หน้า: 1/4
มะปราง - มะยง
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อายุนับร้อยปี ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ชอบพื้นที่ๆมีความชื้นทั้งความชื้นในดินและในอากาศแต่ไม่ทนต่อน้ำท่วมขังค้างนาน ชอบดินดำร่วนซุยมีอินทรียวัตถุมากๆ
* มะปรางหวาน-มะปรางเปรี้ยว-มะยงชิด-มะยางห่าง เป็นไม้ผลยืนต้นตระกูลเดียวกัน สามารถเสียบยอด ทาบกิ่ง เสริมรากซึ่งกันและกันได้ ถ้านำเมล็ดไปเพาะขยายพันธุ์จะกลายพันธุ์ อาการกลายพันธุ์จะทำให้ได้สายพันธุ์ใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ คือ มะปรางเปรี้ยวกลายพันธุ์เป็นมะยงห่างหรือมะยงชิดหรือมะปรางหวาน และ มะยงห่าง
กลายเป็นมะยงชิดหรือมะปรางหวานหรือมะปรางเปรี้ยว เป็นต้น
* เป็นพืชระบบรากน้อย กล่าวคือ ต้นที่ปลูกจากเมล็ดมีรากแก้วค่อนข้างยาว ชอนลึกลงดิน ส่วนรากฝอยอยู่ที่ผิวดินตื้นๆ แผ่กระจายรอบทิศทาง ค่อนข้างสั้นและมีจำนวนน้อย ต้นที่ปลูกโดยเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุไม่น้อยกว่า 7-8 ปี ถือว่าช้ามากในกลุ่มไม้ผล วิธีแก้ไขการให้ผลผลิตช้าโดยใช้ต้นพันธุ์จาก เพาะเมล็ด - เสริมราก - เปลี่ยนยอด หรือ กิ่งทาบ - เสริมรากแก้ว หรือ กิ่งตอน - เสริมรากแก้ว โดยเสริม 1 รากจะให้ผลผลิตใน 4-5 ปี เสริม 2-3 รากจะให้ผลผลิตใน 2-3 ปี และเสริม 3-4 รากจะให้ผลผลิตใน 1 ปีครึ่ง – 2 ปี
(หมายเหตุ : เสริมรากแก้ว หมายถึง ต้นเสริมมีรากแก้วเนื่องจากปลูกด้วยเมล็ด..เมล็ดมะปรางเปรี้ยว หรือกาวาง หรือมะปรางป่า มีระบบรากแข็งแรงที่สุดจึงเหมาะสำหรับทำต้นเสริมราก)
* เป็นไม้ผลประเภทกระทบอากาศหนาวแล้วออกดอกดี ดังนั้นจึงควรเปิดตาดอกด้วย 13-0-46(โปแตสเซียม ไนเตรท)ที่ชาวสวนลำไยภาคเหนือเรียกว่า ปุ๋ยหนาว เพราะฉีดพ่นแล้วใบเย็นทั้งต้น เป็นหลักแล้วเสริมด้วย 0-52-34, ฮอร์โมนไข่, และสาหร่ายทะเล
* นิสัยออกดอกแบบทยอย บางต้นออกดอกเป็นชุดถึง 3 ชุด เริ่มออกชุดแรกเดือน ธ.ค.ไปจนถึงชุดสุดท้ายเดือน ก.พ.โดยต้นสมบูรณ์ดีเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากเปิดตาดอกแล้วดอกชุดแรกจะออกมาจำนวนมาก แล้วดอกชุดหลังๆจะเริ่มลดน้อยลงหรือให้
ดอกดก 1 ชุดกับดอกน้อย 2 ชุด
* โดยนิสัย มะปราง.ออกดอกง่ายกว่ามะยง.ภายใต้สภาวะปัจจัยพื้นฐานเดียวกัน
* บำรุงสะสมตาดอกด้วย 0-39-39 กระทั้งต้นเกิดอาการอั้นตาดอกดีแล้วงดน้ำ เมื่อใบสลดแล้วระดมให้น้ำ ถ้าอุณหภูมิต่ำติดต่อกัน 5-7 วัน ก็สามารถออกดอกได้โดยไม่ต้องเปิดตาดอก ทั้งนี้ ก่อนบำรุงสะสมตาดอกต้นต้องสะสมความสมสบูรณ์สูง
* เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมตัวเอง หรือต่างดอกในต้นเดียวกันหรือต่างต้นได้
* เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) ผสมกัน เมื่อพัฒนาเป็นผลแล้วจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
ข้อแตกต่างหรือคุณลักษณะประจำสายพันธุ์
มะปรางเปรี้ยว :
สีเหลืองสดใส บางต้นผลใหญ่บางต้นผลเล็กแต่เมล็ดใหญ่ทั้งคู่ รสเปรี้ยวจัดถึงขนาดกาคาบกินยังต้องวาง ผลดิบแก่จัดทำมะปรางดอง เมล็ดแก่ใช้เพาะพันธุ์
มะปรางหวาน :
สีเหลืองสดใส ผลใหญ่ เมล็ดเล็ก เมื่อดิบแก่จัดรสเปรี้ยวมัน รับประทานกับน้ำปลาหวานได้หรือทำมะปรางดอง ผลแก่จัดเมื่อสุกรสหวานสนิท รับประทานแล้วระคายคอเนื่องจากยางใต้เปลือกเก็บเกี่ยวเมื่อผลแก่ 90-95% แล้วนำลงมาพักให้ลืมต้น 3-5 วันจึงจะได้รสชาติดีเยี่ยม
มะยงชิด :
สีเหลืองอมส้มสดใส ผลใหญ่เมล็ดเล็ก เมื่อดิบแก่จัดรสมันไม่เปรี้ยว รับประทานกับน้ำปลาหวานได้ ผลแก่จัดเมื่อสุกหวานสนิท เนื้อแน่นกรอบ กว่ามะปราง รับประทานพร้อมเปลือกแล้วไม่ระคายคอเพราะใต้เปลือกไม่มียาง เก็บเกี่ยวเมื่อผลแก่จัด 100% แล้วนำมาพักให้ลืมต้น 2-3 วันจึงจะได้รสชาติดีเยี่ยม
มะยางห่าง :
ลักษณะทั่วไปเหมือนมะยงชิดต่างกันบ้างที่รสชาติมะยงห่างรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น
* ให้ผลผลิตปีละรุ่น ปัจจุบันยังไม่พบสายพันธุ์ทะวาย และยังไม่มีงานวิจัยเรื่องการใช้สารหรือฮอร์โมนใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูได้
* ต้นกล้าที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนหรือทาบ ถ้าตอนหรือทาบกิ่งที่มีอาการอั้นตาดอกดีหรือใกล้จะออกดอกอยู่แล้ว (ตอนหรือทาบในช่วงเดือน ธ.ค.) เมื่อรากเจริญดีจึงตัดแยกลงมาชำในถุงต่อ อนุบาลในเรือนเพาะชำ และให้สารอาหารทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง ธาตุเสริม บ้างอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ กิ่งพันธุ์ในถุงนั้นสามารถออกดอกแล้วพัฒนาจนเป็นผลได้ การมีผลโชว์ให้เห็นบนต้นพันธุ์เช่นนี้เป็นสิ่งยืนยันความเป็นพันธุ์แท้ได้อย่างดี......จากลักษณะทางธรรมชาติที่มะปราง-มะยงสามารถออกดอกติดผลในถุงได้กับลักษณะทางธรรมชาติที่เป็นพืชมีจำนวนรากน้อยนี้ หากปลูกมะปราง-มะยง ในกระถางเลียนแบบมะนาวในกระถางบ้างย่อมทำได้
* เป็นผลไม้ประเภทเก็บลงมาแล้วไม่ต้องบ่ม ดังนั้นจึงต้องเก็บเกี่ยวผลแก่จัดคาต้นจริงๆ เก็บลงมาแล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้ลืมต้นจะได้รสชาติดีขึ้น
* เป็นพืชรากน้อย รากฝอยหากินบริเวณผิวหน้าดินตื้นๆจึงควรพูนดินโคนต้นปีละ 2 ครั้งด้วยอินทรีย์วัตถุทั่วพื้นที่บริเวณทรงพุ่มจนล้ำออกนอกทรงพุ่ม จะช่วยให้เกิดรากฝอยชุดใหม่จำนวนมาก
สายพันธุ์
มะปรางเปรี้ยว :
โดยทั่วไปเรียกว่า กาวาง เช่น กาวางนครนายก. กาวางนนทบุรี.
มะปรางหวาน :
ท่าอิฐ. ลุงชิต. ลุงพล. ลุงประทีป. ทองใหญ่. สุวรรณบาท. ศรีมาลา. แม่อนงค์. มะปรางหวานพวง. มะปรางหวานยักษ์. ศรีมาลา. เพชรนวลทอง.
มะยงชิด :
ไข่ทอง.ทูลเกล้า.ท่าอิฐ. ชิดพูนศรี. ลุงฉิม. พระอาทิตย์. นางระเบียบ.
ทูลถวาย. ลุงสอด. ลุงเสน่ห์. ดาวพระศุกร์. สวัสดี. พลอยสุวรรณ. ช่างเกตุ.
ก้อนแก้ว.
มะยงห่าง :
ไม่มีชื่อเฉพาะของตัวเองแต่อาศัยชื่อของมะยงชิดแทน โดยมะยงชิดต้นไหนมีผลรสหวานอมเปรี้ยวก็จะเรียกชื่อพันธุ์ตามมะยงชิดต้นนั้นๆ
การขยายพันธุ์
- ตอน. ทาบกิ่ง. เพาะเมล็ด (กลายพันธุ์). เพาะเมล็ดมะปรางเปรี้ยวเสริมรากเปลี่ยนยอด (ดีที่สุด).
- ระยะที่ยังเป็นต้นกล้า ลักษณะของมะปรางเปรี้ยว มะปรางหวาน มะยงชิด มะยงห่าง คล้ายคลึงกันมากจนแยกไม่ออกว่าต้นไหนพันธุ์อะไร ผู้ซื้อหรือผู้ปลูกต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเอาเอง
- ต้นกล้าที่อยู่ในถุงเป็นเวลานานๆ รากแก่จัด ส่วนปลายรากก้นถุงม้วนวน เมื่อนำลงปลูกจำเป็นต้อง จัดราก ให้ชี้ออกข้างตรงๆกระจายรอบทิศทางทุกรากก่อน ถ้าไม่จัดรากให้ชี้ตรงรากจะวนอยู่ในหลุมเรียกว่า "นั่งหลุม" ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตถึงตายได้
- เนื่องจากระบบรากอ่อนแอมาก การนำต้นกล้าออกจากถุงดำต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนมากนักและอย่าให้ดินหุ้มรากแตก
- ใช้เมล็ดของผลแก่จัดจากต้นพันธุ์ดีมาเพาะเป็นต้นกล้า ได้ต้นกล้าโตแล้วนำขึ้นทาบกิ่งพันธุ์ดีด้วยวิธีทาบกิ่งปกติ เมื่อรากกิ่งทาบแข็งแรงแล้วนำลงมาอนุบาลต่อในถุงดำต่อ และหลังจากนำลงปลูกในแปลงจริงให้เสริมรากด้วยต้นตอของเมล็ดจากต้นพันธุ์ดี 2-3 รากเพิ่มเข้าไปอีก เมื่อมะปราง-มะยงต้นนั้นโตขึ้นจะให้ผลผลิตไม่ผิดเพี้ยนจากต้นแม่(กิ่งทาบ)หรืออาจะดีกว่าเพราะมีระบบรากพันธุ์ดีจำนวนมากช่วยสร้างอาหารให้
วิธีใช้เมล็ดของผลจากต้นตัวเองเพาะเป็นตอแล้วยกขึ้นทาบต้นตัวเอง ร่วมกับเสริมรากด้วยตอของเมล็ดจากต้นตัวเองอีก 2-3 ราก จะช่วยให้คุณสมบัติสายพันธุ์ตรงตามต้นแม่แน่นอนยิ่งขึ้น
วิธีปลูก “มะปราง-มะยง” อย่างยั่งยืน
1. เตรียม ไม้พี่เลี้ยง โดยปลูกกล้วยน้ำว้าก่อน เนื่องจากกล้วยมีระบบรากมากและเจริญเติบโตเร็วณ จุดที่ต้องการปลูกมะปราง-มะยง พร้อมๆกับปลูกพืชพุ่มเตี้ยอายุสั้นฤดูกาลเดียวอย่างอื่นแซมแทรกตามพื้นที่ว่างระหว่างกอกล้วยลงไปด้วย จัดแถวเป็นแนวให้สวยงามเป็นระเบียบเพื่อความสะดวกในการเข้าปฏิบัติงาน กล้วยและพืชแซมจะช่วยสร้างความชื้นทั้งในเนื้อดินและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ จากนั้นบำรุงเลี้ยงกล้วยและพืชแซมตามปกติจนกระทั่งกล้วยเริ่มแทงหน่อ
