hearse สาวดาม
เข้าร่วมเมื่อ: 08/01/2010 ตอบ: 110
|
ตอบ: 03/10/2010 11:03 am ชื่อกระทู้: การป้องกันกำจัดศัตรูข้าวโดยวิธีผสาน |
|
|
การป้องกันกำจัดศัตรูข้าวโดยวิธีผสาน
เป็นการเลือกใช้วิธีการตั้งแต่ 2 วิธีขึ้นไป ผสานกันให้เหมาะสม เมื่อใช้แล้วจะทำให้เกิดผลดีอย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. ทำให้ศัตรูลดลงในระดับที่ไม่ทำให้พืชผลเสียหายไปในทางเศรษฐกิจ
2. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการควบคุมศัตรูชนิดนั้น
3. ปลอดภัยต่อเกษตรกร (ผู้ผลิต) ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
การผลิต ข้าวในปัจจุบัน เกษตรกรเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ โดยการเพิ่มปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งการกระทำดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาในนาข้าวและสิ่งแวดล้อม ทำให้ศัตรูพืชระบาดมากขึ้น และผลผลิตก็มิได้เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้จึงได้มีการนำวิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูข้าวโดยวิธีผสมผสาน ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ
1. ปลูกพืชและดูแลให้แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งได้แก่
- ใช้เมล็ดพันธุ์ดี ปราศจากเมล็ดวัชพืชปะปน, ต้านทานโรค-แมลง
- เตรียมดินและกัดวัชพืชอย่างถูกต้อง
- ใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับชนิดดินและพันธุ์ข้าว
- ระดับน้ำประมาณ 15 ซม.
2. ลงสำรวจตรวจแปลงนาทุกอาทิตย์
จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะต้องลงตรวจแปลงนาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยสำรวจตรวจตราอย่างใกล้ชิดว่าสภาพของข้าวเป็นอย่างไร ระดับน้ำ ปุ๋ย เพียงพอเหมาะสมแล้วหรือยัง ปริมาณ สัดส่วนของศัตรูพืชและศัตรูธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างถูกต้อง การสำรวจนี้เพื่อประเมินสภาพนิเวศน์วิทยาในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของข้าว
3. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ
โดยปกติในนาข้าวเขตร้อนทั่วๆ ไป ปริมาณศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืช เช่น แมงมุม แมลงปอ มวนดูดไข่ จิงโจ้น้ำ แตนเบียน เชื้อจุลินทรีย์ และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิด มีอยู่อย่างเพียงพอที่จะควบคุมศัตรูข้าว ซึ่งมีชนิดที่สำคัญอยู่ไม่กี่ชนิดเท่านั้น สมดุลของธรรมชาตินี้ จะถูกทำลายลงหากเกษตรกรใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะสารในกลุ่มไพรีรอยส์และออกาโนฟอสเฟต ซึ่งมีพิษกว้างขวาง ทำลายสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดในนาข้าว ซึ่งในที่สุดจะมีผลให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น
ในช่วง 30 วัน หลังจากปลูกข้าวแล้ว ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงใด ๆ ทั้งสิ้น
4. ให้เกษตรกรเป็นผู้จัดการที่ดีหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการด้วยตนเอง
เมื่อเกษตรกรสามารถวิเคราะห์สภาพนิเวศน์วิทยาในนาข้าวและมีการตัดสินใจอย่างถูกต้อง ก็จะมีผลให้การผลิตประสบผลสำเร็จ ต้นทุนการผลิตลดลง ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากสารเคมี เกษตรกรสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง และประกอบการเกษตรกรรมที่ยั่งยืนในที่สุด
ศัตรูธรรมชาติที่พบในนาข้าว
เมื่อลงไปในนาข้าวจะพบสิ่งมีขีวิตหลายชนิดซึ่งประกอบด้วยแมลงศัตรูข้าวชนิดต่าง ๆ และศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าวพวกแมง, แมลงและสัตว์อื่น ๆ ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าว ได้แก่
ตัวห้ำ คือสัตว์ที่คอยจับสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร ทำให้เหยื่อตายทันที เช่น ด้วงเต่า แมงมุม แมลงปอเข็ม ฯลฯ
ตัวเบียน คือ สัตว์ที่อาศัยยังชีพบนเหยื่อ อาจจะอยู่ภายนอกหรือภายในร่างกายของเหยื่อก็ได้ ค่อยๆดูดกินเลือดหรือน้ำเลี้ยงจากเหยื่อค่อย ๆ ตายไปในที่สุดได้แก่แตนเบียนต่าง ๆ ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนถึงขนาดใหญ่
ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้เราแบ่งเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. แมงมุม มี 8 ขา พบหลายชนิดในนาข้าว มีทั้งพวกที่ชักใยเพื่อใช้เป็นกับดักเหยื่อของมันและพววกวที่ออกตามล่าเหยื่อ มีตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่กว่าแมลงศัตรูข้าว ตัวอย่างของแมงมุมพวกนี้ได้แก่แมงมุมสุนัขป่า Lycosapseudoannulata แมงมุมแปดตา Oxyopes javanus และแมงมุมขายาว Tetragnatha spp.
