-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 560 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

นาข้าว




หน้า: 1/2


ข้าวพื้นเมือง


 

หลังจาก ข้าวกล้อง เบียดตัวสู่ตลาดด้วยกระแสห่วงใยสุขภาพ ล่าสุด พบมีข้าวชื่อแปลกๆ ถูกนำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ ข้าวสังข์หยด หอมมะลิแดง ฯลฯ

ก่อนซื้อข้าวสักถุง นอกจากราคา ยี่ห้อ ความอร่อย และหุงขึ้นหม้อแล้ว คุณเลือกจากอะไรอีกบ้าง...

ผู้ผลิต แหล่งที่มา หรือพันธุ์ ที่อาจพิมพ์กำกับไว้ตัวเล็กๆ ปลายถุง คนที่ใส่ใจตัวเอง คงต้องดูบ้างล่ะ แต่ครั้นจะให้ลึกลงไปอย่างใช้ปุ๋ยอะไร พันธุ์ข้าวมาจากไหน เก็บเกี่ยวกันอย่างไร คงสุดวิสัยจริงๆ 

แล้วถ้าไปให้ไกลถึง 'ข้าวพื้นเมือง' คงต้องถามตัวเองก่อนว่า เรารู้จักข้าวอะไรบ้าง นอกจาก ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว และข้าวสวย! 

แต่ถ้าเราคิดว่า มันคือ 'จานหลัก' ที่เราต้องกินทุกวัน เรื่องยิบย่อยพวกนี้ล้วนส่งผลต่อร่างกายทั้งสิ้น

‘ข้าวพื้นเมือง’ เรื่องพื้นพื้น (บ้าน)
'ข้าวพื้นเมือง' หรือ 'ข้าวพื้นบ้าน' กำเนิดจากการเพาะพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ทรหดต่อแดดฝน เหมาะสมกับดินในท้องที่โดยฝีไม้ลายมือการคัดเลือกของชาวนาในท้องถิ่น ปลูกแล้วจึงเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ส่งต่อจากลูกสืบหลาน อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของข้าวตามธรรมชาติ เมื่อเพาะปลูกข้าวหลายๆ พันธุ์ในท้องนาเดียวกัน ข้าวสายพันธุ์เดิมก็แอบผสมปนกันเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ แต่เมื่อไม่พ้นสายตาชาวนาผู้เฝ้าสังเกต ข้าวพันธุ์ใหม่ที่เกิดมาจะถูกเก็บรักษาพันธุ์ไว้หว่านนาในฤดูต่อไป  

ชื่อเรียกพันธุ์ข้าวที่ชาวนาค้นพบ จึงออกมาเป็นแบบบ้านๆ อย่าง ตาแห้ง หน่วยเขือ หอมมะลิแดง เล้าแตก แม่หม้ายคานหัก เจ๊กกระโดด ชัยนาท หรือชื่ออื่นๆ อีกสารพัน ซึ่งอาจตั้งตามสถานที่ สีเปลือก และอีกร้อยแปดสุดแต่ชาวบ้านจะคิดสรรค์

การคัดเลือกพันธุ์ข้าวไม่ใช่ผู้ปลูกเท่านั้นที่ทำการเก็บรวบรวมเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด ทางราชการเอง เริ่มอย่างเป็นทางการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้จัดประกวดสายพันธุ์ข้าว เพื่อยกระดับมาตรฐานการส่งออกข้าวของไทย ให้นำพันธุ์ดีมาปลูก และส่งออกต่างประเทศต่อไปตั้งแต่ พ.ศ. 2441

แต่ปัจจุบันข้าวพื้นเมืองถูกแย่งตำแหน่งด้วยข้าวพันธุ์ผสมที่ทางราชการส่งเสริม ตามมาด้วยการหนุนนำจากบริษัทยักษ์รายใหญ่ ทำให้สายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในกำมือของเกษตรกรอีกต่อไป แต่ต้องตามง้อบริษัท ตั้งแต่ซื้อเมล็ดพันธุ์ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี วิถีแห่งชีวิตเดิมๆ จึงกลายเป็นฝันกลางวันกลางทุ่งที่แห้งผาก เพราะดินเสื่อมคุณภาพจากสารเคมี

ตั้งหลักไมล์ ให้ข้าวพื้นเมือง
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ให้เหตุผลสี่ข้อว่าทำไมต้องกลับมามองหาข้าวพันธุ์พื้นเมือง

เหตุผลประการแรก คือ การผสมพันธุ์ข้าวสมัยใหม่เน้นผลผลิตต่อไร่ แต่ไม่ให้ความสำคัญด้านอื่น

“การปรับปรุงพันธุ์ข้าวสมัยใหม่เน้นอย่างเดียวคือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อให้เป็นอาหารเพียงพอแก่ประชากรโลก เวลาขายเป็นเงินจะได้เยอะๆ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญด้านอื่นเลย เช่น สภาพแวดล้อม หรือโภชนาการข้าว ซึ่งได้รับความสนใจน้อยมาก”

ประการต่อมา ข้าวสมัยใหม่ทำลายฐานพันธุ์ข้าวพื้นเมือง หากไม่มีการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ฐานพันธุกรรมข้าวจะแคบลงจนไม่หลงเหลือสายพันธุกรรมที่จะนำมาเชื่อมต่อเพื่อปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต 

ตามมาติดๆ ด้วยเหตุผลสองประการสุดท้ายที่วิฑูรย์บอกว่า เราต้องกลับมาหาข้าวพื้นเมืองก็เพื่อ ป้องกันการผูกขาดพันธุ์ข้าวในระยะยาว ทั้งยังตอบรับกับกระแสเกษตรอินทรีย์ ออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ในยุคที่ใครต่อใครเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น 

“ปัจจุบันพันธุ์ข้าวอยู่ในมือของบริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ระยะยาวถ้าเกิดผูกขาด เกษตรกรจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงต้องจริงจังกับการฟื้นข้าวพื้นเมืองขึ้นมา เพื่อต่อสู้และฟื้นคุณค่าด้านต่างๆ ของข้าวกลับคืน ทั้งโภชนาการ ทั้งการไม่พึ่งพาเคมี ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ถูกปรับปรุงต้องใช้ยาฆ่าแมลง แต่ข้าวพื้นเมืองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และแข็งแรงกว่า” วิฑูรผู้คร่ำหวอดในวงการข้าวบอก

ด้าน เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในองค์กรเอกชนที่สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะปลูกตามแนวเกษตรอินทรีย์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวด้วยตนเอง บอกว่า ทุกวันนี้ชาวนาทั่วไปต้นทุนสูง ต้องเป็นหนี้เพราะทำพันธุ์ข้าวเองไม่เป็น จึงต้องใช้เงินไปซื้อพันธุ์ข้าวมา แถมยังจะต้องเสียค่าปุ๋ยค่ายาเพิ่มอีกต่างหาก ทำให้ต้นทุนสูงแต่ผลผลิตคุณภาพต่ำ กำไรลด

“รัฐบาลกลับไปส่งเสริมให้ปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม ทั้งที่บริษัทใหญ่คุมพันธุ์หมด ชาวนาที่ปลูกก็ต้องซื้อพันธุ์ตลอดทุกฤดู เพราะพันธุ์ข้าวลูกผสมพวกนี้ เก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อเองไม่ได้ มันจะกลายหมด ราคาก็อยู่ที่ตันละ 150,000 บาท ทั้งที่ชาวบ้านทำพันธุ์เองต้นทุนแค่ตันละ 6,000-7,000 บาท” เดชาแจกแจง

ส่วนสนนราคาของพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าวที่มีบริการจำหน่ายพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูกหว่าน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 20 บาท

“ตอนนี้ชาวบ้านซื้อพันธุ์ข้าว 20 กว่าบาทยังเป็นหนี้เป็นสินขนาดนี้ คิดดูว่าถ้าต้องไปซื้อพันธุ์ข้าวราคาขนาดนั้นมาปลูกจะเป็นอย่างไร ถ้าเขาผูกขาดได้” เดชาจาระไนถึงปัญหาเรื้อรัง

ยังไม่รวมค่าปุ๋ยค่ายาที่จะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนปริมาณมากขึ้น  เพราะเดชาเปรียบเทียบว่า ข้าวที่ใช้ปุ๋ยเคมีก็เหมือนคนกินเหล้าติดบุหรี่ ยิ่งใช้มีแต่ยิ่งต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพราะดินเสื่อมสภาพ ข้าวก็อ่อนแอลงเหมือนคนติดยา ต้นทุนทับถมขึ้นไปในขณะที่ราคาข้าวไม่ได้เพิ่มขึ้น 

“บางคนบอกว่าไม่มีทางหรอก ปลูกโดยไม่ใช้ปุ๋ยใช้เคมี ผลผลิตต่ำ แต่มันทำได้ ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่มีข้าวกิน ลองมาดูที่นี่สิ เผลอๆ ได้ผลผลิตมากกว่าใช้ปุ๋ยใช้เคมีด้วยซ้ำ” เดชาท้าให้พิสูจน์

ต่างมุมต่างมอง
ดูเผินๆ ข้าวพื้นเมืองอาจมีแต่มุมดีๆ ควรสนับสนุนให้ปลูกในวงกว้าง แต่..เมื่อมองจากอีกด้าน ความฝันนี้ก็ดูเหมือนจะเลื่อนลอย ไกลความจริง  

“เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กำลังการซื้อมันศูนย์จุดกว่า เป็นแค่จุดเล็กๆ  อย่างวัยทำงานก็อาจไม่ทาน ตลาดอาหารประเภทนี้มักเป็นคนเกษียณ  คนมีเวลาว่าง หรือให้ลูกหลานบริโภค ตลาดหลักคงไม่สนใจ เพื่อการพาณิชย์ก็ไม่น่ามีคนมาทำลักษณะนี้” ทวีพันธ์ ซื่อต่อศักดิ์ เจ้าของบริษัทมิราเคิลไรซ์ จำกัด ผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายและส่งออกข้าวทั้งในและต่างประเทศ ชี้

แม้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะแข็งแรง ทนแล้งทนฝน ไม่ต้องใช้สารเคมี แต่ข้อด้อยคือ สามารถให้ผลผลิตได้แค่ปีละ 1-2 ครั้ง เท่านั้น แตกต่างจากข้าวพันธุ์ใหม่ที่สามารถปลูกให้ผลผลิตได้สามถึงสี่ครั้งต่อปี
“ข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิมมันเป็นข้าวที่ถูกต้องตามฤดูกาล ซึ่งสมัยนี้เรารอฤดูกาลไม่ได้หรอก 1 ปีทำ 1 ครั้ง แต่ภาคกลางเรา 1 ปีทำ 3-4 ครั้ง มันต้องเป็นเพื่อการพาณิชย์ คนเราแค่หนึ่งวันเราทำอะไรตั้งมากมายก่ายกอง จะมารอ 1 ปีเพื่อรอฝนตก ทั้งที่ฝนทุกวันนี้ก็ไม่ได้ตกตามเวลา” หนุ่มเจ้าของบริษัททิ้งไว้ให้คิดต่อ

ทวีพันธ์บอกอีกด้วยว่า เป้าหมายของการกินข้าว คือการหาอาหารใส่กระเพาะให้อิ่มท้อง และคนไม่เลือกหรอกว่าจะเป็นข้าวอะไร

"มาถึงหน้าร้านข้าวแกง ข้าวอะไรก็ตักใส่ปาก รีบเติมพลังเพื่อสู้งาน ที่สำคัญวัยแรงงานเป็นตลาดใหญ่ของประเทศด้วย" 

แต่ก็มีการเสนอมุมมองของนักเคลื่อนไหวจากมูลนิธิชีววิถีที่มองว่า ภายใต้สภาวะที่คนสนใจสุขภาพมากขึ้น คนต้องการข้าวที่ปลูกโดยไม่ใช่สารเคมี ข้าวพื้นเมืองจึงได้รับการยอมรับมากขึ้น

"อย่างข้าวหอมมะลิแดงที่คนนิยมมากขึ้น ข้าวสังข์หยดจากพัทลุงที่มีการสั่งซื้อขายในตลาดท้องถิ่น หรือการเข้ามาทำตลาดเฉพาะของตลาดข้าวเหนียวที่อุบล ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่พันธุ์เมืองจะสามารถแข่งกับข้าวพันธุ์ผสม” วิฑูรแย้ง 

แนวคิดของวิฑูรยังมองเห็นถึงโอกาสโตขึ้นของข้าวพื้นเมืองไทย ที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งทางตลาด แข่งกับข้าวพันธุ์ลูกผสม เหมือนที่ วิฑูร เรืองเลิศปัญญากุล รองประธานและกรรมการมูลนิธิสายใยแผ่นดินและกรีนเนท องค์กรซึ่งดำเนินงานเกี่ยวกับการเปิดตลาดพืชปลอดสารพิษ บอกเล่าเกี่ยวกับตลาดนี้ว่า

“เป็นการตื่นตัวเรื่องอาหารพื้นถิ่น เราอยากหาของพื้นบ้านมาบริโภคมากขึ้น หลังค้นพบคุณค่าทางโภชนาการ โดยผู้บริโภคส่วนมากจะเป็นคนที่มีการศึกษา และสนใจสุขภาพ” 

คำบอกเล่าแง่บวกยังมีอีกเมื่อสอบถามเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ที่ จ.ยโสธร บุญสม มาดขาว เล่าว่า 

“เพิ่งเปลี่ยนมาปลูกข้าวพื้นเมืองเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะข้าวพื้นเมืองสามารถแปรรูป สร้างมูลค่าแก่ข้าวได้สูงขึ้น และปัจจุบันก็ผลิตไม่ทันแล้ว และที่ไม่ปลูกข้าวลูกผสมอื่น ๆ เพราะมันล้นตลาดเกินไป” 

แต่ในความเป็นจริง เมื่อเดินสำรวจตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างๆ หลายแห่งพบชั้นวางสินค้าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค [organic] โดยเฉพาะ แต่ในส่วนของข้าวพันธุ์พื้นเมือง มีเพียงข้าวหอมมะลิแดง และข้าวสังข์หยดจากจังหวัดพัทลุงเท่านั้นที่เบียดพื้นที่ขึ้นมาเป็นฮีโร่ ออกหน้าเทียบเคียงกับหอมมะลิทุ่งกุลา ทว่าเมื่อสำรวจในดิสเคาท์สโตร์ทั้งหลาย ร่องรอยของข้าวพื้นเมืองมีเพียงชนิดเดียวคือข้าวหอมมะลิ อันเป็นข้าวที่มีต้นกำเนิดมาจากสายพันธุ์พื้นเมือง ก่อนจะปรับตัวพัฒนามาครองตลาดข้าวทุกหัวระแหง

แล้วอย่างนี้จะบอกได้ไหมว่าตลาดข้าวพื้นเมืองกำลังจะโต...หรือเป็นเพียงอีกกระแสหนึ่งที่พัดมาและจะผ่านไป
.............................. 


ชื่อข้า(ว)ใครอย่าแตะ...
การตั้งชื่อข้าวพันธุ์พื้นเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หลายชื่อสะท้อนความช่างคิดช่างสังเกตของชาวนาสมัยก่อน เช่น

- ชื่อที่ตั้งเพื่อแสดงความรักชาติ : กู้บ้านกู้เมือง กู้เมืองหลวง กษัตริย์ ในหลวง สมเด็จ

- ชื่อบอกความหมาย : แขกทิ้งเคียว ขอมใบลาน พญาหยุดรถ พญาหยุดช้าง พม่าแหกคุก แม่ยายขำ แม่หม้ายคานหัก ลอยขอหอก สำเภาลอย ตะเภาทอง ตะเภาแก้ว ตะวันขึ้น เจ๊กกระโดด เล้าแตก

- ชื่อสถานที่ : กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม กันตัง แก่งคอย นาโพธิ์ ตลิ่งชัน บางพระ บ้านนา โคกโพธิ์

- ชื่อตามเครื่องประดับ : กำไล เข็มเงิน เข็มทอง เข็มเพชร ปิ่นทอง สังวาล

- ชื่อตามลักษณะเมล็ด : ก้นจุด ก้นงอน ข้าวป้อม ข้าวลาย เมล็ดสั้น เมล็ดเล็ก เมล็ดยาว

- ชื่อตามสีเปลือก : ขาว เขียว แดง ดำ ม่วง เหลือง

- ชื่อคน : บุญมา บุญมี เฉี้ยง อินตา ตาเชื้อ ตาเรือง ตาแม้น สุรพล เพชรา เจ๊กเฮง จินตรา จันทรา คุณอาจ ลุงฉ่อย ยางผุด นางปรุง นางฝ้าย

- ชื่อผลไม้ : ช่อละมุด ช่อลางสาด ช่อมะพร้าว มะขาม มะม่วง มะปราง

- ชื่อดอกไม้ : กระดังงา มะลิ ลำเจียก จำปี จำปา ดอกแก้ว ดอกพะยอม ดอกพุด ดอกรัก ดอกประดู่ บังหลวง บัวขาว บัวแดง

- ชื่อสัตว์ : จิ้งหรีด นกเขา นกกระทา นกเอี้ยง ปลาซิวขาว ปลาบู่ ปลาหลด ปลาไหล หางกระรอก หางชะมด หางช้าง หางนกยูง หางนาค หางม้า หางหมาใน หางหมู

เสียงเล็กๆ จากคนกิน
จักรกฤษณ์ พูนสวัสดิ์กิติกุล คนทำงานในมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่ติดต่อซื้อข่าวจาก บุญสม มาดขาว โดยตรง จนเดี๋ยวนี้ ทำตัวเป็นยี่ปั๊วจำเป็นนำไปกระจายต่อให้คนในละแวกบ้าน (เพราะสั่งทีเป็นร้อยกก.) 

"เริ่มจากพ่อเป็นโรคเบาหวาน แล้วหาข้อมูล ลองซื้อมาทาน อาการก็ดีขึ้น ผมคิดว่า ตลาดกลุ่มนี้จะโต เพราะต่อไปสังคมไทย คนแก่จะมากขึ้น ที่จริงข้าวพวกนี้ก็ไม่ได้แพงเกินไป ตกกก.ละประมาณ 50 บาท นับว่าสูสีกับข้าวถุงละสิบบาทนั่นแหละ เพราะเมื่อเทียบคุณค่าด้านอาหารและรสชาติที่ดีแล้ว นับว่าคุ้มมาก ไม่ได้เพิ่มรายจ่ายเท่าไหร่”

ใครเก็บพันธุ์ข้าว ?
"มีอยู่ 2 ทาง ทางแรก เก็บในธนาคารพันธุ์ข้าวของทางรายการเพื่อผสมพันธุ์แช่เย็นไว้ รวบรวมได้กว่า 20,000 ตัวอย่างพันธุ์ บางส่วนอาจเป็นสายพันธุ์เดียวกันที่มีชื่อพ้องกัน คาดว่าจะจำแนกได้ราวๆ 4,000 สายพันธุ์ กับอีกสาย จากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในช่วงปี 2549-2551 ได้กว่า 200 สายพันธุ์" ข้อมูลจาก วิฑูร เลี่ยนจำรูญ 

'หนาว' สะท้านรวง

ลมหนาวสะท้านทรวงในช่างอาทิตย์สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำอะไรข้าวพันธุ์พื้นเมืองไม่ค่อยได้ เพราะอาการหนาวสะท้านรวงจนต้นเหลืองดีซ่านนั้น เป็นแค่เฉพาะข้าวนาปรัง

ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นข้าวนาปี ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตในช่วงเดือนตุลาถึงธันวา ดังนั้นอากาศที่เย็นจัดในช่วงที่ผ่านมาไม่ส่งผลกระทบอะไรกับข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพราะส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปหมดแล้ว จะมีเหลือเป็นบางสายพันธุ์ในภาคใต้ที่ให้ผลผลิตช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่เป็นปัญหาอยู่ดีเพราะข้าวพันธุ์พื้นเมืองมักชอบอากาศเย็น” สุขสันต์ กันตรี หนุ่มประจำมูลนิธิข้าวขวัญ ยืนยันจากประสบการณ์

แถมยังแนะอีกว่า การจะแก้ปัญหาห่มผ้าให้ข้าวหายหนาว ในระยะยาวต้องแก้ทั้งระบบ ทั้งส่วนของสายพันธุ์ข้าวและระบบการเพาะปลูก ซึ่งมูลนิธิฯ ทดลองแล้วพบว่าข้าวที่ปลูกในระบบอินทรีย์จะทรหดอดทนต่ออากาศมากกว่า ต่อให้ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองเดิมก็ตามที



http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20090126/10234/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B9%89-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html


www.bangkokbiznews.com/.../ข้าวพันธุ์พื้นเมือง-->



ชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ข้าวที่เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมไทยคือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ที่ปลูกกันในประเทศนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามลักษณะพันธุ์อีกมาก จากผลการสำรวจพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของกรมส่งเสริมการเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้กล่าวถึงชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกในบริเวณต่างๆ ของประเทศไทยไว้หลายร้อยชื่อ ดังนี้

ข้าวเจ้า
ข้าวเจ้า เมื่อดูจากชื่อที่เรียกกันแล้ว อาจแบ่งตามชื่อได้เป็น ๓ พวกใหญ่ๆ คือ

๑. ชื่อพันธุ์ข้าวที่ขึ้นต้นด้วย "ขาว" ได้แก่ ขาวตาแห้ง ขาวเศรษฐี ขาวต่อ ขาวตามล ขาวมะลิ ขาวอำไพ ขาวหลวง ขาวกอเดียว ขาวเพชรบูรณ์ ขาวสุพรรณ ขาวตารัตน์ ขาวคัด ขาวแก้ว ขาวตาแป๋ขาวสูง ขาวนวลทุ่ง ขาวตาเจือ ขาวมานะ ขาวห้าร้อย ขาวเมล็ดเล็ก ขาวตาโห ขาวสะอาดนัก ขาวเหลือขาวดอเดียว ขาวใบลด ขาวปลุกเสก ขาวหลุกหนี้ ขาวตาไป่ ขาวเลือก ขาวมะนาว ขาวปลาไหล ขาวลอดช่อง ขาวประกวด ขาวลำไย ขาวสะอาด ขาวบุญมา ขาวเกษตร ขาวอุทัย ขาวล่ม ขาวปากหม้อ ขาวตาอ๊อด ขาวสงวน ขาวดอกมะลิ ขาวงาช้าง ขาวเม็ดยาว ขาวอากาศ ขาวละออ ขาวเสวย ขาวตาเพชร ขาวเขียว ขาวประทาน ขาวคุณแม่ ขาวเมืองมัน ขาวหลง ขาวเมือง ขาวนางจีน ขาวประเสริฐ ขาวขวา ขาวเก็บได้ ขาวมะแขก ขาวพวง ขาวกาบแก้ว ขาวมาเอง ขาวไม้หลัก ขาวตาโอ๊ต ขาวน้ำค้าง ฯลฯ

