หน้า: 1/3
กำลังปรับปรุงครับ
การเพาะเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ
หลักการและเหตุผล (แนวพระราชดำริ)
เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ด้านการพัฒนาอาชีพตามแนวพระราชดำริ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
โครงการเพาะเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจาก-พระราชดำริ จึงเป็นโครงการหนึ่งที่ดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริ...” ในการแก้ไขปัญหาการเสื่อมถอยของทรัพยากรธรรมชาติ...การลดน้อยของประชากรกบที่พบในธรรมชาติ...” และ “การพัฒนาอาชีพเพาะเลี้ยงกบ ตามแนวพระราชดำริของ
หลักเศรษฐกิจพอเพียง”
โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบข้าง นำมาพัฒนามาเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงกบให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด อาศัยวิธีการดำเนินงานในแบบที่เรียบง่าย ประหยัด ที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ มีปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร และไม่เป็นอันตรายต่อผู้เพาะเลี้ยงและชุมชุนข้างเคียง
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “......ปัญหาในประเทศอินเดีย มีการจับกบจากธรรมชาติ ไปเป็นอาหารเป็นจำนวนมาก ทำให้กบในธรรมชาติมีปริมาณลดน้อยลง เกิดการระบาดของแมลงที่เป็นศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ทำให้พืชเศรษฐกิจถูกทำลายไปด้วย.......”
แนวพระราชดำริ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จากพระบรมราโชวาท “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ ครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆอันเกิด จากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอนและขณะเดียวกันต้องเสริมสร้าง พื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ทางสายกลาง
พอประมาณ
มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
มีเหตุผล
เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม
(รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) (ซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน แบ่งปัน)
ชีวิต / เศรษฐกิจ / สังคม
จากพระบรมราโชวาทปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สมดุล / มั่นคง / ยั่งยืน
• ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
• ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียง จะต้องไปเป็นอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ
• การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และ การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
• เงื่อนไขความรู้ ประกอบไปด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบด้าน ความรอบคอบ ที่จะนำความรู้เหล่านั้น มาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในชั้นปฏิบัติ
• เงื่อนไข คุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
• แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
การเพาะเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบข้าง นำมาพัฒนามาเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงกบให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด อาศัยวิธีการดำเนินงานในแบบที่เรียบง่าย ประหยัด ที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ มีปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร และไม่เป็นอันตรายต่อผู้เพาะเลี้ยงและชุมชุนข้างเคียง โดยต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆต่อไปนี้
1. รู้จักการสังเกตเรียนรู้ในบทบาทของธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ที่มีบทบาทและมีกฎของตัวเอง และมีขอบเขตที่จำกัดที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถนำเอาบทบาทของธรรมชาติที่เกิดขึ้นเหล่านี้นำปรับปรุงและใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
2. ต้องเรียนรู้พื้นฐานธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่จะนำมาเลี้ยง เพราะสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีความจำเพาะในตัวของมันเอง และเรียนรู้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆที่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องในการผลิตร่วมด้วย
3. ใช้วัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารนั้นมีอยู่รอบๆตัวเราให้ได้มากที่สุด
4. เรียนรู้และมีความสุขกับการสังเกตสิ่งที่เป็นเกิดขึ้นรอบข้างเพื่อเป็นต้นทุนความรู้ในการสร้างเสริม “ภูมิปัญญา” และดูแลให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดภาวะปัญหาเฉพาะหน้า ก็จะสามารถทำให้เกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
5. เริ่มต้นจากกระบวนการผลิตตามหลักและแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ
1. เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ เป็นมิตรกับเกษตรกร การทำเกษตรธรรมชาติไม่เพียงแต่จะปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแต่ยังช่วยให้ระบบนิเวศคืนสู่สภาพปกติ
2. ลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงกว่า
3. ทำได้ในสภาพท้องถิ่นต่างกัน ด้วยหลักการเดียวกันแต่มีวิธีการปฏิบัติหลากหลาย สามารถนำไปทำได้ใน หลายภูมิภาค และจะมีเทคนิคเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น
วิธีการดำเนินงาน ทำอย่างไรจึงจะทำให้การเพาะเลี้ยงกบมีประสิทธิภาพสูงสุด
1. ออกแบบบ่อเลี้ยงให้กลมกลืนและเหมาะสมกับวิถีชีวิตของกบโดยการใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. ใช้ อาหารที่ สามารถหาได้จากธรรมชาตินำใช้เลี้ยงร่วมกับอาหารสังเคราะห์ให้ได้มากที่สุด
3. ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันรักษาโรคที่ไม่จำเป็น โดยการใช้จุลินทรีย์ที่ดีและมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมร่วมด้วย
4. ใช้พืชสมุนไพรที่หาได้ในพื้นที่ พื้นที่รอบข้างและพื้นที่ข้างเคียง นำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยงอย่างถูกวิธี ทดแทนการใช้สารสังเคราะห์อื่นๆ และลดสารตกค้างในสภาพแวดล้อม
5. นํ้าเสียที่เกิดขึ้น สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยรดต้นไม้ หรือใช้จุลินทรีย์ในการปรับสภาพนํ้าเสียก่อนที่จะปล่อยทิ้งหรือก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
6. เลี้ยงในปริมาณที่พอดีที่เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติและวัสดุที่มีอยู่ การใช้แรงงานในการเพาะเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเลี้ยงในครัวเรือน การเลี้ยงแบบเกษตรผสมผสาน หรือการเลี้ยงในลักษณะของผู้ประกอบการ
7. ควรคำนึงในการเลือกใช้ปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติให้ถูกชนิดและปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยง เพื่อที่ทำให้มีประสิทธิภาพในการเลี้ยงที่จะเกิดผลที่ดีที่สุดในการเลี้ยงกบ
การทำบ่อเลี้ยง การเลี้ยงกบโดยวิธีเกษตรธรรมชาติ เป้าหมายคือการเลี้ยงในรูปแบบใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากธรรมชาติมาทำบ่อเลี้ยงเพื่อให้มีต้นทุนตํ่า และสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ดังนั้นรูปแบบบ่ออาจจะต้องมีการพัฒนานำสิ่งที่ดี หาง่ายในพื้นที่มาใช้ในการทำบ่อ เพื่อที่จะนำมาไปสู่การพัฒนาทำรูปแบบและวิธีการเพาะเลี้ยงการทำบ่อเลี้ยงอาจทำได้หลายแบบประกอบกัน ได้แก่
1) การทำบ่อดิน
บ่อดินมีความเหมาะสมในการใช้เพาะเลี้ยงกบ เนื่องจากมีการลงทุนตํ่า สามารถใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในครัวเรือน และมีสภาพคล้ายคลึงธรรมชาติ ขนาดบ่อทำได้ตั้งแต่ขนาด 2.5-3.0 ตารางเมตร แต่ไม่ควรใหญ่เกินกว่า 3.0-4.0 ตารางเมตร เนื่องจากต้องมีการคัดขนาดกบและดูแลรักษายาก พื้นที่ควรเลือกบริเวณที่มีแดดส่องถึง โดยทำการปรับสภาพพื้นที่เป็นดินให้เรียบ ล้อมรอบบ่อด้วยตาข่ายในล่อนสีฟ้าสูง 1 เมตร ฝังตีนตาข่ายลึกลงไปในดินประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อกันกบมุดหนีหรือศัตรูภายนอกมุดเข้ามาทำอันตรายกบ บริเวณที่เป็นแอ่งนํ้าอาจขุดเป็นบ่อนํ้าเล็กๆถ้าดินสามารถเก็บนํ้าได้ ในกรณีที่เป็นสภาพพื้นที่ไม่เก็บนํ้า ให้ใช้ภาชนะเช่น กะละมังขนาดกลาง หรือถังซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 90 เซนติเมตร ด้านบนปากบ่อคลุ่มด้วยตาข่ายไนล่อนสีฟ้าหรือแสลนให้มิดชิด เพื่อ ป้องกันศัตรูธรรมชาติ เช่น จิ้งเหลน นก แมว งู และ คน
บ่อดินลักษณะนี้ ข้อดี มีความเหมาะสมสำหรับการใช้ในการเลี้ยงกบเนื้อระยะ3-5 เดือน และ สามารถใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์กบหรือเลี้ยงกบข้ามฤดูกาลในช่วงฤดูหนาวได้ดี ข้อเสีย ดูแลรักษาความสะอาดยาก และใช้ขยายพันธุ์ไม่ได้
2) บ่อดินลักษณะกึ่งถาวร
เป็นบ่อดินที่พัฒนาขึ้นมาสามารถทำได้ในลักษณะนี้ โดยการ ก่อขอบบ่อด้วยอิฐบล็อกสูง 2-3 ก้อน ต่อขอบด้านบนด้วยตาข่ายไนล่อนสีฟ้า ด้านบนปากบ่อมีตาข่ายคลุมปิด เพื่อป้องกันนก ศัตรูธรรมชาติอื่นๆ หรือแมลงปอลงวางไข่ ภายในปรับสภาพพื้นดินให้เรียบ ขุดบ่อขนาด 1.5-1.5 เมตร ลึกลงไปในดินประมาณ 50-70 เซนติเมตร ฝังท่อระบายนํ้าถ้าสมารถทำได้
3) การทำบ่อโดยใช้ถังซีเมนต์ชนิดกลม
ใช้ถังซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร สูงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และมีฝาปิด บ่อลักษณะนี้สามารถในการขยายพันธุ์ อนุบาลลูกอ๊อด และเลี้ยงลูกกบเล็กง่ายต่อการคัดขนาด แต่ไม่เหมาะสำหรับเลี้ยงกบใหญ่เนื่องจากกบจะกระโดดชนผนังและฝาที่ใช้ปิดทำให้ปากเป็นแผล เกิดการติดเชื้อได้ง่ายแต่ถ้าจะใช้เลี้ยงกบใหญ่ควรทำบ่อซีเมนต์กลมให้มีความสูง อย่างน้อย 1 เมตร การใช้ถังซีเมนต์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1.5 เมตร ทำบ่อเลี้ยงกบจะทำให้กบเจริญเติบโตไม่ดีเนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไปทำให้กบแออัด
4) เลี้ยงในกระชัง
บริเวณพื้นที่ๆมีบ่อนํ้า สระนํ้าขนาดใหญ่ หรือมีร่องนํ้าไหลผ่าน สามารถเลี้ยงกบในกระชังได้ดี ขนาดของกระชังไม่ควรเล็กกว่า 1.0 x 2.0 x 1.0 ตร.ม. หรือใหญ่กว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณพื้นที่ที่จะลอยกระชัง ด้านบนกระชังต้องมีฝาปิดเพื่อป้องกันศัตรู การเลี้ยงในกระชังต้องหมั่นตรวจดูรอยรั่วหรือรอยขาดของกระชังอย่างสมํ่าเสมอ กระชังสามารถใช้เลี้ยงกบได้ดี ตั้งแต่การอนุบาลลูกอ็อด ลูกกบเล็ก ไปจนถึงกบใหญ่และพ่อแม่พันธุ์ กบโตเร็วและสมบูรณ์ และที่สะดวกคือไม่ต้องเปลี่ยนนํ้า แต่ขยายพันธุ์กบทำได้ยากเช่นกัน
อาหารที่ใช้เลี้ยงกบ
1) การเลี้ยงลูกอ๊อด
ระยะ 2-3 วันแรกหลังจากที่เป็นลูกอ๊อดไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกอ๊อด ยังมีถุงไข่แดงที่ติดมากับท้องเป็นแหล่งอาหาร ลูกอ๊อดเริ่มกินอาหารครั้งแรกเมื่ออายุ 3 วัน ไรนํ้า เป็นแหล่งอาหารเสริมจากธรรมชาติที่ดีสำหรับลูกอ๊อดที่เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงเองได้ ในกรณีที่มีลูกอ๊อดเป็นจำนวนมาก อาจเสริมการให้อาหารด้วยการให้ผักกาดลวกนํ้าร้อนกึ่งสุก เศษปลาต้มสุก รำละเอียด เศษเนื้อปลาบดผสมรำ เศษเครื่องในสัตว์ต้มสุก หรือหอยเชอร์รี่ต้มสุก บดผสมรำละเอียด ร่วมด้วย และเมื่อ ลูกอ๊อดโตขึ้นอาจให้อาหารสังเคราะห์สำเร็จรูปชนิดเม็ดสำหรับใช้เลี้ยงลูกกบโรยให้กินร่วมด้วย การให้อาหารควรให้ทีละน้อยและวางไว้ตลอดเวลาเพราะลูกอ๊อดจะกินอาหารตลอดวัน
2) การเลี้ยงลูกกบ
ต้องฝึกให้ลูกกบให้กินอาหารสังเคราะห์ในช่วงแรกก่อน เนื่องจากถ้าให้ลูกกบกินอาหารธรรมชาติตั้งแต่เริ่มต้น อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในกรณีที่มีอาหารธรรมชาติไม่พอเพียง ดังนั้นจึงควรฝึกให้กินอาหารสังเคราะห์ให้เป็นก่อน จากนั้นให้อาหารเสริมจากธรรมชาติ เช่นปลวก ไส้เดือน จิ้งหรีด หรือหนอนนก จากที่เราสามารถเพาะเลี้ยงได้เอง การฝึกเริ่มตั้งแต่ระยะที่ลูกอ๊อดหางหดหมดมีขา 4 ขาเจริญครบสมบูรณ์ เรียกระยะเริ่มขึ้นกระดาน อาหารสังเคราะห์สำเร็จรูปชนิดเม็ดเล็กพิเศษใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุกเล็ก หรือปลาสดบดละเอียดผสมรำที่เกษตรกรผลิตขึ้นเอง 3-5 เปอร์เซ็นต์/นํ้าหนักตัว 1 กิโลกรัม มีโปรตีนไม่ตํ่ากว่า 30-35 เปอร์เซ็นต์ วิธีฝึกให้ลูกกบกินอาหารทำได้หลายวิธี เช่น ใส่อาหารในภาชนะหรือบนจานแล้ววางปริ่มนํ้า หรือโรยอาหารเม็ดลงในนํ้า ถ้าโรยอาหารลงในนํ้าต้องโรยในบริเวณที่ลูกกบสามารถนั่งได้และหัวไม่จมนํ้า ซึ่งทั้งสองวิธีนี้สามารถใช้ได้ทั้งในกบนาและกบบูลฟร็อก
3) กบรุ่นหรือกบเนื้อ
เมื่อลูกกบอายุประมาณ 2 เดือน สามารถให้สังเคราะห์ที่มีขนาดเม็ดใหญ่ขึ้น ร่วมกับอาหารธรรมชาติที่เกษตรกรสามารถเพาะเลี้ยงได้เองโดยวิธีง่ายๆ นอกจากนี้การใช้ชนิดของอาหารอาจขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และวิธีการเลี้ยงของเกษตรกร ถ้าผู้เลี้ยงกบนาอยู่ใกล้บริเวณที่สามารถหาปลาสดได้ อาจใช้ปลาสดบดหรือสับเป็นชิ้นวางในภาชนะปริ่มนํ้าหรือเหนือนํ้า หรือใช้ปลาสดบดผสมรำในอัตรา 3:1 หรือให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ดที่ใช้เลี้ยงกบหรือเลี้ยงปลาดุก 4) พ่อแม่พันธุ์ กบพ่อแม่พันธุ์และมีอายุ 8-10 เดือน และมีการเจริญเติบโตดีแล้ว ควรลดการให้อาหารให้เหลือเพียงครั้งเดียวในช่วงเวลาเย็น หรือให้อาหารธรรมชาติ เช่น ปลวก ไส้เดือน หนอนนก จิ้งหรีด เป็นต้น