เมื่อเทียบหรือไม่เทียบกับการพยายามสืบเสาะค้นหาเทคนิคที่สุดยอดในการกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาในต้นกฤษณาแล้ว การปลูกต้นกฤษณาดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ เพียงเข้าใจธรรมชาติจากแหล่งที่พบต้นกฤษณาจากป่าดิบชื้น หรือป่าดิบแล้ง นั่นเอง
ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกต้นกฤษณา จึงควรเป็นที่มีความชุ่มชื้น, เป็นที่เนิน, น้ำไม่ท่วม, น้ำไม่ขัง, เป็นดินที่มีการระบายน้ำดี หรือเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย การปลูกต้นกฤษณาอาจปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว หรือปลูกร่วมกับพืชหรือไม้ยืนต้นอื่น(สวนป่าวนเกษตร) เช่น ปลูกร่วมกับยางพาราหรือสวนผลไม้ หรือป่าชุมชน เนื่องจากต้นกฤษณาชอบแหล่งปลูกที่มีความชื้นสูงและต้องการร่มเงาบ้าง(สำหรับในที่แห้งแล้งยาวนาน)ขณะที่ต้นยังเล็กอยู่(1-2 ปี) การปลูกต้นกฤษณาร่วมกับยางพาราจึงเป็นการเปลี่ยน "พื้นที่ว่างระหว่างแถวต้นยางที่ไร้ค่า" มาเป็น "พื้นที่ที่สุดล้ำค่า" ในสวนยางพารา นั่นเอง และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือว่า หากท่านต้องการตั้งโรงงานเพื่อกลั่นน้ำมันกฤษณาด้วย ก็จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าพื้นที่ในจังหวัดและอำเภอใดสามารถตั้งโรงงานกลั่นได้หรือไม่
เนื่องจากเวบไซต์นี้มุ่งเน้นด้านการทำสวนยางพารา จึงจะขอกล่าวเฉพาะการปลูกต้นกฤษณาในสวนยางพาราเท่านั้น เนื่องจากต้นกฤษณามักเจริญเติบโตได้ดีในที่มีความชื้นพอสมควร ดังนั้นในเขตพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งอย่างยาวนานจึงควรปลูกต้นกฤษณาเมื่อสวนยางพารามีร่มเงาบ้างแล้ว จึ่งเหมาะที่จะปลูกเมื่อต้นยางพารามีอายุประมาณ 3-4 ปี แต่หากต้องการปลูกให้เร็วกว่านี้ ก็สามารถทำได้โดยอาจจะปลูกกล้วยเป็นพืชแซมยางเพื่อให้มีร่มเงาและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินก่อน สำหรับในภาคใต้ซึ่งอากาศไม่ร้อนมากนักและมีความชื้นในอากาศอย่างพอเพียง ก็สามารถปลูกต้นกฤษณาได้ตั้งแต่ปีแรก หรือปีที่ 2 ,3,4 โดยไม่จำเป็นต้องปลูกพืชแซมยางใด ๆ ก่อนก็ได้เช่นกัน เนื่องจากความนิยมในการปลูกต้นกฤษณาเริ่มมีมากขึ้นเมื่อ 3-4 ปีมานี้ ดังนั้นจึงมักพบเห็นการพยายามนำไม้กฤษณาไปปลูกในสวนยางพาราที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปบ้างพอสมควร ซึ่งการมีร่มเงามากเกินไปก็จะทำให้ต้นกฤษณาโตช้าหรือสูงผอมไปบ้างดังภาพ
พันธุ์ไม้กฤษณา
พันธุ์ไม้กฤษณาที่นิยมปลูกกันอยู่ทั่วไปในขณะนี้มักเป็นพันธุ์ Aquilaria crassna Pierre ex Lec. ซึ่งมีลักษณะเปลือกนอกเป็นสีเทาหรือเทาปนขาว ใบเป็นรูปเรียวถึงเรียวแหลม ลำต้นสูง10-30 เมตร ในขณะที่พันธุ์ Aquilaria malaccensis Lamk. อาจให้น้ำมันหอมที่มีคุณภาพที่ด้อยกว่าพันธุ์แรก ส่วนพันธุ์ Aquilaria subintegra Hou. นั้น ตอนนี้หาได้ค่อนข้างยากมาก ๆ
ระยะปลูกต้นกฤษณาในสวนยางพารา
- ปลูกทดแทนต้นยางที่ตาย ในกรณีที่ปลูกยางพาราไว้แล้วและอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปและต้นยางตาย (หลัง 2 ปี แล้วไม่ควรปลูกซ่อม) ก็สามารถปลูกต้นกฤษณาในหลุมนั้น หรือใก้ล ๆ หลุมนั้นได้
- ปลูกระหว่างแถวต้นยางพารา หากเป็นสวนยางพาราที่ขอทุนสงเคราะห์กับทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางหรือสกย. ซึ่งจะกำหนดให้ปลูกไม้ป่าในสวนยางพาราได้ไม่เกิน 15 ต้นต่อไร่โดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาติเพิ่มเติม ก็อาจจะปลูกต้นกฤษณาใน ระยะ 3x7 เมตร หรือ 6x7 เมตร หรือ 9x7 เมตร หรือปลูกระยะ 3x14 เมตร หรือ 6x14 เมตร หรือ 9x14 เมตร ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินจำนวนดังที่กล่าว
- ปลูกระหว่างแถวต้นยางพารา (เป็นสวนยางพาราที่ขอทุนสงเคราะห์กับทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางหรือสกย.) แต่ต้องการปลูกต้นกฤษณาให้ได้มากกว่า 15 ต้นต่อไร่ ซึ่งอาจปลูกระยะ 2x7 เมตร หรือ 3x7 เมตร ตลอดแถวต้นยางพาราทั่วทั้งแปลง กรณีแบบนี้ก็ต้องคุยหรือขออนุญาติกับทางสกย.ก่อน
- สำหรับผู้ที่ลงทุนปลูกยางพาราเอง และต้องการปลูกไม้กฤษณาในระยะ 2x7 เมตร หรือ 3x7 เมตร ตลอดแถวต้นยางพาราทั่วทั้งแปลง แม้จะทำได้ แต่ก็ต้องพิจารณาดูว่าในหน้าฝน ความชื้นที่มีมากขึ้นในสวนยางจะทำให้สวนยางเสี่ยงต่อโรคที่จะมาจากเชื้อราหรือไม่
การขุดหลุมปลูกต้นกฤษณา
- ให้ขุดหลุมปลูกแบบปลูกไม้ป่าทั่ว ๆ ไปก็ได้ คือ กว้าง 30 ซม. ยาว 30 ซม. และลึก 30 ซม. ตากดินไว้สัก 15-20 วัน
- จากนั้นทำการรองก้อนหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า ๆ หรือปุ๋ยหมักเล็กน้อย แล้วผสมปุ๋ยคอกเก่า ๆ หรือปุ๋ยหมักกับดินที่ขุดไว้ในอัตราส่วน 1:1 แล้วกลบดินลงหลุมจนเต็ม รอฤดูปลูกที่จะมาถึง ซึ่งก็ควรเป็นต้น หรือ กลางฤดูฝน
การปลูกต้นกฤษณา
ควรปลูกในต้น-กลางฤดูฝน โดยใช้มีดกรีดถุงออกและต้องระวังอย่าให้ดินแตก ปลูกให้ลึกจากระดับคอดินเดิมประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วกลบดินให้แน่น นำไม้ชนิดที่มีความแข็งพอสมควรปักใกล้โคนต้นกล้าแล้วมัดด้วยเชือกฟางเพื่อป้องกันลมพัด ทำการคลุมโคนด้วยหญ้าแห้ง (ต้นกฤษณาเมื่อโตขึ้นมักล้มง่าย การปลูกให้ลึกจากระดับคอดินเดิมประมาณ 2-3 นิ้วก็อาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้บ้าง)
การตัดแต่งกิ่งต้นกฤษณา
การตัดแต่งกิ่งคงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการปลูกด้วยว่าต้องการผลผลิตอย่างไรแบบไหน แต่ทั้งนี้ ก็ควรระมัดระวังไม่ตัดแต่งกิ่งจนทำให้การเจริญเติบโตชะงัก และการตัดแต่งกิ่งมากเกินไปอาจทำให้ส่วนบนหรือพุ่มใบใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการล้มได้ง่ายขึ้น
หมายเหตุ:
- เรื่องราวของไม้กฤษณาคงมีอีกมากมาย ที่สำคัญมาก ๆ ก็คือเทคนิคการกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาในปริมาณมาก ฯลฯ สำหรับในเวบนี้ก็คงเขียนเฉพาะที่จำเป็นในบางเรื่องเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ควรปลูกไม้กฤษณา อย่างน้อยสัก 25 ต้น เผื่อว่าในอนาคตเราอาจจะเปิดโรงกลั่นน้ำมันกฤษณาขนาดเล็ก (ขนาด 5 หม้อ)ของเราเองได้
- ใช่ว่าทุกคนหรือสวนยางพาราทุกสวนจะสามารถปลูกและจัดการกับผลผลิต(ชิ้นไม้กฤษณาหรือน้ำมันกฤษณา)ได้ หากเราศึกษาพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เราจะพบว่าไม้กฤษณาไม่ได้เป็นไม้หวงห้าม แต่ถูกกำหนดให้เป็น "ของป่าหวงห้าม" นั่นก็คือเป็นของป่าหวงห้ามเฉพาะกับไม้กฤษณาที่ขึ้นหรือปลูกในเขตป่าเท่านั้น แต่ถ้าเราปลูกต้นไม้กฤษณาในที่ไม่ใช่ป่า ก็จะไม่เป็น "ของป่าหวงห้าม" การปลูกต้นกฤษณาในที่ดินที่ไม่ใช่ป่า ก็คือการปลูกในที่ดินที่เรามีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน, น.ส. 3, น.ส. 3 ก เป็นต้น ดังนั้น สวนยางพาราแปลงใดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวก็จะต้องเจอปัญหาข้อกฎหมายเมื่อจะทำการเก็บของป่าหวงห้าม(ตอนปลูกไม่เป็นปัญหา)
- การขายผลผลิตจากต้นกฤษณาอาจขายเป็นน้ำมันกฤษณาหรือแก่นไม้กฤษณา หากขายเป็นน้ำมันกฤษณาจะขายโดยใช้หน่วยวัดปริมาณเป็นโตร่า(TORA) โดย 1 โตร่า เท่ากับ 12.5 ซีซี. ในประเทศไทยมีขายมากที่กรุงเทพฯ แถวซอยนานา ถนนสุขุมวิท ราคาขายโตร่าละ 4,000-10,000 บาทหรือลิตรละ 320,000-800,000 บาท แต่ถ้าส่งออกต่างประเทศราคาจะสูงไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของราคาในประเทศ สำหรับราคาของแก่นไม้กฤษณา มักขายเป็นกิโลกรัม หากเป็นไม้กฤษณาเกรด 1 ราคาจะประมาณ 70,000-200,000 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าส่งออกต่างประเทศราคาจะสูงไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของราคาในประเทศ เช่นกัน
การปลูกไม้กฤษณา
การเลือกพื้นที่ปลูกสวนไม้กฤษณา หรือไม้หอม(agarwood) ควรเลือกพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง ระบายน้ำได้ดี ไม่เป็นที่ลุ่ม หากเป็นที่ลาดเนินเขาจะดีที่สุด และมีลักษณะในการปลูกที่แตกต่างกันออกไป (ชมรมธุรกิจสวนไม้กฤษณา, 2549)
1 ระยะที่เหมาะสมในการปลูกไม้กฤษณา
ดีพร้อม (2547) กล่าวว่าระยะที่เหมาะสมสำหรับต้นกฤษณาคือ 2x2 เมตร, 2x3 เมตรระยะ 2x2 เมตร ปลูกได้จำนวน 400 ต้นต่อไร่ ระยะ 2x3 เมตร ปลูกได้จำนวน 266 ต้นต่อไร การกำหนดระยะปลูกต้นกฤษณาค่อนข้างถี่ ด้วยเหตุผลต้นกฤษณาต้องการความชื้นสูง เป็นการลดการสูญเสียน้ำจากดินที่ระเหยสู่บรรยากาศ และการโค่นล้มของต้นกฤษณา
2 การปลูกไม้กฤษณาเชิงเศรษฐกิจ
กฤษณาในป่าถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยไม่ได้มีการปลูกสร้างกลับสู่สภาพธรรมชาติดั้งเดิม ผลผลิตกฤษณาที่ออกมาสู่ตลาดโลกจึงลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ สวนทางกับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น จากปัญหาการลักลอบตัดไม้กฤษณาในป่าธรรมชาติ จนทำให้ต้นกฤษณาใกล้จะสูญพันธุ์ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์จากการตัดไม้ในป่าธรรมชาติเพื่อนำแก่นหรือชิ้นไม้กฤษณาไปขาย มาเป็นการปลูกไม้กฤษณาในพื้นที่เพื่อขายชิ้นไม้ หรือผลิตน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบกับในปัจจุบันสามารถใช้สารกระตุ้นให้ไม้กฤษณาปลูกสร้างสารกฤษณา(ชมรมธุรกิจสวนไม้กฤษณา, 2549) ทำให้การปลูกสร้างสวนป่าไม้กฤษณาเพื่อผลิตเป็นการค้าจึงมีความเป็นไปได้สูง
3 การปลูกไม้กฤษณาร่วมกับพืชสวน
การปลูกไม้กฤษณาจะต้องมีการพัฒนา จากการเป็นพืชป่าแบบดั่งเดิมมาเป็นพืชปลูกเพื่อผลทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปซึงเราสามารถพัฒนาการปลูกไม้กฤษณาให้มาอยูร่วมกับ พืชในสวนของเราแทนการเข้าไปตัดทำลายได้ ซึ่งการปลูกร่วมกับพืชสวนนั้นมีหลายแบบ เช่น การปลูกแซมสวนเก่า การปลูกแซมมะพร้าว การปลูกเป็นพืชแปลงเดี่ยว ปลูกกฤษณาสลับกับไม้ป่า(ดีพร้อม,2547)
3.1 ปลูกแซมสวนเก่า สวนพืชเศรษฐกิจที่มีสภาพร่มครึ้มมีความชุ่มชื้นคล้ายป่า เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนไม้ผล และแม้แต่มะพร้าว หากต้นเดิมตายลงแทนที่จะปลูกพืชชนิดเดิมก็สามารถปลูกกฤษณาเข้าไปแทนที่ได้ ตามลักษณะต่างๆ อาจจะกล่าวได้ว่า ที่ใดก็ตามที่ปลูกยางพาราขึ้นได้ก็สามารถปลูกกฤษณาขึ้นได้ เมื่อกฤษณาอายุได้ 3 ปี ก็เริ่มทำแผลและน่าจะเริ่มเก็บเกี่ยวไม้หอมได้ ตั้งแต่ปีที่ 5-6
3.2 ปลูกแซมมะพร้าว เนื่องจากมะพร้าวให้รายได้ต่ำมีความพยายามอยู่มากในการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวสวนมะพร้าว เช่น เลี้ยงโค แพะ แกะ ในสวนมะพร้าว, ปลูกโกโก้ในสวนมะพร้าว และโกโก้ราคาไม่ดี ปลูกมะพร้าวจากผลราคาถูกเพื่อขายยอดมะพร้าวอ่อนที่อายุ 3-4 ปี แต่ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติ พื้นที่ในสวนมะพร้าวลักษณะนี้สามารถที่จะปลูกต้นกฤษณาลงไปได้โดย ปลูกกระจายกันไปทั่วสวน สวนนี้ก็จะไม่ร้อนจัดเกินไปไม่ถูกลมโกรกมาก เมื่อเริ่มให้ผลผลิตคาดว่ากฤษณาก็ทำรายได้เพิ่มขึ้น ให้แก่สวนมะพร้าวได้เป็นอย่างดี
3.3 ปลูกเป็นแปลงพืชเดี่ยว ในพื้นที่แวดล้อมสภาพสวนไม้ผล สวนป่า หรือป่าไม้ ซึ่งจะให้ความชุ่มชื้นของอากาศได้ดี เราสามารถที่จะปลูกกฤษณาเข้าไปในสวนนี้ได้ นักลงทุนทำสวนป่าจัดสรรแบ่งพื้นที่ขายสามารถที่จะลดการปลูกกฤษณาเป็นพืชเดี่ยวๆ โดยมีการบำรุงดูแลที่ดีได้เพราะเป็นพืชที่มีราคาแพง สวนเกษตรกฤษณาอาจจะปลูกกฤษณาไร่ละ 400 ต้น(ดีพร้อม,2547) โดยเสียค่าใช้จ่ายกล้าพันธ์ในราคาใกล้เคียงกับสักทอง 400ต้น/ไร่ แต่จะลงทุนระบบน้ำหยดได้ถูกกว่าเพราะใช้หัวน้ำหยดเพียงแค่ 100 หัว จากที่สวนสักทองใช้ 400 หัว อย่างไรก็ตามอาจจะปลูกกฤษณาระยะชิด 2x2 เมตร หรือไร่ละ 400 ต้น โดยทำข้อตกลงพิเศษกับผู้ซื้อว่าให้ออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เฉพาะในส่วนของต้นกล้าที่นำมาปลูกแทนต้นสัก ปัจจุบันมีสวนเกษตรบางแห่งก็ได้เริ่มใช้วิธีนี้แล้ว และก็เป็นที่พอใจของผู้ซื้อ
3.4 ปลูกกฤษณาสลับกับไม้ป่า มีนักลงทุนบางคนต้องการที่จะลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชอย่างเดียว อาจจะใช้วิธีปลูกกฤษณาสลับแถวเว้นแถวกับพืชที่มีความสนใจมาแต่เดิม ซึ่งอาจจะปลูกต้นกฤษณาระยะ 4x4 เมตร แล้วปลูกต้นสักแซมในระหว่างกลางของ 4 เมตร ได้อีก 300 ต้น/ไร่ หรืออาจจะใช้วิธีปลูกต้นพยุง ที่ระยะ 4x4 เมตร ไร่ละ 100 ต้น แล้วปลูกแซมด้วยกฤษณาในระหว่างกลางของ 4 เมตร นั้นได้อีกไร่ละ 300 ต้น อาจจะใช้วิธีปลูกแถวสลับแถวไปตลอดความยาว ซึ่งแถวที่เป็นสักทอง แถวที่ 2 เป็นประดู่ แถวที่ 3 เป็นต้นพยุง แถวที่ 4 เป็นต้นกฤษณา แล้วจัดแถวหมุนเวียนไปเช่นเดิม วิธีนี้ก็ยังสามารถจัดการกับต้นไม้ตามวิธีการที่เหมาะสมกับกับไม้ชนิดนั้นๆ ได้ดีด้วย
สำหรับการปลูกสวนป่าไม้กฤษณา อาจปลูกในลักษณะของสวนป่าเชิงเดี่ยว หรือปลูกแบบวนเกษตรแล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ หรือปลูกไม้กฤษณาร่วมกับไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น สวนยางพารา สวนไม้ผล สวนไม้ป่า เป็นต้น แต่ควรปลูกในพื้นที่เนินไม่มีน้ำท่วมขัง และดินมีการระบายน้ำดี ตลอดจนควรมีความชื้นพอสมควร
4 การดูแลหลังการปลูก
การกระจายของไม้กฤษณาซึ่งพบในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นของประเทศไทยเป็นป่าที่มีความชื้นสูง การปลูกต้นกฤษณาจากการเป็นพืชป่ามาเป็นพืชปลูกเพื่อผลทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการดูแลเอาใจใส่ ถึงแม้ต้นกฤษณาจะเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว แต่จะปล่อยปละละเลยเสียทีเดียวคงไม่ได้ เพราะเราต้องการผลผลิตเป็นปริมาณเนื้อไม้ แล้วใช้เนื้อไม้มาผลิตสารกฤษณา ยิ่งทำให้ต้นไม้โตมากก็มีเนื้อมาก หรือทำให้มวลของเนื้อไม้หรือนำหนักมากก็ยิ่งผลิตสารกฤษณาได้มาก ไม้กฤษณาในช่วง 1-2 ปีแรก ต้นกฤษณายังเล็กอยู่รากมีจำกัดทำให้หาอาหารได้ไม่มาก เกษตรกรและผู้สนใจปลูกควรให้ความสนใจและการดูแลหลังการปลูก ในระบบต่างๆเช่น การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การริดกิ่ง การป้องกันไฟ ศัตรูไม้กฤษณา การกำจัดวัชพืช( ภาณุเมศวร์( 2549); ชมรมธุรกิจสวนไม้กฤษณา(2549) และ ดีพร้อม(2547)
4.1 การให้น้ำ ในระยะ 3 เดือนแรก ควรรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ วันเว้นวันพออายุโตขึ้น 3-6 เดือน ค่อยลดเวลาให้น้ำลงเป็น 3-5 วันต่อครั้ง จนอายุมากกว่า 1 ปีแล้ว อย่างน้อยควรรดน้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เว้นแต่ช่วงฝนตกไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพราะปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว
4.2 การใส่ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยจากขยะฟาง หญ้า ใบไม้ เศษพืช หลักการที่ถูกต้องคือการแบ่งใส่ในตลอดหน้าฝน หรือระยะเวลาที่ยังมีการรดน้ำอยู่ ใส่ให้ครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้งจะทำให้เกิดขบวนการย่อยสลายอย่างช้าๆ ถ้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ครั้งเดียวมากๆ และจุลินทรีย์ขึ้นอย่างเต็มที่จะไปยืมไนโตรเจนในดินไปใช้ชั่วคราว ทำให้พืชแสดงอาการขาดไนโตรเจน และถ้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ครั้งเดียวมากๆ อาจมีผลทางการหมักย่อมมีความร้อนเกิดขึ้น และเป็นอันตรายต่อราก
4.3 การริดกิ่ง การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งคัญในการปลูกไม้กฤษณา ถ้าจุดประสงค์ต้องการลำต้นเปลาตรงมาผลิตน้ำมันกฤษณา การตัดแต่งกิ่งจะทำให้ไม้กฤษณาเจริญเติบโตเร็ว ควรตัดกิ่งแขนงหรือกิ่งด้านข้าง กิ่งที่ไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยงใหญ่ของลำต้นออก ควรทำตั้งแต่ช่วงไม้สูงประมาณ 1 เมตร ขึ้นไปถึง 3 ปี เพราะช่วงต้นเล็กมากจำเป็นต้องอาศัยใบในการสังเคราะห์แสง ลำต้นจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วบางครั้งต้องปักเสาหลักใช้เชือกผูกโยงไม้กับเสา เพราะถ้าถูกลมพัดโยกคลอนแรงทำให้รากจับดินได้ช้า อาจโค่นล้มง่าย
4.4 การป้องกันไฟ ไฟป่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการปลูกสร้างสวนป่าเกษตรกรหลายรายประสบปัญหาการปลูกไม้กฤษณาในสวนป่า หากไม่สามารถป้องกันไฟไหม้สวนป่าได้ การปลูกป่าก็จะประสบความล้มเหลว เพราะต้นกฤษณาในระยะแรกที่ยังเล็กมีความต้านทานไฟต่ำมาก การป้องกันไฟจึงเป็นเรื่องที่ผู้ปลูกควรระมัดระวังการป้องกันไฟในสวนป่าสามารถทำได้โดยการทำแนวกันไฟให้กว้าง 6-10 เมตร เพื่อป้องกันไฟไหม้ต้นกฤษณาและป้องกันไฟที่จะลุกลามมาจากภายนอก คอยเก็บใบไม้กิ่งไม้เป็นเชื้อเพลิงออกจากแนวกันไฟ ในฤดูแล้งใช้รถแทรกเตอร์ล้อยางไถพรวน เพื่อกำจัดวัชพืชหรือใช้คนงานถางวัชพืชแล้วจุดไฟเผา(ดีพร้อม,2547)
4.5 ศัตรูไม้กฤษณา ศัตรูสำคัญของไม้กฤษณา คือตัวหนอนกินใบ เกิดจากผีเสื้อกลางคืนวางไข่บริเวณใบยอดของลำต้น จะสังเกตเห็นมีเส้นใยสีขาวอยู่บริเวณใต้ใบเมื่อหนอนออกจากไข่จะกัดกินผิวใบอ่อน ทำให้ต้นกฤษณาชะงักการเจริญเติบโตตัวหนอนฟักใหม่ๆ มีสีขาวหัวดำ ต่อมาตัวหนอนจะมีสีเขียว และโตจะมีสีน้ำตาลอ่อนเกษตรกรจำเป็นต้องหมั่นสังเกต ควรฉีดยากำจัดหนอน เช่น เซปวิน 85 หลังจากต้นกฤษณามีอายุมากขึ้นจะไม่ค่อยพบโรและแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้ยังมีหนอนเจาะลำต้น ถ้าเป็นต้นขนาดเล็กอาจทำให้ต้นตายได้เสียรูปทรงที่ต้องการได้ แต่ถ้าหนอนเจาะลำต้นขนาดใหญ่กลับเป็นผลดี เพราะจะทำให้เกิดบาดแผลภายในต้นกฤษณา เมื่อทิ้งไว้นานๆ สามารถสะสมสารกฤษณาให้เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับความพยายามที่จะสร้างรอยแผลให้กับต้นกฤษณาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เกิดสารกฤษณาขึ้น
4.6 การกำจัดวัชพืช ในการเตรียมดินปลูกครั้งแรก ถึงแม้จะเตรียมดินได้ดีอย่างไรแต่เมล็ดวัชพืชก็ยังเหลือในดินอยู่อีกเป็นจำนวนมาก หรืออาจจะเมล็ดวัชพืชบางอย่างถูกลมพัดปลิวมางอกในพื้นที่หลังจากปลูกต้นกฤษณาแล้วในแต่ปีจำเป็นต้องถางวัชพืชในสวนป่าอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง จะต้องทำบ่อยหรือไม่ขึ้นอยู่การเตรียมพื้นที่ สภาพพื้นที่ยิ่งพื้นที่มีดินอุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นดี วัชพืชก็มักจะขึ้นเร็ว การแผ้วถางก็จะต้องทำบ่อยครั้ง เพื่อให้กล้าไม้ตั้งตัวได้และเจริญเติบโตเร็วในระยะแรก ในแปลงปลูกโดยทั่วๆ ไปจะกำจัดวัชพืชใน 3 ปีแรกเท่านั้น เพราะไม้กฤษณาเป็นไม้โตเร็ว สามารถเจริญเติบโตคลุมวัชพืชได้ในระยะเวลาอันสั้น ถ้าหากสามารถควบคุมวัชพืชได้จนไม้กฤษณาสูง 2-3 เมตร การที่จะถางหรือกำจัดวัชพืชในปีต่อไปก็ไม่ค่อยมีความจำเป็นมากนัก อันตรายที่พบอีกอย่างหนึ่งคือแถววัลย์ที่ขึ้นพันรอบต้นอ่อน และต้นไม้ใหญ่ ทำให้ต้นโอนเอนและคอดกิ่วหรือคดงอ บางต้นอาจเสียรูปทรงจึงควรหมั่นตรวจสอบและแกะออก
ไม้กฤษณาเป็นไม้ที่ปลูกง่ายโตเร็วไม่ต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนผลไม้ หลังจากปลูกแล้วให้ สังเกตที่ใบของต้นถ้าต้นไม้มีการแตกใบอ่อนขึ้นมาใหม่ หลังจากปลูกลงดินประมาณ 2-4 อาทิตย์ แสดงว่ารากของ ต้นไม้เริ่มแทงลงดินแล้ว หลังจากนั้นทุก 2 เดือน ควรหมั่นแต่งกิ่ง เพราะไม้กฤษณาจะแตก พุ่มหลายกิ่งจะ ต้องแต่ง กิ่งให้เหลือกิ่งหลักเพียง กิ่งเดียวจะทำให้ไม้โตเร็วและทำการดูแลรักษาได้ง่าย ทำงานสะดวก ต่อไปในอนาคต โดยทั่วไปจะทำการแต่งกิ่งไม้กฤษณาประมาณ 3 ปีหลังจากนั้นจึงปล่อยตามธรรมชาติ ข้อควรระวังอย่าให้หญ้าขึ้นรกบริเวณโคนต้น จะทำให้ไม้กฤษณาเจริญเติบโตได้ช้ากว่า ปกติ และควรดูแลการเข้าทำลายใบของตัวหนอนกินใบ ที่เกิดจากผีเสื้อกลางคืนมาวางไข่บริเวณใบยอดของลำต้น จะสังเกตเห็นได้จากการมีเส้นใยสีขาวอยู่บริเวณใต้ใบ
http://www.linpligg.com/forum/index.php?topic=435.0