หน้า: 1/2
ที่มา : http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=454&s=tblplant
มะขามหวาน
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ผลเขตร้อนยืนต้นอายุนับร้อยปี ขนาดทรงพุ่มเล็กกว่ามะขามเปรี้ยว เจริญเติบโตในดินลูกรังเหนียวแต่น้ำไม่ขังค้าง ในดินมีฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียมสูง มีอินทรีย์วัตถุมากๆช่วงบำรุงต้นต้องการน้ำตามปกติแต่ช่วงพักต้น (หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต)ต้องการความแห้งแล้งถึงขนาดหน้าดินแตกระแหง
* ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทุกภาค และทุกฤดูกาล แม้แต่ภาคใต้ที่สภาพทางภูมิศาสตร์ ฝนแปด-แดดสี่ ซึ่งต้นเจริญเติบโตดีมากแต่ให้ผลผลิตน้อย ส่วนมะขามหวาน เพชรบูรณ์. เลย. อุบลราชธานี.ที่ต้นเจริญเติบโตช้ากว่าแต่กลับให้ผลผลิตดีกว่า นั่นคือ มะขามหวานที่เจริญเติบโตทางต้นดีมากเนื่องจากได้รับน้ำมากแต่จะให้ผลผลิตน้อยกว่า ส่วนต้นที่เจริญเติบโตทางต้นช้าเนื่องจากได้รับน้ำน้อยจะให้ผลผลิตมาก
* เป็นไม้ผลทรงพุ่มขนาดใหญ่ ถ้าปลูกระยะห่าง 10X10 ม.เมื่ออายุต้น 8-10 ปีกิ่งจะชนกัน ในแปลงปลูกที่มีจอมปลวกอยู่ใกล้ๆ จะเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตดี
* เขตภาคกลาง อิสาน และเหนือ ปลูกมะขามหวานได้ทั้งพันธุ์เบา-กลาง-หนัก เพราะผลแก่เก็บเกี่ยวช่วงหน้าหนาว (ต.ค.- พ.ย.- ธ.ค.)ไม่มีฝนจะได้ผลผลิตดี ส่วนเขตภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี. จันทบุรี. ระยอง. ตราด) และภาคใต้ ควรปลูกสายพันธุ์หนัก เพื่อให้ผลแก่ในช่วงที่หมดฝนแล้ว ทั้งนี้ขณะที่ภาคกลางหมดฝนแล้วนั้นภาคตะวันออกและภาคใต้ยังมีฝนอยู่
* เป็นไม้ผลยืนต้นประเภทรากลึก จึงควรปลูกในพื้นที่ๆเนื้อดินหนาถึงหนามากๆ
* ต้นพันธุ์จากกิ่งตอนหรือกิ่งทาบไม่เสริมรากจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-5 ปี แต่ต้นพันธุ์กิ่งตอนหรือทาบเสริมราก 2-4 รากจะให้ผลผลิตใน 2-3 ปี ให้ผลผลิตเร็ว ติดผลดก และคุณภาพดีกว่าต้นไม่ได้เสริมรากถึง 3-4 เท่า
* ตอบสนองต่อปุ๋ยทั้งทางใบ/ทางรากและฮอร์โมนได้ดีและเร็ว ไม่ควรใส่ปุ๋ยคอกที่มีไนโตรเจนมาก เช่น มูลวัวเนื้อ/นม/ไล่ทุ่ง. มูลควาย เพราะจะทำให้ต้นได้รับไนโตรเจนมากจนเป็นเหตุให้ต้นเฝือใบ แตกใบอ่อนขณะออกดอกติดผล และมีรสเปรี้ยวได้ แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกที่มีฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมสูง เช่นมูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทาแล้วเสริมด้วยมูลค้างคาวแต่ก็ไม่ควรใส่มากเหมือนไม้ผลอื่นๆเพราะนอกจากยังมีไนโตรเจน.เป็นส่วนประกอบอยู่บ้างแล้วมูลสัตว์เหล่านี้ยังทำให้เมล็ดใหญ่อีกด้วย ดังนั้น การควบคุมปริมาณไนโตรเจน. ฟอสฟอรัส. และโปแตสเซียม.ในมะขามหวานจึงต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีทั้งทางราก/ทางใบและฮอร์โมนเป็นหลัก ส่วนการปรับปรุงสภาสภาพโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุยดีอยู่เสมอก็ต้องพึ่งพาเศษพืชแห้ง ยิบซั่มธรรมชาติ กระดูกป่น และจุลินทรีย์เท่านั้น
* อายุต้นช่วงให้ผลผลิต 2-3 ปีแรกมีรสหวานดี แต่ครั้นตั้งแต่ 5-6 ปีขึ้นๆไป หรือให้ผลผลิตเป็นรุ่นที่ 5-6 แล้วรสชาติเริ่มเปรี้ยวและเปรี้ยวขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นมะขามเปรี้ยว บางคนบอกว่าเป็นมะขามกลายพันธุ์ซึ่งไม่เป็นความจริง เหตุที่มะขามหวานเคยหวานแล้วเปลี่ยนเป็นมะขามเปรี้ยวนั้นเป็นเพราะต้นได้รับธาตุไนโตรเจน.มากแต่ได้รับธาตุฟอสฟอรัส. และโปแตสเซียม.น้อยเกินไป ทั้งนี้ มะขามหวานเป็นไม้ผลที่ต้องการฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม.ปริมาณสูงเพื่อการบำรุงผล จึงต้องให้อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากช่วยให้มะขามหวานต้นนั้นไม่เป็นมะขามเปรี้ยวหรือที่เปรี้ยวแล้วกลับมาเป็นหวานอย่างเดิม กับทั้งยังได้รสชาติและคุณภาพดีเหมือนเดิมอีกด้วย
การให้ปุ๋ยทางรากสูตร 8-24-24 เสริมด้วยมูลค้างคาว 1-2 รอบ ระหว่างบำรุงผลกลางถึงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะช่วยให้ต้นได้รับฟอสฟอรัส.และโปแตสเซียม.อย่างเพียพอ นอกจากนี้การบำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวด้วยสูตรเร่งหวาน ทั้งทางใบและทางรากก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งอีกด้วย
ช่วงผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยวถ้าต้นได้รับไนโตรเจน (ปุ๋ยและน้ำ) มากจะทำให้รสไม่หวานสนิทหรือติดเปรี้ยว เนื้อน้อย/บาง รกมาก สุกช้า ผิวขรุขระ เปลือกหนาและสีเปลือกไม่สวย
* ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.– ต้นเดือน มี.ค. หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว (ช่วงพักต้น) จะตัดแต่งกิ่งเลยก็ได้แต่ไม่ต้องให้น้ำ ปล่อยต้นให้กระทบแล้งจนหน้าดินแตกระแหงอยู่อย่างนั้นจนถึงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งเดือน พ.ค.จะมีฝนก็ให้เริ่มการบำรุงเรียกใบอ่อน แต่ต้นเดือน พ.ค.ไม่มีฝนตกก็ต้องระดมให้น้ำแบบวันต่อวัน พร้อมกับให้สารอาหารเรียกใบอ่อนทั้งทางรากและทางใบ ต้นมะขามหวานที่ผ่านความแห้งแล้งมาก่อนแล้วได้รับน้ำและการบำรุงก็จะแตกใบอ่อนชุดใหม่ออกมา พร้อมให้ผลผลิตในรุ่นต่อไป
ต้นมะขามหวานที่ผ่านแล้งมาอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อได้รับน้ำพร้อมกับสารอาหารทั้งทางใบและทางรากแล้วแตกใบอ่อนพร้อมกันดีทั่วต้น มะขามหวานต้นนั้นจะให้ผลผลิตดีในรุ่นปีการผลิตต่อไปดี ถ้าแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นแสดงว่าต้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะให้ผลผลิตในรุ่นปีต่อไปไม่ดีนัก
* ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.-เม.ย. ถ้าพื้นดินมีความแล้ง มะขามหวานจะสลัดใบเองเพื่อเข้าสู่ระยะพักต้น แต่ถ้าต้นไม่สลัดใบให้ใช้วิธี รมควัน ช่วยหรือใช้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ. อัตรา 100-200 ซีซี./น้ำ 100 ล. ฉีดพ่นพอเปียกใบก็ได้
ต้นที่สลัดใบพร้อมกันทั้งต้นมักแตกใบอ่อนรุ่นใหม่พร้อมกันทั้งต้น ส่วนต้นที่สลัดใบไม่พร้อมกันก็จะแตกใบอ่อนรุ่นใหม่ไม่พร้อมกันเช่นกัน
* การทำให้มะขามหวานสลัดใบก่อนกำหนดโดยใส่ปุ๋ยทางรากสูตร 12-24-12 (½-1 กก.)/ต้น แล้วให้น้ำสม่ำเสมอติดต่อกัน 2 เดือน ครบกำหนดแล้วให้ น้ำ 100 ล.+ อีเทฟอน 20-25 ซีซี. โดยฉีดพ่นทางใบให้ทั่วทรงพุ่ม ประมาณ 2-3 วัน ใบจะร่วงหมดทั้งต้น หลักจากนั้นประมาณ 10 วัน มะขามหวานต้นนั้นจะแตกใบอ่อนชุดใหม่พร้อมกันทั้งต้นได้
