แอสเตอร์
แอสเตอร์เป็นไม้ดอกที่ปลูกกันมากกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งปลูกได้เฉพาะฤดูหนาวหรือสภาพอากาศเย็นเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถปลูกกันได้ตลอดปีและได้มีการนำพันธุ์แอสเตอร์ชนิดใหม่คือ Aster ericoides ซึ่งเป็นไม้ข้ามปีเข้ามาอีก พื้นที่การผลิตในปี 2534/2535 มีประมาณ 400 ไร่ นอกจากปลูกเพื่อถอนต้นขายแล้วยังเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถางได้ การผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศและได้มีการส่งออกบ้างแล้วแต่มีปริมาณน้อย ประเทศรับซื้อคือ กรีกและซาอุดิอาระเบีย
ลักษณะทางพันธุศาสตร์
แอสเตอร์จีน (China Aster)
มีลักษณะลำต้นคล้ายกับเบญจมาศ ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเป็นแบบ Head ประกอบด้วยดอกย่อย 2 ประเภทคือ ดอกชั้นนอกและดอกชั้นในเรียงซ้อนกัน ดอกมีหลายสีชั้นนอกและชั้นในจะมีสีเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ สีของดอกเช่น สีขาว แดง ชมพูและม่วง เป็นต้น ส่วน Aster ericoides เป็นแอสเตอร์ที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอกและไม้ประดับตกแต่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ข้ามปี (Perenial) เมื่อออกดอกแล้วต้นยังไม่ตาย สามารถปลูกให้ดอกได้ตลอดปี ใบเป็นใบเดี่ยวเช่นเดียวกันดอกแบบ Head มีดอกย่อย 2 ประเภทเช่นกัน สีของดอกเช่น ขาว เหลือง ชมพูและม่วง เป็นต้น
พันธุ์
1. แอสเตอร์จีน (China Aster)
1.1 พันธุ์พาวเดอร์ฟัฟฟ์ (Powder puff)
พุ่มต้นขนาดกลางสูงประมาณ 15-24 นิ้ว กลีบดอกสั้น ซ้อนกันแน่นและบิดเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 2-3 นิ้ว เจริญเติบโตได้ดีในที่มีอากาศเย็น โดยเฉพาะในฤดูหนาวของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเป็นพันธุ์ที่เหมาะจะปลูกเพื่อถอนต้นจำหน่าย ต้านทานโรคเหี่ยวได้ดี
1.2 พันธุ์แดงไส้เหลือง
พุ่มต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 24 นิ้ว ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกชั้นนอกมีสีแดง ไส้กลางสีเหลือง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 1-1.5 นิ้ว ออกดอกเร็ว ก้านช่อดอกและต้นสีเปลือกมังคุด เป็นต้นพันธุ์ที่ติดเมล็ดดี จึงนิยมที่จะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ ไม่มีผลกระทบต่อช่วงแสงและและอุณหภูมิจึงปลูกได้ตลอดปี ทุกภูมิภาคของประเทศไทย แตกกิ่งก้านและดอกแน่น ก้านดอกแข็งและตั้งตรงจึงเหมาะที่จะถอนต้นล้างรากนำปักแจกันหรือใช้ดอกทำช่อดอกไม้ได้ดี จึงเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก
2. Aster ericoides
2.1 แอสเตอร์ดาวเงิน
เป็นแอสเตอร์ที่นิยมใช้กันมาก ดอกชั้นนอกสีขาว ดอกชั้นในสีเหลือง ดอกขนาดเล็กเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ใบเรียวเล็ก ขอบใบเรียบ เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี แอสเตอร์ดาวเงินนี้ บางทีเรียกว่า "แอสเตอร์พีค็อก"
2.2 แอสเตอร์ดาวทอง
เป็นแอสเตอร์พันธุ์ใหม่ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยและก็สามารถปลูกได้ดี ดาวทองหรือ Solidaster นี้ เป็นลูกผสมข้ามระหว่างสร้อยทอง (Solidago) และแอสเตอร์ (Aster ptarmicioides) ปลูกง่ายขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด ดอกเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ดอกมีขนาดเล็ก สีเหลืองทั้งดอกชั้นนอกและชั้นใน แต่เมื่อบานนาน ๆ สีดอกจะจางลงเป็นสีครีม ใบเรียวเล็ก ขอบใบเรียบ
2.3 แอสเตอร์ดาวชมพู
ดอกมีลักษณะคล้ายดาวเงินโดยต่างกันที่ดอกชั้นนอกจะมีสีชมพูอ่อน ดอกชั้นในสีเหลือง เมื่อบานนาน ๆ ดอกจะซีดจางลง ดอกขนาดใหญ่กว่าดาวเงินเล็กน้อย ออกดอกเป็นช่อ แตกกิ่งสาขามากมาย ใบเรียวขนาดใหญ่กว่าดาวเงิน ขอบใบเรียบ
2.4 แอสเตอร์ดาวพระศุกร์
ดอกมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดากลุ่มนี้ ดอกชั้นนอกมีสีม่วงแกมน้ำเงินดอกชั้นในมีสีเหลือง ช่อดอกแข็งแรงตั้งตรง แตกกิ่งย่อยสั้น ๆ ขนาดเท่า ๆ กัน ใบอ้วนกว้าง ขอบใบหยักนิยมปลูกประดับแปลงปัจจุบันใช้เป็นไม้ตัดดอกได้แต่มีอายุการใช้งานสั้นกว่าดาวเงิน แอสเตอร์นี้บางทีเรียกว่า "มากาเร็ต"
2.5 แอสเตอร์ดาวอังคาร
ดอกขนาดกลาง ดอกชั้นนอกมีสีชมพูสวยงาม ดอกชั้นในมีสีเหลือง ดอกออกเป็นช่อแตกกิ่งมากมาย ใบอ้วนใหญ่ ขอบใบเรียบ ใช้ปลูกประดับแปลงและใช้เป็นไม้ตัดดอกได้แต่บานไม่ทน แอสเตอร์นี้ปลูกกันในเมืองไทยนานแล้วโดยปลูกคู่กับแอสเตอร์ดาวพระศุกร์
2.6 แอสเตอร์ดาวจุฬา
เป็นแอสเตอร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีชื่อว่า "Pink Star" ช่อดอกยาว แตกกิ่งย่อยขนาดไล่เลี่ยกัน ดอกขนาดเล็กกว่าแอสเตอร์ดาวพระสูกร์ ดอกชั้นนอกมีสีชมพูสวยงาม ดอกชั้นในสีเหลือง ใบเรียวเล็ก ขอบใบหยัก ปลูกเป็นไม้ตัดดอกได้ดี
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ ทำได้ 3 วิธี คือ
1. การเพาะเมล็ด
การเพาะในภาชนะ เช่น ตะกร้าพลาสติกโปร่ง โดยมีความลึกของภาชนะประมาณ 2.5-3 นิ้ว ปูพื้นและด้านข้างของตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชั้น วัสดุเพาะใช้ดิน : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1:1 ปรับหน้าดินให้เรียบ ตีร่องลึกประมาณ 0.5 ซม. แต่ละร่องห่างกันประมาณ 2.5 ซม. โรยเมล็ดลงในร่องบาง ๆ เนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็กจึงควรนำเมล็ดผสมรวมกับทรายละเอียดแห้ง อัตรา 1:10 กลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะบาง ๆ พอมิดเมล็ด ปิดทับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่งรดน้ำแล้วรดยากันราและยาฆ่าแมลง รดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากเพาะประมาณ 5-10 วัน เมล็ดจะงอก n การเพาะในแปลงเพาะ เป็นวิธีการเพาะที่ได้ผลดี เช่นเดียวกับการเพาะในภาชนะ ถ้าหากมีการปฏิบัติดูแลอย่างใกล้ชิด วัสดุเพาะ การดูแลอื่น ๆ และการปฏิบัติเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดในภาชนะ ต่างกันที่ตรงที่ต้องยกแปลงเพาะขึ้นมา การทำแปลงเพาะแบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีความชำนาญแล้ว หลังจากกล้างอกแล้วไม่ต้องย้ายกล้าลงไปชำในถุง สามารถย้ายปลูกได้เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 4 ใบ เทคนิคการทำให้เมล็ดแอสเตอร์งอกเร็วและสม่ำเสมอ โดยการนำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 40 องศา C นานประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนหว่านจะทำให้เมล็ดงอกภายใน 3-5 วัน หลังจากงอกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์หรือใบจริง 1-2 คู่ จึงทำการย้ายกล้าซึ่งมี 2 วิธี คือ (1) การย้ายกล้าลงในถุงชำ โดยใช้ถุงขนาด 10 x 15 ซม. โดยใช้วัสดุปลูกคือ ดิน : ทราย : ปุ๋ยคอก : ขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2:2:1:1 เลี้ยงไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงย้ายปลูกลงแปลงอีกครั้งหนึ่ง วิธีการนี้ไม่ค่อยนิยมเพราะว่า เสียค่าใช้จ่ายและแรงงานเพิ่มขึ้น (2) การย้ายปลูกลงแปลง
2. การแยกหน่อ
เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมทำกับ Aster ericoides เท่านั้น เป็นการขยายพันธุ์จากยอด หรือหน่อ จะต้องชำให้ออกรากในกระบะพลาสติกเสียก่อน วัสดุที่ใช้เป็นดิน : ทราย : ขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1:1:1 ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการออกรากแล้วย้ายแต่ละต้นลงปลูกในถุงพลาสติกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้
3.การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
สามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ปลอดโรคได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็วเหมาะที่จะนำไปใช้ขยายพันธุ์แอสเตอร์พันธุ์ใหม่ ๆ
การปลูก
การปลูก ดินควรเป็นดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุ ความเป็นกรด-ด่าง ของดิน 6.5-7.0 ให้เตรียมแปลงปลูก กว้างประมาณ 1 เมตร ใช้ระยะปลูก 20 x 20, 25 x 25, 25 x 30 ซม. ก็ได้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต อัตรา 1 ช้อนชา ปุ๋ยคอก อัตรา 1 กำมือ นำต้นกล้าจากถุงชำ หรือจากแปลงเพาะมาปลูก ถ้าย้ายปลูกลงแปลงเลยควรจะย้ายในช่วงเย็น อย่าปลูกให้ลึกเพราะว่าเวลาให้น้ำจะทำให้ดินกลบยอดต้นกล้า จะเน่าตายภายหลังได้ รดน้ำให้ชุ่ม ในกรณีที่ทำเป็นไม้ประถาง ใช้กระถางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ววิธีปลูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมคือช่วงฤดูหนาว ดอกจะได้ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่พอดี
การดูแล
1. การให้น้ำ ในระยะกล้าไม่ควรให้น้ำมากเกินไป หลังจากย้ายปลูกลงในกระถางหรือลงแปลงปลูกแล้วควรรดน้ำให้โชกถ้าเป็นไปได้ควรรดน้ำวันละครั้งในตอนเช้า เมื่อดอกเริ่มบานไม่ควรรดน้ำให้โดนดอกเพราะจะทำให้ดอกเน่าและเป็นโรคง่าย ช่วงติดเมล็ดรดน้ำให้สม่ำเสมอมิฉะนั้นจะทำให้การติดเมล็ดไม่ดี
2.การใส่ปุ๋ย
ในระยะกล้าควรใช้ยูเรียละลายน้ำในอัตรา 1-2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร รดให้ทั่วแล้วรดน้ำตามอีกครั้ง ควรรดปุ๋ยทุก ๆ 5-7 วัน จะทำให้กล้าโตเร็ว หลังจากย้ายกล้าแล้วประมาณ 30 วันให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12, 15-15-15, 15-30-15 อัตรา 1 ช้อนชาต่อต้น โดยรอบโคนต้นแนวรัศมีทรงพุ่มกลบด้วยดิน แล้วใส่หลังจากนั้นทุก ๆ 15วัน นอกจากนี้ควรจะใช้ปุ๋ยทางใบ เช่น ปุ๋ยเกล็ดเชลล์ เวลโกร ไบโฟลาน หรือราพีด อัตรา 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นหรือรดไปบนต้น ทุก ๆ 3 วัน
