หน้า: 1/3
ที่มา : http://61.19.69.9/~purita/studentwork50/310b/28678/page%203%20fruiy%20real.html
ฝรั่ง
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ผลยืนต้นอายุหลายสิบปี ปลูกได้ทุกพื้นที่ของประเทศ เจริญเติบโตได้ดีในดินดำร่วน ดินปนทราย ดินปนลูกรัง มีอินทรีย์วัตถุมากๆ ระบายน้ำได้ดี ชอบความชื้นแต่ก็พอทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้บ้าง ต้องการแสงแดดร้อยเปอร์เซ็นต์
* ทนทานต่อสภาพ กรดจัด ถึง ด่างจัด ได้ดีกว่าไม้ผลอื่น แม้แต่พื้นที่ลักจืดลักเค็มก็สามารถออกดอกติดผลคุณภาพดีได้
* ต้นแก่อายุมากเริ่มให้ผลผลิตน้อยและคุณภาพด้อยแก้ไขได้ด้วยตัดแต่งกิ่งอย่างหนัก (ทำสาว) ทั้งกิ่งและราก
* ออกดอกติดผลได้ตลอดปีแบบไม่มีรุ่น ความดกหรือความไม่ดกขึ้นอยู่กับการบำรุงมากกว่าขึ้นอยู่กับสภาพอากาศหรือฤดูกาล
* ตอบสนองต่อสารอาหารพืชประเภททำเองดีมาก เช่น ปุ๋ยน้ำชีวภาพ. ฮอร์โมนไข่.ฮอร์โมนขยายขนาดสมส่วน. ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. ฮอร์โมนเร่งหวาน. ฮอร์โมนบำรุงราก. เป็นต้น
* เกษตรกรภาคเหนือนิยมเพาะเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้นตอก่อน บำรุงเลี้ยงต้นกล้าจนได้ขนาดโตเท่าแท่งดินสอดำจึงเสริมราก จากนั้นเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดีตามต้องการ บางครั้งใช้ยอดแป้นสีทองเปลี่ยนให้กับตอแป้นสีทองก็มี ทั้งนี้เพราะต้องการให้ฝรั่งต้นนั้นมีรากแก้วซึ่งสามารถหาอาหารได้เก่งและมีอายุยืนนานกว่ากิ่งตอนธรรมดาๆซึ่งมีแต่รากฝอย........จากวิธีการเพาะตอเสริมรากแล้วเปลี่ยนยอดนี้หากใช้ฝรั่งพื้นเมือง (ฝรั่งขี้นก) เป็นต้นตอจะได้ต้นที่มีระบบรากดีกว่าตอแป้นสีทอง
* แปลงปลูกแบบยกร่องน้ำหล่อมักอายุต้นไม่ยืนนาน ประมาณ 4-5 ปีต้นจะโทรม เพราะรากที่เจริญยาวไปถึงน้ำในร่องแล้วปลายรากเน่านั่นเอง ในขณะที่แปลงปลูกแบบพื้นราบหรือยกร่องแห้งลูกฟูก ใส่อินทรีย์วัตถุพูนโคนต้นล่อรากขึ้นมาอยู่บริเวณผิวหน้าดินจะมีอายุยืนนานกว่ามาก
* ผลเกิดที่ด้านบนของกิ่ง เมื่อโตขึ้นน้ำหนักผลจะรั้งตัวเองให้ลงไปอยู่ใต้กิ่ง ขั้วผลจึงคดงอส่งผลให้น้ำเลี้ยงส่งไปไม่สะดวก ทำให้ผลด้านบนของกิ่งไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แก้ไขโดยใช้เชือกผูกถุงห่อผลแล้วยกขึ้นเพื่อไม่ให้ขั้วคดงอก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่หากกิ่งนั้นมีผลหลายผลแนะนำให้เด็ดผลด้านบนกิ่งทิ้งไปเหลือเฉพาะผลใต้กิ่งจะทำให้ผลใต้กิ่งได้รับน้ำเลี้ยงเต็มที่
* ทรงผลไม่สวยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผิวไม่เรียบหรือขรุขระเกิดจากได้รับไนโตรเจนมากเกินไป........ขั้วหรือจุกสูงเกิดจากได้รับแคลเซียมมากเกินไป......ทรงผลแป้นไม่สม่ำเสมอหรือบิดเบี้ยวเกิดจากได้รับฮอร์โมนขยายขนาดผิดอัตราส่วนหรือไม่ได้รับเลย หรือเกิดจากเกสรที่ไม่สมบูรณ์ผสมกัน หรือได้รับจิ๊บเบอเรลลินมากเกินไป
* คุณภาพเนื้อไม่ดีเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เนื้อหยาบเกิดจากได้รับแคลเซียมน้อยเกินไป...เปลือกสีเขียวหนาเกิดจากได้รับโปแตสเซียมช่วงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวน้อย...ไส้หลวมหรือเป็นโพรงเกิดจากได้รับแคลเซียมน้อย...เมล็ดมากเกิดจากได้รับสังกะสีมากเกินหรือบำรุงด้วยสูตร "หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ" ผิดจังหวะหรือไม่ได้ใช้เลย.....รสจืดเกิดจากช่วงผลแก่ได้รับน้ำมากเกิน....เปลือกและเนื้อส่วนติดเปลือกแข็งกระด้างเกิดจากได้รับธาตุหลักไม่เพียงพอ
