น้ำเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา เมื่อราคาข้าวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ชาวนาอยากทำนาปรังในฤดูแล้ง แต่น้ำชลประทานที่มีจำกัดไม่พอแบ่งปันให้ทั่วถึง เมื่อถึงนาปีชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำนาน้ำฝนมักจะประสบปัญหาขาดน้ำเมื่อฝนทิ้ง ช่วง แต่ตอนนี้ชาวนาคลายความวิตกกังวลได้แล้ว เนื่องจาก ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม หัวหน้ากลุ่มวิจัย “ทรัพยากรพันธุกรรมและธาตุอาหารพืช” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาพืชไร่ ได้แนะ วิธีการปลูกข้าวโดยไม่ขังน้ำ เรียกว่า “ข้าวแอโรบิก” น่าจะเป็นทางออกได้ทางหนึ่ง สำหรับชาวนาที่มีปัญหาเรื่องน้ำ และจะช่วยให้ประเทศไทยผลิตข้าวได้มากขึ้นจากน้ำที่มีอยู่จำกัด โดยการใช้น้ำน้อยลงสำหรับการผลิตข้าว แต่ละไร่และแต่ละกิโลกรัม
ศ.ดร.เบญจวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกข้าวไร่ด้วยระบบดั้งเดิมยังพอมีเหลืออยู่ในที่สูง และที่ยังให้ผลผลิตดีต้องการระยะเวลา หมุนเวียนอย่างน้อยถึง 7 ปี แต่การปลูกข้าวแอโรบิกนี้มีความแตกต่างตรงที่เป็นระบบเพาะปลูกสมัยใหม่ที่มี การดูแลรักษาและให้ปัจจัยการ ผลิต อาทิ ปุ๋ย น้ำ อย่างพอเพียงทั่วถึง มีการกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะวัชพืชเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นระบบที่มีการเพาะปลูกเชิงการค้าอย่างได้ผลมาแล้วนับสิบ ๆ ล้านไร่ในประเทศบราซิลและ จีนทางเหนือ โดยการขาดแคลนน้ำในการทำนา ทำให้ประเทศจีนมีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวแอโรบิกให้ได้ถึง 55 ล้านไร่ นับเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ ทั้งนี้ ข้าวแอโรบิกแตกต่างจากการทำนาสวนตรงที่ไม่มีการทำเทือก ไม่มีความพยายามขังน้ำในกระทงนา แต่ให้น้ำพอดินชุ่มเหมือนพืชไร่อื่นที่ไม่ใช่ข้าว
ข้อได้เปรียบของข้าวแอโรบิก คือ ช่วยให้ประหยัดน้ำ อีกทั้งปลูกข้าวได้ในพื้นที่มากกว่า ปีไหนฝนดีข้าวแอโรบิกอาจต้องการน้ำชลประทานเสริมเพียง 1-2 ครั้ง แต่ในช่วงวิกฤติน้ำชลประทานอาจพอเพียงปลูกข้าวแอโรบิกได้ ถึง 5-10 ไร่ ในฤดูแล้งที่ฝนตกเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีฝนเลย น้ำที่ใช้ทำนาปรัง 1 ไร่ จะพอเพียงปลูกข้าวแอโรบิกได้ถึง 3-4 ไร่
นอกจากนี้ ชาวนาที่มีค่าน้ำมันหรือไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำเข้านาสวนได้เพียงไร่เดียว ก็จะปลูกข้าวแอโรบิกได้ถึง 5-10 ไร่ในฤดูนาปี และได้ถึง 3-4 ไร่ ในฤดูนาปรัง ทั้งนี้น้ำที่ประหยัดได้จริงจะแตกต่างกันตามพื้นที่และฤดูกาล ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน ชนิดดินที่อุ้มน้ำได้มากน้อยต่างกัน ลักษณะสภาพแวดล้อมทางอุณหภูมิและความชื้นที่กำหนดควบคุมการใช้น้ำของต้นข้าว จึงนับได้ว่าการปลูกข้าวแอโรบิกมีศักยภาพที่เด่นชัดสำหรับชาวนาในเขตนาน้ำฝน แม้ในเขตชลประทานการปลูกข้าวแอโรบิกจะช่วยเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อปลูกข้าว ได้อีกหลายเท่าตัวจากการทำนาสวน
ศ.ดร.เบญจวรรณ กล่าวปิดท้ายรายการว่า…
การปลูกข้าวแอโรบิก นับว่ามีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกสมัยใหม่เป็นอย่าง ยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการใช้เครื่องจักรตลอดทุกขั้นตอนของการดำเนินการ เช่น ในบางท้องที่ของภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง การปลูกข้าวแอโรบิกจึงน่าจะพัฒนาระบบการเพาะปลูก ที่ประหยัดแรงงานและใช้เครื่องจักรได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราต้องทำการศึกษาทางวิชาการพื้นฐานเรื่องการปรับตัวของพันธุ์ ข้าวไทยที่หลากหลายต่อสภาพดินน้ำไม่ขังหรือดินน้ำขังไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสนับสนุนพัฒนาการของระบบการปลูกข้าวแอโรบิกประหยัดน้ำนี้ให้ได้ผล.