-
++kasetloongkim.com++ - Content
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ

เมนูหลัก

» หน้าแรก
» เว็บบอร์ด
» ผู้ดูแล
» ไม้ผล
» พืชสวนครัว
» พืชไร่
» ไม้ดอก-ไม้ประดับ
» นาข้าว
» อินทรีย์ชีวภาพ
» ฮอร์โมน
» จุลินทรีย์
» ปุ๋ยเคมี
» สารสมุนไพร
» ระบบน้ำ
» ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
» ไร่กล้อมแกล้ม
» โฆษณา ฟรี !
» โดย KIM ZA GASS
» สมรภูมิเลือด
» ชมรม

ผู้ที่กำลังใช้งานอยู่

ขณะนี้มี 499 บุคคลทั่วไป และ 0 สมาชิกเข้าชม

ท่านยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก หากท่านต้องการ กรุณาสมัครฟรีได้ที่นี่

เข้าระบบ

ชื่อเรียก

รหัสผ่าน

ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิก? ท่านสามารถ สมัครได้ที่นี่ ในการเป็นสมาชิก ท่านจะได้ประโยชน์จากการตั้งค่าส่วนตัวต่างๆ เช่น ฉากหรือพื้นโปรแกรม ค่าอ่านความคิดเห็น และการแสดงความเห็นด้วยชื่อท่านเอง

สถิติผู้เข้าเว็บ

มีผู้เข้าเยี่ยมชม
PHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG CounterPHP-Nuke PNG Counter ครั้ง
เริ่มแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

product13

product9

product10

product11

product12

มะม่วง




หน้า: 1/7


                    มะม่วง

      ลักษณะทางธรรมชาติ

    * เป็นไม้ผลยืนต้นอายุนับร้อยปี ทรงพุ่มกว้างสูงใหญ่ ไม่ผลัดใบ ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทุกภาค และทุกฤดูกาล ชอบดินดำร่วนมีอินทรีย์วัตถุมากๆ ต้นมีรากแก้วทนต่อน้ำท่วมขังค้างนานได้ดีแต่ต้นที่ไม่มีรากแก้วหรือมีแต่รากฝอยทนได้ระยะเวลาหนึ่ง
 
                
    * มีทั้งสายพันธุ์ทะวายแบบออกดอกติดผลปีละ 2 รุ่น แบบออกดอกติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่นและสายพันธุ์ธรรมดาออกดอกติดผลปีละ 1 รุ่น ซึ่งสายพันธุ์ที่ออกดอกติดผลปีละรุ่นนี้ ต้นที่สมบูรณ์เต็มที่เพราะได้รับการบำรุงดีต่อเนื่องกันหลายๆปีก็สามารถออกดอกติดผลเป็นทะวายแบบไม่มีรุ่นได้

    * เป็นไม้ผลยืนต้นที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในบรรดาไม้ผลยืนต้นทุกชนิด

 
   * เป็นหนึ่งในไม้ผลยืนต้นไม่กี่ชนิดที่ตอบสนองต่อสารบังคับ (พาโคลบิวทาโซล.อีเทฟอน. เอ็นเอเอ. จิ๊บเบอเรลลิน.) ได้ดีจนทำให้ออกนอกฤดูได้
                
    * การบังคับให้มะม่วงออกนอกฤดูหรือในฤดู นอกจากวิธีราดสารพาโคลบิวทาโซลแล้วยังใช้วิธีแบบอาศัยวิธีอื่นได้ เช่น แกล้งให้น้ำท่วม. ควั่นกิ่ง. สับเปลือกลำต้น. รมควัน. เป็นต้น

    * ออกดอกติดผลที่ปลายกิ่งเสมอ ต้นที่ผ่านการบำรุงอย่างสมบูรณ์ต่อเนื่องมานานหลายปี เมื่อบำรุงให้ต้นได้สะสมตาดอกจนเกิดอาการอั้นตาดอกเต็มที่ดีแล้วตัดยอด จากนั้นลงมือเปิดตาดอกด้วยวิธีการปกติ มะม่วงต้นนั้นจะออกดอกติดผลจากกลางกิ่งแก่และตามลำต้นได้.....
หรือบำรุงมะม่วงด้วยสูตรสะสมตาดอกช่วงหน้าฝนแล้วมีฝนตกลงมาจนเป็นเหตุให้ต้นแตกใบอ่อน ให้เด็ดใบอ่อนนั้นทิ้งทั้งหมดแล้วสะสมตาดอกต่อไปจนกระทั่งหมดฝน ซึ่งการสะสมตาดอกช่วงนี้มะม่วงต้นนั้นจะไม่แตกใบอ่อน เมื่อหมดฝนแล้วให้เปิดตาดอกตามปกติ มะม่วงต้นนั้นก็จะออกดอกที่ซอกใบ ท้องกิ่ง หรือที่ลำต้น การที่มะม่วงต้นนี้ไม่ออกดอกที่ปลายกิ่ง เนื่องจากปลายกิ่งไม่มียอด (เดือยไก่)นั่นเอง

    * ฝนชะช่อมะม่วง หมายถึง น้ำฝนชะล้างช่อดอก ทำให้ช่อดอกสะอาด ส่งผลให้ดอกรุ่นนั้นติดเป็นผลดกดี การติดตั้งหัวสปริงเกอร์เหนือทรงพุ่มหรือใช้น้ำฉีดใส่ช่อดอกเป็นการเลียนแบบธรรมชาติก็ทำให้ช่อดอกสะอาดได้เช่นกัน

    * มะม่วงต้นที่ช่อใบอ่อนแตกใบใหม่ ใบสีเขียวอมแดงจะออกดอกติดผลง่ายกว่าต้นที่ช่อใบแตกใหม่สีเขียว

    * ช่วงอั้นตาดอก สังเกตุเดือยไก่ ถ้าเดือยไก่ชี้ตรงเมื่อเปิดตาดอกจะออกเป็นดอก แต่ถ้าเดือยไก่โค้งงอเมื่อเปิดตาดอกจะออกเป็นใบ                

    * การติดตั้งสปริงเกอร์  2 แบบในต้นเดียวกัน คือ  แบบพ่นฝอยในทรงพุ่มสำหรับฉีดพ่นสารสกัดสมุนไพร ปุ๋ย และฮอร์โมนทางใบ ซึ่งให้ปริมาณการให้แต่ละครั้งเจือจางมากและให้พอเปียกใบเท่านั้น และแบบให้ น้ำเม็ดใหญ่โคนต้น สำหรับให้น้ำปกติหรือปุ๋ยทางรากซึ่งต้องใช้น้ำและปริมาณปุ๋ยค่อนข้างมาก การให้ปุ๋ยทางรากผ่านหัวสปริงเกอร์ในทรงพุ่มเปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบจนลงถึงพื้นนั้นเนื่องจากอัตราใช้ปุ๋ยทางรากแต่ละครั้งมากเกินกว่าที่ใบจะรับได้ เมื่อปุ๋ยทางรากเหล่านี้ผ่านใบจะทำให้ใบไหม้         

    
* มะม่วงอายุมากต้นสูงใหญ่ ทรงพุ่มแน่นทึบ แสงแดดส่องไม่ทั่วภายในทรงพุ่มจะออกดอกติดผลน้อย แก้ไขโดยตัดกิ่งหรือยอดประธาน เรียกว่า  "ผ่ากบาล" เป็นการเปิดช่องให้แสงแดดส่องกระจายทั่วภายในทรงพุ่มส่งผลให้ออกดอกติดผลดีขึ้น
                
    * ลักษณะต้นที่เป็นลำต้น (เปล้า) เดี่ยวๆสูงจากพื้นหรือกิ่งง่ามแรกสูงจากพื้น 80-120 ม.จะให้ผลผลิตดีกว่าต้นที่ลำต้นต่ำหรือง่ามแรกอยู่ชิดพื้น กับทั้งช่วยให้ตัดแต่งกิ่งเพื่อเปิดช่องให้แสงแดดและลมผ่านดีกว่าอีกด้วย 
                

    * ดอกมะม่วงในช่อเดียวกันจะมีจำนวนเกสรตัวผู้มากกว่าจำนวนเกสรตัวเมีย มะม่วงน้ำดอกและอกร่องมีเกสรตัวผู้มากที่สุดในบรรดามะม่วงด้วยกัน ถ้าปลูกแซมแทรกระหว่างมะม่วงพันธุ์อื่นที่มีจำนวนเกสรตัวผู้น้อยแบบคละกัน เช่น เขียวเสวย. แก้ว. ฟ้าลั่น. พิมเสน. ฯลฯ เกสรตัวผู้ของน้ำดอกไม้และอกร่องจะไปช่วยผสมกับเกสรตัวเมียของมะม่วงพันธุ์ที่มีเกสรตัวผู้น้อยเหล่านั้นทำให้ติดเป็นผลดกและดีขึ้น
 
