-
MySite.com :: ทบทวนกระทู้ - น้ำส้มควันไม้เพิ่มผลผลิตนาข้าว
ผู้ส่ง ข้อความ
somchai
ตอบตอบ: 16/12/2009 6:53 pm    ชื่อกระทู้:

สมัยลุงบรรยายที่กำแพงแสน ยังนึกถึง ลุงวิชัย นำน้ำส้มควันไม้ มาขายด้วย เกือบๆ 10 ปีแล้วที่ผมนั่งคุยกับแกถึงประโยชน์ ของน้ำส้มควันไม้ตัวนี้ แต่ผู้รับการถ่ายทอด ยังมองไม่เห็นคุณค่า
kimzagass
ตอบตอบ: 16/12/2009 4:35 pm    ชื่อกระทู้:

ก็มองเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน ข้อมูลที่มีอยู่วันนี้ของไทยดูเหมือนจะต่างกับของญี่ปุ่น (ต้นตำรับ) อย่างสิ้นเชิง หรือของญี่ปุ่นไม่ระบุข้อมูลที่เป็นสารอาหารพืชเลย ระบุแต่คุณสมบัติเรื่องสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเท่านั้น

มีแผนที่จะทำอยู่เหมืกันแต่หา "ไม้สด" ไม่ได้ (ไม่คุ้มค่าน้ำมันรถ) กับไม่ได้ใช้ถ่านหุงข้าวแล้วก็ไม่ได้ขายถ่านด้วย จึงมองไปที่ "ต้นกล้วย" ซึ่งก็เป็นไม้สดเหมือนกัน ในต้นกล้วยยังมีน้ำมากกว่า แล้วก็น่าจะมีคุณสมบัติไม่ต่างจากน้ำในไม้สดมากนัก

ในธรรมชาติไม่มีตัวเลขและสูตรสำเร็จ และยังมีอะไรๆในธรรมชาติอีกมากที่มนุษย์ยังไมรู้


ลองทำลองใช้ ถ้าดี ขายซะให้เข็ด
ลุงคิมครับ
ott_club
ตอบตอบ: 16/12/2009 8:28 am    ชื่อกระทู้: น้ำส้มควันไม้เพิ่มผลผลิตนาข้าว

ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=37531






ใช้น้ำส้มควันไม้ใส่ 'นาข้าว' เพิ่มผลผลิตไร่ละ 50-80 กก.

ผศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร ภาค วิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีรายงานว่า น้ำส้มควันไม้ สามารถใช้เป็นปุ๋ยทางใบ ได้ เหตุนี้คณะผู้วิจัยจึงนำมาทดลองใช้กับข้าว ประมาณ 4 ถึง 5 ปีมาแล้ว โดยที่น้ำส้มควันไม้มี กรดอินทรีย์ถึง 200 ชนิด บางชนิดก็เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการงอกของเมล็ด ตลอดจนกระตุ้นการแตกกอของ ข้าวด้วย

ดังนั้น ก่อนการหว่านข้าวกล้าทั้งข้าวนาดำและข้าวนาหว่าน จึงใช้วิธีแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวในสารละลายน้ำส้มควันไม้เจือจาง 300 เท่า เป็นเวลา 2 วัน หลังจากข้าว เติบโตตั้งตัวแล้ว ใช้น้ำส้มควันไม้ที่เจือจาง 300 เท่าเช่นกัน ฉีดพ่นทางใบทุก 2
สัปดาห์ จนกระทั่ง 15 วันก่อนเก็บเกี่ยว

พบว่า ในพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่ การที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ข้าวมีการแตกกอมากขึ้น เมล็ดต่อรวงมากขึ้น น้ำหนักเมล็ดก็เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้มีการศึกษาการใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะการใช้เป็นสารแช่เมล็ด ใช้เป็นปุ๋ยทางใบในพืชหลายชนิดและใช้ในการควบคุมเชื้อราในดิน โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัย ประเภทเงินทุนอุดหนุนทั่วไปของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยผลจากการศึกษาต่อเนื่องในข้าวเป็นเวลานานกว่า 5 ปีสามารถยืนยันผลได้ว่า การใช้น้ำส้มควันไม้ในลักษณะสารแช่เมล็ดจะทำให้ต้นกล้าข้าวตั้งตัวและพัฒนาได้ดี และ การใช้ในลักษณะปุ๋ยทางใบก็สามารถเพิ่ม ผลผลิตของข้าวได้โดยเฉลี่ย 50 ถึง 80 กิโลกรัมต่อไร่

ดังนั้น จึงได้มีการขยายผลการวิจัยในการใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ทำนา โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเพราะน้ำส้มควันไม้สามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วย ทำให้ได้ผลผลิตของข้าวเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.ดรุณี กล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้มีความยั่งยืนในการปฏิบัติ การถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการใช้น้ำส้มควันไม้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น คณะเกษตรศาสตร์ มข.จึงได้ร่วมกับ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการใช้น้ำส้มควันไม้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 1 บ้านท่าพระทราย ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยคาดหวังว่าหากเกษตรกรมีการทำเตาเผาขนาดเล็กเพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้เอง จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

“น้ำส้มควันไม้ มีคุณสมบัติที่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดี ทำให้ผู้ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีด้วย การฝึกอบรมในครั้งนี้ยังเป็นการฝึกให้รู้จักการทำเตาเผาส่วนรวมที่ใช้ภายในหมู่บ้าน ที่สามารถเก็บน้ำส้มควันไม้ ที่จะใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชอื่น ๆ ทำให้ได้ถ่านจากการเผาไว้ใช้ ซึ่งเป็นพลังงานชีวมวล สามารถลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนในเรื่องของพลังงาน” ผศ.ดร.ดรุณี กล่าว

สำหรับ น้ำส้มควันไม้ เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ภายใต้สภาพอับอากาศ โดยเมื่อให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ ไม้สด ผ่านสภาพอากาศเย็นจะทำให้ควันเกิดการควบแน่น และรวมตัวเป็นของเหลว น้ำส้มควันไม้มี ส ารประกอบต่าง ๆ มากกว่า 200 ชนิด

ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร สาขาพืชไร่ ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.0-4334-2949 ต่อ 14 โทรสาร 0-4336-4636.