-
++kasetloongkim.com++ Forums-viewtopic-พัฒนาเกษตรประเทศไทยอย่างไรให้เกษตรกรมีความสุข
หน้าแรก สมัครสมาชิก กระดานข่าว ดาวน์โหลด ติดต่อ
MySite.com :: ดูกระทู้ - พัฒนาเกษตรประเทศไทยอย่างไรให้เกษตรกรมีความสุข
 คำถามถามบ่อยของกระดานข่าวคำถามถามบ่อยของกระดานข่าว   ค้นหาค้นหา   กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มผู้ใช้งาน   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว   เข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณเข้าระบบเพื่อตรวจข่าวสารส่วนตัวของคุณ   เข้าระบบเข้าระบบ 

พัฒนาเกษตรประเทศไทยอย่างไรให้เกษตรกรมีความสุข

 
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร
ดูกระทู้ก่อนนี้ :: ดูกระทู้ถัดไป  
ผู้ส่ง ข้อความ
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 19/10/2009 2:38 pm    ชื่อกระทู้: พัฒนาเกษตรประเทศไทยอย่างไรให้เกษตรกรมีความสุข ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.
ที่มา คัดลอกจาก http://sites.google.com/site/banrainarao/column/agriculture_farmer

พัฒนาเกษตรประเทศไทยอย่างไรให้เกษตรกรมีความสุข

มองเกษตรไทยในปัจจุบันอย่างไร
ความสำเร็จของการพัฒนาการเกษตร ต้องวัดผลสัมฤทธิ์ที่คุณภาพชีวิตของเกษตรกร ขณะนี้เกษตรกรเกือบทั้งประเทศอยู่ในสภาพปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสถานการณ์โลกปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนเร็วมาก เมื่อปรับตัวไม่ทัน ก็เสียสมดุล แก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด จัดการปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องต้นทุนการผลิต และถูกซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติธรรมชาติ ผลลัพธ์คือขาดทุน และขายที่ดินทำกินในท้ายที่สุด

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ปัญหาอุปสรรคใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้น แต่ความรู้ความสามารถของเกษตรกรมีอยู่ไม่เพียงพอ หรือความรู้ชุดเดิมนั้นแก้ปัญหาใหม่ไม่ได้ ซึ่งการเกษตรในยุคทำมาค้าขายต้องแข่งขันกันรุนแรง ทั้งในด้านราคาและคุณภาพ จึงต้องการความรู้ชุดใหม่ไปจัดการตามเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ในภาพกว้าง นักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลได้รับอำนาจให้กำหนดทิศทางและนโยบาย แต่ยังไม่เห็นเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน เช่น แผนที่นำทางหรือโรดแม็ปของพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ควรเป็นอย่างไร ทำให้การวิจัยและพัฒนาไร้ทิศ ไม่ต่อเนื่อง และภาคีที่เกี่ยวข้องขาดเป้าหมายร่วมกัน ทำให้การขับเคลื่อนเกษตรไทยไม่มีพลัง

นักวิชาการ ผู้ที่รู้ลึก เพราะทำงานวิจัยแบบแยกส่วน ก็มักเลือกทำเฉพาะประเด็นที่ตนเองสนใจ แทนที่จะเริ่มตั้งคำถามว่าผู้ที่จะใช้ผลงานวิจัยคือใคร นำไปใช้ประโยชน์อะไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง แล้วจึงตั้งโจทย์วิจัย ขณะที่นักส่งเสริมฯ ซึ่งรู้กว้าง ก็พยายามนำความรู้จากนักวิชาการไปถ่ายทอดให้เกษตรกร แต่มักไม่เกิดประโยชน์ เพราะสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน มีน้ำใจ เสียสละ ก็คิดว่าทำเต็มที่แล้ว ได้แค่นี้ก็พอใจ ซึ่งต่างจากภาคธุรกิจ จะทำอะไรต้องมีเป้าหมายชัดเจน และมุ่งมั่นจัดการให้ถึงเป้าหมาย แต่มักขาดมิติทางสังคม เพราะคิดว่าจ่ายภาษีแล้ว รัฐบาลต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด

นโยบายเร่งด่วนที่ทำได้ง่ายและใช้เวลาน้อย คือ เร่งรัดให้ทุกภาคส่วน ซึ่งมิใช่เฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ทำความเข้าใจเป้าหมายการพัฒนาเกษตรไทยให้ชัดเจน เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองได้ถูกต้อง พร้อมทั้งหยิบยกส่วนดีของแต่ละภาคส่วนมาร่วมสร้างสรรค์การเรียนรู้ที่มี คุณภาพและมีพลังที่พอเพียงสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