               
    * ในแปลงปลูกมะม่วงควรมีแต่มะม่วงอย่างเดียวล้วนๆ แต่ให้มีหลายๆสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ของการถ่ายละอองเกสร ซึ่งจะให้ได้ผลผลิตดีกว่าการปลูกมะม่วงแซมแทรกหรือสลับไม้ผลอื่นหรือปลูกไม้อื่นที่มีขนาดทรงพุ่มเท่าๆกันแซมแทรก
                
    * เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาด
สารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
                
    * การสัตว์ฝังซากสัตว์โคนต้น เสริมด้วยสารอาหารกลุ่มสร้างดอกบำรุงผลอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีติดต่อกัน  มะม่วงหนักอย่างเขียวเสวย. ฟ้าลั่น. อกร่อง. พิมเสน. ฯลฯ ก็สามารถออกดอกติดผลได้ตลอดปีแบบไม่มีรุ่นได้
                
    * แก้อาการกิ่งเลื้อยที่เกิดตามลักษณะสายพันธุ์ หรือต้นกล้าที่ขยายพันธุ์มาจากต้นแม่ราดสารพาโคลบิวทาโซลด้วยการฉีดพ่น 0-39-39, 0-42-56, 0-21-74, ฮอร์โมนกดใบอ่อนสู้ฝน, นมสดสัตว์หรือ กลูโคส สามารถลดอาการกิ่งเลื้อยได้ หรือปล่อยให้เลื้อยไปจนสุดฤทธิ์จึงตัดกิ่งชิดลำต้นประธานแล้วเรียกยอดใหม่ ทำซ้ำ 2-3 รอบ อาการกิ่งเลื้อยจะหายกลายเป็นต้นปกติ

 
   * กิ่งพันธุ์หรือต้นกล้าที่เป็นกิ่งแก่จนเปลือกเป็นสีน้ำตาล กิ่งชี้ลง (ใบชี้กลับทิศหรือชี้ลงดิน) ข้อสั้น เมื่อนำลงปลูกจะโตช้า                

    * ต้นตอที่มีระบบรากดีที่สุด คือ ตลับนาค. แก้ว. ซึ่งเหมาะสำหรับทำตอทาบกิ่ง  เปลี่ยนยอด  เสียบเปลือก และเสริมรากให้แก่มะม่วงพันธุ์ดี แต่มะม่วงป่า (กะล่อน, มุดม่วง) มีกลิ่นขี้ใต้แรงจึงไม่เหมาะสำหรับทำตอ
                

    * มะม่วงพันธุ์ดีเสียบยอดบนตอมะม่วงป่า(กะล่อน)เมื่อยอดที่เสียบโตขึ้นผลที่ได้จะมีกลิ่นขี้ใต้

    * วิธีปลูกต้นกล้าโดยวางลงบนพื้น ณ จุดที่ต้องการปลูก (ไม่ต้องขุดหลุม) แล้วพูนโคนต้นด้วยดินและอินทรีย์วัตถุหนาท่วมโคนต้นกล้า แผ่กว้างเต็มพื้นที่ คลุมทับด้วยเศษพืชหรือหญ้าแห้งหนาๆอีกชั้น ยิ่งหนายิ่งดี ใช้ไม้ค้ำยันป้องกันลมพัดโยก การปลูกวิธีนี้จะช่วยให้กล้ายืนต้นได้เร็ว เพราะการเจริญเติบโตของรากในช่วงแรกนั้น รากหาอาหารจะเจริญก่อนออกหาอาหารที่ผิวดิน (ผิวดินลึกไม่เกิน 15-20 ซม.มีสารอาหารมากที่สุด)จากนั้นรากยึดต้นจึงจะเจริญตามภายหลัง แบบนี้จะทำให้ต้นกล้ายืนต้นได้เร็ว
                
    * การปลูกต้นกล้าแบบขุดหลุมลึก นำดินในหลุมขึ้นมาผสมอินทรีย์วัตถุแล้วใส่กลับลงในหลุมอย่างเดิม จากนั้นจึงปลูกต้นกล้าลงไปนั้น เมื่อรากทุกรากของต้นกล้าเจริญเติบโตไปถึงผนังหลุม ทุกรากจะวกกลับมากลางหลุม เพราะดินผนังหลุมแข็งและด้านนอกไม่มีสารอาหารแต่ในหลุมมีสารอาหาร ราก ที่วกกลับมาจะเจริญเติบโตต่อไปจนถึงผนังอีกด้านหนึ่งแล้วก็วกกลับเข้ากลางหลุมอีก วกไปแล้ววกมาอย่างนี้จนเกิดอาการรากวนในหลุม  ส่งผลให้ต้นไม่โตเรียกว่า นั่งหลุม จนกระทั่งตายไปในที่สุด
       
                
    * การปลูกต้นกล้าในหลุมโดยนำดินในหลุมขึ้นมาผสมอินทรีย์วัตถุ แล้วใส่กลับคืนลงไปในหลุมอย่างเดิมนั้น เนื่องจากดินผสมใหม่หลวม ยามฝนตกลงมาหรือรดน้ำมากๆน้ำจะขังค้างในหลุมและดินในหลุมจะยุบตัว ต้นกล้าที่ปลูกแล้วปักหลักผูกยึดติดกับหลักจนแน่น เมื่อดินในหลุมยุบตัวแต่ต้นกล้าไม่สามารถยุบตัวต่ำตามได้เพราะถูกเชือกผูกรัดเอาไว้ จึงทำให้รากหลุดจากดินปลูกก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้นกล้าไม่เจริญเติบโตหรืออาจตายได้
 
                
    * การนำต้นกล้าที่ชำในเข่งไม้ไผ่ลงปลูกไม่ต้องถอดต้นกล้าออกมาจากเข่งแต่ให้ปลูกพร้อมกับเข่งได้เลย ต่อไปเข่งจะเน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยเอง ระหว่างที่เข่งยังไม่เปื่อยนั้นรากก็สามารถเจริญเติบโตแทงทะลุเข้งออกมาได้ แบบนี้ทำให้รากไม่กระทบกระเทือน  ผิดกับต้นกล้าในถุงดำ จังหวะที่ถอดต้นกล้าออกจากถุงนั้นมีโอกาสรากระทบกระเทือนได้
                
    * ต้นพันธุ์ขนาดใหญ่ สูง 2-3 ม.ขึ้นไป เมื่อนำลงปลูกในแปลงจริง ให้ริดใบ ตัดกิ่งย่อย และกิ่งแขนงออกให้มากที่สุดเพื่อลดการคายน้ำ หลังจากระบบรากเจริญและยืนต้นได้จะมีใบแตกใหม่ออกมาดีกว่าใบเก่า ส่งผลให้ต้นรอดตายหรือชงักการเจริญเติบโตน้อยลง
                
    * ต้นพันธุ์แก่หรืออายุมากๆจะเจริญเติบโตช้ากว่า และให้ผลผลิตด้อยกว่าต้นกล้าอ่อนหรือกลางอ่อนกลางแก่  
                

    * อาการยางไหลตามลำต้นในมะม่วงเขียวเสวยเป็นลักษณะประจำสายพันธุ์ แก้ไขด้วยการให้ ธาตุรอง/ธาตุเสริม และบำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอ กรณีที่มะม่วงสายพันธุ์อื่นเกิดอาการยางไหลย่อมหมายถึงการขาดธาตุรอง/ธาตุเสริมอย่างรุนแรงเช่นกัน
                
    * มะม่วงอายุต้นเป็นสาวแล้วบำรุงด้วยวิธีแบบให้มีอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่อง 3-5 ปี หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วเรียกใบอ่อนด้วยสูตรปกติ เมื่อใบอ่อนออกมาระยะยอดผักหวานแล้วให้สูตรสะสมอาหารเพื่อการออกดอกทันที พอใบเพสลาดก็ให้ลงมือเปิดตาดอก มะม่วงต้นนั้นจะแทงยอดอ่อนใหม่อีกครั้งพร้อมกับมีดอกออกตามมาด้วย
                
    * มะม่วงประเภททะวายออกผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่น (ดอก + ผลเล็ก + ผลกลาง + ผลแก่)เมื่อบำรุงผลแก่ด้วยสูตร บำรุงผลก่อนเก็บเกี่ยว จะทำให้ ดอก. ผลเล็ก. และผลกลาง. ชะงักการเจริญเติบโตถึงร่วงได้ ดังนั้นมะม่วงประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับรับประทานผลดิบมากว่า ทั้งนี้มะม่วงดิบไม่ต้องการความหวาน จากเหตุผลดังกล่าว หากต้องการมะม่วงเพื่อรับประทานผลสุกจึงต้องบำรุงให้ได้ผลเป็นรุ่นเดียวกันทั้งต้นเพราะสามารถบำรุงเร่งหวานได้โดยผลรุ่นหลังไม่กระทบกระเทือน

 
   * ใช้ถุงบรรจุทรายมัดปากถุงด้วยเชือก นำขึ้นผูกกับกิ่งประธานขนาดใหญ่เพื่อถ่วงน้ำหนักให้กิ่งนั้นให้เอนลงระนาบกับพื้นแล้วตัดแต่งกิ่ง หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้วจะมีกิ่งใหม่แตกออกมาชี้ขึ้น 45 องศาหรือมากกว่ากับกิ่งประธาน กิ่งที่แตกใหม่นี้จะออกดอกติดผลดีกว่ากิ่งใหม่ที่แตกเองตามธรรมชาติจากกิ่งประธานที่ไม่ได้โน้มระนาบกับพื้น
                
    * กิ่งแขนงที่ทำมุมเฉียงขึ้นกับกิ่งประธาน 45 องศา (กิ่งประธานระนาบกับพื้น) จะออกดอกง่ายและติดเป็นผลดีกว่ากิ่งแขนงที่ระนาบกับพื้นหรือชี้ลง
                
    * แก้ไขมะม่วงออกดอกติดผลปีเว้นปีด้วยการปรับช่วงเวลาในการใส่ปุ๋ยทางดิน เช่น เคยใส่ 3 กก./ต้น/ 3 เดือน เปลี่ยนเป็นใส่ 500 กรัม/ต้น/ 15 วัน เมื่อรวมระยะเวลา 3 เดือนแล้วต้นก็ยังคงได้รับปุ๋ย 3 กก.เท่าเดิม.....นี่คือ วิธีใส่ปุ๋ยแบบ ให้น้อยแต่บ่อยครั้งตรงเวลา นั่นเอง

   
 * มะม่วงสายพันธุ์เดียวกันที่แทงช่อใบ (ใบ) หรือช่อดอก (ก้านดอก) เป็นสีแดงจะให้ผลผลิตคุณภาพดีกว่าใบหรือก้านดอกเป็นสีเขียว            

    * บำรุงมะม่วงด้วยสูตรสะสมอาหารเพื่อการตาดอกช่วงหน้าฝน ต้องเน้นบำรุงด้วยเทคนิค “กดใบอ่อนสู้ฝน” โดยให้ทางใบด้วย 0-42-56 หรือ 0-21-74 สลับด้วยแคลเซียม โบรอน. นมสด. ฮอร์โมนไข่.อาจจะให้บ่อยๆ แบบวันต่อวัน – วันเว้นวัน หรือให้ทันทีหลังฝนตกใบแห้ง  ทั้งนี้เพื่อให้ต้นได้สะสมอาหารกลุ่ม ซี. ให้มีปริมาณมากกว่าอาหารกลุ่ม เอ็น.(จากฝน) อยู่ตลอดเวลานั่นเอง...ถ้ากดใบอ่อนสู้ฝนไม่สำเร็จ ต้นยังแตกใบอ่อน ให้ใช้เทคนิคเด็ดยอดอ่อนที่แตกใหม่ทิ้งทั้งหมด แล้วบำรุงด้วยสูตรสะสมอาหารเพื่อการออกดอกจนกว่าจะหมดฝน  เมื่อหมดฝนแล้วลงมือเปิดตาดอกด้วย  13-0-46 + ไธโอยูเรีย + ฮอร์โมนไข่  มะม่วงต้นนั้นก็จะออกดอกที่ซอกใบปลายกิ่ง ท้องกิ่งแม้แต่บนลำต้น ทั้งนี้เป็นเพราะไม่มีปลายยอดให้ดอกออกนั่นเอง ผลที่ออกผิดตำแหน่งเช่นนี้สามารถบำรุงให้มีคุณภาพดีได้ไม่ต่างจากผลปลายอด