การตัดดอก
แอสเตอร์เป็นพืชอายุสั้น จะให้ดอกทันทีที่มีอายุครบ 60-90 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ China Aster จะถอนต้นล้างรากจำหน่ายเมื่อเห็นว่าดอกบานกว่า 60% โดยจะเลือกถอนเป็นรุ่น ๆ ห่างกัน 5-7 วัน หรือแล้วแต่ความต้องการของตลาด หลังจากการถอนแล้วนำต้นไปล้างเอาดินที่ติดออกให้หมดและเด็ดใบที่โคนออก 5-6 ใบ นำไปบรรจุหีบห่อทำโดยมัดเป็นห่อใหญ่แยกเป็นกำ ๆ ละ 2-3 ต้น การถอนต้นจะทำในตอนเช้ามืด และตอนเย็น Aster ericoides จะนิยมตัดดอกขาย ในการตัดควรตัดดอกที่บานกว่า 60% แล้วเช่นกัน หลังจากนั้นใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มทับอีกทีเตรียมส่งตลาด หลังจากตัดดอกครั้งแรกแล้วควรงดน้ำเพื่อให้ดินแห้งทำการตัดต้นออกให้ถึงโคนเมื่อเริ่มแตกหน่อใหม่จึงเพิ่มการให้น้ำมากขึ้น ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 ก็จะให้ดอกอีกรุ่นหนึ่งเมื่อได้ดอกรุ่นที่สองแล้ว ปฏิบัติเหมือนเดิมก็จะได้ดอกรุ่นที่สาม สี่ต่อไป
การเก็บเมล็ดพันธุ์
ช่วงที่เหมาะสมในการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์คือปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไปเมล็ดจะเริ่มแก่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ อากาศเย็นทำให้การติดเมล็ดสูงสามารถปลูกเพื่อเก็บเมล็ดได้ในภาคเหนือหรือท้องที่ใกล้เคียงที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้นการเก็บเมล็ดจะคัดเลือกต้นที่ใหญ่ สมบูรณ์แข็งแรงดอกมีขนาดใหญ่ สีสด ฟอร์มดี ลักษณะของดอกแก่พร้อมเก็บ คือ ปลายกลีบดอกจะแห้ง เกสรจะแยกออกที่ใจกลางของดอกเป็นขุยเมื่อเก็บเมล็ดได้ นำมาตากแดดอ่อน ๆ 2-3 วัน เก็บไว้ในภาชนะที่ปิดสนิทนำไปเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิ 9-10 องศา C สามารถเก็บได้นาน 2-3 ปี
โรคและแมลง
- โรคโคนเน่า (Damping off) เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia spp. พบในระยะต้นกล้าเท่านั้น ซึ่งเชื้อนี้อาจติดมากับเมล็ด หรือตกค้างอยู่กับดินเพาะเมล็ด ทำให้โคนต้นกล้าเน่าและตายจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ป้องกันกำจัดโดยใช้ยาพวกเทอราคลอร์ เทอราโซล และอบดินฆ่าเชื้อก่อนการเพาะเมล็ด
- โรคเหี่ยวเฉา (Fusarium Wilt) เกิดจากเชื้อรา (Fusarium conglatinan callistephus) พบมากและร้ายแรงที่สุดในแปลงที่เคยปลูกเบญจมาศมาก่อน ต้นที่เป็นโรคจะมีอาการเหี่ยวเฉาอย่างรวดเร็ว ปรากฏมากในระยะที่แอสเตอร์โตเต็มที่หรือก่อนออกดอกเชื้อจะเข้าทำลายส่วนล่างของลำต้น โดยจะปรากฏเป็นสีส้มตรงโคนต้นใกล้พื้นดิน หากตัดลำต้นที่ปรากฏเป็นโรคนี้ตามขวาง จะพบว่ามีวงแหวนสีน้ำตาลแดงอยู่ใน บริเวณท่อส่งน้ำและอาหาร การป้องกันทำได้โดยใช้สารกันเชื้อรา เช่น เทอราคลอร์ราดในดินก่อนปลูก
- โรครากปม (Root Knot) แอสเตอร์ที่ปรากฏอาการของโรครากปมนี้มักไม่ตาย เพียงแต่ต้นไม่เจริญเติบโตตามปกติ มีลักษณะแคระแกรน ในตอนกลางวันที่อากาศร้อนจัดจะแสดงอาการเหี่ยวเฉา และจะฟื้นตัวในตอนกลางคืน ถ้าถอนต้นดูจะพบว่าตรงบริเวณรากจะบวมและเป็นปมเล็ก ๆ เนื่องจากมีไส้เดือนฝอยชนิดหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่หากปล่อยไว้รากจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือดำ ผุและเปื่อยเร็วกว่าปกติ ไส้เดือนฝอย สามารถแพร่ระบาดได้โดยทางน้ำ ติดไปกับดิน หรือต้นที่เป็นโรค และเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร การป้องกันโดยใช้เทมมิค 10 จี, ฟูราดาน, หรือคูราแทร์ฝังดิน
- โรคดอกสีเขียวพบว่าดอกจะมีสีเขียว ขอบกลีบดอกมีสีแดงปะปน ต้นแคระแกรนกว่าปกติเล็กน้อย รูปร่างของดอกไม่เปลี่ยนแปลงโรคนี้เกิดจากเชื้อไมโคพลาสมา (mycoplasma) จากวัชพืชโดยเพลี้ยจั๊กจั่น
- โรคราสนิม (Rust) เกิดจากเชื้อรา พบว่าระบาดมากในช่วงฤดูฝน หรือวันที่มีน้ำค้างมาก และเกิดกับต้นขณะที่กำลังออกดอก ที่ใต้ใบพบว่ามีสีส้มคล้ายสนิมเหล็ก การป้องกัน เวลารดน้ำ ควรระวังอย่าให้น้ำถูกต้นและใบ เพราะจะทำให้เชื้อรานี้ระบาดได้ง่าย ใช้สารประกอบของกำมะถัน หรือเฟอเมทฉีด พ่นเป็นครั้งคราว
- เพลี้ยอ่อน (Aphids) เป็นแมลงปากดูด ชอบเกาะเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณส่วนอ่อนของต้น ทำให้เป็นสาเหตุของดอกและใบบิดเบี้ยว การป้องกันกำจัดฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดมดซึ่งเป็นพาหะของเพลี้ยอ่อน
- เพลี้ยไฟ (Trips) เป็นแมลงซึ่งทำอันตรายแก่ใบอ่อนของแอสเตอร์ ทำให้ใบมีอาการหงิกงอ เพลี้ยไฟนอกจากจะทำลายแอสเตอร์โดยตรงแล้ว ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคเหี่ยว (Spotted Wilt) แก่ต้นแอสเตอร์อีกด้วย การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี โตกุไธออน ฉีดพ่นทุก 1-2 สัปดาห์ หรือเมื่อปรากฏมีเพลี้ยไฟนี้ นอกจากนั้นยังอาจใช้เซฟวิน เคลเทน และมาลาไธออนกำจัด
- ไรแแดง (Spider Mite) ชอบทำลายยอดอ่อนทำให้ดอกไม่สมบูรณ์ มีลักษณะแคระแกรน บางครั้งพบว่าทำลายใบโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากใบทำให้ใบร่วง การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี เช่น เคลเทน ฉีดพ่นเมื่อปรากฏพบ
- หนอนเจาะดอกจะเข้าทำลายโดยกัดกินดอกอ่อน และเมล็ดอ่อน ทำให้ดอกเสียหาย เมล็ดไม่สมบูรณ์และเปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อยลง การป้องกันจำกัด ใช้สารเคมี เช่น อโซดริน มาลาไธออน แลนเนท เซฟวิน 85 ฉีดพ่นทุก 1-2 สัปดาห์
การตลาด
ตลาดแอสเตอร์ที่สำคัญมี 2 แห่งคือ ตลาดวโรรสเชียงใหม่ และตลาดปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร สำหรับแอสเตอร์จีน ดอกจะมีจำหน่ายมากในฤดูหนาวโดยจำหน่ายเป็นกำ ๆ ละ 3 ต้น ราคาเฉลี่ยประมาณกำละ 5-10 บาท หรือ อาจจะเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15-20 บาท (1 ก.ก. มีแอสเตอร์ 35-45 ต้น) และจำหน่ายให้ผู้ซื้อกิโลกรัมละ 35-40 บาท จำหน่ายย่อยต้นละ 1.50-2.00 บาท ส่วน Aster ericoides พันธุ์ดาวเงินจะตัดดอกขายโดยจะขายในราคา 100-120 บาท/กิโลกรัม (ประมาณ 8-10 ช่อ) ในพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรสามารถผลิตช่อได้ 120,000-300,000 ช่อ/ปี
ที่มา : กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.