วว.เปิดตัว เครื่องบำบัดสารเคมีการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์
แก้ปัญหาสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคเกษตร/อุตสาหกรรม..ครั้งแรกของประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัวเครื่องบำบัดสารเคมีการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ แก้ปัญหาสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมสำหรับภาคเกษตร/อุตสาหกรรม..ครั้งแรกของประเทศไทย ระบุผลการทดลองในสวนส้ม ลดปริมาณสารเคมีตกค้างปนเปื้อนในร่องน้ำได้ถึง 10 เท่า ใช้เวลาเพียง 1 เดือน พร้อมต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าวในระบบบำบัดน้ำเสียโรงงานผลิตสารกำจัดศัตรูพืช พบช่วยลดปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชได้ 14 ชนิด ลดลงถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์ หวังขยายผลต่อเนื่องในการใช้บำบัดสารเคมีการเกษตรตกค้างในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจแบบยกร่องและโรงงานผลิตสารเคมีทางการเกษตร คาดช่วยลดความเสี่ยงสุขอนามัยประชาชนจากสารเคมีปนเปื้อน ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลภาวะอย่างยั่งยืน
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากการที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพร่วมกับฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร วว. ดำเนินงานโครงการวิจัยการลดปริมาณและความเป็นพิษของสารเคมีการเกษตรปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นผลกระทบจากการทำสวนส้มโดยชีววิธี จัดสร้างเครื่องบำบัดสารเคมีการเกษตรตกค้างบริเวณร่องน้ำโดยใช้ถังปฏิกรณ์แบบเติมอากาศ ที่ใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณของสารผสมคาร์เบนดาซิม (MBC) และคาร์โบฟูแรน (CB) ที่พบว่ามีการปนเปื้อนอยู่ในร่องน้ำของสวนส้มที่จังหวัดพิจิตรและกำแพงเพชร เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ของกลุ่มจุลินทรีย์คัดเลือกในการแก้ปัญหาสารเคมีการเกษตรปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม โดยเครื่องบำบัดสารเคมีการเกษตรนี้มีกระบวนการทำงานแบบต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน ทั้งนี้ วว.ได้รับความร่วมมือจากสวนส้มฟ้าประทาน จ.พิจิตร เป็นพื้นที่ทดลองนำร่องโครงการ ผลการวิจัยพบว่า สามารถลดปริมาณสารคาร์เบนดาซิม (MBC) ที่ตรวจพบว่าปนเปื้อนอยู่ในร่องน้ำลงได้ 10 เท่า ภายในเวลา 1 เดือน
นอกจากนี้ วว.ยังได้ต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวร่วมกับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในระบบบำบัดน้ำทิ้งของโรงงานผลิตสารกำจัดศัตรูพืช โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เคมแฟค จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสารกำจัดศัตรูพืช ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยเริ่มจากการคัดแยกจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารผสม ไกรโครเซส (Glyphosate), เพอร์มิติน(Permethrin) และ คลอไพริฟอส(Chlorpyrifos) ซึ่งตรวจพบว่ามีปริมาณสูงในระบบบำบัด หลังจากนั้นจึงนำกลุ่มจุลินทรีย์ที่คัดแยกได้ ไปใส่ไว้ในถังกวนช้าในระบบบำบัด ภายหลังจากการเติมกลุ่มจุลินทรีย์ไป 10-45 วัน พบว่า สามารถลดปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชได้ถึง 14 ชนิด ปริมาณลดลง 80-100 เปอร์เซ็นต์
“...เทคโนโลยีชีวภาพการบำบัดสารเคมีการเกษตรปนเปื้อนในน้ำนี้ นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย ที่ วว.สามารถนำจุลินทรีย์ที่แยกได้จากธรรมชาติและมีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารพิษได้ดีในระดับห้องปฏิบัติการ มาใช้ประโยชน์จริงในการย่อยสลายสารพิษที่ปนเปื้อนในสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติ ทั้งนี้ผลจากการวิจัยทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมพบว่าสามารถลดปริมาณของสารเคมีการเกษตรที่ปนเปื้อนได้ ซึ่งผลการวิเคราะห์ในส่วนงานวิจัยในห้องปฏิบัติการ น้ำในสวน ตลอดจนน้ำในระบบบำบัดของโรงงาน ดำเนินการโดยบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งสามารถยืนยันได้ถึงค่าความถูกต้องและเชื่อถือได้ วว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำเร็จจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนด้วยการลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีลง ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหามลภาวะ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน...”ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม
ดร.อัญชนา พัฒนสุพงษ์ นักวิชาการประจำฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วว.ในฐานะหัวหน้าโครงการ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า วว. ยังประสบความสำเร็จในการเก็บรักษาประสิทธิภาพของกลุ่มจุลินทรีย์ในการย่อยสลายสารผสม Glyphosate, Permethrin และ Chlorpyrifos ไว้ได้นาน 1 ปี โดยยังคงประสิทธิภาพไว้ได้ถึง 75-100 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ วว. อยู่ระหว่างดำเนินการขยายผลเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์ในการบำบัดสารเคมีการเกษตรที่ตกค้างในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจแบบยกร่องโดยใช้ถังปฏิกรณ์ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี รวมทั้งการบำบัดสารอันตรายตกค้างในระบบบำบัดน้ำทิ้งของบริษัทไทยเฮอร์บิไซด์ จำกัด ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู และจะประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์แก่พืชเศรษฐกิจอื่นทั้งประเภทพืชผักและไม้ผลต่อไปในอนาคต
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วว. Call Center โทร. 0 2577 9300 ในวันและเวลาราชการ www.tistr.or.th
E-mail : tistr@tistr.or.th
http://www.newswit.com/gen/2011-04-22/13742141492f0a96d9573c6ee164ef66/
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.