ศัตรูพืช....เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
หลายคนที่ได้คลุกคลีและลงมือดูแลสวนด้วยตัวเองคงพอจะทราบว่ายังมีปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ “ศัตรูพืช” ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 จำพวก คือ โรค แมลง และวัชพืช “บ้านและสวน” จึงมีวิธีสังเกตอาการ การป้องกันและกำจัดเจ้าวายร้ายทั้ง 3 ตัวนี้มาฝากกัน
โรคพืช หลักง่าย ๆ สำหรับสังเกตต้นไม้ว่ามีโรคพืชเข้าทำลายหรือไม่ มีดังนี้
- ถ้าต้นไม้มีรอยฉ่ำน้ำ เหี่ยว เห็นจุดสีดำ หรือมีลักษณะเป็นเส้นใย แสดง ว่าพืชนั้นถูก เชื้อรา เข้าทำลาย ซึ่งสภาพอากาศในบ้านเรานั้นเหมาะต่อการแพร่กระจายและการเจริญเติบโตของเชื้อราด้วย สำหรับการป้องกันนั้น ทำได้โดยพยายามตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งบาง เพื่อให้ลมและแสงแดดเข้าถึง ถ้าพบกิ่งที่แสดงอาการ หากมีไม่มากก็ตัดแล้วทำลายทิ้งเสีย พอถึงช่วงฤดูฝน ก็ควรฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราด้วย สารเคมีที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ได้แก่ ออร์โทไซด์ ผสมน้ำฉีดพ่นตามอัตราที่ระบุไว้ในฉลาก
- ถ้าต้นไม้ในสวนมีใบหงิกงอหรือใบด่าง มีจุดเขียวคล้ำที่ลำต้นหรือใบ เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย แสดงว่าต้นไม้นั้นติดโรคที่เกิดจาก เชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ยาก ควรตัดส่วนที่เป็นโรคหรือนำทั้งต้นไปเผาทำลาย นอกจากนี้เชื้อไวรัสยังแพร่กระจายโดยมีแมลงพาหะ โดยเฉพาะกลุ่มแมลงที่มีปากดูด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น หรือบางครั้งอาจติดมากับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้งานก็ได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้แมลงเหล่านี้เข้ามาในสวน โดยหมั่นฉีดน้ำขึ้นไปที่ทรงพุ่มต้นไม้บ้าง เพื่อไล่แมลงเหล่านี้ไป นอกจากนี้ควรดูแลวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ตัดแต่งต้นไม้ให้สะอาดอยู่เสมอ
- สำหรับโรคที่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ส่วนมากมักจะรักษาไม่ทันการ เพราะเชื้อจะแพร่เข้าไปตามท่อน้ำและท่ออาหารของพืช อาการของต้นไม้ที่สังเกตได้คือ ต้นไม้เริ่มออกอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เน่าเละ การป้องกันจึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยดูแลให้พืชเจริญเติบโตแข็งแรง และควรเผาทำลายชิ้นส่วนต้นพืชที่ได้รับเชื้อด้วย เพื่อป้องกันการลุกลามต่อไป
แมลงศัตรูพืช แบ่งได้เป็น 2 จำพวก ดังนี้
- แมลงปากกัด ได้แก่ ด้วง หนอนเจาะลำต้น ตั๊กแตน หอยทาก และทาก พวกนี้ทำให้ต้นไม้มีรอยแหว่งหรือเป็นรูพรุนเต็มไปหมด ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น หรือบางทีลำต้นโดนเจาะทำลาย ซึ่งส่งผลต่อท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ทำให้พืชเหี่ยวเฉา และอาจตายได้ในที่สุด วิธีกำจัดอาจใช้สารสกัดจากธรรมชาติ เช่น สะเดา หรือสารเคมีที่ดูดซึมเข้าไปในลำต้น ทำให้แมลงที่มากัดกิน ดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของลำต้นตายหมดไปได้ เช่น ไซเปอร์เมทริน อะบาเมคติน
- แมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง แมงมุมแดง และแมลงหวี่ขาว พวกนี้จะดูดกินน้ำเลี้ยงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนพืชที่ถูกทำลายแสดงอาการแคระ แกร็น ใบหงิกงอ และตายในที่สุด สารเคมีที่นิยมใช้ ได้แก่ เซฟวิน หรือ เอส-85 ควรฉีดพ่นตามอัตราที่ระบุไว้ในฉลาก
วัชพืช คือ ต้นไม้ที่ขึ้นเองโดยมิได้ต้องการ ได้แก่ หญ้าแห้วหมู หญ้าขน หญ้าคา หรือหญ้าเจ้าชู้ ถ้าเจ้าของสวนหมั่นเดินสำรวจตรวจตราแปลงต้นไม้ พรวนดินเป็นประจำ เวลาพบเห็นวัชพืชก็เด็ดถอนทิ้งไป วัชพืชก็จะไม่สร้างปัญหากวนใจให้เรา.
บ้านและสวน
ที่มา : เดลินิวส์
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.