หนุนเกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์
ปัญหาที่เกษตรกรพบอยู่เป็นประจำทุกปี ก็คือราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีด้วยแล้วมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงไม่สัมพันธ์กับราคาสินค้าที่ขายได้ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเป็นหนี้สินอย่างที่เป็นอยู่ การที่จะแก้ปัญหาราคาปุ๋ยเคมีสูงได้วิธีหนึ่ง คือการปรับเปลี่ยนจากระบบการเกษตรที่ใช้สารเคมีมาเป็นการพึ่งพาเกษตรอินทรีย์ที่สามารถผลิตได้เอง เพื่อความยั่งยืนในอาชีพ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงในการประกอบอาชีพการเกษตร โดยมีเป้าหมาย ในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลง ทั้งในเรื่องของปัจจัยการผลิต รวมทั้งด้านการบริหารจัดการ โดยตั้งเป้าลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้ 7-10% และหน่วยงานจะต้องมีแผนการดำเนินงาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ให้มากกว่าต้นทุนการผลิต ประมาณ 15-20% โดยต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม
นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรส่วนใหญ่กำลังเร่งการผลิต จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างมาก ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตรวจสอบและจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรตกเป็นเหยื่อ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอย่างยั่งยืน คือการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เกษตรกรสามารถผลิตได้เองจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในท้องถิ่นของตนเองเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานในการดูแลเรื่องดังกล่าว
ด้าน นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร มาตั้งแต่ปี 2550 ปีละ 17,000 กลุ่ม เกษตรกรเป้าหมาย 850,000 ราย รวม 3 ปี ก็มีกลุ่มไม่ต่ำกว่า 50,000 กลุ่ม ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ เกษตรกรประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งเกษตรกรให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวนมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีได้ไม่ต่ำกว่า 30% แล้ว สารอินทรีย์ยังช่วยปรับปรุงสภาพดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ พืชผลเจริญงอกงามให้ผลผลิตดีขึ้นด้วย ที่สำคัญเกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มจากการขายปุ๋ยอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการส่งเสริมให้เกษตรกร ผลิตปุ๋ยอินทรีย์แล้ว สิ่งที่กรมฯ ตั้งเป้าดำเนินการต่อไปคือเร่งรับรองคุณภาพปุ๋ยของกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้ารับรองมาตรฐานสินค้า Q ให้ได้อย่างน้อย 250 แห่ง พร้อมกันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของแต่ละกลุ่มอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงานของกลุ่มให้สามารถอยู่รอดด้วยการพึ่งพาตนเอง โรงปุ๋ยที่อยู่ในเกรดซีก็ต้องพัฒนายกระดับขึ้นมาสู่ระดับบีและเอต่อไปให้ได้ และสร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมาทดแทนไปเรื่อย ๆ
สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่มีความเข้มแข็ง มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากความไม่พร้อมของเกษตรกรในพื้นที่ที่ไม่อาจรวมกลุ่มกันดำเนินการได้ รวมถึงบางแห่งไม่มีวัตถุดิบที่เหมาะสมในการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งกรมฯ จะเร่งเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ทุกกลุ่มตามความเหมาะสม โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกร องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่เกษตรกรทั้งผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และผู้ใช้ รวมไปถึงผู้บริโภค
นอกจากการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทน สารเคมีแล้ว กรมพัฒนาที่ดินยังมีโครงการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน และอีกมากมายที่ล้วนแต่เป็นโครงการที่จะเข้าไปช่วยให้เกษตรกรมีระบบการผลิตที่เน้นการพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นวิถีการผลิตพืชผลทางการเกษตรที่มีความยั่งยืนและมั่นคง หากเกษตรกรท่านใดสนใจระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์สามารถขอความรู้ได้ที่กรมพัฒนาที่ดินหรือหมอดินอาสา ประจำหมู่บ้าน กว่า 70,000 รายทั่วประเทศ. |
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.