นับว่าคนไทย โชคดีที่เมืองไทยมีผลไม้หลากหลายชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน มะม่วง มะละกอ มังคุด ลองกอง ลางสาด ลำไย และลิ้นจี่ เป็นต้น ทยอยออกสู่ตลาดให้หารับประทานได้ตลอดทั้งปี
ในการปลูกไม้ผลให้ได้ผลผลิตที่มีรสชาติดีนั้นธาตุอาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญ ต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต หากไม้ผลได้รับไม่เพียงพอก็ทำให้เจริญเติบโตได้ไม่ดีและให้ผลผลิตน้อย โดยเฉพาะในไม้ผลด้วยแล้ว ธาตุอาหารยังมีความสำคัญต่อคุณภาพของผลผลิต ดังนั้นหากเข้าใจถึงบทบาทของธาตุอาหารต่อคุณภาพต่างๆ ของผลผลิตไม้ผลแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตไม้ผลให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ
เมื่อกล่าวถึงคุณภาพของผลไม้ สิ่งที่มองเห็นได้ง่ายก็คือลักษณะภายนอกซึ่งได้แก่ รูปร่าง ขนาด สี ตำหนิ ตลอดจนความสม่ำเสมอ ผู้บริโภคโดยทั่วไปมักให้ความสำคัญเกี่ยวกับลักษณะเหล่านี้ซึ่งแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับไม้ผลแต่ละชนิด ผู้บริโภคที่ช่างเลือกซื้อก็มักมีเกณฑ์อยู่ในใจว่าจะเลือกผลไม้แบบไหน ส่วนลักษณะภายในของผลไม้ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับรสชาตินั้นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ผู้บริโภคจะทราบได้ว่ามีรสชาติดีตามที่ต้องการหรือไม่ก็ต่อเมื่อได้ลองชิมดูเท่านั้น รสชาติต่างๆ เช่น หวาน เปรี้ยว ฝาด และขม จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสารต่างๆในผลไม้นั้นๆ
รสชาติของผลไม้แต่ละชนิด หรือแต่ละพันธุ์จะแตกต่างกันออกไป และตัวผู้บริโภคเองก็อาจจะชอบรสชาติที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม คนไทยโดยทั่วไปมักชอบผลไม้ที่มีรสหวานนำ และอาจมีบ้างที่ชอบหวานอมเปรี้ยวนิดๆ ดังนั้นเวลาซื้อผลไม้จึงมักมีคำถาม (ข้อบังคับ) เสมอว่า หวานมั๊ย? หวานหรือเปล่า? และผู้ซื้อก็มักต้องการคำตอบจากผู้ขายว่าหวาน (เพียงเท่านั้น) การที่ผลไม้มีรสหวานนั้นแสดงว่ามีน้ำตาลอยู่มาก และถ้ามีรสเปรี้ยวก็แสดงว่ามีกรดอยู่มาก หากมีน้ำตาลและกรดในสัดส่วนที่พอเหมาะก็ทำให้ผลไม้มีรสชาติดีเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค ความหวานที่ว่านี้จัดได้ว่าเป็นคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และขึ้นกับปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำตาล ของแข็งที่ละลายน้ำได้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงเมื่อส่องผ่านน้ำสำหรับการวัดปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ในน้ำผลไม้ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า รีแฟรกโตมิเตอร์ (Refractometer) ค่าของแข็งที่ละลายน้ำได้มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์บริกซ์ (%Brix) ซึ่งสามารถเป็นตัวบอกถึงปริมาณน้ำตาลหรือความหวานของผลไม้ได้อย่างคร่าวๆ ถ้าค่าที่วัดได้มีค่าสูงแสดงว่ามีของแข็งที่ละลายน้ำได้อยู่มาก หรือมีน้ำตาลมากซึ่งทำให้ผลไม้นั้นมีรสหวาน ตัวอย่างผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ลองกอง มักพบว่ามีค่าเปอร์เซ็นต์บริกซ์ในน้ำคั้นสูงถึง 17-18 ในขณะที่ในฝรั่งมีค่าเพียง 10-11
ความหวานหรือปริมาณน้ำตาลในผลไม้นี้ย่อมขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูกเป็นสำคัญ โดยเห็นได้ชัดว่ามะขามหวานและมะขามเปรี้ยวมีความหวานแตกต่างกันมาก ในบางครั้งแม้ว่าจะปลูกไม้ผลพันธุ์ที่มีรสหวานถูกใจแล้ว แต่ปรากฏว่าผลผลิตที่ได้มีรสชาติไม่เหมือนเดิม ปัญหาเช่นนี้พบได้ทั่วไปในลองกองทั้งๆ ที่ได้มีการตรวจสอบและยืนยันชัดเจนแล้วว่าลองกองที่ปลูกกันทั่วไปนั้นเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่รสชาติโดยเฉพาะความหวานแตกต่างกันมาก ลองกองที่ออกนอกฤดูกาลมักมีความหวานที่แตกต่างกันมาก โดยมีเปอร์เซ็นต์บริกซ์ตั้งแต่ 15-18 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากเกษตรกรเก็บผลผลิตเร็วเกินไป หรือไม่ก็เกิดจากการจัดการธาตุอาหารไม่เหมาะสม ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชมีทั้งหมด 17 ธาตุ แต่ธาตุที่พืชต้องการมากและมีในดินไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช และจำเป็นต้องใส่ให้กับพืชในรูปของปุ๋ย ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผลต่อความหวานของผลไม้ มีรายงานการวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่ได้ศึกษาผลของธาตุอาหารต่อความหวานของผลไม้
ไนโตรเจน
เป็นธาตุที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางด้านการสร้างกิ่ง ก้าน และใบ ในพืชผักทำให้ใบสีเขียว อวบน้ำ และเส้นใยน้อย สำหรับในไม้ผลมีรายงานว่าไนโตรเจนช่วยเพิ่มปริมาณกรดและของแข็งที่ละลายน้ำได้ ในมะนาว แอปเปิล และเกรฟฟรุต โดยที่ไนโตรเจนมีผลต่อการเพิ่มกรดมากกว่าของแข็งที่ละลายน้ำได้ ดังนั้นในระยะติดผลพืชต้องได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอจึงจะทำให้มีการสร้างน้ำตาลได้ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเพราะทำให้มีการสร้างกรดสูงด้วยซึ่งอาจจะทำให้ผลไม้มีรสเปรี้ยว
ฟอสฟอรัส
เป็นธาตุที่สะสมมากในเมล็ด และมักใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงในระยะก่อนออกดอก อย่างไรก็ตาม ในสวนไม้ผลที่มีการใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงซ้ำๆ กันทุกปีจะทำให้ฟอสฟอรัสสะสมในดินมากจนเกินความต้องการของพืช และส่งผลทำให้พืชขาดธาตุอาหารอื่นๆ เช่น สังกะสี และทองแดงได้ นอกจากนั้นหากพืชได้รับฟอสฟอรัสมากเกินไปก็มีผลต่อคุณภาพของไม้ผลได้ มีรายงานว่าในส้มที่มีฟอสฟอรัสในใบสูงจะทำให้ปริมาณกรดและของแข็งที่ละลายได้ต่ำกว่าส้มที่มีฟอสฟอรัสในใบต่ำ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าฟอสฟอรัสช่วยเพิ่มปริมาณน้ำคั้น จึงทำให้กรดและของแข็งที่ละลายน้ำได้เจือจางลง
โพแทสเซียม
เป็นธาตุที่มีผลต่อคุณภาพผลไม้ชัดเจนกว่าธาตุอื่นๆ ทั้งนี้เพราะโพแทสเซียมมีบทบาทที่สำคัญต่อการสร้างและการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลซึ่งมีผลโดยตรงต่อการสะสมน้ำตาลในผลไม้ ได้มีการศึกษาในฝรั่ง ท้อ และสับปะรด พบว่าโพแทสเซียมช่วยเพิ่มปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และจากการศึกษาในลองกองก็พบว่า เมื่อใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ให้กับลองกองต้นละ 1 กิโลกรัม ในระยะหลังติดผล 5 สัปดาห์ ทำให้ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ในระยะเก็บเกี่ยวสูงถึงประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์บริกซ์ ในขณะที่ต้นไม่ได้รับปุ๋ยโพแทสเซียมมีค่าของแข็งที่ละลายน้ำได้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์บริกซ์
ดังนั้น หากต้องการให้ไม้ผลมีการสร้างและการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลไปสะสมที่ผลได้เต็มที่ตามความสามารถของไม้ผลพันธุ์นั้น การใส่ปุ๋ยให้ไม้ผลได้รับโพแทสเซียมอย่างเพียงพอย่อมทำให้มีการสะสมน้ำตาลในผลเกิดขึ้นได้เต็มที่ และทำให้ผลไม้มีความหวานตามธรรมชาติตรงกับพันธุ์ไม้ผลชนิดนั้นได้ ความหวานของผลไม้เกิดจากการสะสมน้ำตาล และการสร้างน้ำตาลนั้นถูกควบคุมโดยพันธุ์ไม้ผลชนิดนั้นๆ เป็นสำคัญ สำหรับธาตุอาหารพืชก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีการสร้างและเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลไปสะสมที่ผลโดยเป็นการทำหน้าที่ร่วมกันของธาตุหลายๆธาตุ แต่โพแทสเซียมซึ่งเป็นธาตุที่พืชต้องการมากมีบทบาทที่ชัดเจน เพราะโพแทสเซียมมีหน้าที่สำคัญในการสร้างและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลในพืช ประกอบกับดินปลูกไม้ผลส่วนใหญ่มีธาตุโพแทสเซียมต่ำ ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมในระยะหลังติดผลจะช่วยลดการร่วงของผล เพิ่มขนาดของผล และเพิ่มความหวานของผลไม้ได้