กำลังปรับปรุงครับ
กรมส่งเสริมฯแนะ เลิกใช้วิธีละลายน้ำ ตรวจปุ๋ยเคมีปลอม ยันผลคลาดเคลื่อน
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 51
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการตรวจสอบปุ๋ยเคมีก่อนนำไปใช้ทางการเกษตร เพราะไม่สามารถตรวจสอบปุ๋ยเคมีว่าปลอมหรือไม่ ด้วยวิธีการนำไปละลายน้ำได้เสมอไป เนื่องจากการผลิตปุ๋ยเคมีผสมชนิดเม็ดสูตรต่างๆ นั้น บรรดาผู้ผลิตจำเป็นต้องใส่สารตัวเติมน้ำหนัก หรือ Filler ลงไปด้วย เพื่อให้ได้สูตรตรงกับความต้องการ ซึ่งสารตัวเติมที่นิยมใช้ ได้แก่ ดินขาว หรือ ดินเหนียว แคร์โอลิน และในบางกรณีอาจใช้ทรายร่อนเป็นสารตัวเติมด้วย
ทั้งนี้ การใส่สารตัวเติม นอกจากจะเพื่อให้ได้สูตรตรงกับความต้องการแล้ว ยังช่วยให้การจับตัวของเนื้อปุ๋ยและเม็ดปุ๋ย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 100 กิโลกรัม จะมีธาตุอาหารพืชไนโตรเจนอยู่ 15 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 15 กิโลกรัม และ โพแตสเซียม 15 กิโลกรัม รวมจำนวนธาตุอาหารพืช 45 กิโลกรัม ที่เหลืออีก 55 กิโลกรัม จะเป็นสารตัวเติม (filler) ที่ใส่ลงไปในเนื้อธาตุปุ๋ยให้ได้ตามสูตรต้องการ ดังนั้นการที่เกษตรกรเข้าใจว่า การนำปุ๋ยเคมีไปละลายน้ำแล้วมีกรวด ทรายปะปนมาด้วย ถือว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอม จึงไม่ถูกต้องเสมอไป
การตรวจสอบปุ๋ยเคมีว่าเป็นปุ๋ยจริงหรือปุ๋ยปลอม สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือ การหยดน้ำปูนใสลงบนเม็ดปุ๋ยเคมีแล้วสังเกตปฏิกิริยาก็จะทราบผล ถ้าได้กลิ่นฉุนก็สันนิษฐานได้ว่าปุ๋ยเคมีนั้นเป็นปุ๋ยแท้ เนื่องจากสารละลายน้ำปูนใสทำปฏิกิริยากับปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแอมโมเนีย จึงได้ก๊าซมีกลิ่นฉุน ซึ่งตรวจสอบปุ๋ยเคมีไนโตรเจนได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกรณีของปุ๋ยไนโตรเจนในรูปยูเรีย น้ำปูนใส จะไม่ทำปฏิกิริยากับปุ๋ยยูเรียก็จะไม่ได้กลิ่นฉุนของแอมโมเนีย
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบปุ๋ยเคมีด้วยน้ำปูนใส เป็นการตรวจสอบเพียงเบื้องต้น เพื่อทำให้เราทราบว่า ปุ๋ยเคมีนั้นมีธาตุอาหารพืชไนโตรเจนอยู่ แต่ไม่สามารถทราบได้ว่ามีปริมาณเท่าใด การตรวจสอบที่ได้ผลชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ จำเป็นต้องวิเคราะห์ตรวจสอบได้จากห้องปฏิบัติการของทางราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 11 มกราคม 2551
http://www.naewna.com/news.asp?ID=90337
www.phtnet.org ›
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.