ลำดับเรื่อง...
1. จุลินทรีย์ธรรมชาติ (ทำเอง)
2. จุลินทรีย์ อีแอบ.
3. จุลินทรีย์ อีแอบ. ซุปเปอร์
4. จุลินทรีย์หน่อกล้วย
5. จุลินทรีย์เปลือกถั่วลิสง
6. จุลินทรีย์ก้นครัว
7. จุลินทรีย์ฟังก์จัย
8. จุลินทรีย์ ไอเอ็มโอ.
9. จุลินทรีย์นมสด
10. จุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1. จุลินทรีย์ธรรมชาติ
หลักการและเหตุผล
- การที่จะรู้ว่าพื้นดินหรือแหล่งปลูกพืชบริเวณใดมีจุลินทรีย์ประเภทใดได้นั้น สังเกตจากการเจริญเติบโตของต้นพืชที่ขึ้นในบริเวณนั้นหรือใกล้เคียงเป็นหลัก ถ้าต้นพืชเจริญเติบโตดีแสดงว่ามีจุลินทรีย์ประเภทมีประโยชน์ แต่ถ้าต้นพืชไม่เจริญเติบโตแสดงว่ามีจุลินทรีย์ประเภทไม่มีประโยชน์
- ประเภทของจุลินทรีย์ธรรมชาติในแหล่งธรรมชาติ
*** รากหญ้าแฝก หญ้าขน หญ้าประเภทหน้าแล้งตายหน้าฝนฟื้น มีจุลินทรีย์อะโซโตแบ็คเตอร์
*** ปมรากถั่วลิสง มีจุลินทรีย์คีโตเมียม. ไรโซเบียม. ไมโครไรซ่า.
*** รากมะกอกน้ำ มีจุลินทรีย์บาซิลลัส
*** รากกล้วย มีจุลินทรีย์แอ็คติโนมัยซิส
*** รากพืชตระกูลถั่วยืนต้น เช่น สะดา เหลียง มะขามเทศ
*** เศษใบไม้ เศษกิ่งไม้ ผุเปื่อย
*** ดินผิวดินที่ประวัติเคมีมีเห็ดธรรมชาติเกิดประจำ
วิธีขยายเชื้อจุลินทรีย์ธรรมชาติ :
น้ำ (พีเอช 6.7-7.0).................... 10 ล.
กากน้ำตาล............................... 1 ล.
น้ำมะพร้าว................................ 1 ล.
วัสดุจุลินทรีย์เริ่มต้นหลายๆอย่าง......... 1-2 กก.
คนเคล้าให้เข้ากันดี
เติมอ๊อกซิเจนตลอด 24 ชม. ........... 7-10 วัน
ได้ "หัวเชื้อ" พร้อมใช้งาน
ใช้ "หัวเชื้อ 1 ล./น้ำ 500 ล." (1:500) ราดรดลงดิน หรือบนกองปุ๋ยอินทรีย์
หมายเหตุ :
การนำวัสดุที่เป็นแหล่งจุลินทรีย์ธรรมชาติ หลายๆอย่าง สับเล็ก ใส่ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หมักในกอง ก็จะทำให้จุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติที่ใส่ร่วมลงไปนั้นขยายเชื้อเพิ่มปริมาณได้
2. จุลินทรีย์ อีแอบ.
เตรียมเชื้อจุลินทรีย์เริ่มต้น :
1. ใช้ “ปลาทะเลสดยังมีชีวิตทั้งตัวบดละเอียด 1 กก. + กากน้ำตาล 50 ซีซี. + หัวกระเทียมบดละเอียด 200-300 กรัม.” ผสมนวดให้เข้ากันดี
2. นำเนื้อปลาที่นวดดีแล้วห่อด้วยใบตองหลายๆ ชั้น รัดห่อด้วยเชือกเป็นเปราะๆ เหมือนห่อหมูยอ แล้วเก็บไว้ในตู้กับข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วัน ช่วงอุณหภูมิอากาศปกติ หรือ 15-20 วันช่วงอุณหภูมิอากาศเย็น ได้ “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ." เข้มข้น พร้อมนำไปขยายเชื้อ
ขยายเชื้อจุลินทรีย์ :
1. เตรียมน้ำต้มเดือดจัดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ปล่อยทิ้งให้เย็น 10 ล.ในภาชนะที่ไม่ใช่โลหะ สะอาด ใส่กากน้ำตาลลงไป 1 ล. หรืออัตราส่วน 10 : 1 คนให้เข้ากันดี
2. นำก้อนเชื้อจุลินทรีย์ออกมาจากห่อ ใส่ลงไปในน้ำ ขยายเชื้อ คนเคล้าให้เข้ากันดี
3. ใส่ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ลงไปแล้วช่วงการหมัก 24-48 ชม.แรกให้ปิดฝาสนิท อย่าให้อากาศเข้าได้ ผ่าน 24-48 ชม.ไปแล้วคลายฝาออกปิดพอหลวม ระวังอย่าให้สิ่งแปลกปลอมตกลงไป ติดปั๊มออกซิเจนเพื่อเติมอากาศให้แก่จุลินทรีย์
4. ตรวจสอบประจำวันด้วยการสังเกตฟองที่เกิดขึ้นในถังขยายเชื้อ ถ้ามีฟองผุดขึ้นมามากแสดงว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมาก สมบูรณ์ และแข็งแรง แต่ถ้ามีฟองผุดขึ้นมาน้อยแสดงว่ามีจุลินทรีย์น้อยให้ใส่เพิ่ม “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์” พร้อมกับเติมกากน้ำตาลอีก อัตรา ¼ ของที่ใส่ครั้งแรกกับน้ำมะพร้าวอ่อนเล็กน้อยลงไป คนเคล้าให้เข้ากันดีอีกครั้งแล้วหมักขยายเชื้อต่อไป
- หลังจากหมดฟองแล้วได้ “หัวเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ.เข้มข้น” ให้นำออกใช้ทันทีในวันรุ่งขึ้น
- ขั้นตอนการหมัก การตรวจสอบ และการนำออกไปใช้ ให้ปฏิบัติเหมือนขยายเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่น
หมายเหตุ :
- ไม่ควรเก็บจุลินทรีย์ที่ขยายเชื้อจนเจริญดีแล้วไว้ในน้ำขยายเชื้อนานเกินไป เพราะจะทำให้จุลินทรีย์กลุ่มแรก (จุลินทรีย์ที่ต้องการ) ซึ่งเกิดก่อนต้องตายแล้วเกิดจุลินทรีย์กลุ่มใหม่ (ไม่รู้จัก) ขึ้นมาแทน ทั้งนี้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรส่วนใหญ่ต้องการความชื้นเพียง 30-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
- การควบคุมอุณหภูมิในถังขยายเชื้อหรือถังหมักให้อยู่ที่ 40 องศาเซลเซียสอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้จุลินทรีย์เจริญและขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น
* ดร.สุริยา ศาสนรักกิจ. ตรวจสอบจุลินทรีย์ อีเอ็ม. ว่ามีจุลินทรีย์กลุ่มไหนบ้าง จากนั้นพยายามคัดสรรสารพัดวัสดุเพื่อนำมา เพาะ/ขยายเชื้อ จนกระทั่งพบว่า ปลาทะเล. ทำให้ได้จุลินทรีย์กลุ่มเดียวกันกับ อีเอ็ม. ทันทีที่พบถึงกับอุทานว่า "แอบ" อยู่นี่เอง และนี่คือที่มาของชื่อว่า "อีแอบ" ที่ลุงคิมตั้งให้เอง
3. จุลินทรีย์ อีแอบ. ซุปเปอร์
เตรียมเชื้อเริ่มต้น :
ใช้ “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ.เข้มข้น” หมักนานจนพร้อมใช้งานแล้ว
การขยายเชื้อและวิธีใช้ :
- เตรียมน้ำขยายเชื้อเหมือนเดิม
- ใส่ “ก้อนเชื้อจุลินทรีย์ อีแอบ.เข้มข้น + จุลินทรีย์ท้องตลาดหรือจุลินทรีย์อื่นๆ” ลงในถังขยายเชื้อ คนเคล้าให้เข้ากันดี
- กรรมวิธีการหมักขยายเชื้อเหมือนการทำจุลินทรีย์ อีแอบ.ทุกประการ
หมายเหตุ :
- จุลินทรีย์ท้องตลาดได้แก่ ยาคูลท์ โยเกิร์ต และร้านขายสินค้าเกษตรทั่วไป
- จุลินทรีย์อื่นๆ หมายถึง พด. จุลินทรีย์หน่อกล้วย. จุลินทรีย์ประจำถิ่น. ฯลฯ ที่พร้อมใช้งานดีแล้ว ซึ่งจะทำให้ในอีแอบ.มีจุลินทรีย์กลุ่มอื่นเพิ่มขึ้น
4. จุลินทรีย์หน่อกล้วย
เตรียมเชื้อจุลินทรีย์เริ่มต้น :
1. เลือกหน่อกล้วยความสูง 1 ม.จากพื้นถึงยอด เป็นหน่อชนิดที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไม่มีโรค เกิดจากต้นแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรงให้ผลผลิตดี ทั้งต้นแม่และหน่ออยู่ในบริเวณที่ดินมีค่ากรด-ด่างเป็นกลางหรือเป็นกรดอ่อนๆ
2. ขุดหน่อขึ้นมาให้มีเหง้าติดรากมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สลัดดินทิ้งไปให้เหลือติดรากไว้เล็กน้อย ไม่ต้องล้างน้ำ
3. สับเล็กหรือบดละเอียดทั้งต้น (ราก เหง้า ต้น ใบ) อัตราส่วน หน่อกล้วย 3 ส่วน : กากน้ำตาล 1 ส่วน (3:1) เติมน้ำมะพร้าวอ่อนพอเหลว บรรจุในภาชนะที่ไม่ใช่โลหะ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี เก็บในร่ม อุณหภูมิห้อง คนบ่อยๆ เพื่อเร่งอากาศให้แก่จุลินทรีย์ หมักนาน 7-10 วัน กรองเอากากออก น้ำที่ได้คือ “น้ำหัวเชื้อจุลินทรีย์หน่อกล้วยเข้มข้น” พร้อมใช้งานขั้นตอนการหมัก การตรวจสอบ และการนำไปใช้เหมือนจุลินทรีย์ประจำถิ่น อายุการเก็บนาน 6 เดือนหลังจากหมดอายุแล้วนำมาขยายเชื้อด้วยจุลินทรีย์เริ่มต้นชุดใหม่ได้
ประโยชน์ :
- ใช้ในการหมักปุ๋ยน้ำชีวภาพ ฮอร์โมนพืช บ่มดิน ปรับปรุงดิน ฯลฯ
