1. การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ คืออะไร ? การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ (Fertigation) คือ การให้ปุ๋ยระบบหนึ่งโดยผสมปุ๋ยที่สามารถละลายน้ำได้หมดลงไปในระบบให้น้ำ ดังนั้น เมื่อพืชดูดใช้น้ำก็จะมีการดูดธาตุอาหารพืชไปพร้อมกับน้ำ เนื่องจากพืชไม่สามารถดูดปุ๋ยในรูปของแข็งได้ ปุ๋ยจะต้องละลายในน้ำก่อนพืชจึงจะดูดขึ้นไปใช้ได้ ดังนั้น การให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะเป็นการให้ทั้งน้ำและปุ๋ยไปพร้อมกันในเวลาและบริเวณที่พืชต้องการ ดังนั้น จึงเป็นระบบการให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดระบบหนึ่ง สามารถลดแรงงานในการให้ปุ๋ย ลดการชะล้างปุ๋ยเลยเขตรากพืช การแพร่กระจายปุ๋ยสม่ำเสมอบริเวณที่รากพืชอยู่ ในสวนที่มีการลงทุนระบบน้ำไปแล้วควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ร่วมกับระบบการให้ปุ๋ยในระบบน้ำ เนื่องจากจะมีการเพิ่มค่าติดตั้งอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลดีต่าง ๆ ที่จะตามมา เนื่องจากระบบนี้จะเป็นการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำ ดังนั้น ระบบการให้น้ำที่ดีจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้การให้น้ำและปุ๋ยไปสู่ต้นพืชแต่ละต้นได้อย่างสม่ำเสมอที่สุด ซึ่งระบบน้ำที่สามารถมีการแพร่กระจายน้ำไปสู่พืชได้อย่างสม่ำเสมอ และเหมาะกับการให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ คือ การให้น้ำแบบน้ำหยด หรือ แบบฉีดฝอย Mini-Sprinkle (ในประเทศไทย สำหรับสวนผลไม้ควรเป็นระบบ ฉีดฝอย Mini-sprinkle เนื่องจากเป็นระบบที่มีการดูแลรักษาได้ง่ายกว่าระบบน้ำหยด เนื่องจากมีปัญหาในการอุดตันน้อยและออกแบบระบบง่ายกว่า) แต่การให้ปุ๋ยในระบบน้ำไม่ได้หมายความว่า ต้องให้ปุ๋ยทุกตัวพร้อมกับระบบน้ำเสมอไป เช่น อาจให้เฉพาะ ไนโตรเจน และ โปแตสเซียมพร้อมระบบน้ำ แต่ให้ฟอสฟอรัสทางดินก็ได้ เนื่องจากปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำมีราคาแพง และฟอสฟอรัสเมื่ออยู่ในดินมีการเคลื่อนที่น้อยมากเมื่อใส่ทางดินก็ไม่สูญหายไปไหน และโดยทั่วไป ปริมาณฟอสฟอรัสในสวนผลไม้มีการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสอยู่ในดินค่อนข้างสูงอยู่แล้ว นอกจากการใส่ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำแล้ว อาจมีการใส่สารตัวอื่นไปพร้อมระบบน้ำได้ด้วย เช่น บางสวนอาจมีการใส่ยาปราบวัชพืชลงไป หรือ อาจใส่ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงไปด้วยก็ได้ และปัจจุบันบางสวนมีการใส่สาร โปแตสเซียมคลอเรตลงไปพร้อมระบบน้ำเพื่อทำลำใยนอกฤดูซึ่งระบบนี้จะเรียกว่า Chemigation
ข้อดีของระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำ
1. เป็นการให้ปุ๋ยที่มีความสม่ำเสมอพร้อมกับน้ำในความเข้มข้นที่พอเหมาะลงบริเวณรากพืชหนาแน่นไม่ตื้น หรือ ลึกเกินไป เนื่องจากการให้น้ำแบบฉีดฝอยหรือแบบน้ำหยดรากพืชมีปริมาณหนาแนนที่สุดบริเวณพื้นที่เปียก
2. สามารถปรับสูตร และความเข้มข้นของปุ๋ยได้ทันที และรวดเร็ว (ทุกวัน) ตามความต้องการของพืช และสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นระบบที่มีการให้ปุ๋ยครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งจึงไม่ค่อยสะสมในดินดังนั้น เมื่อเปลี่ยนสูตร หรือ สัดส่วนของปุ๋ยพืชก็จะตอบสนองได้เร็วกว่าระบบที่ให้ครั้งละมาก ๆ ลงในดิน
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช 10 - 50 % จากรายงานการทดลองทั่ว ๆ ไป การให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ทางดินถึง 10 – 50 % ของระบบให้ทางดิน ขึ้นอยู่กับระบบการให้ปุ๋ย และน้ำที่ใช้ความถี่ในการให้ปุ๋ย ฯลฯ เนื่องจากการให้ปุ๋ยในระบบน้ำ จะช่วยลดการชะล้างโดยเฉพาะ ไนโตรเจน และเป็นการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอทั่วบริเวณรากพืช ไม่เหมือนการให้ปุ๋ยทางดินทั่ว ๆ ไปซึ่งเป็นการให้เป็นจุด ๆ นาน ๆ ครั้ง เช่น ทุก 3 – 6 เดือน บริเวณที่เม็ดปุ๋ยลงในดินช่วงแรก ๆ จะมีความเข้มข้นสูงรากพืชบริเวณนั้นอาจได้รับอันตรายได้ ทำให้การดูดใช้ปุ๋ยไม่ดี
4. ลดแรงงาน และเวลาในการให้ปุ๋ย เนื่องจากปุ๋ยไปกับน้ำ ดังนั้น ไม่ต้องเสียแรงงานคนหว่านปุ๋ย และสามารถให้ปุ๋ยได้ถี่มากน้อยตามความต้องการ อาจให้ทุกครั้งที่ให้น้ำ หรือ ครั้งเว้นครั้งตามความต้องการ
5. เพิ่มผลผลิตทั้งคุณภาพ และปริมาณ เนื่องจากพืชได้น้ำ และปุ๋ยสม่ำเสมอ และสามารถเปลี่ยนชนิด และสัดส่วนของปุ๋ยตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของพืช นอกจากนี้ยังสามารถผสมธาตุอาหารรอง และอาหารเสริมลงในระบบน้ำได้เลยโดยใส่ในรูปเกลือที่ละลายน้ำง่าย เช่น ZnSO4, MnSO4, CuSO4, ทำให้ประหยัดการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีราคาแพงลงได้มาก
6. สามารถผสมปุ๋ยให้ทางระบบน้ำขึ้นใช้เองได้ ทำให้ราคาถูกลงมาก บางสวนสามารถผสมปุ๋ยให้ทางน้ำมีราคาเท่ากับการให้ปุ๋ยทางดินแต่มีประสิทธิภาพดีกว่า เช่น แหล่งปุ๋ยไนโตรเจนใช้ Urea เป็นแม่ปุ๋ย และโปแตสเซียมใช้ โปแตสเซียมคลอไรด์ หรืออาจผสมด้วยโปแตสเซียมซัลเฟต ในกรณีที่กลัวความเป็นพิษของคลอไรด์ ส่วนปุ๋ยฟอสฟอรัสให้ทางดินปีละครั้ง
ข้อเสียของระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำ
1. ปุ๋ยที่ใช้ต้องละลายน้ำหมดและมีความบริสุทธิ์สูง จึงมีราคาแพง และถ้าจะผสมปุ๋ยใช้เองซึ่งมีราคาถูกกว่าปุ๋ยสำเร็จรูปมาก ต้องใช้แม่ปุ๋ยทำให้หาซื้อได้ยาก แต่ปัจจุบันสามารถหาซื้อแม่ปุ๋ยได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีหลายบริษัทสั่งแม่ปุ๋ยเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น
2. ต้องมีความรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน, ปุ๋ย และน้ำที่ใช้ เนื่องจากปุ๋ยบางชนิดไม่สามารถผสมด้วยกันได้ที่ความเข้มข้นสูง ๆ นอกจากนี้ผลของเกลือที่ละลายอยู่เดิมในน้ำและค่า pH ของน้ำก็จะมีผลต่อการละลายตัวของปุ๋ยบางชนิด และมีผลต่อการตกตะกอนของปุ๋ยด้วย ดังนั้น เกษตรกรที่จะใช้ปุ๋ยในระบบน้ำควรได้มีการหาความรู้ในส่วนนี้ซึ่งควรต้องมี การส่งตัวอย่างดินและน้ำไปวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการเพื่อทราบถึงคุณสมบัติ ของดินและน้ำที่จะนำมาใช้ปลูกพืชทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามในสภาพทั่ว ๆ ไปของประเทศไทย ชนิดของปุ๋ยที่ให้ในระบบน้ำจะเป็นปุ๋ยทั่วไป เช่น Urea โปแตสเซียมคลอไรด์ หรือ ซัลเฟต ปุ๋ยพวกนี้จะมีปัญหาในการใหปุ๋ยในระบบน้ำน้อยมาก
3. ค่าติดตั้งระบบขั้นต้นมีราคาสูง ในที่นี้หมายรวมถึงระบบการให้น้ำด้วย คือ อาจเป็นแบบน้ำหยดหรือ แบบ Mini sprinkle ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียอยู่แล้วในระบบการทำสวนสมัยใหม่ ส่วนอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้ปุ๋ยในระบบน้ำ เมื่อเทียบกับทั้งระบบถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมาน้อยมาก ดังนั้น ในสวนที่มีการเดินระบบให้น้ำอยู่แล้วควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำเพิ่มเข้าไปด้วย
การให้ปุ๋ยในระบบน้ำให้ประสพความสำเร็จ จะต้องประกอบด้วย
1. มีระบบการให้น้ำที่เหมาะสมมีการกระจายของน้ำในพื้นที่สม่ำเสมอ
2. ต้องมีวิธีการควบคุมการให้น้ำที่เหมาะสม ตามความต้องการของพืชไม่มากเกินไปจนเกิดการชะล้าง หรือ น้อยเกินไปจนพืชขาดน้ำ
3. มีความเข้าใจการใช้ปุ๋ย และสารเคมีที่ผสมลงในน้ำอย่างถูกต้อง โดยปุ๋ยที่ใช้ต้องละลายน้ำหมดและปุ๋ยเมื่อผสมกันต้องไม่ตกตะกอน
4. ต้องรู้สูตร หรือ สัดส่วนของปุ๋ยตลอดจนอัตราการใส่ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และปริมาณที่ใช้
ช่วงเวลาที่ให้ที่เหมาะสมตามชนิดพืช และชนิดดิน
1. มีระบบการให้น้ำที่เหมาะสมมีการกระจายของน้ำในพื้นที่สม่ำเสมอ เนื่องจากการให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะให้ไปพร้อมกับน้ำชลประทานไปสู่พืชโดยตรง ดังนั้น ระบบการให้น้ำต้องมีความสม่ำเสมอ คือ พืชทุกต้นต้องได้รับปริมาณน้ำเท่ากัน หรือ ใกล้เคียงกัน เนื่องจากจะมีผลต่อปริมาณปุ๋ยที่พืชแต่ละต้นจะได้รับ ตัวอย่างเช่น ถ้าระบบน้ำไม่ดีพืชต้นแรก ๆ ของระบบน้ำได้น้ำมากกว่าต้นที่อยู่ท้ายระบบ ต้นแรกก็จะได้ทั้งน้ำและปุ๋ยมากกว่าต้นที่อยู่ปลายท่อทุกครั้งที่มีการให้น้ำ มีผลให้การเจริญเติบโตของพืชไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะมีผลถึงผลผลิตและการดูแลรักษาพืช นั่นคือ ต้องเลือกระบบให้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูง การแพร่กระจายของน้ำสม่ำเสมอ ซึ่งได้แก่ระบบให้น้ำหยด และระบบให้น้ำฉีดฝอยใต้ทรงพุ่ม (Mini-sprinkle) ในประเทศไทยการให้น้ำหยดค่อนข้างจะมีปัญหามาก เนื่องจากเกษตรกรขาดความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ การกรองน้ำ และการผสมปุ๋ยในน้ำทำให้หัวหยดอุดตันได้ ปัจจุบันระบบที่น่าจะเหมาะสมที่สุด ควรเป็นแบบฉีดฝอยใต้ทรงพุ่ม และควรเป็นระบบที่อัตราการไหลของน้ำแต่ละหัวไม่มากเกินไป (ไม่ควรสูงกว่า 100 ลิตร/ชม ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 30-70 ลิตร/ชม.) เนื่องจากอัตราการไหลของหัวปล่อยน้ำยิ่งสูงระบบท่อและปั๊มที่ใช้จะต้องใหญ่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราไหลต่ำๆมาก และการแพร่กระจายของน้ำจะไม่สม่ำเสมอทำให้การให้ปุ๋ยไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เมื่ออัตราการไหลสูงมีโอกาสที่น้ำจะซึมลงในดินไม่ทัน ไหลบ่าออกนอกทรงพุ่มเป็นการสูญเสียน้ำ และปุ๋ย เนื่องจากไม่สามารถซึมลงสู่บริเวณรากพืชได้ทัน จากที่กล่าวมาแล้วความสม่ำเสมอของการแพร่กระจายน้ำมีผลต่อการให้ปุ๋ยในระบบน้ำอย่างมาก ดังนั้น ระบบให้น้ำต้องมีการออกแบบระบบที่ดี คือ ต้องมีการคำนวณขนาดของท่อที่ใช้ให้เหมาะสมกับความยาวและอัตราการไหลของน้ำ อัตราไหลและความดันของปั๊มที่เหมาะสม ฯลฯ ต้องมีการคำนวณตามขั้นตอนที่ถูกต้อง สามารถใช้โปรแกรมช่วยคำนวณการออกแบบระบบน้ำ TrickCal แต่ผู้ใช้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบน้ำพอสมควรจึงสามารถใช้โปรแกรมได้ผล สามารถ download โปรแกรมได้จาก www.kmitl.ac.th/soilkmitl