* ถึงช่วงเดือน พ.ค.ที่ต้นต้องแตกใบอ่อน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนดีพร้อมกันเป็นชุดเดียวทั้งต้นๆนั้นจะออกดอกติดผลดีเป็นชุดเดียวกันทั้งต้น ทำให้ง่ายต่อการบำรุง...แต่ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันก็จะออกดอกติดผลไม่พร้อมกันหรือทยอยออก แบบนี้ทำให้ค่อนข้างยุ่งยากต่อการบำรุงโดยเฉพาะการบำรุงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต
* เป็นไม้ยืนต้นที่มีใบขนาดเล็กจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องใบทึบจนแสงแดดส่องเข้าในไปในทรงพุ่มไม่ได้ กับทั้งเป็นไม้ผลประเภททิ้งใบแก่จัดเองหลังจากที่ได้ใบอ่อนชุดใหม่เข้ามาแทนแล้ว นอกจากนี้การตัดแต่งกิ่งเพื่อทำให้ทรงพุ่มโปร่งก็ไม่จำเป็นเพราะธรรมชาติของมะขามหวานจะทิ้งกิ่งที่หมดอายุแล้วได้เอง
* การเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อมะขามหวานไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งแต่ปล่อยให้แทงยอดใหม่ต่อจากยอดเดิมนั้นได้เลย ยกเว้นกรณีที่ต้องการควบคุมขนาดทรงพุ่มทั้งทางสูงและทางข้างก็ให้ตัดแต่งกิ่งได้ตามปกติ.....กิ่งใหญ่ที่ถูกตัดไปแล้วต้องใช้เวลา 1-1 ปีครึ่งจึงจะออกดอกติดผลได้ใหม่
* เนื่องจากมะขามหวานเป็นพืชใบขนาดเล็ก หากควบคุมสารอาหารกลุ่มสร้างใบบำรุงต้นกับกลุ่มสร้างดอกบำรุงผลอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ จะไม่เกิดอาการเฝือใบหรือมะขามหวานจะทิ้งใบแก่เอง กรณีนี้แม้ต้นจะมีขนาดใหญ่ก็ไม่เกิดปัญหาทรงพุ่มแน่นทึบจนแสงแดดส่องเข้าไปภายในทรงพุ่มไม่ทั่วถึง หากเกิดอาการเฝือใบแนะนำให้ใช้วิธีควบคุมด้วยสารอาหารแทนการตัดแต่งกิ่ง
* ถ้าต้นสมบูรณ์ดีจะออกดอกช่วงกลางหน้าฝนหรือหลังจากได้รับฝนช่วง พ.ค.-มิ.ย.
จากนั้นก็จะพัฒนาเป็นผลตามลำดับ
* ออกดอกที่ปลายกิ่งแก่อายุข้ามปี เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมตัวเองภายในดอกหรือรับการผสมจากต่างดอกต่างต้นได้
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์ เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก)ผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผล จะเป็นผลที่ไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
* การเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากและสิ้นเปลืองแรงงานมาก กล่าวคือ ก่อนเก็บเกี่ยวแต่ละฝักจะต้องเคาะเปลือกที่ข้อแรกทีละฝักเพื่อฟังเสียงภายในเสียก่อนว่าเนื้อล่อนหลุดจากเปลือกแล้วหรือยัง จากนั้นจึงจะตัดฝักลงมาได้.....มะขามหวานพันธุ์เนื้อเศรษฐกิจ เมื่อผลแก่แล้วใช้วิธีขย่มต้นให้ฝักร่วงลงมาเองได้ พันธุ์นี้เยื่อหุ้มเนื้อค่อนข้างเหนียวเคี้ยวลำบาก รสชาติหวานออกมัน บางคนเรียกว่า มะขามหวานมัน แต่มะขามหวานพันธุ์เพชรเกษตร ติดฝักดกดีสม่ำเสมอทุกปี ดีกว่าพันธุ์หมื่นจงและสีทอง แต่มีนิสัยออกดอกแล้วติดเป็นฝักจากโคนกิ่งไปหาปลายกิ่ง การที่ดอกออกไม่พร้อมกันทำให้เป็นผลไม่พร้อมกัน ส่งผลให้เป็นผลแก่เก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกันอีกด้วย การเก็บเกี่ยวจึงต้องตรวจสอบให้ดีก่อน
* ฝักแก่จัดเซลล์ที่เปลือกจะห่างหรือมีช่องว่างจนอากาศผ่านเข้าได้ เมื่ออากาศเข้าได้เชื้อราก็เข้าสู่ภายในผลได้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้เนื้อในเกิดเชื้อราได้รับความเสียหาย กรณีนี้แก้ไขด้วยวิธีบำรุงผลตั้งแต่ระยะผลขนาดกลางด้วยธาตุรอง/ธาตุเสริม. โดยเน้นแคลเซียม โบรอน.อย่างสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้เซลล์ที่เปลือกอัดตัวกันแน่นหรือเปลือกแข็งเหนียวจนอากาศผ่านเข้าไปไม่ได้
* การบำรุงทางรากช่วงก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อเร่งหวานด้วย 8-24-24 แทน 13-13-21 หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้วเข้าสู่ช่วงพักต้นจะช่วยให้ต้นโทรม ส่งผลให้การเรียกใบอ่อนของฤดูการผลิตรุ่นใหม่จะออกมาเร็วและได้ใบดีมีคุณภาพ
* ต้นที่เฝือใบเล็กน้อยแก้ไขด้วยการงดให้ไนโตรเจนสักระยะหนึ่ง อาการเฝือใบจะค่อยๆลดลง แต่ถ้าเฝือใบมากๆให้ฉีดพ่น ฟอสเฟอริค แอซิด หรือ 10-45-10 หรือ 0-52-34(สูตรใดสูตรหนึ่ง)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม ตั้งแต่เริ่มแตกใบอ่อนจนถึงออกดอกหรือติดผลเล็กก็ได้
* เนื่องจากมะขามหวานมีโอกาสได้รับไนโตรเจน.ค่อนข้างน้อยเพราะไนโตรเจน.เป็นตัวการทำให้เฝือใบ ออกดอกน้อยและทำให้รสเปรี้ยว ดังนั้นการบำรุงในแต่ละขั้นตอนจึงต้องพึงฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลลิน.และ เอ็นเอเอ.ค่อนข้างบ่อยกว่าไม้ผลอื่นๆ ซึ่งการใช้ฮอร์โมนจะได้ผลเต็ม 100% ก็ต่อเมื่อต้นมีความสมบูรณ์สูงและหลังจากให้ฮอร์โมนไปแล้วจะต้องระดมให้น้ำมากๆ 2-3 วันติดต่อกัน
* ปลูกมะขามหวานพันธุ์เบา. กลาง. และหนัก. แบบแบ่งโซนแล้วบำรุงตามปกติเหมือนกันทั้ง 3 สายพันธุ์จะทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลอดติดต่อกันนาน 4-6 เดือน
* ต้นทรงพุ่มโปร่ง แสงผ่านทั่วทรงพุ่มลงถึงพื้นดินได้มากจะออกดอกติดผลดกดีกว่าต้นทรงพุ่มแน่นทึบหรือแสงส่องผ่านทรงพุ่มลงถึงพื้นได้น้อยกว่า
* ปลูกมะขามหวาน 2 ต้น(ศรีชมภู + สีทอง)ในหลุมเดียวกันเมื่อทั้งสองต้นโตขึ้นจะให้ผลผลิตดกดีมากเนื่องจากได้อาศัยเกสรตัวผู้ซึ่งกันและกันในการผสมกับเกสรตัวเมีย
* เก็บเกี่ยวผลผลิตลงมาแล้วนำมาอบไอน้ำจากน้ำเดือดจัด 5-10 นาที แล้วนำขึ้นผึ่งลมให้แห้ง สามารถเก็บได้นานนับปีโดยที่คุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง
สายพันธุ์
มีลักษณะทางสายพันธุ์ 3 ลักษณะ คือ พันธุ์หนัก พันธุ์กลาง และ พันธ์เบา ทั้ง 3 ลักษณะสายพันธุ์จะออกดอกพร้อมๆกัน โดยพันธุ์หนักจะแก่เก็บเกี่ยวได้หลังสุด ส่วนพันธุ์เบาจะแก่เก็บเกี่ยวได้ก่อน ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ดอกบานถึงเก็บเกี่ยวได้รวมประมาณ 4 เดือน ดังนั้นจึงควรปลูกมะขามหวานทั้ง 3 ลักษณะสายพันธุ์เพื่อให้มีมะขามหวานทยอยออกสู่ตลาดได้นานขึ้น
พันธุ์เบา :
เก็บเกี่ยวช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค. สายพันธุ์นิยม ได้แก่ น้ำผึ้ง. ศรีชมภู. สีทองเบา. พระโรจน์. น้ำผึ้ง
พันธุ์กลาง :
เก็บเกี่ยวช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. สายพันธุ์นิยม ได้แก่ อินทผาลัม. ประกายทอง. ขันตี.
พันธุ์หนัก :
เก็บเกี่ยวช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. สายพันธุ์นิยม ได้แก่ หมื่นจง. สีทอง. โคตรเพชร. เพชรเกษตร. สงวนวงษ์.
หมายเหตุ :
- มะขามหวานพันธุ์อื่นๆที่คุณภาพดีน่าสนใจทั้งที่อยู่ในและนอกพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ หลังแตก (เพชรบูรณ์). น้ำดุก (เพชรบูรณ์). แจ้ห่ม (ลำปาง). มหาจรูญ (อุบลราชธานี). ครูอินทร์ (อุบลราชธานี).
- พันธุ์อื่นๆที่ปลูกกันทั่วไป ได้แก่ ไผ่ใหญ่. คุณเปี๊ยก. นาสีนวล. ตาลทิพย์. ขนมปังฟากเลย. ขุนสรรพ. ครูบัวพันธ์. ครูเสน. นาทราย. นางเยื้อง. นายสวัสดิ์. บ้านนาแก. นานกเค้า. บ้านส้มป่อย. นาโสก. และ อารีย์. เป็นต้น
- พันธุ์หนัก – กลาง – เบา จะให้ผลผลิตฝักใหญ่กว่าตามลำดับ
- คุณลักษณะของพันธุ์หนัก-กลาง-เบา ที่นอกจากอายุเก็บเกี่ยวจะนานและเร็วตามลำดับแล้ว อายุต้นตั้งแต่เริ่มปลูกถึงให้ผลผลิตก็ช้าและเร็วกว่ากันตามลำดับอีกด้วย
- พันธุ์ที่เหมาะต่อการส่งออก คือ อินทผาลัม. เพราะมีรสหวานอมเปรี้ยว
- พันธุ์ที่มีราคาแพง (หน้าสวน) ที่สุด คือ ประกายทอง
- พันธุ์ที่ติดผลดกที่สุด คือ ขันตี
- พันธุ์ดีของภาคเหนือ คือ แจ้ห่ม
- สายพันธุ์ใหม่ที่มีประวัติชนะเลิศการประกวดช่วง 2530-2534 คือ โคตรเพชร. สีทองเบา. เพชรเกษตร.
การขยายพันธุ์
ทาบกิ่ง.เสียบยอด.ตอน.เพาะเมล็ด(กลายพันธุ์.เพาะเมล็ดเสริมรากเสียบยอด(ดีที่สุด)
ระยะปลูก
ระยะปกติ 6 X 6 ม. หรือ 6 X 8 ม.
ระยะชิดพิเศษ 4 X 4 ม. หรือ 4 X 6 ม.
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา(แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
มะขามหวานเป็นไม้ยืนต้นที่มีใบขนาดเล็ก จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องใบทึบจนแสงแดดส่องเข้าในไปทรงพุ่มไม่ได้กับทั้งเป็นไม้ผลประเภททิ้งใบแก่จัดเองหลังจากได้ใบอ่อนชุดใหม่เข้ามาแทนแล้ว ดังนั้นการตัดแต่งกิ่งจะกระทำก็ต่อเมื่อต้องการควบคุมขนาดและรูปทรงของทรงพุ่มเท่านั้น
หากจำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งจริงๆก็ให้ตัดแต่งเพื่อให้เกิดการแตกยอดใหม่โดยตัดกิ่งกระ
โดง กิ่งในทรงพุ่มกิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ก็พอ...มะขามหวานออกดอกติดผลจากกิ่งแขนงที่ออกมาจากกิ่งประธานทำมุมกว้างกับลำต้นได้ดีกว่ากิ่งแขนงที่ออกมาจากกิ่งประธานทำมุมแคบกับลำต้น
- ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.– ต้นเดือน มี.ค.หรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว(ช่วงพักต้น)จะตัดแต่งกิ่งเลยก็ได้แต่ตัดแต่งแล้วไม่ต้องให้น้ำ ปล่อยต้นให้กระทบแล้งตลอดเดือน เม.ย.
– ต้นเดือน พ.ค. จนหน้าดินแตกระแหงอย่างนั้น กระทั่งถึงประมาณกลางเดือน พ.ค.(เริ่มหน้าฝน)จึงเริ่มบำรุงเรียกใบอ่อน ถ้าไม่มีฝนตกก็จะต้องระดมให้น้ำแบบวันต่อวันพร้อมกับให้สารอาหารทั้งทางรากและทางใบ หลังจากที่ต้นได้ผ่านความแห้งแล้ง (พักต้น) อย่างหนักมาก่อนแล้วเมื่อได้รับน้ำและการบำรุงก็จะแตกใบอ่อนชุดใหม่ทันที
- การตัดแต่งกิ่งไม่ใช่เพียงเพื่อให้การออกดอกติดผลง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ดอกและผลที่ออกมานั้นจะมีคุณภาพดีขึ้นกว่าไม่ได้ตัดแต่งกิ่งอีกด้วย
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดีและเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยการออกดอกของมะขามหวานไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว แต่ถ้าตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับอย่างถูกต้องสม่ำเสมอจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ตัดแต่งราก :
- มะขามหวานต้นอายุยังน้อยไม่ควรตัดแต่งรากแต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปีระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม.หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม
- ธรรมชาติของมะขามหวานไม่จำเป็นต้องตัดแต่งรากแต่ใช้วิธีล่อรากขึ้นมาอยู่บริเวณผิวดินจะช่วยให้ได้รากใหม่สมบูรณ์และดีกว่ารากเก่า
หมายเหตุ :
กรณีการตัดแต่งรากมะขามหวานนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงไม่ควรทำหรือหากตัดแต่งไปแล้วต้องเว้นระยะ 2-3 ปีขึ้นไปจึงตัดแต่งซ้ำแต่หากต้องการรากชุดใหม่แนะนำให้ใช้เทคนิคล่อราก
ขั้นตอนการปฏิบัติบำรุงต่อมะขามหวาน
1.เรียกใบอ่อน + เปิดตาดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ ไธโอยูเรีย(250 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ จิ๊บเบอเรลลิน 10 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.ทุก 5-7 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24 หรือ 9-26-26 สูตรใดสูตรหนึ่ง (1/2-1 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- ให้น้ำทุกวัน
หมายเหตุ :
- หลังจากกระทบแล้งช่วงพักต้นมาอย่างเพียงพอแล้วเมื่อได้รับน้ำแบบระดมให้วันต่อวันมะขามหวานสามารถแตกใบอ่อนได้เอง โดยไม่ต้องเรียกใบอ่อนด้วย 25-7-7 หรือ 46-0-0 เหมือนไม้ผลอื่นๆ
- ลงมือปฏิบัติหลังจากใบอ่อนออกมาแล้ว
- หลังจากให้ทางใบไปแล้ว 7-10 วัน ถ้าต้นใดแตกใบอ่อนน้อยกว่า 50% ให้ฉีดพ่นซ้ำรอบสองด้วยอัตราและวิธีการเดิม เพราะถ้าต้นแตกใบอ่อนไม่พร้อมกันจะส่งผลออกดอกไม่พร้อมกันทั่วทั้งต้นเพราะหลังจากใบอ่อนออกมาแล้วจะมีดอกออกตามมา เมื่อดอกออกไม่พร้อมกันก็กลายเป็นผลไม่พร้อมกัน ทำให้ยุ่งยากต่อการปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนอย่างมาก....แนวทางแก้ไข คือ ต้องบำรุงเรียกใบอ่อนให้ออกมาเป็นชุดเดียวพร้อมกันทั้งต้นให้ได้
- การให้ทางใบอาจจะต้องให้ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งเดือน ถ้าเห็นว่าต้นออกดอกน้อยและยังสามารถออกดอกได้อีกก็ให้ทางใบต่อไปอีก จนกว่าจะได้จำนวนดอกจำนวนมากพอเท่าที่ความสมบูรณ์ของต้นจะให้ได้
- มะขามหวานต้องการใบอ่อนเพียงชุดเดียวเท่านั้น ถ้าต้นสมบูรณ์ดี มีการเตรียมดินและปรับปรุงบำรุงดินสม่ำเสมอจะทำให้ต้นแตกใบอ่อนดีเป็นชุดเดียวกันทั่วทั้งต้น
- ช่วงพักต้นถ้าต้นสลัดใบไม่พร้อมกันดีทั่วทั้งต้น จนกระทั่งพักต้นครบกำหนดและระดมให้น้ำเรียกใบอ่อนแล้วมีใบอ่อนออกมาน้อย แสดงว่าต้นได้รับความแห้งแล้งไม่เพียงพอหรือใต้ดินโคนต้นยังมีน้ำมาก กรณีนี้แก้ไขโดยให้ “น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.100-200 ซีซี.” ฉีดพ่นพอเปียกใบ ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.จะช่วยให้ต้นสลัดใบแล้วแตกยอดใหม่พร้อมกับมีดอกออกตามมาด้วย
- หลังจากระดมระดมให้น้ำแล้วต้นแตกใบอ่อนมากจนกลายเป็นเฝือใบและไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย สาเหตุอาจจะมาจากน้ำไต้ดินโคนต้นหรือได้รับปุ๋ยคอกที่มีไนโตรเจนมากเกินไป แก้ไขโดยทำลายใบบางส่วนด้วย “น้ำ 100 ล.+ 0-10-30 หรือ 0-21-74 สูตรใดสูตรหนึ่ง (5 กก.)” ฉีดพ่นพอเปียกใบเป็นหย่อมๆ เป็นบริเวณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งทรงพุ่ม ใบที่ถูกฉีดพ่นจะร่วง ยอดอ่อนกิ่งอ่อนสีเขียวจะแห้งตาย แต่ไม่เป็นไรเพราะจากนั้นจะแตกยอดใหม่พร้อมกับดอกรุ่นใหม่ ส่วนใบที่ไม่ถูกฉีดพ่นจะไม่ร่วงและกิ่งแก่สีน้ำตาลก็ไม่แห้งตายแต่จะแตกยอดใหม่แล้วมีดอกออกมาอีกเหมือนกัน
ทั้งนี้เป็นเพราะนิสัยของมะขามหวานนั้นจะออกดอกหลังจากแตกใบอ่อนเสมอ การทำให้ใบร่วงแต่ยังระดมให้น้ำพร้อมกับให้สารอหารกลุ่ม “สร้างดอก-บำรุงผล” ตามปกติก็จะทำให้มะขามหวานแตกใบอ่อนแล้วออกดอกตามมาได้
- สวนยกร่องน้ำหล่อ ช่วงพักต้นให้ระบายน้ำในร่องออกปล่อยให้ดินสันแปลงแห้ง จนกระทั่งครบกำหนดจึงสูบน้ำเข้าร่องแล้วให้ทางใบด้วย “น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(400 กรัม)” ฉีดพ่นพอเปียกใบก็ได้เหมือนกัน
2.บำรุงดอก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+15-45-15(200 กรัม)+ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+เอ็นเอเอ.
100 ซีซี.+สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.ฉีดพ่นพอเปียกใบ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรช่วงค่ำ ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำพอหน้าดินชื้น
หมายเหตุ :
- ช่วงดอกระยะดอกตูมบำรุงด้วย “น้ำ 100 ล.+ ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.10-20 ซีซี.”
เมื่อดอกบาน
- ได้จำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนดอกทั้งต้น ฉีดพ่นพอเปียกใบ นอกจากช่วยบำรุงเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมียให้สมบูรณ์พร้อมรับผสมแล้วยังช่วยบำรุงขั้วเหนียวได้อีกด้วย การให้ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.ต้องใช้ด้วยระมัดระวัง เพราะถ้าให้เข้มข้นเกินไปจะเกิดความเสียหายต่อดอกและถ้าให้อ่อนเกินไปก็จะไม่ได้ผล
- ช่วงดอกเริ่มแทงออกมาใหม่ๆให้แคลเซียม โบรอน.1 รอบ จะช่วยให้ดอกสมบูรณ์ ผสมติดดี
- ช่วงดอกบานได้ 3 ใน 4 ของจำนวนดอกทั้งต้น ฉีดพ่นด้วย “น้ำ 100 ล.+ จิ๊บเบอเรลลิน (ชนิด 50 มิลลิกรัม)1 หลอด +46-0-0(50 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 25 กรัม"
พอเปียกใบ หลังจากฉีดพ่นครั้งแรกแล้ว 7-10 วัน ถ้าปริมาณการติดฝักยังน้อยให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้งก็จะช่วยให้การติดฝักดีขึ้น การใช้ฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลลินกระตุ้นการติดฝักจะได้ผลดีก็ต่อเมื่อต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่
- บำรุงดอกช่วงฝนชุกให้เน้น “สังกะสี และ แคลเซียม โบรอน” โดยให้เมื่อดอกออกมาแล้วหรือให้แบบสะสมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเปิดตาดอก ให้แบบเดี่ยวๆหรือผสมรวมไปกับธาตุอาหารอื่นๆก็ได้
- ช่วงดอกตูมควรฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้บ่อยขึ้น เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลงจนถึงช่วงดอกบาน
- ควรใช้เครื่องมือฉีดพ่นที่มีแรงลมพ่นเบาที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนต่างๆของดอก ฉีดพ่นเฉพาะช่อดอกโดยตรงพอเปียก หรือฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มพอเปียกใบก็ได้
- ช่วงดอกบานควรงดการฉีดพ่นทางใบโดยเฉาะช่วงกลางวัน (08.00-12.00 น.) เพราะอาจทำให้เกสรเปียกชื้นจนผสมไม่ติดได้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพรให้ฉีดพ่น
ช่วงหลังค่ำ
- ช่วงดอกตูม ถึง ดอกบาน ควรให้น้ำสม่ำเสมอหรือค่อนข้างมาก ถ้าขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง
3.บำรุงฝักเล็ก
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 15-45-15(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ ฮอร์
โมนไข่ 25 ซีซี.+ จิ๊บเบอเรลลิน 10 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุน
ไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วัน ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพระเบิดเถิดเทิง + 25-7-7(1-1.5 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- คลุมโคนต้นด้วยอินทรีย์วัตถุพร้อมกับเสริมยิบซั่มธรรมชาติ อัตรา 1 ใน 10 ส่วนของครั้งที่ใส่เมื่อช่วงเตรียมต้น
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงหลังกลีบดอกร่วง
- เทคนิคการให้ปุ๋ยทางใบด้วยสูตร 15-45-15 ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับบำรุงดอกนั้น วัตถุประสงค์เพื่อให้ P. สร้างเมล็ดก่อนในช่วงแรก ซึ่งเมล็ดนี้จะเป็นผู้สร้างเนื้อต่อไปเมื่อผลโตขึ้น
- ช่วงแรกของอายุฝักที่รูปทรงยังแบนเรียกว่า “ฝักดาบ” ควรบำรุงด้วยฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลลินเดี่ยวๆ 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน จะช่วยให้ขนาดฝักยาวขึ้น พร้อมที่จะเป็นฝักขนาดใหญ่ต่อไปในช่วงบำรุงผลกลาง
4.บำรุงฝักกลาง
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 21-7-14(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม(100 ซีซี.)+ ไคโตซาน 100 ซีซี.+ แคลเซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. ทุก 7-10 วันฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้น้ำหมักชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง + 8-24-24(1-1.5 กก.)1 รอบกับให้ 8-24-24(1-1.5 กก.)2 รอบ /ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม./เดือน
- ให้น้ำปกติ ทุก 2-3 วัน
หมายเหตุ :
- เริ่มบำรุงเมื่อเปลือกหุ้มเมล็ดเริ่มแข็ง(เข้าไคล)หรือส่วนเนื้อเริ่มนูนขึ้นมาให้เห็น(ขึ้นรูป)
- วัตถุประสงค์เพื่อขยายขนาดผลและลดขนาดเมล็ด (หยุดเมล็ด-สร้างเนื้อ) จะได้ฝักขนาดใหญ่เนื้อมากเมล็ดเล็ก
- มะขามหวานต้องการธาตุโปแตสเซียม.ค่อนข้างมาก เทคนิคการใส่ 8-24-24 สองรอบแล้วให้ 21-7-14 หนึ่งรอบ หรือจะใส่ 8-24-24 สูตรเดียวตลอดฤดูกาลผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเลยก็ได้
- ให้ ฮอร์โมนน้ำดำ.กับ แคลเซียม โบรอน.1-2 รอบ โดยแบ่งให้ตลอดระยะผลกลางจะช่วยให้ต้นไม่โทรมเนื่องจากรับภาระเลี้ยงผลมากและช่วยบำรุงให้ฝักเขียวสดดี
5.บำรุงผลแก่
ทางใบ :
- ให้น้ำ 100 ล.+ 0-21-74(200 กรัม)+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ แคล
เซียม โบรอน 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี.หรือ น้ำ 100 ล.+ มูลค้างคาวสกัด 100 ซีซี.+ ธาตุรอง/ธาตุเสริม 100 ซีซี.+ สารสกัดสมุนไพร 250 ซีซี. 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วันก่อนเก็บเกี่ยว ฉีดพ่นพอเปียกใบ
- ฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ทุก 2-3 วัน
ทางราก :
- ให้ 8-24-24หรือ 9-26-26 สูตรใดสูตรหนึ่ง(1-1.5 กก.)/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม.
- งดน้ำเด็ดขาด
หมายเหตุ :
- เริ่มให้ก่อนเก็บเกี่ยว 10-15 วัน 1-2 รอบห่างกันรอบละ 5-7 วัน
- การให้ 8-24-24 จะช่วยให้ต้นได้สะสมไว้ก่อนพักต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลลิต ซึ่งต้นจะใช้สำหรับสร้างตาดอกในรุ่นปีการผลิตต่อไป