กำลังปรับปรุงครับ
ฟางข้าว
ฟางข้าว เป็นอินทรีย์วัตถุที่มีประโยชน์สูงควรเก็บไว้ในนาข้าว โดยเฉพาะนาเขตชลประทาน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนา 2-3 ครั้งต่อปี เท่าที่ผ่านมาฟางข้าวมักจะถูกนำออกจากนาหรือเผาทิ้ง โดยไม่มีการเพิ่มอินทรียวัตถุกลับคืนให้กับดินนา ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพขาดความสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินโดยการใส่ปุ๋ยเคมีทดแทนก็ตาม ผลกระทบต่อดินนา คือ ปุ๋ยเคมีจะไปช่วยเร่งให้จุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้หมดไปโดยเร็ว สภาพดังกล่าวอาจทำให้ดินนาเสื่อมสภาพทางฟิสิกส์ ทำให้ดินแข็งตัวมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าดินจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้นด้วย ดังนั้นฟางข้าวจึงเป็นอินทรียวัตถุที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงบำรุงดิน เกษตรกรไม่ควรนำออกจากแปลงนาหรือไม่ควรเผาทิ้ง
สถานการณ์และสภาวะปัจจุบัน
การทำนาของเกษตรกรในเขตชลประทานภาคกลางที่มีปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานค่อนข้างสมบูรณ์ เกษตรกรทำนาต่อเนื่อง 2-3 ครั้งต่อปี โดยวิธีการหว่านน้ำตมทำให้มีรอบการผลิตค่อนข้างรวดเร็ว ประมาณ 12-21 วัน เพื่อให้ทันต่อฤดูกาลผลิต ทำให้เกษตรกรเกือบทุกรายเผาฟางก่อนฤดูทำนา ด้วยวิธีการเตรียมดิบแบบหยาบ ๆ และรีบเร่ง โดยไถกลบเศษฟางที่เหลือจากการเผากับตอซังลงไปในดินที่มีการระบายอากาศไม่ดีขาดออกซิเจน เกิดก๊าซมีเทน (CH4) บางชนิด ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีผลเสียต่อสภาวะแวดล้อมของโลก ทำให้จุลินทรีย์ดินบางชนิดที่มีบทบาทการย่อยสลายฟางข้าวและตอซังมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ การย่อยสลายเป็นไปอย่างช้า ๆ ทำให้ข้าวที่ปลูกใหม่แสดงอาการขาดไนโตรเจนชั่วคราว ที่เกษตรกรนิยมเรียกว่า โรคเมาหัวซัง วิธีแก่ไขมีหลายวิธี ที่ดีและรวดเร็ว คือ ทำให้ฟางข้าวหรือตอซังย่อยสลายให้รวดเร็วที่สุดโดยการเพิ่มหัวเชื้อจุลินทรีย์เข้าช่วยให้เกิดกระบวนการย่อยสลายจากจุลินทรีย์หลายกลุ่มที่มีปฏิกิริยาต่อเนื่องสนับสนุนกันเป็นลูกโซ่ ระหว่างกระบวนการย่อยสลายจุลินทรีย์จะใช้ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดกระบวนการทำให้ธาตุอาหารเปลี่ยนรูปที่เป็นประโยชน์ เมื่อจุลินทรีย์เหล่านั้นตายไปก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชใช้ได้ และยังก่อให้เกิดสารประกอบอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ที่มีผลดีต่อพืช เช่น ฮอร์โมน สารกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช และรากพืช ดังนั้น หลังเก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรไม่ควรเผาฟางข้าว เพราะจะทำให้สูญเสียคาร์บอนที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ดิน ที่จะนำไปก่อให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
ประโยชน์ของฟางข้าวเมื่อไม่เผาทิ้ง
1. ฟางข้าวช่วยทำให้ดินมีปริมาณของอินทรีย์วัตถุในดินมากขึ้น
2. ฟางข้าวช่วยทำให้พื้นที่นาที่ถูกคลุมด้วยฟางข้าวมีสภาพจุลนิเวศ (Microclimate) เหนือผิวดินเหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และไส้เดือน เป็นต้น
3. ฟางข้าวช่วยคลุมวัชพืช โดยการบังแสงแดด ไม่ให้วัชพืชเติบโตได้
4. ฟางข้าวช่วยบังแสงแดด ทำให้ดินมีความชื้นอยู่ได้นานเป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูก ทำให้ผลผลิตสูงกว่าดินที่ไม่มีฟางข้าวปกคลุม
5. ฟางข้าวเมื่อเน่าสลายจะให้ธาตุอาหารแก่พืชเมื่อฟางข้าวย่อยสลายแล้วจะได้ธาตุไนโตรเจน (N) ธาตุฟอสฟอรัส (P) ธาตุโพแทสเซียม (K) แคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) ที่สำคัญมีธาตุซิลิก้า (Sio) ด้วย
6. ฟางข้าวนำไปเป็นอาหารโค กระบือ ได้
7. ฟางข้าวสามารถนำไปทำวัสดุเพาะเห็ดฟางได้
8. ฟางข้าวเป็นวัสดุที่อยู่ในนาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาไปขนมาใส่ในนา ก่อนที่จะหมักฟางข้าว ต้องเกลี่ยฟางให้กระจายทั่วทั้งแปลง
วิธีการทำปุ๋ยหมักฟางและตอซังข้าว
ฟางข้าวจำนวน 1 ตัน เมื่อหมักแล้วจะได้ธาตุอาหารทั้งธาตุหลักและธาตุรอง ดังนี้คือ
ไนโตรเจน (N) ................ 1.6 กิโลกรัม
ฟอสฟอรัส (P2O5) ........... 1.4 กิโลกรัม
โพแทสเซียม (K2O) .......... 17 กิโลกรัม
แคลเซียม (Ca) ............... 1.2 กิโลกรัม
แมกซีเซียม (Mg) ............. 1.3 กิโลกรัม ...... และที่สำคัญคือได้ธาตุ
ซิลิก้า (SiO2) ................. 50 กิโลกรัม
ปกติในนาเกษตรกรในภาคกลางและภาคตะวันออกตกมีเนื้อดินเป็นดินเหนียวส่วนใหญ่มีฟางข้าวเหลือ 800-1,000 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งตอซังอีก 1,200–1,500 กิโลกรัม/ไร่ คือ เฉลี่ยทั้งตอซังและฟางข้าวประมาณ 2 ตัน/ไร่ ส่วนในดินที่มีเนื้อดินเป็นดินร่วนทรายจะมีฟางข้าวเหนียวต่ำกว่าคือ 500–800 กิโลกรัม/ไร่
ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมัก
1. หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้เกษตรกรเกลี่ยฟางข้าวให้กระจายคลุมทั่วทั้งแปลงนาด้วยแรงคน หรือเครื่องเกลี่ยฟางข้าวติดท้ายแทรกเตอร์มีค่าใช้จ่าย 50 บาท/ไร่ หรือใช้ภูมิปัญญาเกษตรกร อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยใช้ลำไม้ไผ่ชนิดที่มีกิ่งมีหนามจำนวน 2 ลำ ผูกติดท้ายแทรกเตอร์ลาก 2–3 รอบสามารถเกลี่ยฟางข้าวกระจายทั่วทั้งแปลงนา เมื่อคิดต้นทุนเพียง 15 บาท/ไร่ (ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง)
2. ทดน้ำเข้าแปลงนา ใช้อีคลุบติดท้ายแทรกเตอร์ย่ำให้ฟางข้าวและตอซังจมน้ำระดับ 3 – 5 ซม.
3. ใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรไหนก็ได้ที่คิดว่าต้นทุนถูกที่สุดและจุลินทรีย์ยังมีชีวิตอัตรา 5–10 ลิตร/ไร่ (ฟางข้าว 500– 800 กก. ใช้น้ำหมักชีวภาพ 5 ลิตร/ไร่ และฟางข้าว 800–1,000 กก. ใช้น้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร/ไร่) ใส่แกลลอนเจาะรูให้น้ำหมักชีวภาพไหลได้ นำไปติดท้ายแทรกเตอร์ โดยใช้อีคลุบย่ำตอซังและฟางข้าว ทำให้น้ำหมักระจายไปทั่วแปลงนาเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ย่อยสลาย
4. ใช้เวลาหมักประมาณ 10 วัน ตอซังและฟางข้าวเริ่มอ่อนตัวและเริ่มย่อยสลาย สามารถไถพรวนดินได้ไม่ติดเครื่องมือไถพรวน
http://dankhunthot.khorat.doae.go.th/e_rice/rice_1.html
สงวนลิขสิทธิ์โดย © ++kasetloongkim.com++ All Right Reserved.