หน้า: 1/5
มังคุด
ลักษณะทางธรรมชาติ
* เป็นไม้ผลยืนต้นอายุหลายสิบปี ถ้าไม่มีต้นไม้ใหญ่อื่นบังแสงแดดขนาดทรงพุ่มจะสูงไม่มากนักแต่ถ้ามีต้นไม้ใหญ่อื่นบังแสงแดดต้นจะแข่งแย่งแสงแดดขนาดทรงพุ่มจึงสูง
* เจริญเติบโตดีในพื้นที่ชุ่มชื้น ทั้งความชื้นในดินและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ในแปลงปลูกจึงควรมีไม้อื่นที่ความสูงเท่าๆกันแซมแทรก
* เจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ปลูกเนื้อดินลึกมากกว่า 1 ม.ขึ้นไป....แปลงปลูกที่เนื้อดินเหนียว หรือระดับน้ำใต้ดินตื้น ต้นมังคุดจะไม่เจริญเติบโต แตกยอดออกมาแล้วใบไหม้ สุดท้ายก็ยืนต้นตาย เนื้อดินเหนียวนี้แม้แต่ระบบรากแก้ว ระบบพี่เลี้ยงก็ช่วยไม่ได้
* ปลูกเดี่ยวๆเป็นแปลงขนาดใหญ่มักไม่ค่อยได้ผล แต่ถ้ามีไม้ผลอื่น เช่น ทุเรียน. เงาะ. มังคุด. ส้มโอ. ลองกอง. มะไฟ. แซมแทรกแบบสลับคละกันจะเจริญเติบโตได้ดี
* ช่วงระยะกล้าตั้งแต่เริ่มปลูกถึง 3 ปีจำเป็นต้องมีไม้พี่เลี้ยง โดยการปลูกไม้ผลอื่นๆลงไปก่อน เมื่อไม้พี่เลี้ยงยืนต้นได้จนทั่วบริเวณสวนเกิดความร่มเย็นดีแล้วจึงลงมือปลูกต้นกล้ามังคุด วิธีปลูกกล้วยนำไปก่อน ณ จุดที่ต้องการปลูกมังคุด เมื่อต้นกล้วยโตขึ้นก็ให้ปลูกต้นกล้ามังคุดลงไปที่ใจกลางกอกล้วยนั้นเลย รากกล้วยช่วยสร้างความชื้นในดิน ส่วนใบกล้วยช่วยสร้างร่มเงา และความชื้นสัมพัทธ์ซึ่งจะส่งผลให้ต้นกล้ามังคุดโตเร็ว หรือปลูกทองหลางแทรกระหว่างต้นมังคุด เลี้ยงทองหลางให้มีใบมากหรือน้อยตามความเหมาะสมกับมังคุด รากทองหลางกับรากมังคุดที่อยู่ร่วมกันนั้น รากทองหลางซึ่งตรึงไนโตรเจนมาจากอากาศก็จะแบ่งปันให้แก่มังคุดด้วย
ไม้พี่เลี้ยงมีความจำเป็นสำหรับกล้ามังคุดย่างมาก ถ้าไม่มีไม้พี่เลี้ยงช่วยบังแดดเมื่อใบอ่อนมังคุดแตกออกมาจะเกิดอาการใบไหม้ โตช้า และชะงักการเจริญเติบโต ทั้งนี้ มังคุดระยะกล้าต้องการแสงแดดเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแสงแดดส่องปกติ
* ตามปกติต้นที่โตให้ผลผลิตแล้วต้องการแสงแดดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ดี นั่นคือ ถ้าพื้นดินแปลงปลูกแห้งแล้งและต้นไม่สมบูรณ์พอจะเกิดอาการปลายใบไหม้ เพราะฉะนั้นในแปลงปลูกมังคุดควรต้องมีเศษพืชคลุมหน้าดินเสมอ การเลี้ยงหญ้าคลุมหน้าดินกับมีต้นกล้วยหรือพืชอื่นแซมแทรกช่วยสร้างความชื้นจะช่วยลดอาการปลายใบไหม้ได้
* ปริมาณแสงแดดมีอิทธิพลต่อการออกดอกติดผลของมังคุดอย่างมาก กล่าวคือ ถ้าแสงแดดส่องจากภายนอกทรงพุ่มเข้าในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงจะออกดอกติดผลได้ทั้งกิ่งนอกทรงพุ่มและกิ่งในทรงพุ่ม แต่ถ้าได้รับแสงแดดไม่ทั่วทรงพุ่ม โดยเฉพาะกิ่งในทรงพุ่มได้แสงแดดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ นอกจากกิ่งในทรงพุ่มจะไม่ออกดอกติดผลแล้ว กิ่งนอกทรงพุ่มยังออกดอกติดผลน้อยอีกด้วย
* ต้นพันธุ์จาก “เพาะเมล็ด” ไม่กลายพันธุ์ เมื่อโตขึ้นทรงพุ่มจะกลมสวยและให้ผลผลิตดี
มังคุดมีอยู่พันธุ์เดียวเรียกกันว่าเป็นพันธุ์พื้นเมือง เพราะเป็นพืชที่ปลูกด้วยเมล็ด และเมล็ดมังคุดไม่ได้เกิดจากการผสมเกสร จึงแทบจะไม่มีโอกาสกลายพันธุ์เลย แม้จะพบว่ามังคุดสายพันธุ์จากเมืองนนท์ มีผลเล็กและเปลือกบาง มังคุดปักใต้เปลือกหนา แต่ยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนพอที่จะแยกเป็นพันธุ์ได้ ส่วนการขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด เสียบยอดและทาบกิ่ง แต่วิธีที่นิยมปฏิบัติกันมาก คือ การเพาะเมล็ด เพราะสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว ต้นมังคุดที่ได้ไม่กลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ต้องใช้เวลานานถึง 7-8 ปีกว่าจะได้ผลผลิต แต่หากมีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดีก็อาจได้ผลเร็วกว่านี้ ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอดที่นำพันธุ์ดีจากต้นที่เคยให้ผลมาใช้ เป็นวิธีที่ช่วยให้มังคุดให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น
โดยปกติมังคุดจะออกผลมาให้เราบริโภคกันในช่วงย่างเข้าฤดูฝน ในเนื้อของมังคุดนั้นนอกจากจะมีรสชาติชวนให้ลิ้มรสลองแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ได้แก่ วิตามินและเกลือแร่อื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น น้ำตาล กรดอินทรีย์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก นอกจากนี้ยังมีกากใยที่ช่วยในการขับถ่ายอีกด้วย มีเรื่องเล่ากันว่า หากอยากรู้ว่าจำนวนเนื้อภายในของผลมังคุดมีเท่าใด ก็ให้นับปริมาณกลีบดอกที่ติดอยู่ภายนอกผลดู เท่านี้ก็เป็นอันรู้ได้แล้ว ใครใคร่ทดสอบก็ลองดูได้ตามสะดวก
* ต้นพันธุ์จากเพาะเมล็ดแล้ว “เสียบด้วยยอดของกิ่งกระโดง” เมื่อโตขึ้นทรงพุ่มกลมสวย และให้ผลผลิตดีเช่นกัน
* ต้นพันธุ์ “ตอนจากกิ่งกระโดง” เมื่อโตขึ้นทรงพุ่มกลมสวย และให้ผลผลิตดีเช่นกัน
* ต้นพันธุ์ “ตอนจากกิ่งข้าง หรือ ต้นเพาะเมล็ดแล้วเสียบยอดด้วยยอดของกิ่งข้าง” เมื่อโตขึ้นกิ่งจะเลื้อย ทรงพุ่มแบน และให้ผลผลิตไม่ดี
* ต้นพันธุ์ “เพาะเมล็ดหรือตอนแล้วเสริมราก-เสียบด้วยยอดกิ่งกระโดง” เป็นต้นพันธุ์ดีที่สุด โตเร็ว ทรงพุ่มกลมสวย ให้ผลผลิตดี
* ต้นพันธุ์ที่ชำในถุงดำนานๆจนกระทั่งมีรากบางส่วนแทงทะลุออกมานอกถุงแล้วนั้น รากในถุงบริเวณก้นถุงจะหมุนวนเมื่อนำไปปลูกจะเกิดอาการรากวนในหลุมทำให้โตช้า แนวทางแก้ไข คือ เปลี่ยนถุงดำเพาะชำให้มีขนาดใหญ่และสูงขึ้นทุก 3-4 เดือน หรือหลังจากถอดต้นกล้าออกจากถุงดำเพื่อนำลงปลูกให้ตัดรากส่วนก้นถุงออก 1 ใน 4 ของจำนวนรากทั้งถุงทิ้งไปก่อน หรือจัดรากที่หมุนวนให้ชี้ตรงออกข้างรอบทิศทางก่อนก็ได้
* ให้ผลผลิตปีละ 1 รุ่น ปัจจุบันยังไม่มีฮอร์โมนหรือสารใดๆบังคับให้ออกนอกฤดูได้
* ต้นที่มีความสมบูรณ์เป็นทุนเดิมหรือได้รับการบำรุงภายหลังอย่างถูกต้อง หลังจากเปิดตาดอกจนดอกชุดแรกออกมาแล้วจะมีทั้งดอกและใบอ่อนชุดหลังทยอยออกตามมาอีก กลายเป็นผลและใบหลายชุดในต้นเดียวกัน กรณีนี้แก้ไขด้วยการให้ 0-42-56 + ธาตุรอง/ธาตุเสริม + นมสัตว์สด โดยฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบลงถึงพื้น ทุกครั้งที่มีดอกและใบอ่อนออกมา (ประมาณ 2-3 รอบ) หรือให้จนกว่าต้นจะยุติการออกดอกชุดใหม่ ทั้งนี้การแตกใบอ่อนของมังคุดจะไม่ทิ้งดอกหรือผลเล็ก......สารอาหารชุดนี้นอกจากช่วยบำรุงดอกและกดใบอ่อนชุดใหม่ไม่ให้ออกแล้ว ยังเร่งใบอ่อนชุดที่ออกมาก่อนให้แก่เร็วขึ้นอีกด้วย
* ช่วงที่ดอกออกมาใหม่ๆ ถึงระยะหลังผสมติด สังเกตุกลีบหุ้มหรือกลีบเลี้ยงที่ขั้วดอกหรือผล ถ้ากลีบหุ้มเหนือดอกเป็นสีเขียวเข้ม หนา ใหญ่ แสดงว่าดอกมีความสมบูรณ์สูง ดอกลักษณะนี้เมื่อพัฒนาเป็นผลก็จะเป็นผลที่คุณภาพดี ความสมบูรณ์ของดอกมาจากความสมบูรณ์ของต้น และความสมบูรณ์ของต้นมาจากความสมบูรณ์ของดินและสารอาหารพอเพียง ถูกต้อง เทคนิคการบำรุงด้วย "ฮอร์โมนน้ำดำ" ซึ่งมีแม็กเนเซียม. กับสังกะสี.เป็นส่วนประกอบหลัก ธาตุอาหาร 2 ตัวนี้จะช่วยบำรุงต้นให้สมบูรณ์อยู่เสมอ
* ต้นโตให้ผลผิตแล้วมีสภาพทรงพุ่มขนาดใหญ่ กิ่งยาวดูเก้งก้าง มักไม่ออกดอกติดผล แก้ไขด้วยการใช้ พาโคลบิวาโซล 1.75 กรัม ผสมน้ำตามความเหมาะสมฉีดพ่นให้แก่มังคุด 1 ต้น 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 10-20 วัน จะช่วยให้กิ่งหยุดยาว ใบมีขนาดกว้างขึ้นแต่สั้นลง.......ถ้าใช้พาโคลบิวาโซลอัตราเดียวกันนี้ฉีดพ่นให้แก่ต้นมังคุดช่วงเรียกใบอ่อนก็จะช่วยให้ต้นแตกใบอ่อนด้วยระยะเวลาเพียง 140 วันและแตกใบอ่อนใหม่ติดต่อกันถึง 3 ชุด
* มังคุดอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติอย่างมาก กล่าวคือ ถ้าสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะความชื้นไม่เหมาะสมจะให้ผลผลิตไม่ดี ดอกร่วง ผลเล็ก ผลไม่ดก บางครั้งออกดอกติดผลปีเว้นปี หรือเว้น 2 ปี แต่ถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมดีต่อเนื่องสม่ำเสมอก็พร้อมที่จะออกดอกติดผลทุกปีได้
* มังคุดต้องการความชื้นหน้าดินสูงจึงควรให้มีพืชหรือวัชพืชคลุมดินตลอดเวลา การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของมังคุดอย่างมาก
* เหตุปัจจัยที่ทำให้เนื้อมังคุดเป็นเนื้อแก้วมีหลายประการ เช่น แมลงปากกัดปากดูดเข้าทำลายช่วงผลเล็ก, ผล (ทุกระยะ) ถูกกระแทกเนื่องจากลมพัดไปปะทะกับกิ่งข้างเคียง, ขาดสารอาหารรอย่างรุนแรง, ช่วงผลสีระดับ 4-6 ได้รับน้ำมากเกินหรือน้อยเกิน, ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงเกิน, และเก็บเกี่ยวผลแล้วผลร่วงกระแทกกับเครื่องมือเก็บเกี่ยวหรือร่วงลงกระทบพื้น
* ระยะผลแก่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวคือ หลังดอกบาน 11-12 อาทิตย์ ซึ่งผลจะมีพัฒนาการให้เห็นได้ด้วยการสังเกตสีของเปลือก โดยสีของเปลือกจะเปลี่ยนแปลงเป็น 7 ระดับ ดังนี้
สีระดับ 0 ผลมีสีขาวอมเหลืองสม่ำเสมอ หรือขาวอมเหลืองมีแต้มเขียวอ่อนหรือจุดสีเทา มียางสีเหลืองภายในเปลือกรุนแรงมาก เนื้อและเปลือกยังแยกออกจากกันไม่ได้ ผลประเภทนี้แม้จะเปลี่ยนสีผลเป็นระดับ 6 ได้ก็ไม่มีคุณภาพ
สีระดับ 1 ผลมีสีเหลืองอ่อนอมเขียว มีจุดชมพูกระจายอยู่บนบางส่วนของผล ยางภายในเปลือกยังคงอยู่ในระดับรุนแรง เนื้อและเปลือกยังไม่สามารถแยกจากกันได้ ผลที่เก็บเกี่ยวในระยะนี้ถึงแม้จะเปลี่ยนไปเป็นสีผลระดับ 6 ได้ก็ไม่มีคุณภาพเช่นกัน
สีระดับ 2 ผลมีสีเหลืองอ่อนอมชมพู มีจุดประชมพูกระจายทั่วผล ยางภายในเปลือกอยู่ในระดับปานกลาง การแยกตัวระหว่างเนื้อกับเปลือกอยู่ระหว่างยากถึงปากลาง เป็นระยะผลอ่อนที่ดีที่สุดสำหรับการเก็บเกี่ยวซึ่งจะได้ผลคุณภาพดี
สีระดับ 3 ผลสีชมพูสม่ำเสมอ จุดประสีชมพูเริ่มขยายเข้ามารวมกัน ไม่แบ่งแยกอย่างชัดเจนเหมือนช่วงสีระดับ 2 ยางภายในเปลือกยังคงมีอยู่แต่น้อย เปลือกกับเนื้อแยกกันได้ยากปานกลาง
สีระดับ 4 ผลสีแดงหรือน้ำตาลอมแดง บางครั้งมีแต้มสีม่วง ยางภายในเปลือกมีน้อยมากจนถึงไม่มีเลย การแยกตัวระหว่างเนื้อกับเปลือกดีมาก เป็นระยะเกือบพร้อมรับประทาน
สีระดับ 5 ผลสีม่วงอมแดง ภายในเปลือกไม่มียาง เนื้อและเปลือกแยกกันได้ง่าย เป็นระยะที่รับประทานได้ และเหมาะสมต่อการส่งออก
สีระดับ 6 ผลสีม่วงหรือม่วงเข้มจนถึงดำ บางครั้งพบว่ามีสีม่วงปนอยู่เล็กน้อย ภายในเปลือกไม่มียาง เนื้อและเปลือกแยกออกจากกันได้ง่าย เป็นระยะรับประทานดีที่สุด
หมายเหตุ :
* สรุประยะเวลาในการปฏิบัติบำรุงต่อมังคุดให้ได้ผลผลิตที่ดีในแต่ละรอบปีการผลิต ดังนี้
ส.ค. – ก.ย. แตกใบอ่อน
ต.ค. – พ.ย. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
ธ.ค. เปิดตาดอก
ม.ค. – มี.ค. บำรุงผล
เม.ย. – พ.ค. เก็บเกี่ยว (ได้ผลผลิตคุณภาพดี)
มิ.ย. – ก.ค. เก็บเกี่ยว (ได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดี)
* สรุปการปฏิบัติและการแก้ไขกรณีที่มังคุดออกดอกและไม่ออกดอก ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของมังคุด คือ ความสมบูรณ์ของต้นและอายุใบตั้งแต่ใบอ่อนถึงใบแก่ไม่น้อยกว่า 9-12 สัปดาห์ ช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช.ตรงกับสภาพอากาศ (แล้ง) เหมาะสมติดต่อกันอย่างน้อย 20-30 วัน และให้น้ำเพื่อกระตุ้นตาดอกอย่างถูกวิธี ดังนี้
1. เมื่อสิ้นฤดูฝน ต้นมีความสมบูรณ์ อายุใบ 9-12 สัปดาห์และสภาพอากาศแล้ง ให้งดน้ำประมาณ 20-30 วัน จนต้นมีอาการใบสลดและปลายกิ่งเหี่ยว แล้วให้น้ำรอบแรกเต็มที่ปริมาณ 400-600 ล./ต้นทรงพุ่ม 5-6 ม. เมื่อต้นได้รับน้ำจะสดชื่นอย่างเดิม พร้อมกับตาดอกภายในเริ่มพัฒนาพร้อมที่จะแทงออกมา หลังจากต้นฟื้นสดชื่นขึ้นมาแล้วรอสังเกตอาการ 7-10 วัน ถ้าก้านใบและกิ่งปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำรอบสองปริมาณครึ่งหนึ่งของรอบแรก ให้น้ำรอบสองไปแล้วประมาณ 10-24 วันจะเริ่มมีตาดอกผลิออกมาให้เห็น
2. เมื่อสิ้นฤดูฝน ต้นมีความสมบูรณ์ อายุใบ 9-12 สัปดาห์และพร้อมที่จะออกดอกแล้ว แต่สภาพอากาศมีฝนชุก ให้ฉีดพ่น “น้ำ 100 ล.+ 13-0-46 (1 กก.) + สาหร่ายทะเล 200 ซีซี.” หลังจากนั้น 10-20 วันเริ่มให้น้ำรอบแรกเต็มที่ ต้นมังคุดก็จะแทงดอกออกมา
สายพันธุ์
ดอกมังคุดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ก้านเกสรตัวผู้ไม่ได้ยาวออกมาภายนอกดอกเหมือนดอกไม้ผลทั่วๆไป แต่เกสรทั้งสองอยู่ภายในดอกแล้วผสมกันเอง เมื่อเกสรไม่ได้รับการผสมจากต้นอื่นจึงไม่มีโอกาสกลายพันธุ์จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ นั่นคือ มังคุดมีเพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น การที่คุณภาพของผลผลิตของมังคุดแตกต่างกันนั้นสาเหตุเกิดจากการปฏิบัติบำรุง
การขยายพันธุ์
เพาะเมล็ด :
เลือกเมล็ดที่ใหญ่สุดในผลจัดคาต้น นำเมล็ดออกมาล้างเนื้อให้หมด ผึ่งลมให้แห้งแล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะทันทีหรือเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องไม่เกิน 7 วัน ก่อนนำเมล็ดลงเพาะ (เพาะทันทีหลังออกจากผลหรือเก็บไว้ก่อน) ให้แช่เมล็ดในไคตินไคโตซานหรือธาตุรอง/ธาตุเสริม 12-24 ชม. นำขึ้นผึ่งลมให้แห้งแล้วจึงนำไปเพาะ...เพาะเมล็ด 1 เมล็ด/1 ต้น หรือผ่าเมล็ดทางขวางออกเป็นแว่น 3-4 แว่น/เมล็ด แช่ในไคตินไคโตซานหรือธาตุรอง/ธาตุเสริมก่อนแล้วนำไปเพาะก็ได้ เมล็ด 1 แว่นจะงอกเป็นกล้า 1 ต้น.....ต้นที่ได้จาการเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 6-8 ปี
ปล่อยให้ผลแก่จัดคาต้น หล่นลงพื้นแล้วงอกขึ้นมาเอง รอให้ต้นที่งอกใหม่โตขนาดเท่านิ้วก้อย ก็ให้ขุดขึ้นมา มีดินเดิมหุ้มรากมากๆ นำลงถุงดำ อนุบาลจนต้นแข็งแรงดีจึงนำลงปลูกในแปลงจริงต่อไป
ตอน :
เลือกกิ่งกระโดง อายุกลางอ่อนกลางแก่ อวบอ้วนสมบูรณ์ ยาว(สูง)50-80 ซม. หลังจากควั่นกิ่ง ลอกเปลือก ขูดเยื่อเจริญแล้ว ทาแผลรอบควั่นด้วย เอ็นเอเอ. เจือจาง (16 ซีซี./น้ำ 1 ล.)จากนั้นจึงหุ้มด้วยตุ้มตอนขุยมะพร้าวตามปกติ จะช่วยให้รากออกเร็ว จำนวนมากและแข็งแรงดี
เสียบยอด :
โดยเพาะเมล็ดแล้วเลี้ยงต้นกล้าจนได้ขนาดลำต้น ½ ซม.หรือเท่าดินสอดำ นำยอดของกิ่งกระโดงมาเสียบด้วยวิธีการเสียบยอดตามปกติ ต้นตอพืชสกุลเดียวกันที่ให้มังคุดอาศัยเสียบยอดได้ ได้แก่ ชะมวง.มะพูดป่า.พะวา.รง. และต้นที่เกิดจากการเสียบยอดจะให้ผลผลิตเมื่ออายุ 3-4 ปี
หมายเหตุ :
- ปลูกมังคุดแบบให้รากแก้วเกาะหลัก โดยปักเสาไม้เนื้ออ่อนลึก 1-1.5 ม. ลง ณ จุดที่ต้องการปลูกจริงก่อน แล้วย้ายต้นกล้าที่รากแก้วเริ่มเจริญยาวลงข้าง (ชิด) หัวหลัก เมื่อรากเจริญยาวจะเกาะหลักลงลึกไปเรื่อยๆ จนสุดปลายหลัก พร้อมกับแตกรากแขนงออกทางข้างจำนวนมาก มังคุดที่มีรากแก้วยาวและตรงดิ่งลงสู่พื้นดินลึกๆจะเจริญเติบโตเร็ว
- ทั้งต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดและจากการเสียบยอด หากมีการเสริมราก 2-3 ราก จะให้ผลผลิตเร็วกว่าอายุต้นจริง 2-3 ปี และการมีรากมากกว่าปกติจึงทำให้ผลผลิตคุณภาพดีกว่าต้นที่มีรากแก้วเพียงรากเดียวอีกด้วย
เตรียมแปลง
1. ไม่ควรจัดแปลงแบบสวนยกร่องน้ำหล่อ แต่ให้จัดแปลงแบบยกร่องแห้งลูกฟูกมีร่องสะเด็ดน้ำและทางระบายน้ำ
2. ปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ (แกลบดิบ แกลบดำ ยิบซั่มธรรมชาติ กระดูกป่น เศษพืช ฯลฯ)
3. กำหนดจุดปลูกมังคุด
4. ปลูกไม้พี่เลี้ยง
5. ปลูกมังคุด
หมายเหตุ :
มังคุดระยะกล้า (อายุต้น 1-3 ปีแรกหลังปลูก) ถ้าได้ร่มเงาจากไม้พี่เลี้ยงครอบคลุมทรงพุ่มมังคุดไม่ทั่วหรือแสงแดดร้อนจัดส่องถึงได้จะทำให้ใบอ่อนไหม้ แก้ไขด้วยการทำซุ้มซาแลนคลุมอีกชั้นหนึ่งก็จะช่วยป้องกันแสงแดดเผาใบอ่อนไหม้ได้
ระยะปลูก
- ระยะปกติ 8 X 8 หรือ 12 X 12 ม.
