ชื่อสามัญ |
Manila Tamarind หรือ Madas Tamarind |
ชื่อวิทยาศาสตร์ |
Pithecellabium dulce, Baneth. |
ลักษณะต้น |
เป็นไม้เนื้อแข็ง มีหนามที่ลำต้น |
ใบ |
เล็ก สีเขียว บาง รูปร่างกลม-กลมรี |
ดอก |
เป็นช่อแบบแพนิเคิล (panicle) |
ออกดอก |
ประมาณเดือนตุลาคม ทยอยบานเรื่อย ๆ |
ผลแก่ |
ประมาณเดือนธันวาคม ต่อเนื่องไปจนถึงมีนาคม |
ลักษณะฝัก
|
โค้งเป็นวงกลม หรือเกือบวงกลม หรือโค้งเป็นวงแบบสปริง เปลือกฝักสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีชมพู-แดง-แดงเข้ม |
เนื้อฝัก |
สีขาว-สีชมพู-แดงเรื่อ ๆ |
เมล็ด |
เล็กสีดำ |
มะขามเทศ พืชเศรษฐกิจ 'ตัวใหม่ของเมืองแม่กลอง'
เกษตรกรในเมืองแม่กลอง พึ่งจะทดลองปลูกมะขามเทศ เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยการโค่นล้มมะพร้าวที่มีสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากน้ำเค็มรุกล้ำ ไม่สามารถผลิตน้ำตาลมะพร้าวได้ และพื้นที่ที่เป็นบ่อกุ้งเดิม ที่อดีตเคยเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำและเลิกลาไป จึงหันมาปลูกมะขามเทศทดแทน ส่วนมากนิยมปลูกในเขตอำเภอเมืองสมุทรสงคราม เช่น ที่ตำบลลาดใหญ่ และตำบลนางตะเคียน โดยที่ตำบลลาดใหญ่ปลูกประมาณ 200 กว่าไร่ และตำบลนางตะเคียนปลูกกันประมาณ 100 กว่าไร่
มะขามเทศที่นิยมปลูกกันก็มีพันธุ์สีชมพู, พันธุ์ปุยฝ้าย, พันธุ์ไร้หนาม และพันธุ์ทองห่อ โดยนำพันธุ์มาจากจังหวัดสระบุรี แล้วขยายพันธุ์ต่อๆ กันไป ขายในราคากิ่งละ 20-30 บาท ส่วนผลผลิตต่อไร่ประมาณ 500-700 กิโลกรัมต่อ 1 ปี ราคาขายกิโลกรัมละ 50-60 บาท 1 ไร่ จะได้เงินประมาณ 40,000-60,000 บาทต่อ 1 ปี มะขามเทศจึงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตามอง
นายบุญลือ จันทร์เจริญ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 41/1 หมู่ 6 ต. นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งยึดอาชีพปลูกมะขามเทศ 10 กว่าปีมาแล้ว พร้อมยังเป็นพ่อค้าคนกลางรับซื้อมะขามเทศจากรายอื่นๆ ไปส่งตลาดอีกทอดหนึ่ง เปิดเผยว่า เริ่มปลูกมะขามเทศมาตั้งแต่ปี 2540 โดยใช้เนื้อที่ทดลองปลูกครั้งแรกประมาณ 5 ไร่ เมื่อได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงได้เช่าที่ดินของผู้อื่นปลูกเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 กว่าไร่ ลงทุนไปประมาณ 2 แสนกว่าบาท โดยซื้อพันธุ์ทองห่อมาจากจังหวัดสระบุรี มาในราคากิ่งละ 50 บาท และในปัจจุบันกำลังปลูกพันธุ์ไร้หนาม เพราะดูแลได้ง่าย การรักษา และการเก็บผลผลิตก็ง่ายตามไปด้วย
นายบุญลือเล่าว่า มีรายได้โดยเฉลี่ย หากผลผลิตเก็บได้ประมาณวัน ละ 100 กิโลกรัม ราคากิโลกรัม 60 บาท เป็นเงินวันละ 6,000 บาท แต่ต้องเสียค่าแรงงานช่วยเก็บผลผลิตถึง 4 คนๆ ละ 150-200 บาทต่อวัน และคนงานที่ต้องคัดเลือกมะขามเทศอีก 1-2 คน คนละประมาณ 100-150 บาท ต่อวัน เพราะมะขามเทศมีเกรด 1-2-3 จึงต้องคัดไซส์ เมื่อหักค่าแรงงาน ค่าสารเคมี ค่าปุ๋ย และค่าขนส่ง จะเหลือกำไรสุทธิประมาณ วันละ 2,000 บาท ต่อ 100 กิโลกรัม
นายบุญลือเปิดเผยถึงวิธีการปลูกมะขามเทศว่า ไม่มีอะไรยุ่งยากไปกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น เริ่มแรกจากการเตรียมพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เหมาะสม ก็ควรเป็นร่องสวน ให้มีน้ำไหลถ่ายเทได้ ขุดหลุมกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกประมาณ 10 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก แล้วนำกิ่งชำลงปลูก กลบโคนให้เป็นโคกเล็กน้อย หมั่นดูแลรดน้ำวันเว้นวัน ให้ปุ๋ย 15 วันต่อ 1 ครั้ง ประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี มะขามเทศจะเริ่มให้ผลผลิตซึ่งชุดแรกจะให้ผลผลิตไม่มากนัก ต้องเร่งน้ำเร่งปุ๋ย จนเมื่ออายุได้ 3-4 ปี จะให้ผลผลิตอย่างเต็มที่ โดยจะให้ผลผลิตมากที่สุดในเดือนมีนาคมของทุกปี