2. ระหว่างที่กล้วยต้นแม่กำลังเจริญเติบโตนั้นให้ตัดต้นหน่อเพื่อไม่ให้สูงแต่ให้โตเพื่อเอาราก และไม่ขุดหน่อออก เมื่อต้นแม่ใกล้ออกเครือจึงงดตัดต้นหน่อ เลี้ยงต้นแม่เรื่อยๆจนกระทั่งออกเครือ หลังจากตัดเครือแล้วให้ล้มต้นแม่ออกคงเหลือแต่หน่อ ซึ่งช่วงนี้หน่อควรมีความสูงไม่น้อยกว่า 1-1.5 ม. ถ้าไม่รอกล้วยต้นแม่ตกเครือเพราะไม่ต้องการผลผลิตและเพื่อย่นระยะเวลาปลูกมะปราง-มะยงให้เร็วขึ้นก็สามารถทำได้ โดยตัดล้มกล้วยต้นแม่แล้วนำออกหลังจากได้ให้หน่อสูง 1-1.5 ม.แล้ว ทั้งนี้จะไม่ตัดต้นหน่อเลยตั้งแต่เกิด
3. หลังจากล้มกล้วยต้นแม่ (ทั้งเอาผลผลิตและไม่เอาผลผลิต)เหลือแต่หน่อเรียบร้อยแล้วให้ขุดหลุมบนกอกล้วยต้นแม่เดิมหรือกลางวงล้อมของหน่อ จัดการปลูกต้นกล้ามะปราง-มะยง (กิ่งทาบหรือตอน)ลงไปด้วยวิธีการปลูกตามปกติพร้อมกับฝังเมล็ดเพื่อทำรากเสริม 2-3 ต้น หรือจำนวนตามต้องการล้อมรอบต้นมะปราง-มะยงไว้ก่อน ห่างประมาณ 20-30 ซม.ด้วยวิธีเพาะเมล็ดตามปกติ
4. สำรวจแนวแสงแดด ถ้ายังมีแสงแดดส่องถึงต้นกล้ามะปราง-มะยงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ให้เสริมวัสดุบังแดด เช่น ทางมะพร้าว ซาแลน โดยไม่ต้องห่วงกล้วย จากนั้นบำรุงต้นกล้ามะปราง-มะยงตามปกติ
5. ระหว่างที่ต้นเสริมรากกำลังเจริญเติบโตนั้นให้หมั่นโน้มต้นเข้าหาโคนต้นรับการเสริมรากเพื่อเตรียมทาบเข้ากับต้นมะปราง-มะยง
6. เมื่อส่วนลำต้นของต้นเสริมรากโตเท่าดินสอดำหรือ 0.5 ซม.ให้เริ่มเสริมราก โดยเสริมครั้งละ 1-2 รากก่อน เมื่อแผลทาบรากเสริมชุดแรกติดดีแล้วให้เสริมรากต่อไปจนครบตามต้องการด้วยวิธีการเสริมรากปกติซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน 3-6 เดือน
7. บำรุงต้นมะปราง-มะยงคู่กับไม้พี่เลี้ยง 2-3 ปี หรือจนกว่าจะออกดอกติดผลชุดแรกจึงพิจารณาแยกไม้พี่เลี้ยงออก ปล่อยให้มะปราง-มะยงโตเดี่ยวอย่างอิสระ หรือสร้างไม้พี่เลี้ยงต่อโดยการปลูกกล้วยแซมแทรกระหว่างต้นมะปราง-มะยงนั้น ถ้าใบกล้วยบังแดดไม้ประธานก็ให้ริดใบกล้วยออก ทั้งนี้รากกล้วยที่ชอนไชไปทั่วแปลงปลูกจะช่วยให้มะปราง-มะยงสดชื่นอยู่เสมอ
เตรียมแปลง
1.ไม่ควรจัดแปลงแบบสวนยกร่องน้ำหล่อ แต่ให้จัดแปลงแบบยกร่องแห้งลูกฟูก มีร่องสะเด็ดน้ำและทางระบายน้ำ
2.ปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ(แกลบดิบ แกลบดำ กระดูกป่น เศษพืช ฯลฯ) สารปรับปรุงบำรุงดิน (ยิบซั่มธรรมชาติ) และจุลินทรีย์ (หน่อกล้วย. พด. ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง)
3.กำหนดจุดปลูกมะปราง-มะยง
4.ปลูกกล้วยสำหรับเป็นไม้พี่เลี้ยง ณ จุดที่ต้องการปลูกมะปราง-มะยง
5.ปลูกต้นกล้ามะปราง-มะยงลงในใจกลางกอกล้วย
หมายเหตุ :
- นำต้นกล้ามะปราง-มะยงเสริมราก 2-3 ราก ทุกรากเจริญดีลงปลูกในแปลงจริง ถ้าไม่มีกล้วยหรือไม้ยืนต้นอื่นๆเป็นไม้พี่เลี้ยงให้ใช้ซาแลนหรือทางมะพร้าวคลุมบังแดด แต่ถ้ามีต้นกล้วยเป็นไม้พี่เลี้ยงให้ปลูกต้นกล้าลงข้างๆหรือใจกลางกอกล้วย จากนั้นบำรุงตามปกติจนกระทั่งกล้าต้นนั้นแตกใบอ่อนแล้ว 2-5 ชุดจึงนำซาแลนหรือทางมะพร้าวออกก็ได้ ส่วนกอกล้วยจะคงไว้บางต้นเพื่อเอารากหรือนำออก (ฆ่า)ทั้งหมดก็ได้
- งดใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด แต่ใช้วิธีตัดแต่งเพื่ออาศัยวัชพืชหรือหญ้าช่วยรักษาความชื้นหน้าดิน
ระยะปลูก
- ระยะปกติ 6 X 6 ม. หรือ 6 X 8 ม.
- ระยะชิด 4 X 4 ม. หรือ 4 X 3 ม.
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา (แห้งเก่าข้ามปี) ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- ตัดแต่งเพื่อการแตกยอดใหม่ให้ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค กิ่งมุมแคบ ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
- มะปราง-มะยงออกดอกติดผลจากปลายยอดของกิ่งที่เฉียงขึ้น 45 องศา ดังนั้นจึงควรตัดทิ้งกิ่งในทรงพุ่มทั้งหมดและเพื่อไม่ให้แตกยอดใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดีและเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- นิสัยมะปราง-มะยงมักออกดอกหลังจากกระทบหนาวได้ระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงควรตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น หมายความว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วยังไม่ต้องตัดแต่งกิ่งแต่ให้บำรุงตามปกติต่อไปก่อน จนกระทั่งเข้าสู่หน้าฝนจึงลงมือตัดแต่งกิ่ง
ตัดแต่งราก :
- มะปราง-มะยงไม่ชอบการตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิ
ภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นให้ใช้วิธีล่อรากขึ้นมาที่ผิวพื้นด้วยการพูนโคนต้นด้วยดิน 3 ส่วนกับอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน
- ต้นอายุหลายปีระบบรากเก่าและแก่มากให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม.หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม