ที่มา: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=mydaddyhero&date=27-07-2005&group=4&gblog=1
ตะลิงปลิง
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นสูงเต็มที่ 5-7 ม. ทรงพุ่มโปร่งและแตกกิ่งก้านเหมือนมะเฟือง ปลูกได้ทุกพื้นที่ ทุกภาค และทุกฤดูกาล ชอบดินเหนียวร่วน มีอินทรีย์วัตถุมากๆ ต้องการความชื้นสูง เจริญเติบดีในพื้นที่มีน้ำตลอดปีเหมือนมะพร้าว ตาล จาก เช่น ริมคลอง
* ปลูกบนที่ดอนเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งจะผลัดใบพักต้น เมื่อได้ฝนก็จะแตกใบอ่อนพร้อมกับออกดอก ส่วนแปลงที่ได้รับน้ำตลอดปี หลังตัดแต่งกิ่งแล้วแตกใบอ่อนก็จะมีดอกออกมาแบบไม่มีฤดูกาล
* ออกดอกติดผลตลอดปีละรุ่น โดยออกดอกช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ผลแก่เก็บเกี่ยวช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. พร้อมกับมะม่วงปี แต่ถ้าได้บำรุงแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องหลายๆปีก็จะออกดอกติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่นได้
* เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุต้น 2 ปีหลังปลูก
* ออกดอกติดผลที่กิ่งแก่และลำต้นเหมือนมะเฟือง ดอกสีชมพูสวยมาก เป็นดอกสมบูรณ์เพศผสมตัวเองหรือต่างดอกต่างต้นได้
* อายุผลผลิตตั้งแต่ออกดอก ถึง เก็บเกี่ยว 75 วัน
* รสเปรี้ยวจัดกว่ามะนาวมาก
สายพันธุ์
นิยมปลูกเพียงสายพันธุ์เดียว คือ พันธุ์พื้นเมือง
การขยายพันธุ์
ตอน (ดีที่สุด). ทาบกิ่ง. เสียบยอด. เพาะเมล็ด (ไม่กลายพันธุ์).
ระยะปลูก
- ระยะปกติ 4 X 4 ม. หรือ 6 X 6 ม.
- ระยะชิด 2 X 2 ม. หรือ 2 X 4 ม.
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- ตะลิงปลิงเป็นไม้ทิ้งกิ่งเองเมื่อกิ่งใดแก่ก็จะแห้งแล้วหลุดร่วงได้เอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุง อย่างไรก็ตามการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนย่อมได้ผลดีกว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ นั่นคือ การตัดแต่งกิ่งก็ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอยู่
- ตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
- ตัดกิ่งทิ้งเพื่อไม่ให้แตกยอดใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
- ถ้าต้องการควบคุมขนาดทรงพุ่มก็ต้องตัดกิ่งแก่ กรณีนี้ให้บำรุงต้นก่อนแล้วลงมือตัดได้เลย กิ่งแก่ใดที่มีใบและกิ่งแขนงติดอยู่มาก หลังจากตัดปลายกิ่งแก่จนเป็นกิ่งด้วนไปแล้วมักมีดอกออกมาตามซอกใบด้วยเสมอ ซึ่งถ้าต้นสมบูรณ์ดีจริงๆจะมีดอกมากกว่าการตัดปลายกิ่งอ่อนด้วยซ้ำ
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยการออกออกดอกของตะลิงปลิงไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว การตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ดีกว่ากว่าตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ตัดแต่งราก :
- ระยะที่ต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อตะลิงปลิง
(ให้ได้ผลผลิตรุ่นเดียวกันทั้งต้น)
1.เรียกใบอ่อน