2. ต้องมีวิธีการควบคุมการให้น้ำที่เหมาะสม
การให้ปุ๋ยในระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการจัดการการให้น้ำอย่างเหมาะสม กล่าวคือต้องทราบว่าเมื่อใดควรจะให้น้ำ คือ ให้เมื่อดินไม่เปียก หรือ แห้งเกินไป และให้เป็นปริมาณเท่าใดคือ ไม่มากจนเกิดการชะล้างสูญเสียปุ๋ย หรือ น้อยจนพืชขาดน้ำ ซึ่งการควบคุมการให้น้ำโดยทั่วไปจะมีอยู่ดังนี้
1. ใช้เครื่องวัดความชื้นในดิน คือ วัดปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในดินจริง ๆ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เมื่อค่าที่อ่านจากเครื่องมือแสดงว่าดินแห้งถึงค่าที่กำหนดไว้ค่าหนึ่งก็จะ เริ่มให้น้ำจนค่าปริมาณความชื้นในดินที่อ่านได้จากเครื่องเพิ่มขึ้นถึงค่า ที่ต้องการ ก็จะหยุดการให้น้ำเครื่องมือที่สามารถใช้วัดและควบคุมการให้น้ำ เช่น เครื่อง Tensiometer, เครื่องGypsum block, เครื่อง Time domain reflectometer (TDR) เครื่องมือที่มีราคาถูก และสามารถผลิตได้ในประเทศไทย ได้แก่ เครื่อง Tensiometer ราคาประมาณเครื่องละ 1,000 บาท เป็นเครื่องมือที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งสามารถบอกได้ทั้งปริมาณและความถี่ของการให้น้ำชลประทานได้อย่างถูกต้อง
2. วัดทางอ้อมจากสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้น้ำของพืช อุปกรณ์วัดทางอ้อมที่มีการใช้กันมาก ได้แก่
2.1ถาดวัดการระเหยน้ำ (Class A Pan) เป็นถาดทรงกลมขนาดใหญ่ภายในบรรจุน้ำ จากหลักการที่ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการระเหยของน้ำจากถาดวัดการระเหย ได้แก่ ลม, ความชื้นสัมพัทธ์, อุณหภูมิ, แสงแดด ก็เป็นปัจจัยเดียวกันที่มีผลต่อการคายน้ำของพืชด้วย ดังนั้น เมื่อน้ำระเหยออกจากถาดวัดการระเหยมากก็แสดงว่า พืชมีการคายน้ำมาก คือ ต้องการน้ำมากนั่นเอง จากความสัมพันธ์ดังกล่าว สามารถคำนวณความต้องการน้ำของพืชจากปริมาณน้ำที่ระเหยออกจากถาดวัดการระเหย ข้อดีของถาดวัดการระเหย คือ ราคาไม่แพงประมาณ 5,000 บาท สามารถซื้อได้ที่กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นอุปกรณ์ที่คงทนไม่ต้องการดูแลมากนอกจากคอยเติมน้ำ และทำความสะอาด ชาวสวนควรมีติดตั้งไว้ในสวนเพื่อเป็นข้อมูลประเมินปริมาณน้ำที่ต้องให้แก่พืช นอกจากนี้ได้มีการย่อขนาดของถาดให้เล็กลงโดยอาจใช้หม้อ หรือ ถาดที่มีรูปทรงกระบอกทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ แต่จะต้องมีการทดลองหาความสัมพันธ์ของการระเหยน้ำจากธาตุกับการใช้น้ำของพืช
2.2 สถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ เป็นชุดอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุด (ประมาณ 2-3 แสนบาท) จะประกอบด้วยเครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ได้แก่ ทิศทาง และความเร็วลม, ความชื้นสัมพัทธ์อากาศ, อุณหภูมิ, แสงแดด และข้อมูลเหล่านี้จะส่งเข้าเก็บในเครื่องบันทึกข้อมูลอัตโนมัติ (Data logger) และข้อมูลเหล่านี้ก็จะใช้คำนวณเป็นปริมาณความต้องการน้ำของพืช เครื่องมือนี้เหมาะกับการทดลองในสวนที่มีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากเครื่องสามารถเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดปี ทำให้ทราบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสวนได้ตลอดเวลา และยังสามารถใช้คาดการณ์การแพร่ระบาดของโรค และแมลงได้อีกด้วย
2.3.วัดจากตัวพืชโดยตรง แต่ยังไม่เป็นที่แพรหลายมากนักเนื่องจากเครื่องมือที่ใช้มีราคาแพงและขั้นตอนยุ่งยาก เช่น เครื่องวัดอัตราการเคลื่อนที่ของน้ำในต้นพืช, เครื่องวัดการเปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของพืชอย่างละเอียด, เครื่องวัดการเปิดปิดของปากใบ
3. มีความเข้าใจการใช้ปุ๋ย และสารเคมีที่ผสมลงในน้ำอย่างถูกต้อง การผสมปุ๋ยลงในน้ำบางครั้งจะพบว่ามีการตกตะกอนเป็นของแข็งก้นถังผสม เนื่องจากปุ๋ยที่ใส่ลงไปเกิดการทำปฎิกริยาการเกลือที่อยู่ในน้ำหรือทำปฎิกริยากับปุ๋ยตัวอื่นที่ใส่ร่วมเข้าด้วยกันที่ความเข้มข้นสูงๆ ดังนั้นจำเป็นต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อการละลายตัวของปุ๋ยซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ได้แก่
1. คุณภาพของน้ำชลประทานที่ใช้
1.1 ค่า EC (Electric Conductivity) ของน้ำชลประทานและน้ำที่ผสมปุ๋ยแล้ว ค่า EC ของสารละลายฯ เป็นค่าวัด เพื่อแสดงถึงความเข้มข้นของเกลือทั้งหมดที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นค่าวัดโดยรวมไม่สามารถแยกบอกความเข้มข้นของเกลือแต่ละตัวได้ หน่วยการวัดค่า EC มีหลายหน่วยแล้วแต่เครื่องมือที่ใช้วัด - ความหมายของค่า EC น้ำบริสุทธิ์จะมีค่าความนำไฟฟ้าเป็นศูนย์ แต่เมื่อน้ำมีเกลือละลายอยู่ เกลือเหล่านี้จะแตกตัวเป็นประจุบวก (Cation) และประจุลบ (Anion) ซึ่งประจุบวกและลบที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวนำไฟฟ้าทำให้สารละลายที่มีเกลือที่แตกตัวได้มีค่าความนำไฟฟ้า (Electric Conductivity) ซึ่งค่านำไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำ ดังนั้น จึงสามารถใช้ค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายเป็นตัวบอกปริมาณเกลือที่ละลายในสารละลาย เช่น เมื่อเกลือแกงละลายในน้ำจะแตกตัวได้ NaCl ---------> Na+ + Cl- น้ำตาล และยูเรีย สามารถละลายน้ำได้เหมือนกัน แต่เมื่อละลายแล้วจะไม่แตกตัว ดังนั้นก็จะไม่เพิ่มค่าการนำไฟฟ้าของสารละลาย จึงไม่สามารถวัดความเข้มข้นด้วยค่าการนำไฟฟ้าได้ แต่เนื่องจากปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ ส่วนใหญ่เป็นสารที่สามารถแตกตัวได้ สารที่มีประจุบวก และประจุลบทุกตัวจึงสามารถวัดความเข้มข้นโดยการวัดค่าการนำไฟฟ้าได้ ค่าการนำไฟฟ้า และค่าความเข้มข้นของสารละลายจะมีความสัมพันธ์แบบเป็นเส้นตรง กล่าวคือ ถ้าความเข้มข้นสารละลายเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว ค่าการนำไฟฟ้าก็จะเพิ่มหนึ่งเท่าด้วย ดังที่กล่าวมาแล้ว ค่าการนำไฟฟ้าบอกให้ทราบถึงปริมาณเกลือที่ละลายโดยรวมอยู่ในสารละลายไม่สามารถแยกชนิดของเกลือได้ ตัวอย่างเช่นในน้ำมีเกลือ NaCl และปุ๋ย KNO3 ละลายรวมกันอยู่ และวัดค่า EC ได้ = 2.5 mS/cm เราไม่สามารถทราบได้ว่ามี่ NaCl อยู่เท่าใด และ มี KNO3 อยู่เท่าใดทราบเพียงแต่ว่ามีอยู่รวมกัน มีค่า = 2.5mS/cm การเปลี่ยนค่าที่อ่านจากเครื่องวัด EC ที่มีหน่วยเป็น 1.2 mS/cm ให้เป็นความเข้มข้นสามารถทำได้โดยคูณค่า mS/cm ที่อ่านได้ด้วยค่าคงที่ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิของเกลือที่ละลายอยู่ ซึ่งค่าโดยทั่วไปที่ใช้เกียวกับ Fertigation คือ 850 เช่น อ่านค่า EC ของน้ำได้เท่ากับ 2.5 mS/cm ถ้าต้องการทราบความเข้มข้นเป็น ppm ก็คูณ 2.5 ด้วย 850 = 2.5x850 = 2125 ppm โดยประมาณ จากหลักการนี้เราสามารถใช้เครื่องวัด EC ตรวจสอบความถูกต้องของการละลายปุ๋ยลงในระบบน้ำได้ด้วย - เครื่องมือวัด ค่าการนำไฟฟ้า (EC- Meter) เครื่องที่ใช้วัดค่าการนำไฟฟ้า คือ เครื่อง EC Meter จะวัดค่า Electric Conductivity ระหว่างแท่งโลหะสองแท่งจุ่มอยู่ในสารละลายที่ต้องการวัดค่า ส่วนใหญ่ปัจจุบันเครื่องจะวัดเป็นค่าตัวเลขออกมาเลย (Digital) เนื่องจากอุณหภูมิของสารละลายจะมีผลต่อค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายเป็นอย่างมาก ดังนั้นจะต้องมีการแก้ไขค่าที่อ่านได้ให้เป็นค่าที่อุณหภูมิมาตรฐานเดียวกัน เช่นที่ 25 oC ซึ่งการปรับค่านี้อาจทำได้จากการดูจากตาราง หรือ ปรับที่เครื่องมือวัด ปัจจุบันเครื่องมือสามารปรับค่าที่อ่านได้โดยอัตโนมัติ คือเครื่องมือจะมีเป็นแบบชดเชยอุณหภูมิโดยอัตโนมัติ (Automatic Temperature Compensate) ดังนั้น การซื้อเครื่องมือควรซื้อเป็นแบบปรับแก้อุณหภูมิแบบอัตโนมัติ หน่วยของค่าการนำ ไฟฟ้า ที่อ่านได้จากเครื่องมือจะมีหน่วยต่าง ๆ กัน ดังนั้น การเลือกซื้อเครื่องมือต้องดูให้เหมาะกับงานที่ใช้ โดยทั่วไปการเกษตรควรเลือกเครื่องมือที่วัดได้ในช่วง 0 – 10 mS/cm เครื่องมือบางชนิดในเครื่องเดียวกันสามารถเลือกช่วงการวัดได้ เช่น เลือกได้จากช่วง 0 – 100 m S/cm, 0 – 10 mS/cm, 0 – 100 mS/cm เครื่อง EC Meter ปัจจุบันราคาเครื่องละประมาณ 2,000-6,000 บาท ซึ่งเครื่องนี้สามารถหาซื้อได้ที่ศึกษาภัณฑ์ หรือ ที่บริษัทขายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทั่วไป ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากเกษตรกรที่จะให้ปุ๋ยในระบบน้ำควรมีไว้ ใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพของน้ำชลประทาน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการละลายปุ๋ยในระบบน้ำ และใช้ตรวจสอบความสม่ำเสมอของการกระจายปุ๋ยในระบบให้น้ำได้ด้วย โดยวัดว่าความเข้มข้นของน้ำปุ๋ยที่หัวจ่ายน้ำในจุดต่าง ๆ ในสวน ว่ามีความเข้มข้นของปุ๋ยกระจายสม่ำเสมอหรือไม่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดจะได้แก้ไข ได้ทันที วิธีการวัดก็ง่าย ๆ เพียงแต่เปิดเครื่องและทำการวัดได้เลย การดูแลรักษาก็ไม่ยุ่งยากคือหลังจากวัดแล้วให้ล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดหัวอ่าน ให้สะอาดและแห้งเก็บได้เลย สิ่งที่สำคัญในการใช้เครื่องมือคือต้องมีการตรวจสอบค่าที่วัดได้จากเครื่อง มือว่าถูกต้องหรือไม่อยู่เสมอๆ โดยใช้เครื่องมือวัดวัดค่าสารละลายที่เราทราบค่า EC ที่แน่นอนและอ่านค่าจากเครื่องมือถ้าค่าไม่ตรงกันต้องทำการตั้งค่าที่ เครื่องมือให้ถูกต้องซึ่งวิธการปรับค่าจะมีแนบมากับเครื่องมือที่ซื้อมา น้ำชลประทานที่ใช้ควรมีปริมาณค่า EC ต่ำ ๆ ซึ่งแสดงว่า มีปริมาณเกลือละลายอยู่น้อย ซึ่งเหมาะที่จะใช้กับการให้ปุ๋ยในระบบ Fertigation ค่าที่เหมาะสมควรอยู่ประมาณ 0 - 0.4 mS/cm ถ้าค่าที่วัดได้มากกว่านี้แสดงว่า มีปริมาณเกลือในน้ำสูง ควรส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการตามสถานที่ราชการ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อทราบองค์ประกอบของน้ำที่แน่นอน และนำมาปรับปริมาณปุ๋ยและกรดที่ใช้ได้อย่างถูกต้อง
1.2 ค่า pH ของน้ำ pH ของน้ำจะเป็นผลจากปริมาณ และชนิดของเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำ ดังนั้น ค่า pH ของน้ำไม่ใช่เป็นตัวปัญหาที่สำคัญของระบบ Fertigation แต่ที่สำคัญ คือ ชนิด และปริมาณของเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งโดยทั่วไป น้ำในธรรมชาติจะมีค่า pH เป็นด่าง (>7) แต่เป็นด่างมาก หรือ น้อย ขึ้นกับ ปริมาณ และชนิดของเกลือถ้า pH ของน้ำชลประทานที่ผสมปุ๋ยสูงกว่า 7.5 จะไม่เหมาะสมธาตุบางตัวจะตกตะกอนความเป็นประโยชน์ลดลงโดยเฉพาะฟอสฟอรัส (P) จะตกตะกอนกับแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) และเหล็ก (Fe) ใช้กรดฟอสฟอริก, ไนตริก, ซัลฟูริก ปรับ pH ของน้ำ ประมาณ 5.5-6.5 เครื่องมือที่ใช้วัดค่า pH เรียกว่า pH meter ซึ่งปกติจะมีราคาแพงกว่า เครื่องวัด EC โดยเฉพาะหัววัดของ pH meter จะมีอายุใช้งานอยู่ประมาณ 1 – 1 ปีครึ่งหลังจากนั้นค่าที่วัดได้จะคลาดเคลื่อนมากต้อเปลี่ยนหัววัดใหม่ ในการทำสวนอาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนี้เนื่องจากมีราคาแพงการดูแลรักษายุ่งยาก อาจใช้เป็นแบบกระดาษเทียบสีก็ได้ราคาถูกกว่า หรือจะใช้แบบสารละลายหยดลงในน้ำและเทียบสีที่เกิดขึ้นก็ได้ ค่าที่ได้จากการวิเคราะห์น้ำในห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่เราส่งน้ำเข้าไปวัดในห้องปฎิบัติการจะได้ค่าวิเคราะออกมาซึ่งส่วนใหญ่ค่าที่มีผลต่อการให้ปุ๋ยในระบบน้ำคือ
1. ค่า Total Alkalinity เป็นค่าที่มีความสำคัญมากของการพิจารณาว่า น้ำที่จะนำมาใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่ เพื่อนำมาให้ปุ๋ยระบบ Fertigation ค่านี้จะมีค่าวัดเป็น mg/l ของ Calcium carbonate ซึ่งได้จากการคำนวนจากการวัดค่า bicarbonate ในน้ำ ค่า Total alkalinity ของน้ำจะอยู่ในช่วง ตั้งแต่เกือบเป็นศูนย์ ในน้ำที่มี pH เป็นกรดคือ ต่ำกว่า 5 และอาจมีค่าขึ้นไปถึง 350 mg/l ซึ่งจะพบในน้ำบาดาลบริเวณที่มีหินปูน ซึ่งเป็นน้ำที่กระด้างมาก น้ำพวกนี้ต้องใช้กรดลดปริมาณ total alkalinity ลงก่อนนำไปใช้ในระบบ Fertigation น้ำที่เหมาะกับระบบ Fertigation ควรมีค่า Total alkalinity อยู่ในช่วง 60 – 150 mg/l เมื่ออยู่ในช่วงนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้กรดในการลดค่า Total alkalinity ถ้าค่า pH ของน้ำต่ำกว่า 5 แสดงว่า ค่า Total alkalinity น้อยมาก แต่ถ้าค่า pH มากกว่า 6.5 ค่า Total alkalinity อาจจะเป็นเท่าไรก็ได้ โดยจะขึ้นกับ ชนิดเกลือ และปริมาณที่ละลายอยู่ในน้ำ ดังนั้น ค่า pH ของน้ำเกือบไม่ได้บอกอะไรเลยเกี่ยวกับความกระด้างของน้ำ
2. โซเดียม (Na) และ คลอไรด์ (Cl) ธาตุทั้งสองตัวนี้ พืชสามารถดูดใช้ได้ในปริมาณที่ไม่มากนัก เมื่อเรานำน้ำที่มีเกลือของโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ปริมาณมากมาใช้ อาจจะมีการสะสมของเกลือทั้งสอง เนื่องจากพืชจะดูดใช้ในปริมาณที่น้อย ซึ่งถ้ามีการสะสมเป็นปริมาณมากก็จะเป็นพิษต่อพืช
3. แคลเซียม (Ca) และ แมกนีเซียม (Mg) ธาตุทั้งสองนี้เป็นธาตุที่พืชต้องการ ดังนั้น มีอยู่ในน้ำไม่มากนักก็จัดว่าเป็นธาตุอาหารที่สำคัญของพืชทำให้เราประหยัดค่าปุ๋ยที่มีแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) ลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม น้ำบาดาลในบางพื้นที่เป็นน้ำกระด้างที่มีปริมาณแคลเซียม (Ca) ในรูปแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) และแคลเซียมไบคาร์บอเนต (Ca(HCO3)2) ซึ่งเมื่อมีมากเกินไปจะก่อปัญหาอย่างมากกับการละลายตัวของปุ๋ยในน้ำ โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส และซัลเฟตเป็นองค์ประกอบ จะเกิดการตกตะกอนอุดตัวหัวปล่อยน้ำ
4. ซัลเฟต (Sulphate) เป็นธาตุที่พืชต้องการ โดยทั่วไปในน้ำจะมีอยู่ไม่มากนัก และไม่ก่อปัญหาอะไรกับระบบ Fertigation
5. ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) และคาร์บอเนต (Carbonate) อนุมูลไบคาร์บอเนตจะทำให้ค่า pH ของน้ำ และสารละลายธาตุอาหารสูงขึ้น ทำให้การละลายตัวของธาตุอาหารบางตัวไม่ดี ระดับ pH ของสารละลายที่เหมาะสมของสารละลายธาตุอาหาร จะต้องอยู่ในช่วง 5.5 - 6 ถ้าค่า pH ของสารละลายธาตุอาหารสูงเกินไป จะทำให้การละลายตัวของอนุมูลคาร์บอเนต ( Carbonate) และฟอสเฟต (Phosphate) ลดลง โดยจะตกตะกอนกับแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) ซึ่งตะกอนนี้จะไปอุดตันหัวน้ำหยด ระบบท่อ และเครื่องกรอง ทำให้ต้องล้างอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้จะตกตะกอนเป็นแผ่นบาง ๆ หุ้มเครื่องมือต่างที่สัมผัสกับน้ำ การกำจัดอนุมูลไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) ในน้ำทำได้โดยใช้กรด ซึ่งกรดที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้กรด H2SO4 , HNO3 , H2PO4 ซึ่งสองตัวแรกจะเป็นกรดรุนแรง และอันตราย การใช้ควรต้องระวังเป็นพิเศษ กรด HNO3 , H2PO4 นอกจากช่วยปรับค่า pH ของน้ำแล้ว ยังสามารถให้ธาตุไนโตรเจน (N) และฟอสฟอรัส (P) แก่พืชได้ด้วย (การผสมกรดกับน้ำต้องค่อยๆ เทกรดลงในน้ำอย่างช้าๆ ห้ามเทน้ำลงในกรดเข้มข้นเด็ดขาด เพราะจะเกิดปฏิกิริยารุนแรง และกรดจะกระเด็นถูกตัวได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก) กรดที่เติมลงในน้ำจะปลดปล่อย H+ ซึ่งจะรวมตัวกับน้ำได้ H3O+และเข้าทำปฏิกริยากับ HCO3-, CO3= เกิด น้ำ และก๊าซ CO2 ระเหยออกจากน้ำซึ่งเป็นการลดค่า pH ของน้ำและไล่ คาร์โบเนตและไบคาร์โบเนตออกจากน้ำซึ่งเป็นการลดความกระด้างของน้ำด้วย ดังสมการต่อไปนี้ H3O+ + HCO3- ---------> H2CO3 + H2O H2CO3 ---------> H2O + CO2 H3O+ + CO3= ---------> HCO3 + H2O H3O+ + HCO3- ---------> H2CO3 + H2O H2CO3 ---------> H2O + CO2 ปริมาณกรดที่ใช้ในการปรับค่า pH จะได้จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ และเราสามารถหาได้เอง จากการค่อยๆ เติมกรดลงในน้ำ วัดค่า pH ที่เปลี่ยน และเขียนกราฟความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณกรดที่ใช้กับการเปลี่ยนค่า pH หลังจากนั้นสามารถคำนวณปริมาณกรดที่ต้องใช้ต่อปริมาณสารละลายที่ต้องการกรดที่ใช้ในการปรับค่า pH ของน้ำได้แก่ HNO3, H2SO4, H3PO4 การใช้กรด ไนตริกและฟอสฟอริคปรับค่า pH ของน้ำและลดความกระด้างของน้ำโดยลดปริมาณ คาร์โบเนตและไบคาร์โบเนตออกจากน้ำ เนื่องจาดกรดทั้งสองชนิดมีธาต ไนโตรเจน และ ฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบก็ถือว่ากรดทั้งสองตัวเป็นแม่ปุ๋ยด้วย คือนอกจากใช้ปรับค่า pH แล้วยังเป็นปุ๋ยได้ด้วยตอนคำนวณผสมปุ๋ยลงในน้ำต้องนำธาตุอาหารในกรดทั้งสองมาคำนวณด้วย ในบางกรณีที่ น้ำมีปริมาณ คาร์โบเนตและไบคาร์โบเนต และ Ca เป็นจำนวนมากๆ การใช้กรด H2SO4, และ H2PO4 อาจจะใช้ไม่ได้เนื่องจาก Ca ที่เหลืออยู่ในน้ำที่มีความเข้มข้นสูงจะตกตะกอนเป็น CaSO4, และ Ca3(PO4)2 ในกรณีนี้สามารถใช้กรด HNO3 ได้ เนื่องจาก Ca(NO3)2 สามารถละลายน้ำได้ดี แต่กรดนี้มีราคาแพงและมีกลิ่นรุนแรงตอนใช้ต้องระวังเป็นพิเศษ ในทุกกรณีถ้าไม่แน่ใจว่าการผสมปุ๋ยหรือกรดหรือสารใดๆลงใน้ำแล้วจะตกตะกอนหรือไม่ควรต้องมีการทดสอบกับสารละลายปริมาณน้อยๆก่อน วิธีที่ง่ายที่สุดในการจะทราบว่าปุ๋ยหรือกรดเข้ากันได้หรือไม่ โดยการทดลองผสมปุ๋ยหรือกรดดูเองเลยโดยทำการละลายปุ๋ยที่ต้องการทดสอบในเหยือกแก้วใส่ขนาดใหญ่ประมาณ 1 ลิตร และผสมปุ๋ยที่เราต้องการทดลองลงไปในความเข้มข้นที่เราจะใช้ผสมลงในถังผสมปุ๋ย และคนให้เข้ากันทิ้งไว้สักครึ่ง ถึง หนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่พบตะกอนนอนก้นหรือลอยที่ผิวน้ำ หรือไม่เห็นเป็นสีขาวขุ่น เหมือนน้ำนม และเมื่อทิ้งไว้จะตกตะกอน แสดงว่าปุ๋ยนั้นสามารถผสมกันได้
6. เหล็ก (Fe) เหล็กที่อยู่ในน้ำถ้ามีปริมาณมาก จะเกิดการตกตะกอนเป็น เฟอร์ริกไฮดรอกไซด์ (Ferric hydroxide : Fe(OH)3 ) ซึ่งพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ตะกอนที่เกิดขึ้นจะไปเคลือบเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆและจะไปอุดตันหัวน้ำหยดความเข้มข้นของเหล็กที่เกิน10micromol โดยเฉพาะเมื่อในน้ำมีอนุมูลไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) มากกว่า 1 mmol จะเกิดการตกตะกอนของเหล็กเป็นคราบสีน้ำตาลแดง ตามชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเครื่องมือ
7. จุลธาตุ (Trace elements) ธาตุตัวอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการทั้งนั้นจึงไม่มีปัญหา ปุ๋ยที่สามารถนำมาใช้ในการให้ปุ๋ยในระบบน้ำได้ (Fertigation)
เราสามารถแบ่งปุ๋ยที่สามารถใช้ในระบบ Fertigation ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ
1.ปุ๋ยผสมสูตรสำเร็จรูปสูตรต่างๆ เช่น สูตร 20-10-30, 21-16-25 ข้อดีของปุ๋ยสำเร็จรูป คือ ง่ายต่อการใช้และปุ๋ยบางบริษัทจะผสม ธาตุอาหารรองมาให้ด้วย ผู้ใช้เพียงนำปุ๋ยมาละลายน้ำตามคำแนะนำของบริษัทก็สามารถนำไปใช้ได้ ข้อเสีย คือ ส่วนมากเป็นปุ๋ยที่มีราคาแพง และไม่รู้ชนิดของแม่ปุ๋ยที่นำมาผสม และมีสูตรที่ขายอยู่ในตลาดไม่มากนักอาจไม่เหมาะกับความต้องการของเกษตรกร แต่ก็อาจหาปุ๋ยที่มีสัดส่วนของธาตุอาหารใกล้เคียงกับที่เราต้องการได้และมาเติมแม่ปุ๋ยบางตัวเข้าไปเพื่อให้ได้สูตรหรือ สัดส่วนธาตุอาหารที่ต้องการ
2.การผสมปุ๋ยขึ้นใช้เองจากแม่ปุ๋ย เป็นวิธีการที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับปุ๋ยพอสมควร ข้อดีสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยลงได้มาก สามารถผสมปุ๋ยตามสูตรและสัดส่วนที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง รู้ชนิดของปุ๋ยที่ผสมกัน สามารถเติมธาตุอาหารรองและเสริมตามที่ต้องการได้ วิธีการนี้เหมาะอย่างยิ่งถ้ามีการส่งดิน น้ำ และพืชไปวิเคราะห์จากห้องปฎิบุติการก่อน จะได้ทำการจัดตารางการให้ปุ๋ยอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เช่นถ้าวิเคราะห์ดินและพืชแล้วพบว่าในดินมีปริมาณ P สะสมอยู่เป็นปริมาณมากเกินความต้องการของพืช (ซึ่งพบเสมอๆในสวนผลไม้ที่มีการใส่ปุ๋ย 15-15-15 และ 8-24-24 