กำลังปรับปรุงครับ
ปูนิ่ม
ปูทะเล มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทะเล ปูดำ ปูขาว ปูทองหลาง ปูทองโหลง ปูทองแดง เป็นต้น ลักษณะที่แตกต่างกันทั้งชื่อและลักษณะภายนอก นั้น อาจจะเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันไป ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยพบชุกชุมบริเวณที่เป็นหาดโคลน หรือเลนที่มีป่าแสมและโกงกางตั้งแต่อ่าวไทยฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด
บริเวณอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอ่าวไทยฝั่งตะวันตกมีชุกชุมที่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ส่วนที่ฝั่งทะเลอันดามัน มีชุกชุมที่จังหวัดระนอง กระบี่ พังงา และสตูล
ปูทะเลเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบ เนื่องจากกระดองปูเป็นสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถขยายตัวออกไปได้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ มีเนื้อแน่นเต็มกระดอง ก็จะมีการลอกคราบเพื่อขยายขนาด เมื่อปูทะเลลอกคราบ กระดองใหม่จะนิ่ม ผิวเปลือกย่น เรียกว่า "ปูนิ่ม"
|
ปัจจุบัน มีเกษตรกรในจังหวัดระนอง เลี้ยงปูนิ่มที่ขึ้ทะเบียนกับสำนักงานประมงจังหวัดจังหวัดระนอง 42 ราย จำนวน 1,719,500 ตะกร้า (ตะกร้าละ 1 ตัว) กระจายเลี้ยงอยู่ใน 3 อำเภอ ที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล คือ อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์และกิ่งอำเภอสุขสำราญ |
"นางหงส์ฟาร์ม" เป็น อีกหนึ่งในจังหวัดระนอง ที่มีการเลี้ยงปูนิ่ม ตั้งอยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 6 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ห่างจากตัวเมืองไปทางปากน้ำระนอง 6 กิโลเมตร บนเนื้อที่ 9 ไร่ ที่ได้ทำการเลี้ยงปูนิ่ม จำนวน 100,000 ตะกร้า (หนึ่งแสนตัว) นางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เจ้าของนางหงส์ฟาร์ม เล่าว่า เนื่องจากเห็นว่าระนองเป็นจังหวัดชายฝั่งที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ปลาสดที่จะนำเป็นอาหารปูหาง่าย และตลาดผู้บริโภคก็มีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจเลี้ยงปูนิ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา
เนื่องจากปูนิ่ม เป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว แหล่งผลิตมีจำกัด แต่ตลาดมีความต้องการสูง โดยเฉพาะปูนิ่มจากนางหงส์ฟาร์มเป็นปูนิ่มที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสะอาด ถูกสุขอนามัย เป็นปูนิ่มที่สด สะอาด ปราศจากสารพิษใด ๆ จึงได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดสรรสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดระนอง ให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับห้าดาว ประจำปี 2546
|
|
|
บ่อเลี้ยงปูนิ่ม
|
กล่องเลี้ยงปูนิ่ม ประกอบด้วย 2 ฝา ใส่ปูกล่องละ 1 ตัว แล้วนำไปผูกเป็นแพ
|
การเลี้ยงปูนิ่ม
เจ้าของนางหงส์ฟาร์ม บอกว่า การเลี้ยงปูนิ่มเริ่มต้นที่ มีทำเลเหมาะสม อยู่ใกล้ทะเล โดยการขุดบ่อเลี้ยงปูนิ่มเหมือนบ่อเลี้ยงกุ้ง สำหรับที่นางหงส์ฟาร์ม ได้พัฒนาจากบ่อเลี้ยงกุ้งมาเป็นบ่อเลี้ยงปูนิ่ม สร้างสะพานทำงานกึ่งกลางบ่อเพื่อความสะดวกในการให้อาหารและตรวจเช็คปูลอกคราบ
การเลี้ยงปูนิ่ม เริ่มจากการรับซื้อพันธุ์ปูมาจากชาวบ้านหรือพ่อค้าที่จะนำปูที่มาจากพ่อค้าชาวไทยและพม่ามาขายให้เดือนละ 2 ครั้ง จากนั้นนำปูใส่ตะกร้าเลี้ยง ตะกร้าละ 1 ตัว ผูกเป็นแพ ให้อาหารทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง อาหารที่ให้เป็นปลาสด สับเป็นชิ้นให้ปูตัวละ 1 ชิ้น ปัจจุบันพัฒนาเป็นปลาบด อัดเป็นก้อนคล้ายลูกชิ้น จากนั้นต้องให้คนงานคอยตรวจเช็คทุก 3 ชั่วโมง เพื่อดูว่า ปูลอกคราบหรือไม่ สังเกตได้โดยการจะมีกระดองปู 2 กระดองใน 1 ตะกร้า แสดงว่ามีการลอกคราบ ก็จะได้ปูนิ่ม ปูจะแข็งตัวภายใน 3 ชั่วโมง คนงานจะต้องรีบจับปูนิ่มขึ้นมา แล้วนำไปใส่ในถังน้ำจืด อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้คลายความเค็ม เพื่อชะลอการแข็งตัวของกระดอง นำปูนิ่มไปเก็บในโรงเรือนพักปู ทำการคัดขนาด ก่อนส่งจำหน่ายต่อไป
|
|
|
พนักงานให้อาหารปู วันละ 1 ครั้ง และตรวจเช็คทุก 3 ชั่วโมง ว่าปูลอกคราบเป็นปูนิ่มหรือไม่