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + 25-5-5 (200 กรัม) หรือ 46-0-0 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง+ จิ๊บเบอเรลลิน 10 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1 ครั้งต่อการเรียกใบอ่อน 1 ชุดฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- ลงมือปฏิบัติทันทีหลังตัดแต่งกิ่งและตัดแต่งรากเสร็จ
- หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 5-7 วัน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม เพราะถ้าต้นแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นจะส่งผลเสียหลายอย่างตั้งแต่การเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ การสะสมอาหารเพื่อการออก การปรับ ซี/เอ็น เรโช. การเปิดตาดอก ซึ่งจะออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น และเมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลไม่พร้อมกันทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมาก....แนวทางแก้ไข คือ ต้องบำรุงเรียกใบอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้
- ต้นที่ตัดแต่งกิ่งออกมากๆ (มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) ควรเรียกใบอ่อน 2 ชุด ส่วนต้นที่ตัดแต่งกิ่งออกไม่มาก (ประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์) เรียกใบอ่อน 1 ชุดก็พอ
- ตะลิงปลิงเป็นไม้ผลประเภททิ้งกิ่งเองการตัดแต่งกิ่งควรทำเฉพาะเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่มเท่านั้น
2.เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 + 0-21-74 (200 กรัม) หรือ 0-39-39 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำตามปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- ลงมือปฏิบัติเมื่อใบเริ่มแผ่กางรับแสงแดดได้
- วัตถุประสงค์เพื่อเร่งใบชุดใหม่ให้สามารถสังเคราะห์อาหารได้ และเร่งระยะเวลาเรียกใบอ่อนชุดต่อไปได้เร็วขึ้น กับทั้งเพื่อให้ใบอ่อนรอดพ้นจากทำลายของแมลงปากกัดปากดูด
- สารอาหารในกลุ่มเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่มีฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม. นอกจากช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่แล้วยังช่วยเสริมประสิทธิภาพขั้นตอนสะสมอาหารเพื่อการออกดอกได้ด้วย
- ต้นที่สะสมความสมบูรณ์เต็มที่มานานหลายปีติดต่อกัน หลังจากใบอ่อนเริ่มแผ่กางแล้วสามารถข้ามขั้นตอนการบำรุงไปสู่ขั้นตอนเปิดตาดอกได้เลย ทั้งนี้ฟอสฟอรัส.กับโปแตสเซียม. นอกจากช่วยเร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ได้แล้วยังช่วยเปิดตาดอกได้อีกด้วย
3.สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 8-24-24 (1-2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มปฏิบัติเมื่อใบเพสลาด
- แนวทางบำรุงให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อการออกดอกไว้มากที่สุดควรเตรียมแผนใช้เวลาบำรุง 2 เดือน โดยให้กลูโคสหรือนมสัตว์สดรอบแรกเมื่อเริ่มลงมือบำรุง และให้รอบสองห่างจากรอบแรก 20-30 วัน
- วัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นได้สะสมสารอาหารทั้งกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.) และกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้นไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งเกิดอาการอั้นตาดอก ไม่มีการแตกใบอ่อนออกมาอีก ถ้าต้นแตกใบอ่อนออกมาใหม่ก็จะต้องย้อนกลับไปบำรุงที่ขั้นตอนเร่งใบ
อ่อนให้เป็นใบแก่อีกครั้งซึ่งทำให้เสียเวลา
- เพื่อให้ต้นได้มีการสะสมอาหารเพื่อการออดอกมากยิ่งขึ้น แนะนำให้ใส่มูลค้างคาว 100-200 กรัม/ต้นทรงพุ่ม 5 ม. ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นบริเวณชายพุ่มจะเป็นการดียิ่งขึ้น.....ใช้มูลค้างคาวด้วยความระมัดระวังเพราะในมูลค้างคาวมีสารอาหารในการสร้างเมล็ด อาจมีผลกระทบช่วงบำรุงผลกลาง (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ) ได้
- ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงขั้นต่อไป คือ ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ให้ทบทวนความทรงจำเมื่อครั้งเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นหรือไม่ ถ้าใบอ่อนออกมาพร้อมกันดีทั่วทั้งต้นให้ปรับ ซี/เอ็น เรโช.ต่อไปได้เลย แต่ถ้าใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันเป็นชุดเดียวทั่วทั้งต้นและค่อนข้างต่างรุ่นกันมากก็ให้บำรุงสะสมอาหารเพื่อการออกดอกต่อไปอีก 2-3 รอบ เพื่อรอให้ใบอ่อนชุดหลังสะสมอาหารจนอั้นตาดอกดีเท่ากับใบอ่อนชุดแรกจากนั้นจึงลงมือ
ปรับ ซี/เอ็น เรโช. ทั้งนี้วัตถุประสงค์เพื่อทำให้มีดอกออกมาพร้อมกันเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้นนั่นเอง
4.ปรับ ซี/เอ็น เรโช
ทางใบ :
- ในรอบ 7-10 วันให้น้ำ 100 ล. + 0-42-56 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ ระวังอย่าให้ลงถึงพื้น
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
งดน้ำ เปิดหน้าดินโคนต้น
หมายเหตุ :
- ลงมือปฏิบัติเมื่อสังเกตเห็นความสมบูรณ์ของต้นชัดเจน
- ต้นที่มีอาการอั้นตาดอกดีจนพอใจแล้วไม่ต้องฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์สดเพิ่มอีกแต่ถ้าต้นมีอาการอั้นตาดอกไม่ดีหรือยังไม่น่าพอใจ แนะนำให้ฉีดพ่นกลูโคสหรือนมสัตว์ทางใบอีกซ้ำอีก 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาให้ห่างจากที่เคยให้เมื่อช่วงสะสมอาหารไม่น้อยกว่า 30-45 วัน
- วัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่ม” ปริมาณสารอาหารกลุ่มสร้างดอก-บำรุงผล (ซี.)และ “ลด” ปริมาณสารอาหารกลุ่มสร้างใบ-บำรุงต้น (เอ็น.) จนทำให้ ซี.มากว่า เอ็น. ซึ่งจะส่งผลให้เปิดตาดอกได้ง่าย
5.เปิดตาดอก
ทางใบ :
- ในรอบ 7-10 วันให้น้ำ 100 ล. + ไธโอยูเรีย (500 กรัม) หรือ 0-52-34 (500 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1 รอบกับให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี. + สาหร่ายทะเล 50 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. อีก 1 รอบ ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้นหรือพอให้ต้นได้รู้สึกตัว
หมายเหตุ :
- ลงมือปฏิบัติเมื่อต้นมีอาการอั้นตาดอกทั่วทั้งต้นหรือทุกจุดที่สามารถออกดอกได้
- อาจจะพิจารณาใส่ 8-24-24 (100-200 กรัม)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.อีก 1 รอบก็ได้ด้วยการละลายน้ำรดโคนต้นพอหน้าดินชื้นเพื่อเสริมของเก่าที่ใส่เมื่อช่วงสะสมอาหารและช่วงที่ปรับ ซี/เอ็น เรโช.
- หลังจากเปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากพอ สาเหตุมาจากตั้งแต่ช่วงเรียกใบอ่อนแล้วใบอ่อนออกมาไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้น ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้น ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ
6.บำรุงดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + 15-45-15 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + เอ็นเอเอ. 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรช่วงค่ำ ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 8-24-24 (½ กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ยังคงเปิดหน้าดินโคนต้น
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้น
หมายเหตุ :
- ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็น (ก้านดอกยาว 1-2 ซม.) หรือระยะดอกตูม บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1-2 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล
- ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
- บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้แบบเดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้
- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน
- ระยะดอกบานถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นทำให้ผสมไม่ติด แก้ไขโดยกะระยะเวลาบำรุงให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดิน ทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก.........มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก
7.บำรุงผลเล็ก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี. + ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน ฉีดพ่นทางใบพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- นำอินทรีย์วัตถุกลับเข้าคลุมโคนต้นพร้อมกับเสริมยิบซั่มธรรมชาติ อัตรา 1 ใน 10 ส่วนของครั้งที่ใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
- ให้น้ำแบบค่อยๆเพิ่มปริมาณน้ำทีละน้อยๆของการให้น้ำ 3-4 รอบเพื่อให้ต้นรู้ตัว
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อผลเท่าเมล็ดถั่วเขียว หรือหลังกลีบดอกร่วง
- ช่วงผลเล็กเริ่มโชว์รูปทรงผลแล้วให้ “น้ำ 100 ล.+ จิ๊บเบอเรลลิน 10 กรัม” ฉีดพ่น 1 รอบพอเปียกใบจะช่วยบำรุงผลไม่ให้เกิดอาการผลแตกผลร่วงตลอดอายุผลได้ดี
8.บำรุงผลกลาง
ทางใบ :
ให้น้ำ 100 ล. + 21-7-14 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม(100 ซีซี.) + ไคโตซาน 100 ซีซี. + แคลเซียม โบรอน 100 ซีซ๊.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อเปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มแข็ง (เข้าไคล)
- วัตถุประสงค์เพื่อขยายขนาดผลและลดขนาดเมล็ด (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ)
- ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน 1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก
9.บำรุงผลแก่
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + 0-0-50 (200 กรัม) หรือ 0-21-74 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. หรือ น้ำ 100 ล. + มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี. + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 13-13-21 หรือ 8-24-24 สูตรใดสูตรหนึ่ง (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ให้น้ำเพื่อละลายปุ๋ยแล้วงดน้ำเด็ดขาด
หมายเหตุ :
- เริ่มให้ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- การให้ 13-13-21 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลรุ่นเดียวกันทั้งต้น แต่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้นมักโทรมจึงต้องเร่งบำรุงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของต้น (เรียกใบอ่อน) กลับคืนมาโดยเร็วแล้วจึงเข้าสู่วงรอบการบำรุงใหม่
- การให้ 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นในต้นเดียวกันหรือประเภททะวายทยอยออก แบบไม่มีรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่จัดไปแล้วต้นไม่โทรม ใน 8-24-24 เป็นปุ๋ยประเภทสะสมอาหารเพื่อการออกดอก ซึ่งจะส่งผลให้กิ่งที่ยังไม่ออกดอกติดผลเกิดอาการอั้นแล้วออกดอกติดผลเป็นผลรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกได้
บำรุงตะลิงปลิงให้ออกดอกติดผลตลอดปี
ตะลิงปลิงออกดอกติดผลได้แบบไม่มีรุ่น หลังจากต้นได้อายุเริ่มให้ผลผลิตแล้วใช้วิธีบำรุงแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องติดต่อกันหลายๆปีและหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งเสมอก็จะมี ดอก + ผลหลายรุ่น ในต้นเดียวกัน จากนั้นให้ปฏิบัติบำรุง ดังนี้
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + ฮอร์โมนไข่ 200 ซีซี. +แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + สารสกัดสมุนไพร 200 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 7-10 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 3-5 วัน
ทางราก :
- ใส่ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 (1/2 กก.) 2 รอบ สลับกับ 21-7-14 (1/2 กก.) 1 รอบ ห่างกันรอบละ 20-30 วัน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- ให้แคลเซียม โบรอน. และฮอร์โมนน้ำดำ. 1-2 เดือน/ครั้ง ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ให้ฮอร์โมนสมส่วนเดือนละ 1 ครั้ง ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ให้ทางดินด้วยน้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์หน่อกล้วย 2-3 เดือน/ครั้ง
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/วัวนม + มูลไก่ไข่/ไก่เนื้อ + มูลค้างคาว) + ยิบซั่มธรรมชาติ 6 เดือน/ครั้ง
- ใส่กระดูกป่นปีละ 1 ครั้ง
- สวนยกร่องน้ำหล่อให้ลอกเลนก้นร่องขึ้นพูนโคนต้นปีละ 1 ครั้ง
************************************
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.