เกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ
ปี'53 ทำ 4 ยุทธศาสตร์หลัก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 525,521,688 บาท เพื่อดำเนินการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเสริมสร้างศักยภาพเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์สู่สากล และยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์มี ประสิทธิภาพมากขึ้น
กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับงบประมาณจากโครงการนี้ถึง 460 ล้านบาท ในการดำเนินการเสริมสร้างและจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรม และพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ตามวิถีพื้นบ้าน
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงแผนงาน เกษตรอินทรีย์ของกรมฯ ว่า กรมพัฒนาที่ดินให้ความสำคัญกับการดำเนินงานขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์เพื่อลดใช้สารเคมีทางการเกษตรและตั้งเป้าในการพัฒนาไปสู่การผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานระดับต่าง ๆ ได้แก่ ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล ซึ่งตลอด ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา กรมฯ ได้ทำงานด้านพัฒนาเรื่องเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2553 กรมฯ ได้รับงบประมาณดำเนินงานเรื่องนี้ 460 ล้านบาท โดยได้กำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการสานต่องานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย
กิจกรรมที่ 1 จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรขึ้นใหม่ จำนวน 12,000 กลุ่ม เพื่อฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการใช้สารอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมทั้งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ถังหมัก กากน้ำตาล สมุนไพร สารเร่งจุลินทรีย์ พด. เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด สารปรับปรุงดิน
กิจกรรมที่ 2 ฝึกอบรมประธานกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ฯ ให้ได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2553
ส่วนกิจกรรมที่ 3 คือการทำโครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน 300 โรงเรียน ซึ่งจะมีการจัดฝึกอบรมค่ายยุวหมอดินจำนวน 3,000 ราย เป้าหมายจะดำเนินการเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2553
กิจกรรมที่ 4 การขับเคลื่อนโรง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน งบซีอีโอ และงบของกรมพัฒนาที่ดิน รวม 500 โรง และรับรองมาตรฐานปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
และ กิจกรรมที่ 5 เป็นการวิจัยทดสอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ สารเร่งซูเปอร์ พด.7 สารเร่งซูเปอร์ พด.9 และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 หรือเรียก อีกชื่อว่าโรงปุ๋ยในดิน และ กิจกรรมสุดท้าย นั้น กรมฯ จะคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ที่กรมฯ ได้จัดตั้งแล้วจำนวน 51,000 กลุ่ม โดยคัดเลือกจากกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมถ่ายทอดองค์ความรู้ขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรให้พัฒนาไปสู่การผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานระดับต่าง ๆ ต่อไป
สำหรับเกษตรกรท่านใดสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการกับกรมพัฒนาที่ดิน หรือต้องการขอรับบริการผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมฯ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนา เทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ หรือโทร. 0-2579-2875, 0-2579-5575 หรือที่สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=29607
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.