ถามหน่อย ถ้ามีคนมาบอกว่า "สะเดา" เป็นวัตถุอันตราย คุณจะรู้สึกอย่างไร? พี่สาวคนหนึ่งได้ยินแล้วหัวเราะ ก่อนบอกว่า "ที่บ้านกินประจำไม่เห็นตายเลย" และ ความรู้สึกเมื่อได้รู้ว่า พืชสมุนไพรอื่นๆ อย่าง ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า สาบเสือ กากเมล็ดชา ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ หนอนตายหยาก และดอกดึงหัวขวาน ที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อ วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ได้กำหนดให้รายชื่อพืชทั้ง 13 ชนิดนี้ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 โดยในร่างประกาศกำหนดให้... " ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายพืชสมุนไพรดังกล่าว ต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานตามแบบฟอร์มที่กรมวิชาเกษตรเป็นผู้กำหนด ซึ่งการออกกฎระเบียบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเกษตรกร ชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากประกาศควบคุมเฉพาะ "ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง เคมี" และ "เฉพาะที่นำไปใช้ในการป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช" ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
รู้สึกอย่างไร?
แต่ที่แน่ๆ เป็นประกาศที่เล่นเอาเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ รับไม่ได้ จนต้องออกมาเรียกร้อง ให้ยกเลิก เพราะ พืชสมุนไพรเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นพืชที่เกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ ใช้เป็นอาหาร และใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และนอกจากนี้ อาจกระทบกระเทือนต่อนักวิจัยที่ศึกษาประโยชน์พืชเหล่านี้ด้วย
ใน "วันครบรอบ 40 ปี วันพระราชทานนาม และ 121 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล" มีโอกาสได้ไปชมการจัดแสดงผลงานทางวิชาการ ที่ ซุ้มนิทรรศการ "สวนสมุนไพรสิรีรุขชาติ" ของคณะเภสัชศาสตร์ มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง พืชอาหาร-สมุนไพร ทั้ง 13 ชนิดที่กำลังเป็นประเด็นร้อน!!!
พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ว่า การประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางเคมีทั้ง 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยส่วนใหญ่เป็นพืชที่ชาวบ้านนิยมใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เป็นเรื่องที่ กรมวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิอาจมีเหตุผลที่เป็นรูปธรรม สมควรชี้แจงให้ทุกภาคส่วนเข้าใจในหลักการ แต่ ทว่า ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับความกระจ่าง เพราะการประกาศนี้ ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจและไม่มั่นใจที่จะบริโภค ซึ่งเป็นผลเสียต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน
" การประกาศแต่ชื่อสมุนไพร โดยมิได้กำหนดส่วนของพืชให้ชัดเจนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น สะเดา ส่วนที่ใช้เป็นยาฆ่าแมลงคือเมล็ด น้ำมันจากเมล็ด และใบแก่ ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่ใช้รับประทาน เป็นต้น และสมุนไพรที่เป็นพิษ มักมีฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งด้วย การประกาศอาจส่งผลต่อการวิจัย เพราะมาตรการในการควบคุมส่วนที่จะไปผลิตเป็นยาฆ่าแมลงกับส่วนที่ใช้ในกรณี อื่นๆ อาจทำได้ยาก" พร้อมจิตกล่าว
พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด มีอะไรบ้าง? เกษตรกรเขาใช้ประโยชน์กันอย่างไร?
แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม และไล่เรียงรายละเอียดมาให้ทราบทั้ง 13 ชนิดดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 : เป็นอาหารและยารับประทาน ประกอบด้วย ขมิ้นชัน ขิง ข่า พริก ชุมเห็ดเทศ ขึ้นฉ่าย และสะเดา
ขมิ้น ชัน ขิง และ ข่า เป็นอาหาร และเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์หลายด้าน เป็นทั้งยารับประทานและยาภายนอก รวมทั้งเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางด้วย จากการศึกษาพบว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมีฤทธิ์ขับลม สามารถรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้
นอกจากนี้ ยังพบว่า ขิง ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดี ขมิ้นชัน ช่วยต้านการเกิดโรคความจำเสื่อม และต้านความซึมเศร้า สำหรับ ข่า สามารถฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อกลากและเกลื้อน
สำหรับการใช้ในการกำจัดศัตรูพืช...
" ชาวบ้านจะใช้วิธีการเตรียมง่ายๆ โดยใช้เหง้าขมิ้นชัน ขิง หรือข่าสดตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำ หมักทิ้งไว้ 1-2 วัน กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่นกำจัดแมลง สำหรับขมิ้นชันมีสูตรใช้ครึ่งกิโลกรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ใช้ป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ผัก หนอนผีเสื้อ ด้วงงวงช้าง ด้วงเจาะ มอด ไรแดง ส่วนเหง้าข่าแก่ ใช้กำจัดแมลงวันทอง และขิงใช้ต้านไวรัสในพืช ฆ่าหอย ฆ่าสัตว์น้ำประเภทกุ้ง-ปู" พร้อมจิตกล่าว
พริก เป็นเครื่องปรุงรสอาหารสำคัญของคนไทย โดยในพริกจะมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่ทำให้เผ็ดร้อน มีการสกัดมาผลิตเป็นสเปรย์พกติดตัว เพื่อใช้ป้องกันอันตราย สารสกัดจากพริกใช้เป็นยารับประทานที่ช่วยขับลม แก้ท้องอืด และช่วยย่อยอาหาร และเป็นยาภายนอกทาแก้ปลายประสาทอักเสบ ในการใช้กำจัดศัตรูพืชนั้น ชาวบ้านจะนำพริกแห้งป่นละเอียด 100 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอาแต่น้ำ นำมาผสมน้ำสบู่ 1 : 5 ส่วน ใช้ฉีดพ่นทุก 7 วัน หรือนำใบและดอกของพริกมาคั้นผสมน้ำไปฉีดพ่น เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส รวมถึงกำจัดมด เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อกะหล่ำ และด้วงงวงช้าง
ชุมเห็ด เทศ ใบแห้งและดอกสดเป็นยาระบายชนิดเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ โดยใบยังสามารถใช้แก้โรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อนได้ด้วย สำหรับฝักและต้น จะช่วยในเรื่องการขับพยาธิ
ขึ้นฉ่าย เป็นผักที่คนไทยคุ้นเคยอย่างดี น้ำต้มสามารถลดความดันโลหิตได้ภายใน 1 ชั่วโมง และฤทธิ์อยู่ได้นานกว่า 5 ชั่วโมง น้ำมันหอมระเหยในลำต้นและใบ มีฤทธิ์ช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ ทำให้หายจุกเสียดแน่น และพบว่าขึ้นฉ่ายยังมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะได้
สะเดา ยอดอ่อนและดอก ลวกรับประทานกับน้ำพริก มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และลดไข้ นับเป็นผักเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง ใบ เปลือกต้น และเมล็ด รวมทั้งน้ำมันในเมล็ดสะเดา มีสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลง
อาจารย์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึงวิธีการที่ชาวบ้านใช้ว่า ชาวบ้านใช้วิธีโรยเมล็ดสะเดาบดตามแปลงผักเพื่อปรับสภาพดินก่อนการเพาะปลูก หรือนำเมล็ดสะเดามากะเทาะเปลือกออกจำนวน 1 กิโลกรัม บดให้ละเอียด ห่อผ้า แช่น้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้ 1 คืน นำไปฉีดพ่นตามแปลงพืชผัก
ก่อนนำไปใช้ อาจผสมสบู่ 1 ช้อนโต๊ะ เป็นสารจับ หรือใช้สูตรผสมใบสะเดา ข่า ตะไคร้หอม อย่างละ 1 กิโลกรัม สับให้ละเอียด แล้วตำรวมกัน แช่น้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาหัวเชื้อที่ได้ผสมน้ำเปล่าในสัดส่วน 1 : 1 ฉีดไล่หนอนและแมลงในแปลงพืชผัก ทั้งสองสูตรใช้ฉีดพ่นทุก 7 วันในตอนเย็น
กลุ่มที่ 2 : เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ภายนอก ไม่รับประทาน
ประกอบด้วย ตะไคร้หอม สาบเสือ ดอกดาวเรือง หนอนตายหยาก และกากเมล็ดชา
ตะไคร้ หอม พบว่ามีน้ำมันหอมระเหยในทุกส่วนของตะไคร้หอม มีฤทธิ์ป้องกันและกำจัดแมลงในพืชผัก ข้าว และไม้ผลบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน รวมทั้งใช้ทาป้องกันยุงได้ด้วย ใบแห้งใช้รองพื้นยุ้งฉาง เพื่อป้องกันมอดทำลายข้าวเปลือก หรือวางรองในรังไก่ป้องกันและกำจัดไรไก่ได้เป็นอย่างดี ไม่นำมารับประทานเพราะมีกลิ่นที่ไม่ชวนให้รับประทาน
