แนวคิดเกษตรธรรมชาติคิวเซ
เกษตรธรรมชาติคิวเซ เป็นทฤษฎีเกษตรธรรมชาติหนึ่งที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยระบบเกษตรธรรมชาติคิวเซเป็นระบบเกษตรรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เกษตรธรรมชาติคิวเซ อาศัยหลักการและปรัชญาของโมกิจิ โอกาดะ โดยมีพื้นฐานของการทำเกษตรธรรมชาติ คือ การเรียนรู้พลังของธรรมชาติ เน้นการดูแลรักษาดินให้ดีอยู่เสมอตามหลักปรัชญาที่ว่า “เกษตรธรรมชาติ คือ การทำให้ดินมีชีวิต” และทำระบบการผลิตทางการเกษตรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ส่งเสริมสุขภาพที่ดีของมนุษย์ และมีความยั่งยืน
โมกิจิ โอกาดะ เป็นชาวญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งองค์กรศาสนาเซไคคิวเซเคียวโดยมีกิจกรรมการส่งเสริมระบบเกษตรธรรมชาติคิวเซเป็นหลัก มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดทุกข์ของมวลมนุษยชาติ เขาได้ศึกษาค้นคว้าวิธีการทำเกษตรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และได้ตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพอาหารของมนุษย์ในอนาคตจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยได้คาดการณ์ไว้ว่า “ในอนาคตผักผลไม้ที่มีจำหน่ายอยู่จะไม่เหมาะสมที่จะนำมาบริโภค” และมลพิษที่จะเกิดขึ้นในโลก อันได้แก่ มลพิษทางดิน มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางอากาศ จะส่งผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการ ปฏิวัติเขียว (The Green Revolution) ซึ่งมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากและแพร่หลายในการผลิตอาหารเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคของมนุษย์ โดยเริ่มต้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ความต้องการสารเคมีทางการเกษตรก็ทวีจำนวนมากขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายการผลิตทางการเกษตรด้วยการใช้สารเคมีต่างๆ เช่นเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่เพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรในประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้แพ้สงครามและถูกสั่งปิดประเทศ โมกิจิ โอกาดะได้ประกาศตั้งองค์การเกษตรธรรมชาติคิวเซขึ้นในปี 2478 โดยได้ปฏิบัติตามแนวทางเกษตรธรรมชาติในที่ดินส่วนตัว แต่ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเคยถูกทางการญี่ปุ่นจับกุมตัวในฐานที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ รูปแบบเกษตรธรรมชาติตามแนวคิดของ โมกิจิ โอกาดะ ให้ความสำคัญกับดินเป็นอย่างมาก เขาได้สังเกตดินโดยใช้ดินป่าธรรมชาติเป็นต้นแบบ ซึ่งพบว่าผิวดินนั้นมีความสำคัญแตกต่างเป็นชั้นๆ ดังนี้
ชั้นที่ 1 เป็นใบไม้ กิ่งไม้แห้ง ปกคลุมทั่วไป
ชั้นที่ 2 เป็นส่วนที่ใบไม้ กิ่งไม้แห้งที่เริ่มผุพัง
ชั้นที่ 3 เป็นส่วนที่ใบไม้ กิ่งไม้แห้งผุพังเน่าเปื่อยปนกับดิน
ชั้นที่ 4 เป็นดินดานที่ไม่มีอินทรียวัตถุ
ส่วนที่มีใบไม้ กิ่งไม้ผุเน่าปะปนอยู่กับดินนั้น มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดินส่วนนี้จะมีรากพืชส่วนที่เป็นรากฝอยและรากขนอ่อนอยู่มาก เมื่อนำดินส่วนนี้มาดมจะพบว่ามีกลิ่นหอมเหมือนเห็ด เขาเรียกดินส่วนนี้ว่า “ดินที่มีชีวิต”
โมกิจิ โอกาดะ มีเป้าหมายการทำเกษตรธรรมชาติดังนี้
1. เป็นการเกษตรที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีและไม่ทำลายสุขภาพมนุษย์
2. เป็นการเกษตรที่ไม่ทำลายดิน และได้ผลผลิตของพืชเพิ่มขึ้นในแต่ละปี
3. เป็นการเกษตรที่ให้ผลผลิตเท่าเทียมกับเกษตรเคมี และสามารถทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรดีขึ้น
หลักการส่งเสริมแนวทางดังกล่าวในช่วงแรกของการทำเกษตรธรรมชาตินั้น เป้าหมายที่ 1 และ 2 บรรลุผล แต่เป้าหมายที่ 3 ไม่ประสบความสำเร็จ การทำเกษตรธรรมชาติไม่สามารถให้ผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้เท่าเทียมกับการทำเกษตรเคมี เพราะในช่วงแรกมีต้นทุนที่สูงกว่า ได้ผลผลิตต่ำกว่าเกษตรเคมีและไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชได้ ดังนั้นเกษตรธรรมชาติคิวเซยังไม่แพร่หลายทั่วโลก
หลักการของเกษตรธรรมชาติคิวเซ
การเกษตรของโมกิจิ โอกาดะมีเกณฑ์หรือหลักในการดำเนินการยึดตามแบบอย่างของดินและระบบนิเวศในป่าธรรมชาติ โดยมีหลักการดำเนินงาน 3 ประการ คือ
1. หลักการคลุมดิน การคลุมดินในแปลงผัก และแปลงไม้ผลให้ประโยชน์หลายประการ ได้แก่
1.1 รักษาความชื้นในดินและรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกชะล้าง
1.2 ช่วยกำจัดวัชพืชได้บางส่วนและทำให้ถอนวัชพืชง่าย
1.3 ส่งเสริมให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดี
1.4 อินทรียวัตถุที่ใช้คลุมดินจะถูกย่อยสลายเป็นธาตุอาหารพืชได้ง่าย
2. การไม่ไถพรวนดิน การไถพรวนดินจะทำลายสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมของจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ดินแห้งและการกลับหน้าดิน ซึ่งอาจทำให้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำพลิกกลับมาอยู่บนผิวดิน อย่างไรก็ตามบางครั้งก็จำเป็นต้องไถพรวนบ้างเพื่อกำจัดวัชพืช และช่วยยกแปลงให้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากบางครั้งดินบริเวณแปลงจะแข็งและมีวัชพืชมาก
3. การไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร การไม่ใช้สารเคมีมีความสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นจุดเริ่มของการคืนสภาพความเป็นธรรมชาติแก่โลกหรือดิน เมื่อดินเป็นธรรมชาติพลังงานของดินจะให้ประโยชน์แก่พืชทั้งหลายโดยธรรมชาติอย่างถาวร และโมกิจิ โอกาดะ ได้ให้แนวคิดว่า หากใช้เคมีผสมผสานกับเทคนิคเกษตรธรรมชาติ จะทำให้การคืนสภาพดินสู่ธรรมชาติไม่สมบูรณ์ยั่งยืน
โมกิจิ โอกาดะ ได้พยายามปฏิบัติและพัฒนาการทำเกษตรธรรมชาติคิวเซมาตลอดระยะเวลา 40 ปี แต่ก็ไม่สามารถทำให้เป้าหมายข้อ 3 ประสบผลสำเร็จได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 เขาได้ผู้ร่วมงานคือ ศาสตราจารย์ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ จบจากมหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่นและได้ค้นพบเทคนิคการใช้ “อีเอ็ม” (Effective Microorganism : EM) ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพจำนวน 80 สายพันธุ์ จึงสามารถบรรลุเป้าหมายการทำเกษตรธรรมชาติของโมกิจิ โอกาดะ ทำให้เกษตรธรรมชาติคิวเซเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง โดย “อีเอ็ม” ทำให้ดินดีขึ้นอย่างเห็นชัด และสามารถลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถป้องกันและกำจัดโรค แมลงศัตรูพืชได้ในเวลาเดียวกัน
EM ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและช่วยบำรุงดิน ทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดน้ำเสีย และ กลิ่นเหม็น การสุขาภิบาลในฟาร์มปศุสัตว์ และใช้ผสมในอาหารสัตว์ทำให้เจริญเติบโตดีอีกด้วย
การศึกษาค้นคว้าพัฒนาจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติหลายกลุ่มมาเลี้ยงรวมกัน โดยเน้นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้ดินดี ใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี จนได้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) ประกอบด้วย จุลินทรีย์ต่างๆ มากกว่า 80 สายพันธุ์ เช่น จุลินทรีย์กลุ่มผลิตกรดแลคติก ยีสต์ แอคติโนมัยซีต จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และเชื้อราที่ช่วยในการหมัก เป็นการค้นพบวิธีการทำเกษตรธรรมชาติแนวใหม่ โดยใช้จุลินทรีย์มาช่วยในระบบการผลิต
การเผยแพร่เกษตรธรรมชาติคิวเซในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2511 คาซูโอะ วาคุกามิ ชาวญี่ปุ่นได้เดนทางมาเผยแพร่กิจกรรมทางด้านศาสนาในประเทศไทยและได้จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” โดยมีความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ และต้องการให้เกษตรธรรมชาติคิวเซเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ
อีเอ็ม (EM) ถูกนำเข้าประเทศไทยในปี พ.ศ. 2529 และในปี พ.ศ. 2531 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและเผยแพร่เกษตรธรรมชาติคิวเซขึ้น ณ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ภายใต้มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “อีเอ็ม” ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีการใช้ในการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเกษตรของประเทศไทย เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ยอมรับการใช้ “อีเอ็ม” ทางการเกษตร เนื่องจากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและจำแนกสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ใน “อีเอ็ม” กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยยอมรับเทคโนโลยีเกษตรธรรมชาติและนำไปใช้ รวมถึงนำไปส่งเสริมอย่างแพร่หลายต่อเกษตรกรและชุมชน โดยในปัจจุบันถือว่าเกษตรธรรมชาติคิวเซ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับผู้สนใจไม่น้อยกว่า 30,000 คนต่อปี
ที่มา : เกษตรธรรมชาติประยุกต์ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ศูนย์ข้อมูลเกษตรธรรมชาติแม่โจ้
www.maejonaturalfarming.org
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.