อย่างต่เนื่องเป็นเวลานาน) ดังนั้นปุ๋ยที่ผสมก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย P ลงไปด้วยทำให้สามารถประหยัดค่าปุ๋ยลงได้มากเนื่องจากปุ๋ย P เป็นปุ๋ยที่มีราคาแพงที่สุด แม่ปุ๋ยที่สามารถน้ำมาใช้ในระบบการให้ปุ๋ยในระบบน้ำ Fertigation แม่ปุ๋ยที่สามารถนำมาใช้ได้จะต้องเป็นปุ๋ยที่สามารถละลายน้ำได้หมดไม่มีเศษตะกอนเหลือค้างในถังผสม ความสามารถละลายน้ำได้ของปุ๋ย ปุ๋ยที่ใช้ในระบบ Fertigation ต้องสามารถละลายน้ำได้หมด แต่ปุ๋ยแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการละลายน้ำต่างกันตาม ความสามารถการละลายตัวของปุ๋ยยังขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิด้วย เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นความสามารถในการละลายตัวของปุ๋ยจะเพิ่มขึ้น ปริมาณและชนิดของเกลือที่มีอยู่เดิมในน้ำโดยทั่วไปถ้าน้ำมีเกลือละลายตัวอยู่สูงก็ทำให้การละลายตัวของปุ๋ยยากขึ้น ชนิดและปริมาณของปุ๋ยที่ละลายร่วมด้วย แม่ปุ๋ยที่มีการละลายตัวในน้ำดีและเป็นแม่ปุ๋ยที่นิยมใช้ในระบบ Fertigation ได้แก่ แอมโมเนียมไนเตรต (ammonium nitrate), โพแตสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride), โพแตสเซียมไนเตรต (potassium nitrate), ยูเรีย (urea), แอมโมเนียมโมโนฟอสเฟต (ammonium monophosphate) และ โพแตสเซียมโมโนฟอสเฟต (potassium monophosphate)
การเข้ากันไม่ได้ของปุ๋ยเมื่อละลายน้ำด้วยกันในความเข้มข้นสูง ปุ๋ยบางชนิดห้ามผสมกันในถังเดียวกัน จะเกิดการตกตะกอนทันทีปุ๋ยเหล่านี้ ได้แก่
1. ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรต (Calcium nitrate) ห้ามผสมกับปุ๋ยที่มีฟอสเฟต (phosphates) หรือ ซัลเฟต (sulfates) เป็นองค์ประกอบ
2. กรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid) กับเหล็ก (Fe), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu) และ แมกนีเซียมซัลเฟต (manganese sulfates) เพราะจะทำให้เกิดการตกตะกอนของธาตุอาหารรองเหล่านี้ทำให้ไม่เป็นประโยชน์ต่พืช ถ้าต้องการให้ปุ๋ยเหล่านี้กับพืช ต้องแยกให้คนละครั้ง หรืออาจใช้เครื่องให้ปุ๋ยสองตัว โดยแยกปุ๋ยที่เข้ากันไม่ได้ออกคนละถัง แต่จะเสียค่าใช้จ่ายเครื่องให้ปุ๋ยสูง นอกจากนี้ปุ๋ยบางคู่ที่สามารถละลายน้ำได้ดีทั้งคู่ แต่เมื่อนำมาละลายในถังเดียวกันทำให้ความสามารถในการละลายตัวของปุ๋ยผสมลดลง เช่น การผสมปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ((NH4)2SO4 ) และโพแตสเซียมคลอไรด์ (KCl) ในถังเดียวกันจะเกิดปุ๋ยตัวใหม่ คือ โพแตสเซียมซัลเฟต (K2SO4) ดังนั้น การละลายตัวของปุ๋ยจะถูกกำหนดโดยปุ๋ยโพแตสเซียมซัลเฟต แทน ซึ่งมีการละลายตัวน้อยกว่าปุ๋ยสองตัวแรก วิธีที่ง่ายที่สุดในการจะทราบว่าปุ๋ยเข้ากันได้หรือไม่ โดยการทดลองผสมปุ๋ยดูเองเลยโดยทำการละลายปุ๋ยที่ต้องการทดสอบในเหยือกแก้วใส่ขนาดใหญ่ประมาณ 1 ลิตร และผสมปุ๋ยที่เราต้องการทดลองลงไปในความเข้มข้นที่เราจะใช้ผสมลงในถังผสมปุ๋ย และคนให้เข้ากันทิ้งไว้สักครึ่ง ถึง หนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่พบตะกอนนอนก้นหรือลอยที่ผิวน้ำ หรือไม่เห็นเป็นสีขาวขุ่น เหมือนน้ำนม และเมื่อทิ้งไว้จะตกตะกอน แสดงว่าปุ๋ยนั้นสามารถผสมกันได้ การให้ปุ๋ยในระบบน้ำที่มีความกระด้างสูง ปัญหาที่พบเสมอในบ้านเรา คือ การนำน้ำใต้ดินที่มีความกระด้างสูงมาใช้ในระบบ Fertigation น้ำที่มีค่าวิเคราะห์ว่ามีแคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม (Mg) และไบคาร์บอเนต (bicarbonates) สูงจัดว่าเป็นน้ำกระด้าง (เมื่อฟอกสบู่จะถูกล้างออกจากตัวง่าย หรือ สบู่จะไม่ค่อยมีฟอง) จัดว่าเป็นน้ำที่มีปัญหา เมื่อใช้ระบบ Fertigation น้ำพวกนี้มีค่า pH เป็นด่าง ประมาณ 7.2 – 8.5 เมื่อละลายปุ๋ยบางตัวลงในน้ำนี้จะเกิดการตกตะกอน ซึ่งจะพบตะกอนนอนก้นถัง หรือ เป็นคราบอุดตันตามหัวปล่อยน้ำ เช่น เมื่อใช้ปุ๋ยที่มีซัลเฟต (Sulphate) เช่น K2SO4 , (NH4)2SO4 จะตกตะกอนสีขาวของ ยิปซั่ม (CaSO4) อุดตันหัวหยด หรือ ถ้าใช้ยูเรีย (Urea) ที่ความเข้มข้นสูงจะเพิ่ม pH ของน้ำ ทำให้เร่งการตกตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัส (P) เป็นองค์ประกอบเมื่อละลายในน้ำนี้ จะเกิดการตกตะกอนของ แคลเซียม และแมกนีเซียมฟอสเฟต (Ca-Mg phosphates) ในกรณีเช่นนี้ การใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P) ควรใช้ปุ๋ยที่เป็นกรด ได้แก่ กรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid : H3PO4) หรือ โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต(monoammonium phosphate (MAP) จะลดปัญหาเหล่านี้ ในกรณีที่ระบบให้น้ำใช้ไปนาน ๆ และเกิดการอุดตันของหัวปล่อยน้ำ หรือ พบคราบตะกอนเกาะมากขึ้นทำให้อัตราการจ่ายน้ำของหัวจ่ายลดลง เราสามารถล้างคราบเหล่านี้ด้วยกรด โดยการละลายกรดลงในน้ำและปล่อยให้น้ำกรดนี้ไหลผ่านระบบให้น้ำเพื่อให้กรดละลายตะกอนเหล่านี้ แต่ต้องระวังเนื่องจากกรดจะสามารถกัดกร่อนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ ดังนั้น เมื่อผ่านกรดในระบบน้ำแล้ว จะต้องรีบไล่ด้วยน้ำเปล่า กรดที่ใช้ได้ ได้แก่ กรดฟอสฟอริก (phosphoric acid), กรดไนตริก (nitric acid), กรดซัลฟูริก (sulfuric acid) และกรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid) กรดไฮโดรคลอริก เป็นกรดที่มีราคาถูกที่สุดนิยมใช้กันมากในอิสราเอล แต่กรดนี้ควรใช้เพื่อล้างระบบเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้เพื่อปรับ pH ของน้ำชลประทาน เนื่องจากมีคลอไรด์ (Cl) ซึ่งอาจมีการสะสมในดิน โดยเฉพาะดินเหนียวเป็นอันตรายต่อพืชบางชนิดที่ไม่ชอบคลอไรด์ เครื่องผสมปุ๋ยลงในระบบน้ำ การใส่ปุ๋ยลงในระบบน้ำ ระบบให้น้ำที่เหมาะสมกับการใหปุ๋ยในระบบน้ำคือระบบน้ำหยด หรือระบบ Minisprinkle ซึ่งทั้งสองระบบนี้จะทำงานภายใต้ความดันของน้ำ 1 – 5 bars การที่จะนำปุ๋ยในรูปสารละลายใส่เข้าในระบบจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือวิธีการที่จะฉีดปุ๋ยต้านความดันเข้าในระบบให้น้ำ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้ปุ๋ยในระบบน้ำได้แก่
เครื่องผสมปุ๋ยลงในระบบน้ำ
1. ดูดท้ายปั๊ม เป็นระบบที่ง่ายที่สุดและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด อุปกรณ์ประกอบด้วยถังผสมปุขนาด 100-200 ลิตร มีสายต่อจากก้นถังพร้อมประตูน้ำควบคุมการไหลต่อเข้ากับทางดูดท้ายปั๊ม ขณะที่ปั๊มทำงานจะเกิดแรงดูดที่ท้ายปั๊ม อัตราการให้ปุ๋ยจะถูกควบคุมโดยประตูน้ำ ข้อเสียของระบบนี้คือ - ปั๊มเสียง่าย เนื่องจากปุ๋ยเป็นเกลือสามารถกัดกร่อนโลหะต่างๆได้ทำให้ใบพัดปั๊มสึกง่ายอาจต้องทำการซ่อมบ่อยๆ ดังนั้นหลังให้ปุ๋ยแล้วควรปล่อยให้ปั๊มดูดน้ำเปล่าเพื่อล้างปุ๋ยที่ตกค้างในปั๊ม - ปุ๋ยอาจไหลลงสู่แหล่งน้ำ ระบบนี้ทางปลายท่อดูดต้องติด วาล์วกันน้ำกลับ Foot valve เนื่องจากเมื่อปั๊มหยุดทำงานถ้าไม่มี foot valve หรือ foot valve รั่วปุ๋ยในถังอาจไหลย้อนกลับในแหล่งน้ำได้ ดังนั้นต้อยคอยหมันตรวจ foot valve เสมอๆ - ปั๊มดูดอากาศเมื่อปุ๋ยหมด ถ้าปั๊มดูดปุ๋ยในถังหมด จะมีการดูดอากาศเข้าในปั๊มทำให้ปั๊มอาจเสียได้หรือไม่สามารถดูดน้ำได้ ควรติดลูกลอยกลับทิศที่ทางน้ำออก เมื่อน้ำปุ๋ยหมดถังลูกลอยจะปิดโดยอัตโนมัติป้องกันการดูดอากาศได้
2. ปั๊มดูดปุ๋ย Amiade เป็นปั๊มดูดปุ๋ยแบบลูกสูบ ใช้แรงดันของน้ำในระบบเป็นตัวขับการทำงานของปั๊มไม่ต้องการแห่ลงพลังงานจากภายนอก แรงดันสูญเสียในระบบมีน้อย แต่ขณะที่ปั๊มดูดปุ๋ยจะสูญเสียน้ำบางส่วนเพื่อใช้ขับดันปั๊ม แต่ราคาค่อนข้างแพงประมาณ 25000-40000 บาท
3. ปั๊มดูดปุ๋ย TMB เป็นปั๊มดูดปุ๋ยแบบแผ่นยาง ใช้แรงดันของน้ำในระบบเป็นตัวขับการทำงานของปั๊มไม่ต้องการแห่ลงพลังงานจากภายนอก แรงดันสูญเสียในระบบมีน้อย แต่ขณะที่ปั๊มดูดปุ๋ยจะสูญเสียน้ำบางส่วนเพื่อใช้ขับดันปั๊ม แต่ราคาถูกกว่า Amiade เล็กน้อยมีหลายขนาดตามอัตราการดูดปุ๋ย
4. ปั๊มดูดปุ๋ย Dosatron เป็นปั๊มดูดปุ๋ยแบบลูกสูบ ใช้แรงดันของน้ำในระบบเป็นตัวขับการทำงานของปั๊มไม่ต้องการแห่ลงพลังงานจากภายนอก แรงดันสูญเสียในระบบมีมากกว่า Amiade และ TMB แต่ขณะที่ปั๊มดูดปุ๋ยจะไม่มีการสูญเสียน้ำมีหลายขนาดตามอัตราการดูดปุ๋ย
5. ถังผสมปุ๋ย เป็น ถังโลหะที่ทนความดันได้ โดยผสมปุ๋ยที่ละลายน้ำได้ลงในถังและจะมีวาล์วเพื่อก่อให้ความดันแตกต่างทาง น้ำเข้าและทางน้ำออกในถังทำให้น้ำไหลเข้าในถังผสมปุ๋ยทำการละลายปุ๋ยและไหล เข้าสู่ระบบให้น้ำระบบนี้จะเกิดความดันสูญเสียในระบบบ้าง
6. Ventury เป็นปั๊มที่มีการสูญเสียความดันมากที่สุด ความดันสูญเสียประมาณ 30-60% แนวทางการกำหนดสูตรปุ๋ยที่ให้แก่พืช ใส่ปุ๋ยอะไร สูตรอะไร เวลาไหน ปริมาณเท่าไหร่ *** ทราบจากการวิเคราะห์ดินและพืชน้ำ *** ต้องมีการส่งตัวอย่างดิน และพืชไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ ต้องทราบปริมาณความต้องการของพืช จะได้จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อดูการดูดใช้ธาตุอาหารในช่วงการเจริญเติบโตต่าง ๆกัน * รูปแบบการดูดใช้ธาตุอาหาร จะขึ้นกับ ชนิด และพันธุ์พืช, ผลผลิตที่ต้องการ, ช่วงอายุการเจริญของพืช (แตกใบ, ออกผล), ความหนาแน่นของพืชที่ปลูก และสภาพภูมิอากาศ 1. ไม่มีข้อมูลเลย ใช้คำแนะนำจากบริษัทขายปุ๋ย และจากทางราชการ 1. ใช้ค่าวิเคราะห์ดิน,พืช และการดูดใช้ธาตุอาหารของพืชกำหนดสูตรและอัตราการให้ปุ๋ยแก่พืช ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณปุ๋ยที่ให้แก่พืช
1. ผลผลิตที่ต้องการ (ปริมาณธาตุอาหารที่ดูดใช้) ถ้าต้องการผลผลิตมากก็ต้องมีการใส่ปุ๋ยมาก
2. ปริมาณธาตุอาหารในดิน (จากค่าวิเคราะห์ดิน) ถ้าดินมีปริมาณธาตุอาหารอยู่มากปริมาณปุ๋ยที่ให้ก็จะลดลง
3. ความหนาแน่นของพืชที่ปลูก พืชปลูกระยะชิดจำนวนต้นพืชมากก็มีความต้องการปุ๋ยมาก
4. อายุของพืชที่ปลูก พืชต้นโตก็ต้องการปุ๋ยมาก
5. ประสิทธิภาพของวิธีการให้ปุ๋ย การให้ปุ๋ยวิธีการต่างๆพืชจะดูดใช้ได้ไม่ทั้งหมด ถ้าเป็นการให้ปุ๋ยหว่านทางดินพืชอาจดูดใช้ได้แค่ 30-60 % แต่ให้พร้อมระบบน้ำพืชอาจดูดใช้ได้ถึง 50-80 % ดังนั้นระบบให้ปุ๋ยต่างกันปริมาณปุ๋ยที่ใช้ก็ต่างกัน