* การบำรุงแบบให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องตลอดหลายๆปีส่งผลให้ต้นสมบูรณ์เต็มที่ เมื่อโน้มระนาบกิ่ง แล้วตัดปลายกิ่งใดก็จะมียอดพร้อมกับดอกแตกออกมาตามข้อทันทีโดยไม่ต้องเปิดตาดอก แบบนี้จึงทำให้ฝรั่งออกดอกติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่นได้ กิ่งใดมีผลขนาดใหญ่อยู่ก่อนแล้วโอกาสออกดอกใหม่ซ้อนขึ้นมาอีกในกิ่งเดียวกันนั้นค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนระหว่างสารอาหาร "กลุ่มสร้างดอกบำรุงผล" กับ "กลุ่มสร้างใบบำรุงต้น" เป็นหลัก กรณีมีผลหลายรุ่นเช่นนี้หากต้องการเก็บผลไว้ทั้งหมดหรือมากๆก็ให้พิจารณาตำแหน่งของการติดผล โดยให้มีใบอยู่ระหว่างผลต่อผล 3-5 ใบ ส่วนการบำรุงดอกที่ออกซ้อนมานั้นไม่ต้องเน้นบำรุงดอกเป็นการเฉพาะ แต่ให้บำรุงผลด้วยสารอาหารสูตร บำรุงผลต่อตามปกติ
* ช่วงต้นเล็ก – ต้นโตให้ผลผลิตแล้วตอบสนองต่อฮอร์โมน "เอ็นเอเอ." ดีมาก ถ้าต้นได้รับ เอ็นเอเอ.ทุก 10-14 วันจะช่วยให้ต้นโตเร็ว สมบูรณ์ ดังนั้นจึงควรให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.สม่ำเสมอ ยกเว้นช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวให้งด เอ็นเอเอ. แล้วให้ธาตุรอง/ธาตุเสริมแทนเพื่อปรับปรุงคุณภาพผลก่อนเก็บเกี่ยว
* ระยะดอก–ผลเล็ก ให้ "ฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลลิน" 2-3 รอบ จะช่วยให้มีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลยและเป็นเมล็ดขนาดเล็ก หรือใช้จิ๊บเบอเรลลิน อัตรา 10 กรัม/น้ำ 1 ล. ป้ายที่ก้านเกสรตัวเมีย (ตัดก้านเกสรตัวผู้แล้ว) 1 ครั้ง เมื่อฝรั่งผลนั้นโตขึ้นจะไม่มีเมล็ดแต่รูปทรงผลอาจจะบิดเบี้ยว
* ดอกฝรั่งมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียว ผสมกันเองหรือต่างดอกต่างต้นได้
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์ เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมน หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) ผสมกัน แล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
* อายุผลตั้งแต่ผสมติดถึงเก็บเกี่ยว 5 เดือน ถ้าบำรุงฝรั่งให้ได้ผลผลิตเป็นรุ่นเดียวพร้อมกันทั้งต้นก็จะได้ปีละ 2 รุ่น
* ฝรั่งออกดอกติดผลได้แบบไม่มีรุ่นและฤดูกาล การบำรุง "ดอก + ผลเล็ก + ผลกลาง + ผลแก่" ในต้นเดียวกันนั้นไม่จำเป็นต้อง "เร่งหวาน" ให้กับผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะเพราะรสชาติของฝรั่งไม่จำเป็นต้องหวานจัดเหมือนมะม่วงหรือลำไย แต่ต้องการหวานเล็กน้อยอมเปรี้ยวนิดหน่อย และต้องการเนื้อกรอบนิ่มกลิ่นหอมมากกว่า ดังนี้ จึงขอแนะนำให้บำรุงไปตามปกติ ผลไหนแก่ก่อนให้เก็บก่อนผลไหนแก่ทีหลังก็ให้เก็บทีหลัง
* ฝรั่งตอบสนองต่อ "ยิบซั่มธรรมชาติ" ดีมาก แนะนำให้ใส่ปีละครั้งหรือแบ่งใส่ 2 ครั้ง/ปี ครั้งละ ½ - 1 กก./ต้น/6 เดือน (ทรงพุ่ม 3 ม.) จะช่วยสร้างและบำรุงเนื้อให้คุณภาพดีขึ้น....แต่กระดูกป่นแม้จะเป็นตัวเสริมในการสร้าง ซี/เอ็น เรโช. ช่วยให้ออกดอกติดผลดีและต้นมีความสมบูรณ์สูง แต่หากต้นได้รับมากเกินไปจะทำให้ผิวเปลือกหนาสีเขียวจัดดูแล้วไม่น่ารับประทาน จึงแนะนำให้ใส่แต่น้อย
* ระบบรากตื้นหาอาหารบริเวณผิวหน้าดินลึกไม่เกิน 20 ซม. ช่วงต้นเล็กไม่ควรพรวนดินโคนต้น แต่ต้นอายุมาก (5-6 ปีขึ้นไป) และทรงพุ่มขนาดใหญ่มากต้องตัดแต่งรากและตัดแต่งกิ่งแบบทำสาว
* วิธีการพูนดินโคนต้นด้วยอินทรีย์วัตถุปีละ 1 ครั้ง จะช่วยให้ต้นสร้างรากใหม่ดูดซับสารอาหารได้ดีและมากขึ้น
* ฝรั่งออกดอกติดผลจากซอกใบของยอดแตกใหม่ในกิ่งที่ระนาบกับพื้นระดับเสมอ จากลักษณะทางธรรมชาติการออกดอกนี้ จึงสามารถบังคับให้ฝรั่งออกดอกด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
วิธีที่ 1.....บังคับแบบให้ออกเองตามธรรมชาติ
โน้มกิ่งประธานทุกกิ่งในต้นให้เอนลงระนาบกับพื้นระดับ แล้วผูกยึดติดกับหลักโดยไม่ต้องตัดแต่งกิ่ง
วิธีที่ 2.....บังคับแบบเร่งให้ออกเร็วขึ้น
โน้มกิ่งประธานเฉพาะกิ่งที่ต้องการให้ออกดอกติดผลลงระนาบกับพื้นระดับ แล้วผูกยึดติดกับหลักหรือไม้ค้ำกิ่ง เด็ดยอด ณ ใบคู่ที่ 4 ด้วยกรรไกคมๆ เหนือข้อประมาณ 2-3 ซม. วิธีนี้ฝรั่งจะแตกยอดแล้วออกดอกตามมาเร็วกว่าวิธีที่ 1
วิธีที่ 3.....บังคับให้ออกเฉพาะกิ่ง
โน้มกิ่งประธานเฉพาะกิ่งที่ต้องการให้ออกดอกติดผลลงระนาบกับพื้นไม่ต้องตัดยอดเหมือนวิธีที่ 1 เสร็จแล้วฉีดพ่นด้วยน้ำ 100 ล. + 46-0-0 (250 กรัม) เฉพาะกิ่งโน้มลงระนาบกับพื้นเพื่อล้างใบให้ร่วง หลังจากใบร่วงแล้วเริ่มบำรุงเรียกยอดชุดใหม่ซึ่งที่ยอดแตกใหม่นี้จะมีดอกออกตามมาด้วย
วิธีที่ 4......บังคับให้ออกพร้อมกันทั้งต้น
โน้มกิ่งประธานทุกกิ่ง (ทั้งต้น) ลงระนาบกับพื้นแล้วตัดยอดทุกยอด ณ ใบข้อที่ 4 เหมือนวิธีที่ 2 แล้วบำรุงเรียกยอดใหม่ วิธีนี้จะทำให้ฝรั่งแตกยอดใหม่และมีดอกออกมาพร้อมกันทั้งต้น เป็นการบังคับให้ฝรั่งติดผลเป็นรุ่นเดียวกันทั้งหมด
วิธีที่ 5......บังคับแบบตัดกิ่งแก่
ต้นอายุมาก กิ่งแก่ขนาดใหญ่และทรงพุ่มขนาดใหญ่เกินจำเป็น เริ่มด้วยบำรุงต้น โน้มกิ่งแก่ลงระนาบกับพื้นแล้วตัดกิ่งแก่นั้น ณ ความยาวตามต้องการ (ความยาวกิ่ง คือ รัศมีทรงพุ่ม) ตัดกิ่งแล้วเด็ดใบที่เกิดจากกิ่งแก่ทิ้งทั้งหมดหรือคงไว้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีกิ่งแขนงให้ตัดปลายกิ่งแขนงหรือตัดทิ้งไปเลยก็ได้ จากนั้นบำรุงเรียกยอดใหม่ เมื่อยอดออกมาจากข้อใบเดิมพร้อมกับมีดอกออกมาด้วย ดอกผลที่เกิดจากกิ่งแก่นี้จะดกและคุณภาพผลดีกว่ากิ่งอ่อน
สายพันธุ์
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาใหม่จำนวนมาก มีทั้งพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศ (จีน เวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน อินโดเนเซีย) โดยตรง พันธุ์เกิดใหม่จากการผสมระหว่างสายพันธุ์ต่างประเทศด้วยกัน และพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามไปข้ามมาระหว่างพันธุ์ต่างๆที่เกิดใหม่ เพื่อให้ได้พันธุ์ดีที่สุด ทั้งเพื่อการบริโภคสดและการแปรรูป
สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ กลมสาลี่. บางกอกแอ๊ปเปิ้ล. เย็น-2. เด่นขุนวัง (เมล็ดน้อย). แป้นสีทอง. กลมสาลี่. สาลี่ทอง (ไร้เมล็ด). ฝรั่งแดง (ไส้แดง). เวียดนาม. เจินจู. ขาวเมืองชล. ขาวบุญสม. เพชรจินดาทอง (เมล็ดน้อย). แป้นไร้เมล็ด (เมล็ดน้อย). ทูลเกล้า. โบรมองต์ (ไส้แดง). กุดจับ-1.
เตรียมกิ่งพันธุ์
- เลือกต้นกล้ากิ่งตอนมาจากกิ่งกระโดงเท่านั้น อายุกิ่งกลางอ่อนกลางแก่ ช่วงข้อหรือปล้องยาวตั้งตรง แตกใบอ่อนในถุงอนุบาลมาแล้ว 2-3 ชุด มีรากเจริญยาวทะลุออกมานอกถุงให้เห็นจำนวนมาก
- ระยะกล้าหรือระยะต้นเล็ก กิ่งพันธุ์ฝรั่งมีลักษณะคล้ายกันมากจนแยกสายพันธุ์ไม่ออก การที่จะได้พันธุ์แท้จริงๆ จะต้องใช้ดุลยพินิจและพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเท่านั้น
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ให้กลูโคสเฉพาะช่วงสำคัญ เช่น เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ สะสมอาหาร บำรุงผลกลาง ช่วงละ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 20-30 วัน.....ถ้าให้บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นเกิดอาการนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อสารอาหารหรือฮอร์โมนใดๆทั้งสิ้น
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
ต้นที่มีกิ่งมากจนทรงพุ่มแน่นทึบ ให้ตัดแต่งกิ่งบังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออกทิ้งไปจนเหลือประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือเลือกเฉพาะกิ่งที่เหมาะสมต่อการออกดอกติดผลไว้เท่านั้น เมื่อเลือกเก็บกิ่งไหนไว้ได้แล้วให้โน้มกิ่งนั้นลงระนาบกับพื้น ผูกรัดกับไม้ค้ำ แล้วเด็ดยอด ณ ข้อใบที่ 4
- ฝรั่งออกดอกจากซอกใบปลายกิ่งแตกใหม่เสมอ
- ตัดกิ่งบังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำทรงพุ่มให้โปร่งแสงแดดสามารถส่องได้ถึงทุกกิ่งทั่วทรงพุ่ม กิ่งได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
- ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค และกิ่งที่ออกดอกติดผลแล้วเพื่อเรียกยอดใหม่สำหรับออดอกติดผลในรุ่นปีต่อไป การตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
- ตัดแต่งกิ่งปกติควรตัดให้เหลือใบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และเมื่อใบอ่อนชุดใหม่ออกมาแล้วให้มีใบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะช่วยให้การผลิดอกติดผลดี
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยการออกดอกของฝรั่งไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงจะดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ตัดแต่งราก :
- ระยะต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งรากแต่ให้ใช้วิธีการล่อราก ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ก่อนการตัดแต่งรากให้งดน้ำนาน 2 เดือนจนใบแก่ร่วงและใบอ่อนสลดแล้วขูดหน้าดินโคนต้นลึก 6 นิ้วเพื่อตัดรากฝอยที่ผิวหน้าดิน ทิ้งไว้ 1 อาทิตย์ จากนั้นนำดินที่ขูดออกมาผสมกับอินทรีย์วัตถุกลับเข้าคลุมโคนต้นอย่างเดิม คลุมให้หนากว่าเดิม 2-3 เท่า แผ่คลุมทั่วพื้นที่เขตทรงพุ่มถึงล้ำออกไปด้านนอก แล้วให้น้ำเต็มที่พร้อมกับให้ ปุ๋ย ฮอร์โมนบำรุงราก และจุลินทรีย์ ซึ่งหลังจากระดมให้น้ำ 2-3 สัปดาห์ไปแล้วฝรั่งจะแยกยอด
ใหม่พร้อมกับมีดอกออกมาจำนวนมาก
ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อฝรั่ง
(ให้ได้ผลผลิตเป็นรุ่นเดียวกันทั้งต้น)
1.เรียกใบอ่อน + เปิดตาดอก
ทางใบ :
สูตร 1.....ให้น้ำ 100 ล. + สาหร่ายทะเล 100 ซีซี. + ฮอร์โมนไข่ 100 ซีซี.+ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
สูตร 2...ให้น้ำ 100 ล.+13-0-46 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.
เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่งหรือทั้งสองสูตรแบบสลับครั้งกัน ห่างกันครั้งละ 5-7 วันด้วยการฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 (½-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มให้หลังจากโน้มกิ่ง-ตัดยอด
- ฝรั่งไม่จำเป็นต้องเร่งใบอ่อนให้เป็นใบแก่ เพราะธรรมชาติของฝรั่งเมื่อแตกใบอ่อนออกมาจะมีดอกออกตามมาด้วย
- เลือกใช้ให้ทางใบด้วยสูตรใดสูตรหนึ่งหรือใช้ทั้งสองสูตรแบบสลับครั้งกันก็ได้
- ปริมาณ 8-24-24 หรือ 9-26-26 ใส่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการติดผลในรุ่นที่ผ่านมา กล่าวคือ ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกมาก ผลผลิตมีคุณภาพดีมากให้ใส่ในปริมาณมากขึ้น แต่ถ้ารุ่นที่ผ่านมาติดผลดกน้อยหรือไม่ติดผลเลยให้ใส่ในปริมาณปานกลาง
- หลังจากเปิดตาดอกแล้ว ถ้าดอกออกมาไม่มากหรือยังมีซอกใบอีกหลายใบที่น่าจะออกดอกได้แต่ไม่ออก ระหว่างที่ดอกชุดแรกยังเป็นดอกตูมอยู่นั้นก็ให้เปิดตาดอกซ้ำอีก 1-2 รอบด้วยสูตรเดิม หรือจนกระทั่งดอกชุดแรกบานแล้วจึงยุติการเปิดตาดอกซ้ำ
2. บำรุงดอก
ทางใบ :
ให้น้ำ 100 ล. + 15-45-15 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 กรัม + เอ็นเอเอ. 100 ซีซี. + ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี. + สารสกัดสมุน
ไพร 250 ซีซี. ทุก 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
ทางราก :
- ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- ช่วงดอกตั้งแต่เริ่มแทงออกมาให้เห็นหรือระยะดอกตูม บำรุงด้วยฮอร์โมน เอ็นเอเอ. 1-2 รอบ จะช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสม แต่ต้องใช้ด้วยระมัดระวังเพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล
- ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน. 1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ผสมติดดี
- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน
- ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสรเปียกจนผสมไม่ติดได้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่นช่วงหลังค่ำ
- ระยะดอกบาน ถ้าตรงกับช่วงฝนชุกเกสรจะเปียกชื้นจนทำให้ผสมไม่ติด กรณีนี้แก้ไขโดยกะระยะเวลาบำรุงให้ดอกออกมาแล้วไม่ตรงกับช่วงฝนชุกเท่านั้น แต่ถ้าดอกออกมาตรงกับช่วงแล้งอากาศร้อนมากเกสรจะฝ่อทำให้ผสมไม่ติดเช่นกัน แก้ไขโดยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและที่พื้นดินในทั้งในแปลงปลูกและรอบๆแปลงปลูก......มาตรการบำรุงต้นและดอกให้สมบูรณ์อย่างแท้จริงอยู่เสมอจะช่วยลดความสูญเสียได้เป็นอย่างมาก
- เพื่อความมั่นใจในเปอร์เซ็นต์หรือประสิทธิภาพของฮอร์โมน เอ็นเอเอ. แนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.วิทยาศาสตร์แทนฮอร์โมน เอ็นเอเอ.ทำเองซึ่งจะได้ผลกว่า
- ฉีดพ่นสารอาหารเพื่อบำรุงดอกด้วยเครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุดตามความเหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก ฉีดพ่นที่ช่อดอกโดยตรงพอเปียกหรือฉีดพ่นให้ทั่งทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
- บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ด้วยวิธีให้เดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้
- การไม่ใช้สารเคมีเลยติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะมีผึ้งหรือแมลงธรรมชาติอื่นๆเข้ามาช่วยผสมเกสรส่งผลให้ติดผลดกขึ้น
3.บำรุงผลเล็ก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + 21-7-14 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. +แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบ ทุก 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ 10% ของอัตราการใส่เมื่อช่วงเตรียมดิน
- ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7 (1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ให้น้ำทุก 2-3 วัน
4. บำรุงผลกลาง
ทางใบ :
ให้น้ำ 100 ล. + 21-7-14 (200 กรัม) + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ฮอร์โมนไข่ 25 ซีซี.+ ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ฉีดพ่นพอเปียกใบทุก 5-7 วัน 2-3 รอบ
ทางราก :
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 21-7-14 หรือ 8-24-24 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำปกติทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- ให้ 21-7-14 เพื่อบำรุงผลให้มีขนาดใหญ่เหมาะสำหรับต้นที่มีผลรุ่นเดียวกันทั้งต้น.......ให้ 8-24-24 นอกจากเพื่อบำรุงผลให้มีขนาดใหญ่แล้วยังเสริมการสะสมตาดอกอีกด้วย จึงเหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นและช่วยให้มีดอกออกมาอีก หากต้องการทั้งบำรุงผลและสะสมตาดอกในเวลาเดียวกันต้องปรับวิธีให้โดยให้ 21-7-14 สองรอบแล้วให้ 8-24-24 หนึ่งรอบ แต่ละรอบห่างกัน 1 เดือน อัตราให้แต่ละรอบ 1/2 กก.
- ถ้าต้นติดผลดกมากควรให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน
1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมาก
5.บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล. + 0-21-74 (200 กรัม) หรือ 0-0-50 (200 กรัม) สูตรใดสูตรหนึ่ง + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. หรือ น้ำ 100 ล.+ มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี. + ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี. + สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 8-24-24 หรือ 13-13-21 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- งดน้ำ
หมายเหตุ :
- การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย 13-13-21 เหมาะสำหรับต้นทีผลรุ่นเดียวกันทั้งต้น หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วต้นมักโทรม ต้องบำรุงเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นเรียกความสมบูรณ์กลับคืนมาโดยเร็ว
- การบำรุงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวโดยให้ทางรากด้วย 8-24-24 เหมาะสำหรับต้นที่มีผลหลายรุ่นซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแก่รุ่นแรกไปแล้วจะช่วยบำรุงผลชุดหลังต่อได้ นอกจากนี้ยังทำให้ต้นไม่โทรมเหมาะสำหรับการเตรียมความพร้อมต้นต่อการปฏิบัติบำรุงรุ่นปีต่อไปอีกด้วย
- ให้ฮอร์โมนน้ำดำ กับ แคลเซียม โบรอน 1-2 เดือน/ครั้ง จะช่วยบำรุงให้ต้นไม่โทรมส่งผลให้คุณภาพผลผลิตดี