|
การลอกคราบของปู จะมีกระดองปู 2 กระดอง
|
ตลาด
ในแต่ละวันจะได้ปูนิ่มประมาณ 100-300 กิโลกรัม จากนั้นจะทำการคัดแยกขนาดเป็น ขนาด 4 ขนาด คือ ขนาดเล็ก (S) กลาง (M) ใหญ่ (L) และใหญ่สุด (LL)
- ขนาดเล็ก (S) ประมาณ 10-12 ตัวต่อกิโลกรัม
- ขนาดกลาง (M) ประมาณ 7-8 ตัวต่อกิโลกรัม
- ขนาดใหญ่ (L) ประมาณ 5-6 ตัวต่อกิโลกรัม
- ขนาดใหญ่สุด (LL) ประมาณ 4 ตัวต่อกิโลกรัม
สำหรับราคาขึ้นอยู่กับขนาด ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 210 บาท
นางสุดาพร ยอดพินิจ เจ้าของนางหงส์ฟาร์ม บอกว่า ปูนิ่มของที่นี่ 90% ส่งเข้าโรงงาน เพื่อบรรจุภัณฑ์เตรียมส่งออกไปญี่ปุ่น อเมริกา แคนาดา ไต้หวันและอีกส่วนหนึ่งนำมาบรรจุกล่องแช่แข็ง กล่องละ 1 ตัว เป็นสินค้า OTOP ห้าดาวขายในจังหวัดระนอง โดยหาซื้อได้ที่ สนามบินระนอง โรงแรมจันทร์สม ฮอทสปา และร้านอาหารในจังหวัด
|
|
|
ปูนิ่ม ที่ผ่านการแช่น้ำจืด 2 ชั่วโมง จะมีการคัดเกรดพร้อมส่งตลาด
|
ปูนิ่ม ที่ลอกคราบใหม่ ๆ
|
ประโยชน์ของปูนิ่ม
ปูนิ่ม เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีปริมาณแคลเซียมสูง คลอเลสเตอรอลต่ำ สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งอาหารไทย จีน และฝรั่ง เช่น ปูทอดเนื้อทอง พล่าปูนิ่ม แกงส้มปูนิ่ม ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย ต้มยำปูนิ่ม ต้มข่าปูนิ่ม ผัดฉ่าปูนิ่ม ผัดผงกระหรี่ ผัดน้ำพริกเผา ปูนิ่มผัดพริกไทยดำ ปูนิ่มชุบเกล็ดขนมปัง สลัดปูนิ่ม ฯลฯ ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างเมนูปูนิ่ม แนะนำโดยคุณสุดาพร ยอดพินิจ (0-1891-2200)
|
ปูนิ่มชุบเกล็ดขนมปัง
เครื่องปรุง
- ปูนิ่ม 2 ตัว
-แป้งทอดกรอบ 1 ถ้วย
-ไข่ไก่ 1 ฟอง
-เกล็ดขนมปัง 1 ถ้วย
วิธีทำ
1. แช่ปูนิ่มในน้ำ บีบน้ำออก หั่นปูนิ่มขนาดตามที่ต้องการ
2. นำปูนิ่มที่หั่นไปคลุกแป้งเล็กน้อย นำลงชุบในไข่ แล้วนำลงคลุกเคล้าเกล็ดขนมปัง
3. ทอดในน้ำมันที่ร้อนปานกลาง ทอดให้เหลือง กรอบ รับประทานกับน้ำจิ้มหรือสลัด |
ปูนิ่มผัดพริกไทยดำ
เครื่องปรุง
- ปูนิ่ม 2 ตัว
- พริกไทยดำป่น 2 ช้อนชา
- กระเทียม 2 ช้อนชา
- เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
- น้ำตาล 1 ช้อนชา
- ต้นหอม 2 ต้น
- หอมหัวใหญ่ 1-4 หัว
วิธีทำ
1. นำปูนิ่มแช่น้ำ หั่นเป็นชิ้นขนาดตามต้องการ
2. นำปูที่เตรียมไว้ลงทอดในน้ำมันพอสุก น้ำขึ้นพักไว้
3. ผัดกระเทียมในน้ำมัน ใส่พริกไทยดำ น้ำตาล เกลือ ปรุงรสตามชอบ นำปูที่พักไว้ลงผัดใส่ผักที่เตรียมไว้ ตักขึ้นรับประทานได้ |
ปูนิ่มทอดกระเทียม
เครื่องปรุง
- ปูนิ่ม
- แป้งทอดกรอบ
- กระเทียมหยาบ
- พริกไทย
วิธีทำ
1. นำปูนิ่มแช่น้ำ บีบน้ำออก หั่นเป็นชิ้น ขนาดตามที่ต้องการ
2. นำปูที่เตรียมไว้ ใส่กระเทียมสับ พริกไทย คลุกให้เข้ากัน
3. ใส่แป้งทอดกรอบลงคลุกเคล้าให้แป้งพอติด อาจเติมน้ำเล็กน้อย
4. นำลงทอดในน้ำมันพอเหลือง ตักขึ้นรับประทานได้ |
รางวัลผู้หญิงเก่ง
|
|
คุณนก ปูนิ่ม หรือ นางสุดาพร ยอดพินิจ ได้บอกถึงหลักการทำงานให้ประสบความสำเร็จว่า ทำอะไร
ให้จริงจังและตั้งใจทำให้ดีที่สุด สนใจใฝ่หาวิชาการ มองทุกอย่างให้กว้างไกล มองการตลาดเป็นสำคัญ
สำหรับเกษตรกรก่อนตัดสินใจทำอะไร ขอให้หาตลาดไว้ก่อน แล้วมาทำการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ความต้องการของลูกค้า ความพอใจของลูกค้า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ไม่มีปัญหา ด้านการตลาด
นอกจากคุณนก ปูนิ่ม จะเป็นเจ้าของนางหงส์ฟาร์มปูนิ่ม บริหารคน บริหารงานเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปูนิ่ม จนได้รับ
การคัดสรรเป็น OTOP ห้าดาวของจังหวัดระนองแล้ว เธอได้เสียสละทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด จนได้
รับการคัดเลือกเป็นผู้หญิงเก่ง 1 ใน 8 คน เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2547 และปัจจุบันรับหน้าที่เป็นประธานหอการค้าจังหวัดระนอง อีกด้วย |
|
นายชิงชัย เพชรพิรุณ เกษตรจังหวัดระนอง กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน นับเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งสร้างรายได้และชื่อเสียงให้จังหวัดระนองเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากการเลี้ยงสัตว์น้ำต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์และความละเอียดอ่อนที่ค่อนข้างมาก ประกอบกับ การลงทุนที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งจะต้องมีการบริหารการจัดการด้านการผลิตและการตลาดเป็นอย่างดี จึงจะประสบผลสำเร็จ |
|
นางหงส์ฟาร์ม โดย คุณสุดาพร ยอดพินิจ ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดระนอง และเป็น 1
ในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดระนอง ที่ได้ให้ความสำคัญและเข้าใจลึกซึ้งถึงความยากง่ายของการเลี้ยงปูนิ่มเป็นอย่างดี จึงอนุญาตให้ใช้ฟาร์มแห่งนี้เป็นที่เรียนรู้ ศึกษาดูงานและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสู่เกษตรกร เพื่อส่งเสริมพัฒนาสนับสนุนงานการเกษตรของจังหวัดให้เจริญก้าวหน้าและมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยให้ชุมชนและองค์กรเกษตรกรในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ |
ในส่วนที่เป็นผลพลอยได้ คือ เปลือกหรือกระดองปูที่ลอกคราบแล้ว ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมายในแต่ละวัน ยังได้มอบให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนำไปใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรต่อเนื่อง แล้วมอบให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ว่าจะใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ผลิตสารสกัดไคติน ไคไตซาน ทำเป็นอาหารเสริม ฮอร์โมนพืช เป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เป็นสารปรับปรุงบำรุงดินและน้ำ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่า แก้ปัญหามลภาวะ อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์จังหวัดในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้สนใจเยี่ยมชมการเลี้ยงปูนิ่ม หรือสั่งซื้อปูนิ่ม ติดต่อ คุณสุดาพร ยอดพินิจ โทร.0-7782-2107, 0-1892-2200 หรือติดต่อ สำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง โทร.0-7781-1091, 0-7782-2748
หรือทางอีเมลล์ ranong@doae.go.th
|
ปูนิ่ม
ปูทะเล มีชื่อสามัญที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทะเล ปูดำ ปูขาว ปูทองหลาง ปูทองโหลง ปูทองแดง เป็นต้น แต่ได้แยกลักษณะต่าง ๆ แล้วพบว่าปูทะเลในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ ปูดำ ปูขาว และปูเขียว ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อยป่าชายเลนและปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะมีชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลนหรือเลนที่มีป่าแสมและโกงกาง ตั้งแต่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี บริเวณอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ที่ชุกชุมที่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ส่วนที่ฝั่งอันดามันมีชุกชุมที่จังหวัด ระนอง กระบี่ พังงา และสตูล ปูทะเลเจริญเติบโต โดยอาศัยการลอกคราบ เนื่องจากกระดองของปูเป็นสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถยืดขยาย ตัวออกไปได้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่คือ มีเนื้อแน่นเต็มกระดองก็จะมีการลอกคราบ เพื่อขยายขนาดโดยการสร้างกระดองใหม่มาแทนที่ ระยะเวลาในการลอกคราบของปู จะมีเพิ่มมากขึ้นตามอายุของปู เมื่อปูลอกคราบใหม่ ๆ นั้น กระดองใหม่จะนิ่ม ผิวเปลือกย่น เรียกว่า “ปูนิ่ม” ซึ่งต่อมาจะค่อย ๆ ตึงและแข็งตัวขึ้น ในระยะที่เป็นปูนิ่มจะเป็นระยะที่ปูมีความอ่อนแอมากที่สุดแทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ระยะเวลาตั้งแต่ลอกคราบจนกระทั่งกระดองใหม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่กินเวลาประมาณ 7 วัน ปูทะเลในเขตร้อนจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขั้นสมบูรณ์เพศ ประมาณ 10-12 เดือน
การเลี้ยงปูนิ่มในตะกร้ามีวิธีการทำ 2 รูปแบบ คือ การเลี้ยงในบ่อดิน และการเลี้ยงในกระชังปลา
การพิจารณาเลือกทำเลมีดังนีh
เป็นบริเวณชายฝั่งที่สามารถนำน้ำทะเลมาได้หรือบริเวณปากแม่น้ำซึ่งน้ำมีความเค็ม 10-30 ppt มีน้ำหมุนเวียนถ่ายเทสะดวก เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล โดยที่น้ำไม่ท่วมบ่อ หรือสถานที่เลี้ยง ขณะเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงสุด และสามารถระบายน้ำได้แห้ง เมื่อน้ำลงต่ำสุด มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และการคมนาคมสะดวก ดินควรเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทรายเล็กน้อย ที่สามารถเก็บกักน้ำได้ดี เป็นแหล่งที่จัดหาพันธุ์ปูทะเลได้สะดวก
การสร้างบ่อและแพรองรับตะกร้า
การสร้างบ่อจะทำเช่นเดียวกับการสร้างบ่อเลี้ยงกุ้ง อาจจะมีประตูระบายน้ำ เข้า-ออกประตู
เดียวหรือ 2 ประตูก็ได้ และวิธีได้เป็นที่นิยมเนื่องจากพบว่า ในบ่อดินปูจะลอกคราบได้ดี ส่วนขนาดของ
บ่ออยู่ระหว่าง 2-10 ไร่ บริเวณกลางบ่อมีทางเดินทำด้วยไม้พร้อมหลังคาพาดระหว่างคันบ่อ เพื่อใช้ในการตรวจเก็บปูนิ่มและให้อาหารปู สำหรับแพรองรับตะกร้า ใช้ท่อ PVC เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1-2 นิ้ว ปิดปลายทั้ง 2 ข้าง แล้วต่อเป็นแพยาว 10-20 เมตร มีจำนวน 4 ช่อง ใช้ไม้ไผ่วางพาดขวางยึดท่อให้มีระยะห่างพอดีรองรับกับตะกร้าที่ใช้บรรจุปูขนาดของตะกร้ากว้าง 22.6 เซนติเมตร ยาว 30.0 เซนติเมตร สูง 16.1 ซม. ใส่ปู 1 ตัว/1 ตะกร้า ตะกร้าที่ใช้จะเป็น 2 ใบมาประกบกันเพื่อป้องกันไม่ให้ปูหนีออก สำหรับแพต้องสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ โดยการดึงเชือกที่ผูกกับแพ
พันธุ์ปู
ปูที่ใช้เป็นชนิดปูดำที่มีขนาดตั้งแต่ 6.0–7.5 ซม. มาเลี้ยง และควรเป็นปูที่แข็งแรงและมีอวัยวะที่ครบสมบูรณ์
การปล่อยปูลงเลี้ยง
ก่อนที่จะทำการปล่อยปูลงเลี้ยงในตะกร้ามีการปรับสภาพของปูให้เข้ากับแหล่งน้ำที่จะเลี้ยง โดยการใช้น้ำในบริเวณที่เลี้ยงรดตัวปูให้ชุ่ม จากนั้นจึงตัดเชือกมัดปูออกแล้วปล่อยลงตะกร้า และใช้ตะกร้าอีกใบหนึ่งครอบมัดด้วยเชือกให้สามารถเปิดได้สะดวก ส่วนตะกร้าด้านบนมีรูเพื่อที่จะให้อาหารและตะกร้าจะผูกบนแพที่เตรียมไว้ อัตราการปล่อย 10,000 ตัว/ไร่ และจะปล่อยเสริมเท่ากับจำนวนที่เก็บปูนิ่มขึ้นมา
การให้อาหาร
ให้ปลาเบญจพรรณ (ปลาเป็ด) ที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่มีขนาด 1-2 นิ้ว ในอัตราการให้ 10 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว และจะให้วันละ 1 ครั้ง
ระยะเวลาการเลี้ยง
ในการเลี้ยงปูของแต่ละชุดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงสามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งหมด แต่เกษตรกรไม่นิยมเลี้ยงเป็นรุ่น เพราะเสียเวลาจึงทำการปล่อยเสริมทุก 15 วัน
การดูแลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต
หลังจากปล่อยปูลงเลี้ยง มีการตรวจสอบการลอกคราบทุก 4 ชั่วโมง เพื่อเก็บปูนิ่มเพราะว่าหากปูลอกคราบไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมงกระดองจะเริ่มแข็ง และเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 1 เดือน ปูจะเริ่มลอกคราบจำนวนมาก การสังเกตปูลอกคราบดูได้จาก การพบปูจำนวน 2 ตัว ในตะกร้าเดียวกัน ซึ่งตัวหนึ่งจะเป็นคราบและอีกตัวหนึ่งก็เป็นปูนิ่ม ปูนิ่มที่เก็บได้นำมาแช่น้ำจืดประมาณ 10-15 นาทีแล้ว บรรจุใส่ภาชนะเก็บในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิไม่เกินกว่า 18 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษาไว้ได้ในระยะเวลา 2-3 เดือน ผลผลิตที่ได้ประมาณ 60-70 กก./ปูที่เลี้ยง 1,000 ตัว/ระยะเวลา 45 วัน
การเลือกทำเล มีหลักในการพิจารณาดังนี้
เป็นบริเวณชายฝั่งหรือบริเวณปากแม่น้ำซึ่งน้ำมีความเค็ม 0.03 ppt เป็นแหล่งที่จัดหาพันธุ์ปูทะเลได้สะดวก เป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ และมลภาวะที่เป็นพิษ ไม่มีคลื่นลมแรง และกระแสน้ำไม่เชียว
ตะกร้าและการทำแพ
ตะกร้าที่ใช้จะเป็นตะกร้าพลาสติกเช่นเดียวกับการเลี้ยงบ่อดิน หรือขนาดประมาณ 40x60x15 ซม. (ในกรณีเลี้ยงรวมแบบหักก้ามและขา) สำหรับแพ ใช้ท่อ PVC ขนาด 2 นิ้ว เป็นทุ่นรองรับพอดีกับตะกร้าเช่นเดียวกัน แต่จะมีขนาด 2-3 เมตร เท่าขนาดกระชัง ซึ่งโดยทั่วไปกระชังมีขนาด 3x3 เมตร และใช้ตะกร้าครอบอีกใบหนึ่งเพื่อป้องกันแสงและความร้อน
พันธุ์ปู
เป็นชนิดปูดำและขนาดเช่นเดียวกับการเลี้ยงในบ่อ
การปล่อยปูลงเลี้ยง ตะกร้าถ้าเลี้ยงแบบตะกร้าละ 1 ตัว จะมีอัตราการปล่อยกระชังละ 15-20 ตัว หรือ 200-300 ตัว/กระชัง การเลี้ยงจะไม่นิยมใส่จนเต็มพื้นที่กระชังเพราะไม่สะดวกในการให้อาหารแก่ปลาสำหรับปลา สำหรับปลาที่เลี้ยงในกระชังมี ปลากะรัง กะพงขาว กะพงแดง ซึ่งปล่อยในอัตรา 150-300 ตัว/กระชัง
การให้อาหารและการดูแล
เช่นเดียวกับการเลี้ยงในบ่อดิน
ระยะเวลาการเลี้ยง
ประมาณ 3 เดือน ต่อรุ่นเช่นเดียวกับบ่อดิน ยกเว้นการเลี้ยงด้วยวิธีการหักก้ามและขาจะมีระยะเวลาการลอกคราบเร็วกว่าปรติ 5-10 วัน แต่ก็มีอัตราการตายที่สูงกว่าเช่นกัน
การจำหน่ายเกษตรกรสามารถจำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมในท้องถิ่นหรือพ่อค้าผู้ให้ทุนหรือจะจำหน่ายเอง ตามภัตตาคาร ห้องอาหาร ร้านค้าทั่วไป ราคาขายส่งอยู่ระหว่าง 120-200 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของปูนิ่ม และผู้รวบรวมจะส่งจำหน่ายอีกทีหนึ่ง
ในการนำปูนิ่มไปประกอบอาหารนั้น ผู้ประกอบอาหารสามารถทำได้มากมายหลายอย่างเช่น ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย ปูนิ่มชุบแป้งทอด ปูนิ่มพล่า ต้มยำปูนิ่ม ปูนิ่มผัดผงกระหรี่ ปูนิ่มอบวุ้นเส้น ปูนิ่มสามรส ต้มข่าปูนิ่ม ปูนิ่มจานร้อน พะแนงปูนิ่ม ปูนิ่มนึ่งนมสด เป็นต้น และยังสามารถดัดแปลงเป็นอาหารแบบต่าง ๆ ทั้งอาหารไทย จีน ฝรั่ง และญี่ปุ่น
หมายเหตุ
การเลี้ยงปูนิ่มโดยวิธีการหักขาและก้าม จะทำการหักขาและก้ามทั้งหมดยกเว้นขาว่ายน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำร้ายสัตว์ และอาจจะมีผลต่อการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ
หากทราบถึงวิธีการผลิตดังกล่าว จึงไม่ควรส่งเสริมเกษตรกรด้วยวิธีนี้
ใช้บ่อกุ้งร้างหันเลี้ยงปูนิ่ม ปล่อยปลากะพงกำไร 2 ต่อ |
|
|
|
โดย คม ชัด ลึก |
เมื่อครั้งที่กุ้งกุลาดำเป็นที่ต้องการของตลาด วิลัยวรรณ เอิบสภาพ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านคันนา ต.ห้วยน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด กอบโกยกำไรจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 4 บ่อถึง 4 ล้านบาท
แต่มาทรุดลงอีกครั้งเมื่อปี 2543 หลังจากราคากุ้งกุลาตกต่ำ ถึงขนาดต้องกลายเป็นคนติดหนี้กว่า 1 ล้านบาท และมาฟื้นอีกครั้งตอนที่ใช้บ่อกุ้งเก่ามาเลี้ยงปู่นิ่ม และปล่อยปลากะพงในบ่อเดียวกันเพียง 1 บ่อ แต่สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท
วิลัยวรรณบอกว่า เดิมทีครอบครัวยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้าน หาปู จับปลาชายฝั่ง เหมือนชาวประมงทั่วไปของ จ.ตราด รายได้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ตอนหลังทรัพยากรน้ำเริ่มน้อยลง จึงหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 4 บ่อ เพราะเห็นว่าตอนนั้นกุ้งกุลาดำราคาดี แต่พอปี 2542 ราคากุ้งกุลาดำลงต่ำลงเรื่อยๆ และเริ่มขาดทุนต่อเนื่อง ในที่สุดปี 2543 ต้องเลิกเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เพราะติดหนี้ธนาคารกว่า 1 ล้านบาท
หลังจากเลิกเลี้ยงกุ้งกุลาดำ วิลัยวรรณยอมปล่อยบ่อให้เป็นบ่อร้างหลายปี จนมีข้าราชการคนหนึ่งจากในจังหวัดตราดไปเช่าบ่อเพื่อเลี้ยงปูนิ่ม โดยมีสามีของ วิลัยวรรณ เป็นคนดูแลให้ ส่วนเธอจะทำหน้าที่นำปูไปขายตามท้องตลาด แต่เนื่องจากคนยังรู้จักปูนิ่มน้อยมาก จึงขายได้เพียงวันละ 2 กก.เท่านั้น และเริ่มเพิ่มขึ้นวันละ10 กก. ขายในราคา กก.ละ 200-250 บาท
"สามีดิฉันเป็นลูกจ้างเลี้ยงปูนิ่มได้พักใหญ่ รู้วิธีเลี้ยง แหล่งซื้อปู ที่มีคนมาขายวันเว้นวันในราคา กก.ละ 100 บาท และช่วงจังหวะที่ตลาดปูนิ่มเริ่มสดใส จึงออกมาเลี้ยงเอง เพราะเรายังมีบ่อร้างอีก 3 บ่อ แต่เลี้ยง 1 บ่อ ในเนื้อที่ 1.5 ไร่ท่านั้น เนื่องจากต้องใช้เวลาในการดูแลตลอดเวลา" วิลัยวรรณกล่าว
วิลัยวรรณบอกอีกว่า การเลี้ยงจะเลี้ยงในกระชังบนผิวน้ำ ทำให้ก้นบ่อก็ว่างเปล่า จึงทดลองปล่อยปลากะพงลงไป ปรากฏว่าได้ผล จนทุกวันนี้ทั้งปูนิ่มและปลากะพงสามารถสร้างได้พอเลี้ยงครอบได้อย่างสบาย ในแต่ละวันจะนำปูนิ่มออกให้ลูกค้าวันละ 30 กก. ขายราคาก ก.ละ 230-250 บาท หักค่าแรงต้นทุนได้กำไรวันละ 1,500-2,000 บาท ส่วนปลากะพงราคา กก.ละ 120-140 บาท โดยมีลูกหลักในตัวเมือง อาทิ ร้านอาหาร รีสอร์ท และพ่อค้า ไปรับซื้อถึงที่ทุกวัน
"ที่บ่อฉันจะเลี้ยงเฉพาะปูทะเล หรือปูดำ ใช้ปลาหางเหลืองเป็นอาหาร ตอนนี้มีปูที่เลี้ยงไว้ 1.5 หมื่นตัว ปลากะพงในบ่อเดียวกันอีก 2,000 ตัว เราต้องมีเวลามาดูทุกๆ 5 ชั่วโมง เพราะถ้าปล่อยไป 7 ชั่วโมง หลังปูสลัดกระดองแล้ว กระดองใหม่จะแข็งทันที ปู 1 ตัวจะมีอายุราว 5 เดือน แต่จะสลัดกระดอง 25 ครั้ง ฉะนั้นปู 1.5 ตัว ย่อมจะสลัดกระดองได้ทุกชั่วโมง หากปล่อยไปจนกระดองแข็งเราต้องรอให้สลัดกระดองรอบใหม่อีกกว่าจะขายได้" วิลัยวรรณกล่าว
การเลี้ยงปูนิ่มนั้นจะเลี้ยงในกล่องพลาสติกเป็นตะแกรงสี่เหลี่ยม ขนาด 8x12 ซม. ลึก 6 ซม. กล่องละ 1 ตัว แล้วผูกกล่องติดกับราวไม้ไผ่ที่ทำเป็นแพลอยน้ำ เพื่อให้ฝากลองอยู่เหนือผิวน้ำ ส่วนตัวกล่องจมน้ำ เพื่อสะดวกต่อการตรวจว่าตัวไหนสลัดกระดองหรือไม่
ใครสนใจวิธีการเลี้ยงปูนิ่มและปลากะพงในบ่อเดียวกัน สอบถามได้ที่ 0-2338-3356-7
โดย ดลมนัส กาเจ
|
|
การเลี้ยงปูม้านิ่ม
คมชัดลึก : คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับปูม้านิ่มในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้เราประสบความสำเร็จแล้วในการเลี้ยงเพื่อออกสู่ตลาด ทั้งๆ ที่การเลี้ยงปูม้านิ่มทำได้ยากกว่าการเลี้ยงปูดำนิ่มที่เราคุ้นเคยกัน
ปูม้านิ่มก็คือปูม้าที่เพิ่งลอกคราบใหม่ๆ ซึ่งกระดองยังนิ่มอยู่ สามารถนำมาปรุงอาหารกินได้ทั้งตัว โดยไม่ต้องรำคาญเรื่องของการแกะเปลือกออกก่อน ที่บอกว่าการเลี้ยงปูม้านิ่มทำได้ยากกว่าการเลี้ยงปูดำนิ่มก็เพราะว่าเมื่อปูม้าลอกคราบแล้ว จะใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เปลือกก็เริ่มแข็งตัวกลายเป็นปูปกติเรียบร้อยแล้ว ต่างจากปูดำซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง การเก็บเกี่ยวปูม้านิ่มจึงมีช่วงดำเนินการได้สั้นมาก นั่นก็หมายความว่าต้องเดินมาดูทุกชั่วโมงว่าปูลอกคราบแล้วหรือยัง ดังนั้นจึงไม่สามารถเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ได้
วิธีการคร่าวๆ ในการผลิตปูม้านิ่มก็คือ ขั้นแรกต้องมีความรู้ในการคัดเลือกปูม้าใกล้ลอกคราบก่อน ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะเราต้องคัดเลือกปูที่ใกล้ลอกคราบแล้วเท่านั้น เพื่อนำมาเลี้ยงในกล่องลอยน้ำในบ่อหรืออ่างของเราในฟาร์ม หากดูไม่เป็น ก็หมายความว่าต้องเลี้ยงปูในกล่องนานเกินไป ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายมากในการดูแล
ปูม้าที่จะนำมาเลี้ยงให้เป็นปูนิ่มในฟาร์ม ได้มาจากการจับมาจากทะเล ซึ่งได้จากทั้งวิธีการใช้ลอบดักปู หรือใช้อวน หากมีการใช้อวน ชาวประมงอวนปูต้องให้อากาศหลังปลดปูม้าออกจากอวน เมื่อขนส่งปูมายังฟาร์ม ซึ่งปูจะมีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรง เทียบเท่ากับปูที่ได้จากลอบปู หากปูเหล่านี้ยังไม่อยู่ในระยะใกล้ลอกคราบ ก็อาจต้องนำไปปล่อยในบ่อที่ทำเลียนแบบธรรมชาติ โดยใช้บ่อซิเมนต์ขนาดไม่ต้องใหญ่มากนัก แล้วใส่ทรายสูง 60 ซม. เกลี่ยระดับทรายลาดเอียงตามแบบชายทะเล จากนั้นจึงใส่น้ำทะเลสูงเหนือชั้นทรายประมาณ 30 ซม. ให้อากาศผ่านหัวทราย ปล่อยปูม้าในปริมาณ 8-10 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารเป็นหอยแมลงภู่มีชีวิตร้อยละ 10 ของน้ำหนักปูรวม
หลังปล่อยน้ำออกประมาณร้อยละ 50 สังเกตการเข้าหาอาหารและการหลบใต้พื้นทราย แยกปูม้าที่ไม่กินอาหารและหลบอยู่ใต้พื้นทรายในระดับตื้นที่แสดงว่าอยู่ในระยะใกล้ลอกคราบออกใส่ตะกร้าและเลี้ยงในบ่อรอลอกคราบต่อไป
ตะกร้าที่นำมาใช้เลี้ยงปูเพื่อรอให้ลอกคราบแตกต่างจากการเลี้ยงปูดำเล็กน้อย โดยออกแบบใหม่ ชนิดที่ไม่ต้องปิดฝา แต่ทำให้สูงขึ้นเพื่อกันปูหนีลงน้ำ การที่ไม่มีฝาทำให้สะดวกในการมองและคัดปูที่ลอกคราบแล้วออกมาขาย เพราะส่วนใหญ่ปูจะลอกคราบตอนกลางคืน ทำให้สังเกตได้ยากหากมีฝาปิดอยู่
ปูม้าที่เหมาะสมในการผลิตปูม้านิ่มในครัวเรือนควรเป็นปูม้าที่กำลังจะลอกคราบภายใน 3-5 วันเพื่อประหยัดพื้นที่ในการเลี้ยง สำหรับการผลิตในโรงเรือนควรใช้ปูม้าที่อยู่ในระยะก่อนลอกคราบไม่เกิน 7 วัน เป็นระยะที่ปูหยุดกินอาหาร มีกิจกรรมน้อยมาก จะอยู่นิ่งมากกว่าการว่ายน้ำแม้ในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงของการหากินของปู
วิธีการแยกว่าปูใกล้ลอกคราบหรือยัง ต้องอาศัยทักษะในการสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูสีซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในบริเวณจับปิ้งและขา หากสังเกตได้เก่งก็สามารถแยกปูที่พร้อมจะลอกคราบออกจากปูทั่วไปได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นก็หมายถึงว่าโอกาสทำปูม้านิ่มก็จะประสบความสำเร็จสูงตามไปด้วย เพราะไม่ต้องเสียต้นทุนในการเลี้ยงนานเกินไป
รายละเอียดเพิ่มเติมน่าจะขอได้จาก ผศ.มยุรี จัยวัฒน์ จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ
งานวิจัยปูนิ่มของไทย
หลังจากไม่ได้เขียนเรื่องสัตว์น้ำอื่นๆ มานาน ก็คิดว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่จะนำเรื่องราวของปูนิ่มมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของปูนิ่ม ที่เมืองไทยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับด้านนี้อยู่มาก และมีการผลิตออกมาขายกันกว้างขวาง และเป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ในการผลิตทางการค้าอย่างแท้จริง
งานวิจัยเกี่ยวกับปูนิ่มมีอยู่หลายเรื่อง และทำติดต่อกันมายาวนานพอสมควร มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยด้านนี้มากก็คือ สกว. จนกระทั่งสามารถนำมารวบรวมเป็นเล่ม โดยใช้ชื่อว่า "มองลอดกระดองปูนิ่ม" และในหนังสือเล่มนี้ก็มีการสรุปผลงานวิจัยต่างๆ ที่ได้ทำมาไว้อย่างครบวงจร วันนี้ก็เลยอยากนำบางส่วนบางเล่าให้ฟังว่ามีการวิจัยอะไรไปแล้วบ้างและได้ผลเป็นอย่างไร
หลายคนยังเข้าใจว่าปูนิ่มเป็นปูพันธุ์ใหม่ที่กินได้ทั้งตัว แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าปูนิ่มก็คือปูที่เพิ่งจะลอกคราบใหม่ๆ และยังไม่มีหินปูนมาเกาะ ทำให้กระดองยังนิ่มอยู่ แต่ถ้าทิ้งไว้ในน้ำทะเลไม่นานก็จะเริ่มมีหินปูนเข้ามาเกาะจนแข็ง เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวตามธรรมชาติของมัน ดังนั้น ปูนิ่มจึงเป็นช่วงที่ปูอ่อนแอที่สุด เพราะร่างกายไม่มีเกราะป้องกัน จึงกลายเป็นอาหารของสัตว์อื่นได้ง่ายมาก การแข็งตัวของกระดองเป็นไปค่อนข้างเร็วมาก ฉะนั้นถ้าไปเสาะหาปูนิ่มตามธรรมชาติก็จะลำบากมาก เพราะว่าไม่ทันกับการแข็งตัวของกระดอง การเลี้ยงปูนิ่มจึงเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำเงินได้มาก และเป็นผลให้เรามีปูนิ่มบริโภคได้ทั้งปี ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการผลิตปูนิ่มก็ต้องมีความละเอียดมากกว่าการเลี้ยงปูทั่วๆ ไป
ตอนนี้เรามีงานวิจัยที่เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงและการผลิตในเชิงการค้า มีเรื่องของการเพาะเลี้ยงลูกปู เรื่องของการเก็บรักษาปูนิ่มให้มีคุณภาพสูงอยู่ได้นาน ไปจนถึงการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากปูนิ่ม จนกระทั่งชาวบ้านสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการเลี้ยงและขายอย่างได้ผลดีมาแล้ว
การเลี้ยงปูนิ่มในระยะแรกนั้น ดูแล้วค่อนข้างทารุณสัตว์มาก เพราะว่าการกระตุ้นให้เกิดการลอกคราบเพื่อกลายเป็นปูนิ่มนั้น เชื่อกันว่าใช้วิธีการตัดก้ามและตัดขาเดินเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้วถ้าปูไม่สมบูรณ์และเกิดความเครียดก็จะไม่ลอกคราบ แม้จะเอาไปตัดขาก็ตาม ผลก็คือหลังจากที่ได้ปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านั้นมาระยะหนึ่ง ปูที่แข็งแรงก็สามารถลอกคราบได้ แต่ตัวที่อ่อนแอก็ถึงขั้นตายไปเลย หากไม่ตายและมีการลอกคราบได้ก็กลายเป็นปูที่มีขาไม่ครบ กลายเป็นปูนิ่มเกรดต่ำ ขายไม่ได้ราคา
แต่ว่าในระยะหลัง วิธีการดังกล่าวเริ่มหายไปแล้ว และมีการพัฒนาการเลี้ยงขึ้นมาใหม่ โดยมีเหตุผลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ จ.ระนอง ซึ่งเป็นต้นแบบในการเลี้ยงปูนิ่มตามแนวใหม่นี้ นั่นก็คือแทนที่จะนำมาตัดก้าม ก็ปล่อยลงเลี้ยงไว้ในกรงขัง กรงละตัวเหมือนกับไก่ไข่ แล้วรอจนกว่าจะลอกคราบจึงเอาขึ้นมาขาย ซึ่งปัจจุบันวิธีการนี้ได้แพร่หลายไปทั่ว
ผลก็คือได้ปูนิ่มที่มีคุณภาพ และไม่เป็นการทารุณสัตว์ จึงเป็นการเริ่มเปิดมิติใหม่ของการเลี้ยงปูนิ่มขึ้น โดยที่การพัฒนาในส่วนนี้ จุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์และการสังเกตของเกษตรกรผู้เลี้ยง ซึ่งเคยมีประสบการณ์การเลี้ยงไก่บนบ่อปลามาก่อน จึงดัดแปลงแนวคิดนี้มาใช้ในการเลี้ยงปูนิ่ม ซึ่งกลายเป็นต้นแบบในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงมีงานวิจัยหลายเรื่องที่เข้ามาเสริมและทำให้ธุรกิจการเลี้ยงปูนิ่ม
ทุกวันนี้การเลี้ยงปูนิ่มกลายเป็นอุตสาหกรรมทำรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงได้อย่างมากมายในยุคปัจจุบันครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 เมษายน 2551
http://www.komchadluek.net/2008/04/28/x_agi_b001_200027.php?news_id=200027
เตือนคนหม่ำปูนิ่ม ใช้เคมีลอกคราบ |
ชาวไซเบอร์เตือนภัยระวังอันตรายปูนิ่ม ที่กลุ่มพ่อค้าหัวใสใช้สารเคมีเร่งปูลอกคราบเพื่อสนองยอดสั่ง เจ้าของธุรกิจฟาร์มปูนิ่มยืนยันปูเลี้ยงโอกาสเป็นยาก เชื่อเป็นปูธรรมชาติที่มีพิษแพลงก์ตอนหลงเหลือ ด้านเลขาฯ อาหารและยากล่าวยังไม่เคยได้รับรายงาน
เรื่องราวภัยเมนูอาหารปูนิ่ม ผู้สื่อข่าวได้รับการเตือนภัยผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้หวังดีนามสุชาดา อินเนือง ได้ส่งอีเมลข้อความเตือนภัยปูนิ่มให้ชาวสังคมไซเบอร์ได้รับทราบไว้ พร้อมขอความกรุณาให้ฟอร์เวิร์ดข้อความต่อกันไป เพื่อที่คนไทยจะได้ตื่นตัวระมัดระวัง และหาวิธีการหยุดยั้งกลุ่มพ่อค้าปูนิ่มหัวใสที่หวังผลกำไรมากกว่าคำนึงถึงความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์
สุชาดา อินเนือง กล่าวผ่านอีเมล Suchadal@zuelligpharma.co.th ภายหลังได้สั่งปูนิ่มผัดผงกะหรี่จากร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง กระทั่งกลับมาถึงบ้าน สามีเกิดผื่นเป็นรอยปื้นหนาขึ้นตามตัว จึงใช้ยาคาลาดริลทาตรงบริเวณที่เกิดปื้นแดง ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ปื้นแดงไปโผล่ที่มือ, ข้อศอก, ขาและตามลำตัว แต่เมื่อทายา รอยปื้นแดงก็จะย้ายไปโผล่บริเวณอื่น ตอนแรกก็ไม่ได้แปลกใจ คิดว่าคงเกิดจากอาการแพ้อากาศทั่วไป
อีเมลดังกล่าวอ้างอีกว่าได้รู้จากลูกค้ามาสั่งของที่โรงงาน ซึ่งลูกค้าผู้นี้เป็นลูกเขยของร้านอาหารทะเลดังกล่าว บอกว่าที่ร้านอาหารประสบปัญหาถูกลูกค้าที่สั่งเมนูปูนิ่มคอมเพลนกลับมาบ่อยครั้ง รวมถึงเมนูกุ้งมังกร ขณะที่เมนูอาหารทะเลอื่นๆ ไม่ประสบปัญหา คาดว่าคนขายปูนิ่มและกุ้งมังกรคงใช้สารเคมีผสมน้ำในการเลี้ยงเพื่อเป็นการเร่งให้ปูมีการลอกคราบ เนื่องจากธรรมชาติของปูจะลอกคราบเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และปัจจุบันคนไทยและชาวต่างประเทศนิยมสั่งปูนิ่ม รับประทานมากจนปูนิ่มขาดตลาด
สุชาดายังให้คำแนะนำกรณีหากผู้ใดประสบปัญหารับประทานปูนิ่มและกุ้งมังกรที่เจือปนสารเคมี ในเบื้องต้นให้รับประทานรางจืดแคปซูลไป 2 มื้อ ควบคู่กับการทายาคาลาไมล์ หรือคาลาดริล และทานน้ำมากๆ เพื่อให้ถ่าย อาการจะทุเลา
สำหรับปูนิ่ม คือปูทะเลทุกชนิด อาทิ ปูดำ, ปูขาว, ปูทองหลาง, ปูทองโหลง และปูทองแดง ปูเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบ เนื่องจากกระดองปูเป็นสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถขยายตัวออกไปได้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่มีเนื้อแน่นเต็มกระดอง จะมีการลอกคราบเพื่อขยายขนาด ปูทะเลลอกคราบ กระดองใหม่จะนิ่ม ผิวเปลือกย่น เรียกว่าปูนิ่ม และเนื่องจากปูนิ่มเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว แหล่งผลิตมีจำกัด จึงมีราคาสูง ในตลาดมีความต้องการสูง ส่งผลให้เกิดธุรกิจบ่อเลี้ยงปูนิ่ม โดยมีการซื้อพันธุ์ปูบางชนิดมาจากประเทศพม่า และอัตราการผลิตแต่ละวันจะได้ปูนิ่มประมาณ 100-300 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 250-300 บาท
สุดาพร ยอดพินิจ เจ้าของธุรกิจบ่อเลี้ยงปูนิ่มนางหงส์ฟาร์ม กล่าวว่า กรณีมีผู้รับประทานปูนิ่มแล้วเกิดผื่นคัน เพิ่งได้ยินครั้งแรก เพราะปกติเคยมีคนกินปูแล้วท้องร่วง เนื่องจากน้ำ ดังนั้นบ่อเลี้ยงปูนิ่มจะมีการเปลี่ยนน้ำตลอด และทางภาครัฐจะตรวจสอบเข้มงวด กรณีผู้ทานปูนิ่มเกิดผื่นคัน อาจเป็นเพราะแพ้อาหารทะเล หรือไม่ปูนิ่มที่รับประทานไม่ใช่ปูเลี้ยง จึงยังมีการหลงเหลือของแพลงก์ตอนพิษ ทางที่ดีร้านอาหารควรตรวจสอบแหล่งที่มาของปูนิ่ม
ด้าน ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการฯ สำนักงานอาหารและยา กล่าวว่า ทาง อย.ยังไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เบื้องต้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน ซึ่งผู้เสียหายควรที่จะหาข้อมูลเพิ่มเพื่อเป็นการช่วยสอดส่อง และทาง อย.อาจจะต้องขอความร่วมมือกับทางกรมประมงต่อไป แต่ทั้งนี้ประชาชนควรระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้แพ้อาหารทะเล.
ที่มาจากหนังสือพิมพ์
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.