ความหมายของ ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
ความหมายของ ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก ปุ๋ยอินทรีย์ + ชีวภาพ หมายถึง สารธรรมชาติที่ได้จากกระบวนการหมักบ่ม วัตถุดิบจากธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งพืช และสัตว์จนสลายตัวสมบูรณ์เป็นฮิวมัส วิตามิน ฮอร์โมน และสารธรรมชาติต่าง ๆ (ดินป่า) ซึ่งเป็นทั้งอาหารของดิน (สิ่งมีชีวิตในดิน) ตัวเร่งการทำงาน (catalize) ของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน และอาศัยอยู่ปลายรากของพืช (แบคทีเรีย แอคติโนมัยซิส และเชื้อรา ฯลฯ) ที่สามารถสร้างธาตุอาหารกว่า 93 ชนิดให้แก่พืช ภายใต้หลักการกสิกรรมธรรมชาติที่ว่า “เลี้ยงดิน เพื่อให้ ดินเลี้ยงพืช” (Feed the soil and let the soil feed the plant) เพื่อให้เกิดธรรมชาติสมดุลขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้พืชผักต้นไม้ทุกชนิดเจริญเติบโตได้ดี
ปุ๋ยอินทรีย์ หมายถึงปุ๋ยที่ได้จากซากพืชซากสัตว์หรือมูลสัตว์ที่สามารถย่อยสลายต่อไปอีกได้ ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์คือหาได้จากธรรมชาติ ไม่ทำให้ดินเสีย
คำว่า ชีวภาพ คือ เป็นสิ่งมีชีวิต ในที่นี้จะหมายถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งก็คือจุลินทรีย์ชีวภาพนั่นเอง ซึ่งให้ประโยชน์อย่างมากในการย่อยสลายสารอินทรีย์วัตถุทุกชนิด ถ้าเราไม่มีจุลินทรีย์ย่อยสลายตัวนี้ พวกพืชและผักตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่ตายไปก็จะเป็นขยะกองโตเต็มโลกไปหมด เราจึงอาศัยคุณสมบัติของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายได้ดีนี้มาประยุกต์ใช้กับปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้จุลินทรีย์ย่อยสลายปุ๋ย ซึ่งจะนำไปเป็นอาหารเลี้ยงพืชได้อย่างรวดเร็ว จุลินทรีย์จะเข้าไปย่อยสลายดมเลกุลของปุ๋ยอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่ให้เล็กลง จนพืชสามารถดูดซึมไปเป็นอาหารได้ในที่สุด ดังนั้นจึงกลายมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ความหมายใกล้เคียงของ ปุ๋ยอินทรีย์ (Organic Fertilizer) คือ ปุ๋ยที่ได้จากอินทรีย์สารซึ่งผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีต่างๆ และจะเป็นประโยชน์ต่อพืชก็ต้องผ่านขบวนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทางชีวภาพเสียก่อน มีวัตถุหลายประเภทที่สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้
ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ สามารถประยุกต์ให้อยู่ในสภาพของแข็งก็ได้ หรือพัฒนาไปเป็นแบบน้ำก็ได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่าปุ๋ยน้ำชีวภาพ ซึ่งก็คือปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพนั่นเอง
ในส่วนของปุ๋ยชีวภาพนั้น อาจจะมีความหมายกว้างกว่า ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยชีวภาพ มาจากรากศัพท์ ปุ๋ย + ชีวภาพ
คำว่า ปุ๋ย ในที่นี้ อาจหมายถึงปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ เมื่อรวมกับชีวภาพ จึงหมายถึงการนำปุ๋ยมาประยุกต์รวมกันกับชีวภาพหรือจุลินทรีย์นั่นเอง ซึ่งสามารถทำได้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ แต่โดยส่วนใหญ่คำว่าปุ๋ยชีวภาพนั้นจะเน้นหนักไปที่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งสามารถทำให้อยู่ทั้งในรูปของแข็งและน้ำได้
เกษตรกรทุกๆคน สามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพหรือปุ๋ยชีวภาพขึ้นใช้เองได้อย่างง่ายๆ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่ประโยชน์ที่ได้รับมากมาย
www.bangkokshow.com/index.php?lay=show&ac...Id... -
เรื่อง ปุ๋ยอินทรีย์ทำมาจากอะไรได้บ้าง ?
นางทวีลักษณ์ อ้นองอาจ นว. 8 ว
นส. ปทิตตา เทียนส่องใจ นว. 8 ว
คำสำคัญ : ปุ๋ยอินทรีย์
ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตร 3
ปุ๋ย หมายความว่า สารอินทรีย์หรืออนินทรีย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชได้ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในดินเพื่อบำรุงความเติบโตแก่พืช
ปุ๋ยอินทรีย์ หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากอินทรียวัตถุซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้น สับ บด หมัก ร่อน หรือวิธีการอื่น แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี
จากหนังสือศัพท์ในวงการปุ๋ย โดย ยงยุทธ โอสถสภา ให้ความหมายของปุ๋ยอินทรีย์ : ปุ๋ยที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ (ยกเว้น คาร์บอเนต)ร่วมกับธาตุอาหารพืช (นอกเหนือจากไฮโดรเจน และออกซิเจน) อย่างน้อยหนึ่งธาตุ ส่วนใหญ่จะได้มาจากซากพืชและสัตว์ รวมทั้งมูลสัตว์ต่าง ๆ แต่เดิมคำนี้มักใช้เรียกสารประกอบของคาร์บอนที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตเท่านั้นแต่บัดนี้รวมความไปถึงสารประกอบคาร์บอนสังเคราะห์ด้วย
ปุ๋ยสามารถประเมินค่าได้จากธาตุอาหารที่มีอยู่และการเป็นประโยชน์โดยเฉพาะไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ปุ๋ยอินทรีย์หลายอย่างมีธาตุอาหารไม่สมดุลเนื่องจากมีธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรองในปริมาณที่น้อย ปุ๋ยผสมแบบคลุกเคล้า (blended fertilizer) ทำจากการผสม สัตว์ พืช หินและแร่ธาตุ เพื่อให้มีธาตุอาหารที่มากขึ้น และเลียนแบบปุ๋ยที่สังเคราะห์ขึ้น เพื่อให้เกิดธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์เร็วขึ้น
ปุ๋ยอินทรีย์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. มาจากผลิตผลของสัตว์
2. มาจากผลิตผลของพืช
3. มาจากหินและแร่
ปุ๋ยที่มาจากผลิตผลของสัตว์ ได้แก่
- มูลสัตว์จากฟาร์ม ซึ่งประกอบด้วยอุจจาระและปัสสาวะของพวกปศุสัตว์ และเป็ดไก่ ในมูลสัตว์จะมีไนโตรเจนมาก มีฟอสฟอรัสน้อยในระยะแรกแต่จะถูกสะสมลงในดิน นอกจากนั้นยังมีแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน มูลสัตว์ ช่วยในการปรับปรุงดิน และโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น
- กัวโน ได้มาจากสิ่งขับถ่ายและซากของนกทะเล สัตว์ทะเล ค้างคาว กัวโนเป็นแหล่งของไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ซึ่งจะมีไนโตรเจน 8% ฟอสฟอรัส 6% แต่ถ้าอยู่ในบริเวณที่ชื้นและอบอ้าวจะมีฟอสฟอรัสสูง กัวโนในที่ชื้นจะมีแอมโมเนียสูง
- ตะกอนน้ำเสียหรือสิ่งโสโครก ที่เกิดจากการเติมจุลินทรีย์ชนิดพิเศษในน้ำเสียเพื่อช่วยในการย่อยสลาย ตะกอนน้ำเสียมีส่วนประกอบของธาตุอาหารใกล้เคียงกับมูลสัตว์จากฟาร์ม ยกเว้นโพแทสเซียม ในตะกอนนี้จะมีโลหะที่มีปริมาณน้อยได้แก่ As, Cd, Cr, Hg, Pb, Se ดังนั้นจึงจะต้องป้องกันไม่ให้โลหะเหล่านี้ลงไปในดิน โดยการบำบัดเสียก่อนที่จะใช้
- ซากกระดูกหรือเรียกว่าซากกระดูกสกัดด้วยไอน้ำ (steamed bone-meal) จะมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง มีไนโตรเจน 1-2%
- เลือดแห้งที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์ มีไนโตรเจนสูงประมาณ 8-12%
- เนื้อเยื้อสัตว์ เช่น หนัง ขนสัตว์ ผม กีบ เขา เศษเนื้อและเอ็น เนื้อแห้ง เศษปลา น้ำมันปลา จะมีไนโตรเจน และฟอสฟอรัสในปริมาณต่างๆกัน
ปุ๋ยที่ได้มาจากผลิตผลของพืช
เป็นวัสดุที่ได้จากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จากฟาร์ม รวมทั้งผลพลอยได้จากโรงงานของผลิตภัณฑ์การเกษตร ซึ่งได้แก่
- กากเมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดฝ้าย เมล็ดละหุ่ง เมล็ดต้นป่าน และเมล็ดถั่วเหลือง
- ขยะสดหรือมูลฝอยที่ทำการหมักแล้ว (ปุ๋ยหมัก) จะมีไนโตรเจนเป็นธาตุหลัก ส่วนฟอสฟอรัสและโพแตสเซียมจะมีน้อยเนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ โพแตสเซียมสามารถสูญหายไปขณะทำการหมัก
- ปุ๋ยพืชสด พืชที่ปลูกขึ้นเพื่อไถกลบลงในพื้นที่นั้น ซากพืชจะช่วยบำรุงดินและเป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูกตามมา พืชที่ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดมีทั้งที่อยู่ในตระกูลถั่วและมิใช่ตระกูลถั่ว
- เถ้าไม้ จะมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ถ้าเป็นเถ้าของไม้เนื้ออ่อนจะมีโพแทสเซียม 3% ถ้าเป็นเถ้าจากไม้เนื้อแข็งจะมีโพแทสเซียมประมาณ 8% โพแทสเซียมนี้ละลายน้ำง่ายและเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ทันที
- เศษอาหาร มาจากส่วนที่เหลือทิ้งของผลไม้และผัก ผลไม้มีธาตุอาหารน้อยแต่มีสารอินทรีย์พอสมควร มักจะมีไนโตรเจนและโพแทสเซียม ฝักและเปลือก จะมีโพแทสเซียมประมาณ 20-40%
- สาหร่ายทะเลสีน้ำตาล (Kelp) จะมีธาตุอาหารเสริม ฮอร์โมน วิตามิน กรดแอมิโน เกลือแร่ และสารที่มีความสามารถระงับเชื้อโรค
ปุ๋ยที่ได้จากแร่ธาตุ
หินและแร่ธาตุเป็นแหล่งของแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และกำมะถัน วัสดุเหล่านี้จะไม่มีไนโตรเจน ซึ่งได้แก่
- หินฟอสเฟต(rock phosphate หรือ francolite) ซึ่งเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตฟลูอออะพาไทต์ จะมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ประมาณ 1% ส่วนใหญ่จะใช้ผงหินฟอสเฟตรวมกับมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักจะทำให้ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น
- ผงหินแกรนิต (granite dust) ประกอบด้วยแร่ฟันม้าขนาดเล็กๆและไมคา ซึ่งมีโพแทสเซียมประมาณ 5% แต่จะไม่เป็นประโยชน์
- ทรายเขียว (greensand หรือ glauconite) มีเหล็ก โพแทสเซียมและซิลิเกตเป็นองค์ประกอบ มีโพแทสเซียมสูงประมาณ 7% จะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าผงหินแกรนิต แต่ก็ยังไม่ค่อยละลายน้ำจึงเป็นประโยชน์ต่อพืชเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้นยังมีฟอสฟอรัสและแมกนีเซียมด้วย
- ยิปซัม (gypsum) เป็นแร่อ่อน มีแคลเซียมและกำมะถันเป็นองค์ประกอบยิปซัมมีประโยชน์หลายอย่าง คือ
1) ใช้เป็นปุ๋ยแคลเซียมและกำมะถันสำหรับพืชตระกูลถั่ว
2) ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ของดินแอลคาไล(โซดิก) จะใช้ยิปซัมทำปฏิกิริยากับโซเดียมหรือโพแทสเซียมคาร์บอเนต ได้แคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งจะตกตะกอน นอกจากนั้นแคลเซียมไอออนจากยิปซัมยังเข้าแทนที่โซเดียมซึ่งดูดซับที่ผิวคอลลอยด์ดิน แล้วทำหน้าที่เป็นสารช่วยตกตะกอน (flocculant) ทำให้ดินเหนียวเกาะกันเป็นกลุ่ม ไม่มีสภาพแน่นทึบอีกต่อไป การซาบซึมและแทรกซึมน้ำของดินก็จะดีขึ้น ยิปซัมจึงช่วยให้ดินโซดิกมีการระบายน้ำดีกว่าเดิม
3)อาจใช้ผสมในน้ำชลประทานเพื่อเพิ่มการซาบซึมน้ำในดิน โดยผสมในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร จะช่วยเพิ่มการซาบซึมน้ำให้สูงขึ้น 30–70% ยิปซัมไม่มีความสามารถในการทำให้ดินกรดเป็นกลางได้
- หินปูน (limestone) หินปูนเป็นหินตะกอนชนิดหนึ่งประกอบด้วยแร่แคลไซต์ (แคลเซียมคาร์บอเนต ) ใช้แก้ไขความเป็นกรดของดิน ทำให้ดินร่วนและยังช่วยเพิ่มธาตุรองคือแคลเซียมให้แก่ดิน หินปูนมีแคลเซียม 40% และคาร์บอน 12% นอกจากหินปูนแล้วยังมี หินอ่อน ปูนสุก ปูนขาว ชอล์ก กระดูก เปลือกหอยทะเลและสแลคก์เป็นพวกปูน (lime) เช่นกัน ในการเกษตรมักใช้แคลไซต์และโดโลไมต์ (แคลเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมคาร์บอเนต) ผสมกัน ซึ่งในโดโลไมท์จะมีแคลเซียม 22% และแมกนีเซียม 13%
- แลงไบไนต์ (langbeinite) เป็นแร่โพแทชชนิดหนึ่งหรือเรียกว่า Sulfate of potash magnesia ซึ่งเป็นเกลือเชิงคู่ ซึ่งมีทั้งโพแทสเซียมซัลเฟตและแมกนีเซียมซัลเฟต มีโพแทชที่ละลายได้ไม่น้อยกว่า 25% และแมกนีเซียมซัลเฟตไม่น้อยกว่า 25% คลอไรด์ไม่เกิน 2.5% แลงไบไนต์ทำให้บริสุทธิ์ได้โดยล้างสินแร่เพื่อเอาเกลือคลอไรด์ที่มีอยู่ละลายออกไป
นอกจากวัสดุที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีวัสดุอีกหลายอย่างที่สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ แต่การที่จะใช้วัสดุอะไรบ้างจะต้องศึกษาให้ดีว่าวัสดุนั้นใช้ร่วมกันได้หรือไม่ จะใช้อย่างไร ปริมาณมากน้อยแค่ไหน เก็บอย่างไรและวัสดุนั้นจะมีโทษอะไรหรือไม่กับดินและผลผลิตที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมให้ดี
เอกสารอ้างอิง
1. JackE.Rechcigl,HerbertC.MacKinnon,1997.Agricultural uses of by-products and wastes.American Chemical Society ,Washington ,D.C.
2. ยงยุทธ โอสถสภา. ศัพท์ในวงการปุ๋ย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2542.
3. พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518.ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 92 ตอนที่ 5, 9 มกราคม 2518.
โครงการเคมี
โทร 0 2201 7224
Email: thavilak@dss.go.th
กันยายน 2550
http://www.dss.go.th/dssweb/st-articles/files/cp_9_2550_OrganicFertilizer.pdf
www.dss.go.th/dssweb/st.../cp_9_2550_OrganicFertilizer.pdf -
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.