หน้า: 1/3
ที่มา: http://kloovan.multiply.com/journal/item/4
เงาะ
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ผลยืนต้นอายุยืนนานหลายสิบปี ปลูกได้ทุกภูมิภาค ทุกพื้นที่ และทุกฤดูกาล ชอบดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนปนดินเหนียว มีอินทรีย์วัตถุมาก ระบายน้ำดี ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังค้างนาน
* ช่วงมีดอกและผลต้องการน้ำพอดีหรือพอชื้น แต่ช่วงพักต้นต้องการน้ำมาก
* พื้นที่มีน้ำหรือฝนมากสีผลจะออกเขียว ส่วนพื้นที่มีน้ำน้อยสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้และอากาศเย็นสีผลจะออกแดงหรือเหลืองอมแดงชัดเจนกว่า
* เงาะออกดอกติดผลที่ซอกใบปลายกิ่งจากกิ่งอายุข้ามปี กิ่งแขนงในทรงพุ่มอายุข้ามปีได้รับแสงแดด (ทรงพุ่มโปร่ง) ก็ออกดอกติดผลได้เช่นกัน
* ข้อมูลเกี่ยวกับดอกเงาะวันนี้ยังสับสน เอกสารทางวิชาการยังไม่อาจฟันธงได้ว่าดอกเงาะมีสภาพเป็นดอกตัวผู้ (ต้นตัวผู้). ดอกตัวเมีย (ต้นตัวเมีย). และดอกสมบูรณ์เพศ (ต้นกระเทย). อยู่ในต้นเดียวกันแต่ต่างช่อหรือช่อเดียวกันหรือต่างต้นกันแน่ กับทั้งข้อมูลจากประสบการณ์ตรงที่ชาวสวนเงาะยึดถือปฏิบัติหลายอย่างยังขัดแย้งกับข้อมูลทางวิชาการอยู่มาก การจะตัดสินระหว่างข้อมูลทางวิชาการกับข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ตรงของชาวสวนว่าของใครถูกหรือผิดนั้นยังไม่อาจทำได้ แนวคิดหนึ่งคือ วิธีการที่ชาวสวนเงาะปฏิบัติต่อดอกเงาะในปัจจุบันแล้วได้ผลผลิตอย่างน่าพอใจน่าจะถือเป็นแนวทางถูกต้องได้
* ข้อมูลทางวิชาการต่อต้นเงาะระบุว่า......
- ปลูกต้นเงาะตัวผู้สลับแทรกกับต้นเงาะตัวเมีย อัตรา 1 : 18 ต้น เพื่อให้ต้นเงาะตัวเมียได้อาศัยเกสรตัวผู้เพื่อการผสมเกสร
- นำยอดเงาะต้นตัวผู้ 3-5 ยอดเสียบบนยอดเงาะต้นตัวเมียแบบกระจายทั่วทรงพุ่มต้นตัวเมียเพื่อ ให้ดอกตัวเมียได้รับเกสรจากดอกตัวผู้ในต้นเดียวกันนั้นเลย
- ตัดช่อดอกเงาะตัวผู้ที่เกสรพร้อมผสมแล้ว ไปเคาะใส่ช่อดอกตัวเมียที่เกสรพร้อมรับการผสมแล้วเช่นกัน
- นำดอกเงาะตัวผู้ที่เกสรพร้อมผสมแล้วขยำในน้ำ แล้วนำน้ำนั้นไปฉีดพ่นใส่ช่อดอกตัวเมียที่พร้อมรับการผสมแล้วโดยตรงช่วงเช้า (06.00-07.00) หลังจากนั้นเวลาประมาณ 09.00-12.00 น. เกสรตัวผู้จะผสมกับเกสรตัวเมียเอง
* ใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. ฉีดพ่นใส่ช่อดอกโดยตรง โดยไม่จำกัดว่าเป็นช่อดอกของต้นตัวผู้ (ดอกตัวผู้) ต้นตัวเมีย (ดอกตัวเมีย) หรือต้นกระเทย (ดอกสมบูรณ์เพศ) ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.จะช่วยเปลี่ยนเพศดอกกระเทยทำหน้าที่ดอกตัวเมียให้เป็นดอกตัวผู้แล้วผสมกับเกสรตัวเมียให้กลายเป็นผลต่อไป
*เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว เรียกว่า เงาะขี้ครอก
* เมื่อเงาะเริ่มเข้าสู่ระยะเปลี่ยนสี ให้จิ๊บเบอเรลลิน 1-2 รอบ จะช่วยให้การเข้าสีสม่ำเสมอกันทั้งช่อ และเข้าสีเร็วขึ้น
* ต้นพันธุ์จากกิ่งตอน.ทาบ.เสียบยอดบนตอเพาะเมล็ดและเสริมราก 1 ราก.จะให้ผลผลิตเมื่ออายุต้น 3-4 ปี ในขณะที่ต้นจากเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 6-7 ปี
* การเสริมราก 1-2 รากจะช่วยให้ต้นหาอาหารได้มากกว่ามีรากเดียว นอกจากจะส่งผลให้ต้นสมบูรณ์ให้ผลผลิตดีแล้วยังมีอายุยืนนานอีกด้วย
* ไม่ควรปลูกเงาะอย่างเดียวล้วนๆเป็นแปลงขนาดใหญ่ แต่ให้ปลูกร่วมหรือแซมสลับกับไม้ผลอย่างอื่นที่มีนิสัยออกดอกติดผลปีละรุ่นและช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะไฟ เป็นต้น
* ช่วงไม่มีผลอยู่บนต้น หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วถึงเข้าสู่ฤดูการบำรุงเพื่อเอาผลผลิต ซึ่งบนต้นจะว่างเปล่า ให้บำรุงต้นด้วย “ฮอร์โมนน้ำดำ” อย่างสม่ำเสมอ 1-2 เดือน /ครั้ง จะช่วยให้ต้นมีความสมบูรณ์สูง พร้อมสำหรับการบำรุงเพื่อเอาผลผลิตรุ่นต่อไปดี
* ให้ อีเทฟอน 50 มก./น้ำ 20 ล. หรือจิ๊บเบอเรลลิน 25 กรัม/น้ำ 20 ล.
ฉีดพ่นพอเปียกใบทั่วต้น 1 รอบ ช่วงผลเริ่มเปลี่ยนสี จะช่วยบำรุงให้สีเปลือกผลสม่ำเสมอกันทุกผลโดยไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพ
* เงาะในเขตภาคตะวันออก จะออกดอกเดือนช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. และผลแก่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. เงาะภาคใต้ออกดอกช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. และผลแก่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ส่วนเงาะภาคอิสานออกดอกช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. และผลแก่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.
สายพันธุ์
โรงเรียน (ดีที่สุด). บางยี่ขัน. ทองเมืองตราด. สายหมอก.....ส่วนเงาะพันธุ์อากร. สีนาก. ตาวี. เจ๊ะมง. และปีนังเบอร์ 4. ปัจจุบันนี้ไม่นิยมปลูก
การขยายพันธุ์
เงาะจัดเป็นไม้ผลที่ขึ้นได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น เช่นจังหวัดในทางภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด และในเขตจังหวัดภาคใต้ เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี พันธุ์เงาะที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ พันธุ์สีชมพู และโรงเรียน เนื่องจากเงาะเป็นพืชที่ต้องการผสมข้าม ด้วยเหตุผลนี้ต้นเงาะที่ได้จากการเพาะเมล็ดจึงมีการกลายพันธุ์ ดังนั้นวิธีการเพาะเมล็ดจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นตอสำหรับการติดตา ต่อกิ่ง และทาบกิ่ง
การเพาะเมล็ด
เมื่อแกะเมล็ดออกจากเนื้อควรนำไปเพาะทันที เมล็ดจะงอกสูงถึง 87-95 เปอร์เซ็นต์ หากเก็บไว้นาน การงอกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าเก็บนานเกิน 1 สัปดาห์ การงอกเหลือเพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์ การเพาะเมล็ดอาจเพาะในภาชนะหรือในแปลงวัสดุที่ใช้เพาะคือผสมขี้เถ้าแกลบอัตราส่วน 1:1 ในกรณีเพาะลงถุงใช้ถุงละ 1-2 เมล็ด ส่วนการเพาะในแปลงควรวางเมล็ดให้มีระยะห่าง(ในกรณีที่ทำการติดตาในแปลง) พอที่จะปฏิบัติงานได้สะดวกหลังเพาะเมล็ดได้ 9-19 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก
เมล็ดเงาะบางพันธุ์ทำการแยกเนื้อออกได้ยากหรือเมื่อทำมากๆต้องสิ้นเปลืองเวลาเพื่อการแยกเอาเนื้อออก สำหรับเทคนิคในการที่จะทำให้เนื้อแยกออกจากเมล็ดได้ง่าย สามารถทำได้คือ แช่เมล็ดที่มีเนื้อติดในกรดเกลือเข้มข้นเป็นเวลานาน 10 นาที จากนั้นนำเมล็ดมาแช่ในน้ำไหลวิธีนี้สามารถทำให้แกะเอาเนื้อออกจากเมล็ดได้รวดเร็วและง่ายกว่าเมล็ดที่ไม่ได้แช่น้ำกรด
การปักชำ
ยังไม่ปรากฏรายงานผลสำเร็จจากการปักชำเงาะที่พอจะทำเป็นการค้าได้
การตอนกิ่ง
วิธีตอนกิ่งในเชิงการค้านั้น ไม่นิยมทำเนื่องจากกิ่งตอนไม่มีระบบรากแก้ว นอกจากนั้นยังสิ้นเปลืองกิ่งเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานถึงการตอนกิ่งซึ่งทำในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และศรีลังกา วิธีทำโดยเลือกกิ่งที่มีอายุประมาณ 12-18 เดือน จะเป็นกิ่งที่เกิดรากได้ดี รากจะเกิดประมาณ 6-12 สัปดาห์ ภายหลังการตอนกิ่ง
การเสียบกิ่ง
แม้จะเป็นการขยายพันธุ์ที่ไม่ค่อยนิยมมากแต่ก็สามารถทำได้ โดยวิธีการเสียบกิ่งแบบเสียบเปลือก ต้นตอที่ใช้ควรมีอายุประมาณ 4-12 เดือน และสามารถลอกเปลือกได้ดี การเตรียมรอยแผลของต้นตอ ทำโดยกรีดต้นตอเป็น 2 รอย ขนานกับลำต้นยาวประมาณ 1 นิ้วลอกเปลือกออก และตัดเปลือกออกบางส่วน การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี เลือกกิ่งพันธุ์ดีที่มีความยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ริบใบออกให้หมด ทำการเฉือนตรงโคนกิ่งเป็นรูปคล้ายปากฉลามยาวประมาณ 1 นิ้ว และเฉือนด้านตรงข้ามยาวประมาณ 0.5 นิ้ว สอดรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดีลงในรอยแผลของต้นตอพันด้วยพลาสติก จากนั้นนำถุงพลาสติกคลุมที่ยอด ในกรณีที่ทำมากๆ ควรนำใส่ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ เก็บไว้ในร่มประมาณ 30 วัน รอยแผลจะประสานกันสนิททำการเปิดถุงพลาสติก
การทาบกิ่ง
การเตรียมต้นตอโดยเฉพาะเมล็ดลงในถุงพลาสติก หรือเมื่อต้นตออายุได้ประมาณ 1 ปีอาจย้ายปลูกแบบเปลือยรากในถุงที่มีเครื่องปลูกเบาๆ เนื่องจากวิธีการทาบกิ่งเงาะจะทำการทาบกิ่งคล้ายมะขาม คือนำถุงต้นกล้าขึ้นไปทาบบนต้นและต้องใช้ไม้ค้ำยันผูกยึดกิ่งทาบ วิธีการนี้ต้องคอยหมั่นรดน้ำต้นตออยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย
ที่มา :
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 0-53873938-9
ระยะปลูก
- ระยะปกติ 8 X 8 ม. หรือ 8 X 10 ม.
- ระยะชิด 4 X 4 ม. หรือ 6 X 6 ม.
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ:
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- เงาะออกดอกจากซอกใบปลายกิ่งอายุข้ามปี การตัดแต่งกิ่งประจำปีหรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตัดเฉพาะกิ่งที่ออกดอกติดผลเพื่อสร้างใบใหม่สำหรับให้ออกดอกติดผลในปีต่อไป ส่วนกิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลในปีนี้ให้คงไว้แล้วบำรุงต่อไป
- ต้นอายุต้นยังน้อยไม่เกิน 5 ปีตั้งแต่เริ่มปลูกให้ตัดแต่งกิ่งปกติ แต่ต้นที่อายุ 5 ขึ้นไป ต้นใหญ่หรือทรงพุ่มแน่นทึบให้ตัดแต่งกิ่งแบบทำสาวโดยเหลือกิ่งกับใบเลี้ยงต้นไว้เพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ กิ่งที่แตกใหม่จะให้ผลผลิตในปีรุ่งขึ้น (เงาะออกดอกติดผลจากกิ่งข้ามปี) และคุณภาพดี จากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งแบบทำสาวทุก 5 ปีหรือเมื่อต้นใหญ่ทรงพุ่มแน่นทึบ
- ตัดแต่งกิ่งปกติควรตัดให้เหลือใบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และเมื่อใบอ่อนชุดใหม่ออกมาแล้วให้มีใบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะช่วยให้การผลิดอกติดผลดี
- ตัดกิ่งยอดประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
- ตัดกิ่งที่บังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำให้ทรงพุ่มโปร่งจนแสงแดดสามารถส่องได้ถึงทุกกิ่งทั่วทรงพุ่ม กิ่งที่ได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
- นิสัยเงาะมักออกดอกหลังจากกระทบหนาวได้ระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงควรตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น หมายความว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วยังไม่ต้องตัดแต่งกิ่งแต่ให้บำรุงตามปกติต่อไปก่อน จนกระทั่งเข้าสู่หน้าฝนจึงลงมือตัดแต่งกิ่ง
ตัดแต่งราก :
- เงาะที่ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งรากแต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นให้ใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม.หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม