-
MySite.com :: ทบทวนกระทู้ - ทุเรียนแพง "กลไกตลาดหรือล้งทำป่วน"
ผู้ส่ง ข้อความ
kimzagass
ตอบตอบ: 27/05/2022 6:19 am    ชื่อกระทู้: ทุเรียนแพง "กลไกตลาดหรือล้งทำป่วน"

.
.
ต้นเหตุทุเรียนแพง "กลไกตลาด หรือ ล้งจีนทำป่วน"
โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเฉพาะ "ทุเรียน" พืชผลที่หลายคนต้องคิดเเล้วคิดอีก กว่าจะตัดสินใจยอมควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อเเลกกับความเอร็ดอร่อย

จากปี พ.ศ. 2554 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 40 บาท 6 ปีผ่านไป ปัจจุบันราคาทุเรียนพุ่งสูงถึง 140 บาทต่อกิโลกรัม

สภาพอากาศ การกักตุน พ่อค้าคนกลางหรือการส่งออกต่างแดน อะไรกันแน่คือต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ?

ถึงเวลาแก้ปัญหาล้ง ขอรัฐบาลอย่าพูดแค่ลมปาก
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ราคาทุเรียนหมอนทองปีพ.ศ. 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 40.21 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2556 ราคา 54.98 บาทต่อกก. ปี 2558 ราคา 60 บาทต่อกก. และล่าสุดปี 2560 พุ่งสูงถึง 120-140 บาทต่อกก.

เจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่แห่งหนึ่งใน จ.ระยอง ซึ่งประกอบอาชีพนี้มากว่า 50 ปี แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยชื่อ ยอมรับว่า ผลผลิตทุเรียนปีนี้มากกว่าปีก่อน ประมาณ 30-40 ตัน หรือกว่าหนึ่งหมื่นลูก ขณะที่ราคาขายตกต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น

“หลายคนเมื่อก่อนปลูกยางพารา พอเห็นทุเรียนราคาดี ก็หันกลับมาปลูกทุเรียน ทำให้ปีนี้ราคาตก ผมว่าอนาคตน่าจะตกลงยิ่งกว่านี้”

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายหลักของเหล่าเกษตรกร เจ้าของสวนรายนี้บอกว่า ส่วนใหญ่เลือกขายให้กับล้งเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเรื่องที่สำคัญควรตระหนักคือ การฝากความหวังไว้กับล้งมากจนเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาในการกำหนดราคา

“ชีวิตเกษตรกรวันนี้ฝากไว้กับล้ง วันใดล้งจีนรวมตัวกันจนมีอำนาจกำหนดราคาได้ เมื่อนั้นผลไม้จากสวน จะถูกกดราคาจนต่ำทันที”

เจ้าของสวนทุเรียนรายนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาล้งอย่างจริงจัง โดยแนะนำให้ดูแลอย่างเข้มงวด มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจสอบจำนวนผู้ประกอบการ การกำหนดราคา รูปแบบการตลาด การควบคุมคุณภาพและการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียหรือยุโรป เพราะหากปล่อยให้ล้งจีนสามารถกำหนดราคาเองได้เช่นนี้ อนาคตชาวสวนและผู้บริโภคจะลำบาก

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของรัฐไม่ชัดเจน ทางปฏิบัติไม่มีรูปธรรม เป็นเพียงแค่ลมปาก ทุกครั้งรัฐมักพูดเพียงแค่ว่าจะพยายามช่วยเหลือ แต่สุดท้ายกลับช่วยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ ส่วนรายเล็กแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแล”

เจ้าของสวนให้ความเห็นอีกว่า รูปแบบกลไกของระบบล้งปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก หากผู้ประกอบการรายใดต้องการปั่นราคาทุเรียนให้ถูกลง พ่อค้าคนกลางจะใช้วิธีปล่อยทุเรียนอ่อนส่งออกไปราว 1-2 ล็อต เมื่อเกิดปัญหาก็จะนำเรื่องคุณภาพด้อยมากดราคาเกษตรกร เรื่องนี้สำคัญมาก หากรัฐไม่ทันเกม อนาคตประเทศไทยถูกต่างชาติเข้ามาควบคุมราคาผลไม้ได้แน่

“ผลผลิตมากก็ขายยาก การช่วยเหลือของรัฐก็ช้า พูดเพียงลมปาก ในพื้นที่ไม่เห็นมีหน่วยงานราชการออกมาช่วยเลย แม้แต่เกษตรอำเภอและจังหวัด เมื่อไปติดตามสอบถามก็มักอ้างว่า งานล้นมือ สุดท้ายชาวสวนก็ต้องดิ้นรนขายเอง แต่ขอถามว่าจะให้ไปขายที่ไหน ไม่มี....ก็ต้องยอมเข้าล้ง ขอเตือนภาครัฐว่า หากไม่แก้จริงจัง ปัญหาใหญ่เกิดแน่” เจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่ทิ้งท้าย

----------------------------------------------------------------------------------

.