2. แมลงปอ เป็นแมลงที่พบบินได้รวดเร็ว คอยจับเหยื่อ ซึ่งได้แก่ แมลงศัตรูข้าวชนิดต่าง ๆ ในนา ตัวอย่างของแมลงปอที่พบในนาได้แก่ แมลงปอบ้าน Neurothomis tulliatullia และแมลงปอเข็ม Agriocnemi ssp.คอยจับกินเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจั๊กจั่น และหนอนห่อใบข้าว
3. ด้วง เป็นแมลงที่มีปีกคู่แรกแข็งแรงใช้ป้องกันตัว ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ของด้วงหลายชนิดที่พบในนาเป็นตัวห้ำของแมลงศัตรูข้าวหลายชนิด เช่น เพลี้ยกระโดด, เพลี้ยอ่อน, หนอนห่อใบ, เพลี๊ยจั๊กจขั่น หนอนกอ ฯลฯ ตัวอย่างของแมลงกลุ่มนี้ได้แก่ด้วงเต่า Micraspis discolor ด้วงดิน Oplionea sp. และด้วงก้นกระดก Paederus fuscipes
4. มวน เป็นแมลงที่มีปากแหลมใช้ดูดน้ำเลี้ยงจากเหยื่อของมัน พบมวนตัวห้ำของแมลงศัวตรูข้าวหลายชนิดอาศัยอยู่บนผิวน้ำและบนต้นข้าว คอยจับกิน เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, เพลี้ยจั๊กจั่น และผีเสื่อหนอนกอข้าว ตัวอย่างของมวนที่พบในนาข้าวได้แก่ จิงโจ้น้ำ Limnogonus sp. และมวนดูดไข่ Cyrtorhinus lividipennis (Reuter)
5. ต่อแตน เป็นกลุ่มของแมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญมีขนาดตัวตั้งแต่ขนาดใหญ่เห็นได้ด้วยตาเปล่า จนถึงขนาดเล็กเท่าปลายหัวเข็มหมุด มีทั้งตัวห้ำและตัวเบียนทำลายแมลงศัวตรูข้าวในระยะไข่, ตัวอ่อน, และดักแด้ ตัวอย่างของแมลงกลุ่มนี้ได้แก่ แตนเบียนไข่ของหนอนกอข้าว Telenomus sp. แตนเบียนตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Pseudogonatopus spp. แตนเบียนตัวหนอนของหนอนห่อใบข้าว Xanthopimpla sp. และแตนเบียนดักแด้หนอนกอข้าว Tetrastichus ayyari
6. แมลงวัน เป็นแมลงที่วมีปีก 1 คู่ พบพวกที่เป็นศัตรูธรรมชาติหลายชนิดบางชนิดเป็นตัวเบียนบางชนิดเป็นตัวห้ำทำลายแมลงศัวตรูข้าวพวก หนอนกอ และเพลี้ยต่างๆ เป็นต้น ตัวอย่างได้แก่แมลงวันก้นขนในวงศ์ Tachinidae, แมลงวันตาโต pipunculus sp. แมลงวันปีกลาย Poecilotraphera taeniata และแมลงวันแคระ Anatrichus pygmacus
7. ตั๊กแตนและจิ้งหรีด พบว่าเป็นศัตรูธรรมชาติที่คอยทำลายไข่หนอนกอข้าวและตัวอ่อนของเพลี้ยชนิดต่าง ๆ ในนาข้าว ได้แก่ตั๊กแตนหนวดยาว Conocephalus longipennis และจิ้งหรีดหนวดยาว Metioche yittaticollis
การรู้จักชนิดของศัตรูธรรมชาติและปล่อยให้ศัตรูธรรมชาติช่วยกำจัดแมลงศัตรูข้าวเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดต้น ทุนการผลิต ทำให้สภาพแวดล้อมคงสภาพเดิมมากที่สุดเป็นการรักษาผลผลิตไม่ให้เสียไปผลผลิตข้าวที่ได้ ก็ไม่มีสารพิษตกค้าง และที่สำคัญที่สุดคือช่วยอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในนาข้าวตามธรรมชาติ ได้มากขึ้น รวมทั้งมีผลดีต่อสุขภาพร่างกายของเกษตรกรผู้ทำนาซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากที่สุด
ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าว
ตามปกติในนาข้าวมีศัตรูธรรมชาติที่คอยกินและทำลายแมลงศัตรูข้าวอยู่มาก ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื่อโรคทำให้แมลงศัตรูข้าวมีปริมาณต่ำ และไม่ทำความเสียหายให้กับข้าว