    * ห่อผลมะม่วงประเภทกินสุกด้วยถุงกระดาษหนา ด้านในสีดำด้านนอกสีน้ำตาล  นอกจากช่วยให้สีผลสวยกว่าการห่อด้วยกระดาษทึบสีเดียวหรือถุงกร๊อบแกร๊บแล้ว ยังทำให้ได้แคโรทีนอยด์. คลอโรฟีลล์ เอ.และ บี. ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชนต่อร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    * ต้นแก่อายุหลายสิบปีให้ผลผลิตน้อยและคุณภาพไม่ค่อยดี  แก้ไขด้วยการตัดแต่งกิ่งแบบทำสาวแล้วบำรุงเลี้ยงยอดใหม่ 1 ปีก็จะกลับมาให้ผลผลิตดกและดีเหมือนต้นยังสาว.......หรือมะม่วงที่ขนาดต้นใหญ่และสูงมาก ใบมาก กิ่งแน่นทรงพุ่ม  ฤดูกาลที่ผ่านมาออกดอกติดผลบ้างไม่ออกบ้าง ขนาดผลเล็ก ไม่ดก คุณภาพไม่ดี ไม่เคยตัดแต่งกิ่งปรับทรงพุ่มและไม่เคยปฏิบัติบำรุงใดๆ ทุกอย่างปล่อยตามธรรมชาติทั้งสิ้น ก็สามารถทำให้ออกดอกได้  โดยเริ่มบำรุงทางรากแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือนฝัง ใส่ยิบซั่มธรรมชาติ  กระดูกป่น  ปุ๋ยคอก และ 8-24-24 หว่านทั่วบริเวณทรงพุ่มแล้วรดน้ำทุก 7-10 วัน จากนั้นให้เสริมทางใบด้วยสูตรเปิดตาดอก 2-3 สูตรสลับกัน ห่างกันรอบละ 5-7 วัน จะพบว่าต้นเริ่มอั้นตาดอกหรือใบปลายกิ่งเริ่มแก่จัด เมื่อเห็นว่ามีอาการอั้นตาดอกดีแล้วให้ลงมือเปิดตาดอกด้วย 13-0-46 + 0-52-34 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม สลับครั้งกับ ฮอร์โมนไข่ + สาหร่ายทะเล   ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบ ช่วงเช้าแดดจัด 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน  มะม่วงเก่าแก่ต้นนั้นก็จะออกดอกมาให้ชม รุ่นปีแรกอาจจะไม่มากนักแต่รุ่นปีต่อๆไปจะมากขึ้นเนื่องจากความสมบูรณ์ต้นที่สะสมเอาไว้
      
                
    * มะม่วงสายพันธุ์ทะวายประเภทออกดอกติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่นสามารถทำให้ออกนอกฤดูด้วยวิธีง่ายๆ โดยเมื่อมะม่วงต้นนั้นออกดอกในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งตรงกับมะม่วงปีให้เด็ดดอกชุดนั้นทิ้งไปแล้วบำรุงต่อไปตามปกติ จากนั้นประมาณ 2-3 เดือน ก็จะแทงยอดแล้วออกดอกชุดใหม่จากยอดเดิมที่เคยถูกเด็ดดอกทิ้งนั้น ดอกชุดหลังนี้ก็จะกลายเป็นมะม่วงล่าฤดูไปโดยอัตโนมัติ

    * มะม่วงออกดอกจากปลายกิ่งเกิดใหม่ในปีนั้นๆเท่านั้น  นั่นคือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตัดแต่งกิ่งแล้วเรียกใบอ่อนเพื่อสร้างกิ่งและใบชุดใหม่เสมอ
                
    * ช่วงที่ดอกออกมายาวประมาณ 2-5 ซม. ฉีดพ่นด้วย 0-42-56  จะทำให้ดอกส่วนหนึ่งบอด (ร่วง) แต่ดอกอีกส่วนหนึ่งจะติดเป็นผลคุณภาพดีเมื่อโตขึ้น และหลังจากดอกที่บอดร่วงไปแล้วประมาณ 20-30 วันจะมีดอกชุดใหม่ออกตามมาอีกซึ่งดอกชุดนี้จะกลายเป็นมะม่วงล่าฤดู

    * สร้างต้นตอมะม่วงทะวายด้วยการเพาะเมล็ดให้เป็นต้นประธานรอไว้ก่อน แล้วเสริมรากด้วยต้นทะวายสายพันธุ์เดียวกัน 2-3 ราก จากนั้นเปลี่ยนยอดประธานเป็นมะม่วงสายพันธุ์ดีตามต้องการแต่ไม่ทะวาย เมื่อยอดพันธุ์ดีโตขึ้นถ้าไม่เป็นทะวายตามต้อนตอก็จะเป็นมะม่วงเบาที่ออกดอกง่ายและออกดอกติดผลดี......หรือเพาะเมล็ดจากต้นทะวาย ได้ต้นตอมาแล้วยกขึ้นทาบกับกิ่งต้นตัวเอง เมื่อได้กิ่งทาบมาแล้วแล้วชำในถุงดำและอนุบาลต่อ  จนกระทั่งนำลงปลูกในแปลงจริงแล้วให้เสริมรากด้วยตอจากเพาะเมล็ดต้นตัวเองอีก 1-2 ราก จะช่วยให้มะม่วงทะวายต้นนั้นมีลักษณะทะวายดียิ่งขึ้นไปอีก

    * นำยอดมะม่วงพันธุ์ดีเริ่มอั้นตาดอกหรืออั้นตาดอกเต็มที่  เสียบบนยอดหรือเสียบข้างให้แก่มะม่วงอีกต้นหนึ่งด้วยวิธีการเสียบปกติ เมื่อยอดที่นำมาเสียบนั้นติดดีจะออกดอกติดผลต่อได้ เนื่องจากได้รับสารอาหารจากต้นรับการเสียบ
                
    * มะม่วงพันธุ์กิ่งทาบหรือกิ่งตอนเมื่อนำลงปลูกปกติจะออกดอกติดผลได้เมื่ออายุ 1-1 ปีครึ่ง ซึ่งค่อนข้างเสียเวลา แก้ไขโดยการนำยอดอ่อนของต้นพันธุ์ดีไปเสียบเปลือกหรือเสียบยอดบนต้นมะม่วงพันธุ์อะไรก็ได้ที่ให้ผลผลิตแล้ว  หลังจากการเสียบติดดีแน่นอนแล้วเมื่อต้นรับฝากแตกใบอ่อนยอดพันธุ์ดีที่นำไปฝากก็จะแตกใบอ่อนด้วยและเมื่อต้นรับฝากออกดอก ยอดพันธุ์ดีที่นำไปเสียบเปลือกหรือเสียบยอดก็จะออกดอกติดผลตามด้วยเช่นกัน กรณีนี้ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามากเพราะจะได้ผลผลิตจากยอดที่นำไปเสียบในรุ่นปีนั้นเลย
                

    * มะม่วงเพาะเมล็ด (เพื่อการสร้างสายพันธุ์ใหม่) ถ้ารอให้ออกดอกติดผลเองต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี ซึ่งถือว่านานมาก แก้ไขโดยนำยอดของต้นเพาะเมล็ดไปเสียบยอดหรือเสียบเปลือกไว้กับต้นมะม่วงพันธุ์อะไรก็ได้ที่โตให้ผลผลิตแล้ว หลังจากเสียบยอดหรือเสียบเปลือกติดดีแน่นอนแล้ว เมื่อต้นรับฝากแตกใบอ่อน ยอดพันธุ์จากเพาะเมล็ดที่นำไปฝากก็จะแตกใบอ่อนด้วย และเมื่อต้นรับฝากออกดอกยอดพันธุ์จากเพาะเมล็ดที่นำไปเสียบเปลือกหรือเสียบยอดก็จะออกดอกตามด้วยอีกเช่นกัน กรณีนี้ทำให้ไม่เสียเวลาเพราะยอดของต้นจากเพาะเมล็ดจะออกดอกติดผลมาให้พิสูจน์สายพันธุ์ในรุ่นปีนั้นเลย
  
                
    * ช่วงผลเริ่มพัฒนาจะมีก้านดอก (หางหนู) ติดคู่กับขั้วผลเสมอ ให้รักษาหางหนูนี้ไว้สำหรับเป็นเครื่องหมายสังเกตช่วงผลแก่ โดยถ้าหางหนูแห้งครึ่งหนึ่งของความยาวแสดงว่ามะม่วงผลนั้นแก่จัดแล้ว
                  

    * มะม่วงไว้ผลเดียวเมื่อถึงระยะผลเข้าไคลแล้วตัดหางหนูส่วนหนึ่งทิ้ง จากนั้นบำรุงด้วยสูตร หยุดเมล็ดสร้างเนื้อ ตามปกติจะได้ผลขนาดใหญ่กว่าผลที่ไม่ได้ตัดหางหนู
          
    * ตรวจสอบความแก่ของผลมะม่วงโดยการลอยน้ำ ถ้าผลใดลอยน้ำแสดงว่ายังไม่แก่ หรือผลจมน้ำแสดงว่าแก่จัดกว่าผลลอยน้ำ
                

    * มะม่วงแก่จัดจนสุกคาต้น (สุกปากตะกร้อ) เมื่อนำไปบ่มจนสุกงอม  จะได้ความหวานน้อยกว่าผลแก่จัด (80-90%) แต่ดิบแล้วนำไปบ่ม
                
    * มะม่วงกินสุกช่วงเป็นผลดิบ  เมื่อสุกจะมีรสหวานมากกว่า  มะม่วงกินสุกที่ช่วงผลดิบรสมันหรือเปรี้ยวน้อย
                

    * มะม่วงน้ำปลาหวาน  หมายถึง  มะม่วงดิบรับประทานกับน้ำปลาหวาน  อายุผลไม่จำเป็นต้องแก่จัดเพราะต้องการรสออกเปรี้ยวนำอยู่แล้ว  การบำรุงด้วยธาตุรอง/ธาตุเสริม.อย่างสม่ำเสมอจะทำให้รสเปรี้ยวนั้น  “เปรี้ยวอร่อย”  ไม่ใช่เปรี้ยวแบบมะม่วงยำ....วิธีบำรุงง่ายๆ (ทางใบ : ฮอร์โมนไข่.  ฮอร์โมนน้ำดำ.  สูตรขยายขนาด และสารสกัดสมุนไพร......ทางราก : ยิบซั่ม.  กระดูกป่น.  มูลวัว+มูลไก่+แกลบดิบ.  ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิง.)  ผลไหนใหญ่ก่อนเก็บก่อน ไม่ต้องห่อผลเพราะก่อนรับประทานต้องปอกเปลือกอยุ่แล้ว เทคนิคการขาย คือ  หั่นมะม่วงเป็นชิ้นๆขนาดน่ารับประทาน  ใส่กล่องโฟม ชิ้นมะม่วงเมื่อถูกหั่นล้วจะไม่รู้เลยว่ามะม่วงผลนั้นขนาดใหญ่หรือเล็ก ในกล่องมีถุงน้ำปลาหวาน จุดขาย คือ น้ำปลาหวานต้องอร่อย..ปลูกมะม่วงสายพันธุ์เบาที่ออกดอกติดผลง่าย ออกตลอดปี เนื้อดิบแข็งกรอบ ผลใหญ่ ระยะชิดพิเศษ 2 X 2 ม.(1 ไร่/400 ต้น) ทำต้นเตี้ยโดยหมั่นตัดแต่งกิ่ง ทั้งนี้มะม่วงพันธุ์เบาเมื่อแตกยอดใหม่มักออกดอกตามทันที โดยไม่ต้องปฏิบัติบำรุงตามขั้นตอนแต่อย่างใด

 
   * มะม่วงเบา (ภาคใต้)นิยมทำมะม่วงยำ เพราะผลเล็กพอเหมาะกับทำอาหาร 1 มื้อ กลิ่นหอมชวนรับประทาน                

    * ในอดีตมะม่วงดองต้องทำจากมะม่วงแก้วเท่านั้น เพราะเป็นมะม่วงดิบเนื้อแข็ง แต่ปัจจุบัน  มะม่วงดิบเนื้อไม่แข็ง สามารถทำมะม่วงดองได้ด้วยเทคนิคการดองสมัยใหม่.......มะม่วงดิบราคา 5 บาท/กก.(หน้าสวน) ถ้าทำเป็นมะม่วงดองราคาเพิ่มเป็น กก.ละ 15 บาท และจากมะม่วงดองเป็นมะม่วงแช่อิ่ม ราคาเพิ่มเป็น กก. 30-50 บาท  ถือว่าราคาดีกว่ามะม่วงกวน เพราะต้นทุนต่ำกว่านั่นเอง 

    * การผลิตมะม่วงเป็นสวนเชิงการค้า ในปัจจุบันจะมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่ม  และควบคุมอายุของยอดเพื่อการบังคับการออกดอก ดังนั้น การนำเอาธาตุอาหารพืชออกไปจากดินก็ขึ้นกับปริมาณผลผลิตและน้ำหนักของกิ่งที่ตัดแต่งออกไป ผลการวิจัย ในโครงการจัดการธาตุอาหารพืชในมะม่วง เพื่อต้องการทราบว่ามะม่วง 1 ต้น จะนำธาตุอาหารจากดินไปใช้ในปริมาณเท่าใด เป็นดังนี้
      - มะม่วงทั้งต้น(เฉลี่ย ทั้ง ใบ กิ่ง ก้าน และทุกๆส่วนของราก)น้ำหนัก 1 กก. มีไนโตรเจน 5.8 กรัม   ฟอสฟอรัส 1.5 กรัม   และ โพแทสเซียม 4.5 กรัม
      - ผลมะม่วงสด น้ำหนัก 1 กิโลกรัม  มีไนโตรเจน 5.78 กรัม  ฟอสฟอรัส 15.0 กรัมและโพแทสเซียม 45 กรัม
        ซึ่งสรุปได้ว่า สัดส่วนของ ไนโตรเจน : ฟอสฟอรัส : โพแทสเซียม  ของมะม่วงทั้งต้น = 4.5:1.0:3.8 .... ของผลมะม่วง = 6.7:1.0:6.5 




หน้าถัดไป (2/7) หน้าถัดไป


Content ©