอาคารได้ดีอีกด้วย จึงจัดว่าเป็นไม้ดอกไม้ประดับอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่า
ดอกเยอบีร่ามีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว มีหลากสี สดใส ทั้งสีขาวไส้ดำ สีเหลืองไส้ดำ สีชมพูไส้ดำ สีแดงไส้ดำ สีส้มไส้ดำ สีบานเย็นไส้ดำ สีครีมไส้ดำ และสีเหลืองไส้ดำ ออกดอกได้ตลอดทั้งปี นำเข้า 14 สายพันธุ์ มาจากประเทศเนเธอร์แลนด์
ชื่อสามัญ : Gerbera , Barberton daisy
ชื่อวิทยาศาสตร์: Gerbera jamesonii
วงศ์: Compositae
ถิ่นกำเนิด: South Africa
แหล่งผลิตเยอบีร่า
ภาคเหนือ : เชียงราย พิษณุโลก เชียงใหม่ พิจิตร
ภาคใต้ : ภูเก็ต นครศรีธรรมราช
ภาคกลาง : สมุทรสาคร นนทบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ขอนแก่น อุบลราชธานี
ลักษณะของเยอบีร่า
เยอบีร่าเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะต้นเป็นกอเตี้ย ๆ มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นไม้พรรณพุ่ม ใบและก้านจะงอกจากตาที่ติดอยู่กับลำต้นใต้ดิน ขอบใบหยักเป็นแฉกแต่จะหยักลึกไม่เท่ากัน แผ่นใบนั้นไม่คลี่กางเต็มที่ ขอบใบทั้งสองข้างจะหุบเข้าหาเส้นกลางใบเล็กน้อย ก้านใบและใบมีขนละเอียด ขึ้นอยู่ทั่วไป
ดอกเยอบีร่ามีลักษณะเป็นดอกรวมประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากอัดกันแน่นอยู่บนฐานรองดอก ดอกย่อยนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- ดอกชั้นใน เรียกว่า ดิส ฟลอเร็ต (Disc florets) เรียงอยู่ชั้นในรอบใจกลางดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย เกสรตัวเมียของดอกชั้นในส่วนใหญ่จะเป็นหมัน
- ดอกชั้นนอก เรียกว่า เร ฟลอเร็ต (Ray florets) เป็นดอกตัวเมีย ไม่มีเกสรตัวผู้
พันธุ์เยอบีร่า
1.สายพันธุ์ไทย เป็นพันธุ์ที่พัฒนามาจากพันธุ์ดั้งเดิมที่นำเข้ามาปลูก มีลักษณะกลีบดอกแคบยาวซ้อนลดหลั่นลงมา มีสีสันไม่ค่อยสดใสนัก บางพันธุ์อาจมีกลีบดอกเป็นฝอย เรียกว่าหน้ายุ่ง ก้านดอกเล็กและสั้น ใบมีขนาดเล็ก ปรับตัวเขากับสภาพอากาศของภาคกลางได้ดีแต่มีอายุการปักแจกันสั้น เช่น
- กลุ่มดอกสีขาว : พันธุ์ขาวจักรยาว, ขาวจักรสั้น
- กลุ่มดอกสีเหลือง : พันธุ์เหลืองถ่อ, เหลืองพังสี
- กลุ่มดอกสีชมพู : พันธุ์บัวหลวง,มณฑา
- กลุ่มดอกสีแสด : พันธุ์สุรเสน,จำปา
- กลุ่มดอกสีแดง : พันธุ์แดงลักแทง,แดงตาเปิ่น
2. สายพันธุ์ยุโรป มีดอกชั้นเดียว ซ้อนหรือกึ่งซ้อน กลีบดอกกว้างกว่าสายพันธุ์ไทย 2-3 เท่า กลีบดอกหนา ก้านดอกใหญ่ยาวและแข็งแรง มีอายุการปักแจกันนาน ใบมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์ไทย ใจกลางดอกใหญ่ส่วนมากจะเป็นสีเหลือง หากเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้มเรียกว่า ไส้ดำ
เยอบีร่าสายพันธุ์ยุโรปอาจแบ่งย่อยตามการซื้อขายในตลาดโลก ได้ดังนี้
- ดอกชั้นเดียว มีกลีบดอกกว้างป้อมชั้นเดียวและหนาเยอบีร่าประเภทนี้ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน เช่น พันธุ์เออบานัสเทอร่าเฟม(ดอกสีเหลือง) , แปซิฟิก(ดอกสีชมพู), เซมิน่า(ดอกสีแดง)
- ดอกซ้อนและกึ่งซ้อน มีกลีบดอกหลายชั้น เช่น พันธุ์วิเซิด ( ดอกสีชมพู แดง/ขาว) , ฟิกาโร (ดอกสีชมพู) , เทอร่าสปิริท (ดอกสีแสดแดง) , อิมพาล่า ( ดอกสีขาว)
- ไส้ดำ เช่น พันธุ์เออบานัส (ดอกสีทองแดง) , แพนเทอร์(ดอกสีแดง) ,ริจิลิโอ (ดอกสีแดง), เล็บเพิด (ดอกสีเหลือง), ฟลามิงโก้ (ดอกสีชมพู)
3. สายพันธุ์อเมริกาและสายพันธุ์ออสเตรเลีย ลักษณะของกลีบดอกแคบยาวใจกลางดอกมีขนาดเล็กก้านดอกเล็กยาวคุณภาพและอายุการปักแจกันสู้พันธุ์ยุโรปไม่ได้
การคัดเลือกพันธุ์เยอบีร่า
- ขนาดของดอกควรมีขนาดของดอกตั้งแต่ 10-15 เซนติเมตร
- ลักษณะของดอกเมื่อแผ่เต็มที่แล้วควรทำมุม 180 องศากลีบดอกหนา ไส้กลางดอกใหญ่ปลายกลีบไม่งอนแอ่นหลัง
- สีสดใสไม่ซีดง่ายเมื่อเมื่อบานแล้วและมีอายุการปักแจกันนาน
- ก้านดอกควรตรงยาวและแข็งแรง เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ (มากกว่า 0.6 เซนติเมตร)
- ผลผลิตสูง ใน 1 ปี เยอบีร่าควรให้ผลผลิตมากกว่า 40 ดอก/ต้น/ปี
- มีความต้านทานโรคแมลงและปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม
การขยายพันธุ์เยอบีร่า
- การเพาะเมล็ด เมล็ดของเยอบีร่าจะมีลักษณะโค้งงอคล้ายรูปเคียว ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร วัสดุเพาะจะใช้ส่วนผสมของขุยมะพร้าวกับทรายหยาบ ในอัตราส่วน 1:1 ใส่ในกระบะพลาสติกซึ่งรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เกลี่ยหน้าดินให้เรียบเสมอกัน ใช้ไม้ทำร่องตามขวางของกระบะ ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว นำเมล็ดวางเรียงในร่องกลบด้วยวัสดุเพาะแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ประมาณ 3-5 วันเมล็ดจะงอก เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ จึงทำการย้ายลงถุงชำโดยใช้ดินผสมที่มีดินร่วน ปุ๋ยคอก แกลบและขี้เถ้าแกลบ ในอัตรา 1 :1 : 1 : 1 เป็นวัสดุปลูก นำไปวางไว้ในที่ร่มแดดรำไร เมื่อต้นกล้ามีอายุ 2.5-3 เดือน จึงย้ายลงแปลงปลูก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4- 4.5 เดือน จึงเริ่มให้ดอก การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดจะไม่ใช้ในระบบการผลิตเพื่อตัดดอกขาย แต่จะใช้เพื่อปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น
- การแยกหน่อ เป็นวิธีที่ใช้กันมากเพราะทำได้ง่ายและสะดวกการแยกหน่อเยอบีร่าควรทำเมื่อต้นเยอบีร่ามีอายุมากกว่า 7 เดือนโดยการขุดต้นเยอบีร่าขึ้นมาทั้งกอล้างดินออกให้หมดจึงแยกหน่อแต่ละหน่อควรมีควรมียอดอยู่อย่างน้อย 1 ยอด มีใบ 4-5 ใบ และมีรากติดอย่างน้อย 3 รากตัดรากและใบออกประมาณครึ่งหนึ่งเพื่อลดการคายน้ำจากนั้นนำหน่อที่แยกไปชำในกะบะที่มีวัสดุเพาะชำ เช่น ทรายและขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 ควรระวัง ไม่ให้ดินกลบยอดเพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย หลังจากนั้นนำไปวางไว้ในที่ร่มประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อต้นมีอายุ 4-5 สัปดาห์ จึงย้ายลงแปลงต่อไป
- การชำยอด การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้จะได้จำนวนต้นมากกว่าการแยกหน่อ แต่ต้นชำอาจเน่าได้ง่ายหากไม่ชำนาญพอการชำยอด ทำได้โดยการขุดต้นเยอบีร่าขึ้นมาทั้งกอ ล้างน้ำให้สะอาดตัดใบออกให้เหลือก้านใบประมาณ 5 เซนติเมตร ตัดยอดออกเพื่อกระตุ้นให้เกิดตาข้างแล้วนำไปชำในกะบะทราย เมื่อมียอดอ่อนแตกจากลำต้น จึงตัดและจุ่มฮอร์โมนเร่งราก แล้วนำไปชำจนออกรากก่อนย้ายปลูกลงถุงต่อไป
- วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีนี้สามารถผลิตต้นพันธุ์ได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นได้ต้นที่แข็งแรงปลอดโรคและตรงตามพันธุ์หลังจากนำต้นลงปลูกแล้วประมาณ 6 เดือน จึงจะให้ดอก ปัจจุบันการขยายพันธุ์เยอบีร่าเพื่อการค้านิยมวิธีการแยกหน่อและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การปฏิบัติดูแลรักษาเยอบีร่า
- ในสภาพท้องที่ ที่มีแสงแดดจัดมาก ควรปลูกเยอบีร่าในโรงเรือนที่มีความสูงอย่างน้อย 2.5 เมตร หลังคาใช้ซาแรนพลางแสงร้อยละ 50 เพื่อให้ก้านดอกยาว และดอกมีสีสันดีขึ้น นอกจากนี้ในฤดูฝนควรคลุมหลังคาโรงเรือนด้วยพลาสติกใสกันฝน เพื่อให้ดอกมีคุณภาพดีขึ้น และป้องกันการเกิดโรค
- ควรดูแลแปลงปลูกให้มีความชื้นตลอดเวลา
- พรวนดินหลังจากต้นเยอบีร่าตั้งตัวดีแล้ว เพื่อช่วยให้ดินโปร่ง และเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว และควรระวังรากเยอบีร่าจะขาด เพราะในช่วงนี้เยอบีร่ากำลังแตกรากใหม่
- ควรจัดหาวัสดุคลุม แปลง เช่นฟางข้าว เปลือกถั่ว แกลบผุ หรืออื่น ๆ เพื่อให้ดินสามารถเก็บความชื้นได้นาน และยังป้องกันหน้าดินแน่น และดินกระเด็นมาถูกใบขณะรดน้ำด้วย
- การแต่งพุ่ม หลังจากปลูกเยอบีร่าแล้วต้นจะเจริญเติบโตแตกกอพร้อมทั้งให้ดอก การดูแลนอกจากจะต้องตัดใบแก่ที่เหี่ยวแห้งหรือเป็นโรคออกทิ้งแล้วหากพุ่มแน่นเกินไป จะต้องตัดแต่งใบออกไม่ให้บังกันโดยให้มีใบเหลืออยู่ติดกับต้นประมาณ 20-25 ใบ
- เยอบีร่าต้องการน้ำมากแต่ไม่ชอบน้ำ ระยะ 2-3 สัปดาห์แรกควรให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ต่อมาควรให้น้ำแบบหยดเพราะจะทำให้ได้น้ำสม่ำเสมอและน้ำไม่เปียกใบและดอก การให้น้ำไม่สม่ำเสมอจะทำให้ก้านดอกเปราะ แตก และหักได้ง่าย
- ปุ๋ยที่ให้เยอบีร่า แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกตั้งแต่ระยะต้นเริ่มแตกใบใหม่จนถึงระยะต้นมีดอกแรกใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 อัตรา 3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร ให้ร่วมกับธาตุรองทุก 7 วัน ส่วนช่วงที่สอง หลังจากที่เยอบีร่าออกดอกแล้ว ใช้ปุ๋ยสูตร 10-52-17 อัตรา 3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตร รดสลับกับปุ๋ยยูเรีย ทุก 15 วัน
การเก็บเกี่ยวเยอบีร่า
ควรเก็บดอกในระยะที่เกสรตัวผู้บาน 1-2 วง โดยจับก้านดอกโยกเข้าหาตัวแล้วกระตุกขึ้น เนื่องจากตรงโคนก้านดอกจะเป็นเนื้อเยื่อที่แข็งสามารถป้องกันการสูญเสียน้ำของดอกได้ เมื่อดึงดอกออกมาแล้วให้รีบนำไปแช่น้ำ เวลาเก็บเกี่ยวเยอบีร่าทำได้ทั้งในช่วงเช้าและบ่าย
การใช้สารเคมีหลังการเก็บเกี่ยวเยอบีร่า
หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะแช่ดอกเยอบีร่าในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ 5% หรือสารฟอกผ้าขาว อัตรา 7 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร โดยน้ำที่ใช้ต้องเป็นน้ำที่สะอาด ก่อนนำก้านลงแช่ให้ตัดปลายก้านออก 2เซนติเมตร เพราะส่วนปลายก้านที่ติดอยู่กับต้นเป็นเนื้อเยื่อที่แข็งสามารถดูดน้ำได้น้อย และแช่จนกว่าจะนำไปบรรจุหีบห่อต่อ
สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตเยอบีร่า
- พื้นที่ปลูก สามารถปลูกได้ในดินที่ร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี และมีความชื้นในดินสม่ำเสมอ การระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุสูง ดินควรมีค่า pH 5.5 – 6.5
- อุณหภูมิ กลางวัน 21 – 25 0C กลางคืน 15 – 17 0C
- แสง ปลูกใต้ซาแลนที่พรางแสงได้ 50 %
- ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ 80%
เรียบเรียงโดย : นางสาวศรินยา จันทร์เดช
หน้าถัดไป (2/2)