สาบเสือ เป็นวัชพืชที่พบทุกภาคของประเทศ ชาวบ้านใช้ใบสาบเสือสดห้ามเลือด ในการใช้กำจัดศัตรูพืชจะใช้ใบสดหรือแห้งก็ได้ ตำให้ละเอียด ใบแห้งผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำหนักผง 400 กรัมต่อน้ำ 3 ลิตร ถ้าเป็นต้นสดใช้ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง นำมากรองเอาแต่น้ำ ผสมน้ำสบู่หรือแชมพู ครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน ในช่วงเย็น สามารถฆ่าเพลี้ย ตัวอ่อนของแมลงและไล่หนอนได้เป็นอย่างดี เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยไฟ หนอนกระทู้ หนอนใยผัก
ดอกดาวเรือง ในกลีบจะมีสารมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส จึงมีการนำสารสกัดดอกดาวเรืองมาเตรียมผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกและเครื่องสำอาง สำหรับรักษาการอักเสบของผิวหนัง และแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ดอกดาวเรืองในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ เช่น ผสมในอาหารไก่ช่วยเพิ่มสีของไข่แดงในไข่ไก่
หนอนตายหยาก เป็นไม้เลื้อยที่มีรากออกเป็นกระจุก ใช้รากฆ่าเหา หิด รักษาโรคผิวหนัง รวมถึงหนอนและแมลง ชาวบ้านใช้รากวางบนปากไหน้ำปลาหรือไหปลาร้า เพื่อกำจัดไข่หนอนที่ติดมากับแมลงวัน ไม่ให้ลงไปปนเปื้อนในการหมักน้ำปลา
กาก เมล็ดชา เป็นส่วนเหลือจากการหีบน้ำมันจากเมล็ดชา มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง มีการนำเข้าก้อนกากเมล็ดชาจากประเทศจีนมานานกว่า 20 ปี เพื่อใช้กำจัดปลาต่างๆ ในนากุ้ง
กลุ่มที่ 3 เป็นพืชที่ความเป็นพิษสูง
คือ ดอกดึงหัวขวาน เป็นสมุนไพรชนิดเดียวในรายการนี้ที่มีความเป็นพิษสูง หากรับประทานเข้าไปสามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยสารที่ทำให้เกิดพิษ คือ โคลซิซีน (colchicine) ซึ่งขนาดที่ทำให้เกิดพิษจะต่ำมาก
มีรายงาน การรับประทานสารดังกล่าวในขนาด 7 -11 มิลลิกรัม แล้วทำให้เสียชีวิต ผู้ป่วยจะมีอาการไตวายเฉียบพลัน ลำไส้อักเสบ ระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ คลื่นหัวใจผิดปกติจนวัดไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด มีรายงานการเสียชีวิตของคนที่บริโภคด้วยความเข้าใจผิดหลายราย ในวงการปรับปรุงพันธุ์พืช ใช้ โคลซิซีน ในการกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ และทำให้เกิด double chromosome ในพืช
จากข้อมูลทั้ง 13 รายการ รู้สึกไหมว่า มีเพียงดอกดึงหัวขวานเท่านั้น ที่เข้าขั้นอันตราย
แต่สำหรับอีก 12 รายการที่เหลือ ล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพร ที่ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้พัฒนาประยุกต์ใช้ เป็นองค์ความรู้ที่น่าได้รับการถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อๆ ไปเป็นอย่างยิ่ง
พร้อม จิต ได้ให้ขอเสนอแนะต่อ เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ว่า ควรพิสูจน์ประสิทธิภาพของภูมิปัญญาชาวบ้านและสนับสนุนให้ใช้พืชสมุนไพรในวง กว้างแบบเศรษฐกิจพอเพียงแทนสารเคมี เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ รักษาสุขภาพของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค จะเหมาะสมกว่าและส่งผลให้กรมวิชาการเกษตรเป็นขวัญใจของเกษตรกร
ข้อสังเกตบางประการของ เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ มีว่าปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น รวมทั้งเกษตรกรและองค์กรท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ โดยตรงนั้น นอกจากเป็นการดำเนินการที่ปราศจากธรรมาภิบาลแล้ว ยังตั้งคำถามว่า คำประกาศดังกล่าวนั้น มีเจตนาเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเคมีเกษตร และบรรษัทข้ามชาติหรือไม่ ?
ทั้งนักวิชาการ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนออกมาพูดถึงขนาดนี้แล้ว
พืชอาหาร-สมุนไพร ทั้ง 13 ชนิด มีพิษหรือประโยชน์อย่างไร? อีกครั้งหนึ่ง
โดย เชตวัน เตือประโคน
www.thaihof.org/.../ |