1. ตัวห้ำ แมลงหรือสัตว์อื่นที่กินแมลงศัตรูข้าวได้แก่
1.1 มวนดูดไข่ ตัวเต็มวัยสีเขียว หัวและอกสีดำ ลำตัวยาว 2.5-3.3 มม. กินไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจั๊กจั่น 7-10 ฟอง หรือ 1-5 ตัวต่อวัน
1.2 ด้วยเต่าสีส้ม ด้วงเต่าลายหยัก ด้วงเต่าสายสมอ ทั้งตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเป็นตัวห้ำ กินไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั๊กจั่น และเพลี้ยอื่น ๆ 5-10 ฟอง ต่อตัวต่อวัน
1.3 แมงมุม แมงมุมหมาป่า แมงมุมเขี้ยวยาว กินเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั๊กจั่น หนอนห่อใบ-ม้วนใบข้าว หนอนปลอก หนอนแมลงวัน ข้าว 5-15 ตัวต่อวัน และ 2-3 ตัวต่อวัน ตามลำดับ
1.4 มวนจิงโจ้น้ำ ตัวดำเป็นมัน ลำตัวยาว 1.5 มม. อยู่เป็นกลุ่มตามผิวน้ำหรือโคนต้นข้าว กินเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจั๊กจั่น 4-7 ตัวต่อวัน
1.5 ด้วงดิน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินเพลี้ยกระโดด และหนอนห่อใบข้าว 3-5 ตัวต่อวัน
1.6 แมลงปอเข็ม ตัวอ่อนแมลงปอเข็มจะคอยจับตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดกิน อยู่บริเวณโคนกอข้าว ตัวเต็มวัย ชอบบินวนอยู่บริเวณร่มใบข้าวคอยจับผีเสื้อหนอนห่อใบข้าว และผีเสื้อหนอนศัตรูข้าวอื่น ๆ กิน
2. ตัวเบียน แมลงหรือสัตว์อื่นที่เกาะอาศัยกินอยู่ภายในหรือภายนอกลำตัวของแมลงศัตรูข้าว ได้แก่
2.1 แตนเบียนอะนากรัส ตัวเล็กมาก ยาว 0.8 มม. ตัวสีส้มแดง เป็นตัวเบียนทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจีกจั่น 15-30 ฟองต่อวัน ไข่เพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจั๊กจั่น 15-30 ฟองต่อวัน ไข่เพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจั๊กจั่นที่ถูกทำลายแล้วจะเปลี่ยนสีเป็นสีส้มแดง
2.2 เชื้อรา ได้แก่ เชื้อราขาว ราเขียว ราเฮอร์ซุเทลล่า ทำลายเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจั๊กจั่น
ศัตรูข้าวที่สำคัญ 1.เพลี้ยไฟ
2.เพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว
3.เพลี้ยจั๊กจั่นปีกลายหยัก
4.เพลี้ยกระโดดหลังขาว
5.เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปีกยาว
6.เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลปีกสัี่น
7.หนอนห่อใบ
8.หนอนกอ
การทดลองใช้พืชสมุนไพรในนาข้าว
พืชสมุนไพรที่ใช้ในนาข้าวเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการดูดซึมจากที่ได้มีรายงานไว้ ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะใช้ในนาข้าวได้แก่
สะเดา มีสารออกฤทธิ์ที่ถูกทำลายง่ายโดยแสงแดด (ใช้ส่วนของเมล็ด) ป้องกันกำจัด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล, หนอนกอ, หนอนกระทู้, หนอนม้วนใบ โดยฉีดพ่นในตอนเช้าตรู่หรือตอนเย็น
บอระเพ็ด มีสารออกฤทธิ์ประเภทดูดซึมที่ออกฤทธิ์มากขึ้นเมื่อถูกแสงแดด ใช้ควบคุมหนอนกอ, หนอนกระทู้ และเพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว
สูตรใบสะเดา, ข่าและตะไคร้หอม ใช้ควบคุมหนอนม้วนใบ, เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว ควรฉีดพ่นในตอนเช้าตรู่หรือเย็น
วิธีการและอัตราการใช้
วิธีหว่าน บอระเพ็ดและเมล็ดสะเดา หว่านครั้งแรก หลังจากหว่านข้าวได้ 7 วันและอีกครั้งเมื่อข้าวอายุ 60 วัน
อัตราการใช้ บอระเพ็ด 10 กิโลกรัม/ไร่ สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ หว่านทั่วแปลง เมล็ดสะเดา 6 กิโลกรัม/ไร่ บดให้ละเอียดหว่านทั่วแปลง
วิธีพ่น ใบสะเดา ข่า และตะไคร้หอม พ่นครั้งแรกเมื่อข้าวอายุ 15 วัน และพ่นอีกทุกๆ 14 วันจนข้าวอายุ 60 วัน
อัตราการใช้
สูตร 1 ใบสะเดา 1 กก. ข่า 1 กก.ตะไคร้หอม 1 กก. น้ำ 10 ลิตร
สูตร 2 ใบสะเดา 2 กก. ข่า 1 กก.ตะไคร้หอม 1 กก. น้ำ 10 ลิตร
โดยนำส่วนผสมดังกล่าวบดให้ละเอียด แช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วกรองเอากากออก นำน้ำที่ได้ผสมน้ำ 200 ลิตรฉีดพ่นการทดลองนี้ ทำการตรวจนับแมลงก่อนการพ่นสารสมุนไพร 1 วัน และหลังการพ่น 2 วัน ทำการตรวจนับ 6ครั้ง ครั้งแรกเมื่อข้าวอายุ 27 วัน
สรุปผลการทดลอง
สารสกัดจากใบสะเดา, ข่า และตะไคร้หอมจะออกฤทธิ์กับแมลงให้เห็นหลังจากการใช้ไปแล้ว 2-3 วัน และสามารถฆ่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระยะตัวอ่อนได้อย่างเห็นได้ชัด
การใช้พืชสมุนไพรในการควบคุมโรคและแมลงศัตรูข้าว ให้ได้ผลควรจะต้องมีการใช้หลายวิธีควบคู่กันไป เช่น การใช้วิธีหว่านควบคู่กับวิธีพ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเพิ่มจำนวนครั้งในการฉีดพ่นให้ถี่มากขึ้น จากทุก 2 สัปดาห์ เป็น 1 สัปดาห์) เมื่อข้าวอายุมากขึ้น และตามช่วงของการระบาดที่รุนแรงของแมลงจึงจะสามารถ ควบคุมแมลงศัตรูข้าวได้อย่างได้ผล แต่ถ้าแมลงศัตรูข้าวระบาดรุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ควรใช้สารฆ่าแมลง เพราะจะออกฤทธิ์ในเวลาอันรวดเร็ว
การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวโดยวิธีผสาน
การแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เกษตรกรปฏิบัติกันอยู่โดยใช้สารฆ่าแมลงเพียงวิธีเดียว นอกจากเสียค่าใช้จ่ายสูงและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา การป้องกันกำจัดที่ถูกต้องก็คือ ใช้วิธีป้องกัน
กำจัดแบบผสาน โดยกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม กล่าวคือ
1. ในแหล่งปลูกข้าวเดียวกัน ชาวนาควรปลูกข้าวพร้อม ๆ กัน
2. พันธุ์ข้าวที่ปลูกควรเป็นพันธุ์ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข 23, สุพรรณบุรี 90, สุพรรณบุรี 2 แต่ไม่ควรใช้พันธุ์เดียว เพราะแมลงอาจปรับตัวทำลายข้าวพันธุ์ต้านทานนั้นได้ในเวลาต่อมา
3. ใส่ปุ๋ยให้พอเหมาะตามคำแนะนำของทางราช่การ
4. หลังปลูกข้าวแล้ว ชาวนาควรหมั่นลงไปสำรวจตรวจนับแมลงศัตรูข้าวในนาอย่างสม่ำเสมอ ทุก 3-5 วัน โดยสุ่มตรวจกอข้าว 10 กอ หรือ 10 กลุ่ม (ข้าว 1 กลุ่ม = ต้นข้าวที่อยู่ชิดกัน 10 ต้นในนาหว่านน้ำตม) ต่อพื้นที่ 1 ไร่ การตรวจแต่ละแปลง สามารถเป็นตัวแทนพื้นที่และข้าวพันธุ์เดียวกันได้ 5-10 ไร่ เมื่อตรวจพบว่ามีเพลี้ย กระโดดสีน้ำตาลในนามากถึงขั้นต้องใช้สารฆ่าแมลง ก็ใช้สารฆ่าแมลงตามชนิดและอัตราที่ทางกรมวิชาการ เกษตรแนะนะ
5. เมื่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลลดความรุนแรงลง ถ้าพบแมงมุมหรือมวนเขียวดูดไข่ซึ่งเป็น ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในปริมาณมาก ควรชะลอการใช้สารฆ่าแมลงเพื่ออนุรักษ์ศัตรู ธรรมชาติเหล่านี้ไว้ช่วยในการควบคุมปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในธรรมชาติต่อไป
6. ในสภาพที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลรุนแรงมาก ควรงดปลูกข้าวในฤดูนาปรังหรือปลูกพืช อื่นทดแทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตของแมลงทำให้การระบาดลดความรุนแรงลงได้
สารสกัดจากสะเดา, ข่า, ตะไคร้หอมจะออกฤทธิ์กับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลภายใน 2-3 วัน
เกษตรกรรมธรรมชาติดัดแปลงเพื่อควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
เกษตรธรรม ชาติมีหลักการใช้ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดควบคุมกันเอง ให้แต่ละอย่างปรับตัวลงไปสุ่สมดุล คือพอเหมาะพอดีโดยการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่จะฆ่าแมลงแบบครอบจักรวาล ที่จริงในนาข้าวของไทยขณะนี้จะรอแมงมุม แมลงปอ เชื้อรา มาคุมเพลี้ยให้หยุดการทำลายข้าว ผลผลิตอาจจะเสียหายรุนแรงมาก
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีนิสัยชอบเกาะอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำเพียงเล้กน้อย เป็นจุดเด่นที่พ่นสารกำจัดแมลงลงไปไม่ค่อยถึง แต่เป็นจุดอ่อนของแมลงถ้ามีปลากินแมลงจู่โจมมาจากในน้ำทั้งจากปลาเสือและปลาตะเพียน
ปลาเสือ มีเหลือน้อยแล้วในธรรมชาติของไทย ถ้ามีอยู่ในนาที่ระดับน้ำสูงพอให้ออกไปหากินในท้องนาได้สะดวก ปลาเสือจะใช้วิธีเล็งที่เพลี้ยแล้วพ่น หรือยิงน้ำให้ถูกตัวเพลี้ยตกลงในน้ำแล้วตอดกิน ปลาเสือหลายตัวอาจร่วมเล็งพ่นน้ำ เพลี้ยตัวเดียวกัน แล้วพ่นน้ำขึ้นไปพร้อมๆกันเหมือนมีภาษารู้นัดแนะกันได้
ที่หามาเลี้ยงได้ง่ายกว่าคือ ปลาตะเพียน ปลาชนิดนี้ช่วยกินหญ้าจอก แหน วัชพืชน้ำมิให้นารกเกินไป แล้วยังช่วยกินเพลี้ยโดยไปเล็งอยู่ใต้น้ำ แล้วกระโดดขึ้นงับกินเพลี้ยแถวโคนต้นได้ การเสริมการควบคุมแมลง โดยใช้ปลาตะเพียนยังทำได้โดยทำบ่อปลาเล้ก ๆ บริเวณหัวมุมนา ติดไฟแบล็คไลท์ที่จุดนี้จะช่วยล่อแมลง ที่บินได้ให้มาเล่นไฟแล้วตกลงในน้ำ ซึ่งปลาตะเพียนก็จะกินแมลงเป็นอาหารควรทำตั้งแต่แมลงมีน้อยยังไม่ทัน ระบาด ดีกว่าระบาดแล้วเริ่มเลี้ยงปลาในนา จะไม่ทันต่อเหตุการณ์
ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ
ปี 2531 มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ชาวนาเพื่อนบ้านใช้สารเคมีปราบกันทั่วแต่นาของคำเดื่อง ภาษี เกษตรกรบ้านดอนแขวง ต.ดอนมนต์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ไม่ได้ใช้สารเคมีใด ๆ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจึงมาลงที่นาของ คำเดื่อง จำนวนมาก แต่ปรากฏว่าเกิดมีแมงมุมเข้ามาชักใยในนาของเขาเต็มไปหมด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะถูกแมงมุมจับกินไปจำนวนมาก ภายหลังทั้งแมงมุมและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็ลดจำนวนลง โดยกลไกตามธรรมชาติ
ที่มาข้อมูล :http://www.doae.go.th/library/html/detail/Rice-Ene/MainRice.htm |
|