ศัตรูของมะขามเทศที่สำคัญคืออากาศ เพราะมะขามเทศชอบอากาศ หนาวเย็น ไม่ชอบอากาศชื้นและร้อน เพราะทำให้ฝักแตกก่อนกำหนด และขึ้นรา ส่งผลให้แมลงเข้าไปรบกวนเจาะฝักให้เสียหาย ขายไม่ได้ราคา ส่วนโรคก็มีเชื้อราเทคโนตและราสนิม ทำให้ฝักฝ่อและเชื้อราทั้ง 2 ชนิด ยังทำลายใบ ลำต้น และราก ตลอดจนแมลงวันทองที่คอยมาทำลายฝักให้เสียหาย สิ่งที่น่าวิตกก็คือผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงผลิตกระแสไฟฟ้าของจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เกิดอากาศเสีย เกิดฝนกรด ส่งผลให้มะขามเทศเป็น ราสนิม ผลผลิตก็ลดน้อยลงไปด้วย
สิ่งที่ผู้ปลูกมะขามเทศต้องพึงระวังก็คือ ต้องดูแลไม่ให้ต้นมะขามเทศ สูงมากเกินไป เพราะถ้ายิ่งสูงมากการดูแลและการเก็บผลผลิตจะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น ต้องหมั่นตัดแต่ง ตอนกิ่ง และลำต้นให้อยู่ในระดับพอดี ส่วยปุ๋ยที่ ใช้ควรเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ถ้าเป็นปุ๋ยเคมี ต้องเป็นสูตร 16-16-16 ใส่ไปประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น 15 วัน ใส่ 1 ครั้ง และควรใช้สารสะเดา ซึ่งเป็นสารธรรมชาติ กำจัดแมลงศัตรู ตั้งแต่ออกใบอ่อนไม่ควรใช้สารเคมีตอนออกฝัก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
ปัญหาของมะขามเทศที่พบก็คือ ฝักเก็บไว้ได้ไม่คงทน ต้องจำหน่ายหรือเก็บขายวันต่อวัน ไม่เกิน 2 วัน หากเกินกว่านั้น ฝักจะเน่าและขึ้นรา รับประทานไม่ได้ ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับเกษตรกรและพ่อค้าแม่ค้าที่รับไปจำหน่าย เพราะถ้าขายไม่ออก ก็จะขาดทุน และเกษตรกรส่วนใหญ่ในระหว่างออกฝัก ต้องใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากศัตรูพืชคอยรบกวนมาก หากใช้สารเคมีที่มาจากธรรมชาติ ผู้บริโภคก็จะปลอดภัย
นายบุญลือ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกษตรกรต้องการก็คือ อยากให้กรมส่งเสริมการเกษตรและเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด อำเภอ หรือตำบล ดูแลแนะนำเกษตรกรบ้างในเรื่องของการเพาะปลูก การใช้สารเคมี การให้ปุ๋ยและน้ำ เพราะเกษตรกรบางรายยังไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้ปลูกกันเองไปตามบุญตามกรรม ไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น รวมทั้งการจัดหาตลาด ซึ่งในปัจจุบันตลาดรับซื้อมะขามเทศยังไม่กว้างนัก จำหน่ายได้ในจังหวัดใกล้เคียงเช่น สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร เท่านั้น หากมีตลาดจำหน่ายมากขึ้นเชื่อว่า เกษตรกรในเมืองแม่กลองคงทดลองปลูกมะขามเทศกันมากขึ้น ส่งผลให้เป็นการกระจายรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรเอง และจังหวัดสมุทรสงครามด้วย เกษตรกรรายใดต้องการจะทดลองปลูกมะขามเทศดูบ้าง สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณบุญลือ จันทร์เจริญ บ้านเลขที่ 41/1 หมู่ 6 ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000 หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ถนนเอกชัย ตำบลลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 75000 โทร.034-711-711 ในวันและเวลาราชการ และถ้าจะซื้อมะขามเทศที่สดและอร่อยต้องที่ตลาดแม่กลองเท่านั้น ณ เวลานี้ เป็นฤดู ที่มะขามเทศกำลังมีจำหน่าย หากเดือนเมษายนผ่านพ้นไปแล้ว จะไม่มีมะขามเทศแม่กลองให้ชิม ลิ้มลองกัน
http://www.ryt9.com/s/bmnd/790067