๒. ชื่อพันธุ์ข้าวที่ขึ้นต้นด้วยคำ "เหลือง" ได้แก่ เหลืองควายล้า เหลืองประทิว เหลืองปลากริม เหลืองระยอง เหลืองเศรษฐี เหลืองพวงล้า เหลืองหลวง เหลืองร้อยเอ็ด เหลืองตากุย เหลืองสงวน เหลืองอ่อนเหลืองพ่อ เหลืองระแหง เหลืองมัน เหลืองพานทอง เหลืองตาต๋อง เหลืองตาเอี่ยม เหลืองตาปิ้ง เหลืองทอง เหลืองสะแก เหลืองเตี้ย เหลืองในถัง เหลืองตาน้อย เหลืองใหญ่ เหลืองพระ เหลืองใบลด เหลืองเจ็ด เหลืองพวงหางม้า เหลืองชะเอม เหลืองตาหวน เหลืองทุเรียน เหลืองประทาน เหลืองลาย เหลืองสองคลอง เหลืองอีด้วน เหลืองหอม เหลืองสุรินทร์ เหลืองสะอิ้ง เหลืองควายปล้ำ เหลืองกอเดียวเหลืองทน เหลืองไร่ เหลืองสร้อยทอง เหลืองเบา ฯลฯ

๓ ชื่อพันธุ์ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ พานทอง พญาชม สามรวง สายบัว สองรวง หลงมา แม่พัด เปลือกไข่ รวงดำ พวงมาลัย แตงกวา ยาไฮ ทองระย้า ลูกผึ้ง ข้าวใบตก งาช้าง ทุ่งแหลม ข้าวหอม แก่นประดู่ หอมดง หอมมะลิ เขียวหนัก ดอกไม้จีน พลายงาม ใบลด พระยาลืมแกง หางหมาจอก เขียวนางงามสำรวง พวงนาค เขียวนกกระลิง กระดูกช้าง วัดโบสถ์ รากไผ่ หอมพระอินทร์ อบเชย แขนนาง นางระหงส์ กาบหมาก ทูลฉลอง ตับบิ้ง น้ำดอกไม้ ล้นครก สาวงาม นางงาม มะไฟ ช่อมะกอก ดอนเมือง นายยวน จำปา หลงประทาน เจ๊กเชย จำปาแป๋ พวงทอง สามรวงวัฒนา สายบัวหนัก แก่นจันทร์ หอมแก่นจันทร์ เทวดา พวงเงิน เขียวใหญ่ มะลิเลื้อย บางสะแก บางกะปิ บางเขียว หอมการเวก นาสะแกรอดหนี้ ข้าวมะตาด ข้าวหาง พวงหนัก ตามน นครนายก พวงหวาย ข้าวเขียว สองทะนาน นางพญารวงใหม่ ก้นจุด ล้นยุ้ง มะลิ เศรษฐีหนัก เหลือสะใต้ หลวงแจก ห้ารวง พวงหางหมู จำปาเทียม ร้อยสุพรรณ พวงพยอม เจ๊กสกิด (หนัก ) เทโพ นางดม จำปาขาว นางมล ทองพยุง พญาเททอง ห้ารวงเบาเจ็ดรวงเบา สระไม้แดง จำปาหนัก ก้นแก้ว เจ้ารวง ทองมาเอง สาหร่าย ก้อนแก้ว ปิ่นแก้ว ก้อนทอง ข้าวทุ่ง เจ็ดร่วง เก้ารวง พันธุ์เบื่อน้ำ จำปาสัก กาบเขียว ศรีนวล ท้องบะเอ็ง พระตะบอง พญาหยุดช้าง นางดำ ยาดง ยาบูกูนิง บูแม กาเยาะ โย๊ะกูนิง ลูกแก้วยือลาแป รีบกันตัง ช่อมะลิ เบาหอม บ้ากอ ไทรบุกหญ้า ไทรหอม ไทรขาว ทรายแดง นวลหมี รวงยาว เจ๊ะสัน รายทราย ปิ่นตัง เลือก ขาวปลอด พันธุ์ยะลา ลูกขาว ลูกอ่อน ดอกสน กลีบเมฆ จีนขาว ลูกขาว ลูกปลา นางเอก โป๊ะหมอ วัวเปียก ข้าวจังหวัดฯลฯ
ข้าวเหนียว
ข้าวเหนียว ชื่อพันธุ์ข้าวเหนียวมีน้อยกว่าพันธุ์ข้าวเจ้า เมื่อแบ่งประเภทตามชื่อจะแบ่งเป็น ๓ พวก ได้แก่
๑. ข้าวที่ขึ้นต้นด้วยคำ "ขาว” ได้แก่ ขาวขาวกรุง ขาวตับแรด ขาวนางแจ่ม ขาวภูเขา ขาวสุราษฏร์ ฯลฯ

๒. ข้าวที่ชื่อพันธุ์มีคำ "ดำ" เพื่อบอกว่าเป็นข้าวเหนียวดำ เช่น เหนียวดำ ดำทรง เหนียวดำวัว เหมยนองดำเป็นต้น

๓. ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ เขี้ยวงู ท้องพลู ข้าวกากหมาก ฟ้ามืด งาช้าง เกวียนหัก ประดู่ เหนียวประดู่ กาบยาง หางหมาจอก เหนียวกะทิ สันป่าตอง ประหลาด รอดหนี้ อีหม่อม โพธิ์เงิน เหลือง ป้องแอ้ว มักม่วย บางกอก ช่อไม้ไผ่ ข้าวเหนียวน้ำ ข้าวเหนียวเข้มเงิน เหลืองทอง เหนียวแดง ข้าวเหนียวกากน้อย ข้าวเหนียวหอยโข่ง ข้าวเหนียวดอกพร้าว ข้าวเหนียวละงู ข้าวเหนียวเบา ข้าวเหนียวสงขลา เหนียวลูกผึ้ง ตาล เหนียวเขมร เหนียวไทย เหนียวพม่า แม่โจ้ แก้ว ผา แก้วแม่โจ้ ดอเหล็ก ลายแก้ว ผาผึ้ง ผาเลิศ กันสัตว์ แก้วลาย ลายดอแพร่ ลายที่ ๑ กล้วยสาย ๑ ลอด มันเป็ด ดอลาย กล้วยขาว กาบทอง ผามืด สายหลวง ผาปลุก ผาแดง ดอเหลือง ผาด่าง ผาเหล็กดั่งหยวก เหมยนองพื้นเมือง ลายมะเขือ เหลือง เหลืองทอง หลาวหัก ผาเหนียว ดอกพุด สามรวง ข้าวดอก บุญมา จำปาทอง ข้าวนางราช ข้าวดอกหอม ดอกจันทร์ ดอนวล แดงน้อย อีมุม เขียวนอนทุ่ง ฯลฯ



จำแนกรูปแบบการตั้งชื่อ

เมี่อดูจากรายชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองแล้ว จะเห็นได้ว่า ชื่อพันธุ์ข้าวเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นอย่างง่ายๆ เข้าใจว่าส่วนมากชาวบ้านเป็นผู้ตั้ง เราอาจจัดจำแนกรูปแบบการตั้งชื่อได้ดังนี้

๑.ตั้งตามชื่อชาวนาหรือชาวบ้าน เช่น ขาวตาแห้ง ขาวตารัตน์ ขาวตาเป๋ ขาวตาเจือ เหลืองตากุย นายยวน เป็นต้น

๒. ตั้งตามชื่อสถานที่ เช่นขาวเพชรบูรณ์ ขาวสุพรรณ เหลืองร้อยเอ็ด สันป่าตอง เป็นต้น

๓.ตั้งตามลักษณะเด่นของเมล็ดข้าว เช่นขาวเมล็ดเล็ก ขาวมะลิ ขาวอำไพ ขาวคัด ขาวเม็ดยาว ข้าวหอม หอมพระอินทร์ เป็นต้น

๔.ตั้งตามธรรมชาติของการได้ผลผลิต คือ ข้าวหนักซึ่งได้ผลผลิตช้ากว่าข้าวเบาก็เรียกชื่อตามนั้น เช่น ขาวสะอาดหนัก เศรษฐีหนัก เจ๊กสกิด (หนัก) จำปาหนัก ห้ารวงเบา เหลืองเบา เบาหอม เป็นต้น

๕. ตั้งชื่อที่มีความหมายในทางที่ดีเป็นสิริมงคล บ่งบอกถึงความร่ำรวย หรือการได้ผลผลิตมากๆ เช่น ขาวเศรษฐี ล้นยุ้ง ขาวหลุดหนี้ ก้อนแก้ว เกวียนหัก เหลืองควายล้า ขาวทุ่งทอง เป็นต้น

๖. ตั้งชื่อตามธรรมชาติของพันธุ์ข้าว เช่น ขาวสูง เหลืองพวงล้า ข้าวใบตก เหลืองเตี้ย ขาวพวง เจ็ดรวงเบา พันธุ์เบื่อน้ำ หางหมาจอก สามรวง เป็นต้น

๗.ตั้งชื่อตามสีที่เกี่ยวข้องกับพันธุ์ข้าวหรือเมล็ดข้าว เช่น เขียวนางงาม เหลืองปลากริม เขียวหนัก แก้วลาย รวงดำ เป็นต้น

๘. ตั้งชื่อตามพืชชนิดอื่น เช่นขาวดอกมะลิ จำปา ดอกพุด ขาวมะนาว จำปาทอง ดอกจันทร์ แตงกวา ไทรขาว อบเชย เป็นต้น

๙. ชื่ออื่นๆ เช่น ข้าวจังหวัด ขาวห้าร้อย ขาวเกษตร เหลืองสองคลอง เหลืองไร่ นางงาม นางเอก ตับบิ้ง หลวงแจก เป็นต้น


เมื่อดูจากชื่อพันธุ์ข้าวแล้วจะพบว่า การตั้งชื่อพันธุ์ข้าวนอกจากจะตั้งตามชื่อคน ชื่อสถานที่ และลักษณะตามธรรมชาติของข้าวซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งแล้ว ชื่ออื่นๆ มักเป็นไปในทางดี เป็นมงคลทั้งนั้น ทั้งนี้เป็นเพราะคนไทยส่วนมากมีอาชีพในทางทำไร่ทำนา ข้าวเป็นทั้งอาหารหลักและพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ชาวบ้าน พืชที่เพาะปลูกจึงถือว่าเป็นสิ่งดี เป็นมงคล เป็นคุณประโยชน์แก่ชาวบ้าน ความรู้สึกของชาวนาที่มีต่อข้าวจึงเป็นความรู้สึกสำนึกถึงบุญคุณของข้าวที่มีต่อชีวิตของตน เมื่อต้องการตั้งชื่อพืชที่มีความสำคัญยิ่งต่อตัวเอง จึงต้องตั้งชื่อที่ดีและเป็นมงคลเพื่อผลผลิตที่ได้ จะได้ดีตามไปด้วย



ข้าวกับมาตราวัด
หนังสือมูลบทบรรพกิจที่ใช้เป็นหนังสือเรียนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงมาตราวัดของไทยไว้ว่า

" อนึ่งโสดนับมีสามแท้ นับด้วยวัดแล ด้วยตวงด้วยชั่งเป็นสาม

โยชน์หนึ่งสี่ร้อยเส้นตาม เส้นหนึ่งโดยความ ยี่สิบวาอย่าสงไสย

วาหนึ่งสี่สอกบอกไว้ สอกหนึ่งท่านใช้ สองคืบไซร้ตามมีมา

คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา นิ้วหนึ่งท่านว่า สี่กระเบียดจงจำเอา

กร ะเบียดหนึ่งสองเมล็ดเข้า เมล็ดเข้าหนึ่งเล่า แปดตัวเหาจงรู้รา ..."

มาตราวัดความยาวของไทยแต่เดิมใช้เมล็ดข้าว (คำ ”ข้าว” โบราณเขียน "เข้า”) คือ เป็นมาตราวัดด้วย คือ

๑ กระเบียด = ๒ เมล็ดข้าว

๑ เมล็ดข้าว = ๘ ตัวเหา

เพราะข้าวเป็นของสามัญ และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านรู้จักกันดี ความสำคัญของข้าวจึงสะท้อนออกมาในภาษา

ข้าวกับมาตราตวง

ในเรื่องของการตวงสิ่งของ อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านมีมากจนต้องมีการตวงปริมาณ ได้แก่ ข้าว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่มาตราตวงจะใช้ข้าวเป็นมาตรฐาน ดังมูลบทบรรพกิจเขียนไว้ว่า

นับด้วยตวงไป จงนับใช้ดังนี้นา

ข้าเกวียนหนึ่งนั้นท่านว่า ห้าตะล่อมหนา ตะล่อมหนึ่งยี่สิบสัด

สัดหนึ่งยี่สิบทะนานชัด ทะนานหนึ่งสังกัด สองจังออนจงจำไว้

จังออนหนึ่งสี่กำมือได้ กำมือหนึ่งไซร้ สี่ใจมือตามมีมา

ใจมือหนึ่งนั้นท่านว่า ร้อยเมล็ดเข้าหนา นับด้วยตวงเพียงนี้แล……"

อย่างไรก็ตามในหนังสือสำนวนไทย กาญจนาคพันธุ์ ได้พูดถึงการตวงข้าวที่กำหนดด้วยมาตราตวงของไทยแตกต่างจากมูลบทบรรพกิจ คงเป็นเพราะใช้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน จึงทำให้การกำหนดมาตรฐานการตวงแตกต่างกันออกไปด้วย มาตราตวงในหนังสือสำนวนไทยมีดังนี้

๑๕๐ เมล็ดข้าว เท่ากับ ๑ หยิบมือ , ๔ หยิบมือ เท่ากับ ๑ กำมือ , ๔ กำมือ ๑ เท่ากับ ๑ ฟายมือ , ๒ ฟายมือ เท่ากับ ๑ กอบ , ๔ กอบ เท่ากับ ๑ ทะนาน , ๒๕ ทะนาน เท่ากับ ๑ สัด , ๘๐ สัด เท่ากับ ๑ เกวียน

แม้มาตราวัดทั้ง ๒ สมัยแตกต่างกัน แต่ข้าวเป็นสิ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานในการตวงเหมือนกัน แสดงว่าคนไทยอยู่กับข้าว และแสดงออกถึงความสำคัญของข้าวทางภาษา สำนวนในภาษาไทยที่ว่า “เป็นกอบเป็นกำ ” นั้น ก็ได้มาจากการตวงข้าว คือได้มาจากคำ หยิบมือ กำมือ ฟายมือ ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้มือ สิ่งที่เกิดจากมือแสดงว่าตนได้ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง การปลูกข้าวและการได้ผลผลิตข้าวจึงเป้นสิ่งที่คนไทยได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง (มือ) ของตนอย่างแท้จริง คำว่า “ กอบ ” และ ” กำ ” ได้กลายมาเป็นสำนวนพูดในภาษาว่า " เป็นกอบเป็นกำ



ข้าวกับระยะเวลา
หนังสือมูลบทบรรพกิจกล่าวถึงการนับเวลาของไทยว่า

” .....วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ กลางวันท่านกำ หนดไว้ว่าสี่ยามมี กลางคืนก็นับยามสี่ วันกับราตรี จึงเป็นแปดยามตามใช้ ยามหนึ่งสามนาลิกาไซร้ นาลิกาท่านใช้ กลางวันท่านเรียกว่าโมงนา กลางคืนเรียกว่าทุ่มหนา นาลิกาหนึ่งรา ได้สิบบาดท่านบอกไว้ บาดหนึ่งได้สี่นาทีไทย นาทีหนึ่งได้ สิบห้าเพ็ชชะนาที เพ็ชชะนาทีหนึ่ง หกปราณด้วยดี ปราณหนึ่งสิบหนึ่งอักษรไซร้...”



แม้จะมีการแบ่งเวลาอย่างละเอียดก็ตาม คนไทยโดยทั่วไปมักนับระยะเวลาแค่ทุ่ม โมงยาม เท่านั้น การนับเวลาที่ชัดเจนมากที่สุดคือเวลาที่ใช้ในการกำหนดฤกษ์ยามเราก็นับลงมาถึง "บาท" เท่านั้น เช่น “ ศุภมัสดุ ศักราช ๗๑๒ ปีขาล โทศก (พ.ศ.๑๘๙๓) วันศุกร์ขึ้น ๖ค่ำ เดือน๕ เวลา ๓ นาฬิกา ๙ บาท สถาปนากรุงศรีอยุธยา ..…” ตามปกติแล้วการนับเวลาของชาวบ้านมักไม่ละเอียดเพราะไม่มีเครื่องจับเวลาที่ชัดเจน การจับเวลาของคนไทยจึงมักคาดคะเนจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และตามสิ่งที่คนคุ้นเคย เช่น จับเวลาในการชนไก่โดยใช้กะลามะพร้าวเจาะรูลอยน้ำไว้ให้จมเอง การจมครั้งหนึ่งเรียกว่าอันหนึ่ง แต่สำหรับชาวบ้านทั่วไป มักคาดคะเนจากแบบแผนการดำเนินชีวิตของตนเอง “ข้าว" เป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวชาวบ้านมาก ชาวบ้านจึงจับเวลาจากการหุงข้าว เราจึงสำนวน “ ชั่วหม้อข้าวเดือด ” เช่น เดินไม่นานนัก ชั่วหม้อข้าวเดือดก็ถึงแล้ว การนับเวลาแบบนี้ย่อมไม่แน่นอน เป็นแต่การกำหนดเวลาโดยประมาณ เพราะข้าวแต่ละหม้อย่อมใช้เวลาเดือดแตกต่างกันตามขนาดของหม้อ ปริมาณข้าวและน้ำ รวมถึงความแรงของไฟด้วย แนวความคิดในการจับเวลาของคนไทยจึงไม่ชัดเจนนัก

สำนวนในภาษาไทยอีกสำนวนหนึ่ง ได้แก่ “ ก้นหม้อข้าวยังไม่ทันดำ ”ใช้ในความหมายว่า คู่สมรสอยู่ด้วยกันได้ไม่นานเท่าไร ก้นหม้อยังไม่ทันดำก็เลิกกันเสียแล้ว การใช้สำนวนนี้ก็เป็นการพูดถึงระยะเวลาที่ไม่แน่นอนอีกเช่นกัน เพราะสมัยก่อนการหุงข้าวรับประทานทุกๆ วันหุงด้วยหม้อดิน ตั้งบนเตาฟืน ก้นหม้อย่อมติดเขม่า กว่าหม้อจะดำย่อมใช้เวลานานพอสมควร เมื่อพูดว่าอยู่ด้วยกัน ก้นหม้อยังไม่ทันดำ ก็หมายความว่า สามีภรรยาคู่นั้นแต่งงานแล้ว หุงข้ากินกัน ก้นหม้อยังไม่ทันมีเขม่าติดดำก็เลิกร้างกันไป แสดงว่าทั้งคู่อยู่กินกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่เวลาที่แท้จริง เป็นเท่าไรไม่สามารถบอกได้

สำนวน ” เหมือนข้าวคอยฝน ” ก็เป็นการบอกระยะเวลาเหมือนกัน ตามปกติข้าวจะงอกงามได้ต้องอาศัยฝนซึ่งตกตามฤดูกาล ถ้าถึงฤดูทำนาแล้วฝนไม่ตก ตนข้าวก็จะตายเพราะขาดน้ำ การรอคอยสิ่งใดหรือใครเหมือนข้าวคอยฝนจึงเป็นการรอคอยที่ไม่รู้น่นอนว่าเมื่อไรจะได้ และการรอคอยนั้นมีความสำคัญต่อชีวิต เปรียบเหมือนข้าวที่เพาะไว้แล้วรอฝน ถ้าฝนไม่ตกข้าวก็จะตาย อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดเฉพาะช่วงกาลเวลาแล้ว สำนวนนี้ก็ให้ความหมายถึงระยะเวลาที่ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน ความคิดของคนไทยในเรื่องเวลาจึงไม่ชัดเจน



ข้าวในสำนวนไทย

คนไทยอยู่ในวัฒนธรรมข้าว จึงใช้คำว่า " ข้าว" เป็นความเปรียบเทียบกับสิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง ส่วนมากแล้วเราถือว่าข้าวเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ คนที่มี "เงินทองข้าวของ" ได้แก่ คนมั่งมี เพราะมีสิ่งของที่จัดว่าเป็นเครื่องบ่งบอกความร่ำรวย คือ เงิน ทอง ข้าว และ ของ สำนวน "ข้าวเหลือเกลืออิ่ม" หมายถึงบ้านเมืองบริบูรณ์ ด้วยข้าวปลาอาหาร สำนวนนี้มีปรากฏในพิธีอาษวยุช คือ การแข่งเรือเสี่ยงทาย กฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "....สมรรพไชย ไกรสรมุขนั้น เป็นเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซร้เข้าเหลือเกลืออิ่ม ศุขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชนะไซร้ จะมียุค...." ที่ใช้ข้าวเเละเกลือเพราะข้าวเป็นอาหารสำคัญที่สุดของคนไทย เกลือก็เป็นของคู่กับข้าว ดังสำนวน " ข้าวปลานาเกลือ " สำนวนข้าวเหลือเกลืออิ่มนี้เป็นสำนวนเก่า สำนวนใหม่ที่คิดขึ้นมาพูดเทียบเคียงกับสำนวนเดิมได้แก่ " ข้าวเหลือเกลือแพง " เป็นความเปรียบเมื่อข้าวมีราคาถูก แต่เกลือมีราคาแพง อย่งไรก็ตามถ้าบ้านเมืองขาดแคลนข้าวปลาอาหาร ประชาชนทุกข์ยากลำบากก็เรียกว่าเป็นยุค " ข้าวยากหมากแพง "


โดยทั่วไปแล้วประเทศไทยเป็นเขตลมมรสุม ฝนตกสม่ำเสมอมีอากาศอยู่ในเขตร้อนจึงทำการเพาะปลูกได้ผลดีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ดังคำกล่าวที่เรามักพูดกันติดปากว่า " ในน้ำมีปลาในนามีข้าว " คนไทยจึงมีนิสัยชอบ "กินข้าวร้อนนอนสาย " เนื่องจากไม่มีความยากลำบากในการครองชีพ ไม่มีอะไรกังวล ไม่ต้องเป็นห่วงการทำมาหากิน นึกจะกินก็กินได้ทันที จะตื่นเมื่อใดก็ได้ เรียกว่ามีความเป็นอยู่อย่างสบาย

ตามปกติข้าวที่เรารับประทานกันนั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ พวก คือ ข้าวเก่าและข้าวใหม่ ข้าวค้างปีเป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวในปีที่แล้ว เรียกว่า ข้าวเก่า ส่วนข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ตั้งแต่ประมาณเดือนอ้ายเดือนยี่เป็นต้นไปนั้น เรียกว่าข้าวใหม่ ตามปกติในครึ่งปีแรกตั้งแต่เดือน ๕ เรื่อยมาเรากินข้าวเก่าคือข้าวที่ค้างปี ถึงครึ่งหลังเรากินข้าวใหม่ ถือกันว่าข้าวเก่าอร่อยกว่า นอกจากนี้เราถือว่าปลาเป็นอาหารคู่กับข้าว ฤดูกาลดีอยู่ในระยะน้ำลด คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ ไปจนถึง เดือน ๔ เดือน ๕ เพราะระยะนี้ปลามีมันมาก กินอร่อย พ้นระยะนี้ไป เป็นฤดูปลาตั้งไข่ไม่มีมัน กินไม่อร่อย ระยะปลามีมันมาตรงกับฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ เราจึงเอาทั้งข้าวและปลามันที่เป็นอาหารสำคัญมาพูดรวมกันว่า " ข้าวใหม่ปลามัน " ใช้เป็นสำนวน หมายถึงอะไร ๆ ที่เป็นของใหม่กำลังดี เช่น สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานใหม่ ๆ เรียกว่าอยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามันแต่ถ้าแต่งงานมานานจนคู่สมรสเบื่อหน่ายซึ่งกันและกันแล้วเราเรียกว่าเป็นช่วง " ข้าวบูดปลาร้า "

เนื่องจากเราถือว่าข้าวเป็นความเจริญงอกงาม เราจึงมักเปรียบเทียบชายเป็นข้าวเปลือก หญิงเป็นข้าวสาร ดังสำนวนว่า " ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร " เพราะผู้ชายไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดย่อมสามารถแพร่พันธุ์สร้างเชื้อสายสืบต่อไปได้ในขณะที่ผู้หญิงเป็นข้าวสาร นอกจากนี้เรายังเปรียบเทียบข้าวในความหมายของคำอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ดังสำนวนที่ว่า " หนูตกถังข้าวสาร " หมายถึงชายยากจนที่ได้แต่งงานกับหญิงสาวที่ร่ำรวย ทำให้ตนเองมีเงินทองใช้สอยฟุ่มเฟือยไปด้วยเรียกได้ว่าอยู่อย่างสบาย มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อเหมือนเมื่อตนเองยังขาดแคลน เหมือนหนูที่อยู่ในถังข้าวสาร มีข้าวสารกินอย่างสบาย แต่ถ้าผู้ใดต้องทำมาหากินแบบ " ตำข้าวสารกรอกหม้อ " แปลว่าบุคคลนั้นทำอะไรอย่างปัจจุบันทันด่วน ไม่มีการเตรียมตัวมาก่อนเหมือนกับตำข้าวพอหุงกินมื้อหนึ่ง ๆ แต่ถ้า " ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ " เลยแสดงว่ายากจนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออาหาร

ดังนั้นถ้าเกิดกรณี " ทุบหม้อข้าว" ขึ้น ย่อมหมายถึงว่าผู้ถูกทุบหม้อข้าวย่อมเดือดร้อนและจะโกรธแค้นผู้มาทุบหม้อข้าวของตน เนื่องจากบุคคลนั้นมาตัดหรือทำลายอาชีพ หรือผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะทำการแก้แค้นทดแทนให้ผู้ที่มาทุบหม้อข้าวของตนนั้นต้อง " กินน้ำตาต่างข้าว " คือให้มีความทุกข์โศกมาก ๆ เลยทีเดียว


ข้าวในสำนวนไทย

นอกจากจะใช้คำข้าวในสำนวนที่เปรียบเทียบเหมือนความเจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์แล้ว เรายังใช้ข้าวในความหมายเชิงตักเตือน สั่งสอน หรือเตือนใจในทำนองสุภาษิตอีกด้วยสำนวนเหล่านี้ได้แก่

" หมาเห็นข้าวเปลือก " หมายความว่า ทำอะไรกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าไม่ได้ เพราะไม่ต้องการ หรือต้องการแต่ไร้สมรรถภาพ เปรียบเหมือนหมาเห็นข้าวเปลือกแต่กินไม่ได้
" ไก่กินข้าวเปลือก สำนวนนี้เมื่อกล่าวให้เต็มที่แล้วจะต้องพูดว่า “ไก่ยังกินข้าวเปลือกอยู่ตราบใด คนก็ยังกินสินบนอยู่ตราบนั้น ” เป็นสำนวนจีนที่เราชอบเอามาใช้

" ได้เบี้ยเอาข้าว หมายความว่ามีส่วนได้ด้วย “เบี้ย” หมายถึงเงิน " ข้าว ” คือ ข้าว ซึ่งมักจะพูดรวม ๆ ไปกับสิ่งของต่าง ๆ เช่น เงินทองข้าวของ “ ได้เบี้ยเอาข้าว ” จึงแปลว่า นอกจากจะเอาเงินแล้วยังจะเอาข้าวอีกด้วย ตามปกติเรามักพูดว่า “ไม่ได้เบี้ยเอาข้าวอะไรด้วย ” แปลว่าไม่ได้มีส่วนได้อะไรด้วยเลย
บนข้าวผี ตีข้าวพระ หมายความว่าขอร้องให้เทวดาหรือผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ช่วยโดยสัญญาจะให้หรือทำอะไรตอบแทนเมื่อกิจกรรมหรือสิ่งที่ตนต้องการสำเร็จผล “ บนข้าวผี ” หมายถึงบนผีว่าจะให้ข้าวกิน ส่วนตีข้าวพระ หมายถึง เอาข้าวถวายพระแบบเดียวกับที่เอาข้าวใส่กรวยถวายพระพุทธรูปที่เรียกว่า " ตีข้าวบิณฑ์ ” เราเอาประเพณีบนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มาพูดรวมกันจึงเป็น บนข้าวผี ตีข้าวพระ
" กินข้าวต้มกระโจมกลาง
หมายถึง การทำโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ ตามปกติข้าวต้มตักใส่ชามไว้ย่อมเย็นตามริมก่อน ส่วนตรงกลางกว่าจะเย็นก็กินเวลานาน ใครไม่พิจารณาก็ตักตรงกลางกิน ตรงกลางเป็นส่วนที่ร้อนทำให้ข้าวต้มลวกปากได้รับความลำบากการทำสิ่งใดโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบจึงเปรียบเสมือนการ “ กินข้าวต้มกระโจมกลาง”
หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว
สำนวนนี้หนังสือสุภาษิตไทยว่าหมายถึง ล่อด้วยอามิสสินจ้าง เข้าใจว่า สำนวนนี้เปรียบเทียบการให้อามิสสินจ้างว่าให้เท่าใดย่อมไม่พอเปรียบเหมือนการหุงข้าวให้หมาปิ้งปลาให้แมวกินมีมากเท่าใดก็หมดเป็นการสิ้นเปลืองโดยไม่สมควร
จวักตักข้าว หนังสือประชุมโคลงโลกนิติ ยกคาถาภาษาบาลีที่เป็นข้อเตือนใจบทหนึ่งว่า
 

“ ........ยาวชีวมปิ เจ พาโล ปณฑิต ปยิรูปาสติ
น โส ธมม วิชานาติ ทพพี สูปรส ยถา..... ”

คาถานี้แปลเป็นโคลงที่มีข้อความเกี่ยวกับข้าวอยู่ ๒ บท คือ

“.......คนพาลยังไป่รู้ ชาญชิด
ไปสู่หาบัณฑิต ค่ำเช้า
แสดงธรรมว่าเนืองนิตย์ ฤาซาบ ใจนา
คือจวักตักเข้า ห่อนรู้รสแกง

(สำนวนเก่า)

คนพาลผู้บาปแท้ ทุรจิต
ไปสู่หาบัณฑิตค่ำเช้า
ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์ บ่ทราบ ใจนา
คือจวักตักเข้า ห่อนรู้รสแกง

(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร )

หมายถึง คนพาล ต่อให้อยู่ใกล้ชิดกับบัณฑิตก็ย่อมไม่รู้รสแห่งธรรมเหมือนจวักหรือทัพพีใช้ตักข้าวไม่เคยได้รู้รสแกง


ข้าวในค่านิยมไทย


สังคมไทยแต่เดิมเป็นระบบศักดินา การจัดลำดับชนชั้นในสังคมแบ่งออกได้เป็น ๒ พวก คือ นายและไพร่ นาย ได้แก่ เจ้านายและขุนนางที่มีศักดินาเกิน ๔๐๐ ไร่ ส่วนไพร่ คือ ราษฎรที่ถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานให้หลวงหรือให้นาย จัดว่าเป็นข้า ดังที่ปรากฏในสุภาษิตพระร่วงว่า

"ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน ตามปกตินายจะเป็นผู้ดูแลบังคับบัญชาไพร่มอบหมายการงานต่าง ๆ ให้ทำไพร่หรือข้าต้องทำตามคำสั่งนาย ถ้าผู้ใดทำนอกคำสั่งจัดว่าเป็น ข้านอกเจ้า ข้าวนอกหม้อ
สำนวนนี้จึงหมายถึงการทำหรือประพฤตินอกจากคำสั่งหรือผิดจากแบบแผนธรรมเนียม การเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือเจ้านาย เป็นค่านิยมที่ทำให้ระบบสังคมดำเนินไปได้โดยราบรื่นเพราะทำให้ผู้ปกครองบ้านเมืองสามารถเกณฑ์คนไปต่อสู้ศัตรูภายนอกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณะประโยชน์ เช่นทำถนน ขุดคลอง สร้างวัด ฯลฯ ให้สำเร็จได้ความเชื่อฟังจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นคุณธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง สังคมไทยมีการปกครองแบบศักดินามาเป็นเวลานาน คนไทยจึงเคยชินกับการเชื่อฟังคำสั่งและการนับถืออำนาจ สำนวน
“ข้านอกเจ้า ข้าวนอกหม้อ ” จึงเป็นคำกล่าวที่บ่งชัดว่า ผู้ใดทำการนอกคำสั่งจัดว่าเป็นคนที่มีความประพฤติไม่ดี ไม่เหมาะสมกับสถานภาพของตน

ปัจจุบันมีอีกสำนวนหนึ่งที่มักนำมาใช้กัน คือ ข้าวนอกนา มีความหมายกลายไปจากเดิมหมายถึงบุคคลที่ไม่ได้เกิดในถิ่นนั้น ๆ หรือเป็นบุคคลที่ถูกผู้อื่นจัดว่าไม่ได้เป็นพวกพ้องเป็นบุคคลภายนอกสังคม ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม
ค่านิยมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของไทย คือ ความกตัญญูกตเวที ระบบศักดินาไทยมีพื้นฐานอยู่ที่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ คือ นายให้ความคุ้มครองไพร่ ใครจะมาทำร้ายรังแกไพร่ในบังคับของตนไม่ได้ ไพร่สามารถร้องทุกข์หรือร้องเรียนนาย ให้นำเรื่องของตนร้องต่อศาลขอให้พิจารณาตัดสินคดีที่เกิดขึ้น สิ่งที่ไพร่ทำตอบแทนให้นาย คือ การรับใช้ การยอมตนอยู่ในบังคับ การทำตามคำสั่ง คนไทยโดยทั่วไปจึงมีความสำนึกในบุญคุญที่บุคคลอื่นทำให้แก่ตนแม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็จะจดจำระลึกถึง ผู้ที่ไม่นึกถึงบุญคุณผู้อื่นจัดว่าเป็นคนไม่ดีคบไม่ได้ จึงมีสำนวนว่า ข้าวแดงแกงร้อน ข้าวแดงเป็นข้าวที่สีด้วยมือ ไม่ขัดให้เป็นสีขาว เมล็ดข้าวยังมีสีแดงเรื่อ ๆ ( สมัยโบราณยังไม่มีโรงสีไฟสีข้าวด้วยเครื่องจักรขัดเมล็ดข้าวให้ขาว) คนทั่วไปกินข้าวแดงกันเป็นประจำ จะกินข้าวขาว คือข้าวที่ขัดจนขาว ( เรียกว่า “ ข้าวขัด ”) แต่เฉพาะคนชั้นสูงตามวัง และตามบ้านใหญ่ ๆ โต ๆ บ้านที่มีคนอยู่มากมักสีข้างกินกันเอง คนในบ้านก็กินข้าวแดง สำนวน ข้าวแดงแกงร้อน เกิดจากการกินข้าวแดงดังกล่าว หมายถึงบุญคุณ คือ เมื่อกินข้าวแดงและแกงร้อน ซึ่งหมายถึงอาหารและกับข้าวของผู้ใด ผู้นั้นก็มีบุญคุณ ผู้กินควรต้องนึกถึงบุญคุณของผู้เป็นเจ้าของข้าวแดงแกงร้อนนั้น  

สำนวน ข้าวไม่มียาง ก็มีความหมายเหมือนกัน คือ คนที่ได้รับบุญคุณไปแล้วไม่นึกถึงบุญคุณเหมือนกับว่าข้าวที่กินเข้าไปไม่มียางข้าวติดอยู่ให้คนระลึกถึงบุญคุณเลย

สำนวนที่มีความหมายคล้ายคลึงกันอีกสำนวนหนึ่ง ได้แก่ เลี้ยงเสียข้าวสุก หมายถึงเลี้ยง เอาไว้เสียข้าวสุกเปล่าจะใช้ทำงานทำการอะไรไม่ได้ อาจนำสำนวนนี้ไปเปรียบเทียบกับสุนัขที่เลี้ยงไว้แล้วไม่เห่าไล่ขโมย หรือไม่เห่าปลุกเจ้าของบ้านว่า เลี้ยงเสียข้าวสุกหรืออาจหมายถึงบุคคลที่เลี้ยงไว้หวังจะพึ่งพาอาศัยอะไรบ้างก็ไม่ได้

เนื่องจากสังคมไทยมีพื้นฐานอยู่ที่วัฒนธรรมข้าว ข้าวเป็นทั้งอาหารและเป็นที่มาของรายได้ทรัพย์สินเงินทองวัฒนธรรมไทยจึงเห็นว่าข้าวมีสำคัญมากจึงมีคำศัทพ์ที่เกี่ยวกับข้าวและสำนวนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมาก

คำศัพท์เฉพาะที่เกี่ยวกับข้าว

เนื่องจากชีวิตคนไทยเกี่ยวพันอยู่กับข้าว วัฒนธรรมไทยจึงเน้นคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับข้าวตามไปด้วย เพื่อความสะดวกในการสื่อสารและทำความเข้าใจ คำศัพท์เฉพาะที่เรียกข้าวในลักษณะต่างๆ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นการเอ่ยคำเพียงคำเดียวก้เข้าใจกันด้ำไม่จำเป้นต้องอธิบายลักษณะของข้าวเหล่านี้เป็นวลีหรือประโยค คำศัพท์เหล่านี้ได้แก่

ข้าวเจ้า - ข้าวที่มีเนื้อเมล็ดใส ใช้หุงเป็นอาหาร เป็นข้าวที่คนไทยส่วนมากกินเป็นประจำ
ข้าวเหนียว - ข้าวที่มีเนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน

ข้าวเปลือก - เมล็ดข้าวที่ยังไม่ๆได้เอาเปลือกออก
ข้าวปลูก - ข้าวเปลือกที่เก็บไว้สำหรับทำพันธุ์
ข้าวกล้า
- ข้าวเปลือกที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น
ข้าวกล้อง
- ข้าวที่สีแล้ว ยังมีข้าวเปลือกปนอยู่ เพื่อเอาไปซ้อมให้ขาว
ข้าวสาร
- ข้าวเปลือกที่สีซ้อมจนเหลือแต่เมล็ดข้าวดีแล้ว
ข้าวซ้อม
- ข้าวกล้องที่ซ้อมขาวแล้ว
ข้าวลีบ
- ข้าวที่มีแต่เปลือกลีบ ไม่มีเมล็ดข้าวสารอยู่ข้างใน
ข้าวฟ่อน - ข้าวทั้งรวงที่เกี่ยวแล้ว มัดทำเป็นฟ่อนใหญ่ๆ


ข้าวหนักหรือข้าวงัน(ภาษาถิ่นอีสาน) - ชื่อข้าวชนิดหนึ่งที่ได้ผลช้ากว่าจะได้เก็บเกี่ยวก็ในราวเดือนยี่ ออกรวงช้ากว่าข้าวเบา
ข้าวเบา
- ข้าวที่ออกรวงเร็ว เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน บางทีเรียก ข้าวสามเดือน พายัพเรียกข้าวดอ
ข้าวเก่า
- ข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้ค้างปี
ข้าวใหม่
- ข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ในปีนั้น
ข้าวนึ่ง
- ข้าวเปลือกที่นึ่งแล้วตากแดดก่อนสี มักส่งไปขายต่างประเทศ
ข้าวสุก
- ข้าวที่หุงสุกแล้ว บางทีเรียกข้าวสวย
ข้าวดิบ
- ข้าวที่อยู่กับต้น ยังไม่สุก หรือข้าวที่หุงไม่สุก
ข้าวสวย
- ข้าวที่หุงแล้ว
ข้าวตาก
- ข้าวสุกที่ตากแห้ง
ข้าวตัง
- ข้าวสุกที่ติดเป็นแผ่นเกรียมก้นหม้อ หรือกระทะ
ข้าวตอก
- ข้าวเปลือกที่เอามาคั่วให้แตกเป็นดอกบาน พายัพเรียกข้าวแตก อีสานเรียกข้าวตอกแตก
ข้าวเม่า
- ข้าวเปลือกที่ยังไม่แก่จัด เอามาคั่วแล้วตำให้แบน
ข้าวฮาง - ข้าวเหนียวที่ยังไม่แก่จัดเอามาคั่วตากแดดให้แห้งแล้วตำและนึ่ง



นอกจากคำศัพท์ที่คิดขึ้นมาเพื่ออธิบายลักษณะเฉพาะของข้าวแบบต่างๆ แล้ว คนไทยยังนำข้าวไปทำเป็นอาหารประเภท ต่างๆ โดยนำคำศัพท์อื่นเข้ามารวมกับคำข้าว ทำให้เกิดเป็นคำประสม เช่น

ข้าวกรู - ข้าวชนิดที่ทำเพื่ออุทิศให้ปรทัตตูปชีวีเปรตในพิธีสารท
ข้าวเกรียบ - ของกินทำด้วยแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งข้าวเหนียวเป็นแผ่นตากให้แห้งแล้ว ปิ้ง หรือทอด มีหลายชนิด เช่น ข้าวเกรียบว่าว ข้าวเกรียบงา ข้าวเกรียบกุ้ง

ข้าวเกรียบปากหม้อ - ของว่างชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ละเลงบนผ้าที่ขึงปากหม้อ มีไส้ทำ ด้วยกุ้งหรือหมู เป็นต้น
ข้าวเกรียบอ่อน - ขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ละลายกับน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลมะพร้าว มีไส้ทำด้วยถั่วหรือมะพร้าว กินกับน้ำตาลคลุกงา
ข้าวแกง
- อาหารที่ขาย มีข้าวกับแกงเป็นต้น เรียกร้านอาหารประเภทนี้ว่า ร้านข้าวแกง
ข้าวโกบ
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ขนมนางเล็ด
ข้าวขวัญ
- ข้าวบายศรี
ข้าวแขก
- ชื่อขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเปียก มีหน้าคล้ายตะโก แต่สีเหลือง มีรสเค็ม ๆ มัน ๆ
ข้าวควบ
(ภาษาถิ่นพายัพ) - ข้าวเกรียบใส่น้ำตาลอ้อย มีรสหวานอย่างข้าวเกรียบว่าว
ข้าวแคบ
(ภาษาถิ่นพายัพ) - ข้าวเกรียบที่มีรสเค็ม ๆ อย่างข้าวเกรียบกุ้ง
ข้าวจี่
(ภาษาถิ่นพายัพ) - ข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ข้างในใส่น้ำอ้อย เอาไข่ทา แล้วปิ้งไฟ
ข้าวแจก ( ภาษาถิ่นอีสาน )- ข้าวที่ทำบุญส่วนกุศลให้ผู้ตาย


ข้าวแช่ - ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง มีข้าวสุกขัดแช่เย็น กินกับเครื่องกับข้าวต่าง ๆ
ข้าวซอย
( ภาษาถิ่นพายัพ) - ชื่ออาหารทางภาคพายัพ ทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้นใหญ่ ๆ แล้วปรุงเครื่อง
ข้าวแดกงา
- ข้าวเหนียวนึ่งโขลกปนงา
ข้าวต้ม
- ข้าวที่ต้มให้สุก, ข้าวเหนียวที่ห่อใบไม้ เช่น ใบตองหรือใบมะพร้าวแล้วต้มหรือนึ่งให้สุกอยู่ในจำพวกขนม มีชื่อต่างๆ กัน เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด
ข้าวต้มน้ำวุ้น
- ของหวานชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวเหนียวห่อใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยมต้มกิน กับน้ำเชื่อม
ข้าวต้มปัด
- ข้าวเหนียวต้มที่ห่อด้วยใบไม้ เช่น ใบมะพร้าวหรือใบเตย มักทำถวายพระในเทศกาลออกพรรษา บางทีเรียกข้าวปัด
ข้าวตอกตั้ง
- ของหวานทำด้วยข้าวตอกคลุกน้ำตาลและมะพร้าวทำเป็นแผ่น ๆ เกลือกแป้ง
ข้าวตู
- ข้าวตากคั่วแล้วตำเป็นผงเคล้ากับน้ำตาลและมะพร้าว
ข้าวแตน
- ขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่งแผ่เป็นแผ่นกลมทอดน้ำมันให้พอง มีรสเค็ม ๆ หวาน ๆ บางทีเรียกขนมรังแตน
ข้าวทิพย์
- ขนมอย่างหนึ่ง ปรุงด้วยเครื่องกวน มีน้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำนม ถั่ว งา เป็นต้น นิยมใช้หญิงพรหมจารีกวนให้เข้ากันมักทำให้พิธีสารท บางทีเรียกข้าวกระยาทิพย์
ข้าวบิณฑ์
- ข้าวสุกที่บรรจุในกรวย ใส่ไว้ในพุ่มดอกไม้ ใช้ในการเซ่นบูชา
ข้าวบุหรี่
- ข้าวหุงอย่างวิธีของแขก มีเครื่องปรุงและเนื้ออยู่ในตัว
ข้าวเบือ - ข้าวสารที่ตำกับของอื่นประสมกับน้ำแกง เพื่อให้น้ำแกงข้น

ข้าวประดับดิน (ภาษาถิ่นอีสาน) - ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์ และพระเจดีย์เวลา เช้ามืดในเดือน ๙
ข้าวปาด
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ขนมเปียกปูน
ข้าวปุ้น
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ขนมจีน
ข้าวเปรต
- เครื่องเซ่นเปรตในพิธีตรุษสารท
ข้าวเปียก
- ข้าวที่ต้มและกวนให้เหนียว, ข้าวที่ต้มกับน้ำกะทิให้เหลวจนน้ำแห้ง มีรสเค็ม ๆ มัน
ข้าวผอก
- ข้าวห่อหรือข้าวที่บรรจุกระบอกไปกินกลางวัน
ข้าวผอกกระบอกน้ำ
- ของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ และมีกระบอกน้ำเล็ก ๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ ที่ทำขึ้นแล้วผูกไว้ที่บันไดเรือนใช้ในพิธีตรุษ
ข้าวพระ
- ข้าวสำหรับถวายพระพุทธ บางทีเรียกข้าวพระพุทธ
ข้าวพอง
- ชื่อขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวประสมกับน้ำตาล อัดเป็นแผ่นแล้ว ทอดให้พอง
ข้าวเภา
- ชื่อข้าวในพิธีธนญชัยบาศ รับช้างเผือกของพราหมณ์พฤฒิบาศ คลุกด้วย สีเหลือง สีแดงแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ
ข้าวมัน
- ข้าวที่หุงด้วยกะทิให้สุก
ข้าวเม่าทอด - ขนมชนิดหนึ่งทำด้วยกล้วยไข่ หุ้มด้วยข้าวเม่าดำ คลุกกับมะพร้าว แล้วชุบแป้งทอดเป็นแพ ๆ


ข้าวยาคู - ชื่อขนมอย่างหนึ่ง ทำด้วยเมล็ดข้าวอ่อน ตำแล้วคั้น เอาน้ำเคี่ยวกับน้ำตาล
ข้าวยำ
- อาหารของชาวใต้ชนิดหนึ่ง มีข้าวสุกใช้คลุกกับเครื่องปรุง มีกุ้งแห้งป่น มะพร้าวคั่ว น้ำเคยหรือน้ำบูดู ส้มโอ(มะม่วงหรือมะขามหั่น และผักต่าง ๆ เช่น ใบมะกรูด ตะไคร้ ผักกระถินถั่วฝักยาว ถั่วพู หรือถั่วงอก)
ข้าวสาก
(ภาษาถิ่นอีสาน) - ของเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอาไปบูชาตามต้นโพธิ์ และพระเจดีย์เวลาเช้ามืดใน เดือน ๑๐
ข้าวหมก
- อาหารอิสลามแบบหนึ่ง ประกอบด้วยข้าวสวยปรุงด้วยเครื่องเทศและขมิ้น มีเนื้อไก่หรือเนื้อแพะหมกในข้าว
ข้าวหมาก - ของกินอย่างหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนึ่ง แล้วหมักกับแป้งเชื้อ

ข้าวหลาม - ข้าวเหนียวที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุก
ข้าวหลามตัด - ข้าวเหนียวนึ่งอัดใส่ถาด โรยถั่วทอง ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มักกินกับข้าวหมาก

ข้าวคั่ว - ข้าวตากคั่วให้สุก ใช้ทำอาหาร
ข้าวหัวโขน
- ข้าวตากคั่วน้ำตาล
ข้าวเหนียวแก้ว
- ข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาลทราย
ข้าวเหนียวแดง
- ข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาลหม้อ มีสีแดงเป็นน้ำตาลไหม้
ข้าวเหนียวตัด
- ข้าวเหนียวนึ่ง ใส่หน้ากะทิ ตัดเป็นชิ้นๆ
ข้าวเหนียวห่อ
- นำข้าวเหนียวมาห่อแล้วนึ่ง ใส่หน้ากะทิ
ข้าวแม่ซื้อ
- ข้าวสุกปากหม้อ ปั้นเป็นก้อน ๔ ปั้น ๔ สี คือ ขาว เขียว แดง และดำ ปั้นละสี เอาข้าวสี่ปั้นนี้วางลงในฝาละมี ชามหรือ กระทง แล้วหยิบทีละก้อนวนรอบตัวเด็กแล้ว กล่าวคำฟาดเคราะห์ เพื่อให้เด็กหายจากตัวร้อน นอนผวา เรียก พิธีทิ้งข้าวแม่ซื้อ
ข้าวหม่ำ - ข้าวที่เคี่ยวให้ละเอียดแล้วคายออกมาป้อนให้เด็กเล็กๆ เป็นภาษาไทยใหญ่


ข้าวที่นำมาใช้ทำเป็นอาหารนี้มีเป็นจำนวนมาก ถ้าจะจัดจำแนกอาหารที่ทำจากข้าว สามารถแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. อาหารที่ชาวบ้านทำรับประทานกันเป็นสามัญทั้งคาวและหวาน ได้แก่ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวตัด ข้าวหลาม ข้าวหมาก ข้าวแช่ ข้าวซอย ข้าวจี่ ข้าวแขก ข้าวเกรียบ ข้าวต้ม เป็นต้น

๒. อาหารที่ใช้ในพิธีกรรม ได้แก่ ข้าวกรู ข้าวขวัญ ข้าวบิณฑ์ ข้าวแม่ซื้อ ข้าวประดับดิน ข้าวเปรต ข้าวผอกกระบอกน้ำข้าวสาก เป็นต้น

ดังนี้จะเห็นได้ว่า ข้าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยในทุกๆ ด้านทั้งในด้านชีววิทยา คือตอบสนองต่อความต้องการตามธรรมชาติของร่างกายในด้านอาหาร และตอบสนองต่อความเชื่อ ซึ่งเป็นความต้องการทางจิตใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าข้าวมีความสำคัญต่อชีวิตคนไทยเป็นอย่างมาก ดังคำกล่าวที่ว่าอดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวายนักมานุษยวิทยาถือว่าคำศัพท์ในภาษาย่อมบ่งชี้ถึงความสนใจเฉพาะของวัฒนธรรม เมื่อมีการใช้คำศัพท์ ข้าว ในภาษาไทยมากจึงหมายความว่า วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญ

แม่โพสพ เทวีแห่งข้าว

คนไทยได้เรียนรู้ว่าข้าวเป็นของมีคุณ เป็นพืชที่เลี้ยงชีวิตเผ่าพันธุ์ไทยยั่งยืนมาแต่โบราณกาลจนสืบเชื้อสายอยู่มากมายในปัจจุบัน เมื่อใดที่อยู่ในสภาพ "ข้าวเหลือเกลืออิ่ม" ประชาชนก็จะมีความสงบสุข แต่เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนก็จะหน้าดำคร่ำเครียดด้วยความทุกข์ ในเมื่อข้าวมีความสำคัญต่อชีวิตคนไทย คนไทยจึงมีความกตัญญูต่อข้าว ยกย่องข้าวเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าในข้าวมีวิญญาณ ข้าวเรียกว่า "แม่โพสพ" สถิตอยู่
ฉะนั้นผู้เฒ่าผู้แก่จึงสั่งสอนว่ามิให้เหยียบย่ำข้าว มิให้สาดข้าวหรือทำข้าวหก กินข้าวเสร็จแล้วก็สอนให้ไหว้แม่โพสพขอบคุณ แม้การมหรสพของชาวบ้านยามเมื่อร้องบทไหว้ครูก็จะมีการร้องระลึกคุณแม่โพสพไว้ด้วย ดังบทไหว้ครูเพลงเรือบทหนึ่งมีความว่า

.......จะยกบายศรีขึ้นสี่มุม ลูกจะไหว้พระภูมิ ที่มา ไหว้ทั้งแม่ข้าวเจ้า ทั้งพ่อข้าวเหนียว เสียเเหละเมื่อลูกนี้เกี่ยวกันมา ลูกจะไหว้โพสพ สิบนิ้วนอบนบ นิ้วหน้า ขอให้มาปกปักรักษาลูก ขออย่าให้มีทุกข์เลยหนา ขอให้มาเป็นมงคลสวมบนเกศา กันแต่เมื่อเวลานี้เอย.....

เรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่โพสพมีเล่ากันทุกภาค มีความแตกต่างกันเป็น ๒ แนว คือ นิทานภาคกลางและภาคใต้มีเรื่องตรงกันแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นนิทานของภาคเหนือและภาคอีสาน
ตำนานแม่โพสพของภาคกลางและภาคใต้
แม่โพสพเป็นเทวีแห่งข้าว มีพาหนะเป็นปลากรายทองและปลาสำเภา ในวันหนึ่งที่เมืองไพสาลี กลางสโมสรสันนิบาต มนุษย์ได้ปรึกษากันว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพใครมีคุณมากกว่ากัน ที่ประชุมต่างพากันกล่าวว่า คุณพระพุทธเจ้าใหญ่กว่า แม่โพสพและพระเพชรฉลูกรรณได้ฟังดังนั้นก็ข้องใจว่าเรารักษามนุษย์อยู่ มนุษย์ไม่เห็นความดี จึงทรงปลากรายหนีไปยังป่าหิมพานต์เขาคชกูฎ เมื่อแม่โพสพจากไปก็เกิดความอดอยากขึ้นในโลกมนุษย์ ทำไร่ไถนาไม่มีข้าวมีแต่แกลบ มนุษย์จึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าให้พระมาตุลีไปเชิญนางกลับมา พระมาตุลีตามไปจนถึงเขาทบกันก็ไปไม่ได้ จึงใช้ให้ปลาสลาดไปตามต่อจนพบ ปลาสลาดได้อ้อนวอนขอให้นางกลับคืนโลก นางตอบว่า อยู่ที่นี่เราสบาย ถ้าจะไปใจแม่หายเพราะเขาไม่รู้บุญคุณ แม่จะให้แต่เมล็ดข้าวไปรักษาแก่ฝูงคน เมื่อเก็บนึกถึงเรา เราจะไปปีละหน เก็บเกี่ยวแล้วให้ทำขวัญ นางได้มอบเมล็ดข้าว ๗ เมล็ด (บ้างก็ว่า ๙ เมล็ดไปทำพันธุ์ พระเพชรฉลูกรรณให้ให้แม่เหล็ก ๑ อัน สำหรับตั้งพร้า นางยังสั่งด้วยว่า เมื่อมนุษย์ทำไร่ไถนา เมื่อข้าวใกล้สุกก็จัดให้มีพิธีทำขวัญให้แต่งด้วยข้าวขวัญและด้วยเหตุที่ปลาสลาดเป็นผุ้บอกทางที่นางซ่อนแก่พระมาตุลี นางจึงสั่งให้นำปลาสลาดมาเป็นเครื่องเซ่นสังเวยด้วย ปลาสลาดก็ลากลับมาเล่าให้พระมาตุลีฟังตามคำแม่โพสพ พระมาตุลีรับเมล็ดข้าวแล้วก็เหาะกลับ ในระหว่างทางพระมาตุลีจึงหยุดพักอาบน้ำ นกกระจาบได้แอบลักเมล็ดข้าวสองเมล็ดบินหนี ข้าวสองเมล็ดนั้นได้ตกลงมายังโลกมนุษย์กลายเป็นข้าวผี พระมาตุลีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกมนุษย์มาพร้อมกัน ทรงอธิบายให้มนุษย์ฟัง และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่มนุษย์ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อข้าวใกล้สุก มนุษย์จะทำขวัญเชิญแม่โพสพเป็นประจำทุกปี
ตำนานแม่โพสพของภาคเหนือและภาคอีสาน
เรื่องเริ่มที่อุทยานของพญานาคมีข้าวเกิดขึ้นเอง ต้นหนึ่งๆ มีขนาดเจ็ดกำมือ เมล็ดใหญ่เท่าผลมะพร้าว มีสีเงินยวงกลิ่นหอมหวาน มีหญิงม่ายคนหนึ่งเป็นคนยากไร้ ไม่มีมีดพร้าสำหรับ ผ่าเมล็ดข้าว จึงใช้ไม้คานทุบข้าว เมล็ดข้าวแตกกระจาย บางส่วนไปเกิดเป็น ข้าวไร่ หรือ ข้าวดอย บางส่วนตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนาหรือแม่โพสพ แม่โพสพน้อยใจที่หญิงม่ายทำรุนแรงจึงหนีไปอยู่เสียในถ้ำ ทำให้มนุษย์ไม่มีข้าวกินถึงพันปี
วันหนึ่งลูกชายเศรษฐีหลงทางเข้าไปในป่าพบปลากั้งซึ่งอยู่กับนางโพสพ ปลากั้งพาไปไหว้นาง ลูกเศรษฐีได้อ้อนวอนให้นางคืนสู่เมืองมนุษย์ นางขัดอ้อนวอนไม่ได้จึงกลับมาโลกอีก ลูกเศรษฐีสำนึกในบุญคุณของนางจึงชักชวนมนุษย์ให้ยกย่องนับถือนาง
ต่อมาอีกพันปี มีชายโลภมากผู้หนึ่งสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวไว้กินแต่ผู้เดียว แม่โพสพโกรธจึงหนีกลับไปอยู่ถ้ำในป่าอีกทิ้งให้มนุษย์อดอยากเป้นเวลาหลายร้อยปี เทวดาเล็งเห็นความทุกข์ยากจึงอ้อนวอนให้แม่โพสพกลับคืนมา พร้อมกันนั้นก็สอนให้มนุษย์รู้จักนับถือข้าว รู้จักทำขวัญข้าว
นิทานของชาวลื้อในภาคเหนือบางสำนวนเล่าว่า ในสมัยพระพุทธเจ้า นางขวัญข้าวถูกไล่จึงไปอยู่ถ้ำกับพวกครุฑนาค ต่อมาชาวเมืองอดข้าวจึงได้ทำพิธีเชิญแม่โพสพกลับเมือง
จากตำนานนิทานในท้องถิ่นต่างๆ จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่องแม่โพสพเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย ก่อนหันมารับนับถือพุทธศาสนา นิทานของชาวลื้อแสดงให้เห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนาและขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิม นิทานของชาวภาคกลางและภาคใต้แสดงให้เห็นชัยชนะของพุทธศาสนาเหนือศาสนาดั้งเดิม (แม่โพสพ-เทวีแห่งข้าว และพระเพชรฉลูกรรณเทพแห่งช่าง เป็นเทพซึ่งชาวบ้านนับถือ) และแสดงให้เห็นการประนีประนอมระหว่างความเชื่อทั้งสอง ทั้งนี้ทั้งนั้นก้เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญของชุมชน

จาก " แม่โพสพ เทวีแห่งข้าว" โดย สุกัญญา ภัทราชัย ใน ข้าวกับวิถีชีวิตไทย (น.๑๒๙ - ๑๓๑) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๖



http://www.culture.go.th/knowledge/story/rice/file02.htm

www.culture.go.th/knowledge/story/rice/file02.htm -




การปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
โดยชุมชน สำหรับภูมินิเวศจังหวัด



วัตถุประสงค์โครงการ :
1. เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ดีและสามารถเพิ่มผลผลิตสูงกว่าเดิมเพื่อให้ชาวบ้านหันกลับมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองกินเองตามวิถีดั้งเดิม 2. เพื่อศึกษาข้อมูลความเหมาะสมเชิงพื้นที่กับชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนาในการนำเมล็ดพันธุ์
บทคัดย่อ :
ความเป็นมา
ในอดีตชาวนาอำเภอตะพานหิน และกิ่งอำเภอบึงนาราง ปลูกข้าวปีละครั้งโดยใช้พันธุ์ข้าวที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งมีประมาณ 30 สายพันธุ์ เช่น เหลืองอ่อน ขาวอากาศ ขาวตาแห้ง คัดเบา เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ผลผลิตเอาไว้กินที่เหลือก็ขายให้กับโรงสี ซึ่งข้าวพันธุ์พื้นเมืองจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือ บางพันธุ์มีกลิ่นหอม อ่อนนุ่ม หุงขึ้นหม้อ บางพันธุ์นำไปทำขนมจีน แป้งทำขนม นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ที่ดอน ที่ลุ่ม ที่น้ำท่วม เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวก็จะหมุนเวียนการเก็บตามข้าวเบา กลาง หนัก แต่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองก็มีข้อจำกัด คือ ให้ผลผลิตต่ำ ออกรวงตามฤดูกาลทำให้ปลูกได้ปีละครั้ง น้ำหนักเบา ซึ่งมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมตามนโยบายรัฐบาลปี พ.ศ. 2512 ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออก จึงเร่งส่งเสริมโดยนำข้าวพันธุ์ผสมมาแลกเปลี่ยนกับข้าวพันธุ์พื้นเมือง ทำให้วิถีชีวิตชาวนาเปลี่ยนมาทำนาปีละ 2–3 ครั้ง ปลูกข้าวขายเป็นหลัก ไม่เก็บไว้กินเองเพราะข้าวแข็ง ไม่หอม หุงไม่ขึ้นหม้อ ยิ่งไปกว่านั้นข้าวพันธุ์ผสมอ่อนแอต่อโรคและแมลง จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ จึงต้องเพิ่มปุ๋ยทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และไม่ทนต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศ หากปีไหน น้ำท่วม หรือฝนแล้ง ก็ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ต่างจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่สามารถปรับตัวได้
จากสถานการณ์สภาพปัญหา ประกอบกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่กำลังจะสูญหาย ทำให้ทีมวิจัยต้องการกลับสู่วิถีชีวิตแบบเดิม โดยหันมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่อนำมาใช้กินเองภายในครัวเรือนที่เหลือจึงนำไปขาย ซึ่งคาดว่าเป็นการลดต้นทุนและภาระหนี้สินให้กับชุมชน แต่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองต้องให้ผลผลิตที่สูงขึ้นเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับชาวนา ดังนั้นจึงต้องการศึกษาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจเลือกเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และให้ผลผลิตที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้อยู่คู่กับท้องถิ่นต่อไป

คำถามวิจัย
การเพิ่มผลผลิตพันธุ์ข้าวพื้นเมือง โดยวิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แบบข้าวกล้อง ซึ่งทำการศึกษาในพื้นที่ 5 แบบ จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้หรือไม่

วัตถุประสงค์การวิจัย
1.เพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ดีและสามารถเพิ่มผลผลิตสูงกว่าเดิมเพื่อให้ชาวบ้านหันกลับมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองกินเองตามวิถีดั้งเดิม
2.เพื่อศึกษาข้อมูลความเหมาะสมเชิงพื้นที่กับชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนาในการนำเมล็ดพันธุ์ไปทำนาในฤดูกาลต่อไป
พื้นที่ดำเนินการวิจัย
1.บ้านหนองแก ตำบลหนองพยอม อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร (ที่ดอน)
2.บ้านวังไคล้ ตำบลคลองคูณ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร (แถบคลองชลประทาน)
3.บ้านบางราย ตำบลบางราย กิ่งอำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร (ที่น้ำท่วม)
4.บ้านทับหมัน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร (ที่ลุ่มน้ำ)
5.บ้านห้วยแก้ว กิ่งอำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร (ที่แล้ง/ที่เนิน)

การดำเนินกิจกรรม
ระยะแรก 6 เดือน
1.รวบรวม แลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวพื้นเมือง อบรมการคัดเลือก สาธิตการเพาะเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มทักษะการเตรียมดินและปุ๋ย
2.แยกเพาะพันธุ์ข้าวในพื้นที่ศึกษา 5 ศูนย์ ศูนย์ละ 50 กระถาง
3.จัดเวทีติดตามผลการเพาะเมล็ดแม่พันธุ์เพื่อดูการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของข้าว ในแต่ละศูนย์การเรียนรู้ 5 พื้นที่
4.จัดเวทีติดตามผลการเพาะเมล็ดแม่พันธุ์เพื่อดูการเจริญเติบโตของข้าวในช่วงตั้งท้อง ในแต่ละศูนย์การเรียนรู้ 5 พื้นที่
5.จัดทำรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 และแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ระยะแรก 6 เดือน
1.ได้พันธุ์ข้าวที่ใช้ทดลองปลูกในกระถาง
2.ทีมวิจัยและผู้ร่วมในงานวิจัยเกิดทักษะในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดินและปุ๋ย รวมถึงแนวคิดการลดต้นทุนการผลิตโดยการเพาะเมล็ดพันธุ์ จากการอบรม
3.ได้ข้อมูลผลการเจริญเติบโตของข้าวจากการทดลองเพาะเมล็ดพันธุ์ใน 5 พื้นที่
4.ได้รายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 1 และแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป


http://www.vijai.org/research/project_content.asp?projID=RDG47N0030
www.vijai.org/research/project_content.asp?projID... - 
 




หน้าถัดไป (2/2) หน้าถัดไป


Content ©