การผลิตปุ๋ยน้ำหมัก
ปัจจุบันการเกษตรของโลก เพื่อผลิตอาหารให้แก่มนุษย์โดยตรง หรือเพื่อผลิตเป้นอาหารของสัตว์ แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารของมนุษย์ต่อไป เป็นสิ่งที่เจริญก้าวหน้าไปมาก การปลูกพืชซึ่งเป็นอาหารหลักทั้งของมนุษย์และสัตว์ในขณะนี้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด โดยอาจลืมปัจจัยหรือผลกระทบอื่นที่มีต่อดินและสิ่งแวดล้อมตามมา ในอดีตการปลูกพืชต่าง ๆ เพื่อบริโภคมักใช้วิธีการทางธรรมชาติเข้ามาพิจารณา การใส่ปุ๋ยเคมี การใช้สารเร่งการเจริญเติบโตของพืช เช่น ฮอร์โมนต่าง ๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ยังไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจัง
ระยะนี้ปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพบางชนิด เช่น การใช้เชื้อไรโซเบียม กับการปลูกถั่วเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ถั่วและดิน ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว การนำเอาน้ำปุ๋ยหมัก หรือน้ำที่ได้จากการหมักปุ๋ยอินทรีย์ เช่น จากปุ๋ยคอกใส่ให้แก่ดิน และพืช เช่น ผักต่าง ๆ ได้รับความนิยมจากชาวสวนผักโดยทั่วไป โดยที่ในขณะนั้น เกษตรกรอาจยังไม่ทราบว่าในน้ำปุ๋ยหมักที่ใช้นั้นมีสิ่งใดเป็นองค์ประกอบบ้าง เพียงแค่ถือปฏิบัติต่อ ๆ กันมา และสังเกตเห็นว่าเมื่อใช้แล้วทำให้พืชงอกงามดี แข็งแรง
เมื่อการปฏิวัติเขียวได้ขยายอิทธิพลสู่ประเทศไทย การเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อเลี้ยงประชากรของโลกและประเทศที่ด้อยพัฒนา ได้นำแนวปฏิบัติมาใช้กันมากขึ้น การใช้พันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งต้องกินปุ่ย ธาตุอาหาร และสารอาหารต่าง ๆ มากขึ้น เทคโนโลยีการผลิตพืชในระยะ 40-50 ปี มานี้ จึงมีการใช้ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมนพืช และสารอาหารเสริมต่าง ๆ ซึ่งหาซื้อได้ง่าย มีผลทำให้ธุรกิจเคมีเกษตร เพื่อกระตุ้นให้การเกษตรของทั้งโลก และของประเทศไทยเองได้เจริญขึ้นมาก
ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนหนึ่งของไทย ก็ยังขาดเทคโนโลยีทางด้านนี้ ทำให้การใช้ไม่ถูกต้อง ผิดหลักการ บางโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมให้เสียหายไปด้วย ประกอบกับส่วนใหญ่ของสารเคมีต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายในตลาดนั้น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนสูง ประกอบกับเศรษฐกิจของไทย และเกษตรกรไทยก็ใช่ว่าจะสู้ดีนัก และถ้าพิจารณาให้ลึกแล้ว สารอินทรีย์ต่าง ๆ หลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อดินและพืชที่ปลูก ก็ได้จากกระบวนการหมักสารอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งอาจพอเพียงต่อการเร่งการเติบโตในธรรมชาติ แต่อาจไม่ทันใจผู้ผลิตหลายราย ประเทศของเรามีเศษเหลือของสารอินทรีย์สด ๆ อยู่มากมาย เช่น เศษพืชผัก ผลไม้ และเศษปลาต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้หากผ่านกระบวนการหมักอย่างถูกวิธีแล้ว สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงดิน และฉีดพ่นให้แก่พืชโดยตรงได้ วิธีการเหล่านี้นอกจากจะเป็นการนำของเหลือใช้มาใช้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นการทำการเกษตรแบบทางเลือกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำด้วย
ปุ๋ยน้ำหมัก
ปุ๋ยน้ำหมัก หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการนำเอาสารอินทรีย์ไปหมักในน้ำ ในระยะเวลาหนึ่ง จนสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีอยู่ถูกดึงออกมาจากเซลล์ สารเหล่านี้ประกอบไปด้วยธาตุอาหารพืช กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ และฮอร์โมน พืชต่าง ๆ ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ปุ๋ยน้ำหมักจากเศษพืช จึงแตกต่างจากผลไม้ แตกต่างจากเศษสัตว์ได้
การสกัดส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งเป็นของเหลวออกจากเซลล์ของพืชและสัตว์ อาจทำได้หลายประการ ในทางชีวภาพนี้มี 2 วิธีการใหญ่ ๆ ที่ใช้สกัดส่วนประกอบที่เป็นของเหลวภายในเซลล์ออกมาคือ
1. การใช้จุลินทรีย์เข้าย่อยสลาย มีจุลินทรีย์หลายชนิดในธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายเซลล์พืช สัตว์ แล้วปลดปล่อยสารต่าง ๆ ออกมา
2. การทำให้สารละลายภายนอกเซลล์เข้มข้นมาก (hypertonic concentration) กรณีเช่นนี้จะเป็นการดึงเอาของเหลวภายในเซลล์ออกสู่ภายนอกเซลล์ และพาเอาสารประกอบออกมาด้วย (plasmolysis) ต้องใช้ความเข้มข้นที่พอเหมาะ เพราะถ้าเข้มข้นมากไป ส่วนประกอบของเซลล์อื่น ทั้งภายนอกและภายในเซลล์จะไม่ถูกย่อยสลาย เนื่องจากจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโต การย่อยสลายผนังเซลล์ เซลลูโลส โปรตีน และอื่น ๆ จึงเกิดขึ้นช้า สารอาหารที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชจึงเกิดขึ้นน้อย
ประโยชน์ของปุ๋ยน้ำหมัก
ปัจจุบันนี้ ปุ๋ยน้ำหมักอาจผลิตออกมาหลายรูปแบบ อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามกระแสนิยม เช่น สารสกัดอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ สารสกัดชีวภาพ ปุ๋ยปลาหมัก น้ำสกัดชีวภาพ น้ำจากผลไม้หมัก (fermented fruit juice) น้ำหวานจากพืชหมัก (fermented plant juice) เป็นต้น
ในที่นี้จะขอเรียกชื่อรวม ๆ ว่า ปุ๋ยน้ำหมัก ส่วนประกอบภายในก็อาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีในการหมัก ระยะเวลาในการหมัก จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้อง และวัสดุที่ใช้หมัก แต่โดยภาพรวมแล้ว ในปุ๋ยน้ำหมักที่ผลิตขึ้นมาจะมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
1. ธาตุอาหารพืช (plant minerals) เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เป็นต้น ชนิดและปริมาณของธาตุอาหารในปุ๋ยน้ำหมักจะแตกต่างกันออกไป ตามชนิดของวัสดุที่ใช้หมัก ถ้าเป็นเศษพืช หรือผลไม้ จะมีธาตุอาหารน้อยมาก ประโยชน์ที่พืชได้รับจึงอาจไม่ใช่กรณีนี้ การเติมปุ๋ยเล็กน้อยลงไปจะช่วยให้มีการย่อยสลายเร็วขึ้น และมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้น
2. กรดอะมิโน (amino acids) ปริมาณและชนิดของกรดอะมิโนในปุ๋ยน้ำหมักแตกต่างกันออกไป กรดอะมิโนเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อพืช กล่าวคือ พืชสามารถดูดซับและนำไปใช้ได้โดยตรงเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนเป็นประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้ดินมีชีวิตมากขึ้น
3. กรดอินทรีย์ (organic acids) ปริมาณและชนิดของกรดอินทรีย์ในปุ๋ยน้ำหมักจะแตกต่างกันไป พบทั้งกรดอินทรีย์ที่มีโมเลกุลใหญ่ เช่น กรดเบนซินอะซิติก (benzene acetic acid) กรดฮิวมิค กรดฟูลวิค และกรดอินทรีย์ที่มีโมเลกุลเล็ก ๆ เช่น กรดอะซิติก (acetic acid) และกรดฟอร์มิก (formic acid) เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วในปุ๋ยน้ำหมักยังมีสารอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ อยู่อีกหลายชนิด เช่น แอลกอฮอล์และฟีนอล ซึ่งมีขนาดของโมเลกุลตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ มีฮอร์โมนพืชอีกหลายชนิด เช่น ออกซิน จิบเบอเรลลิน และไคเนติน ในปริมาณที่แตกต่างกัน สารเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อพืชทั้งสิ้น
หากกล่าวโดยรวมแล้วปุ๋ยน้ำหมักมีประโยชน์หลายประการดังนี้
1. เป็นการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรให้กลับคืนความเป็นประโยชน์ในการเกษตร สารอินทรีย์เหลือทิ้ง เช่น เศษปลา เศษผัก เศษผลไม้ หากปล่อยทิ้งไว้จะเน่าเสีย และไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ
2. เป็นการช่วยกำจัดศัตรูพืชบางชนิดได้ เช่น การกำจัดหอยเชอรี่ โดยการนำมาหมักเป็นปุ่ยน้ำ
3. เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ปุ๋ยน้ำหมักดังกล่าว เมื่อตกลงสู่ดิน สารอินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำปุ๋ยจะถูกจุลินทรีย์กลุ่มเฮทเทอโรโทรพใช้ในการเจริญเติบโต เช่น Pseudomonas, Bacillus, Azotobacter เป็นต้น ทำให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน เช่น การย่อยสลายสารอินทรีย์ การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการตรึงไนโตรเจน เป็นต้น
4. ให้ธาตุอาหารในรูปอนินทรีย์แก่จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน
5. ให้ธาตุอาหารอนินทรีย์แก่พืชทางใบ ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยน้ำหมักแม้มีปริมาณไม่มากนัก แต่สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวใบพืชเข้าสู่ระบบท่อลำเลียง ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ได้รวดเร็ว ในปุ๋ยน้ำหมักนี้มีธาตุอาหารพืชครบทุกธาตุ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักของพืช และยังมีธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน และธาตุอาหารเสริมจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมงกานีส โบรอน โมลิบดีนัม คลอรีน และนิกเกิลจำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่ท่อลำเลียงของพืช และเป็นประโยชน์ต่อพืชได้อย่างรวดเร็ว
6. ส่งเสริมการเจริญเติบโตและการชอนไชของรากพืช การส่งเสริมการเจริญเติบโตของเฮทเทอโรโทรพในดิน ส่งผลให้ดินโปร่ง มีการถ่ายเทอากาศดี เหมาะแก่การเจริญเติบโตของราก อีกทั้งส่วนของน้ำปุ๋ยที่ตกลงสู่ดิน บางส่วนมีสารอินทรีย์บางชนิดกระตุ้นการเจริญเติบโตของราก เช่น กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ วิตามิน และจิบเบอเรลลิน เป็นต้น
7. สารอินทรีย์บางชนิดที่มีขนาดของโมเลกุลไม่ใหญ่นัก เช่น กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ และแอลกอฮอล์บางชนิด พืชสามารถดูดกินเมื่อสัมผัสกับใบ และสามารถซึมผ่านเข้าสู่ใบได้ นอกจากนี้แล้วกลุ่มวิตามินและฮอร์โมนพืชบางชนิดที่ละลายอยู่ในน้ำปุ๋ย ในระดับที่มีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเป็นประโยชน์ และส่งเสริมการเจริญเติบโตให้แก่พืชที่ปลูกได้
จะเห็นได้ว่า ปุ๋ยน้ำหมักจะมีประโยชน์ต่อทั้งการปรับปรุงสภาพทางเคมี กายภาพ และชีวภาพของดิน ซึ่งจะส่งเสริมการเจริญเติบโตต่อพืช ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ขณะเดียวกันพืชก็สามารถใช้สารอินทรีย์และอนินทรีย์จากสารละลายปุ๋ยน้ำหมักได้โดยตรงด้วย
http://www.ku.ac.th/e-magazine/dec48/agri/manure.htm
วิธีการทำปุ๋ยปลาหมักสูตร วท
ปุ๋ยปลาหมักเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากปลาได้แก่ หัวปลาก้างปลา หางปลา พุงปลา และเลือด ผ่านขบวนการหมักโดยการย่อยสลายโดยการใช้เอนไซม์ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส
นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกรที่พบว่าปุ๋ยปลาหมัก ช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้มีสีสดขึ้น ผลไม้มีคุณภาพดี และช่วยเร่งการแตกยอดและดอกใหม่ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตของพืช ดร.สุริยา สาสนรักกิจ ได้เสนอสูตรการทำปลาหมักไว้ ดังนี้
1. หมักโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ Lactobacillus plantarum
ในการหมักปุ๋ยปลาหมัก พบว่าได้ผลดี โดยการหมักเศษปลาจำนวน 100 กิโลกรัม ใช้กากน้ำตาล 20 ลิตรเติมเชื้อจุลินทรีย์ Lactobacillus sp. จำนวน 10 ลิตร คนให้เข้ากันใช้เวลาการหมักประมาณ 1-2 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยปลาหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สำหรับพืชและสัตว์ นอกจากนั้นหลังจากหมักเป็นปลาหมักแล้วยังสามารถนำปลาหมักไปเป็นอาหารเสริมสำหรับสุกร ลดการติดเชื้อของโรคทางเดินอาหารของสุกรอีกด้วย
2. หมักโดยการใช้กรดอินทรีย์
กรดอินทรีย์ที่นิยมใช้ในการผลิตปุ๋ยปลาหมักได้แก่ กรดมด (กรดฟอร์มิค หรือกรดกัดยาง) และกรดน้ำส้มสายชู (กรดอะซิติก) ซึ่งกรดทั้งสองมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศเดนมาร์ค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1948 การใช้กรดทั้งสองชนิดในการผลิตปลาหมักเนื่องจาก กรดมดหรือกรดกัดยาง เป็นกรดที่หาได้ง่ายในพื้นที่ที่ทำสวนยาง ได้แก่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกรดน้ำส้มสายชูจะถูกนำมาใช้ในพริกดอง ซึ่งมีความเข้มข้นของกรด 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่จะนำมาใช้ในการผลิตปลาหมักเป็นกรดน้ำส้มสายชูเข้มข้นที่เรียกว่า “หัวน้ำส้ม” สามารถหาซื้อได้ในตลาดสดแทบทุกแห่ง
ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยปลา
ปุ๋ยปลาสามารถผลิตได้โดยการนำเอาพุงปลาและเลือดปลามาทำการบดให้ชิ้นส่วนต่างๆเหล่านี้มีขนาดเล็กลง จากนั้นนำไปหมักโดยใช้กรดมดเข้มข้น (formic acid) หรือกรดน้ำส้มสายชูเข้มข้น (acetic acid) ในปริมาณร้อยละ 3.5 มาผสมให้เข้ากันกับพุงปลาและเลือด นอกจากนี้ยังต้องเติมกากน้ำตาลในปริมาณร้อยละ 20 เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเศษปลา จากนั้นทำการคนให้เข้ากันและคนติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา 7 วัน ในระยะนี้จะสังเกตเห็นว่าพุงปลาเริ่มมีการละลายออกมาเป็นสารละลายเกือบหมดแล้วจากนั้นทำการหมักต่อไปอีกเป็นเวลา 21 วัน ในระหว่างที่ทำการหมักให้คนปุ๋ยปลาเป็นครั้งคราว การหมักปุ๋ยปลาถ้าใช้เวลานานจะได้ปุ๋ยปลาที่มีคุณภาพและกลิ่นที่ดี บางครั้งปุ๋ยปลาที่หมักได้จะมีคุณภาพของปุ๋ยที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบและกระบวนการหมัก แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.5-1เปอร์เซ็นต์ และมีจุลธาตุดังกล่าวข้างต้น เป็นองค์ประกอบ
วิธีการผลิต
1. ปลาหมัก จำนวน 40 กิโลกรัม
2. กากน้ำตาล (โมลาส) จำนวน 20 กิโลกรัม
3. หัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.-2 จำนวน 1 ถุง
ขั้นตอนการทำ
นำหัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.-2 มาละลายในน้ำอุ่น 20 ลิตร ผสมลงในถัง ขนาด 200 ลิตร พร้อมปลาหมักและกากน้ำตาล เติมน้ำสะอาดจนเกือบเต็ม แต่อย่าให้ถึงกับล้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์นำไนล่อนชนิดถี่มาปิดไว้เพื่อป้องกันแมลงวันวางไข่ หมักไว้ประมาณ 25–30 วัน ในระหว่างนี้น้ำในถังจะเริ่มลดลง ให้เติมน้ำสะอาดลงไปอีก ใช้ออกซิเจนตลอดเวลาและหมั่นคนปุ๋ยอย่างน้อยวันละ 2–3 ครั้ง ในกรณีใช้พ่นทางใบ ควรหมักให้นานกว่าปกติ ยิ่งนานยิ่งดี เพราะถ้านำมาใช้เร็ว อาจเกิดผลเสียทำให้ใบไหม้ได้
วิธีสังเกตดูว่าเมื่อไรจึงจะนำปุ๋ยน้ำมาใช้ได้
1. ระยะที่ 1 สังเกตน้ำปุ๋ยจะออกเข้มข้น เป็นฟองใหญ่ไม่แตกง่าย
2. ระยะที่ 2 ฟองจะค่อยๆ เล็กและแตกง่าย จะมีกลิ่นหอม
3. ระยะที่ 3 ฟองจะค่อยๆ เล็กลงมากๆ มีกลิ่นน้ำส้มคล้าย ๆกลิ่นแอลกอฮอล์และฟองจะละเอียดมาก
ประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยน้ำ
1. ออกดอกเร็ว เก็บผลผลิตได้เร็ว ได้ผลผลิตปริมาณที่มากขึ้นและมีคุณภาพดี
2. ลงทุนน้อย ลดต้นทุนในการผลิตและสามารถผลิตไว้ใช้เองในครัวเรือน
3. ไม้ผลจะมีรากแข็งแรง ใบสวย ใบใหญ่และยังปรับให้สภาพพื้นที่ดินดี ไม่เสีย ไม่เปรี้ยว
วิธีใช้
1. กรณีใช้ฉีดพ่นทางใบ ใช้ปุ๋ยน้ำ 1ลิตร ต่อน้ำ 100–150 ลิตรปริมาณการพ่น 7–10 วัน / ครั้ง
2. กรณีใช้ราดลงดิน ราดโคน ใช้ปุ๋ยน้ำ 1 ลิตร ต่อน้ำ 50 ลิตรปริมาณการใช้อย่างน้อยปีละ 3–4 ครั้งหรือ 30–40 วัน/ครั้ง
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.