คิดว่าการพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมามีจุดไหนที่ต้องปรับเปลี่ยนบ้าง
ทุก ภาคส่วนต้องปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น และจำเป็นตลอดไป ตั้งแต่ตัวเกษตรกรจนถึงผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาเกษตรไทย ทุกฝ่ายต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เห็นคุณค่าของทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้บริโภคด้วย และมีสำนึกผิดรับชอบในความสำเร็จและล้มเหลวด้วย

เกษตรกรต้องชัดเจนว่า ตนเองเป็นกลไกหลักและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา มีเป้าหมายชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว มิใช่ทำการเกษตรตามยถากรรม แล้วแต่โชควาสนา สำหรับ เป้าหมายระยะสั้น นั้นเกษตรกรย่อมต้องการผลกำไร แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่มีอำนาจต่อรอง กำหนดราคาขายผลผลิตไม่ได้ ถ้าต้องการกำไร เกษตรกรต้องย้อนมองตัวเองว่าทำการเกษตรประเภทไหน หากราคาผลผลิตขึ้นอยู่กับคุณภาพไม่มากนัก เป็นประเภทที่ผลิตครั้งละมากๆ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ เป้าหมายระยะสั้นต้องอยู่ที่ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ แต่ถ้าราคาขายสินค้าขึ้นกับคุณภาพ หรือเกรดของผลผลิต สินค้ามีตลาดเฉพาะ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะม่วงเพื่อการส่งออก ฯลฯ ให้มุ่งไปที่การลดต้นทุนควบคู่ไปกับการเพิ่มคุณภาพผลผลิต เพราะเมื่อคุณภาพผลผลิตสูงขึ้น ราคาขายต่อหน่วยย่อมสูงขึ้น

แต่ผลกำไรเป็นเพียงเป้าหมายเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าต้องการให้เกษตรไทยมั่นคงยั่งยืน ต้องมี เป้าหมายระยะยาว ด้วย ต้องพัฒนาคุณภาพของเกษตรกรไปสู่ความเป็นมืออาชีพ กล่าวคือ ประกอบอาชีพโดยไม่เบียดเบียนผู้บริโภค ดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม หรือประกอบสัมมาชีพ พึ่งตนเองได้ สามัคคี และมีน้ำใจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็งให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขใน กระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม

เกษตรกรมืออาชีพต้องวางแผนเป็น มีเป้าหมายที่มีตัวเลขกำกับ เช่น ต้นทุนการผลิตข้าวในฤดูหน้าลดลง 20% ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10% จากนั้นวิเคราะห์จุดคอขวด จุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ มิฉะนั้นจะไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ แนะนำให้เลือกไว้ไม่เกิน 4 จุด เฉพาะที่มั่นใจว่าจัดการได้และเกิดประโยชน์มากๆ เท่านั้น (ทำน้อย ได้มาก) แล้วกำหนดวิธีการที่คุ้มค่าที่สุดในการขจัดจุดคอขวด ต้องไม่ยึดติดความรู้สึก ความเคยชิน หรือวิธีการเก่าๆ แม้แต่เคยใช้ได้ผล เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อาจเปลี่ยนไปแล้ว แต่ให้ใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ถ้าตัดสินใจถูก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต้องเร็วกว่า ถูกกว่า และดีกว่า ถ้าเร็ว แต่ต้นทุนสูง หรือต้นทุนต่ำ แต่คุณภาพแย่ ก็แสดงว่าตัดสินใจผิดพลาด

เกษตรกรมืออาชีพต้องคิดบวก หนึ่งเป้าหมายไปถึงได้หลายทาง ทุกปัญหามีทางออก ปัญหาอุปสรรคเป็นสิ่งท้าทาย มีความมุ่งมั่น ใฝ่รู้ เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้พึ่งตนเองได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนตลอดเวลา นอกจากต้องเร่งลดต้นทุนอาชีพแล้ว ยังควรเร่งลดต้นทุนชีวิตด้วย โดยเฉพาะอบายมุข และไม่นิยมความฟุ้งเฟ้อเหมือนคนในเมือง จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น นักวิชาการให้ช่วยวิจัยหาคำตอบมาขจัดจุดคอขวดที่เกษตรกรจัดการไม่ได้ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ เนื่องจากการเกษตรนั้นใช้สูตรสำเร็จแบบพิมพ์เขียวไม่ได้ ต้องอาศัยการจัดการให้ลงตัวพอดีในแต่ละเวลาและพื้นที่ แตกต่างจากการสร้างตึกสร้างอาคาร เมื่อสถาปนิกออกแบบ วิศวกรคิดโครงสร้าง เขียนแบบเสร็จ ก็นำพิมพ์เขียวใช้ได้

คำกล่าวที่ว่าเกษตรกรไทยผลิตเก่งแต่ไม่สันทัดทางด้านการค้าขายเป็นจริงหรือไม่
เรื่อง การค้าการขายโดยเกษตรกรยังคงเป็นเรื่องไกล ภาพรวมของการพัฒนาการเกษตรไทยที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลว ยิ่งพัฒนายิ่งเกิดภาวะคนรวยกระจุกจนกระจาย แม้ประเทศไทยจะมีกระทรวงเกษตรฯ มากว่า 100 ปี แต่เพราะการรวมกลุ่มยังไม่เข้มแข็ง ระบบสหกรณ์ที่ใช้ได้ดีในหลายประเทศ ก็มาสิ้นชื่อที่ประเทศไทย ต้นเหตุจากคุณภาพของเกษตรกรใช่หรือไม่ คงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร

ที่ว่าเกษตรกรไทยผลิตเก่งก็คงไม่จริง เกษตรกรที่เก่งในการผลิต หรือเกษตรกรมืออาชีพ ไม่น่าจะมีเกิน 10% ของเกษตรกรทั้งหมด เกษตรกรชั้นนำเหล่านี้ใช้พื้นที่เท่ากันแต่สามารถทำกำไรได้มากกว่าเป็นเท่า ตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเกษตรกรที่มีอาชีพเดียวกันในชุมชนนั้น เกษตรกรที่เหลืออีกมากกว่า 90% จัดเป็นพวกเคยผลิต ทำมานานก็จริง แต่อยู่ในวังวนของความไม่รู้ ใช้ความเชื่อมากกว่าใช้ความรู้ ไม่รู้จริง แม้แต่ดินในไร่นาที่เป็นรากฐานสำคัญของการผลิตและอยู่ใกล้ตัวมากที่สุด ไม่รู้แม้แต่ธาตุอาหารพืช เอ็น-พี-เค คือ อะไร มีหน้าที่อะไร จะเลือกซื้อปุ๋ยอย่างไร ใช้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ ประกอบกับระบบชลประทานยังมีน้อย เมื่อขาดน้ำ การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงสูง

จุดคอขวดของการพัฒนาเกษตรไทยอยู่ตรงไหน
สำหรับ เกษตรกร ต้องเร่งแก้ไขคือการไม่คิดพึ่งตนเอง และปรับให้มีหลักคิดที่ถูกต้องว่า ความสำเร็จมิได้เกิดจากองค์ประกอบเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการทำให้องค์ประกอบเหล่านั้นทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างลงตัวพอดี ดังนั้น พืชจะเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูง เกษตรกรต้องมีความรู้ความสามารถในการจัดการให้เกิดความลงตัวพอดีระหว่าง พันธุ์พืชกับปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดิน ปุ๋ย น้ำ แสงแดด ความชื้น วัชพืช โรคแมลงศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จหรือพิมพ์เขียวที่ให้เกษตรกรนำไปใช้ได้

ต้นทุนยังสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ คุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของตลาด เพราะเกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการผลิตไม่เพียงพอ และที่มักพบเห็นบ่อยๆ แนวทางการฝึกอบรมไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะใช้วิธีสอนเกษตรกรให้จำมากกว่าให้เข้าใจ ควรฝึกให้คิดวิเคราะห์อย่างรอบด้าน และฝึกทดลองทำด้วยตัวเอง ทำให้ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร หรือ “ฝึกอบรมไว้ลืม”

ในส่วนของภาคีที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีเป้าหมายการพัฒนาเกษตรไทยร่วมกัน นโยบายส่วนใหญ่ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น การวิจัย การพัฒนา และการส่งเสริมการเกษตรสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและมีพลังไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดการบูรณาการเข้าด้วยกัน เช่น เรื่องโรคและแมลงแยกออกจากการใช้ปุ๋ย ทั้งๆ ที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เมื่อใช้ปุ๋ยถูกต้อง โรคและแมลงจะระบาดน้อยลง

นอกจากนี้ เกษตรกรยังขาด “เครื่องมือ” อีกมาก ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรทำงานได้รวดเร็วขึ้น ประณีตขึ้น แต่ประหยัด โดยเฉพาะเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย

ตัวอย่างเช่น กรมส่งเสริมการเกษตรได้เปิดเว็บไซด์ http://www.soil.doae.go.th/ ให้เกษตรกรสามารถตรวจข้อมูลชุดดิน ทำให้รู้ว่าดินในไร่นาเหมาะสำหรับพืชชนิดใด ทีมงาน ศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ประดิษฐ์ชุดตรวจสอบ เอ็น-พี-เค ในดินแบบรวดเร็ว ให้เกษตรกรใช้วิเคราะห์ดินได้ด้วยตนเอง พร้อมสร้างโปรแกรมปุ๋ยสั่งตัดของข้าวและข้าวโพด เป็นต้น

ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ เพราะมีผลต่อต้นทุน ผลผลิตต่อไร่ และคุณภาพผลผลิต แต่คำแนะนำส่วนใหญ่ยังคงเป็นสูตรสำเร็จแบบกว้างๆ เรียกว่า การใช้ปุ๋ยแบบ “เสื้อโหล” เสื้อมีขนาดเดียว ไม่คำนึงถึงความแตกต่างของพันธุ์พืช ชนิดดิน ปริมาณธาตุอาหารในดินขณะนั้น และสภาพภูมิอากาศ ต่อมาได้พัฒนาเป็นการใช้ปุ๋ยตาม “ค่าวิเคราะห์ดิน” เสื้อมีหลายขนาดมากขึ้น (เล็ก กลาง ใหญ่) โดยนำข้อมูลธาตุอาหารในดินขณะนั้น (ค่าวิเคราะห์ดิน) มาพิจารณาด้วย แต่ “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ หรือตัดเสื้อให้มีขนาดพอดีตัว โดยนำหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พันธุ์พืช สภาพภูมิอากาศ ชุดดิน และปริมาณ เอ็น-พี-เค ในดินขณะนั้น มาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้คอมพิวเตอร์ พัฒนาขึ้นเป็นซอฟต์แวร์ จึงเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ยที่มีความแม่นยำสูงและนำไปขยายผลได้รวดเร็ว (http://www.ssnm.agr.ku.ac.th/)

ปัจจุบันมีการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสารการเกษตรที่เกษตรกรรับรู้ได้มากและสะดวกรวดเร็วยังไม่เพียงพออีกหรือ
ต้อง แยกแยะก่อน รับรู้แล้วเข้าใจหรือเปล่า ข้อมูลต่างๆ ที่ถ่ายทอดออกมานั้นเกษตรกรล้วนรับรู้เหมือนกัน ดูข่าวเดียวกัน ได้รับการอบรมพร้อมกัน แต่ทำไม นาย ก. จึงสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ ในขณะที่คนอื่นยังคงอยู่ที่เดิม คำตอบคือ เกษตรกรแต่ละคนมีขีดความสามารถไม่เท่ากัน เพราะมีความเชื่อ หลักคิด ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยง คิดสร้างสรรค์ การประยุกต์ใช้ความรู้ ฯลฯ ที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ควรเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกร แต่ที่ผ่านมากระบวนการส่งเสริมการเกษตรไม่ได้สร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพียงพอให้เกษตรกรเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (ระเบิดจากข้างใน) เพราะ “สั่งให้ทำ สอนให้จำ ทำให้ดู” เป็นพฤติกรรมที่ทำลายกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะวงการเกษตรเท่านั้น แต่เป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยด้วย ที่มักสอนในลักษณะให้ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง การสอนที่ไม่คำนึงถึงกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ คนจะคิดวิเคราะห์ไม่เป็น ทำให้การเรียนรู้นั้นไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพได้เท่าทันกับสิ่งที่ เปลี่ยนแปลง

ทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
ระบบ การศึกษาไทยมีปัญหาสั่งสมมานาน แม้ว่ามีการปฏิรูปการศึกษาไปเมื่อปี 2542 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ปีนี้จึงจะมีการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ สาเหตุหลัก คือ ระบบการศึกษาไม่ได้พัฒนาระบบคิดของผู้เรียน โดยเฉพาะการคิดอย่างเป็นระบบ และการใช้เหตุผล หรือคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานของวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจำเป็นในการพัฒนาการเกษตรด้วย เพราะการเกษตรเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์

ผู้สอนมักไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้คิดและตัดสิน ใจ ใช้วิธีสอนให้จำ บอกให้เชื่อ ดังภาษิตที่ว่า เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด สอนแต่สูตรสำเร็จให้ทำตามๆ กัน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สร้างปัญญา สูตรสำเร็จย่อมใช้แก้ปัญหาใหม่ๆ ไม่ได้ เช่น สอนว่า 4 ต้องมาจาก 2+2 เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง 3+1 หรือ 4+0 ก็ได้ คนที่คิดบวกจึงไม่มีทางตัน ถ้าคิดวิเคราะห์เป็น จะแก้ปัญหาได้ถูกจุด ประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ได้

หนึ่งผลมาจากหลายเหตุ ทุกภาคส่วนต้องไม่มัวกล่าวโทษกัน แต่ควรรีบหันมามองที่ตนเอง แล้วเริ่มต้นด้วยการคิดบวก ให้เชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเกษตรไทย เมื่อใช้ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ทำงานด้วยจิตใจที่แน่วแน่มุ่งมั่น เมื่ออะไรๆ ก็เป็นไปได้ ความคิดริเริ่มดีๆ จะออกมา จากนั้นใช้หลักคิด เร็ว ช้า หนัก เบา เลือกเฉพาะที่จำเป็นสุดและเป็นประโยชน์สูง (ทำน้อย ได้มาก) แล้วกำหนดเป้าหมายการทำงานให้ชัดเจน จัดทำแผน และนำแผนไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

สำหรับเกษตรกร ต้องปรับความคิดให้หันกลับมาพึ่งตนเองก่อน อย่ามัวฝันกลางวันต่อไปอีกว่า นักวิชาการ นักส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ จะเป็นผู้ที่ทำให้ดินในไร่นา หรือคุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น เสียเวลารอมานานแล้ว ควรหันมาใช้เป้าหมายระยะสั้นที่ได้กล่าวไปแล้วเป็น “แบบฝึกหัด” เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เริ่มคิดและทำในสิ่งที่ตนเองจัดการได้เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น ในอดีต ปุ๋ยถูก ใช้อย่างไรก็มีกำไร แต่วันนี้ ปุ๋ยแพง จะใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ควรอาศัยการวิจัยเชิงปฏิบัติการในไร่นา เกษตรกรทำได้เอง เพียงแต่เสริมให้คิดอย่างเป็นระบบ ฝึกเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ขณะที่มีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งจะเสียเวลาน้อยกว่าการลองผิดลองถูกมาก

สร้างการเรียนรู้ที่มีพลังได้อย่างไร
การ เชื่อมโยงคือพลัง การเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงการเกษตรของ ประเทศให้ทันสถานการณ์ ยังต้องมีพลังที่เพียงพอด้วย การเรียนรู้ที่มีพลังต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วนที่มุ่ง มั่นสู่ไปเป้าหมายเดียวกัน เห็นคุณค่าของกันและกัน รวมทั้งมีจิตสำนึกรับผิดรับชอบร่วมกัน

ทุกภาคส่วนควรเร่งพัฒนาระบบการทำงานแบบมีส่วนร่วม ในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกร เริ่มจาก “เคลื่อนใจ เคลื่อนความคิด” ปรับเปลี่ยนความเชื่อและวิธีคิดของทีมงาน และตระหนักอยู่เสมอว่าเกษตรกรคือศูนย์กลางของการพัฒนา เน้นให้เกษตรกรเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติในสถานการณ์จริง และแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ส่วนภาครัฐนั้นเป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้

การเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้ความสำคัญกับการใช้ เหตุผล “มีนั่น เพราะมีนี่” ก่อนกำหนดวิธีการแก้ไขแต่ละปัญหา ควรตั้งคำถามว่า ทำไม ... แล้วตอบเพราะอะไร ... ติดต่อไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 5 ครั้ง สาวให้ลึกถึงต้นเหตุของปัญหา แล้วจึงกำหนดวิธีการแก้ไขที่ประหยัดสุด จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคน พร้อมๆ กันนั้นควรเสริมหลักคิด หลักการ ทฤษฎี แต่ย้ำว่า “ไม่ยึดติดตำรา” ให้ใช้พืชที่ปลูกเป็นครู ใช้ท้องทุ่งเป็นห้องทดลอง เมื่อเกษตรกรได้ทำด้วยตัวเอง จะเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง จากนั้นถอดรหัสประสบการณ์จากเกษตรกรคนเก่งเหล่านั้น หรือที่ผมเรียกว่า “ครูติดแผ่นดิน” ซึ่งมีอยู่ในทุกชุมชน เพื่อให้เกษตรกรรายอื่นใช้เป็นต้นแบบเรียนรู้ต่อไป ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของเกษตรกรให้พึ่งตนเองได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่แก้ปัญหาและพัฒนางาน อาชีพ หรือชีวิตได้ด้วยตนเองแล้ว สังคมโดยรวมย่อมอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแน่นอน

ควรใช้เป้าหมายระยะสั้นเป็นแบบฝึกหัด เพราะเกษตรกรต้องมีเศรษฐกิจที่อยู่ได้ มีกำไร เกษตรกรจึงต้องเป็นมืออาชีพให้เร็วที่สุด ต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ ทำการเกษตรด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน วางแผนเป็น และนำแผนไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายได้ และยังสามารถพัฒนาต่อไปในขั้นที่สูงขึ้น เช่น ถ้าต้องการค้าขายผลผลิตด้วย ก็ต้องรวมกลุ่มรวมตัวกันให้เข้มแข็ง หาภาคีความร่วมมือ แหล่งเงินทุน ศึกษาข้อมูลให้มั่นใจก่อนจะลงทุนลงแรง ซึ่งเกษตรกรมืออาชีพต้องไม่อยู่ในสถานะเป็นเพียงผู้รับรู้ (ผู้ถูกกระทำ) แต่ต้องสามารถเรียนรู้ให้เข้าใจได้อย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว คิดวิเคราะห์จนเห็นความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัยต่างๆ ได้ ถ้ามีหลักคิดที่ถูกต้องและคิดเชื่อมโยงได้กว้างไกลเท่าไร ก็จะปรับตัวได้เร็วเท่านั้น เปลี่ยนจากที่เคยทำงานเชิงรับมาเป็นผู้ที่วางแผนอนาคตและทำงานเชิงรุกได้

สรุปแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาเกษตรประเทศไทยให้เกษตรกรมีความสุขอย่างยั่งยืน
ส่ง เสริมให้ “เกษตรกรมืออาชีพ” เป็นทั้ง “นักวิจัย” ที่ใช้ “ไร่นา” ของตนเองเป็น “ห้องทดลอง” และเป็น “ครูติดแผ่นดิน” ที่ใช้ “ไร่นาต้นแบบ” ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็น “ห้องเรียน” และ “สนามฝึก” สำหรับเกษตรกรในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันกระตุ้นหนุนเสริม

กรอบคิดดังกล่าวเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถ ของเกษตรกรจากรากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วต่อยอดด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการในไร่นาโดยเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งประเทศ แม้แต่ปศุสัตว์และประมงก็นำกรอบคิดนี้ไปใช้ได้ และควรใช้ไร่นาต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัย เกษตรฯ ในท้องถิ่น เพื่อสร้างเกษตรกรในอนาคตที่มีคุณภาพไว้สืบสานการเกษตรของประเทศต่อไป

ขั้นตอนการสร้างเกษตรกรมืออาชีพให้มีจำนวนเพิ่ม ขึ้นอย่างรวดเร็วและประหยัด ควรเริ่มจาก
(1) จัดทำแผนที่ “เกษตรกรมืออาชีพ” ในชุมชน
(2) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักคิดและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรมืออาชีพ เหล่านั้น เป็นการเรียนรู้ภายในชุมชนของตนเอง
(3) กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดการเลียนแบบเพื่อต่อยอดผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในไร่นาโดยเกษตรกรมืออาชีพ
(4) ถอดรหัสความคิด ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้จากจากการทดลอง และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภายนอก อาทิ นักวิชาการ เกษตรกรมืออาชีพจากชุมชนอื่น เป็นต้น
(5) กระตุ้นหนุนเสริมให้เกิดจินตนาการตัวแบบใหม่ๆ และสร้างระบบการจัดการที่เหมาะสม
(6) ใช้ตัวแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรในชุมชน และ
(7) ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย และร่วมมือกับภาคีการพัฒนาที่หลากหลายมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปี 2551 ท่านอธิบดีทรงศักดิ์ วงศ์ภูมิวัฒน์ กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ทุกจังหวัดกำหนดพืชยุทธศาสตร์ 3 พืช พร้อมจัดทำข้อมูลบ่งชี้ว่า 3 อำเภอหลักของพืชยุทธศาสตร์แต่ละชนิดอยู่ที่ไหน และ 3 ตำบลหลักของแต่ละอำเภออยู่ที่ไหน จากนั้นสืบค้น “สุดยอดเกษตรกรมืออาชีพ” ของแต่ละพืชในแต่ละตำบล หมายความว่า จังหวัดละ 3 พืชๆ ละ 9 คน รวม 27 คน แล้วยกย่องเชิดชูเป็น “ครูติดแผ่นดิน” ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรในจังหวัด และหลายจังหวัดมีความก้าวหน้าถึงขั้นจัดเวทีถอดรหัสความรู้จากครูติดแผ่นดิน เหล่านั้น เพื่อจัดทำคู่มือคำแนะนำฉบับชาวบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ลองจินตนาการดูว่า ถ้ากรอบคิดนี้ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน มิใช่เฉพาะกระทรวงเกษตรฯ เท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานอีกมากมาย อาทิ ธ.ก.ส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา สถาบันวิชาการ องค์กรสื่อสารมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อเนื่องสัก 3 ปี ผมมั่นใจว่าจะพลิกโฉมเกษตรไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม และความสุขจะบังเกิดแก่ทุกคนในสังคมไทยอย่างแน่นอน

ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ สถานการณ์การเมืองที่ดุเดือดเลือดพล่าน นายกฯ ก็เปลี่ยนบ่อย รัฐมนตรีก็เปลี่ยนบ่อย อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน แต่ปีนี้คนตกงานเยอะขึ้นแน่ๆ เกษตรกรควรทบทวนอดีต เพื่อตัดสินใจว่าจะยังคงคาดหวังหรือรอความช่วยเหลือจากนโยบายดีๆ ของรัฐบาลต่อไปอีกหรือไม่ หรือควรหันกลับมา “คิดพึ่งตนเอง” แล้วหาแนวร่วมในชุมชน ทดลองนำความรู้และข้อเสนอแนะในบทความนี้ไปประยุกต์ใช้เสียตั้งแต่วันนี้

ดร.ประทีป วีรพัฒนนิรันดร์
มูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน
prateep.v@pan-group.com



.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
Aorrayong
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 30/07/2009
ตอบ: 869

ตอบตอบ: 22/10/2009 11:54 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

.
.

ที่มา คัดลอกจาก http://www.measwatch.org/autopage/show_page.php?t=20&s_id=1419&d_id=1419

การพัฒนาเกษตรกรรมไทย สู่เกษตรสมัยใหม่ ยกระดับรายได้เกษตรกร

โดย นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์
มติชนรายวัน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สถานการณ์ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตามราคาน้ำมันและความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ลดลงอันเป็นผลกระทบมา จากเศรษฐกิจโลก เป็นแรงกดดันให้รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยลดลง เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ปัจจุบัน หากมองไปที่ประเทศพัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรม แท้จริงในประวัติศาสตร์มีวิวัฒนาการหรือมีการพัฒนามาจากเกษตรกรรม เมื่อมีการนำเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้ทำให้ภาคเกษตรมีการพัฒนา ก้าวหน้าขึ้น ซึ่งจะไปหนุนให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการเติบโต

ในขณะเดียวกันประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีการสนับสนุนด้านราคาสินค้าเกษตรเพื่อยก ระดับรายได้ของภาคเกษตรให้สูงขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงเทียบเท่ากับคนทำงานในเมือง ต่างจากเกษตรกรไทยที่มีแต่หนี้สินเพราะภาครัฐไม่เคยให้ความสำคัญว่าเกษตรกร ควรมีรายได้ขั้นต่ำเป็นเท่าไหร่

ความเสี่ยง 3 ประการที่ทำให้เกษตรกรไทยมีความเสี่ยงสูงมากที่สุด คือ

1.เสี่ยงกับเงินที่ลงทุน โดยไม่รู้อนาคตว่าจะได้ทุนคืนหรือไม่

2.เสี่ยงกับภัยธรรมชาติ เพราะภาคเกษตรไทยยังคงพึ่งธรรมชาติดินฟ้าอากาศในการทำเกษตรกรรม

3. เสี่ยงกับราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน แม้ว่าจะได้ผลผลิตดีแต่ถ้าราคาต่ำเกษตรกรก็จะขาดทุนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น เกษตรกรไทยจึงมีความเสี่ยงสูงแต่กำไรน้อยซึ่งผิดธรรมชาติที่ว่าในเมื่อมี ความเสี่ยงสูงจะต้องได้กำไรสูงด้วย หากสามารถทำให้เกษตรกรขายสินค้าเกษตรในราคาที่สูงเกษตรกรก็จะมีรายได้ดีขึ้น และมีกำลังใจที่จะพัฒนาเพิ่มผลผลิตนำเทคโนโลยีมาใช้ ธนาคารกล้าปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร ทำให้ภาคเกษตรกรรมเกิดการพัฒนาขึ้น

สินค้า เกษตรสำคัญ อาทิข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์ม ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทั่วโลกต้องการ ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร และความต้องการพืชพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในด้านนี้ต่อประชาคมโลก

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรใช้โอกาสนี้พัฒนาภาคเกษตรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ภาคเกษตรไทยควรพัฒนาไปสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยการเติม 3 ปัจจัยหลักที่เกษตรกรขาดคือ 1.ทุน 2.เทคโนโลยี และ 3.ตลาด

เนื่องจาก 3 ปัจจัย ดังกล่าวล้วนมีผลต่อการพัฒนาภาคการเกษตรไทยสู่เกษตรสมัยใหม่ ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทสำคัญในสนับสนุนเงินทุนผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของ รัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร เพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการเกษตร และพัฒนาขั้นตอนการตลาดแบบครบวงจรตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การแปรรูป การขนส่ง และหาตลาดรองรับสินค้า มีการจัดพื้นที่เพราะปลูกที่เหมาะสม มีระบบชลประทานที่ดี

เกษตร สมัยใหม่อีกแนวทางหนึ่งคือ การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามารับความเสี่ยงแทนเกษตรกรด้วยการสนับสนุนการลงทุน ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาบริการจัดการ และหาตลาดรองรับสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและแน่นอน เช่นการที่ซีพีเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำฟาร์มเลี้ยงไก่ด้วยการรับประกัน ราคารับซื้อจากเกษตรกร ยกตัวอย่างถ้าเกษตรกรเลี้ยงไก่แบบเดิมจำนวน 100 ตัว กำไรตัวละ 30 บาท ไก่ 100 ตัวได้กำไรเพียง 3,000 บาท แต่ถ้าเกษตรกรเลี้ยงด้วยระบบฟาร์ม 10,000 ตัว กำไรตัวละ 3 บาท ไก่ 10,000 ตัวก็ยังมีกำไรถึง 30,000 บาท

ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นเกษตรกรรมแบบสมัยใหม่มีด้วยกัน 4 รูปแบบคือ

1.เกษตรกรกลุ่ม ยากจนที่สุด เกษตรกรกลุ่มนี้จะทำการเกษตรตามมีตามเกิด เนื่องจากอยู่ห่างไกลความเจริญ การจะเข้าไปสนับสนุนให้ทุกคนทำเกษตร อาทิ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดคงเป็นเรื่องยาก

แนว ทางที่เห็นว่าสามารถทำได้คือให้เกษตรกรเหล่านี้รวมตัวกันเป็นบริษัทหรือ สหกรณ์โดยที่ทุกคนเป็นหุ้นส่วน เอกชนทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้รับจ้างเข้าไปสร้างโรงเรือน ดูแลระบบการจัดการฟาร์ม หาตลาดรองรับสินค้า

แนวทางดังกล่าวเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของ ส่วนผลกำไรที่เกิดขึ้นแบ่งกันระหว่างเกษตรกรและเอกชน

2.เกษตรกร ตามหมู่บ้าน บริษัทจะเข้าไปคัดเลือกเกษตรกรรายที่มีความสามารถแต่ไม่มีเงินทุน โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนให้ก่อน เช่น ลงทุนฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ก่อน 1 โรง เรือน เพื่อให้โรงเรือนแห่งนี้เป็นเสมือนโรงเรียนสำหรับเกษตรกรในหมู่บ้านที่สนใจ ให้เข้ามาเรียนรู้การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แล้วจึงพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรรายนี้เป็นตัวแทนบริษัท

3.เกษตรกร ที่ยึดอาชีพทำสวนผลไม้ บริษัทเห็นว่าควรเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มนี้ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพิ่ม เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ขณะเดียวกัน มูลสัตว์ที่ได้ก็นำไปทำปุ๋ยสำหรับสวนผลไม้ ซึ่งเป็นแนวทางลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

4.เกษตรกรกลุ่ม ที่มีที่ดินมีเงินทุน แต่ไม่มีกำลังจะทำ กลุ่มนี้บริษัทเห็นว่าควรให้เกษตรกรเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงเรือน และบริษัทเข้าไปเช่าโรงเรือน ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรกลุ่มนี้

การ พัฒนาเกษตรกรรมไปสู่การทำการเกษตรแบบสมัยใหม่ดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น และเป็นการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศในแนวทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว


.
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
kimzagass
หาวด้า
หาวด้า


เข้าร่วมเมื่อ: 12/07/2009
ตอบ: 11679

ตอบตอบ: 02/06/2022 8:04 am    ชื่อกระทู้: ตอบกระทู้ด้วยเครื่องหมายคำพูด(quote)

....
กลับไปข้างบน
แสดงข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก ส่งข่าวสารส่วนตัว
แสดงการตอบก่อนนี้:   
ตั้งกระทู้ใหม่   ตอบกระทู้    MySite.com หน้ากระดานข่าวหลัก -> ถาม-ตอบ ปัญหาการเกษตร ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

 
ไปยัง:  
คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ใหม่ในกระดานนี้
คุณ สามารถ ตอบกระทู้ในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลบการตอบกระทู้ของคุณในกระดานนี้
คุณ ไม่สามารถ ลงคะแนนในแบบสำรวจในกระดานนี้

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group
Forums ©