เร่งปรับจุลินทรีย์ผลิตปุ๋ยช่วยเกษตรกร
กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้าโครงการสร้างโรงปุ๋ยในดิน ใช้เทคนิค Cell Fusion ปรับปรุงจุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่ ทำหน้าที่เสมือนเครื่องจักรผลิตปุ๋ย N P K และฮอร์โมน แถมเพิ่มปริมาณมากขึ้นหลายเท่า เผยจะช่วยเกษตรกรไทยลดต้นทุนปุ๋ยเคมีมหาศาล
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการใช้จุลินทรีย์สร้างโรงงานผลิตปุ๋ยในดินว่าจะใช้ฐานความรู้จากการวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์ในปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดที่กรมพัฒนาขึ้นมา โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณธาตุอาหารหลักในดินที่พืชต้องการ ทั้งไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) และฮอร์โมนเร่งขยายระบบรากและช่วยลำเลียงธาตุอาหารไปเลี้ยงต้นพืช
ทั้งนี้ จุลินทรีย์ในโครงการสร้างโรงปุ๋ยในดินครั้งนี้ จะต่างจากจุลินทรีย์ที่ใช้ในสารเร่ง พด.สูตรต่างๆ กล่าวคือเป็นการปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์ขึ้นใหม่ จากแต่เดิมที่ใช้จุลินทรีย์ในธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีขีดความสามารถจำกัด เช่น จุลินทรีย์ พด.12 เพิ่มธาตุไนโตรเจนได้ 3 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี แต่จุลินทรีย์สายพันธุ์ใหม่จะเพิ่มธาตุไนโตรเจนได้ 15-45 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี
น.ส.ฉวีวรรณ เหลืองวุฒิวิโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ผลิต และเก็บรักษาจุลินทรีย์ทางการเกษตร สำนักเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กล่าวเสริมว่า การปรับปรุงพันธุ์จุลินทรีย์ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Cell Fusion หมายถึงการนำเซลล์ของจุลินทรีย์มาผสมผสานกันจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ โดยตัวที่ยากที่สุดจะเป็นจุลินทรีย์ตรึงไนโตรเจน ซึ่งมีข้อจำกัดมาก และมีขีดความสามารถต่ำคือตรึงไนโตรเจนได้เพียงปีละ 3 กก.ต่อไร่เท่านั้น ส่วนธาตุฟอสฟอรัส โดยธรรมชาติละลายเองได้ 3% แต่เมื่อมีจุลินทรีย์ช่วยจะเพิ่มการละลายฟอสฟอรัสให้ได้ถึง 17% และโพแทสเซียมจากที่ละลายได้ 3-4% ก็จะปรับขึ้นได้ถึง 10%
ที่มา: http://www.komchadluek.net
www.pandinthong.com/ViewContent.php?ContentID=6167 -
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.