- ราดลงดินช่วยปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินโปร่งร่วนซุยและกำจัดเชื้อโรคในดิน
- ผสมกับปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก ให้ได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเร่งให้ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอกใช้งานได้เร็วและดีขึ้น
- ช่วยย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุที่ใส่ลงไปในดินให้เกิด “ฮิวมิค แอซิด” ได้เร็วและจำนวนมาก
- ช่วยย่อยสลายฟางในนาข้าวที่ไถกลบช่วงทำเทือกให้เปื่อยยุ่ยเร็วขึ้น
- ฉีดพ่นทางใบช่วยกำจัดเชื้อรา ทำให้หนอนไม่ลอกคราบไม่กินอาหาร (ทำลายพืช) ทำให้ไข่ของแม่ผีเสื้อฝ่อจนฟักออกมาเป็นตัวหนอนไม่ได้ และขับไล่แม่ผีเสื้อไม่ให้เข้าวางไข่
- กำจัดเชื้อโรคในน้ำในร่องสวน สระกักเก็บน้ำ และคอกปศุสัตว์
หมายเหตุ :
- ในหน่อกล้วยมีจุลินทรีย์กลุ่ม “แอ็คติโนมัยซิส” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสูง
- ฉีดพ่นจุลินทรีย์หน่อกล้วยทางใบให้ทั่วทรงพุ่มตอนกลาวันช่วงหลังฝนหยุด (ฝนต่อแดด) เพื่อล้างน้ำฝนออกจากต้นไม่ให้น้ำฝนแห้งคาต้นช่วยกำจัดเชื้อราแอนแทร็คโนส. ไม่ให้เข้าทำลายใบ ยอด ดอก ผล และส่วนต่างๆ ของพืชได้.....ฉีดพ่นตอนเช้ามืดเพื่อล้างน้ำค้างและหมอกออกจากต้นก่อนที่น้ำค้างและหมอกจะแห้งคาต้น ช่วยกำจัดเชื้อราน้ำค้าง. ราแป้ง. ราสนิม. ไม่ให้เข้าทำลายส่วนต่างๆ ของต้นพืชได้
- จุลินทรีย์กลุ่มแอ็คติโนมัยซิส. มีประสิทธิภาพในการกำจัดจุลินทรีย์เชื้อโรคพืชประเภทเชื้อราในดิน เช่น เชื้อไฟธอปเทอร่า. พิเทียม. ฟูซาเลียม. สเคลโรเทียม. และไรช็อคโธเนีย. ได้ผลดีมาก
- ถ้าไม่ใช้หน่อกล้วยทั้งหน่อ สามารถใช้เฉพาะส่วนลำต้นของต้นกล้วยแก่ตัดเครือใหม่ๆ แทนก็ได้ ด้วยอัตราส่วนและวิธีการเดียวกัน
5. จุลินทรีย์เปลือกถั่วลิสง
วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ :
ใช้ “เปลือกถั่วลิสงสดใหม่ผึ่งลมให้แห้ง บดละเอียด 10 กก. + ข้าวฟ่างสดใหม่บดละเอียดผึ่งลมให้แห้ง 1 กก. + มูลม้าสดใหม่บดละเอียดผึ่งลมแห้ง 1 กก. + รำละเอียดใหม่ 1 กก.” คลุกเคล้าให้เข้ากันดีพร้อมกับพรมด้วย “น้ำ 10 ล. + จุลินทรีย์ อีแอบ.ซุปเปอร์ หรือ จุลินทรีย์หน่อกล้วย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) 100 ซีซี.” ให้ได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์ ทำกองอัดแน่น คลุมด้วยพลาสติก ระหว่างหมักช่วง 5-7 วันแรกถ้าเกิดควันให้กลับกอง และกลับกองทุกครั้งที่มีควันขึ้น หมักไปจนกระทั่งอุณหภูมิในกองเย็นลง หมักนาน 3-6 เดือน ได้ “หัวเชื้อจุลินทรีย์เปลือกถั่วลิสงแห้ง” พร้อมใช้งาน
อัตราส่วนผสมและวิธีทำ :
ใช้ “หัวเชื้อเข้มข้น 1 กก. ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์หมักใหม่ 100 กก.” จุลินทรีย์ในเปลือกถั่วลิสงจะแพร่ขยายพันธุ์ในกองปุ๋ยอินทรีย์ชุดใหม่ หรือใส่ลงดินแล้วไถกลบ/คลุมด้วยอินทรีย์วัตถุก็จะแพร่ขยายพันธุ์ในดินเอง
หมายเหตุ :
ในเปลือกถั่วลิสงมีจุลินทรีย์กลุ่ม คีโตเมียม. ไรโซเบียม. และไมโครไรซ่า
6. จุลินทรีย์ก้นครัว
วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ :
ใช้อาหารหมักดองที่ สี กลิ่น และรสชาติ พร้อมบริโภค เช่น แหนม. ส้มฟัก. ปลาส้ม. ผักดอง. เต้าเจี้ยว. เต้าหู้ยี้. ยาคูลท์. โยเกิร์ต. นมเปรี้ยว. ถั่วเน่า. กะปิ. สภาพสดใหม่ สะอาด สภาพดีรับประทานได้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างๆละเท่าๆกัน ขยำพอแหลก เป็น “จุลินทรีย์เริ่มต้น” ใส่ใน “น้ำขยายเชื้อ” แล้วดำเนินการหมักเหมือนการขยายเชื้อจุลินทรีย์ตามปกติ
วิธีใช้และอัตราใช้ :
- ใช้เป็นจุลินทรีย์เริ่มต้นในกองปุ๋ยหมักหรือในดินหมายเหตุ :
- ในมูลไก่ค้างคอน มูลสัตว์กินเนื้อ ขี้เพี้ยวัว/ควายสภาพสดใหม่ก็มีจุลินทรีย์ เมื่อนำมาขยายเชื้อในน้ำขยายเชื้อหรือผสมปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงดินก็จะได้จุลินทรีย์ที่ดีเช่นกัน
- น้ำผักดองที่อยู่ในไห คือ “หัวเชื้อเข้มข้น” พร้อมใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องนำไปขยายเชื้ออีก อัตราใช้ “น้ำผักดองในไห 1 ล./น้ำ 500 ล.” (1:500) ให้ทางดินหรือใส่ร่วมในปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก จุลินทรีย์ก็จะเจริญขยายพันธุ์ได้เอง
- ดร.อิงะ นักวิชาการเกษตรอินทรีย์ญี่ปุ่น ศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์จากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอาหารหมักดองแล้วพัฒนาจนกลายเป็นจุลินทรีย์ อีเอ็ม.นำมาใช้อย่างได้ผลจนกระทั่งปัจจุบัน
7. จุลินทรีย์ฟังก์จัย
วัสดุส่วนผสม :
ฟางเห็ดฟางที่เชื้อเห็ดเริ่มเจริญ 10 กก.
มูลวัวไล่ทุ่งแห้งเก่าค้างปี 10 กก.
รำละเอียด 1 กก.
ข้าวฟ่างสดใหม่บดละเอียด 1 กก.
ยิบซั่มธรรมชาติ 1 กก.
คลุกเคล้าวัสดุส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี ทำกองบนแผ่นพลาสติกหรือพื้นคอนกรีตน้ำเข้าไม่ได้ อยู่ในร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก
น้ำขยายเชื้อ :
น้ำต้มปล่อยให้เย็น 10 ล.
น้ำมะพร้าวอ่อน 1 ล.
กากน้ำตาล 1 ล.
นมสดสัตว์รีดใหม่ 1 ล.
ใส่ส่วนผสมตามลำดับ คนเคล้าให้เข้ากันดี
วิธีทำ :
คลุกเคล้าวัสดุส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดีพร้อมกับพรมด้วยน้ำขยายเชื้อให้ทั่วกองได้ความชื้น 50 เปอร์เซ็นต์เสร็จแล้วทำกองอัดแน่น ปิดทับด้วยพลาสติกให้อากาศเข้าได้น้อยที่สุด ช่วงการหมัก 5-7 วันแรกถ้ามีควันเกิดขึ้นให้กลับกองระบายอากาศ และให้กลับกองทุกครั้งเมื่อมีควันเกิดขึ้น หลังจากหมดควันแล้วให้กลับกองทุก 10-15 วัน จนกระทั่งเห็นว่าวัสดุส่วนผสมเย็น มีกลิ่นหอมรำข้าว เนื้อนุ่มเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลอมดำ ได้ "หัวเชื้อจุลินทรีย์ฟังก์จัยเข้มข้น" พร้อมใช้งาน
วิธีใช้และอัตราใช้ :
ใช้ "หัวเชื้อเข้มข้น 1 กระป๋องนม/พื้นที่ 1 ตร.ว." เป็นเชื้อเริ่มต้น หรือใช้ "หัวเชื้อเข้มข้น 10 กก.ผสมปุ๋ยหมัก 100 กก." เป็นเชื้อเริ่มต้น วิธีขยายเชื้อจุลินทรีย์
วัสดุผสมและวิธีทำ :
น้ำ 10 ล. ต้มเดือดจัดเพื่อฆ่าเชื้อโรคแล้วทิ้งให้เย็น ใส่กากน้ำตาลต้มความร้อน 70 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที อัตรา 1 ล. คนเคล้าให้เข้ากันดี ใส่จุลินทรีย์ที่ต้องการขยายเชื้อลงไป 1 ล.หรือ 100 กรัม คนเคล้าให้เข้ากันดีอีกครั้งช่วงการหมัก 24 ชม.แรก ปิดฝาให้สนิทให้อากาศเข้าได้น้อยที่สุด ครบ 24 ชม.แล้วคลายฝาพอหลวม ติดปั๊มออกซิเจนเพื่อให้อากาศแก่จุลินทรีย์แบบตลอด 24 ชม. นานติดต่อกัน 7 วัน เก็บในร่ม อุณหภูมิห้อง ระวังอย่าให้ถูกแสงสว่างหลังจากให้ออกซิเจนครบ 7 วัน ให้ตรวจสอบโดยหยุดให้ออกซิเจน 2-3 วัน จากนั้นให้สังเกตฟอง.........ถ้ามีฟองเกิดขึ้น แสดงว่ามีจุลินทรีย์ดี จำนวนมาก ให้หมักต่อไปเรื่อยๆโดยไม่ต้องให้ออกซิเจน จนกว่าจะไม่มีฟองเกิดขึ้นหรือนิ่งหมดฟองก็จะได้ "หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น" พร้อมใช้งาน
วิธีใช้และอัตราใช้ :
ใช้เหมือนจุลินทรีย์ดั้งเดิมตั้งแต่ยังไม่ได้นำมาขยายเชื้อ
เป้าหมาย :
เหมือนจุลินทรีย์ดั้งเดิมตั้งแต่ยังไม่ได้ขยายเชื้อ
- ช่วงการหมักครบ 24 ชม.แรก ค่อยๆ เปิดฝาพร้อมกับสังเกตก๊าซที่พุ่งสวนออกมา ถ้าเสียงก๊าซพุ่งออกมาแรงแสดงว่ามีจุลินทรีย์มากและแข็งแรงดี ให้เปิดฝาแล้วเติมออกซิเจนได้เลย แต่ถ้าเสียงก๊าซพุ่งออกมาค่อยๆแสดงว่ามีจุลินทรีย์ไม่มากและไม่ค่อยแข็งแรง ให้ปิดฝาแน่นป้องกันอากาศเข้าต่อไปอีก 24 ชม. จากนั้นให้ตรวจสอบปริมาณก๊าซด้วยการเปิดฝาทุกๆ 24 ชม.เพื่อให้รู้ว่ามีจุลินทรีย์มากหรือน้อย
- ตรวจสอบจุลินทรีย์โดยการขยายเชื้อจุลินทรีย์ในขวดปากแคบ ใช้ลูกโป่งสวมปากขวดไว้ แล้วสังเกตลูกโป่ง ถ้าลูกโป่งพองดีแสดงว่ามีจุลินทรีย์จำนวนมาก ถ้าลูกโป่งไม่พองหรือพองช้าก็แสดงว่าไม่มีจุลินทรีย์หรือมีจำนวนน้อย
8. จุลินทรีย์ ไอเอ็มโอ.
วัสดุส่วนผสมและวิธีทำ :
1. หุงข้าว (ข้าวใหม่ดีกว่าข้าวเก่า) ให้สุกปกติพอดีๆ ปล่อยให้เย็นคาหม้อหุง ตักใส่กระบะพลาสติก ยีข้าวให้แตกเมล็ดดีพร้อมกับโรยน้ำตาลทรายแดงบดละเอียดบางๆ อัตราส่วน ข้าว 1,000 ส่วน น้ำตาลทรายแดง 1 ส่วน (1,000 : 1) คนเคล้าให้เข้ากันดีปิดฝากระบะด้วยผ้า รัดขอบให้มิดชิด
2. นำกระบะข้าวไปวางไว้ในสวนบริเวณร่มเย็น ความชื้นสูง (กลางกอกล้วย) ปลอดสารเคมี-ยาฆ่าหญ้าและสารเคมีอื่นๆ ทุกชนิด แล้วคลุมด้วยเศษพืชแห้งบางๆ โปร่งอากาศผ่านสะดวก
3. ทิ้งกระบะไว้ 5-7 วัน เมล็ดข้าวสุกจะเริ่มเป็นสีเหลืองอมเขียวอ่อนๆ บริเวณผิวหน้าก่อน เมื่อปล่อยไว้ต่อไปอีกเมล็ดข้าวสุกจะเป็นสีเหลืองอมเขียวทั้งหมดและมีน้ำใสๆ อยู่ที่ก้นกระบะนำกระบะข้าวสุกกลับมา ได้ “หัวเชื้อจุลินทรีย์ ไอเอ็มโอ. เข้มข้น” พร้อมใช้งาน
อัตราใช้และวิธีใช้ :
ใช้ “น้ำ 1,000 ล. + กากน้ำตาล 1 ล. + หัวเชื้อเข้มข้น 1 กก.” คนให้เข้ากันดี กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นทางใบแก่พืชช่วงหลังค่ำ อากาศไม่ร้อน หรือผสมปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อขยายเชื้อจุลินทรีย์ให้มากและแข็งแรงขึ้น
9. จุลินทรีย์นมสด
วัสดุส่วนผสม วิธีทำ และวิธีใช้ :
นมโคสด รีดใหม่ จากฟาร์ม............ 10 ล.
น้ำส้มสายชู 5% ...................... 100 ซีซี.
น้ำมะพร้าว.............................. 1 ล.
กากน้ำตาล............................. 1 ล.
ยิสต์ทำขนมปัง......................... 100 กรัม
คนเคล้าทุกอย่างให้เข้ากันดี เติมอ๊อกซิเจน ตลอด 24 ชม. นาน 7-10 วัน
ได้ "หัวเชื้อ" เข้มข้น
วิธีใช้ "หัวเชื้อ 20 ซีซี./น้ำ 20 ล. ราดรดลงดิน
10. จุลินทรีย์ย่อยสลายฟาง
วัสดถุส่วนผสม วิธีทำ และวิธีใช้ :
น้ำ (พีเอช 6.5-7.0) ......................... 10 ล.
เศษฟางเปื่อยยุ่ยเองตามธรรมชาติ ............ 1-2 กก.
กากน้ำตาล..................................... 1 ล.
น้ำมะพร้าว...................................... 1 ล.
ยูเรีย............................................ 100 กรัม
คนเคล้าส่วนผมทุกอย่างให้เข้ากันดี เติมอ๊อกซิเจนตลอด 24 ชม. นาน 7-10 วัน
ได้ "หัวเชื้อ" เข้มข้น
ใช้ "หัวเชื้อ 1-2 ล." ผสมน้ำตามความเหมาะสม สาดให้ทั่วแปลงนา 1 ไร่ ช่วงหมักฟาง
หรือใส่กองปุ๋ยอินทรีย์หมัก 1 ตัน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.