-
++kasetloongkim.com++
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - สารไคตินและไคโตซาน
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

สารไคตินและไคโตซาน

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 9:44 am    ชื่อกระทู้: สารไคตินและไคโตซาน ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

Chitin - Chitosan สารไคตินและไคโตซาน



ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์
โทร. 0-2470-9007 โทรสาร 0-2428-3534




หลักการและเหตุผล
ไคติน จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตประเภทโครงสร้างที่เป็นเส้นใย คล้ายคลึงกับเซลลูโลสจากพืช ไคตินพบได้ในเปลือกของสัตว์ เช่น กุ้ง ปู แกนหมึก แมลง ตัวไหม หอยมุก และผนังเซลล์ของพวกรา ยีสต์ และจุลินทรีย์อีกหลายชนิด

ไคตินในธรรมชาติมีโครงสร้างของผลึกที่แข็งแรง 3 ลักษณะ ได้แก่ แอลฟ่าไคติน เกิดจากเปลือกกุ้งและเปลือกปู เบต้าไคติน เกิดในแกนหรือกระดองหมึก และแกมม่า

ไคติน ไคโตซาน คือ สารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก และผนังเซลของเห็ด ราบางชนิด

ไคติน-ไคโตซาน จัดเป็นโคโพลิเมอร์ที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติ มีปริมาณของไคตินมากเป็นอันดับสองรองจากเซลลูโลส

ไคติน-ไคโตซาน มีสมบัติพื้นฐานที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี ย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไคติน-ไคโตซาน มีหมู่อะมิโนที่แสดงสมบัติพิเศษหลายประการที่ต่างจากเซลลูโลส เช่น การละลายได้ในกรดอินทรีย์เจือจาง การจับกับอิออนของโลหะได้ดี และการมีฤทธิ์ทางชีวภาพ

ปัจจุบันมีการนำสารไคติน-ไคโตซาน มาประยุกต์ใช้จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ทางการแพทย์และเภสัชกรรม เช่น สารตกตะกอนในการบำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเส้นใยสิ่งทอ เพื่อป้องกันแบคทีเรียและเชื้อรา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อคุณภาพในการลดไขมันและคอเลสเตอรอล เรื่องความสวยความงามที่เป็นที่สนใจของคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย สารเร่งการเจริญเติบโตในพืช และสัตว์แลกเนื้อต่าง ๆ เช่น สุกร กุ้ง เป็ด ไก่ สารเคลือบผลไม้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา สารถนอมอาหาร และแผ่นฟิล์มปิดแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น


ภาพรวมการใช้ไคติน-ไคโตซานในประเทศไทย ณ วันนี้อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ อันเนื่องมาจากมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบ (เปลือกกุ้งและปู) ศักยภาพในด้านวัตถุดิบนี้ เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทย เป็นประเทศที่ส่งออกกุ้งแช่แข็งเป็นสินค้าออกอันดับต้นๆ ของโลก ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลได้มีนโยบายในการจำกัดพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้ง แต่เปลือกกุ้งที่จะถูกป้อนให้กับโรงงาน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นไคติน-ไคโตซาน นั้นได้มาจาก 2 แหล่ง คือ จากฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งประมาณ 2 แสนตันต่อปี และจากทะเลประมาณ 3 แสนตันต่อปี ดังนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาในด้านการขาดแคลนวัตถุดิบ เมื่อความต้องการใช้ไคติน-ไคโตซานในท้องตลาดมีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนี้ก็ยังมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสารไคติน-ไคโตซาน เป็นเทคโนโลยีที่ง่ายไม่ซับซ้อน สามารถทำได้ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ชุมชนและขยายใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม


ปัจจุบันโรงงานที่ดำเนินการผลิต ยังมีอยู่ไม่มาก อัตราการผลิตของแต่ละโรงก็ยังไม่สูงมาก และเท่าที่ปรากฏก็ไม่ค่อยแสดงตัวมากนัก หากความต้องการของตลาดมีมากขึ้น การขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมมีความเป็นไปได้มากและรวดเร็ว เพราะใช้เงินลงทุน เครื่องจักร-เครื่องมือ และแรงงานไม่มาก สามารถจัดการระบบการผลิตได้ไม่ยาก

จากความพร้อมในหลายด้านดังกล่าว ในอนาคตเมืองไทยอาจจะเป็นประเทศที่ส่งออกไคติน-ไคโตซานระดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับกุ้งแช่แข็งก็อาจจะเป็นไปได้ ในแง่กระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีร่วม ซึ่งอาจจะมีปัญหาตามมาได้ เช่น ปัญหาสารเคมีตกค้างและปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ก็สามารถจัดการแก้ไขและควบคุมได้ โดยอาจนำแนวทางความรู้ทางเทคโนโลยีสะอาดและเทคโนโลยีชีวภาพมาร่วมจัดการได้

นอกจากนี้เรายังสามารถพัฒนาการผลิตให้ครบวงจรได้ตั้งแต่ สารไคติน สารไคโตซาน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสารไคติน-ไคโตซาน เช่น ปุ๋ย เครื่องสำอาง และอาหารเสริม ฯลฯ อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ยังไม่เป็นการเสียเปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศ กล่าวคือ ในการที่เราต้องส่งสารไคติน-ไคโตซานออกขายให้กับต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จากนั้นประเทศเหล่านั้น ก็ทำการผลิตผลิตภัณฑ์จากสารนี้ แล้วส่งกลับมาขายในเมืองไทย ในราคาสูงมากเมื่อเทียบกับราคาไคติน-ไคโตซานที่เราขายให้ไปข้างต้น

ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในประเทศไทยเอง ก็มีความรู้ความสามารถพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ แต่ทว่ายังต้องการแรงสนับสนุนและการส่งเสริมการผลิต ตลอดจนความร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่ระบบการผลิตเต็มรูปแบบในลำดับต่อไป



คุณสมบัติและลักษณะเด่น
คลิก....
http://www.thailabonline.com/chitin-chitosan.htm






การนำผลงานไปใช้ประโยชน์

บัญชา ธนบุญสมบัติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ


สารไคติน และสารไคโตซาน เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพ ซึ่งผลิตจาก เปลือกกุ้ง และเปลือกปู แผ่นเมมเบรน จากไคโตซาน ใช้ในการปิดแผล มีคุณสมบัติ ช่วยลดแผลเป็น บนผิวหนัง สารไคติน และสารไคโตซาน

การทำวิจัยในเรื่องไคติน ไคโตซานได้กระทำแล้ว และได้นำสารสกัดจากไคติน-ไคโตซาน ไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังด้วยตัวเอง เพราะมีฟาร์มเล็ก ๆ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น สุกร เป็ด ไก่ ปลูกผลไม้ต่าง ๆ เช่น มะละกอ มะนาว มะม่วง และอื่น ๆ เมื่อนำสารสกัดจากไคติน-ไคโตซานเข้าไปประยุกต์ ปรากฏว่า ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจยิ่ง นอกจากนั้นยังได้นำไปใช้จริงกับนาข้าว ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกบนภูเขาทางภาคเหนือด้วย

การใช้สารไคติน-ไคโตซานจะนำไปสู่การเกษตรแบบอินทรีย์ (Organic Farm) ซึ่งสามารถลดปัญหาสารเคมีตกค้าง ปัญหามลพิษ ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ใช้ และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยังสามารถทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละจำนวนมากๆ


ไคติน/ไคโตซาน (Chitin/Chitosan)
ไคติน/ไคโตซาน เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพซึ่งผลิตจากสิ่งเหลือจากอุตสาหกรรมสัตว์น้ำแช่แข็ง (เช่น เปลือกกุ้งและเปลือกปู) และเป็นพอลิเมอร์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไคติน/ไคโตซาน มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (biocompatible) และ สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable) จึงถือได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งไคติน (chitin)และไคโตซาน (chitosan) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายเซลลูโลส ต่างกันตรงที่ไคตินจะมีหมู่อะเซตาไมด์และอะเซตามิโด แต่ไคโตซานจะมีหมู่เอมีน (amine group) แทนที่จะเป็นหมู่ไฮดรอกซิลที่ C-2 ของวงแหวนน้ำตาล (sugar ring) ตามปกติจะพบทั้งวงแหวนน้ำตาลของไคตินและไคโตซานในสายโซ่เดียวกัน จึงมักจะรวมเรียกสารเคมีพวกไคติน/ไคโตซาน

การแบ่งแยกไคตินกับไคโตซานจะอาศัยจำนวนหมู่เอมีน ถ้ามีหมู่เอมีนมากกว่า 70% จะเรียกว่าไคโตซาน ในแง่ของวัสดุแล้วไคติน/ไคโตซานถือว่ามีสมบัติโดดเด่น ทั้งนี้เนื่องจากเปลือกกุ้งและเปลือกปูซึ่งเป็นแหล่งไคติน/ไคโตซานนั้นเป็นวัสดุเชิงประกอบที่นอกจากจะเหนียวฉีกขาดยาก ยังสามารถรับแรงได้สูง และไม่เปลี่ยนรูปร่างได้ง่าย ๆ ถ้าหากพิจารณาในเชิงโครงสร้าง ไคตินจะจัดเรียงตัวเป็นโครงสร้างผลึกเหลวแบบคลอเลสเทอริก

(cholesteric liquid crystal structure) โดยมีโปรตีนและปูนขาวแทรก ทำให้วัสดุนี้ทนแรงได้ทุกทิศทาง ไคติน/ไคโตซานมีความเป็นวัสดุพิเศษ คือ ตัววัสดุสามารถทำหน้าที่ทางเคมีหรือทางชีวภาพบางอย่างได้ด้วยตัวเอง (ภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น functional materials) ตัวอย่างเช่น เป็นแผ่นโพลาร์เมมเบรน (polar membrane) ซึ่งสามารถใช้ในการแยกแอลกอฮอล์ (เจือจาง)โดยกระบวนการเพอร์วาพอเรชัน (pervaporation) เป็นต้น

ในทางการแพทย์และเภสัชกรรม ได้มีการศึกษาแล้วว่าเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วนั้นนอกจากที่จะไม่ดูดซึมเข้าไปในร่างกายและช่วยในการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ดังเช่นอาหารจำพวกไฟเบอร์โดยทั่วไปแล้ว ยังจะมีความสามารถในการจับคลอเลสเตอรอลและไขมันในอาหารที่รับประทานเข้าไปก่อนที่จะเกิดการดูดซึมสารเหล่านั้น
ในปัจจุบันได้มีการนำไคโตซานบริสุทธิ์มาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพในการประกอบการลดความอ้วน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ทำผิวหนังเทียมรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ใช้ปลดปล่อยยา รักษาเหงือกและฟัน

นอกจากนี้ สารไคติน/ไคโตซานยังสามารถประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น ใช้หุ้มเมล็ดพันธ์พืชเพื่อยืดอายุการเก็บและป้องกันราและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมการเกษตร ใช้เป็นสารต่อต้านราและจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารกันบูด เคลือบอาหาร ผัก และผลไม้ ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้เติมแต่งและเป็นสาร
พื้นฐานของแป้งทาหน้า แชมพู ครีม และสบู่ โลชันเคลือบป้องกันผิวและผม

เนื่องจากไคติน/ไคโตซานสามารถอุ้มน้ำและเป็นตาข่ายคลุมผิวหนัง ใช้ผสมเส้นใย เช่น สิ่งทอและกระดาษ เพื่อป้องกันและต้านทานเชื้อโรค และยังทำให้เยื่อเหนียวและแข็งแรงเพิ่มขึ้น เป็นต้น



http://www.thailabonline.com/chitin-chitosan.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 9:59 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ประโยชน์ของไคโตซาน ด้านการเกษตร




1. แมลง : กระตุ้นให้พืชสร้างความภูมิคุ้มกัน โดยผลิตพืช เอนไซม์และสารเคมีป้องกันตนเอง เช่น สร้างลิกนิน แทนนิน และกระตุ้นให้สร้างไคติเนส ซึ่งจะย่อยผนังเปลือกหุ้มตัวแมลง ศัตรูพืช เช่น หนอนใย หนอนคืบ....พ่นทางใบ 10–20 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร


2. โรค : ยับยั้ง การเจริญเติบโตเชื้อสาเหตุของโรคพืชรักษาและสร้างภูมิต้านทานโรค
- ไวรัสโรคพืช
- แบคทีเรีย เช่น แคงเคอร์ ใบจุด
- เชื้อรา เช่น ไฟทอปธอร่า พิเทียม Botrytis cineres Rhizopus stolonifer
แอนแทรคโนส เมลาโนส ราน้ำค้าง ใบติดราขาว รากเน่า -โคนเน่า โรคใบจุด โรคใบสีส้มข้าว ใบลาย .....พ่นทางใบ 10–50 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร


3. ใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์ ลดความเสียหายจากการถูกทำลายโดยเชื้อรา และแมลง
ชุบเมล็ดพันธุ์นาน 6 ชั่วโมง ..... 10 ซีซี./น้ำ 1 ลิตร


4. ใช้ควบคุมไส้เดือนฝอย (รวมทั้งเชื้อรา เช่น Furarium spp.)
(ในฝ้าย พืชผัก กล้วยไม้ ผลไม้ ฯลฯ)

* วิธีการนี้ยังใช้ต้นทุนสูงไม่คุ้มการลงทุน

ใช้เป็นรูปผง ใส่ลงดินแล้วไถกลบลึก 6-8 นิ้ว 2-4 สัปดาห์ ก่อนปลูกพืช 1 กรัม/ตารางวา (1 ตัน/Acre) (3% ปริมาตร/ปริมาตร)


5. เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น Actiomycetes sp. Trichoderma spp. ในดิน ลดจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรค เช่น Furarium sp. Phythozhthora spp.



6. เพิ่มความเจริญเติบโตในพืชผัก ได้แก่ คะน้า หอม หน่อไม้ฝรั่ง ผักต่าง ๆ (ผลดีกว่าไม่พ่น 20% และน้ำหนักมากกว่า 20-40%)






เอกสารอ้างอิง
1. ภาวดี เมธะดานนท์, 2544. ความรู้เกี่ยวกับไคติน – ไคโตซาน. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะวัสดุแห่งชาติ. 10 หน้า.

2. รัฐ พิชญางภรู, 2543. คุณสมบัติและกลไกการทำงานของสารไคติน

3. สุวลี จันทร์กระจ่าง, 2543. การใช้ไคติน – ไคโตซานในประเทศไทยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย. ปทุมธานี. 5 หน้า.




http://ไคโตซาน.net/
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 10:14 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)




ดร.ประภัสสร สุรวัฒนาวรรณ กลุ่มวิจัยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ



ไคติน เป็นโพลิเมอร์ธรรมชาติ โดยพบเป็นองค์ประกอบของเปลือกแข็งที่หุ้มเซลล์ของรา ยีสต์ และจุลินทรีย์หลายชนิด หรือพบเป็นโครงสร้างแข็งของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกแมลง กุ้ง ปู ปลาหมึก เป็นต้น ไคตินมีปริมาณมากเป็นอันดับสอง รองจากเซลลูโลสที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อไม้

ไคติน เป็นโพลิเมอร์สายยาวที่ประกอบ ขึ้นจากน้ำตาลหน่วยย่อย คือ N-acetyl-D-glucosamine มาเรียงต่อกันเป็นสายลักษณะ เป็นของแข็งอันยรูป ละลายได้ในกรดอนินทรีย์ เช่น กรดเกลือ กรดกำมะถัน กรดฟอสฟอริก และกรดฟอร์มิกที่ปราศจากน้ำ แต่ไม่ละลายในด่างเจือจาง แอลกอฮอล์ และตัวทำละลายอินทรีย์อื่นๆ



ไคตินที่ได้จากแต่ละแหล่ง มีโครงสร้างและสมบัติแตกต่างกันโดยแบ่งตามลักษณะการเรียงตัวของเส้นใยได้ 3 กลุ่ม คือ

- แบบอัลฟา
มีการเรียงตัวของสายโซ่โมเลกุลในลักษณะสวนทางกัน มีความแข็งแรงสูง ได้แก่ ไคตินจากเปลือกกุ้ง และกระดองปู

- แบบเบตา
มีการเรียงตัวของสายโซ่โมเลกุลในทิศทางเดียวกัน จึงจับกันได้ไม่ค่อยแข็งแรง มีความไวต่อปฏิกิริยาเคมีมากกว่าแบบอัลฟา ได้แก่ ไคตินจากแกนปลาหมึก

- แบบแกมมา
มีการเรียงตัวของสายโซ่โมเลกุลในลักษณะที่ไม่แน่นอน (สวนทางกันสลับทิศทางเดียวกัน) มีความแข็งแรงรองจากแบบอัลฟา ได้แก่ ไคตินจากเห็ด รา และพืชชั้นต่ำ



ไคตินในธรรมชาติอยู่รวมกับโปรตีนและเกลือแร่ ต้องนำมากำจัดเกลือแร่ออก
(demineralization) โดยใช้กรดจะได้แผ่นเหนียวหนืดคล้ายพลาสติก แล้วนำไปกำจัดโปรตีนออก (deproteinization) โดยใช้ด่างจะได้ไคติน หากเป็นไคตินที่ได้จากเปลือกกุ้งหรือปู จะมีสีส้มปนอยู่ นำไปแช่ในเอทานอลเพื่อละลายสีออก

ส่วนไคโตซาน คือ อนุพันธ์ของไคตินที่ตัดเอาหมู่ acetyl ของน้ำตาล N-acetyl-D-glucosamine (เรียกว่า deacetylation คือ เปลี่ยนน้ำตาล N-acetyl-D-glucosamine เป็น glucosamine) ออกตั้งแต่ 50 % ขึ้นไป และมีสมบัติละลายได้ในกรดอ่อน

ปกติแล้ว ไคโตซานที่ได้จะมีส่วนผสมของ น้ำตาล N-acetyl-D-glucosamine และ glucosamine อยู่ในสายโพลิเมอร์เดียวกัน ซึ่งระดับการกำจัดหมู่ acetyl (หรือเปอร์เซนต์การเกิด deacetylation) นี้ มีผลต่อสมบัติและการทำงานของไคโตซาน นอกจากนี้ น้ำหนักโมเลกุลของไคโตซานบอกถึงความยาวของสายไคโตซาน ซึ่งมีผลต่อความหนืด เช่น ไคโตซานที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง จะมีสายยาวและสารละลายมีความหนืดมากกว่าไคโตซานที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ เป็นต้น ดังนั้น การนำไคโตซานไปใช้ประโยชน์จะต้องพิจารณาทั้งเปอร์เซนต์การเกิด deacetylation และน้ำหนักโมเลกุล




ปัจจุบันมีการนำไคตินและไคโตซานมาประยุกต์ในด้านต่างๆ อาทิเช่น

1. ด้านอาหาร ไคโตซานมีสมบัติในการต่อต้านจุลินทรีย์และเชื้อราบางชนิด โดยมีกลไก คือ ไคโตซานมีประจุบวก สามารถจับกับเซลล์เมมเบรนของจุลินทรีย์ที่มีประจุลบได้ ทำให้เกิดการรั่วไหลของโปรตีนและสารอื่นของเซลล์ ในหลายประเทศได้ขึ้นทะเบียนไคตินและไคโตซานให้เป็นสารที่ใช้เติมในอาหารได้ โดยนำไปใช้เป็นสารกัดบูด สารช่วยรักษากลิ่น รส และสารให้ความข้น ใช้เป็นสารเคลือบอาหาร ผัก และผลไม้ เพื่อรักษาความสดหรือผลิตในรูปฟิล์มที่รับประทานได้ (edible film) สำหรับบรรจุอาหาร

2. ด้านอาหารเสริม มีรายงานว่า ไคโตซานช่วยลดคอเลสเตอรอล และไขมันในเส้นเลือด โดยไคโตซานไปจับกับคอเลสเตอรอล ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไปใช้หรือดูดซึมได้น้อยลง จึงมีการโฆษณาเป็นผลิตภัณท์ลดน้ำหนัก ทั้งนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากไคโตซานสามารถจับ วิตามินที่ละลายได้ดีในไขมัน (วิตามินเอ ดี อี เค) อาจทำให้ขาดวิตามินเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ ทางการแพทย์ มีรายงานการนำ N-acetyl-D-glucosamine ไปใช้รักษาไขข้อเสื่อม โดยอธิบายว่า ข้อเสื่อมเกิดเนื่องจากการสึกกร่อนของเนื้อเยื่ออ่อนที่เคลือบอยู่ระหว่างข้อกระดูก ซึ่ง glucosamine เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ proteoglycan และ matrix ของกระดูกอ่อน จึงช่วยทำให้เยื่อหุ้มกระดูกอ่อนหนาขึ้น

3. ด้านการแพทย์ มีการวิจัยนำแผ่นไคโตซานมาใช้ปิดแผล ช่วยทำให้ไม่เป็นแผลเป็น โดยไคโตซานช่วยลดการ contraction ของ fibroblast ทำให้แผลเรียบ กระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมบาดแผลให้หายเร็วขึ้น

4. ด้านเภสัชกรรม มีรายงานการใช้ไคโตซานเพื่อควบคุมการปลดปล่อยตัวยาสำคัญ

5. ด้านการเกษตร เนื่องจากไคตินและไคโต-ซานมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ไนโตรเจนจะถูกปลดปล่อยออกจากโมเลกุลอย่างช้าๆ รวมทั้งช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศและดิน จึงใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของพืช และกระตุ้นการนำแร่ธาตุไปใช้ ผลคือสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพการผลิตได้ ทำให้เกษตรกรมี ต้นทุนต่ำลง เนื่องจากลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง

6. ด้านการปศุสัตว์ ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และลดการติดเชื้อ ทำให้น้ำหนักตัวของสัตว์เพิ่มขึ้น

7. ด้านการบำบัดน้ำเสีย โดยทั่วไป น้ำเสียจากอุตสาหกรรมอาหาร มีสารแขวนลอยสูง ไคโตซานมีประจุบวก สามารถจับกับโปรตีนและไขมันได้ดี ซึ่งโปรตีนที่ได้สามารถแยกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ต่อไป นอกจากนี้ ไคโตซานยังสามารถดูดซับอิออนของโลหะหนัก และจับสี (dye) ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย

8. ด้านสิ่งทอ นำมาขึ้นรูปเป็นเส้นใย และใช้ในการทอร่วมหรือเคลือบกับเส้นใยอื่นๆ เพื่อให้ได้คุณสมบัติการต้านจุลชีพ ลดการเกิดกลิ่นอับชื้น





http://www.gpo.or.th/rdi/html/chitin.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 10:19 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การรับประทานไคติน-ไคโตซานและผลกระทบ


ดร.มาลินี ประสิทธิ์ศิลป์
ดร.ภาวดี เมธะคานนท์



ไคติน-ไคโตซานเป็นสารธรรมชาติที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายเซลลูโลส สกัดได้จากเปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนหมึก เป็นต้น ไคติน-ไคโตซานและอนุพันธ์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น ใช้งานด้านการเกษตร โดยใช้เป็นปุ๋ย เป็นสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ และยืดอายุผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว เป็นต้น ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม โดยเป็นตัวจับโลหะหนัก ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟัน และครีมบำรุงผิว ฯลฯ และใช้เป็นอาหารเสริม และวัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น เนื่องจากสมบัติพิเศษหลายประการอันได้แก่ ความไม่เป็นพิษ สามารถเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อ ของคนและสัตว์ ความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางชนิด สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอล ชนิด LDL และไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดโดยการจับตัวกับไขมันจากอาหาร ทำให้การดูดซึมในลำไส้เล็กลดลง ปีที่ผ่านมาได้มี ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีไคโตซานเป็นส่วนประกอบ ใช้ในการควบคุมน้ำหนักโดยการจับตัวกับไขมันจากอาหารที่ รับประทานเข้าไป ให้กลายเป็นกากอาหาร ทำให้การดูดซึมไขมันต่ำลง ซึ่งเป็นที่สนใจมากในกลุ่มวัยรุ่นและสุภาพสตรี


ในที่นี้จะขอนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งของการรับประทานไคโตซาน ซึ่งเรามักจะได้ยินถึงประโยชน์ของไคโตซาน ในการนำมาใช้เป็นอาหารเสริม แต่จะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ กับความเสี่ยงหรือข้อควรระวังในการใช้งาน เป็นที่ทราบกันดี อยู่แล้วว่า ไขมันเป็นสารอาหารหมู่หนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่หลายอย่างเช่น ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เป็น แหล่งพลังงาน เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาผลาญอาหาร เป็นส่วนประกอบของเซลล์ และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ ฮอร์โมน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไขมันที่มากเกินไปจะทำให้เกิดโทษแก่ร่างกาย จึงได้มีการนำเอาไคโตซานมาใช้ในการกำจัด ไขมันส่วนเกินจากอาหาร


ส่วนคอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ทราบกันดีว่า หากร่างกายมีมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคอเลสเตอรอลกันเล็กน้อย คอเลสเตอรอลจะเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ด้วยไลโพโปรตีน (lipoprotein) ซึ่งได้แก่ ชนิดที่มีความหนาแน่นสูง (HDL) และความหนาแน่นต่ำ (LDL) ทางการแพทย์พบว่า คอเลสเตอรอลชนิด LDL จะเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เส้นเลือดตีบตันเกิดเป็นโรคหัวใจ ส่วนคอเลสเตอรอลที่สะสมตามเนื้อเยื่อในร่างกาย จะถูกดึงออกมาในเลือดอยู่ในรูปของคอเลสเตอรอลชนิด HDL และถูกกำจัดโดยกระบวนการของตับและไตต่อไป


ดังนั้น ในการตรวจเลือดเราควรจะสังเกตระดับปริมาณ คอเลสเตอรอลชนิด LDL มากเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจาก ระดับของคอเลสเตอรอลรวม


สำหรับผู้ที่รับประทานไคโตซาน มีรายงานถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ในการทดลองให้ผู้ชายอาสาสมัครที่มีสุขภาพ แข็งแรงจำนวน 8 คน ทดลองรับประทานไคโตซาน ในรูปของขนมปังกรอบ ปริมาณ 3-6 กรัม/วัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL ในเลือดเฉลี่ยลดลงจาก 188 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็น 177 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และมีปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด HDL เพิ่มขึ้น


แต่จากการทดลองในหนูพบว่า การให้ไคโตซานเป็นอาหารเสริมนั้น แม้จะทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอล ในเลือดลดต่ำลง แต่มีผลกระทบทำให้การเจริญเติบโตช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ให้ในปริมาณมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าเกลือแร่และ วิตามินที่ละลายในไขมันจะถูกดูดซึมลดลงด้วย ซึ่งได้แก่ วิตามิน A D E และ K จึงทำให้หนูทดลองที่ได้รับอาหารมี ไขมันสูงร่วมกับไคโตซาน มีปริมาณวิตามิน E ในเลือดลดต่ำลงอย่างมาก ปริมาณแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก ก็ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้คาดว่า นอกจากการดูดซึมแคลเซียมที่ลดลงแล้ว วิตามิน D ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้าง กระดูก ก็ถูกเจล ของไคโตซานจับตัวกลายเป็นกากอาหาร ทำให้ปริมาณแร่ธาตุในกระดูกลดลงด้วย


ดังนั้นการบริโภคอาหารเสริมที่มีไคโตซานเป็นองค์ประกอบในปริมาณมาก เพื่อกำจัดไขมันจากการรับประทานอาหาร หรือการควบคุมน้ำหนัก จึงควรใช้อย่างระมัดระวังมิให้มากเกินความจำเป็น และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และ ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี




เอกสารอ้างอิง: Koide S.S., Chitin-chitosan: Properties, benefit and risks. Nutrition Research, vol18(6), pp 1091-1101, 1998.

http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=110&Itemid=176
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 10:22 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไคโตซานจากแกนหมึก..ดีอย่างไร ?

ดร. ภาวดี เมธะคานนท์
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)



อย่างที่พอทราบกันมาบ้างแล้วว่า ไคติน-ไคโตซานเป็นสารธรรมชาติที่สกัดได้จากเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนหมึก ผนัง เซลล์ของเห็ดรา สาหร่ายและจุลินทรีย์อีกหลายชนิด อย่างไรก็ตามไคติน-ไคโตซานที่ผลิตออกมาเพื่อเชิงพาณิชย์จะได้จาก เปลือกกุ้ง กระดองปูและแกนหมึกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนหมึกเหล่านี้จะมีปริมาณมากและเป็นกากเสีย จากอุตสาหกรรมอาหาร การศึกษาวิจัยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับไคติน-ไคโตซานที่ได้จากเปลือกกุ้งและ กระดองปู แต่ด้วยเหตุ ที่ประเทศไทยก็มีศักยภาพในการผลิตหรือการนำไคติน-ไคโตซานจากแกนหมึกมาใช้ ประโยชน์เช่นกัน ดังนั้นจึงอยากบอกเล่า ข้อมูลของไคโตซานจากแกนหมึกให้ผู้อ่านได้ทราบบ้าง ในแง่มุมการผลิต แกนหมึกก็เป็นกากเหลือของอุตสาหกรรมอาหาร เช่นเดียวกันกับเปลือกกุ้ง และกระดองปู ดังนั้นราคาวัตถุดิบจึงถูกอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้ ขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการ ผลิตก็จะใช้กรด-ด่าง และสภาวะที่มีความรุนแรงน้อยกว่ากระบวนการผลิตไคติน - ไคโตซานจากเปลือกกุ้ง และกระดองปู เนื่องจากแกนหมึกมีหินปูน (calcium carbonate) และเม็ดสี (carotenoids) ซึ่งยาก ต่อการกำจัดน้อยกว่าเปลือกกุ้งและกระดองปู ดังนั้น ไคติน-ไคโตซานที่ได้จากแกนหมึกจึงควรมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า และมีคุณภาพที่ดีกว่าไคติน- ไคโตซานจากเปลือกกุ้งและกระดองปู


ในด้านโครงสร้างทางเคมี พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างไคติน-ไคโตซานจากเปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนหมึก แต่จะต่างกันที่รูปแบบของผลึก (crystalline form) โดยไคตินจากเปลือกกุ้งและกระดองปูจะเป็นแบบอัลฟา (a-form) คือมีการเรียงตัวของสายโซ่โมเลกุลในลักษณะสวนทางกัน (anti-parallel chain alignment) ส่วนไคตินจากแกนหมึก จะเป็นแบบเบต้า (b-form) คือมีการเรียงตัวของสายโซ่โมเลกุลในทิศทางเดียวกัน (parallel chain alignment) และด้วยเหตุนี้เองทำให้ไคติน-ไคโตซานจากเปลือกกุ้ง กระดองปู มีสมบัติต่างจากไคติน-ไคโตซานจากแกนหมึกเล็กน้อย โดยไคตินจากแกนหมึกจะมีความไวต่อปฏิกิริยาเคมี มากกว่าไคตินจากเปลือกกุ้งและกระดองปู ทำให้การผลิตไคโตซานและ อนุพันธ์อื่นๆ ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันการเสื่อมสลายของสายโซ่โมเลกุล (chain degradation) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เช่นกัน ไคโตซานจากแกนหมึกสามารถดูดความชื้น หรือดูดน้ำได้ดีกว่า เนื่องจากโมเลกุลของน้ำสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไป อยู่ในส่วนของผลึกได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ สารละลายไคโตซานจากแกนหมึก จะมีความหนืดมากกว่าไคโตซานจากเปลือกกุ้ง และกระดองปู ที่ความเข้มข้นเดียวกัน จึงเหมาะที่จะใช้เป็นสารเพิ่มความข้น (thickener) ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง การแพทย์ และอาหาร

หมายเหตุ :
หากท่านสนใจงานวิจัยทางด้านไคติน-ไคโตซาน สามารถ click ไปอ่านได้ที่ งานวิจัยด้าน Biomaterials




เอกสารอ้างอิง
1.Kurita K., Tomita K., Tada T., Ishii S., Nishimura S-I. and Shimoda K. (1993) Squid chitin as potential alternative chitin source: deacetylation behavior and characteristic properties, Journal of Polymer Science: Part A: Polymer Chemistry, 31, 485-491 Shepherd R., Reader S. and Falshaw A. (1997) Chitosan functional properties, Glycoconjugate Journal, 14, 535-542

http://www.mtec.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=108&Itemid=176
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 10:34 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

การใช้ไคโตซานชะลอความเสียหายหลังการเก็บเกี่ยวของสตรอเบอรี่


ปัทมา วิศาลนิตย์
ทศพร ทองเที่ยง
ศูนย์วิจัยและบริการอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมชีวเคมี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี



สตรอเบอรี่ (Fragaria x annanassa Duch) ที่บริโภคอยู่ในปัจจุบัน เป็นสตรอเบอรี่สมัยใหม่ซึ่งเป็นลูกผสมที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง F. chiloensis x F. virginiana ตามธรรมชาติ สตรอเบอรี่เป็นพืชที่ให้ผลลิตตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น คือ เกษตรกรสามารถปลูกสตรอเบอรี่เพื่อผลิตผลสดได้ประมาณ 2,500 - 3,000 กิโลกรัมในพื้นที่ 1 ไร่ และราคาที่เกษตรกรขายเพื่อบริโภคสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 40-80 บาท จึงส่งผลให้สตรอเบอรี่เป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในบริเวณพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็นเพียงพอ โดยเฉพาะในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในเขตจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรปลูกใน อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และเป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ส่งผลให้สามารถลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานและการทำลายป่าไม้ลงได้

หากแต่ในพื้นที่ดังกล่าวยังประสบปัญหาเรื่องเส้นทางในการขนส่ง การขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของเกษตรกรและ การขาดเงินทุนในการสร้างห้องเย็น ซึ่งปัจจัยที่สำคัญในการคงคุณภาพ รวมทั้งยืดอายุในการเก็บรักษา เป็นเหตุให้สตรอเบอรี่เกิดความบอบช้ำเสียหาย อีกทั้งยังประสบปัญหาเรื่องโรคที่เกิดจากเชื้อ Botrytis cinerea และ Rhizopus spp. ในระหว่างการเก็บรักษา จึงทำให้ไม่สามารถเก็บรักษาผลิตผลไว้ได้นาน ทำให้มีระยะเวลาในการจัดจำหน่ายสั้น ส่งผลให้ได้รับรายได้จากการจำหน่ายสตรอเบอรี่ลดลง

วิธีการควบคุมปัญหาดังกล่าวก็มีหลายวิธี เช่น การใช้วิธีทางกายภาพหรือการใช้สารเคมี วิธีการควบคุมสภาพบรรยากาศโดยการเพิ่มระดับความเข้มข้นของ CO2 ร่วมกับการเก็บรักษาสตรอเบอรี่ในสภาพที่อุณหภูมิต่ำ จะสามารถลดการสูญเสียภายหลังการเก็บเกี่ยวได้ แต่มีต้นทุนที่สูง

สำหรับการใช้สารเคมีในการควบคุมการเกิดโรคอาจเกิดสารตกค้างที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาและคิดวิธีการอื่นเพื่อคงคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวของสตรอเบอรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สารที่ผลิตมาจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มาใช้ร่วมกับการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ดีก็จะสามารถช่วยยืดอายุหลังการเก็บเกี่ยวของสตรอเบอรี่ได้นานขึ้น


ไคโตซานเป็นสารที่สกัดมาจากเปลือกกุ้ง หรือเปลือกปลาหมึก ไคโตซานมีชื่อทางเคมีว่า poly-ß (1,2)-2-deoxy-D-glucose เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภท macromolecule linear polymer polysaccharide ต่อกันด้วยพันธะ 1,4-ß-glycoside น้ำหนักโมเลกุลสูง ไม่ละลายน้ำ แต่มีสมบัติเป็น cationic polyelectrolyte

เนื่องจากมีหมู่ -NH2 ที่ตำแหน่งคาร์บอนตำแหน่งที่สองทำให้ไคโตซานสามารถละลายได้ในสารละลายกรด ได้แก่ สารละลายกรดอินทรีย์ต่างๆ กรดไฮโดรคลอริกเจือจาง กรดไนตริกเจือจาง และประจุบวก (NH4+)

บนโครงสร้างไคโตซาน สามารถเกิดการ interact กับประจุลบของสารประกอบอินทรีย์ เช่น protein, anionic polysaccharide, nucleic acid ทำให้ได้ประจุไฟฟ้าที่เป็นกลาง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับไอออนของโลหะหนักได้โดยใช้ หมู่ NH2- ในการเกิด chelate metal ion พวก copper, magnesium และสามารถจับกับโลหะได้หลายชนิด เช่น chromium, silver, cadmium

เนื่องจากมีประจุบนสายโมเลกุล จึงสามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติโดยไม่ก่อให้เกิดการตกค้างและเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังพบว่าไคโตซานเป็นตัวเหนี่ยวนำให้สร้างเอนไซม์ chitinase และ ß-1,3 glucanase ซึ่งเอนไซม์ทั้งสองนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโมเลกุลของไคติน (chitin) และ กลูแคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์เชื้อราส่วนใหญ่ เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคในพืชได้

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าไคโตซานช่วยในการควบคุมโรคและ คุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลไม้หลายชนิด เช่น มะม่วง (วิเชียร, 1998), สตรอเบอรี่ (Zhang และ Quantick, 1998) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าการเคลือบผลิตผลด้วยไคโตซาน ยังช่วยคงคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวของสตรอเบอรี่ทั้งในด้านของความแน่นเนื้อ กลิ่นรส สี และคงความยอมรับของผู้บริโภคไว้ เนื่องจากการเคลือบไคโตซานจะทำให้เปลือกของสตรอเบอรี่มีลักษณะเป็น semipermeable films จึงทำให้เกิดสภาพดัดแปลงของระดับ ก๊าซ O2 CO2 และ ethylene ภายในผลิตผล ส่งผลให้ขบวนการ metabolic activity เกิดขึ้นช้าลง จึงไปชะลอให้ขบวนการสุกเกิดขึ้นช้าลงด้วย ซึ่งประสิทธิภาพในการควบคุมแตกต่างกันไปตามชนิดของไม้ผล ความเข้มข้นของไคโตซานที่ใช้ และอายุทางสรีระวิทยาของไม้ผล

จากประโยชน์ดังกล่าวหากนำไคโตซานซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ผลิตจากธรรมชาติมาใช้ นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียและ การเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยวได้แล้วยังไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและ สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบเกษตรอย่างยั่งยืน

จึงได้มีการทดลองนำไคโตซานมาใช้ในการควบคุมคุณภาพและ โรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวสตรอเบอรี่ที่ปลูกในพื้นที่บ้านห้วยน้ำผัก ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ในปี 2546

โดยการใช้สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 ที่มีระดับความสุกแก่ 75% จุ่มในไคโตซานที่ความเข้มข้น 60 80 และ 100 ppm เป็นเวลา 2 นาที แล้วเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง (26°C) เป็นเวลา 5 วัน พบว่า ผลของสตรอเบอรี่ที่จุ่มในไคโตซานเข้มข้น 100 ppm มีระดับการยอมรับคุณภาพด้านสี เนื้อสัมผัส กลิ่น รสชาติ และการยอมรับโดยรวมของผู้บริโภคสูงกว่าผลที่จุ่มในไคโตซานทุกความเข้มข้น แต่ผลของสตรอเบอรี่ที่จุ่มในไคโตซานทุกระดับความเข้มข้นจะมีค่าความแน่นเนื้อและ ปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดไม่แตกต่างกันทางสถิติ

ส่วนในด้านการเกิดโรคและความรุนแรงในการเกิดโรค พบว่าผลสตรอเบอรี่ที่จุ่มลงในไคโตซาน 100 ppm มีจำนวนผลที่การเกิดโรคน้อยกว่าและระดับความรุนแรงการเกิดโรคต่ำที่สุด

ผลจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าไคโตซานสามารถยืดอายุและ ลดการเกิดโรคในสตรอเบอรี่ภายหลังการเก็บเกี่ยวได้ และพบว่าการจุ่มสตรอเบอรี่ลงในไคโตซานเข้มข้น 100 ppm สามารถลดการเกิดโรคและชะลอการเปลี่ยนแปลงทางด้านเคมีของผลสตรอเบอรี่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ทำให้สามารถยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่ายได้นานขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีการปกติของเกษตรกร ซึ่งไม่ได้ทำการเคลือบผิวสตรอเบอรี่ด้วยไคโตซาน

นอกจานี้การใช้ไคโตซานเคลือบผิวเป็นวิธีการที่ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นต่ำเมื่อเทียบกับวิธีอื่น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องการการศึกษาความเข้มข้นของไคโตซานที่เหมาะสมที่สุด เพราะการเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นอาจส่งผลให้สามารถลดการเกิดโรค และยืดอายุในการเก็บรักษาสตรอเบอรี่ได้นานขึ้น แต่หากใช้ความเข้มข้นมากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสตรอเบอรี่ ซึ่งอาจมีอาการสุกที่ผิดปกติ มีกลิ่นหมัก โดยอาจไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้

นอกจากนี้การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ก็มีส่วนสำคัญในการรักษาคุณภาพของผลสตรอเบอรี่ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่ ในการจำหน่ายสตรอเบอรี่ให้ได้ในราคาที่สูงขึ้นและ ผู้บริโภคที่ได้บริโภคสตรอเบอรี่อย่างปลอดภัยในอนาคตต่อไป



ภาพแสดง ผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 ที่จุ่มผลด้วย 100 ppm เทียบกับผลที่ไม่ได้จุ่ม หลังจากเก็บที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 5 วัน




เอกสารประกอบการเรียบเรียง
1. ปัทมา วิศาลนิตย์, 2545, “ผลของไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของสตรอเบอรี่”, ปัญหาพิเศษ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรชีวภาพ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 45 หน้า.
2. วิเชียร เลี่ยมนาค, 2541, “ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตซาน ต่อการควบคุมโรคและคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และเขียวเสวย”, วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 117.
3. Zhang, D. and Quantick, P.C., 1998, “Antifungal Effects of Chitosan Coating on Fresh Strawberries and Rasberries During Strage”, Journal of Horticultural Science and Biotechnology, Vol. 73, No.6, pp.763-767.

http://digital.lib.kmutt.ac.th/magazine/issue3/article2.html
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 10:37 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไคโตซาน....การใช้ในด้านเกษตร


ไคโตซาน ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิตในด้านต่างๆ ดังนี้

1. ใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์ (Seed Treatment) โดยได้รับการรับรองจากองค์กร EPA ว่าเมื่อนำอนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน ไปเคลือบเมล็ดพันธุ์ จะมีผลในการป้องกันโรค และ แมลงศัตรูพืช ทำให้อัตราการงอกของเมล็ดเพิ่มขึ้นและผลผลิตที่ได้สูงขึ้น (ในข้าวประมาณ 30-40 %)


2. ใช้เป็นยาฆ่าแมลง (Insecticide) : ไคโตซาน ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตเอมไซม์ Chitinase ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง ซึ่งมีข้อดีคือไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์


3. ใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ (Fertilizer) : เนื่องจากโดยธรรมชาติอนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน จะมีไนโตรเจนประมาณ 7-10% จะถูกปลดปล่อยออกจากโมเลกุลอย่างช้าๆด้วยเอนไซม์ที่สิ่งมีชีวิต ผลิตขึ้นรวมทั้งอนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน นั้นยังเป็นตัวตรึงไนโตรเจนไม่ว่าจากอากาศหรือจากดิน ในกรณีของเห็ดนั้น อนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน จะเป็นตัวตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2 Fixation)


4. ปรับสภาพดิน (Soil -Condition) : ไคโตซาน ถูกนำมาใช้ในการปรับดินที่มีส่วนประกอบของดินเหนียวมาก โดยจะเพิ่มความพรุนในดิน การดูดซับน้ำ การอุ้มน้ำ และการควบคุมอัตราการชะออก (erosion) ของดิน


5. ต่อต้านเชื้อราไวรัส และแบคทีเรียบางชนิด (Desease Resistance ResponseGenes) : ไคโตซาน มีผลต่อการต้านทานและกำจัดเชื้อรา และแบคทีเรียบางประเภทได้หลายชนิด เช่น ไทรโคเดอร์มา ไฟทอปธอรา แอนแทรคโนส เมลาโนส โรครากเน่า-โคนเน่า ราน้ำค้าง ราขาว โรคแคงคอร์ โรคใบติด โรคใบจุดโรคใบสีส้มในนาข้าวและ อื่นๆ ซึ่งเกิดจากโครงสร้างทางประจุและสร้างเอนไซม์ซึ่งทำให้ย่อยสลายทำลายเชื้อรา-โรคพืชได้อย่างดีพบว่า ไคโตซาน สามารถ เข้าสู่เซลล์เชื้อราและทำให้เกิดการยับยั้งการสร้างและสะสมของ RNAจึงทำให้เชื้อราถูกยับยั้งการเจริญเติบโตแต่ในเชื้อราบางประเภทและแบคทีเรีย บางชนิดที่มีประโยชน์จะมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วเมื่อใช้อนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน เช่น ในการใช้กับเห็ด


6. ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค (Disease Resistance Response Genes)ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค โดย ไคโตซาน จะไปกระตุ้น DNA ในนิวเคลียสพืชในการสร้าง Gene ซึ่งควบคุมระบบภูมิคุ้มกันโรค และมีผลต่อการสร้างสารลิกนิน (Lignin) ในพืช ซึ่งจะพบเห็นด้วยตาเปล่าจาก Wax ที่เคลือบบนใบพืช


7. ในการยืดอายุการเก็บของผลิตผลทางการเกษตรและเคลือบเมล็ดพันธุ์เป็นศักยภาพที่ได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับเกษตรแผนใหม่ อนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน ได้ถูกนำไปใช้ในการรักษาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรโดยเมื่อนำไปเคลือบบนผิวของผักและผลไม้จะมีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆใส ปราศจากสีและกลิ่น ช่วยลดอัตราการหายใจ การผลิตก๊าซเอธิลีน การรบกวนของแมลงและเชื้อรา ทำให้บรรยากาศภายในมีการเปลี่ยนแปลงผิวน้อย และผลผลิตจะทนทานต่อสภาวะกรดได้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงสีจะช้าลง ผัก ผลไม้ ที่ได้มีการทดลองใช้อนุพันธ์ ไคติน และ ไคโตซาน ในการเคลือบ เช่น แอปเปิ้ล มังคุด พริกหยวก เป็นต้น



http://www.chitosanpro.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=458209
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 10:41 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไคโตซานผง-ไคโตซานน้ำ




ไคโตซานผง

ได้จากการนำเอาเปลือกปู เปลือกกุ้ง มาผ่านกระบวนการ นำโปรตีน และ แคลเซียมออก เหลือเป็นไคติน หลังจากนั้นนำไคตินที่ได้มาทำการ นำหมู่ อะซิติล ออก หรือเรียกว่า การทำ "ดีอะเซติเลท" จึงได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าไคโตซาน ซึ่งในทุกขั้นตอนที่กล่าวมานั้นมีความสำคัญ และทำให้ได้ไคโตซานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนการทำ ดีอะเซติเลท หากทำได้มากเท่าไร คุณภาพของไคโตซานจะดีมากขั้นเท่านั้น นอกจากนี้ ในขั้นตอนที่มีความสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ การควบคุมให้เกิดไคโตซานที่มีน้ำหนักโมเลกุลตามความเหมาะสมกับการใช้งาน ไคโตซานของเราได้รับการควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนโดยผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ทำให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ




ไคโตซานน้ำ
ไคโตซานน้ำ ถูกนำไปใช้งานในด้านการเกษตร เพื่อเป็นตัวเร่ง การเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิต และช่วยให้พืชมีภูมิต้านทานต่อโรคและแมลง ไคโตซานน้ำ ใช้ง่าย สะดวก ต่อการใช้งาน เพียงผสมกับน้ำตามอัตราส่วน ที่เหมาะสมกับการใช้งาน นำไปฉีดพ่นทางใบให้กับพืช ทั้งพืชไร่ พืชสวน นาข้าว ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ทั้งยังไม่เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ในวงการปศุสัตว์ ไคโตซานน้ำยังถูกนำไปผสมน้ำให้สัตว์กิน เพื่อช่วยให้ร่างกายของสัตว์มีภูมิคุ้มกันที่ดี ได้เนื้อที่มีคุณภาพ และปริมาณสูงขึ้น




http://www.chitosanpro.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5312343
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 11:00 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ไคโตซาน กับประโยชน์ที่มีต่อกุ้ง



ไคโตซาน เป็นสารอาหารเข้มข้นชนิดน้ำ เป็นสารไบโอโพลีเมอร์ชีวภาพ ที่สกัดมาจากธรรมชาติ 100% ไร้สารเคมี เป็นสารปรับสภาพดินและน้ำ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มผลผลิตพืชทุกชนิด ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์เลี้ยง และสัตว์ทุกชนิด ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือผู้บริโภค ไม่เป็นพิษตกค้าง และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับ นาข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น กล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ ฯลฯ และสัตว์ทุกชนิด

สำหรับอาชีพการเลี้ยงกุ้งนั้น ผู้ประกอบการหลายๆรายในปัจจุบันต้องประสบกับปัญหาต่างๆในการดำเนินธุรกิจมากมาย เช่น กุ้งไม่เจริญเติบโต, กุ้งไม่ลอกคราบ, กุ้งไม่แข็งแรง ขี้โรค, กุ้งตาย, อัตราการรอดน้อย, ผลผลิตรวมตกต่ำ, ผลผลิตไม่มีคุณภาพ เช่น กุ้งตัวเล็ก ผิวไม่สวย มีกลิ่นโคลนตม ทำให้ขายไม่ได้ราคาดี ประสบกับปัญหาขาดทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ระหว่างการเลี้ยงกุ้งได้ใช้สารเคมีและยาเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดสารพิษตกค้างในดินก้นบ่อส่งผลต่อการเลี้ยงกุ้งในครั้งต่อๆไปอีกด้วย ทำให้ผลผลิตเลวลงอีกอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบในการเลี้ยงกุ้งหรือสัตว์น้ำอื่นๆคือ ความสิ้นเปลืองอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งหรือสัตว์น้ำ ส่วนหนึ่งประมาณ 40% จะละลายหายไปในน้ำและตกตะกอนลงก้นบ่อเลี้ยง ส่งผลให้เกิดการหมกหมมของเศษอาหารบริเวณก้นบ่อทำให้เกิดปัญหาน้ำเสีย น้ำบูดเน่า โคลนเน่า เลนเน่า ค่า PH เสียไป เกิดการสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ส่งผลให้กุ้งและสัตว์เลี้ยงเป็นโรคได้ง่าย เปิดปัญหากุ้งไม่กินอาหาร ไม่ลอกคราบ ไม่โต ผิวไม่สวย ส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำในที่สุด

สำหรับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆก็มักจะประสบปัญหาคล้ายๆกัน คือ ปัญหาเรื่องน้ำเสีย, ความสิ้นเปลืองอาหาร, สัตว์เป็นโรค ไม่ค่อยกินอาหาร, อัตราการรอดน้อย, น้ำหนักตัวไม่ดี เป็นต้น



ประโยชน์ของไคโตซานที่มีต่อกุ้ง
ไคโตซาน จะเคลือบอาหารสัตว์เอาไว้ ทำให้อาหารแตกตัวในน้ำช้าลง ทำให้กุ้ง, ปลาและสัตว์อื่นๆกินอาหารได้มากขึ้นเพราะอาหารอยู่ในน้ำได้ประมาณ 12 ชั่วโมงขึ้นไปโดยไม่เปื่อยยุ่ยง่าย ลดการสูญเสียอาหารทำให้สามารถลดปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละครั้ง เกษตรกรจึงประหยัดการให้อาหารในแต่ละครั้งลงได้ นอกจากนี้ยังทำให้น้ำและดินก็ไม่เสียเร็ว เกิดการสะสมโรคน้อยลง นอกจากนี้ปัญหาเรื่องแอมโมเนีย ค่า PH ของน้ำ ผู้เลี้ยงไม่ต้องใช้ยา ไม่ต้องใช้สารเคมีแก้ปัญหามากเหมือนเมื่อก่อน

เมื่อสัตว์กินอาหารที่มีไคโตซานเคลือบอยู่ ไคโตซานจะถูกเปลี่ยนเป็นสารกลูโคซามีนซึ่งช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อและเปลือกกุ้ง ช่วยในการสร้างเกล็ดในปลา และเร่งการเจริญเติบโตในกบและตะพาบ จึงทำให้เจริญเติบโตดี กุ้งลอกคราบดี ปลา กบ และตะพาบเนื้อแน่น น้ำหนักดี ผิวสวย และมีสุขภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด




อ้างอิง:
http://chotrungsee-biochem.com/chitosan-shrimp.php
http://province.prd.go.th/trad/news/view.php?id_view=14113
http://chitosan.igetweb.com/index.php?mo=3&art=221076

http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=00486
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 2:35 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

เรามารู้จัก "ไคติน" กันเถอะ


ไคติน เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่มีมากเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งพบได้จากธรรมชาติ คือจะพบในรูปของสารประกอบเชิงซ้อน ไคติน-โปรตีน (ในเปลือกของแมลง) ซึ่งนอกจากจะพบได้ในเปลือกกุ้งและปูแล้วนั้นยังมีมากในเปลือกหุ้มของแพลงก์ตอน ผนังเซลล์ของสาหร่าย ยีสต์ และเห็ดรา เปลือกแมลง แกนของปลาหมึก แมงกระพรุน หรือดาวทะเล


ข้อมูลทั่วไป :
ไคโตซาน เป็นสารอนุพันธ์ที่ไม่ละลายน้ำของไคติน ซึ่งสามารถสกัดได้จากเปลือกของกุ้งขนาดกลางและเล็ก กุ้งกร้ามกราม หรือปู (1, 2, 3, 6, 7, 10, 13, 20, 24) มีการวิจัยทางคลินิกวิทยามากว่า 17 ปี ีถึงการใช้ไคโตซานเป็นสารลดน้ำหนักธรรมชาติโดยใช้เป็นใยอาหาร (ไฟเบอร์) เพื่อทำให้อืดอิ่ม และใช้ในการทำความสะอาดสำไส้ เรื่อยจนมาถึงปัจจุบัน (21) ไคโตซานมีคุณสมบัติในสมบัติในการดูดซับน้ำมัน คราบไขมันและสารพิษบางชนิด เพื่อทำให้กำจัดได้ง่ายขึ้น ไคโตซานถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การทดลองของฮาน (Han L. K.) และเพื่อนร่วมงานของเขา (1999)

ที่โรงเรียนการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่า ไคโตซานป้องกันการเพิ่มของน้ำหนักตัว ป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง และการมีไขมันสะสมในตับมากอันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง มีการทดลองที่ทำการเปรียบเทียบการขับไขมันออกจากร่างกาย และคุณสมบัติ

ในการลดน้ำหนักของใยอาหารจากพืชผักหลากหลายชนิดกับไคโตซาน ผลปรากฎว่าไคโตซานให้ผลดีเหนือกว่าใยอาหารอื่นทั้งหมด ไม่เพียงใช้ในอุตสาหกกรมอาหารไคโตซานยังใช้เป็นไหมเย็บบาดแผลและเส้นเลือดที่ขาด นักวิทยาศาสตร์บางท่านได้จัดให้ไคโตซานเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารเพื่อหน้าที่ หรือที่รู้จักกันว่า ฟังก์ชันนอล ฟูด (functional food)



ทางด้านการเกษตร
นำมาเคลือบผิวผลผลิตทางการเกษตรเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และป้องกันแมลงกัดกินไคโตซานสามารถก่อตัวเป็นฟิล์มบาง ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เคลือบผิวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตรและเมล็ดพันธุ์ และยังมีการนำเอาอนุพันธ์ของไคตินและไคโตซานไปเป็นสารต่อต้านเชื้อรา ไวรัสและแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งมันสามารถทำงานได้อย่างกว้างขวาง เช่น ยับยั้งโรคโคนเน่าจากเชื้อรา โรคแอนแทรกโนส และโรคอื่นๆ


ไคติน-ไคโตซานสามารถใช้เป็นสารเสริมผสมลงในอาหารสัตว์บก เช่น สุกร วัว ควาย เป็ด ไก่ ช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ ในทางเดินอาหาร ช่วยลดอาการท้องเสียของสัตว์ได้ และลดอัตราการตายของสัตว์วัยอ่อนอันเนื่องมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด
ในทางเดินอาหาร



ไคติน-ไคโตซาน สารมหัศจรรย์จากธรรมชาติ
เมื่อพูดถึงไคติน สิ่งที่คุณผู้อ่านนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ ก็คือความอ้วน และเชื่อว่าคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายที่มีหุ่นตุ้ยนุ้ยจนละม้ายคล้ายโอ่งมังกรหลายๆ คนคงเคยลองใช้ผลิตภัณฑ์ไคติน-ไคโตซานมาแล้ว นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักแล้ว ไคตินยังมีสรรพคุณอีกสารพัดสารเพที่เรียกได้ว่าแทบจะบรรยายไม่หมดเลยทีเดียว ทั้งดักจับคราบไขมันและโลหะหนัก เป็นอาหารเสริมสุขภาพ และเป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง


ไคติน คือ อะไร
ไคตินเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อ เป็นองค์ประกอบในโครงสร้างต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตมากมายหลายชนิด ไคตินเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่มีมากเป็นอันดับสองของโลก และเนื่องจากไคตินเป็นพอลิเมอร์ที่พบในธรรมชาติ เราจึงมักพบไคตินในรูป สารประกอบเชิงซ้อนที่อยู่รวมกับสารอื่นๆ

ไคตินเป็นสารประกอบพวกคาร์โบไฮเดรตเช่นเดียวกับเซลลูโลสและแป้ง รูปร่างของไคตินจะเป็นเส้นสายยาวๆ มีลักษณะคล้ายลูกประคำที่ประกอบขึ้นมาจาก น้ำตาลโมเลกุลเล็กๆ ที่มีชื่อว่า เอ็น-อะซิทิล กลูโคซามีน (N-acetyl glucosamine)


ไคติน-ไคโตซาน ดาวรุ่งพุ่งแรง
เมื่อพูดถึงไคติน อีกคำที่มักจะพ่วงมาด้วยคือ ไคโตซาน ไคโตซานคืออนุพันธ์ตัวหนึ่งของไคติน รูปร่างหน้าตาของมันก็จะละม้ายคล้ายกับไคติน ไคโตซานจะได้จากปฏิกิริยาการดึงส่วนที่เรียกว่า หมู่อะซิทิล (acetyl group) ของไคตินออกไป เรียกว่า ปฏิกิริยาดีอะซิทิเลชัน (deacetylation) ทำให้จากเดิมโมเลกุลเดี่ยวของไคตินที่เคยเป็นเอ็น-อะซิทิลกลูโคซามีน ถูกแปลงโฉมใหม่เหลือแค่ กลูโคซามีน
(glucosamine) เท่านั้น จากที่เคยเรียกว่าไคตินก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็นไคโตซาน

การหายไปของหมู่อะซิทิล ทำให้ไคโตซานมีส่วนของโมเลกุลที่แอคทีฟ และพร้อมที่จะทำ ปฏิกิริยาอย่างว่องไวอยู่หลายหมู่ หมู่ที่เด่นๆ เลยก็คือ หมู่อะมิโน (-NH2) ตรงคาร์บอนตัวที่ 2 หมู่แอลกอฮอล์ (CH2OH) ตรงคาร์บอนตัวที่ 6 และหมู่แอลกอฮอล์ที่คาร์บอนตัวที่ 3 และเพราะหมู่ที่อยากทำปฏิกิริยานี้เองที่ทำให้ไคโตซานมีโอกาสได้ฉายแววรุ่งโรจน์ในหลายๆ วงการ


ไคติน-ไคโตซานทำงานได้อย่างไร
ไคติน-ไคโตซานจะทำงานเป็นตัวสร้างตะกอนและตัวตกตะกอน ตัวสร้างตะกอนจะกระตุ้นให้เศษของเสียที่แขวนลอยๆ ในน้ำเกิดการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ใหญ่ขึ้นๆ และพอใหญ่มากเกินก็ตกเป็นตะกอนลงมา ส่วนตัวตกตะกอน ก็จะทำงานคล้ายๆ กันคือจะไปจับกับสารแขวนลอยในน้ำแล้วตกตะกอนลงมา โดย-ไคโตซานจะทำหน้าที่ทั้งสองแบบ ซึ่งทำได้ดีเนื่องจากมีหมู่อะมิโนที่สามารถแตกตัวให้ประจุบวกมาก จึงทำให้พวกประจุลบอย่างโปรตีน สีย้อม กรดไขมันอิสระ คอเลสเทอรอล (ในร่างกาย) ต้องเข้ามาเกาะกับประจุบวกของไคโตซาน ส่วนโลหะหนักซึ่งเป็นประจุบวกอยู่แล้ว จะจับกับอิเล็กตรอนจากไนโตรเจนในหมู่อะมิโนของไคโตซานทำให้เกิดพันธะเคมีที่เรียกว่า พันธะเชิงซ้อนขึ้นมา และจากการทดลองพบว่าหมู่อะมิโนในไคโตซานจะสามารถจับกับโลหะหนักในน้ำ ได้ดีกว่าหมู่อะซิทิลของไคติน




http://www.thailabonline.com/news3chitin-chitosan.htm
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11623

ตอบตอบ: 13/10/2011 2:51 pm    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับไคตินและไคโตซาน


ไคติน มีชื่อทางเคมีว่า Poly [β-(1→4)-2-acetamido-2-deoxy-D-glucopyranose] เป็นสารชีวภาพที่มีโครงสร้างคล้ายกับเซลลูโลส แต่จะต่างกันที่ตำแหน่ง C-2 โดยเซลลูโลสจะประกอบด้วยหมู่ไฮดรอกซิล ส่วนไคตินจะประกอบด้วยหมู่อะซิทามิโด (acetamido group) ดังแสดงไวัในรูปที่ 3.1(ก) และ 3.1(ข) ตามลำดับ ไคตินไม่สามารถละลายในตัวทำละลาย มีขั้วและไม่มีขั้ว โดยทั่วไปมักพบไคตินในผนังเซลล์ของเชื้อจุลินทรีย์ เช่น เห็ด รา รวมทั้งเปลือกของแมลงและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทมีข้อและปล้อง อาทิ กุ้ง ปูและแกนปลาหมึก (Merk Index, 1996)


ไคโตซานหรืออนุพันธ์ของไคตินที่ได้จากการทำปฏิกิริยากำจัดหมู่อะซิทิลของไคติน หรือที่เรียกว่าปฏิกิริยา deacetylation โดยแช่ไคตินในสารละลายด่างเข้มข้น ซึ่งไคโตซานที่ได้นี้ มีชื่อทางเคมีว่า poly [β-(1→4)-2-amino-2- deoxy-D-glucopyranose] เป็นโพลิเมอร์ที่ไม่สามารถละลายในตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทั้งหมดและน้ำที่มีค่า pH เป็นกลางหรือด่าง แต่สามารถละลายในกรดอ่อน (Hayes และคณะ, 1977)


กรรมวิธีการผลิตไคตินและไคโตซานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งวิธีทางเคมีและทางชีวภาพ ซึ่งในระดับอุตสาหกรรมมักจะใช้วิธีทางเคมี และวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากกากของเหลือในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อาทิ เปลือก-หัวกุ้ง กระดองปูและแกนปลาหมึก โดยสมบัติทางเคมีฟิสิกส์ของไคตินและไคโตซานที่ได้มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ (Species) ของสัตว์เหล่านี้ รวมถึงกรรมวิธีการผลิต ดังนั้น กระบวนการผลิตที่นำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาผสมผสานกับกระบวนการผลิตทางเคมี จึงมีการพัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้สมบัติของผลิตภัณฑ์ไคตินและไคโตซานตามต้องการและเหมาะสมกับการนำไปใช้



การผลิตไคติน
กระบวนการผลิตไคตินจากเปลือกของสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (Crustacean shell waste) มีขั้นตอนพื้นฐานอยู่ 3 ขั้นตอน ดังนี้ :

ขั้นตอนที่ 1 การแยกโปรตีน (deproteinization);
ขั้นตอนที่ 2 การแยกแร่ธาตุ (demineralization) และ
ขั้นตอนที่ 3 การแยกเม็ดสี (decoloration)

ซึ่งขั้นตอนที่ 1 และ 2 สามารถสลับลำดับก่อนหลังได้ อย่างไรก็ตามกระบวน
การผลิตไคตินที่ต้องการนำโปรตีนที่สกัดได้กลับมาใช้ประโยชน์ จำเป็นจะต้องเริ่มจากขั้นตอนการแยกโปรตีนออกจากเปลือกของสัตว์เหล่านี้ก่อน ขั้นตอนการแยกแร่ธาตุ เนื่องจากโปรตีนที่ได้จะมีปริมาณและคุณภาพที่ดีกว่า (Johnson และ Peniston, 1982 อ้างอิงโดย No และ Meyers, 1997)



ขั้นตอนการแยกโปรตีน (Deproteination)
โดยทั่วไป เปลือก-หัวกุ้ง กระดองปูและแกนปลาหมึกมักจะถูกนำมาบดก่อนนำมาแยกเอาโปรตีนออก ซึ่งขั้นตอนการแยกโปรตีนนี้มักใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่มีความเข้มข้นตั้งแต่ 1-10% และอุณหภูมิที่ใช้ประมาณ 65-100°C

นอกจากนี้ระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา (reaction time) ขึ้นอยู่กับวิธีและสภาวะที่ใช้ในการสกัดโปรตีน อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้กากเหล่านี้ทำปฏิกิริยานานเกินไปในสภาวะรุนแรงจะทำให้สายโซ่ของไคตินถูกตัด (depolymerization) และยังเกิดปฏิกิริยาการกำจัดหมู่อะซิทิลด้วย นอกจากนี้อัตราส่วนของกากเหล่านี้ต่อสารละลายด่าง ตั้งแต่ 1 ต่อ 10 ขึ้นไป สามารถเกิดปฏิกิริยาได้อย่างทั่วถึง (uniformity) แต่ต้องอาศัยการกวนอย่างสม่ำเสมอ (อ้างอิงโดย No และ Meyers, 1997) Domard และ Chaussard (2002)

พบว่า การเพิ่มระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา deproteinization และความเข้มข้นของ NaOH ไม่ทำให้ปริมาณโปรตีนที่เหลือในไคตินแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามหากนำวัตถุดิบมาแช่ในสารละลายผสมระหว่างคลอโรฟอร์มและเมทานอล (2:1) ก่อนการแยกโปรตีน จะทำให้ปริมาณโปรตีนในไคตินลดน้อยลงถึง 0.5% นอกจากนี้ยังพบว่า ขนาดของวัตถุดิบไม่มีอิทธิพลต่อปริมาณโปรตีนในไคติน แต่จะมีผลต่อการเพิ่มอัตราเร็วในการแยกโปรตีน ซึ่งหากลดขนาดของวัตถุดิบจะทำให้อัตราในการแยกโปรตีนเร็วขึ้น คณะผู้วิจัยได้สรุปเพิ่มเติมว่า สภาวะที่เหมาะสมสำหรับการแยกโปรตีนจากแกนปลาหมึก (squid pens) คือ แช่แกนปลาหมึกใน 1 M NaOH นาน
24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิห้อง อย่างไรก็ตามการแยกโปรตีนจากเปลือกปูจำเป็นจะต้องอยู่ในสภาวะที่ 60°C (Stevens, 2002)

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการแยกโปรตีน คือ ปริมาณไขมันในวัตถุดิบ ซึ่งไขมันนี้จะช่วยป้องกันโปรตีนจากการไฮโดรไลสีส โดยอาจทำให้พลังงานในการเกิดปฏิกิริยา (energy interaction) ต่ำ หรืออาจจะเข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่ เรียกว่า lipoproteins (Domard และ Chaussard, 2002)


นอกจากวิธีทางเคมีที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว โปรตีนยังสามารถสกัดได้ด้วยวิธีทางชีวภาพ อาทิ การหมักด้วยจุลินทรีย์หรือการย่อยด้วยเอนไซม์ (Roa และคณะ, 2000) นอกจากนี้ Gagne และ Simpson (1993)

สร้างสภาวะที่ทำให้การสกัด
โปรตีนจากเปลือกกุ้งมีความสมบูรณ์ขึ้นโดยใช้เอนไซม์ 2 ตัว คือ chymotrypsin และ papain ซึ่งปริมาณโปรตีนที่เหลืออยู่ในเปลือกกุ้งหลังผ่านกระบวนการย่อยด้วยเอนไซม์ดังกล่าวมีประมาณ 1.3 และ 2.8% ตามลำดับ


ขั้นตอนการแยกแร่ธาตุ (Demineralization)
การแยกแร่ธาตุออกจากวัตถุดิบมักใช้สารละลายกรดไฮโดรคลอริกเจือจางที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งหากมีการกวนอย่างทั่วถึงจะใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการเกิดปฏิกิริยาสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 30 นาที จนถึง 2 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีการแยก นอกจากนี้การยืดระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาจะมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการดึงแร่ธาตุออกจากไคติน (อ้างอิงโดยNo และ Meyers, 1997)


หากเปรียบเทียบวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไคตินระหว่างเปลือกปูและเปลือกกุ้ง พบว่า การแยกแร่ธาตุออกจากเปลือกปูจะกระทำได้ยากกว่าเปลือกกุ้ง และความเข้มข้น HCl ที่ใช้ในการแยกแร่ธาตุไม่ควรน้อยกว่า 0.7 โมลาร์ อย่างไรก็ตามการใช้กรดมากเกินไปจะทำให้น้ำหนักโมเลกุลของไคโตซานลดลง (Myint และคณะ, 2002) และเพื่อลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาการใช้กรดเกลือ Hall (2002) ได้เสนอทางเลือกชีวภาพ โดยใช้เชื้อแลคติกแอซิดแบคทีเรียในการแยกแร่ธาตุ



การแยกสี (Decoloration)
การผลิตไคตินจากขั้นตอนดังได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น พบว่าไคตินที่ได้มักจะยังคงมีสี ดังนั้นหากต้องการไคตินฟอกขาวจะต้องนำไคตินมาผ่านกระบวนการแยกสีโดยใช้สารฟอกขาว ได้แก่ เอทานอล โซเดียมไฮโปรคลอไรท์ อะซิโตน และ 3% ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เป็นต้น (อ้างอิงโดย No และ Meyers, 1997)


ในกระบวนการผลิตไคตินด้วยวิธีทางเคมีนั้น สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีในช่วงการแยกโปรตีน แยกแร่ธาตุและลดระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา โดยการใช้เทคนิคต่างๆ อาทิ การบด (crushing) การกด (pressing) การอบแห้ง การล้างด้วยน้ำที่มี pH เป็นกรด การต้มและการหมัก (No และ Meyers, 1997) ดังนั้น เปลือกกุ้งที่ผ่านการทำพรีทรีทเมนต์แล้วสามารถนำมาสกัดไคตินโดยใช้ NaOH และ HCl ที่ความเข้มข้นเพียง 2.5% ที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาเพียง 6 ชั่วโมง และผลิตภัณฑ์ไคตินที่ได้นี้ เมื่อนำมาผลิตเป็นไคโตซานจะได้ไคโตซานที่มีสมบัติดังนี้ (Stevens, 2002):

ปริมาณเถ้า ≈ 0.5%
ปริมาณโปรตีน ≈ 0.5%
ความหนืด ≈ 4000 cps.
การละลาย ≈ 100%


การผลิตไคโตซาน
การผลิตไคโตซานจากไคตินสามารถทำได้ทั้งวิธีทางเคมีและวิธีทางชีวภาพ แต่วิธีทางชีวภาพโดยการใช้เอ็นไซม์

ในการดึงหมู่อะซิทิลออกจากไคตินนั้นยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ (Win, และคณะ, 2000; Win และ Stevnes, 2001)

ส่วนวิธีทางเคมีเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แต่ข้อเสียของวิธีทางเคมี ได้แก่ คุณภาพในการผลิตจะควบคุมยากเครื่องมือที่ใช้ถูกกัดกร่อนอันเนื่องมาจากสารเคมีที่เข้มข้นและประการสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนักวิจัยหลายท่านและ
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตไคโตซานพยายามที่จะคิดค้นหาวิธีการผลิตที่ใช้สภาวะที่ไม่รุนแรงนัก แต่ให้คุณภาพผลิตภัณฑ์ไคโตซานตามต้องการ

การสกัดไคโตซานจากไคตินสามารถทำได้โดยการแช่ไคตินในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโปตัสเซียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น (40-50%) ที่อุณหภูมิ 100°C หรือสูงกว่า ทำให้หมู่อะซิทิลบางส่วนหรือทั้งหมดจะถูกดึงออกจากโพลิเมอร์
(Muzzarelli, 1977)

ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตไคโตซาน ได้แก่ อุณหภูมิ ระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา ความเข้มข้นของด่าง สภาวะในการผลิตไคติน บรรยากาศและอัตราส่วนของไคตินต่อสารละลายด่างเข้มข้น ซึ่งรายละเอียดมีดังนี้


ผลของอุณหภูมิต่อปฏิกิริยาดึงหมู่อะซิทิล (Deacetylation) (อ้างอิงโดย No และ Meyers, 1997) เมื่อกล่าวถึงอิทธิพลของอุณหภูมิต่ออัตราเร็วในการเกิดปฏิกิริยาการดึงหมู่อะซิทิลนั้น Lusena และ Rose (1953) พบว่า อุณหภูมิสูงทำให้เปอร์เซ็นต์การดึงหมู่อะซิทิลเพิ่มขึ้น แต่ขนาดโมเลกุลจะลดลง นอกจากนี้ Peniston และ Johnson (1980) อธิบายความสัมพันธ์ที่เป็นเส้นตรงระหว่างส่วนกลับของอุณหภูมิและลอกการิทึมของอัตราการเกิดปฏิกิริยา ผลของระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาดึงหมู่อะซิทิลและความเข้มข้นของด่าง

Wu และ Bough (1978) ทำการทดลองโดยแช่ไคตินใน 50% NaOH ที่ 100°C และพบว่า ปฏิกิริยากำจัดหมู่อะซิทิล จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1 ชั่วโมงแรก โดยมีระดับการกำจัดหมู่อะซิทิล (degree of deacetylation, % DD) ประมาณ
68% และอัตราการเกิดปฏิกิริยาจะช้าลง ซึ่งค่า DD เท่ากับ 78% หลังแช่ไคตินในโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงสรุปว่า ที่สภาวะดังกล่าว การเกิดปฏิกิริยากำจัดหมู่อะซิทิลจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งหากแช่ในด่างเข้มข้นนานกว่านั้นไม่ทำให้ %DD เพิ่มมากขึ้น แต่จะทำให้สายโซ่ของไคโตซานสั้นลง (อ้างอิงโดย No และ Meyers, 1997)


Lertsutthiwong และคณะ (2002) พบว่า ปฏิกิริยาการดึงหมู่อะซิทิลสามารถทำได้ที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งจากการทดลองให้ผลในทิศทางเดียวกับ Wu และ Bough (1978) โดยพบว่า เมื่อแช่ไคตินใน 50% NaOH ที่อุณหภูมิ 40°C ปฏิกิริยาจะเกิด
ขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 วันแรก โดยค่า DD ที่ได้ประมาณ 75% อย่างไรก็ตาม DD จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเพิ่มระยะเวลาในการทำปฏิกิริยา นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังรายงานเพิ่มเติมว่า การผลิตไคโตซานที่อุณหภูมิต่ำเพื่อให้ได้ DD อย่างน้อย
85% สามารถกระทำได้ โดยการทำปฏิกิริยากำจัดหมู่อะซิทิล 2 ครั้ง (double deacetylation) ซึ่งให้ผลสอดคล้องกับ Roberts (1997); Chinadit และคณะ (1998)


อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาการกำจัดหมู่อะซิทิลโดยใช้ความเข้มข้นของ NaOH ที่ต่ำเกินไปจะมีผลต่อการละลายของไคโตซานในสารละลายกรดอ่อน ซึ่ง Alimuniar และ Zainuddin (1992) อ้างอิงโดย No และ Meyers (1997) พบว่า ไคโตซานที่
ผลิตจากกระบวนการที่ใช้สารละลายด่างที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 45% ไม่สามารถละลายในกรดอ่อน แม้ว่าจะแช่ไคตินในด่างนานถึง 30 วัน


Bough และคณะ (1978) อ้างอิงโดย No และ Meyers (1997) ทำการตรวจสอบผลของระยะเวลาในการกำจัดหมู่อะซิทิลต่อความหนืดและน้ำหนักโมเลกุล ซึ่งผลการทดลอง พบว่า ไคโตซานที่ผ่านกระบวนการกำจัดหมู่อะซิทิลด้วย 50% NaOH ที่อุณหภูมิ 145-150°C เป็นเวลา 5 นาที จะให้ค่าความหนืดและน้ำหนักโมเลกุลสูงกว่าไคโตซานที่ผ่านการกำจัด หมู่อะซิทิล ในสภาวะเดียวกันนาน 15 นาที โดยการทดลองนี้ให้ผลเช่นเดียวกับ Benjakul และ Wisitwuttikul (1994)


ผลของสภาวะในช่วงการผลิตไคติน
กระบวนการแยกแร่ธาตุในขั้นตอนการผลิตไคตินนั้นมีผลต่อขนาดโมเลกุลของไคโตซาน (Myint และคณะ, 2002) ซึ่งต่อมามีผู้ค้นพบว่าหากทำการแยกแร่ธาตุด้วยกรดเกลือเจือจางที่มี pH ไม่ต่ำกว่า 3 จะได้ผลิตภัณฑ์ไคโตซานที่มีความหนืดสูง

นอกจากนี้ความหนืดของไคโตซานจะลดลงเมื่อเพิ่มระยะเวลาในการแยกแร่ธาตุ (Moorjani และคณะ, 1975 อ้างอิงโดย No และ Meyers, 1997; Lertsutthiwong และคณะ, 2002)

นอกจากนี้ขั้นตอนการดึงโปรตีนออกไม่ว่าจะด้วยวิธีทางเคมีหรือการใช้เอนไซม์ก็มีผลต่อความหนืดของไคโตซาน

นอกจากนี้ Lertsutthiwong และคณะ (2002) พบว่า กระบวนการผลิตไคโตซานที่เริ่มจากกระบวนการแยกแร่ธาตุก่อนกระบวนการแยกโปรตีนจะให้ไคโตซานที่มีความหนืดสูงกว่าไคโตซานที่ผลิตจากกระบวนการที่เริ่มต้นด้วยการแยกโปรตีนและตามด้วยการแยกแร่ธาตุ


อัตราส่วนของไคตินต่อสารละลายด่าง
ในระหว่างการเกิดปฏิกิริยาการกำจัดหมู่อะซิทิล การกวนอย่างทั่วถึงมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อให้ปฏิกิริยาเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ Benjakul และ Wisitwuttikul (1994) พบว่า อัตราส่วนของไคตินและสารละลายด่างที่สูงกว่า 1:10 ไม่มีผลต่อ
ประสิทธิภาพการกำจัดหมู่อะซิทิลของไคติน


ผลของขนาดวัตถุดิบ
Bough และคณะ (1978) อ้างอิงโดย No และ Meyers (1997) ทำการตรวจสอบผลของขนาดวัตถุดิบต่อคุณภาพของไคโตซาน ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า วัตถุดิบที่มีขนาดเล็กประมาณ 1 มิลลิเมตร จะให้ผลิตภัณฑ์ไคโตซานที่มีความหนืดและน้ำหนักโมเลกุลที่สูงกว่า วัตถุดิบที่มีขนาด 2 และ 6.4 มิลลิเมตร แม้ว่าองค์ประกอบของไนโตรเจนและเถ้าจะเหมือนกัน นอกจากนี้ยังพบว่าไคตินที่มีขนาดใหญ่กว่า ต้องการระยะเวลาในการบวมตัว (swelling time) ที่นานกว่า ส่งผลให้อัตราการเกิดปฏิกิริยาการดึงหมู่อะซิทิลช้ากว่า ในทางตรงกันข้าม Lusena และ Rose (1953) อ้างอิงโดย No และ Meyers(1997) รายงานว่า ขนาดของไคติน ประมาณ 20–80 mesh ไม่มีผลต่อปฏิกิริยากำจัดหมู่อะซิทิล และความหนืดของสารละลายไคโตซาน


จากข้อมูลต่างๆ ข้างต้นทำให้ทราบว่า สมบัติของไคตินและไคโตซานที่ได้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับ เทคนิค วิธีการผลิตชนิดของสารเคมี ความเข้มข้นและอัตราส่วนในการใช้ โดยตารางที่ 3.1 และ 3.2 แสดงตัวอย่างของกรรมวิธีการผลิตและสมบัติไคติน-ไคโตซาน




http://kasetonline.com/2008/12/29/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%99/
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©