- ระยะชิด 4 X 4 หรือ 6 X 6 ม.
เตรียมดินและอินทรีย์วัตถุ
- ใส่ปุ๋ยคอก (มูลวัวเนื้อ/นม + มูลไก่ไข่/เนื้อ/นกกระทา...แห้งเก่าข้ามปี)ปีละ 2 ครั้ง
- ให้ยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง
- ให้กระดูกป่น ปีละ 1 ครั้ง
- คลุมโคนต้นด้วยเศษพืชแห้งหนาๆเต็มพื้นที่บริเวณทรงพุ่ม ล้ำออกไปถึงนอกเขตทรงพุ่ม
- ให้ฮอร์โมนบำรุงราก 2-3 เดือน/ครั้ง
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพสูตรระเบิดเถิดเทิงหรือจุลินทรีย์ 1-2 เดือน/ครั้ง
หมายเหตุ :
- การฝังซากสัตว์ เช่น หอยเชอรี่ ปลาสด เป็นชิ้นเท่าลูกมะนาวหรือบดละเอียด ที่ชายเขตทรงพุ่ม 4-5 หลุม/ต้นทรงพุ่ม 3-5 ม. ฝังปีเว้นปี เพื่อให้ต้นมีสารอาหารกินตลอด 24 ชม. ต่อเนื่องหลายๆปีจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์สูงพร้อมต่อการบำรุงทุกขั้นตอน
- ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ (ทางใบ-ทางราก) บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นหยุดการเจริญเติบโต ไม่แตกใบอ่อน ผลหยุดขยายขนาดแล้วกลายเป็นผลแก่ การให้ทางใบอาจเป็นแหล่งอาศัยและแพร่ระบาดของเชื้อราได้
- ให้กลูโคสหรือนมสัตว์สดเฉพาะช่วงสำคัญ เช่น เร่งใบอ่อนเป็นใบแก่ สะสมอาหาร บำรุงผลกลาง ช่วงละ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 20-30 วัน.......ถ้าให้บ่อยเกินไปจะทำให้ต้นเกิดอาการนิ่ง ไม่ตอบสนองต่อสารอาหารหรือฮอร์โมนใดๆทั้งสิ้น
- ฮอร์โมนธรรมชาติและฮอร์โมนวิทยาศาสตร์จะให้ประสิทธิภาพเต็มร้อยก็ต่อเมื่อ ต้นมีสภาพความสมบูรณ์สูง
เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง :
- ธรรมชาติมังคุดมักแตกกิ่งอย่างเป็นระเบียบอยู่แล้ว การตัดแต่งจึงทำเพื่อให้แตกยอดใหม่โดยตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลง กิ่งไขว้ กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค ทั้งนี้ภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้และเพื่อไม่ให้แตกยอดใหม่ป้องกันทรงพุ่มทึบเกินไปให้ตัดชิดลำกิ่งประธาน
- ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล)ณ ความสูงต้นตามต้องการ นอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้ว แสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี และเพื่อควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มอีกด้วย
- ลักษณะโครงสร้างต้นมังคุดที่ดีควรมีใบด้านนอกทึบแต่ด้านในโปร่ง ดังนั้นการเลือกตัดกิ่งออกกับคงเหลือกิ่งไว้ต้องคำนึงถึงช่วงที่ติดผลในภายหน้าด้วย
- ตัดแต่งกิ่งทันทีหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเพื่อฟื้นฟูสภาพต้นเรียกความสมบูรณ์กลับคืนมาโดยเร็ว นอกจากทำให้ต้นไม่โทรมแล้ว ยังช่วยให้ต้นตอบสนองอย่างดีต่อขั้นตอนการบำรุงในฤดูกาลหน้าอีกด้วย
- นิสัยมังคุดต่อการออกดอกไม่จำเป็นต้องกระทบหนาว การตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนช่วงต้นหน้าฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
ต้นมังคุดที่แทงยอดออกมา 2 ยอด ขนานกันขึ้นไปทำให้กิ่งแขนงมีมากเกินไปควรตัดเลี้ยงไว้เพียงยอดเดียว แล้วการตัดแต่งกิ่งมังคุดไม่ให้สูงเกินไป มีเทคนิคอย่างไรบ้าง ?
การตัดแต่งมังคุดไม่จำกัดอายุ แต่ถ้าตัดยอด ควรตัดยอดให้ความสูงไม่เกิน 7-8 เมตร เพราะจะสะดวกในการดูแลรักษา เช่นการพ่นยา ป้องกันเพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนกินใบอ่อน การพ่นยาจะพ่นได้ทั่วถึง ..... ต้นมังคุดปกติจะมีเพียงยอดเดียว จึงควรตัดเลี้ยงไว้เหลือเพียงยอดเดียวโดยเลือกกิ่งที่อ่อนแอกว่าออก เหลือกิ่งที่แข็งแรง หากไม่ต้องการให้ต้นมังคุดสูงเกินไป ควรตัดยอดมังคุดออกไม่ให้สูงเกินไป เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวแต่ถ้าหากมังคุดต้นใหญ่ การตัดยอดออกอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อผลผลิตในปีแรกๆ บ้าง ยังไม่มีการตัดแต่งกิ่งมังคุดควรจะตัดกิ่งแขนงด้านข้างที่ประสานกันและบังแสงแดดออกให้โปร่งได้รับแสงแดดทุกกิ่ง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ตัดยอดออกเมื่ออายุได้กี่ปี สูงประมาณเท่าไรครับ และถ้าเลี้ยงเป็น 2 ยอด จนต้นมีอายุ 7-8 ปี ก็ให้ทำวิธีเดียวกันใช่ไหมครับ ? ขอบคุณครับ
ต้นมังคุดที่แทงยอดออกมา 2 ยอด ขนานกันขึ้นไป ทำให้กิ่งแขนงมีมากเกินไป ควรตัดเลี้ยงไว้เพียงยอดเดียว แล้วการตัดแต่งกิ่งมังคุดไม่ให้สูงเกินไป มีเทคนิคอย่างไรบ้าง ?
การตัดแต่งมังคุดไม่จำกัดอายุ แต่ถ้าตัดยอด ควรตัดยอดให้ความสูงไม่เกิน 7-8 เมตร เพราะจะสะดวกในการดูแลรักษา เช่น การพ่นยา ป้องกันเพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนกินใบอ่อน การพ่นยาจะพ่นได้ทั่วถึง ....... ต้นมังคุดปกติจะมีเพียงยอดเดียว จึงควรตัดเลี้ยงไว้เหลือเพียงยอดเดียวโดยเลือกกิ่งที่อ่อนแอกว่าออก เหลือกิ่งที่แข็งแรง หากไม่ต้องการให้ต้นมังคุดสูงเกินไป ควรตัดยอดมังคุดออกไม่ให้สูงเกินไป เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวแต่ถ้าหากมังคุดต้นใหญ่ การตัดยอดออกอาจจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อผลผลิตในปีแรกๆ บ้าง ยังไม่มีการตัดแต่งกิ่งมังคุดควรจะตัดกิ่งแขนงด้านข้างที่ประสานกันและบังแสงแดดออกให้โปร่งได้รับแสงแดดทุกกิ่ง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
http://www.kasetonline.net/newsite/index.php?id=45
ตัดแต่งราก :
- แม้ว่ารากแก้วมังคุดจะอยู่ลึกแต่รากฝอยกลับอยู่ที่ผิวหน้าดินตื้นๆ ดังนั้นจึงไม่ควรพรวนดินโคนต้นอย่างเด็ดขาด วิธีการพูนโคนต้นด้วยอินทรียวัตถุเพื่อล่อรากให้ขึ้นมาด้านบนจึงเหมาะสำหรับมังคุด
- ต้นอายุหลายปี ระบบรากเก่าและแก่มาก ให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10-15 ซม. หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม